Run for the Better Me การวิ่งที่เปลี่ยนชีวิตอาจารย์หนุ่มผู้อ่อนล้าให้แข็งแรงและเชื่อมั่นในตัวเอง

เมื่อหันมองเทรนด์การออกกำลังกายในเมืองไทย พูดได้ว่ายุคสมัยนี้คือยุคทองแห่งการวิ่ง แต่แม้จะมีนักวิ่งมากมายออกวิ่งไปในแต่ละวัน แต่ละคนก็ต่างมีเรื่องราว เป้าหมาย และแรงขับเคลื่อนไปสู่จุดนั้นที่ต่างกันไป

เช่นเดียวกับ หมอโอ๊ต–ผศ.น.สพ.ดร.วีระศักดิ์ ฟุ้งเฟื่อง หนึ่งในผู้ร่วมวิ่งงาน Human Run 2018 ที่นั่งอยู่ตรงหน้าเรา

“ก่อนหน้านี้ผมไม่สนใจกีฬาวิ่งเลยเพราะมันเหนื่อย และอาจเพราะเป็นปมด้อยตั้งแต่สมัยประถมที่ไปร่วมคัดนักกีฬาของโรงเรียนแล้วเข้าที่โหล่จนโดนญาติล้อในวงกินข้าว ทำให้ฝังใจ ไม่สนใจกีฬานี้อีกเลยเพราะวิ่งแพ้คนอื่น” หมอโอ๊ตบอกกับเราอย่างนั้น ตอนนี้เขาเป็นทั้งอาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นนายสัตวแพทย์ และเป็นนักวิ่งที่ออกวิ่งสม่ำเสมอมากว่า 3 ปีแล้ว

อะไรทำให้ชายหนุ่มผู้ละทิ้งการวิ่งไปตั้งแต่วัยประถมศึกษาหยิบรองเท้าก้าวสู่ลู่วิ่งอีกครั้ง หมอโอ๊ตย้อนเล่าว่าทุกอย่างเริ่มจากคำถามเมื่อภาระการงานทำให้เขารู้สึกเหนื่อยล้าอย่างหนัก

“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ภาระงานผมค่อนข้างเยอะ เป็นอาจารย์สอนหนังสือเช้าถึงเย็นหรือบางวันเช้าถึงค่ำ เสาร์-อาทิตย์ก็ทำหน้าที่นายสัตวแพทย์ประจำคลินิกรักษาสัตว์ เหมือนเราทำงาน 7 วัน พอกลับบ้านก็จะรู้สึกเพลีย ต้องพักผ่อนด้วยการนอน ไม่มีความคิดที่จะทำกิจกรรมอื่นอีกเลย ผมก็คิดว่ายังอายุไม่ถึง 40 ทำไมล้าขนาดนี้ ทั้งที่ตัวเองก็เคยเป็นคนออกกำลังกาย แล้วพอทำงานเยอะต่อเนื่องกันก็รู้สึกว่าร่างกายเริ่มไม่ไหว เลยตัดสินใจว่าต้องหากีฬาอะไรเล่น”

อย่างที่หมอโอ๊ตบอกว่าเขาเคยออกกำลังกายมาก่อน แต่ครั้งนี้จะให้ไปตีแบดมินตันก็หาเพื่อนร่วมสนุกยาก หรือจะให้ว่ายน้ำที่ต้องเปลี่ยนชุดโดดลงสระมหาวิทยาลัยก็เขินเด็กๆ สุดท้ายอาจารย์หนุ่มจึงตัดสินใจเลือกการวิ่งเป็นทางออก

“ครั้งแรกที่ตัดสินใจวิ่ง วิ่งได้แค่ 400 เมตรก็หยุดเลย” ชายผู้ร้างลาการวิ่งมาเนิ่นนานพูดถึงวันแรกของการเริ่มต้นอีกครั้ง แต่แม้ระยะทางที่ได้จะแสนสั้น นักวิ่งมือใหม่ก็ตัดสินใจให้โอกาสวันที่ 2 แก่กีฬาชนิดนี้ ผลปรากฏว่าได้ระยะทางเพิ่มมากขึ้น หลังจากวิ่งได้ต่อเนื่อง รุ่นน้องที่รู้จักกันก็ชวนให้หมอโอ๊ตลองสมัครงานวิ่งแรกในชีวิต

“เป้าหมายแรกที่ทำให้วิ่งต่อคือผมลงงานวิ่งในระยะทาง 6 กิโลเมตรไว้ เพราะฉะนั้นต้องวิ่งให้จบ ไม่อย่างนั้นจะอายตัวเอง อายน้องที่มาชวน” ชายหนุ่มอธิบายแรงจูงใจให้ยืนระยะ “ผมก็ซ้อมเองโดยไม่มีหลักเกณฑ์อะไร ไม่รู้เทคนิค ทำยังไงก็ได้ให้ซ้อมได้มากที่สุด ให้ระยะทางที่ได้ใกล้เคียง 6 กิโลเมตร”

แล้วการลงสนามงานวิ่งของจริงครั้งแรกก็ผ่านพ้นไปด้วยดี โดยนอกจากทำระยะทางได้น่าพอใจ หมอโอ๊ตยังรู้สึกชอบและสนุกกับการออกวิ่งไปพร้อมคนอื่น

“พอได้ไปสัมผัสบรรยากาศมันทำให้ผมสนุก บางทีวิ่งไปเห็นคุณลุงที่แก่กว่าวิ่งเแซง ก็รู้สึกว่าต้องทำให้ดีกว่านี้ เลยสมัครงานวิ่งครั้งต่อไปรอไว้เรื่อยๆ เป็นเหมือนโปรแกรมในแต่ละเดือนซึ่งทำให้เราซ้อมเพื่อไปแต่ละงาน”

กีฬาแต่ละชนิดมีความยากเฉพาะตัว สำหรับการวิ่งคือต้องมีวินัยในการซ้อมสม่ำเสมอ รวมถึงยังมีอุปสรรคต่างๆ ที่นักวิ่งต้องผ่านไปให้ได้อย่างอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อซึ่งพบได้บ่อยเวลาออกกำลังกาย เรามักจะเห็นนักวิ่งใส่ปลอกรัดน่องหรือเข่าที่เรียกว่า Compression Sleeve เพื่อซัพพอร์ตกล้ามเนื้อ ป้องกันการบาดเจ็บจากการวิ่ง ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และลดความเมื่อยล้าซึ่ง Compression Sleeve ที่หมอโอ๊ตใช้มาจากแบรนด์ FUTURO™ จากบริษัท 3M นอกจากเนื้อผ้าเบาสบาย ขอบไม่รัดแน่นจนอึดอัด และระบายเหงื่อได้ดี ทำให้ใส่สบายเวลาวิ่ง

แต่แม้มีจุดที่ต้องฝ่าฟัน อาจารย์และสัตวแพทย์หนุ่มก็ยังคงตั้งใจวิ่งต่อไม่หยุด นอกจากขยับระยะการวิ่งถึงฟูล มาราธอน จนได้พบว่าระยะที่เหมาะกับตัวเองที่สุดคือฮาล์ฟ มาราธอน หรือระยะ 21 กิโลเมตร เขายังลองเปลี่ยนจากนักวิ่งเดี่ยวไปสู่อีกบทบาทที่ท้าทาย นั่นคือการเป็น Pacer หรือผู้วิ่งนำให้นักวิ่งที่วิ่งตาม (ชาวเพเซอร์เรียกนักวิ่งกลุ่มนี้ว่า ลูกค้า) ได้สถิติเวลาที่ต้องการโดยไม่ต้องคอยเช็กเวลาจากอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งในงาน Human Run ที่ผ่านมาถือเป็นครั้งที่ 2 ของเขาในตำแหน่งนี้

“ในงาน Human Run 2018 ผมเป็นเพเซอร์ของระยะทาง 10 กิโลเมตรในเวลา 60 นาที หมายความว่าผมจะต้องเข้าเส้นชัยภายใน 60 นาที และต้องวิ่งสม่ำเสมอ ไม่ใช่ช่วงแรกอัดความเร็วแล้วค่อยช้าลงเพราะนักวิ่งจะตามไม่ทัน ซึ่งการสมัครเป็นเพเซอร์นี้ เราทำหน้าที่เหมือนอาสาสมัคร แต่ต้องมีผลงานการวิ่งเร็วกว่าเวลาที่ลงสมัครประมาณ 15-20 นาที และถ้าผ่านการคัดเลือก เราจะต้องส่งการบ้านคือต้องวิ่งให้ตรงกับระยะทางและเวลาที่รับผิดชอบแล้วส่งสถิติผ่านแอพพลิเคชั่นไปให้ทีมงาน”

แน่นอนว่าบทบาทนี้ย่อมยากกว่าการลงวิ่งตัวปลิวไปคนเดียว มองแค่ให้ถึงเป้าหมายตามต้องการ แต่หมอโอ๊ตก็มองเห็นแง่ดีของการเป็นเพเซอร์

“การเป็นเพเซอร์ช่วยฝึกร่างกายเราให้รักษาระดับการวิ่งสม่ำเสมอได้ แล้วผมก็สนุกที่ได้ช่วยกระตุ้นคน สิ่งนี้เป็นศิลปะนะ เมื่อเห็นบางคนเหนื่อย ผมก็พยายามคุยให้สนุก หามุกมาเล่นเพื่อให้เขาไม่เครียด”

ถึงตอนนี้ หมอโอ๊ตมีการวิ่งเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมาถึงปีที่ 3 แล้ว นับเป็นการเดินทางที่เปลี่ยนชีวิตเขาอย่างแท้จริง

“ผมทำงานได้ทนขึ้นเพราะร่างกายแข็งแรง ที่เห็นผลชัดคือตั้งแต่เริ่มวิ่งจนปัจจุบัน ผมป่วยอย่างมากก็ปีละครั้งและเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา ไม่เคยป่วยหนักหรือมีปัญหาสุขภาพเลย นอกจากนั้นที่เคยมองว่าการวิ่งเหนื่อย ที่เคยฝังใจไม่อยากวิ่ง ผมก็ทำในสิ่งที่ท้าทายตัวเองได้แล้ว จากนี้เป้าหมายต่อไปคือการวิ่งระยะทาง 21 กิโลเมตรโดยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและถ้ามีโอกาสจะเป็นเพเซอร์อีก ผมคาดว่าตัวเองคงวิ่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแรง”

 


หากใครสนใจปลอกรัดน่องเข่า Compression Sleeve แบรนด์ FUTURO™ จากบริษัท 3M ดูได้ที่
https://www.facebook.com/FUTUROThailand/

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก