Fashion Revolution: ใส่ซ้ำ ซื้อมือสอง เช่าชุดสวยๆ เมื่อแฟชั่นไม่ฉาบฉวยแฟชั่นจะยั่งยืน

Highlights

  • อุ้ง–กมลนาถ องค์วรรณดี คือผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ประเทศไทย กมลนาถจบการศึกษาและสั่งสมประสบการณ์จากการฝึกงานและทำงานเกี่ยวกับแฟชั่นมาหลากหลาย จากการออกแบบเพื่อความสวยงาม เธอเริ่มตั้งคำถามว่า เราจะออกแบบเรื่องที่นอกเหนือจากความสวยงามได้อย่างไร
  • ปี 2018 ที่ Fashion Revolution ริเริ่มจัดในประเทศไทย ครั้งแรกเป็นเพียงการสื่อสารกับคนกลุ่มเล็กๆ ในแวดวงที่เกี่ยวข้อง มาปีนี้ได้สร้างความเคลื่อนไหวผ่านแฮชแท็ก #WhoMadeMyClothes ที่ชวนตั้งคำถามว่าใครคือผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องกับเสื้อผ้าหนึ่งตัวที่เราสวมใส่

ในตู้เสื้อผ้าเราแต่ละคนมีเสื้อผ้าจำนวนกี่ชิ้น?

สำหรับบางคนที่ยังไม่ได้กระทำการมาริเอะ คนโดะ ตู้เสื้อผ้าตัวเองก็อาจจะตอบยาก หรือถ้าหากบางคนที่นิยมการใส่เสื้อผ้าสไตล์เดิมก็อาจจะตอบง่าย หรือบางคนที่ชอบช้อปเสื้อผ้าใหม่ทุกสิ้นเดือนก็บอกว่าไม่ต้องตอบก็ได้

อย่างนั้นขอถามเพิ่มเติม

หากหยิบเสื้อยืดสักหนึ่งตัวในตู้คุณ บอกกันหน่อยว่าเสื้อตัวนั้นใส่มาแล้วเป็นระยะเวลากี่ปี?

บางคนอาจใส่เสื้อยืดตัวเดิมซ้ำเกินจะนับรอบ หรือบางคนก็มีเดรสตัวโปรดที่ใส่นานทีปีหน การถาม-ตอบลักษณะนี้แท้จริงแล้วเป็นไปเพื่อสำรวจการใช้งานที่แท้จริงของเสื้อผ้า รวมถึงข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ สอดคล้องกับหนึ่งคำสำคัญที่เราหลายคนได้ยินในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาก็คือคำว่า ‘แฟชั่นยั่งยืน’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเสื้อยืดเส้นใยธรรมชาติออร์แกนิกทอโดยคุณยายช่างฝีมือเสมอไป แต่หมายถึงการใช้ซ้ำหรือสวมใส่เสื้อผ้าตัวหนึ่งนั้นให้คุ้มค่า ซื้อของที่มีคุณภาพและใช้งานซ้ำได้เป็นรายปี เพราะกว่าเสื้อผ้าสักชุดจะเดินทางมาถึงเรามีผู้คนมากมายที่ร่วมกันประกอบเส้นใยให้พร้อมสวมใส่ในแต่ละวัน

เมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมา #WhoMadeMyClothes แฮชแท็กที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องแฟชั่นในมุมกว้างกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์บ้านเรา และผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนแฮชแท็กนั้นคือ อุ้ง–กมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ประเทศไทย

อะไรทำให้เธอสนใจเรื่องแฟชั่นที่ไม่ฉาบฉวยและแฟชั่นจะเปลี่ยนโลกได้อย่างไร ให้เธอเล่าให้ฟัง

จุดเปลี่ยนจากป้ายยี่ห้อ

กมลนาถจบการศึกษาและสั่งสมประสบการณ์จากการฝึกงานและทำงานเกี่ยวกับแฟชั่นมาหลากหลาย จากเดิมที่เป็นนักออกแบบแฟชั่นในลักษณะของการวาดลวดลายเพื่อสั่งผลิตเป็นเสื้อผ้าจำนวนมาก สู่การไม่อาจต้านทานความหลงใหลส่วนตัวที่มีต่อกระบวนการผลิตที่ได้สัมผัสกับวัสดุต่างๆ ทุกขั้นตอน โดยเฉพาะกับสิ่งที่เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์

“ตอนเด็กเราตั้งคำถามกับตัวเองว่าวิถีปฏิบัติของแฟชั่นที่เราชอบเป็นแบบไหน ระหว่างที่มีเวลาว่างก็เลยลองออกเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ในไทย พร้อมกับตอนนั้นเขียนบล็อก Vanilawalk เกี่ยวกับเรื่องผ้าและการท่องเที่ยว เลยออกเดินทางไปเที่ยวหมู่บ้านในไทยหลายที่ เพื่อเรียนรู้ว่าวิถีที่เขาทำในไทยจริงๆ เป็นอย่างไร ก็ไปเรียนย้อมคราม เรียนทอผ้า

“จากความรู้สึกส่วนตัวที่ชอบให้มือตัวเองได้เปื้อน จุ่มลงไปในหม้อครามที่เหม็น ทดลองทำกับวัสดุต่างๆ และแปรให้เป็นความสวยงาม จุดเปลี่ยนที่ทำให้สนใจเรื่องนี้มากขึ้นคือได้ไปหมู่บ้านที่สกลนคร เจอกับป้าที่ทอผ้าครามหรือผ้ายีนส์ แต่ติดแบรนด์เป็นผลิตที่ประเทศอื่น พอเราเสิร์ชออนไลน์ก็ค้นพบว่าสินค้าชิ้นนั้นมีราคาหลายหมื่น เราเข้าใจเรื่องกลไกการตลาดนะว่ามีการบวกค่าต่างๆ แต่แบรนด์นั้นเขียนให้คนเข้าใจว่าคอลเลกชั่นของเขาทำด้วยช่างฝีมือคุณภาพจากอีกประเทศหนึ่ง เราเลยตั้งคำถามว่าช่างผ้าไทยก็ฝีมือมีระดับเหมือนกัน คุณภาพดีงามเหมือนกัน แต่ทำไมเราไม่ได้รับการเชิดชู แถมคุณป้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นนำไปขายในราคาเท่าไหร่ นี่เลยเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดคำถามเรื่องคุณค่าของกระบวนการผลิตเสื้อผ้าขึ้นมา”

“หลังจากนั้นก็เริ่มสนใจเรื่องพวกนี้เรื่อยมา เริ่มมีโอกาสอ่านหนังสือมากขึ้น เลยเปลี่ยนจากการออกแบบเพื่อความสวยงามมาเป็นการหาคำตอบว่า เราจะออกแบบเรื่องที่นอกเหนือจากความสวยงามได้อย่างไร เลยตัดสินใจเรียนต่อด้านสิ่งทอที่ประเทศอังกฤษ ช่วงที่ไปเรียนต่อเรามีโอกาสเจอคนอังกฤษที่มีความขบถ เป็นนักปฏิวัติอยู่ในจิตวิญญาณ จนได้เจอกับผู้อำนวยการของ Fashion Revolution จากการได้ไปฟังสัมมนา และในตอนนั้น Fashion Revolution เปิดรับ student ambassador ให้นักศึกษาสมัครเป็นตัวแทนเพื่อนำเสนอเรื่องราว เราเลยสมัครจัดกิจกรรมที่นั่น พอกลับมาไทยเขาเลยบอกให้มาทำต่อที่ไทยภายใน 1-2 ปี”

Fashion Revolution แฟชั่นกับความตระหนักรู้

Fashion Revolution เป็นแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนความเชื่อทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ด้วยความเชื่อว่าพลังของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้เข้าถึงผู้คนหมู่มาก สร้างการมีส่วนร่วมสู่วิธีใหม่ เพื่อส่งเสริมเสียงและจุดประกายการปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการได้มาซึ่งแฟชั่น การผลิต และการบริโภค

หลังจากปี 2018 ที่ Fashion Revolution ริเริ่มจัดในประเทศไทย ครั้งแรกเป็นเพียงการสื่อสารกับคนกลุ่มเล็กๆ ในแวดวงที่เกี่ยวข้อง จนมาถึงในปีนี้ที่ได้ตัดสินใจสร้างความเคลื่อนไหวผ่านแฮชแท็ก #WhoMadeMyClothes การชวนตั้งคำถามง่ายๆ เพื่อหาคำตอบว่าใครคือผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องกับเสื้อผ้าหนึ่งตัว เพื่อสนับสนุนให้เกิดความโปร่งใสและการเชื่อมโยงกันของผู้คนในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมแฟชั่น เกิดการร่วมมือจากกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ คนดัง และนักแสดง ที่พร้อมสนับสนุนกระแสนี้ให้เคลื่อนไหว ทั้งยังเกิดกิจกรรมมากมายตลอดสัปดาห์ของอีเวนต์ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายสุดเข้มข้นหรือกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าร่วมกัน

“การจัดแต่ละครั้งเราแบ่งเป็นระดับว่าอยากจะเข้าถึงใครก่อน ปีนี้เราเลือกผู้บริโภคเป็นหลักเพราะเราเชื่อว่าความต้องการของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ควบคุมตลาด เพราะคนคือตลาดและการที่ผู้บริโภคที่มีสำนึกเรื่องความยั่งยืนมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ก็จะเข้ามาหาเรา คนเข้าร่วมในปีนี้อาจจะไม่ได้เป็นจำนวนเยอะ แต่ก็ล้วนเป็นกลุ่มนำสมัย (early adopter) ที่เริ่มมองหาทางเลือกและมีความต้องการใหม่ โดยเฉพาะเมื่อคนต้องการมองหาอะไรที่มีความหมายมากขึ้นท่ามกลางของสำเร็จรูป เราเห็นว่าแบรนด์ระดับหรูกับแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นก็มีการลงทุนอย่างมากสำหรับเรื่องความยั่งยืน เพราะเขารู้ดีว่ามันคือหนทางเดียวที่จะอยู่รอดในอนาคต การที่ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่รับผิดชอบต่อสังคมจะกลายเป็นความธรรมดานิยามใหม่”


“คำถามที่เจอบ่อยครั้งคือสร้างความตระหนักรู้แล้วทำอย่างไรต่อ ในเมื่อเราก็อยากหยุดซื้อแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น แต่มันก็ราคาถูก สิ่งที่จะบอกคือว่าไม่ได้อยู่ที่แบรนด์นั้นทำอะไรมาให้เรา แต่อยู่ที่เราใช้มันอย่างไร ใช้ 3 ครั้งแล้วทิ้งหรือเปล่า เราซื้อชุดตัวหนึ่งแล้วใส่เป็นหลายสิบครั้ง นั่นคือการที่เราดูแลสิ่งของ เป็นเรื่องของทัศนคติที่เกิดแต่แรก ก่อนที่จะซื้อคือต้องเริ่มตั้งคำถาม”

“จากเดิมอาจจะเป็นนักช้อป แต่พอเห็นแคมเปญนี้แล้วเริ่มคิด จะเป็นการนำสู่ขั้นตอนต่อไปว่าพอเริ่มรู้เรื่องกระแสแฟชั่นยั่งยืนนี้ ได้ทำให้คนกลับมาตรวจสอบตัวเอง ฉันจะพยายามซื้อให้น้อยลง ลองใช้ของที่มีอยู่ก่อน หรือพยายามหาวิธีอื่นๆ ในการสนุกกับแฟชั่น โดยที่ไม่ต้องซื้อแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น งาน Fashion Revolution Week ที่ผ่านมาก็มีการนำเสื้อผ้ามาแลกเปลี่ยนกัน หรือแนะนำเคล็ดลับในการมิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้ามือสอง หรือนำเสนอรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่อย่างการเช่าเสื้อผ้าหรือการขายต่อ”

“สิ่งสำคัญคือทัศนคติของผู้ใช้ที่เริ่มเปลี่ยนจากการเป็นเจ้าของมาเป็นการเข้าถึงเพื่อแบ่งกันใช้ ดังนั้นเราเลยเชื่อมากๆ ในเรื่องของเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) หรือการบริโภคอย่างสร้างสรรค์ (creative consumption) เชื่อว่าธุรกิจที่จะอยู่รอดคือธุรกิจที่มีคนต้องการ ยิ่งมีคนต้องการมากเท่าไหร่ราคาก็ยิ่งถูกลง ยิ่งเกิดระบบนิเวศใหม่ๆ ขึ้น หลังจากเกิดกระแสแล้วก็หวังว่าคนจะเริ่มมองหาทางเลือกอื่นๆ มากขึ้น อาจไม่ง่ายเท่าเดิมแต่มันก็มีอยู่ พอมีธุรกิจลักษณะนี้มากขึ้นก็จะมีผู้บริโภคมากขึ้น เราเริ่มเห็นความเคลื่อนไหว มีคนที่เข้ามาฟังงานเราแล้วไปจัด garage sale กับคุณแม่และเพื่อนๆ เราก็เริ่มเห็นว่ามีการลงมือทำบางอย่าง เกิดเป็นเทรนด์ขึ้นมา สิ่งที่เราลงแรงไปถ้าตรงกับคุณค่าของคนที่เข้ามาฟังเรา เขาก็จะลงมือทำบางอย่าง”

ว่าด้วยผู้มีส่วนร่วม

อุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นประกอบไปด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่แบรนด์ ผู้ผลิต โรงงาน ช่างเย็บ หน้าร้าน การขนส่ง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง

“ยกตัวอย่างเว็บไซต์ businessoffashion.com เว็บไซต์ข่าวรวมความเคลื่อนไหวแฟชั่นเจ๋งๆ จากเดิมพอเราพูดถึงสื่อแฟชั่นหลายคนจะนึกถึงนิตยสารแฟชั่นต่างๆ แต่เว็บไซต์นี้เป็นการนำเสนอแฟชั่นในมุมมองของธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความสวยงาม เพราะเป็นเว็บที่มีจุดยืนเรื่องความยั่งยืนมาตลอด เนื้อหาภายในคือการค้นหาคำตอบเรื่องอนาคตของแฟชั่นที่ชัดเจน ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยี กิจกรรม คอมมิวนิตี้ โดยไม่ได้มองว่าความยั่งยืนต้องเป็นเรื่องที่กลับไปใช้ชีวิตเนิบช้า ต้องย้ายไปทำนาหรืออยู่ป่า เว็บนี้พูดเรื่องรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะสื่อแฟชั่นที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน”
 

ยั่งยืนไม่ยาก

“การทำแฟชั่นให้ยั่งยืนนั้นมี 2 ด้านคือ เร็วและช้า (fast and slow) ช้าสุดในที่นี้อย่างเช่นการเลือกใส่ผ้าฝ้ายย้อมครามทอมือ แต่ในความจริงไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเจ้าของได้ ทั้งด้วยเรื่องราคาและเวลาการผลิต ดังนั้นเลยต้องมีทางเลือกที่เป็นฝั่งเร็ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเช่าเสื้อผ้าหรืออื่นๆ เสนอเป็นทางเลือกที่ทำให้คนเข้าถึงเสื้อผ้าที่ตัวเองต้องการได้โดยไม่ทำให้เกิดคาร์บอนฟุตปรินต์ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำทางไลฟ์สไตล์ของเราไปทางไหน”

“แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นเองก็พยายามทำให้ตัวเองยั่งยืนพร้อมกับยังเป็นฟาสต์ไปด้วย อย่างเช่นการคิดเส้นใยใหม่ๆ หรือการออกแบบโปรแกรมรับเสื้อผ้าเก่ามาคืน ถามว่าอะไรยั่งยืนกว่าระหว่างเร็วและช้า ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งาน สุดท้ายแล้วไม่ได้มีคำตอบถูกหรือผิดตายตัว แต่เป็นการสร้างความสมดุลให้ตู้เสื้อผ้าของเราแบ่งสัดส่วนได้มากขึ้น เช่น เริ่มมีเสื้อผ้าเส้นใยธรรมชาติออร์แกนิกสัก 20 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้งานได้ยาวนาน แล้วหาวิธีการอื่นในการสนุกกับแฟชั่นมากขึ้น นี่จึงเป็นการกลับมาอยู่ที่ทัศนคติเรื่องการใช้งาน ปฏิบัติกับเสื้อผ้าว่าไม่ใช่ของที่ทิ้งได้ง่ายๆ ใช้งานให้เกิน 5 ปีขึ้นไป”

“การที่ทุกคนตระหนักรู้และลงมือทำจะเกิดระบบบนิเวศใหม่ อย่างเช่นถ้าห้างสรรพสินค้าในวันนี้ที่เริ่มมีโซนสินค้ายั่งยืน พอมีแล้วผู้บริโภคก็จะไม่ต้องใช้ความพยายามในการตามหาแบรนด์ต่างๆ ในอนาคต ความยั่งยืนจะไม่ใช่แค่เทรนด์แต่จะกลายเป็นเรื่องของข้อปฏิบัติ ยิ่งคนมีตัวเลือกในตลาดมากขึ้น แบรนด์ต่างๆ จะไม่แข่งขันกันว่าใครยั่งยืนกว่าใคร แต่จะเป็นการแข่งที่ความคิดสร้างสรรค์ ในวันที่ความยั่งยืนกลายเป็นมาตรฐานของสังคมแล้ว”

แคมเปญ Fashion Revolution น่าสนใจในนานาประเทศ

Fashion Revolution เชื่อว่า เราสามารถจุดประกายเพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งในแง่ความเป็นธรรมและความยั่งยืนในการผลิตและบริโภค

ในบ้านเราอาจเพิ่งเริ่มต้น แล้วโมเดลประเทศอื่นเขาทำอย่างไรเพื่อให้แฟชั่นนั้นยั่งยืน

กานา

สำหรับกานาแล้ว อุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมศักยภาพอีกมากมายที่จะผลักดันให้กานาเป็นประเทศผู้ผลิตและเป็นเป้าหมายของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าคุณภาพ ความเคลื่อนไหวของ Fashion Revolution ในกานาจึงเต็มไปด้วยการสร้างรากฐานความรับผิดชอบสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น ด้วยการให้ความรู้กับสาธารณะเกี่ยวกับการซื้อสินค้าอย่างยั่งยืน รวมถึงการให้ความรู้กับนักออกแบบ ช่างฝีมือ และผู้หญิงที่มีบทบาทอยู่ในห่วงโซ่การผลิต ให้มีความรู้เรื่องการผลิตอย่างมีจริยธรรม อย่างแบรนด์กระเป๋าถัก A A K S ที่ใช้ทักษะฝีมือช่างชาวแอฟริกัน ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ ก็สนับสนุนกลุ่มครอบครัวที่เก็บเส้นใยต้นปาล์ม raffia อันเป็นวัสดุหลักและใช้วิธีการย้อมแบบดั้งเดิมด้วยกระบวนการผลิตที่ใส่ใจคุณค่าทางจริยธรรม ที่ผู้ก่อตั้งอย่าง Akosua Afriyie-Kumi ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้แบรนด์นี้เป็นแบรนด์ที่มีความยั่งยืนและตรวจสอบได้ตลอดกระบวนการ 

เคนยา

หนึ่งในประเทศผู้ผลิตเส้นใยผ้าและสิ่งทอระดับโลก นำมาซึ่งความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการในตลาดกับกำลังการผลิต Fashion Revolution ในเคนยาจึงเป็นเรื่องของการคิดถึงคนรุ่นหลังเป็นสำคัญ การสื่อสารด้วยการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องฉุกคิด ทั้งการปรับใช้เรื่องความยั่งยืนภายใต้บริบทแอฟริกัน จะมีวิธีการใดในการแสดงให้เจ้าของแบรนด์เห็นความสำคัญและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นเอาไว้ หรือทุกคนจะต้องร่วมมือกันปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแฟชั่นในเคนยาใหม่ไปพร้อมกันทั้งหมด ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ก็มีหลายแบรนด์ที่มุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อแฟชั่นที่ยั่งยืน

เอธิโอเปีย

ประเทศที่รุ่มรวยไปด้วยประวัติศาสตร์ของการทอผ้าแบบดั้งเดิม เต็มไปด้วยเส้นสายที่เป็นเอกลักษณ์และมีความงดงาม หนึ่งในประเทศที่อุตสาหกรรมแฟชั่นขยายตัวอย่างรวดเร็วมากที่สุดในโลก เอธิโอเปียได้รับการพัฒนาการผลิตและการบริโภคในทุกระดับ Fashion Revolution จึงเข้าไปริเริ่มตั้งประเด็นและแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศ โดยการทำงานร่วมกับเจ้าของฟาร์มฝ้าย คนปั่นฝ่าย คนทอฝ้าย และนักออกแบบที่ทำงานร่วมกับช่างทอผ้าแบบดั้งเดิม หรือเรียกได้ว่าต้นน้ำจนถึงปลายน้ำนั่นเอง เริ่มแรกด้วยการแนะนำเจ้าของฟาร์มฝ้ายให้เปลี่ยนมาปลูกฝ้ายแบบออร์แกนิก เพื่อเป็นต้นน้ำของกระบวนการผลิตทั้งหมดที่เหลือ และแสดงเป็นต้นแบบให้ทุกคนเชื่อร่วมกันว่าความยั่งยืนเป็นคำตอบของแฟชั่นและเป็นทางออกของอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไป

สหราชอาณาจักร

จุดกำเนิดของประเทศที่สร้างความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลง ตลอดสัปดาห์ Fashion Revolution Week ในสหราชอาณาจักร จาก Somerset House ไปจนถึงสภาสามัญชนแห่งสหราชอาณาจักร เต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย ทั้งการเดินแฟชั่นโชว์ เวทีอภิปราย การฉายภาพยนตร์ และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าที่จัดขึ้นในช่วงเย็น การจัดกิจกรรมตอบคำถามกับโรงเรียนต่างๆ เข้าถึงและขยายฐานกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่คนรักแฟชั่น ผู้ผลิต นักเรียนด้านออกแบบแฟชั่น และดีไซเนอร์ชั้นนำ ให้เข้ามารวมกันเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความยั่งยืน อย่างเช่นที่ Black Girl Knit Club เปิดเวิร์กช็อปสร้างสรรค์เครื่องประดับจากของเหลือใช้และเสื้อยืดเก่า หรือกิจกรรมนำเสื้อผ้ามาแลกกันที่โรงภาพยนตร์ออมนิบัส ย่านแคลปแฮม เป็นต้น


ติดตามข่าวและข้อมูลของ Fashion Revolution Thailand ได้ที่

facebook.com/fashrevThailand

สามารถอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจ อัพเดตข่าวสาร ดาวน์โหลดเอกสาร และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวนี้ไปพร้อมกับคนทั้งโลกได้ที่ fashionrevolution.org

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน