GOOD DAY BAD DAY BUT EVERYDAY ในภาพถ่ายของทวีพงษ์ ประทุมวงษ์

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2014 จนถึงวันที่คุณกำลังอ่านบทความนี้ ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ถ่ายรูปสตรีทต่อเนื่องทุกวัน

เช่นเดียวกับช่างภาพสตรีทหลายคน จุดเริ่มต้นของทวีพงษ์คือโปรเจกต์ถ่ายรูป 365 days in 2014 ก่อนจะขยายเป็นงานอดิเรกที่จริงจังไม่แพ้งานหลัก ระดับที่ในปีนั้นเขาได้รางวัลชนะเลิศจาก Miami Street Photography Festival 2014 ตามมาด้วยการขึ้นแท่นเป็น 1 ใน 20 ช่างภาพสตรีทที่ทรงอิทธิพลที่สุดจากการจัดอันดับของ streethunters.net ในปี 2015

1,600 กว่าวันที่ผ่านมาเพียงพอที่จะทำให้ทวีพงษ์มีรูปมาสเตอร์พีซมาจัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่เขาตั้งชื่อว่า GOOD DAY BAD DAY BUT EVERYDAY และเพียงพอให้เขาคิดทำอะไรสนุกๆ เช่น การปั้นหมาหัวขาดจากรูปถ่ายเมื่อปี 2014 สร้างอุโมงค์ที่เต็มไปด้วยเป็ดจากรูปถ่ายโปรดของลูกสาว แจกแตงโมให้ผู้มาร่วมงานเหมือนรูปคนแบ่งแตงโม ทำที่วางหนังสือรูป ‘ลุงล้ม’ จากรูปสุดไอคอนิกของตัวเอง หรือแม้แต่เชิญคุณลุงมาสร้างสีสันในวันเปิดนิทรรศการ

ภาพถ่ายและลูกเล่นทั้งหลายคล้ายกับพยายามบอกเล่าตัวตนของทวีพงษ์ แต่ลึกลงไปแล้ว เขาคิดอะไรและพยายามบอกเล่าอะไร คงมีแต่ตัวเขาเองเท่านั้นที่มีคำตอบ

GOOD DAY BAD DAY BUT EVERYDAY

“งานแสดงภาพถ่ายหลายที่ที่เราเคยไปมักจะมีแค่รูป คนมาดูรูปแล้วก็จบ ซึ่งรูปเหล่านั้นคนก็ดูบนอินเทอร์เน็ตกันมาหมดทุกรูปแล้ว เราเลยอยากสร้าง experience ให้คนได้ไปอยู่ในโมเมนต์ที่เราได้รูป ดึงโมเมนต์เซอร์เรียลมาอยู่ตรงหน้าคุณจริงๆ” ทวีพงษ์อธิบายเมื่อเห็นเราตื่นเต้นกับรูปปั้นหมาหัวขาดที่เก็บรายละเอียดเนี้ยบตั้งแต่ท่ายืน เส้นขน ยันลำตัวซูบผอมจนเห็นกระดูกซี่โครง

ไม่แปลกที่ทวีพงษ์จะเก็บรายละเอียดได้อย่างน่าทึ่ง เพราะลูกเล่นต่างๆ ที่เราเห็นถูกวางแผนมาเนิ่นนานตั้งแต่ปลายปีที่แล้วในกรุ๊ปลับ ‘Super War Room’ โดยมีผู้ร่วมปฏิบัติการเป็นภรรยาและเพื่อนรักอย่าง อาจศึก จันทมาศ ที่ช่วยเลือกรูปให้ทวีพงษ์ในทุกๆ วันอยู่แล้ว

“อย่างแรกที่คิดคือ ต้องเชิญลุงล้มมาเป็นหนึ่งใน installation (หัวเราะ) หมานี่เราก็อยากได้สุดๆ เอาแบบที่เหมือนจริงมากๆ อย่างลูกสาวเราชอบรูปเป็ดที่สุดเป็นเหตุผลที่ทำอุโมงค์เป็ด เราพยายามจะเดเวลอปให้มันไม่อยู่นิ่ง อย่างอุโมงค์เป็ดเราว่าจะเอาไข่มาติด หมานี่ก็ว่าจะเอาชามข้าวมาตั้งหรือปั้นลูกหมาไม่มีหัว คือเราพยายามพัฒนาไปเรื่อยๆ ให้มาดูแต่ละรอบแล้วมันไม่เหมือนกัน

“วิธีคัดเลือกรูปของเราง่ายมาก คือเราเลือกรูปที่ชอบที่สุดมาจัดแสดง สตรีทสำหรับเราไม่ใช่งานคอนเซปชวล ไม่ใช่ว่าฉันต่อต้านรัฐบาลนี้เลยออกไปถ่ายรูป แต่มันเป็นวันที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะไปไหน (หัวเราะ) คือขับรถแบบออโต้ไพล็อต อ้าว! รู้ตัวอีกที อยู่สนามหลวงแล้ว”

GOOD DAY = Good Photos

เพราะชื่อนิทรรศการทำให้เรานึกสงสัยว่า สำหรับทวีพงษ์แล้ว วันแบบไหนถึงจะเรียกได้ว่าเป็น GOOD DAY

“วันที่ดีที่สุดเหรอ วันที่ดีคือวันที่ได้รูปไง” เขาหัวเราะลั่นก่อนจะเสริมว่า บางครั้งกว่าจะรู้ว่าตัวเองได้รูปที่ดีก็เป็นตอนที่กลับถึงบ้านแล้วนั่นแหละ เช่น วันที่เขาได้รูป Flying Carpet ซึ่งบังเอิญเป็นวันที่ 1,111 หลังเขาเริ่มต้นถ่ายรูปสตรีทพอดี

“ตอนถ่ายรูปนี้ จังหวะแรกที่เด็กกำลังเล่นผ้าถุงกับผู้ชายคนหนึ่ง เราก็ถ่ายข้างหลังก่อน พอเขาหันมาเห็นเรา เขาก็วิ่งหนี เราก็วิ่งตามไปกดแชะๆๆ ถามว่าในหัวจะคิดว่าได้รูปแบบนี้มั้ย ไม่มีทาง ช่างภาพที่บอกว่า พี่คิดไว้แล้วว่าจะต้องได้แบบนี้ แม่งขี้โม้ (หัวเราะ) วันนั้นเราไม่คิดว่าจะได้รูปเลยก็ไปถ่ายอย่างอื่นต่อ จนกลับบ้านมาเลือกรูปส่งให้เพื่อนดูนั่นแหละถึงเห็น เราเลยชอบรูปนี้มากที่สุดเพราะมันเป็นรูปที่เราไม่คิดว่าจะได้”

วิธีการทำงานในทุกๆ วันหลังถ่ายรูปคือ ทวีพงษ์จะส่งรูปที่คิดว่าใช้ได้ไปให้อาจศึกช่วยเลือก ซึ่งบางครั้งรูปที่เพื่อนเลือกก็ดันไม่ตรงกับที่เขาแอบเลือกไว้ในใจซะอย่างงั้น

“บางทีเราก็เถียงกันจนต้องให้ภรรยามาช่วยตัดสิน ซึ่งจริงๆ เถียงกันมันก็ดีนะ เรารู้สึกว่าในสังคมเฟซบุ๊ก พอลงรูปไป คนก็คอมเมนต์ว่าสวยครับ ดีครับ จบเลยนะ เหมือนกับที่ตัวละครในหนังเรื่อง Whiplash บอกว่า คำที่ทำลายศิลปินที่สุดคือคำว่า good job (หัวเราะ) แต่ถ้ามันมีการถกเถียง เราก็ได้ความรู้ด้วย”

BAD DAY = 13 OCT 2016

เพราะวันที่ได้รูปดีๆ คือ GOOD DAY เราเลยแอบตั้งสมมติฐานในใจว่าวันแย่ๆ น่าจะเป็นวันที่เขาไม่ได้รูปสักเท่าไหร่ แต่ทวีพงษ์กลับบอกว่าวันที่แย่ที่สุดของเขาเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว

“ตอนนั้นเราไปเก็บภาพที่สนามหลวงก่อนวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต 1 วัน เพราะพี่ที่เป็นช่างภาพข่าวบอกว่าพงษ์ต้องมาเก็บภาพ ไหนๆ ก็เก็บภาพทุกวันอยู่แล้ว แต่วันที่ในหลวงเสด็จสวรรคตนั่นแหละคือ BAD DAY ของเรา มันเป็นวันที่ถ่ายรูปยากที่สุดแล้ว ถ่ายไปแล้วก็ร้องไห้ไป คนเป็นร้อยเป็นพันร้องไห้พร้อมกัน เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอมาก่อน

“รูปนี้เราชอบ เพราะมันมีดาวเหมือนเสด็จสู่สวรรคาลัย มันคือหลอดไฟบนต้นไม้ ซึ่งหลังจากวันนั้นก็ถ่ายแบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะเขาเอาไฟดวงใหญ่มาตั้ง ต้นไม้มันก็จะสว่าง”

EVERYDAY = Ordinary Day

ตลอดเวลาที่คุยกัน ทวีพงษ์ย้ำกับเราเสมอว่า ทุกวันนี้เขาไม่มีแผนว่าจะไปถ่ายรูปที่ไหนด้วยซ้ำ จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่าถ้าไม่มีแผนแล้ว ทุกวันนี้เขาไปหาซีนดีๆ มาถ่ายรูปได้ยังไงกัน

“จริงๆ ตอนฝึกถ่ายรูปแรกๆ เราก็มีแพลนนะ เช่น ถ้าวันนี้มีเวลาจะไปรอที่กำแพงนี้ เราเล็งไว้แล้วว่าถ้ามีคนเดินผ่านก็โอเคเลย แต่เราพบว่าไอ้การแพลนเยอะๆ ทำให้ภาพมันไม่สดและน่าเบื่อ เพราะเราจะแพลนได้ก็ต่อเมื่อเราเคยเห็นอะไรแบบนี้มาแล้ว เราถ่ายไปมันก็เหมือนคนอื่น”

ดังนั้น แม้แต่รูปที่เป็นภาพจำของทวีพงษ์อย่างรูปเป็ดยักษ์สีเหลือง รูปเสาที่หาดไบรตัน หรือรูปคนสูบบุหรี่ในพุ่มไม้ ก็ไม่มีแผนการซับซ้อนซ่อนอยู่เบื้องหลังทั้งนั้น มีแต่สายตาที่สนใจโลกรอบตัวและมือที่ไวพอจะเก็บโมเมนต์ไว้ในเมมโมรี่การ์ดเท่านั้น

“บางทีเดินหารูปที่จะถ่ายก็ไม่เจอนะ เราแค่ต้องมองหาจากสิ่งรอบๆ ตัวเรานี่แหละ เช่น ตอนนั้นเราแค่ถ่ายรูปลูกสาวเราอยู่ แล้วเขาก็ล้ม เราก็ได้รูป เราต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลาว่า เฮ้ย! มีโอกาสที่จะได้รูปนะ”

นอกจากสายตาที่มองหาเรื่องราวที่น่าสนใจแล้ว ทวีพงษ์ยังบ้าพลังระดับที่ถ้าเจอซีนดีๆ แล้ว เขาจะกดชัตเตอร์ไม่ยั้งแล้วค่อยกลับมาเลือก (ร่วมกับเพื่อนและภรรยา) อีกที แม้นั่นอาจจะหมายความว่าเขาต้องกดชัตเตอร์เป็นพันครั้งกว่าจะได้รูปที่เพอร์เฟกต์เพียงรูปเดียวก็ตาม

“ถ้ากดชัตเตอร์ครั้งเดียวจบ คุณรู้ได้ยังไงว่าโมเมนต์นั้นคือโมเมนต์ที่ดีที่สุดแล้ว มันอาจจะมีช่วงเวลาที่ดีกว่านั้นก็ได้ โมเมนต์ที่ดีที่สุดมันเป็นแค่เสี้ยววินาทีเอง เราไม่ได้รู้สึกว่าเราจะต้องเป็นผู้กำหนดวินาทีนั้นด้วยตัวเราเอง มันทะนงตนเกินไป”

EVERYDAY = Special Day

“เราไม่ค่อยรู้หรอกว่างานเราเป็นยังไง แต่ฝรั่งที่ดูงานเราเขาจะบอกว่า งานของเราส่วนใหญ่มีความเซอร์เรียลและความตลกซ่อนอยู่” ทวีพงษ์ออกตัวเมื่อเราถามว่า เขาคิดว่าภาพของตัวเองเป็นยังไง ในขณะที่ ชล เจนประภาพันธ์ คิวเรเตอร์ของ Subhashok The Arts Centre (S.A.C.) สถานที่จัดนิทรรศการครั้งนี้ บอกเราว่า แม้งานของทวีพงษ์จะไม่ได้มีคอนเซปต์ แต่นั่นแหละคือจุดแข็งที่สุดของเขา

“พี่พงษ์เป็นช่างภาพสไตล์นี้ คือออกจากบ้านแบบไม่มีอะไรในหัว ไม่รู้ว่าวันนั้นจะเจออะไร บางคนอาจจะมองว่าทวีพงษ์ถ่ายไม่มีธีม ไม่มีคอนเซปต์ แต่ผมมองว่านี่เป็นกลยุทธ์แบบหนึ่ง

“เราเริ่มเห็นว่าสิ่งที่ทวีพงษ์ไปจับไปเก็บมา มันเป็นเหตุการณ์ในเมืองนี่แหละ แต่ว่าพอเอามารวมกันแล้ว มันทำให้เราคิดว่ามันมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นทุกวันหรือเปล่าโดยที่เราไม่เห็น เป็นชีวิตอีกแบบหนึ่งที่มีเรื่องตลกร้าย ความขบขัน เรื่องทั้งดีและไม่ดีอย่างที่เขาเล่า แต่ที่สำคัญคือมุมมองที่เหมือนโลกคู่ขนานที่คนทั่วไปอาจไม่เคยเห็นมาก่อน”

สุดท้าย เราถามทวีพงษ์ว่า เขาอยากให้คนได้อะไรจากการมาดูนิทรรศการครั้งนี้

“ไม่ได้รู้สึกว่าอยากให้คนดูรู้สึกอะไร” เขาตอบทันที “เราแค่อยากทำสิ่งที่อยู่ในหัวออกมา (หัวเราะ) จะรู้สึกอะไรก็ได้ แต่ขอให้สนุกกับการมาดูก็แล้วกัน”

ใช่ เขาน่าจะหมายถึงขอให้ทุกคนได้มี GOOD DAY ก็พอ

นิทรรศการ GOOD DAY BAD DAY BUT EVERYDAY จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2561 ที่ Subhashok The Arts Centre (S.A.C.) นอกจากรูปถ่ายและกิมมิกสนุกๆ แล้ว ในงานยังเปิดให้จองหนังสือ GOOD DAY BAD DAY BUT EVERYDAY หนังสือเล่มแรกของทวีพงษ์อีกด้วย ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ก็มีเวิร์กช็อปที่น่าสนใจแวะมาจัดเรื่อยๆ ใครอยากร่วมสนุกติดตามในเพจของ S.A.C. ได้เลย

ภาพ พชรธร อุบลจิตต์, ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พชรธร อุบลจิตต์

เป็นช่างภาพที่เรียนการเมืองแต่ชอบเดินทางเป็นอาชีพแถมยังชอบทำขนมเป็นงานอดิเรก กำลังเก็บเงินไปเอเวอเรสต์และซื้อตู้เย็น

ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์

ช่างภาพสตรีทมือรางวัลของไทย ผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 20 ช่างภาพสตรีทที่ทรงอิทธิพลที่สุดจากเว็บไซต์ streethunter.net ในปี 2015 ภาพของเขาถูกจัดแสดงทั้งในเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป