ระยะทาง 550 เมตรจากสถานีรถไฟหัวลำโพง เราเดินมาหยุดอยู่ที่หน้าซอยนานาไม่ไกลจากวงเวียน 22 กรกฎา ยังไม่ทันจะเดินเข้าไปสำรวจสีสันของอดีตย่านขายยาจีนเก่าที่ตอนนี้เป็นร้านรวงสร้างสรรค์สุดฮิต ดึงดูดใจหนุ่มสาวชาวฮิปเป็นที่สุด เราก็สะดุดตาเข้ากับคาเฟ่ที่ตึกหัวมุมถนน ป้ายตัวเลขจีนปนเลขอารบิกและตัวหนังสือหลังเคาน์เตอร์เขียนว่า 103 Bed and Brews ที่นี่เป็นทั้งคาเฟ่และที่พักต้อนรับคนหลากหลายชาติ
คาเฟ่และที่พักแห่งนี้เพิ่งเปิดได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ ไม่เฉพาะเป็นคาเฟ่เปิดใหม่ที่ถ่ายรูปสวยเอาใจชาว Cafe Hopper เท่านั้นที่เชื้อเชิญให้ใครหลายคนแวะเวียนเข้ามาที่นี่ไม่ขาด แต่บรรยากาศอบอุ่นในบ้านสไตล์จีนผสมกับการออกแบบร้านให้มีกลิ่นอายเปอรานากัน ขณะเดียวกันก็แทรกงานศิลปะตะวันตกยุคใหม่และความเป็นไทยผ่านพรอพต่างๆ อย่างโถยาดองที่จัดวางไว้อย่างลงตัวก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญเช่นกัน
สำหรับคนไม่เชี่ยวชาญงานออกแบบอย่างเรารู้สึกเช่นนั้น ก่อนที่ นุ้ย-ประไพ งามจรัสทรัพย์ อินทีเรียร์สาวผู้ปลุกปั้นให้ 103 Bed and Brews กลับมามีชีวิต จะมานั่งร่วมโต๊ะไม้เก่าเล่าให้เราฟังอย่างละเอียด
ตึกเก่าตรงนี้เดิมทีเป็นของ บอล-อธิป นานา ซึ่งเคยเปลี่ยนจากร้านขายยาจีนในยุคก่อนมาเป็นร้านทำป้ายไฟ ตัดสติ๊กเกอร์แต่ก็ปิดกิจการไป บอลเห็นว่าตึกหัวมุมตรงนี้ถูกปล่อยทิ้งว่างจึงอยากจะเปลี่ยนเป็นบ้านเพื่อให้เขาและเพื่อนชาวต่างชาติได้เข้ามาพักผ่อน เนื่องจากย่านเก่าในซอยนานานี้มีเสน่ห์เหมาะแก่การเป็นที่พักรับรองนักเดินทาง
นุ้ยได้รับโจทย์แรกว่าไม่อยากให้บ้านเป็นสไตล์จีนจ๋า เธอจึงเก็บภาพรวมของอาคารอย่างเสาและคานที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ ทาสีใหม่ด้วยการคุมโทนสีอุ่นให้ตัดกับสีของกระเบื้องและกลมกลืนไปกับประตูบานเฟี้ยมซึ่งทำใหม่แทนประตูเก่าที่ผุพังไป แต่ยังคงใช้หน้าต่างเดิม เมื่อมองลอดหน้าต่างออกไป เราจึงยังได้บรรยากาศการนั่งอยู่ในบ้านเก่าอายุกว่า 100 ปี
ภายในบ้านรื้อผนังที่เคยกั้นเป็นซอกเป็นมุมออก เหลือเพียงโถงโล่งกว้างคล้ายกับโถงต้อนรับของบ้านคนจีนสมัยก่อน เราไล่สายตามองตามที่นุ้ยเล่าแล้วพลันหันไปเห็นมุมหนึ่งของบ้านที่มีประตูบานเฟี้ยมกั้นแยกส่วนออกไป นุ้ยบอกว่าตรงนั้นกั้นขึ้นมาใหม่เป็นโซนสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่หรือสังสรรค์ เพราะเธอไม่อยากให้แขกที่มาพักต้องไปยืนสูบบุหรี่ริมถนนรบกวนผู้อื่น เมื่อมองจากภายนอกเข้ามา มุมสูบบุหรี่นั้นก็ทำให้บ้านดูมีมิติมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
หลังจากแบ่งโซนชั้นล่าง บอลอยากให้บ้านของเขามีร้านกาแฟเล็กๆ จึงติดต่อทีมที่เชี่ยวชาญการทำกาแฟ Cold Brew มาช่วย จากภาพแรกคือการทำบ้านเพื่ออยู่อาศัยเองก็ถูกปรับเป็นคาเฟ่ขนาดกะทัดรัด หน้าที่ของนุ้ยจึงต้องมองภาพรวมของร้านทั้งหมดไปด้วย อย่างเคาน์เตอร์กาแฟที่เธอออกแบบให้เหมือนเคาน์เตอร์ในร้านขายยาจีน คือมีความโค้งและใส่ลูกเล่นเป็นลูกกรงไม้ ส่วนโต๊ะเก้าอี้ก็เลือกใช้งานไม้ทั้งหมดให้คงคอนเซปต์บ้านเก่า และเพิ่มตัวเลือกด้วยโซฟา นุ้ยบอกเราว่าเป็นความตั้งใจที่จะให้มีที่นั่งไม่มากนัก แต่ทุกที่ที่แขกนั่งพักต้องเป็นที่ที่นั่งสบาย
เรานั่งคุยกันสักพัก ชาเย็นรสเข้มข้นและเค้กส้มในจานใบสวยก็มาเสิร์ฟที่โต๊ะ ซึ่งหากใครชื่นชอบงานเซรามิกกุ๊กกิ๊ก จานในร้านอาจทำให้หัวใจละลายด้วยลวดลายและเรื่องราว เพราะนุ้ยเสริมว่าถ้วยชามเซรามิกต่างๆ ได้ เร แมคโดนัลด์ และ แหม่ม-สริญญา จินตนาวรารักษ์ หุ้นส่วนคนสำคัญของที่นี่เลือกสรรด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับรูปภาพทั้งหมดที่ติดอยู่ในร้าน คาเฟ่แห่งนี้จึงเป็นแกลเลอรี่ขนาดย่อมด้วย
เราเพลิดเพลินกับชั้นล่างมาพักใหญ่ จึงขอเดินขึ้นไปชมชั้นบนซึ่งประกอบด้วยห้องพัก 6 ห้อง แต่เปิดให้แขกเข้าพักเพียง 4 ห้อง อีก 2 ห้องเป็นของเจ้าของบ้านตามความตั้งใจแรก นุ้ยอธิบายว่าเธอออกแบบให้ห้องนอนทุกห้องอยู่ติดหน้าต่างด้านหน้า ส่วนห้องน้ำให้อยู่ด้านหลังของตัวตึกทั้งหมด ซึ่งกิมมิกหลักๆ ที่นำมาใช้กับทุกห้องคือประตูคู่ ซุ้มประตู ช่องลมเหนือประตูและผนังลายฉลุที่เธอวาดแบบเอง ทั้งตึกจึงมีอากาศถ่ายเท เย็นสบายแม้ไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ
จากชั้นสองเราเดินขึ้นบันไดวนเหล็กไปยังดาดฟ้าที่เป็นลานโล่ง ความพิเศษของดาดฟ้าตึกหัวมุมคือเราสามารถมองเห็นภาพตึกเก่าในย่านใกล้เคียงซอยนานาเรียงรายกันแบบพาโนรามา บนดาดฟ้าแม้จะยังไม่มีแผนการใช้พื้นที่ แต่การปล่อยโล่งไว้ก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้มาเยือนอย่างเราสบายใจ
เราเดินสำรวจพื้นที่ในบ้านเลขที่ 103 นี้จนทั่วแล้วนึกหาคำนิยามของ 103 Bed and Brews ที่เป็นทั้งบ้าน คาเฟ่ และที่พัก อยู่นาน แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าอินทีเรียร์สาวบอกกับเราอ้อมๆ ตั้งแต่เริ่มบทสนทนาแล้วว่า “เราไม่ได้จำกัดว่าที่นี่จะต้องเป็นสไตล์ไหน จะเห็นว่ามีทั้งยุโรป จีน และไทย คือคงโครงสร้างเดิมแบบจีนไว้แล้วแทรกสิ่งที่เจ้าของบ้านชอบเข้าไป มันก็เหมือนบ้านคน จัดวางในสิ่งที่ชอบ ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป๊ะ”
เครื่องดื่มรสชาติกลมกล่อมในบรรยากาศเคล้ากลิ่นยาจีน การได้นั่งมองลอดหน้าต่างและบานเฟี้ยม สังเกตความเป็นไปของผู้คนและบ้านเรือนรายล้อมที่เคยเป็นชุมชนค้าขายรุ่งเรืองของชาวจีนในอดีต ก็เป็นความสงบและความสบายอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเสน่ห์ของที่นี่ที่ทำให้เราสบายใจ
103 Bed and Brews
address: 103 ซอยนานา ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
hour: คาเฟ่เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 09.00 – 22.00 น.
Facebook | 103 – Bed and Brews
ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์