คุยกับสองผู้ก่อตั้ง PLATFORM66 งานเอกซ์โปสตรีทคัลเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Highlights

  • คุยกับสองผู้ก่อตั้ง PLATFORM66 งานเอกซ์โปสตรีทคัลเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปิ๊นอนุพงศ์ คุตติกุล’ ผู้ก่อตั้ง Carnival ร้านสนีกเกอร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในบ้านเรา และจี๊ดสมบูรณ์ เมืองสิริขวัญ’ ผู้รอบรู้เรื่องสนีกเกอร์และคลุกคลีอยู่กับวงการสตรีทแฟชั่น
  • งานนี้แต่ละแบรนด์ไม่ใช่แค่เอาของมาขาย รีเซล หรือลดราคา แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น

เหมือนที่วงการรถยนต์มีงานมอเตอร์โชว์สำหรับคนรักรถ

เหมือนที่วงการหนังสือมีงานสัปดาห์หนังสือสำหรับหนอนหนังสือ

เหมือนที่วงการไอทีมีงานคอมมาร์ตสำหรับคนที่สนใจเทคโนโลยี

“ในเมื่อแต่ละความสนใจมีคนจัดงานของมันหมดแล้ว แล้วทำไมมันจะมีงานที่เป็นเอกซ์โปของสตรีทคัลเจอร์ไม่ได้” ชายสองคนตรงหน้าช่วยกันเปรียบเปรยให้เห็นภาพของงาน PLATFORM66 อย่างง่ายๆ

ชายสองคนที่ว่า หนึ่งคือ ปิ๊น–อนุพงศ์ คุตติกุล ผู้ก่อตั้ง Carnival ร้านสนีกเกอร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในบ้านเราและได้รับการยอมรับในระดับโลก อีกหนึ่งคือ จี๊ด–สมบูรณ์ เมืองสิริขวัญ ผู้รอบรู้เรื่องสนีกเกอร์อันดับต้นๆ ในประเทศและคลุกคลีอยู่กับวงการสตรีทแฟชั่นมาตั้งแต่บ้านเรายังมีผู้สนใจเพียงหยิบมือ

“นี่คือช่วงเวลาที่คนน่าจะเข้าถึงสตรีทคัลเจอร์เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย” ปิ๊นเอ่ยประโยคนี้ระหว่างเรานั่งคุยกัน ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญที่ทำให้เขาทั้งสองลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงความฝัน

เมื่อผู้คนพร้อม แบรนด์พร้อม และเขาทั้งสองพร้อม ปิ๊นและจี๊ดจึงลุกขึ้นมาจัดงานที่รวบรวมตัวละครต่างๆ ในอุตสาหกรรมสตรีทคัลเจอร์มาอยู่ในงานเดียว ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ ร้านค้า ศิลปิน นักออกแบบ ผู้บริโภค ด้วยหวังว่างานนี้จะช่วยยกระดับวงการสตรีทคัลเจอร์ในบ้านเรา

นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้ง เขาทั้งคู่ยังเป็นผู้นำเอาความฝันไปขายให้แบรนด์ต่างๆ ฟังจนความฝันนั้นกำลังจะกลายร่างเป็นความจริงในวันที่ 30 พฤศจิกายน และ 1 ธันวาคมนี้

ก่อนจะซื้อตั๋วแล้วเตรียมตัวไปพบกันที่ไบเทค บางนา ผมอยากชวนอ่านบทสนทนาระหว่างเราเป็นการอุ่นเครื่อง

 

สำหรับพวกคุณ นิยามของสตรีทคัลเจอร์คืออะไร

จี๊ด : สตรีทคัลเจอร์ในมุมมองเรามันคือวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่เราเห็นบนท้องถนน โดยแต่ละคนได้รับแรงบันดาลใจมาจากความชอบหรือประสบการณ์การใช้ชีวิต ได้รับอิทธิพลมาจากหลายๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ดนตรี แฟชั่น กีฬา เมื่อแต่ละหมวดมารวมกันมันก็กลายเป็นสิ่งที่เราเรียกรวมๆ ว่าสตรีทคัลเจอร์

ปิ๊น : คนมักจะมองว่าสตรีทมันเป็นแค่เรื่องการแต่งตัวหรือรองเท้า แต่จริงๆ สตรีทคัลเจอร์มันประกอบไปด้วยดนตรี ศิลปะ และส่วนอื่นๆ ที่ผสมผสานกัน

ความสวยงามของสตรีทคัลเจอร์คือสิ่งที่ทุกคนถ่ายทอดออกมาด้วยตัวตนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวหรือการทำงานศิลปะอะไรก็ตาม ความสวยงามของมันอยู่ที่ว่าคนเหล่านั้นได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร จนมันกลายเป็นผลงานแบบที่เราเห็น

 

แล้วอะไรทำให้อยู่ๆ คุณตัดสินใจลุกขึ้นมาจัดงานเกี่ยวกับสตรีทคัลเจอร์

ปิ๊น : ที่ผ่านมามีคนพยายามจะจัดงานเกี่ยวกับสนีกเกอร์หลายงาน ทั้งตัวห้างสรรพสินค้าเองก็เห็นกระแสสตรีทคัลเจอร์ เห็นกระแสของสนีกเกอร์ ก็คิดว่าต้องมีงานเกี่ยวกับสนีกเกอร์นะ แต่สุดท้ายมันก็จบลงที่งานรีเซลบ้างล่ะ งานที่แต่ละแบรนด์เอาของมาโละขายบ้างล่ะ มันไม่ใช่ภาพงานสตรีทคัลเจอร์เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างงาน ComplexCon ที่อเมริกา งาน YO’HOOD ที่จีน หรืองาน Sole DXB ที่ดูไบ งานต่างๆ เหล่านี้เป็นงานที่ทุกคนรู้ว่านี่คืองานสตรีทคัลเจอร์

จี๊ด : อย่างที่ปิ๊นบอก ที่ผ่านมาเราเห็นอีเวนต์คล้ายๆ แบบนี้ในบ้านเรา อย่างเช่นอีเวนต์ที่แต่ละแบรนด์จัดขึ้นกันเอง แต่มันอาจจะเป็นอีเวนต์ที่ไม่ได้รวมองค์ประกอบหลายๆ อย่างเข้าไปในงาน แล้วผมเองมีไอเดียอีเวนต์แบบนี้มา 5-6 ปีแล้ว ว่าวันหนึ่งเราอยากจัดงานที่รวมทุกตัวละครในอุตสาหกรรมมาไว้ด้วยกัน แล้วช่วงที่ผมกับปิ๊นเดินทางไปต่างประเทศด้วยกันบ่อยๆ เราได้ไปอีเวนต์ที่ว่าด้วยสตรีทคัลเจอร์พวกนี้ แล้วปิ๊นก็บอกว่า ‘ผมอยากจัดงานแบบนี้ว่ะ’ ผมก็บอกว่าเรามีไอเดียนี้อยู่ มาลองดูกันไหม มันเป็นพรีเซนเทชั่นเก่ามากที่ผมคิดเอาไว้ พอเอาให้ดูปิ๊นก็บอกว่า ลองเอามารื้อทำใหม่กัน

งานที่พวกคุณจะจัดต่างจากงานสนีกเกอร์อื่นๆ ในบ้านเรายังไง

ปิ๊น : หนึ่งคืองานนี้ไม่ใช่การเอาสินค้ามาลดราคา แต่ละแบรนด์ที่มาเปิดบูทจะเอาคอลเลกชั่นพิเศษที่ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไปมาขาย คอลเลกชั่นที่เปิดตัวครั้งแรกในประเทศ คอลเลกชั่นที่ไม่ได้มีขายตามร้านทั่วไป

ถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายๆ เมืองไทยเรามีงานเอกซ์โปหลากหลายมาก ทั้งมอเตอร์โชว์ ทอยเอ็กซ์โป คอมมาร์ต บ้านและสวน สัปดาห์หนังสือ งานพวกนี้มันคือการรวบรวมทุกแบรนด์ของแต่ละอุตสาหกรรม คำถามคือในเมื่อแต่ละความสนใจมีคนจัดงานของมันหมดแล้ว แล้วสตรีทแฟชั่นที่เป็นกระแส ณ ปัจจุบัน เห็นคนต่อคิวซื้อรองเท้า ทำไมจะมีงานที่เป็นเอกซ์โปของสตรีทคัลเจอร์ไม่ได้ ถูกไหม

จี๊ด : ฉะนั้นเวลามีคนที่ไม่เข้าใจถามเรา เราก็จะเปรียบเทียบให้นึกง่ายๆ ว่ามันคืองานมอเตอร์โชว์ แต่เปลี่ยนจากรถยนต์มาเป็นเสื้อผ้า รองเท้า เป็นอะไรต่างๆ เขาถึงจะเห็นว่า อ๋อ มันเป็นอย่างนี้

เพราะว่าในงานนี้แต่ละแบรนด์ไม่ใช่แค่เอาของมาขาย แต่จะมีการเปิดตัวโมเดลใหม่ มีการโชว์นวัตกรรมหรือคอลเลกชั่นของปีหน้า ฉะนั้นมันเป็นเรื่องของการสร้าง brand experience ให้กับคนที่มาโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับบ้านเรา

ปิ๊น : จริงๆ ก่อนหน้าจะจัดงานนี้เราไม่ได้อยากจะจัดเองนะ เราอยากให้มันเกิดขึ้นในประเทศไทยนี่แหละ เราอยากให้ใครสักคนทำ เรารออยู่ด้วยว่าจะมีใครสักคนทำไหม แต่ปรากฏว่ามันไม่มี

 

การจัดงานแบบนี้มันยากยังไง ทำไมที่ผ่านมาถึงไม่เคยมีใครลุกขึ้นมาทำ

ปิ๊น : การจะจัดงานแบบนี้ หนึ่ง มันต้องมีความพร้อมด้านประชากรว่าเขาเข้าใจงานแบบนี้หรือเปล่า จัดแล้วคนจะมาหรือเปล่า ซึ่งสิ่งนี้สำคัญที่สุด รองลงมาคือความพร้อมของแบรนด์ เพราะเขาจะต้องเอาเงินมาลงทุนเพื่อจัดบูทในงาน มันก็มีความยากที่ว่าทำยังไงถึงจะรวบรวมแต่ละแบรนด์ให้มาในงานนี้ได้

ขาหนึ่งคือฝั่งคนที่จะมาในงาน อีกขาหนึ่งคือฝั่งแบรนด์ การจะจัดงานแบบนี้ต้องดูว่าช่วงเวลานั้นทั้งสองฝั่งพร้อมหรือยัง ยังไม่นับฝั่งคนจัดงานตรงกลางอีกว่าพร้อมหรือยัง มันถึงเป็นที่มาว่าจริงๆ โปรเจกต์นี้เราคุยกันมา 2-3 ปีแล้ว แต่ทำไมไม่ได้ทำสักที คำตอบคือต้องพร้อมทั้งสามฝ่าย

อะไรคือสัญญาณบอกคุณว่าประเทศไทยพร้อมแล้ว

จี๊ด : ถ้ามองภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แฟชั่นในบ้านเรา diverse ที่สุดแล้ว มันแซงหัวเมืองหลักๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว โอเค สิงคโปร์มันเป็นฮับ มีแบรนด์แฟชั่นดีๆ ไปลงอยู่ตรงนั้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเศรษฐกิจ แต่จริงๆ ถ้ามองในเรื่องของเทรนด์แฟชั่น เรื่องการแต่งตัว ผมเชื่อว่าคนไทยเรานำหัวเมืองหลักๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด

เราเห็นคนแต่งตัวสตรีทแฟชั่นมากขึ้นตามท้องถนน แล้ว ณ วันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสตรีทแฟชั่น สตรีทคัลเจอร์ มันขายได้หมด เหมือนล่าสุดที่ IKEA คอลแล็บกับ Virgil Abloh คนไปต่อคิวข้ามคืนล่วงหน้าเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ ทั้งที่ถ้าพูดถึงเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียวคนเหล่านั้นอาจจะไม่สนใจหรอก แต่เมื่อมันมีอะไรที่เชื่อมโยงกับสตรีทคัลเจอร์ สตรีทแฟชั่น เขาสนใจ ด้วยจังหวะที่ดี เราคิดว่าบ้านเราควรจะต้องมีอีเวนต์อะไรแบบนี้แล้ว

ปิ๊น : สำคัญที่สุดก็คือคนในประเทศ ตอนนี้สตรีทคัลเจอร์มันไม่ได้อยู่เฉพาะกลุ่มอีกต่อไปแล้ว สตรีทแฟชั่นกลายเป็นกระแสหลัก หมายความว่าคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องรองเท้า ไม่ได้ศึกษาเรื่องเสื้อผ้า เขาก็หันมาแต่งตัวสตรีทแฟชั่นแล้ว ในระยะ 2-3 ปีหลังกระแสสนีกเกอร์และสตรีทแฟชั่นมันบูม ตรงนี้แหละเป็นสัญญาณที่บอกว่าเราน่าจะมีจำนวนคนที่พร้อมสำหรับงานนี้ มันเป็นช่วงเวลาที่คนน่าจะเข้าถึงสตรีทคัลเจอร์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่จัดตอนนี้ก็ไม่รู้จะจัดตอนไหนแล้ว

 

แล้วคุณทำยังไงให้แบรนด์ต่างๆ เชื่อเหมือนที่คุณเชื่อ

จี๊ด : ด้วยความโชคดีที่โปรไฟล์ของเราสองคนเวลาไปคุยกับแบรนด์แล้วมันน่าเชื่อถือ เราไม่ใช่ใครที่อยู่ดีๆ อยากจัดงานโดยไม่มีความรู้ในเรื่องที่จะทำเลย เพราะฉะนั้นตอนที่คุยกับแบรนด์หรือใครก็ตาม ทั้งแบรนด์ใหญ่แบรนด์เล็ก พอเราอธิบายให้เขาฟัง ส่วนหนึ่งเขาเลยน่าจะมองเห็นถึงความตั้งใจของเราสองคนว่าพวกคุณทำกันแบบนี้ ตั้งใจทำกันมากขนาดนี้

ปิ๊น : ในงานแถลงข่าวที่เราจัดมีแบรนด์ขึ้นไปตอบคำถามด้วยว่าทำไมเขาถึงมาร่วมงานนี้ ซึ่งหลายแบรนด์บอกว่า เพราะเขาเชื่อว่าผมกับพี่จี๊ดจะทำให้งานนี้เกิดขึ้นได้ อันนี้ตอบพร้อมกันหลายๆ แบรนด์ คือพอเราไปอธิบายว่าต้องการจะทำงานแบบนี้ เขาก็เชื่อว่าเราทำได้ เขาเชื่อว่าเราเข้าใจว่างานแบบนี้เป็นยังไง

ตอนที่เข้าไปพรีเซนต์สิ่งที่คุณบอกกับทุกแบรนด์คืออะไร

ปิ๊น : สิ่งที่เราพูดกับทุกแบรนด์คืองานนี้เราไม่ได้จัดขึ้นเพื่อตัวเราเองนะ อย่างผมเองไม่ได้จัดแล้วให้เครดิตว่าร้าน Carnival เป็นคนจัดงานนี้ เราบอกว่าเราคือทีมไทยแลนด์ เราคือทีมประเทศไทย อันนี้คือเหตุผลสำคัญที่ทุกแบรนด์เขาถึงเข้ามาทำกับเรา เพราะเขารู้ว่าเราทำเพื่อประเทศไทย เราทำเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้มันโตไปด้วยกัน ทุกคนจะวิน-วินด้วยกันหมด เราไม่ได้มาเทกเครดิตว่าเราจัดแล้วได้อะไร

เราอยากจะยกระดับความเป็นประเทศไทยให้ต่างประเทศเห็น เพราะที่ผ่านมาจะมีคำถามว่าทำไมสินค้าไม่เข้าประเทศไทย คุณเห็นคอลเลกชั่นนั้นนี้ขายที่อเมริกา ที่ญี่ปุ่น แล้วทำไมมันไม่เข้าเมืองไทย อันนี้มันเหมือนเป็นมิสชั่นของทุกคนในประเทศไทย ที่จะทำให้แบรนด์จากอเมริกา แบรนด์จากยุโรป เห็นว่าตลาดเมืองไทยมีความพร้อมแล้วนะ ถ้างานนี้ประสบความสำเร็จ หรือเป็นไปในทางที่เราอยากให้มันเป็น ผลลัพธ์ของมันคือเมื่อต่างประเทศเห็นว่าเมืองไทยจัดงานแล้วมีคนมาต่อคิวเข้างาน ต่อไปเขาก็จะเห็นว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในเมืองที่ต้องโฟกัส ประโยชน์ก็จะเกิดกับลูกค้าที่อยากจะได้สินค้าคอลเลกชั่นดีๆ ด้วย

จี๊ด : มันเลยเป็นที่มาของชื่อ PLATFORM66 เพราะตัวเลข 66 มาจากรหัสประเทศ ส่วนคำว่า platform คือเราอยากจะให้กรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของสตรีทคัลเจอร์ในโลก ไม่ใช่เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเอเชียต้องไม่ใช่มีแค่ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ โซล สิงคโปร์ แต่มันจะต้องมีกรุงเทพฯ รวมอยู่ด้วย

เห็นว่างานนี้ได้คาแร็กเตอร์ของ ALEX FACE มาช่วยโปรโมตงานด้วย พวกคุณสนใจอะไรใน ALEX FACE

จี๊ด : สาเหตุที่เลือก ALEX FACE เพราะเรามองว่างานของเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็นศิลปินสตรีทอาร์ตที่พ่นกำแพงอย่างเดียวแล้ว แต่อาร์ตเวิร์กเขาไปอยู่บนกระเป๋าแบรนด์เนม ไปอยู่ในแกลเลอรี หรือว่ามิวเซียมต่างๆ กับการจัดงานครั้งแรกของเราไม่มีใครเหมาะสมเท่าเขาอีกแล้ว อีกอย่างคาแร็กเตอร์มันน่ารัก แล้วก็เป็นการ represent ความเป็นคนไทยได้อย่างชัดเจน เราเลยทำงานร่วมกับเขา

ปิ๊น : ในงานก็จะมีบูทขายของที่ระลึกพิเศษที่ออกแบบโดย ALEX FACE โดยเฉพาะ นี่น่าจะเป็นงานเชตใหญ่ที่สุดที่เขาเคยทำมาแล้ว มีทั้งเสื้อผ้า อุปกรณ์ แก็ดเจ็ต ของสะสม งานศิลปะ มาขายในงาน

 

เหมือนพวกคุณมองว่าสตรีทคัลเจอร์มันกินความไปไกลกว่าสตรีทแฟชั่น แต่รวมถึงสตรีทอาร์ตด้วย

ปิ๊น : ใช่ ในงานก็มีทั้งแฟชั่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา

จี๊ด : เรามีสนามบาสเกตบอลไว้แข่งสตรีทบาสเกตบอล 3×3 ด้วย เพราะเรามองว่ากีฬาคือส่วนหนึ่งของคัลเจอร์นี้ และบาสเกตบอลคืออะไรที่เหมาะสมที่สุดแล้ว รองเท้าบาส แบรนด์ต่างๆ ก็เชื่อมโยงกับกีฬาประเภทนี้เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นเรายังมีสตรีทฟู้ดที่ได้ ITAN แทนไร้เทียมทาน มาเป็นคิวเรเตอร์โดยเฉพาะ ในขณะเดียวกันก็มีโซนรีเซลที่พวกร้านออนไลน์มาเปิดขายออฟไลน์กันประมาณ 60 กว่าร้าน

ความตั้งใจของพวกเราคืออยากให้คนมาแล้วอยู่ในงานไปเรื่อยๆ เอนจอยไปเรื่อยๆ เดินไปนั่นไปนี่ เราคุยกับแบรนด์เองเราก็บอกว่าอยากได้ experience นะ คุณต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คนที่มางานเอนจอยในพื้นที่ของคุณ ฉะนั้นมันไม่ใช่แค่เดิน 15 นาที 20 นาทีแล้วจบ ในแต่ละบูทคุณต้องใช้เวลากับมัน

 

ถึงตอนนี้คุณรู้สึกเสี่ยงไหม จัดงานที่คนอาจจะไม่เข้าใจมันร้อยเปอร์เซ็นต์

ปิ๊น : แน่นอน รู้สึกเสี่ยง คือมันเป็นอะไรที่เราจัดครั้งแรก กว่าจะคุยกับแบรนด์ได้ก็เหนื่อยมากๆ เพราะครั้งแรกมันไม่มีภาพตัวอย่างหรือวิดีโอให้ดูว่างานปีที่แล้วเป็นยังไง สิ่งที่เราทำมันก็เหมือนขายฝัน รวมถึงความท้าทายที่จะต้องอธิบายให้คนที่จะมางานเข้าใจให้ได้ว่ามันคืองานอะไร ซึ่งบางคนก็อาจจะยังไม่รู้ เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความเสี่ยงมันมีอยู่แล้ว แต่เราเดินหน้ามาขนาดนี้เราก็พร้อมที่จะเสี่ยง

จี๊ด : ผมคุยกับปิ๊นอยู่แล้วว่าครั้งแรกเราจะต้องเหนื่อยนะ เหนื่อยกับการแนะนำตัวเองเพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นว่างานประเภทนี้คืออะไร ฉะนั้นสำหรับก้าวแรกของพวกเรายังไงมันก็ยากอยู่แล้ว มันเหนื่อยอยู่แล้ว แต่ถ้าสมมติงานมันประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับที่ดีจากหลายๆ ฝ่าย ครั้งต่อไปมันก็คงเหนื่อยน้อยลง เพราะเราสองคนก็ตั้งใจว่าจะจัดงานให้ได้ทุกปี

 

ระหว่างทางมีอะไรที่ตอกย้ำไหมว่า ที่คุณเชื่อว่าบ้านเราพร้อมแล้วสำหรับงานแบบนี้เป็นความคิดที่ถูกต้อง

จี๊ด : เวลามีคนมาพูดว่ารอที่จะไปงานนี้นะ บอกว่าผมรองานแบบนี้มานานมากๆ อดใจไม่ไหวอยากจะไป ซึ่งมันก็คอยเติมไฟให้พวกเราทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด

พวกเราก็ต้องขอบคุณทุกแบรนด์ ขอบคุณสปอนเซอร์ทุกคน ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน คนที่เชื่อในสิ่งที่เราสองคนอธิบายให้ฟัง มันก็ย้อนกลับมาอย่างที่ปิ๊นบอกว่า แต่ละแบรนด์ที่เขาเชื่อถือเราอาจจะเพราะโปรไฟล์หรือว่าสิ่งที่พวกเราสองคนทำมาในอดีต เราก็ต้องทำให้เขารู้สึกว่า ไอ้สองคนมันทำฝันหรือทำสิ่งที่มันพูดให้เกิดขึ้นได้จริงๆ


รายละเอียดเพิ่มเติม facebook.com/platform66th

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!