Kyoto Marble ผู้สืบทอดเทคนิคการพิมพ์ผ้าแบบ marble คนสุดท้ายบนโลกที่ Hermès ตามหา

Highlights

  • marble คือเทคนิคการพิมพ์ผ้าสุดซับซ้อนและละเอียดอ่อน ซึ่งในโลกนี้ไม่มีใครทำได้อีกแล้วนอกจาก Kyoto Marble ช่างฝีมือตระกูล Nose แห่งเกียวโต
  • เทคนิคการพิมพ์ที่ว่านี้เป็นเทคนิคที่แบรนด์ดังระดับโลกอย่างแอร์เมสพลิกแผ่นดินหามากว่า 10 ปีและคิดว่ามันตายไปแล้วพร้อมช่างฝีมือตั้งแต่ 60 ปีก่อน แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็เพิ่งมารู้จัก Kyoto Marble ในฐานะช่างฝีมือที่ทำผ้าพันคอให้แอร์เมส!
  • แอร์เมสจ้างให้พวกเขาพิมพ์ผ้าพันคอหลายลาย อีกทั้งยังทำคอนเทนต์ลงเว็บแนะนำให้ Kyoto Marble เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

กรมศิลป์ของญี่ปุ่นเขียนคำจำกัดความของ intangible cultural properties ไว้ว่า สมบัติทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น งานคราฟต์ ศิลปะการแสดง ดนตรีต่างๆ ที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์สูงสำหรับประเทศ และสมบัติที่จับต้องไม่ได้นี้ประกอบด้วยทักษะการช่างอันมีคุณค่าทางศิลปะซึ่งสืบทอดอยู่ในตัวบุคคลหรือกลุ่มคนผู้มีความเชี่ยวชาญในงานแขนงนั้นๆ

เกริ่นมาเสียยาวขนาดนี้ แน่นอนว่าเราอยากแนะนำงานคราฟต์สุดเท่แขนงหนึ่งให้รู้จัก มันเป็นเทคนิคการพิมพ์ผ้าสุดซับซ้อนและละเอียดอ่อนซึ่งในโลกนี้ไม่มีใครทำได้อีกแล้ว นอกจาก Kyoto Marble ช่างฝีมือตระกูล Nose แห่งเกียวโต

เทคนิคการพิมพ์ที่ว่านี้เป็นเทคนิคที่แบรนด์ดังระดับโลกอย่างแอร์เมสพลิกแผ่นดินหามากว่า 10 ปีและคิดว่ามันตายไปแล้วพร้อมช่างฝีมือตั้งแต่ 60 ปีก่อน และเมื่อได้พบกับตระกูลโนเสะ แอร์เมสแสดงความยินดีด้วยการจ้างให้พวกเขาพิมพ์ผ้าพันคอผืนสวยหลายลาย อีกทั้งยังทำคอนเทนต์ลงเว็บไซต์แนะนำให้ Kyoto Marble เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็เพิ่งมารู้จัก Kyoto Marble ในฐานะช่างฝีมือที่ทำผ้าพันคอให้แอร์เมส

 

marble printing เทคนิคการพิมพ์ผ้าด้วยเครื่องอิงค์เจ็ตแบบแฮนด์เมด

เทคนิคการพิมพ์ผ้าที่ว่านี้คือ marble printing พอบอกว่าพิมพ์ลายผ้าด้วยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตอาจจะ เอ๊ะ ฟังดูไม่คราฟต์ ไม่แฮนด์เมด แต่จริงๆ แล้วนอกจากการพิมพ์ลงบนผ้า ขั้นตอนก่อนหน้านั้นทำด้วยมือแทบทั้งหมด

เริ่มตั้งแต่การผสมสีที่ต้องการลงไปในก้อนดินเหนียว นำก้อนดินเหนียวเหล่านั้นมาตัด ปั้น แปะ และประกอบเป็นลวดลายหรือแพตเทิร์นที่ต้องการด้วยอุปกรณ์แสนเรียบง่ายที่เราเคยเห็นกันทั่วไป นำก้อนลายผ้านี้มาทำให้แบนและเรียบ ก่อนนำไปแปะบนโรลรีดซึ่งเป็นพาร์ตที่ทำการพิมพ์ลายลงบนผ้า โดยทั่วไปการเตรียมแพตเทิร์น 1 ลายใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเลยทีเดียว

จุดเด่นของเทคนิคการพิมพ์นี้ที่ทำให้แบรนด์หรูอย่างแอร์เมสเพียรหาช่างฝีมืออยู่หลายปีคือ

หนึ่ง สามารถใช้สีสันได้มากมาย การพิมพ์ผ้าทั่วไปจำนวนสีจะถูกจำกัดด้วยจำนวนการสกรีน แต่การพิมพ์แบบ marble สามารถเลือกใช้สีสันหลากหลายมากมายได้ในครั้งเดียว จนมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า การพิมพ์ร้อยสี

สอง สามารถสร้างลวดลายได้หลากหลาย การพิมพ์แบบ marble ซึ่งสร้างแพตเทิร์นได้อย่างอิสระทำให้สร้างลวดลายที่แตกต่างกันได้ตามต้องการ ทั้งแบบเรขาคณิตหรือลวดลายที่มีความอ่อนช้อยต่างๆ การย้อมหรือพิมพ์ผ้าแบบอื่นมักมีข้อจำกัดเรื่องความหลากหลายของลวดลาย

สาม ลายที่ได้จากการพิมพ์แบบ marble เป็นลวดลายที่มีมิติ เมื่อเทียบกับผ้าที่พิมพ์แบบดิจิทัลปรินต์จะเห็นได้ชัดว่าแบบมาร์เบิลมีความลึก สีสันมีมิติโดดเด่นกว่า แถมสีที่พิมพ์สวยถึงด้านหลัง ดูแทบไม่ออกว่าด้านไหนเป็นด้านไหนกันแน่

 

Kyoto Marble งานคราฟต์ที่เกิดในสวิส ใช้ชีวิตในญี่ปุ่น และได้รับการปกป้องโดยฝรั่งเศส

แม้เทคนิคนี้จะวิเศษชวนว้าว เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และเหลือผู้สืบทอดแค่คนเดียวก็ไม่ทำให้ Kyoto Marble ได้ขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มช่างฝีมือที่ต้องอนุรักษ์ เทคนิคการพิมพ์นี้ก็ไม่ได้เป็นหนึ่งใน intangible cultural properties ของญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่น่าตกใจใช่ไหมล่ะ

สาเหตุที่ทำให้งานคราฟต์ที่เต็มไปด้วยทักษะทางการช่างอันมีคุณค่าทางศิลปะ ชนิดนี้ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะเป็นเพราะต้นกำเนิดที่แท้จริงของเทคนิคนี้อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และไม่ได้เก่าแก่ขนาดนั้นเพราะถูกคิดค้นขึ้นในยุค 1920 หรืออาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างพวกเขายังไม่ถูกค้นพบ เพราะชื่อของ Kyoto Marble เพิ่งเป็นที่รู้จักใน 1-2 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากแอร์เมสช่วยเป็นเจ๊ดันให้

ในปี 1963 พ่อของ Moriyoshi Nose ถูกบริษัทส่งไปทำงานที่เยอรมนีเพื่อเรียนรู้เทคนิคการพิมพ์แบบ marble หลังจากที่เขานำเทคนิคนี้มาเผยแพร่ในญี่ปุ่น ธุรกิจการพิมพ์ผ้าแบบนี้เฟื่องฟู แข่งขันกันหลายบริษัท พ่อของโมริโยชิเองก็ก่อตั้งกิจการของตนเองและเป็นบริษัทเดียวที่ยังเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน โดยมีโมริโยชิเป็นผู้สืบทอดรุ่นที่ 2 และกำลังถ่ายทอดวิชาให้ลูกชายคนที่ 3 เนื่องจากกิจการไม่รุ่งเรืองเหมือนสมัยก่อน ทั้งทีมจึงมีกันเพียง 4 คน พ่อ แม่ ลูก และน้องสะใภ้ ช่วยกันทำเป็นกิจการในครัวเรือนแท้ๆ

และตามสไตล์งานคราฟต์ เทคนิควิชาทั้งหมดอยู่ในสมองของโมริโยชิ ไม่มีบันทึกหรือแม้แต่ดรอว์อิ้ง การทำแพตเทิร์นใดๆ ทั้งนั้น เขาบอกว่าเวลาผมเห็นลายที่ผู้ว่าจ้างอยากให้ทำ มันจะรู้เองว่าต้องทำยังไงให้ได้ลวดลายหรือเอฟเฟกต์แบบนั้นออกมา

ตลอดเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา Kyoto Marble ต้องผ่านความลำบากหลายช่วงจนชวนให้สงสัยว่า สิ่งที่ตนทำอยู่นั้นยังเป็นสิ่งที่คนต้องการรึเปล่า โชคดีที่โมริโยชิเชื่อมั่นในคุณค่าของงานที่ทำจึงกัดฟันสู้เรื่อยมา

ถ้าผมเลิก ก็ไม่มีคนทำเทคนิคนี้ได้อีกแล้ว ผมเลิกไม่ได้ครับ

สถานการณ์นี้ชวนให้เราคิดถึง Takada ช่างวาดธงปลาคาร์ปรุ่นที่ 6 แห่งสตูดิโอทาคางิ ซึ่งเป็นช่างวาดธงด้วยมือคนสุดท้ายเหมือนกัน ประสบปัญหาทางธุรกิจเพราะการพิมพ์แบบดิจิทัลเหมือนกัน และสู้ต่อด้วยเหตุผลเดียวกันคือความรักและหวงแหนในงานที่ทำ และเขายังมองโลกในแง่ดีว่า เหลืออยู่เจ้าเดียวนี่แหละจุดแข็ง ถ้ายังมีลูกค้าอยู่ยังไงก็ต้องรอด

ผมว่าคราฟต์คืองานฝีมือที่มีความเป็นศิลปะ ใช้ทั้งแรงและใจในการทำงานทากาดะเคยให้สัมภาษณ์ไว้เช่นนั้น โมะริโยชิก็คงคิดไม่ต่างกัน เพราะเขาบอกว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานนี้คือความอดทนและความคิดสร้างสรรค์

ที่ผ่านมาอาจลำบาก แต่หลังจากนี้ Kyoto Marble น่าจะสบายขึ้น เริ่มมีสื่อญี่ปุ่นให้ความสนใจ ในไม่ช้าอาจมีคนเข้ามาขอเรียนรู้วิชา ซึ่งโมริโยชิพูดออกสื่อไปแล้วว่ายินดีสอนเป็นอย่างยิ่ง ใครก็ได้ที่มีความตั้งใจ เพราะผมอยากเห็นความรู้นี้อยู่รอดต่อไป

หากโมริโยชิคิดว่านี่ไม่ใช่งานฝีมือญี่ปุ่นแท้ๆ ไม่ต้องปกป้อง และเลิกกิจการไปทำงานอย่างอื่น เทคนิคนี้คงตายไปแล้ว หรือถ้าแอร์เมสมองว่าเทคนิคยุโรปที่ถูกพัฒนาโดยชาวญี่ปุ่นไม่ใช่สิ่งที่ตามหา เทคนิคนี้ก็อาจสูญหายไปในไม่ช้าเพราะลูกค้าน้อยลงเรื่อยๆ หรือจ้างให้ทำงานเฉยๆ ในฐานะคนที่ใช้เทคนิคการพิมพ์ของยุโรปได้ Kyoto Marble ก็ไม่ได้ลืมตาอ้าปากเช่นกัน จึงน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่แอร์เมสเห็นคุณค่าจิตวิญญาณช่างฝีมือคนญี่ปุ่น แนะนำผ้าพันคอรุ่นนั้นว่าเป็นผลงานของช่างฝีมือญี่ปุ่นที่ใช้เทคนิคดั้งเดิม ยิ่งเห็นที่แอร์เมสเขียนท้ายคลิปแนะนำ Kyoto Marble ยิ่งสบายใจ

‘Hermes seeks out unique skills and know-how and contributes to keeping them alive.’

การถูกค้นพบโดยแบรนด์ดังที่มีทั้งเงินและชื่อเสียงอาจเป็นรูปแบบการอนุรักษ์คนละอย่างกับเพื่อนคราฟต์แขนงอื่น แต่มันก็มีข้อดีแตกต่างกันไป

ที่สำคัญเรื่องนี้ทำให้เห็นว่า การอนุรักษ์อาจไม่ใช่หน้าที่ของประเทศใดประเทศหนึ่งหรือหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว ใครก็ตามที่เห็นคุณค่าของงานนั้นๆ ก็มีส่วนร่วมช่วยกันส่งเสริมการอยู่รอดของมันได้

คุณค่าของงานจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ แต่อยู่ในตัวบุคคลและผลงาน

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Kanith

นักเขียนภาพประกอบอิสระที่ติดเกม