CHANN Bangkok-Noi : ที่พักริมคลองย่านกรุงเก่าที่ออกแบบโดยตั้งต้นจากประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และชุมชนรอบข้าง

ย่างเข้าฤดูฝน คงพอทำให้คนเมืองอย่างเราพอได้กลิ่นเย็นๆ สดชื่นของหยาดฝนและต้นไม้ลอยตามลมมาบ้าง แต่ถ้าได้นอนอ่านหนังสือแล้วทอดสายตามองไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาเบื้องหน้าในบรรยากาศแสนสงบที่มีเพียงเสียงฝน และเสียงเรือลำเล็กแล่นผ่านไปมาก็ยิ่งเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่เราสัมผัสได้ทันทีที่เท้าแตะชานกว้างของ CHANN Bangkok-Noi ที่พักแห่งใหม่ขนาด 22 ห้องที่ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกน้อยซึ่งซ่อนตัวอยู่อย่างกลมกลืนกับชุมชนวัดดุสิตาราม สถานที่ที่แค่เราขับรถหนีความวุ่นวายจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าแค่ไม่กี่อึดใจก็ได้พบกับความสุขและสบายใจอย่างที่นึกไม่ออกว่าอยู่ในกรุงเทพฯ เลย

อมรพรรณ สมสวัสดิ์ ที่ปรึกษาโครงการจากบริษัท พอยส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ออกแบบและดูแลภาพรวมของที่พักเล็กๆ แห่งนี้ยิ้มต้อนรับเราอย่างใจดี ก่อนพาเดินสำรวจห้องพักต่างๆ พลางเล่าให้ฟังว่าเดิมทีพื้นที่นี้มีเพียงบ้านไม้เก่าสองชั้น 2 หลัง แต่ด้วยเห็นข้อดีของทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยาและยังใกล้กับสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งโรงพยาบาลศิริราชและย่านกรุงเก่า เลยคิดต่อยอดพัฒนาเป็นที่พักโดยมีหลักคิดในการออกแบบทุกอย่างตั้งแต่สถาปัตยกรรม การตกแต่งห้องพัก ไปจนถึงการให้บริการของพนักงานที่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ธรรมชาติ และชุมชนรอบข้างก่อนอื่นใด

การออกแบบสถาปัตยกรรมและพื้นที่ทั้งหมดจึงทำงานร่วมกันกับสถาปนิก ศมน แสนรักษ์ และภูมิสถาปนิก สุมาณี อำพันทรัพย์ ภายใต้คอนเซปต์และภาพที่เห็นชัดตั้งแต่ตอนที่อมรพรรณมาดูสถานที่ ผลลัพธ์คือบ้านไม้สองชั้น 4 หลังที่รีโนเวตสองหลังเดิมและสร้างขึ้นเพิ่ม ทุกหลังเชื่อมต่อกันด้วยชานบ้านกว้างๆ เป็นพื้นที่รับรองแขกที่มาและอยากให้ทุกคนได้นั่งพัก พูดคุยปฏิสัมพันธ์กัน เป็นจุดขายชวนให้คิดถึงบ้านไทยสมัยก่อนที่จะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ มีชานกลางเรือนให้ทุกคนนั่งใช้เวลาร่วมกัน แซมประดับกลางลานด้วยพรรณไม้เล็กใหญ่ที่ทนความชื้นได้ อย่างต้นมะม่วงต้นเก่าแก่ ต้นแก้ว ชะพลู พลับพลึง และพลูด่าง

สำหรับบ้านไม้หลังเก่า สถาปนิกยังคงใช้โครงสร้างเสาและคานของเดิม ส่วนหลังคากระเบื้องว่าวก็ทำด้านในใหม่ตีฝ้าไม้สวย ไม้ที่เลือกใช้เป็นพระเอกของบ้านสั่งทำจากโรงงานของแบรนด์ดีสวัสดิ์ เลือกใช้สีและแพตเทิร์นให้ออกมาเรียบนิ่ง สุขุม รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้ต่างๆ พวกเตียงนอน โต๊ะ ชั้นวางเล็กๆ ก็สั่งทำพิเศษให้ออกมาในรูปแบบ Mid-Century Modern คุมบรรยากาศอบอุ่นละมุนให้ห้องพักจนแขกไม่อยากออกไปไหน และทำให้ภาพรวมของอาคารดูถ่อมตนไม่หวือหวา กลืนไปกับชุมชนรอบนอกซึ่งเป็นจุดที่เราชื่นชมและอมยิ้มอยู่ในใจ

“เราถือว่าเราเป็นสมาชิกใหม่ในชุมชน พื้นที่ตรงนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ก่อนก็มีกำแพงสู้รบกับข้าศึก มีอู่เรือพระราชพิธี พระบรมมหาราชวัง หรือแม้แต่โรงพยาบาลศิริราชเอง ฉะนั้นเราจะทำอะไรต้องเริ่มจากความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติสถานที่ด้วยการไม่ออกแบบสถาปัตยกรรมที่เย่อหยิ่ง” อมรพรรณเล่าให้เราฟังและย้ำว่าอีกเหตุผลสำคัญคืออยากให้ ชาน บางกอกน้อย เป็นเสมือนหน้าบ้านของชุมชมที่ใครนั่งเรือผ่านไปมาหรือมองจากฝั่งท่าพระจันทร์ก็น่าจะอยากเข้ามาสำรวจชุมชนและมองเห็นชีวิตประจำวันแสนธรรมดาที่ยังคงมีอยู่ในเมืองหลวงของเรา

รายละเอียดที่ซุกซ่อนตามมุมต่างๆ ของห้องพักเป็นอีกสิ่งที่พาเราชอบใจ อย่างผนังโชว์โครงสร้างไม้เก่าก็ใช้วางของตกแต่งเล็กๆ และรูปภาพขาวดำของชุมชนบางกอกน้อยในวันวานได้อย่างเหมาะเจาะ หัวเตียงที่ออกแบบเป็นโต๊ะอ่านหนังสือพับเก็บได้ Walk-in Closet ในห้องพักทำเป็นบานเฟี้ยมที่พับเปิดปิดได้ให้บรรยากาศบ้านไม้เก่าๆ รวมไปถึงม้านั่งไม้ไว้อ่านหนังสือเล่นๆ ริมห้องพักติดวิวแม่น้ำ มองเห็นวิวพระอาทิตย์ตกทางฝั่งสะพานอรุณอมรินทร์ได้ทุกเย็นย่ำ ก็ออกแบบมาทั้งที่วางหนังสือและที่วางเท้าอย่างพอดี ลานห้องพักด้านนอกยังกว้างพอที่จะลากเบาะซึ่งเตรียมไว้ให้ทุกห้องออกมาปูนอนเล่นรับลมได้ทุกเมื่อตามชอบใจ ย้อนความรู้สึกเหมือนตอนที่เราเป็นเด็กนอนทำการบ้านอยู่ริมคลองยังไงอย่างนั้น

ธรรมชาติเป็นอีกอย่างที่ช่วยเสริมให้ที่นี่มีเสน่ห์ อย่างลมจากแม่น้ำที่พัดผ่านห้องตลอดวัน แดดยามเช้าส่องผ่านผ้าม่านมาอ่อนๆ และตกกระทบกับพื้นไม้ของชานกลางเรือน หรือห้องพักฝั่ง Riverside ก็มีจุดขายเป็นบึงเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยเหล่านกมาคอยกินปลา นอกจากนี้ กลิ่นอายของชุมชนบางกอกน้อยยังถูกหยิบยืมมานำเสนอให้ผู้มาเยือน อย่างน้ำมะตูมที่นำมาเป็น Welcome Drink ต้อนรับแขก หรือเมนูอาหารของร้านอาหาร ‘อิ่ม’ ที่เปิดบริการสำหรับทุกคนก็ยังเสิร์ฟเมนูกลิ่นอายของชุมชนมัสยิดหลวงอย่างสลัดแขก ก๋วยเตี๋ยวแกงด้วย ทั้งหมดล้วนถูกแทรกตัวอย่างกลมกลืนด้วยคอนเซปต์ ‘Simply at Ease’ ที่อยากให้ทุกคนค่อยๆ ซึมซับความรู้สึกสบายกายสบายใจจากการใช้เวลาช้าๆ และสำรวจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของที่นี่ จนกลายเป็นความประทับใจกลับไป

“เราไม่ได้กำหนดว่าแขกจะต้องพักกับเรากี่คืนถึงจะรู้สึกถึงความสบาย คุณอาจจะเห็นแค่รูปภาพขาวดำเก่าๆ ของชุมชนที่เราแขวนไว้ที่ผนังแล้วรู้สึกสบายใจ นั่นก็บรรลุเป้าหมายของเราที่อยากให้ทุกคนได้นึกย้อนไปถึงวันเวลาเก่าๆ แล้ว ‘Simply at Ease’ จึงเป็นหัวใจหลักที่เราอยากนำเสนอบวกกับสิ่งมีคุณค่ารอบๆ คือประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และชุมชน ให้เราได้เก็บความทรงจำดีๆ ไปในระหว่างทาง” อมรพรรณทิ้งท้ายกับเราพร้อมรอยยิ้มใจดี พร้อมปล่อยให้เราลองใช้เวลาช้าๆ มองสายน้ำเจ้าพระยาตรงหน้า

เรายืนยันว่าไม่รู้สึกเสียดายช่วงเวลานั้นสักนิดเลย

Facebook | CHANN Bangkok-Noi
www.channbangkoknoi.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย