รุ้งอุษา นาคคงคำ อดีตผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจที่กลับมาเป็นคุณหมอ มอบความหวังและชีวิตใหม่ให้กับผู้คนอีกครั้ง

ฟา-รุ้งอุษา นาคคงคำ เป็นคุณหมอที่ทำงานด้วยหัวใจ

เมื่ออายุ 9 ขวบ ครอบครัวของหมอฟาพบข่าวร้าย ในหัวใจของลูกสาวมีปัญหาบริเวณเส้นเลือด จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วน เธอผ่านวิกฤตชีวิตครั้งนั้นมาได้เพราะความช่วยเหลือจากมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก คุณหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกคน เธอได้รับทั้งการสนับสนุนด้านเงินทุน การรักษา และกำลังใจที่มากล้น 

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น คุณหมอใช้โอกาสและชีวิตใหม่ร่ำเรียนด้านการแพทย์ จนกลับมาทำงานที่มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ปัจจุบันหมอฟาทำงานในตำแหน่งนายแพทย์ชำนาญการ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวปฏิบัติงาน โรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย 

เวลาใครสักคนบอกว่า เขาทำงานด้วยหัวใจ นั่นหมายถึงการทำงานอย่างใส่ใจ 

เรื่องของคุณหมอพิเศษกว่าคนอื่นตรงที่เธอใช้ทั้งหัวใจในเชิงกายภาพและทัศนคติ หัวใจที่ได้รับการรักษาทำให้สุขภาพกลับมาแข็งแรง เหมือนได้ชีวิตใหม่ และเธอใช้ชีวิตนี้อุทิศเพื่อครอบครัวอื่นที่รอคอยความหวังและโอกาสจากการรักษาที่ทั่วถึงและเท่าเทียมอีกครั้ง

Stage 1

1,600 กรัมคือน้ำหนักของฟาเมื่อแรกเกิด 

ด้วยภาวะคลอดก่อนกำหนด ทำให้เธอต้องใช้ชีวิตในโรงพยาบาลนานกว่าเด็กคนอื่น แต่กระนั้นชีวิตของฟาก็มีความสุขดี เธอเกิดและโตที่พิษณุโลก พ่อเป็นครู แม่เป็นพยาบาล ครอบครัวมีฐานะปานกลาง โลกวัยเด็กของฟามักมีโรงพยาบาลเป็นฉากหลังเสมอ 

วิกฤตครั้งใหญ่ของฟาเกิดขึ้นเมื่อตอนอายุ 9 ขวบ เธอเข้ารับการรักษาโรคไข้เลือดออก จังหวะที่คุณหมอใช้หูฟังตรวจหัวใจ สีหน้าไม่สู้ดีนัก สุดท้ายพบว่าฟามีอาการที่เรียกว่า เส้นเลือดเกิน เป็นอาการพิการแต่กำเนิดซึ่งซ่อนอยู่ในร่างกาย มีความอันตรายถึงชีวิต 

ฟาพบทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ข่าวดีคือโรคนี้รักษาได้ด้วยการผ่าตัด ข่าวร้ายคือการผ่าตัดค่อนข้างซับซ้อน คุณหมอที่สามารถทำได้มีไม่มาก นั่นทำให้การผ่าตัดต้องรอเวลานาน ทั้งรอคิวของคุณหมอ และรอให้สุขภาพของฟาแข็งแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อน จึงจะสามารถผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย

แม่ของฟาซึ่งเป็นพยาบาลไถ่ถามเพื่อนฝูงว่ามีทางเลือกใดอีกบ้าง สุดท้ายก็พบว่าอาการนี้สามารถรักษาในลักษณะการสวนหัวใจ เป็นนวัตกรรมการผ่าตัดเล็กที่ปลอดภัยมากสำหรับเด็ก แต่ค่าใช้จ่ายสูง (ยุคนั้นเริ่มต้นที่ประมาณ 40,000 บาท) โชคดีที่ในประเทศไทยมีองค์กรชื่อว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือที่เรียกติดปากว่า โรงพยาบาลเด็ก ที่นี่มีส่วนที่เป็นมูลนิธิ คอยช่วยเหลือเงินทุนรักษาเคสเด็กที่มีอาการร้ายแรงแบบฟาโดยเฉพาะ 

นับตั้งแต่การรักษา ฟื้นฟูร่างกาย ติดตามอาการ 5 ปีผ่านไปหญิงสาวผู้โชคร้ายทางหัวใจก็ได้ชีวิตใหม่กลับคืนอีกครั้ง

ฟาเริ่มคิดว่า เธอจะใช้ชีวิตใหม่นี้อย่างไรต่อไปในอนาคต

Stage 2

“จำได้ว่าตอนเรียน ม.6 อยู่ดีๆ เราเขียนคำว่า cardiologist ในกระดาษ เหมือนลึกๆ เราอยากเป็นหมอ และยิ่งเฉพาะเจาะจงได้อีกว่าอยากเป็นหมอด้านหัวใจ”

คำที่ฟาเขียนแปลเป็นไทยว่า นักหทัยวิทยา เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาหัวใจโดยเฉพาะ ความจริงแม้ไม่เคยผ่าตัด ฟาก็มีความอยากเป็นหมออยู่ลึกๆ ด้วยการใช้ชีวิตวัยเด็กในโรงพยาบาลประหนึ่งเป็นบ้านตัวเอง ได้เห็นชีวิตของแม่ออกเดินทางรักษาผู้ป่วยในพิษณุโลก รวมถึงการเปิดบ้านรับดูแลอาการเบื้องต้นของเครือญาติที่เจ็บป่วยขั้นพื้นฐาน 

รอยยิ้มของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา คำขอบคุณจากใจที่เอื้อนเอ่ย ทำให้เธออยากทำงานช่วยคนเหมือนแม่บ้าง 

เมื่อเรียนจบ เป้าหมายของฟาคือการทำงานที่โรงพยาบาลเด็ก องค์กรที่เคยมอบชีวิตใหม่ให้ในวัยเยาว์ สุดท้ายเธอทำสำเร็จ ครั้งนี้ฟาได้เห็นวงการสาธารณสุขเด็กในภาพกว้างยิ่งขึ้น เห็นปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่ไม่เท่ากัน เต็มไปด้วยปัจจัยมากมายที่ยากควบคุม

“เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘หมอขอเร็วหน่อยได้มั้ย ลูกไม่ไหวแล้ว’ พอจะผ่าตัดปุ๊บ เด็กเกิดภาวะแทรกซ้อน ไม่ได้ผ่าอีก มันเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่ากลัว” ฟาเล่า

โรงพยาบาลเด็กดูแลเคสหลายแบบ ถ้าเจาะเฉพาะโรคเกี่ยวกับหัวใจ อาการมีทั้งแบบน้อย รักษาไม่นาน กับอาการที่หนัก ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

“โรคแบบนี้ต้องดูแลเยอะ บางคนออกมาเสียชีวิตเลย หรือบางคนต้องรีบรับการรักษา ถ้าไม่ทำภายในหนึ่งปีเขามีโอกาสเสียชีวิต คุณภาพชีวิตก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญ เพราะเด็กทำอะไรไม่ได้เลย เดินไป 300-400 เมตรต้องนั่งพัก คุณภาพชีวิตแย่มาก ไม่ใช่เด็กอย่างเดียว พ่อแม่ผู้ปกครองด้วย เพราะการป่วยคนนึงไม่ได้มีผลกระทบกับคนเดียว มันเป็นบริบททางสังคม มีคนเกี่ยวข้องเต็มไปหมด”

ช่วงที่ฟาทำงานที่โรงพยาบาลเด็ก เธอยังไม่ใช่หมอ แต่ทำงานเป็นนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ผ่านไป 3 ปีเมื่อมีโอกาสได้สอบเป็นแพทย์ชนบท ฟาจึงไม่ลังเล สุดท้ายเธอได้ทำงานที่จังหวัดสุโขทัย แม้ไม่ใช่จังหวัดเกิด แต่ก็ถือว่าใกล้บ้านที่พิษณุโลกมากขึ้น

การทำงานที่โรงพยาบาลเด็กให้อะไรกับฟามากมาย อย่างน้อยที่สุด เธอได้เห็นแววตาของเด็กที่รักษาหาย และได้เห็นน้ำตาของครอบครัวเด็กที่เสียชีวิตระหว่างรักษา เช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้ ทำใ้ห้ฟาอยากทำตามฝัน ซึ่งไม่ใช่ฝันเพื่อตัวเอง มันคือการอุทิศตนเพื่อคนอื่น อย่างที่เธออยากทำมาตลอด

Stage 3

“หมอหนึ่งคน ดูแลประมาณหนึ่งหมื่นคนค่ะ”

สีหน้าหมอยิ้มแย้ม แต่เราตกใจ 

ไม่รู้ว่านี่คือเรื่องปกติมั้ย แต่ด้วยจำนวนนี้ หมอฟายืนยันว่าเป็นความรับผิดชอบที่เธอยินดีทำ 

ตอนนี้เธอทำงานเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ทำงานในหน่วยงาน 2 ส่วน คือที่โรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม และคลินิกหมอครอบครัวเด็กเทศบาลตำบลทุ่งเสลี่ยม

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นศาสตร์หนึ่งของแพทย์เฉพาะทาง เน้นการดูแลที่ตัวบุคคลและครอบครัว เน้นป้องกันก่อนคนจะเป็นโรค เป็นเสมือนด่านแรกของระบบสุขภาพ กระบวนการจะเป็นลักษณะที่เรียกว่า Holistic care ถ้ามีใครเป็นโรค หมอจะรู้ถึงขั้นว่ามันมีสาเหตุจากอะไรในครอบครัว เป็นคนที่ดูแลเขาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต

สมมติว่ามีผู้ป่วยเบาหวานที่คุมตัวเองไม่ได้ รักษายังไงก็ไม่หาย หน้าที่ของหมอคือ ศึกษาว่าชีวิตเขาเป็นแบบไหน ครอบครัวเป็นอย่างไร การเงินดีมั้ย ถ้าไม่ดีมีหน่วยงานไหนที่ช่วยเขาให้มีชีวิตดีกว่านี้บ้าง

งานลักษณะนี้ ลึกและใกล้ชิดแบบนี้ ผู้ป่วยต้องเชื่อใจหมอมากๆ ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่าต้องสร้าง Patience relationship นั่นคือด่านแรกที่หมอฟาและทีมงานต้องเผชิญ

“มาทำงานใหม่ตอนแรกๆ เราค่อนข้างเครียด เพราะไม่รู้บริบทอะไรเลย แต่เราจะไม่ทำงานคนเดียวค่ะ มีทีมที่เป็นสหวิชาชีพ เช่น มีทีมพยาบาล ซึ่งเขาจะเข้าถึงคนในชุมชน มีความสัมพันธ์อันดี เป็นคนในพื้นที่ เขาจะเป็นตัวเชื่อมเราให้กับกลุ่ม อสม. (อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีบทบาทมากในช่วงโควิด) มันเลยทำให้เราเชื่อมโยงกับชุมชนได้ง่าย” หมอฟาเล่า

หลักการสำคัญของเวชศาสตร์ครอบครัว คือการคิดถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง หลายครั้งหมอฟาต้องถอดความเป็นหมอไว้ที่บ้าน เข้าหาคนโดยคิดว่าเราเป็นลูกหลานคนหนึ่ง ที่อยากให้ญาติผู้ใหญ่หายดี

งานหนัก กินข้าวไม่ตรงเวลา ความสุขของหมอฟาผูกพันกับคนไข้ นี่คือชีวิตที่เธอเลือกแล้ว

“บางคนป่วยมา มาให้พรเรากลับอีก ขอให้แข็งแรงนะลูก ก็เป็นการให้และรับ อันนี้ก็ทำให้เรามีความสุข เราทำให้คนเจ็บป่วยคนหนึ่งกลับมาแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แค่นี้เราก็พอใจแล้ว” 

หมอฟาเล่าว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยถามแม่ที่เป็นพยาบาล ว่าทำไม 6 โมงเย็นแล้วยังไม่ถึงบ้าน ทำไมไม่กลับมาทำกับข้าวให้เสียที

วันนี้ดูเหมือนทุกอย่างกลับข้างกัน แม่เริ่มถามเธอกลับบ้างว่าเมื่อไหร่จะกลับพิษณุโลก 

เธอเล่าเรื่องนี้อย่างขบขันและเข้าใจ เพราะรู้ว่าเวลาที่หายไปมาจากการทำงานทุ่มเททั้งใจ เพื่อรักษาผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับโอกาสอย่างที่หัวใจของเธอดวงเดียวกันนี้เคยได้รับเช่นกัน


มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ดูแลเรื่องการให้เงินทุนรักษาเด็กยากไร้ ปัญหาคือองค์กรนี้ดูแลทั้งประเทศ งบประมาณได้รับการจัดสรรอย่างเต็มที่แล้ว แต่ด้วยภารกิจที่ใหญ่ยิ่งทำให้เงินทุนยังไม่เพียงพอ ยิ่งกับโรคหัวใจ การให้คนได้เข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว จะเพิ่มโอกาสช่วยชีวิตคนมากขึ้น

หากอ่านจบแล้ว อยากช่วยเหลือและสนับสนุน สามารถบริจาคได้ที่ 

  • ธนาคารไทยพาณิชย์ 

ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก

เลขบัญชี 051-3-00051-5 

  • ธนาคารกรุงไทย

ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก

เลขบัญชี 661-0-55841-8

ติดต่อหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.childrenhospitalfoundation.or.th/

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐพงศ์ เรืองขำ

จากเส้นทางนักกฎหมายสู่เส้นทางช่างภาพ