โรงเรียนอนุบาลเจริญพงศ์ : พื้นที่สีลูกกวาดที่ออกแบบมาให้ส่งเสริมจินตนาการของเด็กๆ ได้อย่างสร้างสรรค์

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่โรงเรียนอนุบาลไหนๆ
จะมีเครื่องเล่นชิ้นใหญ่ สนามหญ้ากว้างๆ สีเขียว หรือภาพวาดบนกำแพงเป็นลายการ์ตูนน่ารักล่อตาล่อใจให้เด็กๆ
วิ่งเล่นสนุกสนาน แต่กับโรงเรียนอนุบาลเจริญพงศ์ที่อยู่มากว่า 40 ปีในซอยแบริ่ง
(สุขุมวิท 107) นั้นโดดเด่นกว่าด้วยการออกแบบอาคารภายในพื้นที่ 2 ไร่ให้ส่งเสริมจินตนาการและการเรียนรู้ของเด็กวัยซนได้มากที่สุด
ยิ่งเมื่อเราได้พูดคุยกับ ครูอ้น-อภิชาติ เจริญพิวัฒพงษ์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกภาษาอังกฤษของโรงเรียนที่ตอบทุกคำถามเราด้วยรอยยิ้ม ก็ทำให้โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้กลายเป็นที่ชอบจนเรานึกอยากย้อนเวลากลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเลยล่ะ

โรงเรียนอนุบาลเจริญพงศ์เปิดสอนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลถึงอนุบาล
3 ทั้งแผนกสามัญและแผนกภาษาอังกฤษ แต่ไม่ว่าจะแผนกไหน
สิ่งสำคัญที่โรงเรียนนี้อยากปลูกฝังให้เด็กๆ ไม่ใช่ทักษะทางวิชาการว่าใครเก่งกว่ากัน
แต่เป็นทัศนคติหรือมุมมองที่ดีต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต สอดแทรกผ่านกิจกรรมที่จัดเตรียมไว้ให้เด็กๆ
ได้ทดลองทำและแสดงออกมากกว่า

จากความคิดนั้น อาคารสีพาสเทล 3
ชั้นที่สร้างขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนเลยถูกออกแบบให้สะดวกต่อการจัดกิจกรรมที่หลากหลายของคุณครู
มีห้องเรียนขนาดใหญ่แบ่งโซนการเรียนรู้ได้อย่างอิสระและไม่ทำให้เด็กอึดอัด
(แม้ว่าแต่ละห้องจะมีนักเรียนแค่ 20 กว่าคนเท่านั้น) พื้นที่โล่งๆ เปิดกว้างให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ
ผ่านการมองเห็นและสัมผัสจริง ไม่ว่าจะเป็นสีสันต่างๆ ต้นไม้ ความเรียบ ขรุขระ ความสูงชันของพื้นที่
ดีกว่าจะมานั่งในห้องเรียนสี่เหลี่ยมแล้วบอกว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้คืออะไร

พื้นโถงกลางวาดเป็นภาพวาฬ 3 ตัววนว่ายในท้องทะเลคือมุมโปรดที่เด็กๆ
มาวิ่งเล่นกันทุกเช้าจนลวดลายการ์ตูนจางลงไปตามกาลเวลา อุโมงค์ใต้บันไดวนที่นำไปสู่ชั้น 2 ก็เป็นการออกแบบที่แสนใส่ใจ
ดาดฟ้าของตึกเป็นสนามกีฬาในร่มโล่งๆ ที่โปร่งด้วยลมพัดตลอดทั้งวัน แต่ที่เราปลื้มมากคือห้องน้ำและห้องอาบน้ำที่หากเป็นโรงเรียนอนุบาลอื่นๆ
ก็แค่ทำให้สะอาดตามมาตรฐาน แต่ที่นี่ลงทุนวาดตัวการ์ตูนและสีสันแสนน่ารัก
เป็นโครงสร้างปูนเปลือยทาสีไม้ทำให้น่ารักน่าใช้ แถมขนาดของโถส้วม ฝักบัว
สุขภัณฑ์อื่นๆ ก็เลือกเป็นสเกลจิ๋วเหมาะให้เด็กๆ ใช้และได้ช่วยเหลือตัวเองจริงๆ

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าดีไซน์สวยงามแปลกใหม่คือทุกพื้นที่ต้องสะอาดและออกแบบมาให้ปลอดภัย
บันไดทุกขั้นติดเทปกันลื่นและมีราวจับ ลูกกรงบันไดวนจนถึงชั้นสูงๆ ก็ต้องมีความสูงมากพอไม่ให้เด็กปีนป่ายโดยง่าย
แถมยังต้องเลือกใช้วัสดุเหล็กเรียบที่ไม่คมบาดมือ เพราะตามนิสัยซุกซนของเด็กๆ ก็มักจะรูดจับขณะวิ่งเล่นอยู่แล้ว
ประตูห้องเป็นบานเลื่อนทั้งหมดซึ่งปลอดภัยกว่าบานพับ รวมไปถึงเสาทุกต้นต้องเป็นเสากลมไม่มีมุมที่เด็กจะวิ่งชนแล้วบาดเจ็บเลย

ถัดจากตึกเก่าสีพาสเทลเป็นอาคารใหม่ความสูง
3 ชั้นที่เพิ่งสร้างเมื่อ 2 ปีก่อนเพื่อขยายพื้นที่เรียนให้เด็กไม่อึดอัดเกินไป
ส่วนนี้ออกแบบโดย ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ จากสตูดิโอออกแบบ ilikedesignstudio ที่รับโจทย์มาจากผู้อำนวยการโรงเรียนว่าอยากให้ตึกมีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์
และมีห้องอเนกประสงค์ให้ปรับเปลี่ยนได้อย่างอิสระ

จากเดิมที่เป็นสนามหญ้ากว้างๆ
พอจำเป็นต้องสร้างอาคาร
ณฤชาก็คิดว่ายังต้องมีพื้นที่ให้เด็กได้วิ่งเล่นได้เหมือนเดิม
จึงออกแบบโถงชั้นล่างให้เปิดโล่ง และมีเครื่องเล่นขนาดใหญ่ดึงดูดใจ ส่วนตัวอาคารออกแบบเป็นรูปลักษณ์คล้ายบ้านรูปทรงเรขาคณิตมาประกอบกัน
แบ่งแต่ละชั้นด้วยสีสันที่สดใสมากขึ้นคือ สีแดง สีเหลือง
และสีน้ำเงินที่ทอนมาเป็นสีฟ้า ออกแบบลูกเล่นเป็นช่องเล็กๆ
เพื่อให้ลมผ่านและมองเห็นกันไปมา และถ้าลองเดินไล่ตั้งแต่ชั้นล่างถึงบนจะพบว่าพื้นที่ทุกส่วนเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด
ส่วนหน้าจั่ว 2 จั่วที่เสริมเอกลักษณ์ให้อาคารตรงด้านหน้าคือพื้นที่ของห้องประชุมขนาดเล็กซึ่งปรับเปลี่ยนเป็นยิมหรือไว้ให้เด็กๆ
แสดงกิจกรรมก็ได้

“สิ่งสำคัญคือคุณครูผู้นำกิจกรรมที่ต้องรู้ว่าอยากส่งต่อประสบการณ์อะไรให้เด็กๆ
และปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่มีให้เด็กได้ทดลองทำอะไร
พื้นที่เลยไม่ได้มีผลต่อแค่ตัวเด็ก แต่มีผลต่ออารมณ์ของคุณครูด้วย ถ้ามีห้องที่จัดการอะไรได้ง่าย
อากาศถ่ายเท ไม่มีเสียงรบกวน เขาก็อยากจะนำส่งอะไรบางอย่างให้กับเด็ก เพราะธรรมชาติของเด็กเขาพร้อมที่จะสนุกและเรียนรู้อยู่แล้ว
เราแค่สร้างสภาพแวดล้อมให้เขาแสดงตัวตนออกมาได้ และรอให้เขาเบ่งบานในแบบของเขาเอง”
ครูอ้นยิ้มกว้างบอกกับเราแล้วยืนมองเด็กตัวเล็กๆ
ที่กำลังปีนป่ายขึ้นเครื่องเล่นสีสดใสและส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว

โดยไม่ต้องประเมิน
สิ่งนั้นเรียกว่าความสุข

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

AUTHOR