POINT Of JAD นิทรรศการภาพถ่ายสตรีทที่ช่างภาพอยากให้คนดูสนุกไปกับการมองโลก

Highlights

  • POINT Of JAD คือนิทรรศการภาพถ่ายสตรีทของ ไอซ์–เจษฎา อินเอก ช่างภาพหนึ่งในสมาชิก Street Photo Thailand ที่มีภาพถ่ายเป็นเอกลักษณ์ด้วยการจับสิ่งของ 2 สิ่งที่เขาได้เจอตามข้างทางมารวมอยู่ในภาพเดียวกันอย่างลงตัว
  • เพราะไอซ์มีนิสัยตลก ชอบสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนรอบข้าง เขาจึงเชื่อว่าภาพถ่ายของเขาสะท้อนตัวตนออกมาได้ดีที่สุด และนั่นจึงเป็นเหตุผลให้กลายมาเป็นคอนเซปต์และชื่องาน POINT Of JAD ที่เขาอยากสื่อสารกับคนดูว่าเกิดมาทั้งที จงสนุกกับโลกนี้กันเถอะ
  • นิทรรศการภาพถ่ายสตรีท POINT Of JAD จัดแสดงที่ Glimpse Space อาคารเอเชีย ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน - 6 ตุลาคม 2562 

บางทีการเดินทางเพื่อมุ่งไปหาจุดหมายด้วยความเร่งรีบก็ทำให้เราไม่ได้รับรู้เรื่องราวข้างทางจริงๆ 

นี่คือความคิดที่เราสรุปได้หลังจากเดินดูนิทรรศการภาพถ่าย POINT Of JAD ของ ไอซ์–เจษฎา อินเอก ชายที่มีธุรกิจส่วนตัวเป็นอาชีพหลัก และมีอีกพาร์ตของชีวิตเป็นช่างภาพสตรีท หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Street Photo Thailand ผู้ชื่นชอบใช้ความคิดหยิบจับของสองสิ่งตลอดข้างทางที่เดินผ่านมาประกอบร่างเป็นภาพสุดสร้างสรรค์ตลอดเกือบ 6 ปี จนสามารถรวบรวมผลงานออกมาเป็นนิทรรศการครั้งนี้

ไม่ว่าจะเป็นภาพดวงดาวครอบหัวคนเดิน ภาพเครื่องเล่นบนหัวคน ภาพคนบนแก้วน้ำ ภาพคนก้มลงดูต้นไม้ ทั้งหมดล้วนสร้างสรรค์จากกล้องถ่ายภาพเพียงตัวเดียว พร้อมเลนส์คู่ใจที่ไอซ์จับถนัดมือ บวกรวมกับอุปนิสัยชอบสร้างความสนุกให้กับคนอื่น เขาจึงกดชัตเตอร์ในทุกๆ รูปด้วยอารมณ์ขัน

แต่ถ้าเห็นบางภาพแล้วคิดว่านี่คือการตัดต่อหรือเปล่า

เราขอตอบว่า ใช่

แต่ไม่ใช่การตัดต่อด้วยโปรแกรมหรือเทคโนโลยีใดๆ แต่มันคือการตัดต่อมโนภาพในความคิดของไอซ์ที่อยากให้ของสองสิ่งกลายมาเป็นเรื่องราวใหม่ๆ ที่สนุก ตลก หยอกล้อไปกับเรื่องราวของผู้คน สังคม และโลกได้ 

ถ้าคุณอยากรู้ว่ากว่าจะเป็นภาพจัดแสดงในครั้งนี้ เขามีแนวคิดและวิธีการสร้างสรรค์ภาพยังไง ไอซ์มีคำตอบรอเราอยู่แล้ว

Point of Jad

Story of Jad

ก่อนจะมาเป็นช่างภาพสตรีท ไอซ์เริ่มต้นถ่ายภาพตั้งแต่ปี 2008 เมื่อเริ่มกดชัตเตอร์เป็นครั้งแรกๆ ใจเขาก็ชื่นชอบการถ่ายภาพตั้งแต่นั้นมาและเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองถ่ายภาพหลายๆ แนว ทั้งพอร์เทรต แลนด์สเคป หรือกระทั่งมาโคร แต่สุดท้ายไอซ์ค้นพบว่าในยามที่ต้องหันกล้องไปมุมไหน เขามักโฟกัสที่คนมากกว่า เพราะนั่นทำให้เขารู้สึกว่าภาพนั้นมีชีวิต ไอซ์จึงเลือกโฟกัสการถ่ายคนมากขึ้น

“เวลาไปเที่ยวแล้วเจอชาวเขาใช่ไหม เราก็ถ่ายชาวเขา เรารู้สึกว่าคนมีชีวิต ไม่ว่าถ่ายที่ไหนสุดท้ายเราก็โฟกัสหาแต่คน แต่พอถ่ายมาเยอะๆ เรากลับมาดูแล้วตั้งคำถามว่า คนพวกนี้เป็นใคร เราถ่ายทำไมวะ เราเลยหยุด เพราะรู้สึกตัน ไม่รู้จะไปต่อยังไง”

จนกระทั่งปลายปี 2013 วันหนึ่งเขาได้ไปเห็นภาพถ่ายของคนรู้จักขึ้นปกกลุ่มภาพถ่ายสตรีทในเฟซบุ๊ก ความน่าสนใจของภาพจุดประกายให้เขาอยากสร้างสรรค์ภาพถ่ายแนวนี้บ้าง 

“ตอนแรกไปเจอพี่ที่ถ่ายภาพสตรีท ภาพของเขาได้ลงหน้าปกกลุ่มสตรีท เราเห็นลูกเล่น เห็นไอเดียเจ้าของภาพ เห็นเทคนิคที่เขาใช้ในการถ่ายภาพ แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย เขาทำได้ยังไง อยากทำบ้าง จึงไปศึกษาต่อว่ากลุ่มสตรีทคืออะไร ภาพเป็นแนวไหน มีเทคนิคแบบใดบ้าง เราก็ไปศึกษาภาพจากช่างภาพรุ่นพี่หลายคน ครูพักลักจำมา แล้วพัฒนาตัวเองจนถึงปัจจุบัน”

ไอซ์เริ่มถ่ายภาพสตรีทในปี 2014 พร้อมๆ กับการเสพภาพถ่ายสตรีทเพื่อศึกษาตัวอย่างการทำงาน ช่วงแรกของการลองผิดลองถูก เขายอมรับว่าการถ่ายภาพสตรีทเพื่อให้ได้รูปที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย บางทีมีท้อหรือเหนื่อยบ้าง แต่เขาก็เปิดโอกาสให้ตัวเองลองหลายๆ เทคนิคเพื่อให้ได้ภาพตามต้องการ ไม่ว่าจะเลือกใช้แฟลช จัดวางองค์ประกอบให้เป็นเลเยอร์ หรือถ่ายออกมาให้เป็นแก๊กมุกตลก  

“ทีนี้เราก็ลองใช้เทคนิคต่างๆ ทุกแนวเลย สุดท้ายก็ชอบแนวแก๊ก แนวที่เล่าเรื่อง มีความหมาย ดูแล้วสนุก ขบขัน ทำแล้วเราสนุกกับมัน แล้วคิดว่าเวลาคนดูภาพก็จะได้สนุกไปด้วย เพราะโดยส่วนตัวเราเป็นคนตลก ชอบทำให้คนอื่นหัวเราะ มีความสุข เราเลยเลือกถ่ายภาพแนวนี้”  

 

Street Photo of Jad 

หลังจากลงหลักปักฐานความชอบที่ภาพถ่ายสตรีทแล้ว ไอซ์ก็ไม่รอช้า เขาเลือกพกกล้องไปถ่ายรูปทุกวัน ศึกษาภาพถ่ายสตรีท ลงมือพัฒนาฝีมือด้วยการคิดไอเดียให้แตกต่างจากคนอื่น ลองใช้หลายๆ เทคนิค สังเกตสิ่งรอบข้าง จับนู่นผสมนี่จนออกมาเป็นภาพถ่ายผสมผสานของสองสิ่งอย่างที่เราได้เห็น

“ภาพสตรีทเป็นภาพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ใส่ลงไปด้วย พอถ่ายแล้วเราอยากบิดเรื่องราวด้วยของสองสิ่งเพื่อให้ดูน่าสงสัย ตลก อมยิ้ม ดังนั้นเราเลยต้องสังเกตสิ่งรอบข้างมากขึ้น เวลาผมออกไปถ่ายรูป ผมก็จะสังเกตทุกอย่าง ดูซ้ายดูขวา ดูหน้าดูหลัง ดูให้หมดทุกอย่าง ค่อยๆ ซึมซับไป” 

ไอซ์เล่าเบื้องหลังการถ่ายภาพเป็นตัวอย่างให้เราเข้าใจง่ายๆ ในการสังเกตของเขา อย่างภาพไม้ถูพื้นกับตึกเก่าย่านสาทร วันนั้นเป็นวันที่เขาเดินถ่ายรูปใกล้ๆ สะพานตากสิน แล้วเขาก็สังเกตเห็นไม้ถูพื้นอยู่บนสังกะสีสีเขียว ซึ่งตรงกันกับตึกเก่าย่านสาทรพอดิบพอดี เขาเลยรีบยกกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์ หรืออย่างภาพที่คนเดินผ่านผ้าใบแล้วพอดีกับเงาของเสาไฟก็ทำให้เขาได้ภาพสุดสร้างสรรค์มาจัดแสดงในครั้งนี้

“เดินทางไปแต่ละที่ เราต้องค่อยๆ ดู ค่อยๆ ซึมซับบรรยากาศ เวลาเราไปสถานที่แปลกๆ เราจะต้องไปซึมซับผู้คนด้วย คนแถวนี้มาทำอะไรกัน ดูจังหวะว่าเขามาจุดนี้เพราะอะไร  บางคนอาจจะเดินกดโทรศัพท์อย่างเดียวเลย ก็สังเกตว่ากดโทรศัพท์แล้วเกิดอะไรขึ้น มันผ่านวัตถุอะไร หรือมันผ่านแสงตรงไหน มันผ่านมุมตึกตรงไหน เราสังเกตหมดเลย ซึ่งมันทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ ในการถ่ายภาพได้” 

แต่ใช่ว่าการสังเกตอย่างเดียวจะเพียงพอต่อการถ่ายภาพเพื่อประกอบของสองสิ่ง ไอซ์เล่าว่ากว่าจะออกมาเป็นภาพที่เราได้เห็นกัน เขาต้องสะสมประสบการณ์อย่างมากเพื่อให้รู้จังหวะในองค์ประกอบต่างๆ และอาศัยความรวดเร็วในการคิดและตัดสินใจ

“เราก็ลองผิดลองถูกนะ มันเป็นประสบการณ์ มันต้องอาศัยความเร็วและจังหวะของกล้อง ถ้าเป็นรูปที่เราจะเล่นไปกับคนที่ผ่านไปมา เราต้องรู้จังหวะว่าเขาจะเดินประมาณไหน ถ้าเขาเดินจะถึงแล้ว เราจะถ่ายตอนไหนได้”  

“แต่การสังเกตมันทำให้ได้เห็นอะไรมากขึ้น จริงๆ วันนั้นเราไม่ต้องมีรูปที่ดีก็ได้ แต่เราได้สังเกตเห็นสิ่งรอบข้างฮาๆ ตลกๆ หรือบางทีถ้าเห็นแต่ถ่ายไม่ทัน ยังไงความทรงจำที่เราเห็นมันก็จะเมมฯ อยู่ในหัวเรา แค่นี้ก็เป็นความสุขเล็กๆ แล้ว”

นอกจากการสังเกตสิ่งของข้างทางจะเป็นประเด็นหลักที่ไอซ์เลือกมาใช้ในภาพของเขาแล้ว ช่างภาพสตรีทคนนี้ยังไม่ลืมที่จะคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ อย่างเรื่องของสีและรูปทรงของวัตถุต่างๆ ที่เขาเอามาประกอบกันเพื่อเติมเต็มให้ภาพออกมาน่าสนใจที่สุด

“อย่างภาพแท็กซี่ ตอนแรกเราเห็นรูปทรงเสามันเป็นวงกลม เราเลยสังเกตว่าเออมันน่าจะเวิร์กถ้าเราถ่ายเป็นล้อ แล้วพื้นถนนมันสวย เลยลองประคองเฟรมให้เสาตั้งคู่กัน แล้วพอแท็กซี่ผ่าน ก็คิดว่า เฮ้ย สีแท็กซี่น่าจะเข้ากับเสา ก็เลยกดถ่ายได้ใบนี้มา” 

แม้เราจะเห็นว่าภาพของเขาผสมผสานของสองสิ่งที่แตกต่างกันได้อย่างลงตัว เขาน่าจะใช้อุปกรณ์หรือตัวช่วยที่ทำให้สร้างสรรค์ได้หลายอย่าง แต่ในความเป็นจริงเขาเลือกใช้กล้องเพียงตัวเดียว พร้อมเลนส์ที่ถนัดมือ เพื่อประกอบของสองสิ่งเป็นภาพสร้างสรรค์เหล่านี้ 

“เพราะเราโฟกัสไอเดียที่ต้องการสื่อสาร มุ่งตรงไปจุดที่เราจะนำเสนอมากกว่า เรื่องของกล้องเป็นเพียงเครื่องมือเก็บบันทึกเรื่องราวตรงนั้นมาให้คนอื่นได้ดูต่อ แล้วเราสังเกตว่าฟุตพาทประเทศไทยมันแคบ ถ้าเราใช้เลนส์วาย มันจะเก็บภาพได้ดีกว่า ไม่ต้องลงไปพื้นถนน เพราะมันอยู่ริมฟุตพาทที่เรายืนอยู่ได้ ถ้าเราใช้ 35 มม. บางซีนก็ต้องลงข้างล่างถนน เสี่ยงกับรถ พอเราใช้เลนส์ 28 มม. มาตลอด เราก็รู้ว่าจังหวะไหนควรเข้าไปแค่ไหน ซึ่งมันทำให้ทำงานได้เร็วกว่า”

 

POINT Of JAD

ตลอดระยะทางของประสบการณ์และการเดินเท้าเพื่อถ่ายรูปของไอซ์ ทำให้เขาสามารถรวบรวมผลงานมาจัดแสดงครั้งนี้ได้ แต่สิ่งที่เราสนใจคือเบื้องหลังของคอนเซปต์นิทรรศการ POINT Of JAD นั้นคืออะไร

“ตอนแรกเรากับทางทีมงานกล้อง Ricoh GR คุยกันว่าจะเอาธีมอะไรดี เพราะรูปที่แสดงมันเป็นรูปที่เราถ่ายสะสมมาเรื่อยๆ ไม่ได้มีคอนเซปต์ตั้งแต่แรก ตอนแรกก็คิดหลายธีมเลย แต่ดูรวมๆ แล้วรูปมันสะเปะสะปะ ถ้าอย่างนั้นเราให้มันเป็นตัวเราเลยดีกว่า นั่นคือ POINT Of JAD ให้ภาพแสดงออกว่าตัวเรามองโลกนี้แบบไหน”

“ซึ่งสิ่งที่เราอยากบอกคือ เรามองโลกนี้เป็นเรื่องตลก เรื่องที่มันมีความแปลก มีความสนุก แค่นั้นเอง”

แต่หากพูดในวงการภาพถ่ายสตรีท ช่างภาพหลายคนก็เลือกถ่ายทอดภาพถ่ายให้เป็นมุกตลกหรือแก๊กขำๆ หลายคนเช่นกัน สำหรับไอซ์แล้วเขามองเรื่องนี้ยังไงบ้าง เราสงสัย

“จะมองเป็นภาพที่ซ้ำกันไหมเหรอ เราว่าถ้ามองหลวมๆ มันซ้ำ แต่ถ้ามองแบบพินิจพิเคราะห์ด้วยรายละเอียดแล้วไม่เหมือนกันแน่นอน เพราะเสียงหัวเราะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มันก็ต้องแตกต่างกัน อย่างของพี่พงษ์ (ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์) จะเป็นการหัวเราะแบบอินเตอร์นิดๆ รูปลักษณ์เขาจะคูลๆ ดังนั้นภาพจะอินเตอร์หน่อยๆ ส่วนพี่หนิง (อัครา นักทำนา) มู้ดภาพเขาจะเป็นแนวญี่ปุ่นๆ มินิมอล ส่วนของเราจะเป็นหัวเราะแบบลูกทุ่ง ไทยๆ หน่อย” พูดจบแล้วเขาก็เริ่มหัวเราะอีกครั้ง

“ทุกคนชอบเหมือนกันได้ไม่ผิดนะ ทุกคนถ่าย ทำผลงานออกมาแนวทางเดียวกันได้ไม่ผิด แต่สุดท้ายก็จะมีช่องแบ่งเอกลักษณ์ของแต่ละคนไปเอง”  

แล้วภาพไหนที่ไอซ์อยากแสดงเสียงหัวเราะที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาให้กับคนดูมากที่สุด เราถาม ก่อนที่ไอซ์จะชี้ให้เราดูภาพคนยืนอยู่ที่สถานีรถไฟตรงกันกับรอยประทับรูปปีกบนกระจก

“เรารู้สึกว่าภาพนี้มีอารมณ์ขัน แล้วมันก็มีความเป็นไทยมากเลยนะ สีมันโทนเดียวกัน สวย จังหวะอารมณ์ของลุงในการโพสต์ท่า แล้วมันมีแก๊กที่มีปีกอีกครบถ้วนเลย เราเลยคิดว่ามันเป็นรูปที่ดีที่จะสะท้อนตัวเราเลย” 

แต่ถึงแม้ไอซ์จะบอกว่าภาพทั้งหมดมาจากมุมมองในอารมณ์ขันของเขา แต่หลายภาพก็ทำให้เราอดคิดหรือตีความให้เป็นประเด็นจริงจังไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสัญลักษณ์หรือสิ่งของที่อยู่ในภาพเหล่านั้น ไอซ์เห็นด้วย แต่เขาก็อธิบายเบื้องหลังของภาพนั้นๆ ให้ฟังว่า

“อย่างภาพนี้” เขาชี้ไปที่รูปลุงคนหนึ่งที่ใบหน้าอยู่ตรงกับกระจกรถและมีภาพสะท้อนของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย “อาจจะคิดว่าลุงแสดงสีหน้าโหยหาประชาธิปไตยที่ไม่มีอยู่จริง แต่ความจริงคือ เราสังเกตเห็นว่าที่กระจกรถของลุงมีฟิล์มวงกลมอยู่ แล้วหน้าลุงอยู่ตรงนั้นพอดี เลยเขยิบกล้องเข้าไปถ่าย เพราะรู้สึกว่ามันตลกดี แล้วที่ลุงทำหน้าอย่างนี้ เพราะลุงเขาเขินพี่” ไอซ์หัวเราะระหว่างที่เล่าให้ฟัง

“เรารู้สึกว่าพอซีเรียสมันจะดูหดหู่ คือตัวเราเอง ไม่เฉพาะเรื่องการถ่ายภาพ สมมติเราคุยกับเพื่อนเรื่องการเมือง เราจะไม่พูดเลยนะถ้าซีเรียส เราไม่ได้มองบวกโลกสวยนะ เรารู้สึกว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ก็ไม่อยากให้ใจเราลบ เราพยายามวางตัวอยู่ในความคิดแง่บวกมากกว่าที่จะมองให้มันเป็นลบทุกอย่าง เพราะในโลกนี้จะมีลบหรือบวกมันขึ้นอยู่กับคนมองด้วย”

“เรารู้สึกว่าชีวิตคนเรามันเดินทางไปหาความตาย ถ้าคุณอยู่ในโลกนี้แล้วซีเรียสทุกเรื่องเลย มันไม่มีความสุขในชีวิตนะ เราก็เลยอยากถ่ายทอดมุมมองการถ่ายภาพออกมาให้คนเห็นว่า เฮ้ย ควรสนุกเถอะ เกิดมาทั้งทีแล้ว อย่าลบกับมันมาก”


ใครสนใจอยากดูภาพสุดสร้างสรรค์ของไอซ์ ตามไปดูกันได้ที่นิทรรศการ POINT Of JAD จัดแสดงระหว่างวันที่ 7 กันยายน – 6 ตุลาคม 2562 ที่ Glimpse Space อาคารเอเชีย 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน