Stadium One : พื้นที่รวมตัวแห่งใหม่ของผู้กล้าที่ฝันถึงคำว่า “มาราธอน”

หลายครั้งเรามักได้ยินว่า ‘มาราธอนจะเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาล’

แต่สำหรับนักวิ่งทั่วไปหรือนักวิ่งที่ยังวิ่งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 5 หรือ 10 พวกเขาอาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่าการเริ่มต้นวิ่งสู่ระยะทาง 42.195 กิโลเมตรของมาราธอนนั้น ต้องเตรียมตัวเตรียมใจขนาดไหน

เพื่อจำลองภาพที่ว่า เราจึงจะพาทุกคนไปรู้จักกับ 3 นักวิ่งมาราธอนที่มีสไตล์การวิ่งเฉพาะตัว ประสบการณ์ในสนามของพวกเขาล้วนเกิดจากสองขาที่พาตัวเองผ่านระยะ 42.195 กิโลเมตรมาแล้วทั้งนั้น ที่สำคัญคือตอนนี้พวกเขากำลังเตรียมความพร้อมสู่การเปิด Stadium One ไลฟ์สไตล์ สปอร์ต คอมมูนิตี้แห่งแรกในประเทศไทย ที่พร้อมสนับสนุนคนรักการออกกำลังกายและการวิ่งทุกคน ทั้งในแง่ของอุปกรณ์และชุมชนคนที่รักในสิ่งเดียวกัน สำหรับนักวิ่งอย่างพวกเขาแล้ว การเกิดคอมมูนิตี้ใหม่แห่งนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการนักวิ่งของพวกเขาอย่างไรบ้าง

เราไปฟังเรื่องราวและมุมมองของพวกเขากันเลย


1

นักวิ่งบางคนอาจมีจุดหมายปลายทางที่การเข้าเส้นชัย หลายคนที่ยังไม่เคยวิ่งอาจมองว่านั่นหมายถึงความสำเร็จที่อาจเปลี่ยนชีวิตของพวกเขา แต่สำหรับ หมี-จิรณรงค์ วงษ์สุนทร เป็นอีกหนึ่งคนที่บอกกับเราว่า “วันที่เปลี่ยนชีวิตไม่ใช่แค่วันที่วิ่งผ่านเส้นชัย แต่มันเปลี่ยนตั้งแต่วันที่เราเริ่มซ้อม และมีวินัยในการฝึกฝน”

นักวิ่งหลายคนน่าจะรู้จักหนุ่มนักเขียนคนนี้ ผู้พิชิตโตเกียวมาราธอนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เขานำประสบการณ์ครั้งนั้น มาเขียน A Year Of Marathon หนังสือที่ว่าด้วยการเริ่มต้น ทดลอง ฝึกฝนจนสามารถวิ่งมาราธอนครั้งแรกได้สำเร็จ หมีบอกกับเราว่าจุดเริ่มต้นในเรื่องราวทั้งหมดของเขาก็ไม่ต่างจากคนส่วนใหญ่ นั่นคือความตั้งใจที่จะลดน้ำหนัก น้อยคนนักที่จะเริ่มต้นโดยการฝันถึงมาราธอน

“ตอนนั้นคนเริ่มวิ่งเยอะก็จริง แต่ยังไม่ค่อยมีใครไปวิ่งมาราธอนหรอก และทุกคนมักจะบอกเสมอว่าปีเดียวคิดจะไปวิ่งมาราธอนมันเร็วไปหน่อย แต่ว่าตอนนั้นผมอยากลองมาก อยากลองดูว่าวิ่งเอง ซ้อมเอง ไปวิ่งจริงมันจะเป็นยังไง”

จากประสบการณ์ทดลองในครั้งนั้น สิ่งที่หมีได้กลับมาบอกเราคือ เราอาจวิ่งได้ครบ 42.195 กิโลเมตรสำเร็จโดยที่ไม่ซ้อมก็ได้ แต่มันจะเกิดผลเสียกับร่างกายตามมาหลายอย่างแน่ๆ เพราะกล้ามเนื้อที่ไม่ได้รับการฝึกมา “การวิ่งไม่ใช่แค่เรื่องของขา แต่เป็นเรื่องของร่างกาย ทุกส่วนของเรา รวมถึงการกินของเราก็สำคัญ มันต้องเรียนรู้ทุกอย่างให้สอดคล้องกัน ผมไม่แนะนำให้ไปวิ่งโดยที่ไม่ซ้อมเลยนะ แค่ปีเดียวของผมก็บ้าพอแล้ว” หมีเล่าอย่างออกรสต่อ “แม้หลายคนจะบอกว่าเร็วไป แต่ตอนนั้นผมรู้สึกอยากเอาชนะก็เลยต้องทำตัวเองให้พร้อม ผมเตรียมตัว 5-6 เดือน หาข้อมูลมาว่าต้องทำยังไง ผมซ้อมวิ่ง 5-10 กิโลเมตร และเลือกสนามแรกที่ ‘โตเกียวมาราธอน’ เพราะเรารู้สึกว่าสนามนี้น่าจะสนุกและเหมาะกับเราด้วย”

“ตอนนั้นเราเจ็บก่อนไปวิ่ง แต่ผมคิดว่าไหนๆ เราก็มาวิ่งแล้วก็วิ่งให้จบเลยแล้วกัน หลังจากนั้นผมเจ็บยาวไปอีก 2 เดือน เราเลยมาดูว่าครั้งนี้เราผิดพลาดอะไรบ้าง เราต้องเพิ่มความยืดหยุ่น ทำยังไงถึงจะวิ่งแล้วไม่เจ็บ จำได้ว่าผมใช้เวลาวิ่งไปทั้งหมด 5 ชั่วโมงกว่าในการเข้าเส้นชัย หลังจากจบมาราธอนครั้งนั้นไปแล้ว ผมก็ยังมีเป้าหมายอยู่ว่าอยากทำเวลาให้ดีขึ้น แล้วก็ไปวิ่งมาราธอนที่นี่อีกสักครั้ง”

นอกจากประสบการณ์ในสนามกว่าหลายกิโลเมตร หมีบอกกับเราว่าสิ่งที่เขาได้ตลอดเส้นทางเหล่านั้นไม่ใช่แค่การออกกำลังกายอย่างเดียว หากแต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมการตั้งเป้าหมายในการทำงานด้วย “เมื่อก่อนเวลาทำงานเราจะตั้งเป้าหมายใหญ่ไว้ท้ายสุด แต่พอเราเริ่มวิ่ง เริ่มซ้อมแต่ละวัน เราตั้งเป้าไว้เท่าไหร่ก็ต้องทำให้ได้ กลายเป็นว่ามันก็ถูกเชื่อมต่อมาสู่การทำงานในชีวิตของเรา เราเริ่มกำหนดเป้าหมายย่อยๆ ได้มากขึ้น ผมว่ามันดีกว่านะ เพราะเห็นชัดว่าทำงานได้มากขึ้น กลายเป็นว่าเราสามารถตั้งใจทำงานแต่ละชิ้นตามเป้าหมายทุกวันได้สำเร็จ”

แม้ว่าทุกวันนี้มีคนสนใจมาวิ่งกันมากขึ้นจนหลายคนมองว่าเป็นแค่เทรนด์ที่มาแล้วผ่านไป แต่สำหรับหมี เขามองว่าเทรนด์การวิ่งถือเป็นเทรนด์ที่ดีเสมอ “มันทำให้คนใช้จ่ายไปกับการดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเทรนด์ออกกำลังกาย เราเห็นด้วยเต็มที่ ยิ่งกระตุ้นให้คนออกกำลังกายเยอะก็ยิ่งดี”

ไม่น่าแปลกที่ปัจจุบันนี้เราจะได้เห็นผู้คนหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น ทั้งอาหารกินและการออกกำลังกาย ล่าสุดกับการเกิดคอมมูนิตี้สำหรับนักวิ่งและการออกกำลังกายครั้งแรกในนาม Stadium One หมีมีความเห็นต่อเรื่องนี้เช่นกัน

“ตอนนี้ห้างสรรพสินค้าในเมืองมีเยอะมาก บางที่ทำคอนเซปต์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บางที่ให้นำสัตว์เลี้ยงมาเดินเล่นได้ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีคอนเซปต์ที่เป็นแหล่งรวมเรื่องการออกกำลังกายมาไว้ด้วยกัน ผมว่าคนที่ชอบเรื่องพวกนี้จะนึกถึงที่นี่เป็นที่แรก แต่ตอนนี้คนที่ชอบวิ่ง ไปไกลกว่าแค่การวิ่งไปเยอะแล้ว เขายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาการวิ่งของตัวเอง ซึ่งเรื่องพวกนี้มีแต่ในโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้า Stadium One มีเรื่องพวกนี้ด้วยจะดีมาก เพราะคำว่าคอมมูนิตี้มันน่าจะเป็นสถานที่ที่คนไปใช้ชีวิต ไปพักผ่อนได้พร้อมกันด้วย”


2

หลายคนออกเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเก็บเกี่ยวความทรงจำที่มีต่อสถานที่แห่งนั้น แต่สำหรับ บุ๊ย-มนตรี บุญยศักดิ์ นักเขียน นักเดินทาง นักวิ่ง ควบตำแหน่งแอดมินเพจ Thai run ฮับความสุขนักวิ่ง อาจจะเรียกได้ว่าการเดินทางไปยังต่างแดนของเขาแทบจะเป็นเรื่องเดียวคือการวิ่งมาราธอน หลายคนมักเลือกเก็บบรรยากาศสถานที่ที่ไปด้วยรูปภาพ แต่เขาขอเลือกซึมซับบรรยากาศระหว่างทางด้วยการวิ่งระยะไกลแทน

น่าแปลกที่หัวใจสำคัญที่บุ๊ยชอบมากที่สุดกลับไม่ใช่เป้าหมาย แต่มันคือการได้สังเกตผู้คนในสนามและสองข้างทาง เขาออกเดินทางไปวิ่งยังสนามมาราธอนระดับโลกมาแล้วหลายประเทศ ทั้งฮ่องกง ญี่ปุ่น หรือแม้แต่นิวยอร์ก สิ่งที่เขาเล่าให้เราฟังถึงความประทับใจกลับไม่ใช่เรื่องของการวิ่ง แต่เป็นผู้คนระหว่างทางแทน

ครั้งหนึ่งบุ๊ยเคยเดินทางไปร่วมวิ่งในนิวยอร์กซิตี้มาราธอนและได้รู้จักสมาพันธ์การกรีฑานานาชาติ (NYRR : New York Road Runners) ที่นี่มีอาสาสมัครเครือข่ายนักวิ่งราวหมื่นคน ซึ่งคนที่จะมาวิ่งสนามนี้ได้จะต้องสมัครและรอ NYRR เรียก กฎมีอยู่ว่าต้องเป็นอาสาสมัครในสนามนี้เพื่อสะสมชั่วโมงให้ครบกำหนด เช่น จุดให้น้ำ ช่วยเหลือผู้ป่วย แล้วก็จะมีสิทธิ์จองนิวยอร์กซิตี้มาราธอนได้ในราคาพิเศษ ในครั้งนั้นบุ๊ยสมัครและสะสมชั่วโมงจนสำเร็จและได้เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ในนิวยอร์กซิตี้มาราธอนที่เรียกได้ว่าเป็น 1 ใน 6 ของสนามมาราธอนของโลกที่นักวิ่งใฝ่ฝันจะมาสักครั้งในชีวิต

“ครั้งนั้นทำให้เรารู้สึกว่าเมืองนี้มหัศจรรย์มากเลย” บุ๊ยบอกกับเรา “ใครจะไปรู้ว่านิวยอร์กที่คนพลุกพล่าน เมืองใหญ่บ้าคลั่งแบบนี้จะสามารถปิดถนน 7 ชั่วโมงให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกการศึกษามาร่วมเป็นนักสู้บนท้องถนนได้ วันนิวยอร์กมาราธอนของผม ผมไปตั้งแต่เช้า สะพายเป้ไปกับเพื่อนคนไทย จากจุดเริ่มต้นไปยังแมนฮัตตันเราจะเห็นว่าเมืองทั้งเมืองเหมือนโอบกอดกัน ทั้งที่นิวยอร์กมีความหลากหลายมาก แต่เราได้รับรู้รสชาติของมาราธอนที่เป็นกีฬาไม่กี่ชนิดในโลกที่คนหลักหมื่นมาร่วมเล่นพร้อมกันและมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ไปถึงชัยชนะร่วมกันได้ เย็นวันนั้นผมเห็นคนที่เข้าเส้นชัย (Finisher) ใส่เสื้อวิ่งตัวนั้น คล้องเหรียญรางวัลอยู่ที่คอ เดินไปตามย่านต่าง ๆ ด้วยความภูมิใจ ร้านบางร้านจะลดราคาให้พวกเขาเป็นพิเศษ บางร้านมีเวลคัมดริงก์ต้อนรับ เมืองนี้ให้แรงบันดาลใจแก่ผมในแง่ของการทำงาน ให้แรงบันดาลใจในการเป็นหนึ่งเดียวกันในโลกของการวิ่ง”

บุ๊ยเล่าถึงเหตุผลที่ชอบมาวิ่งที่ต่างประเทศให้เราฟังต่อ “ถ้าเราเป็นแค่นักท่องเที่ยว เราอาจจะมีกำแพงกับสถานที่ที่เราไป แต่พอเราเป็นนักวิ่ง เราจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้น เรารู้สึกมีที่ยึดเหนี่ยวว่าเรามาทำอะไร เรามีแรงดึงดูดกับที่นี่อีกแบบ ทำให้คราวนี้เมื่อจะไปที่แห่งไหน เราต้องออกไปวิ่ง เพราะสำหรับผมการวิ่งคือการอยู่คนเดียวในจักรวาลที่มีคนคล้ายๆ เรา มันไม่ใช่กีฬาเลยนะ แต่เป็นการใช้ชีวิต”

เพราะเหตุนี้เอง ตอนที่บุ๊ยรู้ว่ากำลังจะมี Stadium One เขาจึงเป็นอีกคนที่รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง “ผมเชื่อในพลังของคนที่ทำอะไรก็ตามด้วยความรัก ผมมีโอกาสทราบว่าผู้บริหารของทาง Stadium One เป็นคนที่รักการวิ่ง แล้วนำความรักของเขามาทำในสิ่งที่รักมากกว่าการทำอย่างอื่นที่ได้เงินทอง ผมว่าแค่นี้เขาประสบความสำเร็จแล้ว”

“เวลาไปสิงคโปร์ผมเห็นคนไปออกกำลังกายเยอะมากทั้งที่บ้านเขาเป็นเกาะ ตอนมีโอกาสไปฮ่องกง ผมเห็นคนอยู่คอนโด ห้องก็ไม่ใหญ่ แต่มาใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อออกกำลังกายกัน ผมคิดว่ามันเป็นทิศทางที่ดีที่บ้านเราจะมีแบบนี้บ้าง แม้มันอาจจะต้องใช้เวลาในการสื่อสารที่ว่าสุขภาพคือความมั่งคั่งของคนยุคใหม่และการดูแลสุขภาพถือเป็นการพัฒนาชีวิตได้ ผมมองว่าการมี Stadium One ยังทำให้วัฒนธรรมการวิ่งไม่ได้ตั้งอยู่โดดเดี่ยว มันอาจไปอยู่กับการแสดงศิลปะ รันนิ่งแรงบันดาลใจ เทศกาลภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการวิ่ง หรือทำ TED Talks ให้นักวิ่งมาบอกเล่าประสบการณ์ ทำนิทรรศการเกี่ยวกับการวิ่งหลากหลายมิติให้เกิดขึ้นได้ในพื้นที่แห่งนี้” บุ๊ยกล่าวทิ้งท้าย


3

คงไม่มีนักวิ่งคนไหนไม่รู้จัก โหน่ง-ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ นอกจากบทบาทการเป็นนักแสดงหน้ากล้อง เบื้องหลังเขายังเป็นนักวิ่งผู้สร้างแรงบันดาลใจและก่อตั้งโครงการวิ่งต่างๆ เพื่อสุขภาพหลายครั้ง ล่าสุดยังควบตำแหน่งรองประธานสมาพันธ์เดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทยคนปัจจุบันด้วย

ถ้าย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้น พี่โหน่งเริ่มก้าวแรกสู่สนามวิ่งเหมือนนักวิ่งหลายคนที่ไม่ได้ตั้งเป้าที่การวิ่งมาราธอน แต่เป็นการเริ่มต้นวิ่งเพื่อสุขภาพ ในตอนนั้นพี่โหน่งเริ่มลงสนามแข่งในระยะ 3-5 กิโลเมตรและมักเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกเสมอ หลังจากนั้นโหน่งเริ่มวิ่งการกุศลให้กับงานกรุงเทพฯ มาราธอน ด้วยระยะทาง 10 กิโลเมตรเป็นครั้งแรก เขาเล่าให้เราฟังว่าความรู้สึกถ้าเทียบกับสนามก่อนหน้านั้นต่างกันมาก

“เราเริ่มมีข้อสงสัยว่าทำไมคนอื่นวิ่งแล้วดูไม่เหนื่อย บางคนวิ่งมาราธอนยังดูไม่เหนื่อยเท่าเราเลย” จากความสงสัยในวันนั้นนำมาสู่การวิ่งในสนามที่จริงจังมากขึ้นจนค่อยๆ เริ่มวิ่งในงานใหญ่อย่างงานจอมบึงมาราธอน สนามที่นักวิ่งมาราธอนหลายคนอยากพิชิต ความตั้งใจนี้นำโหน่งไปสู่การวิ่งขึ้นสู่ดอยตุง 900 กิโลเมตรซึ่งเขาทำสำเร็จมาแล้ว

“ผมว่ามาราธอนเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ทุกคนรู้จักอดทนบ่มเพาะ รอคอย มันเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ความสำเร็จมันอยู่บนนั้น แต่กว่าจะสำเร็จ เราต้องต่อสู้กับตัวเอง ต่อสู้กับจิตใจ ต่อสู้กับความเบื่อหน่าย ต้องสร้างวินัย แน่นอนว่าไม่มีใครเห็น เรานี่แหละที่เห็น คนที่ข้าม Finish Line หลายคนก็หลั่งน้ำตาเพราะเขาสามารถชนะใจตัวเอง เอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ที่มาปิดกั้น ฉุดดึง ฉุดรั้งในการฝึกซ้อมจนก้าวข้ามผ่านไปได้ เราไม่มีทางเข้าใจเขาหรอกจนกว่าเราจะได้ลองทำสิ่งนั้นด้วยตัวเอง”

“ถ้าเราใช้แนวทางนี้เป็นการเรียนรู้ชีวิต เราก็จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นงาน ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ทั้งจากคนรอบข้างที่โยนความยากเข้ามาให้ ทั้งหมดเป็นการฝึกฝนตัวเรา สำหรับผมจึงไม่เคยคิดว่ามีงานยาก เพราะทั้งหมดมันจะบ่มเพาะตัวคุณเอง ตอนนี้คุณวิ่ง 100 กิโลเมตรก็ได้ วันที่คุณต้องวิ่ง คุณทรมาน แต่วันที่คุณวิ่งเข้าเส้นชัย ความสุขก็จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น 200 กิโลเมตรคุณก็ทำได้ แน่นอนมันก็ลำบากเหมือนกัน มันเหมือนกับความสำเร็จของชีวิต ถ้าเรามองเห็นว่าการวิ่งมาราธอนกับชีวิตเหมือนกันที่ต้องผ่านความยากลำบากทีละนิด ทีละนิด แล้วเราไม่พร่ำบ่นกับมัน เพราะไม่มีประโยชน์อะไร แค่เราลงมือทำพอ” พี่โหน่งตกตะกอนประสบการณ์เหล่านั้นให้เราฟัง

จากจุดเริ่มต้นที่ แเมื่อก้าวเข้าสู่มาราธอน การวิ่งก็สอนอะไรเขามากกว่านั้น ซึ่งบทเรียนนี้ตัวเขาเองก็แบ่งปันให้คนอื่นด้วยเช่นกัน “ผมพยายามสอนให้ทุกคนเรียนรู้ว่าคุณไม่ต้องสนใจเรื่องความเร็วหรอก เอาเป็นว่าถ้าคุณยังไม่เคยวิ่งให้ลองไปเดินก่อน เวลาเราเดินเราใช้น้ำหนัก 1 เท่าครึ่งในการผลักตัวเองออกไป ถ้าเราหนัก 60 กิโลกรัม น้ำหนักที่ออกไปจะเป็น 90 กิโลกรัม ตอนนี้เราไม่เจ็บเราไม่รู้หรอก แต่การเดินต่อเนื่องครึ่งชั่วโมง มันจะเริ่มรู้สึกปวด เริ่มล้า”

“เวลานั้นถ้าคุณมีสติอยู่กับตัวเอง ลองฝึกดูสิว่าเวลาเดินเนี่ย ฉันก้าวขายังไง ฉันแกว่งแขนยังไง ฉันวางเท้ายังไง ฉันลงส้น ลงกลาง หรือลงปลายเท้า เดินเขย่งมั้ย เดินตรงหรือเปล่า หลังฉันตรง หน้าฉันตรง คอฉันตรงหรือเกร็งมั้ย แขนเป็นยังไง ใจคิดอะไรอยู่ หน้าบึ้งหรือเปล่าหรือกำลังเครียด ลองพยายามอยู่กับอากัปกิริยาในการเดินหรือการวิ่งของเรา สิ่งที่ได้คือเราจะมีสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน ใจนิ่งสงบและแข็งแกร่งอยู่ในกาย”

ดังนั้นจากประสบการณ์ที่เคี่ยวกรำมาหลายปี สำหรับพี่โหน่ง การมีไลฟ์สไตล์ สปอร์ต คอมมูนิตี้แห่งแรกอย่าง Stadium One จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี “เรารู้ว่าคนทำเขาก็เป็นนักวิ่งจริงจัง ตั้งแต่เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว เขาก็มาบอกเราว่าอยากจะเปิดคอมมูนิตี้ด้านกีฬา เรารู้สึกยินดีมาก สนับสนุนเต็มที่เลย เพราะเราก็ทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมการออกกำลังกายอยู่แล้ว Stadium One ก็เป็นแนวทางเดียวกับเราที่อยากให้คนหันมาออกกำลังกาย เห็นคุณค่าของการมีสุขภาพดี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาวิ่งนะ กิจกรรมอะไรก็ได้ที่ช่วยร่างกายได้เคลื่อนไหวและทำให้มีสุขภาพแข็งแรง”

“ผมมองว่าเป้าหมายของ Stadium One ไม่ควรจะเป็นแค่สถานที่รวบรวมร้านหรือเป็น one stop service ของคนที่สนใจการออกกำลังกาย แต่มันควรจะเป็นสถานที่ที่แม้กระทั่งชาวต่างชาติก็อยากมาเดิน ควรมีกิจกรรมหลายอย่างที่ตอบโจทย์คนที่มา ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ หรือลูก ก็สามารถที่จะมาเล่นสนุกทั้งครอบครัวได้ในพื้นที่เดียวกัน สำหรับผมที่นี่จึงไม่ใช่แค่ศูนย์การค้า แต่เป็นสถานที่ที่มีแรงบันดาลใจบางอย่างดึงดูดให้คนมา บางทีเด็กๆ ที่มาอาจจะได้เจอฮีโร่ของพวกเขา อย่างเมสซี่ เจ หรือตูน บอดี้สแลม คนที่เป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้เด็กๆ รักกีฬาได้ และผมเชื่อว่า Stadium One สามารถสร้างแรงบันดาลใจส่งต่อให้คนอื่น ๆ ได้เช่นกัน”


แม้ว่าทั้งสามคนจะมีแนวคิดต่อการวิ่งมาราธอนต่างกันไปตามแบบฉบับของตนเอง แต่ทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า ไม่ว่าจะวิ่งมาราธอน หรือออกกำลังกายแบบไหนก็ตาม ล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพของเรา และการมี Stadium One ไลฟ์สไตล์ สปอร์ต คอมมูนิตี้ที่รวมทุกเรื่องของการออกกำลังกาย ไปจนถึงเรื่องสุขภาพมาไว้ที่แห่งเดียว ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้คนในประเทศของเราหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองและให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น

ค้นพบไลฟ์สไตล์การออกกำลังกายในแบบของคุณเองได้ที่ Stadium One ไลฟ์สไตล์ สปอร์ต คอมมูนิตี้ แห่งแรกในประเทศไทย ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ stadiumone.net และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที facebook.com/stadiumonebkk หรือติดต่อเบอร์ 097-031-1222

AUTHOR