‘เด็กใหม่ ซีซั่น 2’ เชิญคุณลงทัณฑ์บัญชาให้สมอุราให้สาแก่ใจ (ใคร?)

หลังออกมาสร้างความปั่นป่วนและมอบผลกรรมให้กับเหล่านักเรียนและคณาจารย์ไปพอหอมปากหอมคอในซีซั่นแรก เด็กสาวปริศนาผู้ไว้ผมทรงหน้าม้าและมีชื่อประหลาดอย่าง ‘แนนโน๊ะ’ (ที่ในตัวเรื่องเลือกสะกดอย่างมีอรรถรส) ก็กลับมาสานต่อภารกิจสุดสยองของเธออีกครั้งกับซีซั่น 2 ของ Girl from Nowhere หรือ เด็กใหม่–ซีรีส์ไทยที่กำลังได้รับการพูดถึงมากที่สุดในตอนนี้

เด็กใหม่ เป็นซีรีส์แบบจบในตอน (anthology) ที่ในแต่ละตอนจะพาแนนโน๊ะไปเผชิญกับสังคมของแต่ละโรงเรียน โดยเนื้อหาหรือประเด็นหลักที่ต่างกันออกไป ซึ่งแนนโน๊ะก็มักจะนำพาเอาความวายป่วงไปยังแต่ละที่ที่เธอไปเยือน ผลักดันให้บรรดาตัวละครเผยความชั่วร้ายที่เก็บงำไว้ออกมา และสะท้อนให้เราเห็นความรุนแรงในระบบการศึกษาไทยไปด้วยในตัวอยู่เสมอ

สำหรับซีซั่นที่ 2 นี้ เด็กใหม่ ได้เลื่อนยศมาเป็นซีรีส์ออริจินัลของ Netflix อย่างเต็มตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นงานโปรดักชั่นและงานกำกับภาพที่เต็มไปด้วยลูกเล่นแพรวพราวทั้งยังดูเนี้ยบมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การคุมประเด็นของทั้งซีซั่นก็มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น แม้ในแต่ละตอนจะยังคงความ ‘จบในตอน’ ไว้อยู่ในระดับหนึ่งก็ตาม

กระแสพูดคุยถึง เด็กใหม่ มีมาให้เห็นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ก่อนที่ซีซั่นใหม่จะปล่อยฉาย เห็นได้จากการค่อยๆ ไต่อันดับขึ้นมาเรื่อยๆ บนแถบ 10 อันดับผลงานที่ได้รับชมมากที่สุดบน Netflix จนกระทั่งยึดครองอันดับ 1 ไปได้ตั้งแต่ตอนปล่อยฉายใหม่ๆ มาจนถึงตอนที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความชิ้นนี้ เราอาจกล่าวได้ว่ากระแสตอบรับของผู้ชมส่วนใหญ่นั้นเรียกได้ว่า ‘เสียงแตก’ เพราะจะเห็นได้ว่ามีทั้งฝั่งที่ชอบซีรีส์เอามากๆ และฝั่งที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีหรือทัศนคติบางอย่างของตัวซีรีส์

ตัวผู้เขียนเองเอนเอียงไปทางฝ่ายหลัง เพราะแม้จะชื่นชมการแสดงชนิดระเบิดลงของทีมนักแสดง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงในบทรุ่นพี่ที่ถูกเอาคืนของ เอม–ภูมิภัทร ถาวรศิริ) ทั้งยังชอบไอเดียแรกเริ่มของซีรีส์รวมไปถึงงานคราฟต์ต่างๆ ของซีซั่นนี้อยู่พอสมควร (ปฏิเสธไม่ได้ว่าการซูมเข้าซูมออกแบบไม่เกรงใจคนดูในตอน 5 และงานภาพขาว-ดำในตอน 6 นั้นถือว่าแปลกใหม่สำหรับซีรีส์ไทยจริงๆ) แต่ผู้เขียนกลับพบว่าตัวเองผิดหวังกับทัศนคติหรือทางเลือกที่ตัวซีรีส์พาคนดูไป(ไม่)ถึงอยู่ในหลายๆ ตอน

การมาถึงของแนนโน๊ะดูเหมือนจะสร้างความคาดหวังว่าสารพันปัญหาที่ถูกหมักหมมอยู่ในโรงเรียนจะได้รับการขุดคุ้ยขึ้นมาสะสางไม่ว่ามันจะเป็นความรุนแรงในหมู่นักเรียนด้วยกันเองหรือความรุนแรงจากครูบาอาจารย์ก็ตาม ปัญหาหลักที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดในซีซั่นนี้ ทั้งเรื่องของการท้องในวัยเรียน อำนาจนิยม ระบบอาวุโส ความรุนแรงทางเพศ ไปจนถึงความขัดแย้งทางชนชั้นในโรงเรียนนั้น โดยสรุปรวบย่อมันก็คือปัญหาที่มาจากความคิดที่ล้าหลัง แต่เรากลับพบว่าการชำระบาปของแนนโน๊ะส่วนมากกลับไม่ได้ทำไปเพื่อความก้าวหน้า (ไม่ว่าคนทำจะคิดว่าตนก้าวหน้าหรือไม่ก็ตาม) หรือเพื่อ ‘แก้ปัญหา’ แต่อย่างใด

ไม่ว่ามันจะเป็นการแก้เผ็ดผู้ชายนักล่าแต้มที่ชอบทำผู้หญิงท้อง (จนน่าสงสัยว่าไอ้การชอบทำผู้หญิงท้องนี่มันเป็น fetish อย่างหนึ่งหรือไร) ด้วยการทำให้ตัวผู้ชายท้องซะเอง การลงโทษลูกเศรษฐีที่ขับรถชนคนตายหลายศพด้วยการฆ่าเธอให้ตายแล้วทำให้เธอฟื้นขึ้นมาโดนฆ่าซ้ำๆ หรือการแก้แค้นรุ่นพี่นักว้ากด้วยการให้เขาถูก ‘รับน้อง’ อย่างโหดร้ายเสียเอง ทำให้เราอาจพอสรุปได้ว่า ‘ความยุติธรรม’ ในสายตาของแนนโน๊ะคือการแก้แค้นแบบตาต่อตาฟันต่อฟันที่เน้นความสาแก่ใจเป็นหลัก เหมือนที่คิทตี้–ชิชา อมาตยกุล นักแสดงผู้รับบทแนนโน๊ะชี้ไว้ว่า “เรื่องความสะใจ แนนโน๊ะมีให้แน่นอน”

แต่ทำไมการแก้แค้นแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน หรือการทำเพื่อความสะใจถึงมีปัญหาล่ะ–การจะตอบคำถามนี้ได้ เราอาจต้องตั้งคำถามกลับไปว่า ที่ว่าตาต่อตาฟันต่อฟันนั้นเป้าหมายอยู่ที่ใคร และที่ว่าสะใจนั้นสะใจใครกันแน่ (หรือกระทั่งว่ามันสะใจจริงๆ หรือเปล่าด้วยซ้ำ)

แน่นอนว่าแนนโน๊ะเผยให้เราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างภายในโรงเรียน ทว่าเป้าหมายของแนนโน๊ะนั้นไม่เคยไปไกลกว่าตัวบุคคล นั่นคือคนที่ทำผิดจะได้รับผลกรรมในสิ่งที่ตนได้ทำไป แต่สุดท้ายโครงสร้างที่เอื้ออำนวยให้เขาทำผิดมาโดยตลอดก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป ส่วนคนที่สะใจในท้ายที่สุดหากไม่ใช่ตัวแนนโน๊ะเอง ก็เห็นจะเป็นตัวผู้สร้าง คนเขียนบท และตัวคนดู ที่สามารถแยกตัวเองออกมาจากสถานการณ์ในเรื่องได้อย่างสมบูรณ์

กล่าวคือ กระบวนการสร้างความสะใจนั้นอาศัยการผลักให้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่อยู่นอกตัวตนของเรา เพราะผู้ถูกกระทำไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่คนในแบบที่เราจะเป็น เราจึงสามารถสะใจกับผลกรรมที่เขาโดนได้เนื่องจากผลกรรมที่ว่าไม่มีทางเกิดขึ้นกับเรา คนดูจึงถูกผลักออกมาให้อยู่ในระนาบของผู้สังเกตสังกา ไม่ต่างจากผู้สร้างที่สามารถ ‘ลอยตัว’ ในเชิงศีลธรรมเพื่อบรรเลงบทลงโทษแก่คนเลวในตัวเรื่องได้อย่างเต็มที่ นั่นทำให้ผู้สร้างสามารถยัดบทพูดลวกๆ อย่าง “เราตัดสินใครได้จริงเหรอในโลกสีเทาๆ ใบนี้” ให้แนนโน๊ะพูด ทั้งๆ ที่ตัวผู้สร้าง (และตัวแนนโน๊ะเอง) ทำการตัดสินคนอื่นมาตลอด โดยที่ ‘การตัดสิน’ ที่ว่านี้ก็ถือเป็นกระดูกสันหลังของตัวซีรีส์นี้เลยด้วยซ้ำ นี่ยังไม่พูดถึงความเฉยเมยทางการเมืองที่สะท้อนออกมาจากบทพูดนี้อีก เพราะในตอนที่ปรากฏบทพูดนี้คือตอนที่มีการพาดพึงถึงการเมืองนอกซีรีส์อย่างชัดเจนที่สุด

อีกหนึ่งปัญหาที่หนักหนาเอาการสำหรับซีซั่นนี้เห็นจะเป็นการพยายามพูดถึงปัญหาของผู้หญิงอย่างประดักประเดิดด้วยมุมมองของผู้ชาย (ผู้กำกับในซีซั่นนี้เป็นผู้ชายทุกคน) ทั้งๆ ที่หลายต่อหลายตอนมีการพูดถึงปัญหาทางเพศ (ทั้งพูดอ้อมๆ และตรงไปตรงมา) ดังเช่นในตอนที่ 1 ผู้ชายที่ไม่รับผิดชอบกับการมีเพศสัมพันธ์จนทำผู้หญิงท้องไปหลายรายนั้นอาจได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากการที่ตนตั้งท้องขึ้นมาเองบ้าง แต่ผู้เขียน (ที่ก็เป็นผู้ชาย) ไม่แน่ใจนักว่าผู้หญิงจะรู้สึกได้รับความยุติธรรมอะไรขึ้นมาจากสิ่งนี้ (หรือกระทั่งรู้สึกสะใจบ้างหรือเปล่า)

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า เนื้อเรื่องในซีซั่น 2 มีความเชื่อมโยงถึงกันในแต่ละตอนมากขึ้น ตัวเชื่อมโยงที่ว่านั้นก็คือตัวละครอย่างยูริ (รับบทโดย นิ้ง–ชัญญา แม็คคลอรี่ย์) ที่ผันตัวจากผู้ถูกกระทำ มาเป็นผู้แจกจ่ายผลกรรมได้สมน้ำสมเนื้อกับแนนโน๊ะ เราได้เห็นการปรากฏตัวแบบผลุบๆ โผล่ๆ ของยูริมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเธอมีบทเด่นขึ้นมาในช่วงกลางซีซั่น และในท้ายซีซั่นนี่เองที่เราได้เข้าใจจุดมุ่งหมายของตัวละครตัวนี้ ในฐานะผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็น ‘ศาลเตี้ย’ ในแบบที่เลวร้ายยิ่งกว่าแนนโน๊ะ ขณะที่ตัวแนนโน๊ะเองกลับเริ่มกังขาสิทธิในการลงทัณฑ์ผู้คนของเธอ

คงจะดีไม่น้อยหากการตั้งคำถามดังกล่าวนั้นครอบคลุมกว้างไกลไปถึงตัวซีรีส์และผู้สร้างเองด้วย เพราะตลอดทั้งหมด 21 ตอนของ เด็กใหม่ การตั้งคำถามเชิงศีลธรรมดังกล่าวกลับเริ่มมาโผล่ในช่วงท้ายๆ นี้เอง แน่นอนว่าผู้เขียนจะยังตั้งตารอดูซีซั่นต่อไป โดยได้แต่หวังว่าตัวเนื้อหาจะข้ามพ้นเพดานทางทัศนคติที่คอยฉุดรั้งซีรีส์เรื่องนี้ไว้ ก้าวทันบทสนทนาในสังคมและหยุดผลิตซ้ำวิธีการพูดถึงความอยุติธรรมในแบบเดิมๆ เสียที

AUTHOR