Pla Organic : ร้านขายปลาที่ยืนยันการมีอยู่จริงของการทำประมงยั่งยืน

Highlights

  • ร้าน Pla Organic เกิดจากฝีมือของ ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ และทีมงานซึ่งเกิดจากความตั้งใจที่อยากตอบโจทย์สามข้อ หนึ่งคือปัญหาสารเคมีในอาหารทะเล สองคือผู้ผลิตไม่ได้ส่วนแบ่งที่ดี และสามคือการทำให้วิถีประมงพื้นบ้านแบบอนุรักษ์มีที่ยืนในสังคมมากขึ้น
  • ปัจจุบันร้าน Pla Organic ทำงานกับพี่น้องชาวประมงวิถีอนุรักษ์ 7 พื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี สงขลา พัทลุง ปัตตานี พังงา กระบี่ และสตูล รวมตัวกันใช้ชื่อว่าเครือข่ายรักษ์ปลา-รักทะเล โดยทางร้านจะประสานกับ 7 พื้นที่ว่าช่วงนี้มีสินค้าอะไรบ้าง แล้วเอาข้อมูลประกาศลงไปในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ทุกวันจันทร์-พุธ ร้านจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าพรีออร์เดอร์อาหารทะเลที่จะเดินทางมาถึงในวันศุกร์เช้าโดยรถทัวร์

ปูม้าจากสตูล กุ้งแชบ๊วยจากอ่าวพังงา ปลาเก๋าจากกระบี่ และหมึกกล้วยจากปัตตานี คือตัวอย่างเล็กน้อยของอาหารทะเลออร์แกนิกที่เดินทางเกือบพันกิโลเมตรมาถึงร้าน Pla Organic วิสาหกิจเพื่อชุมชน

“คนชอบกินปลา ชอบไปทะเล แต่รู้เรื่องอาหารทะเลดีๆ น้อย ยิ่งเรื่องการทำประมงยั่งยืนยิ่งน้อยมาก” ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้เป็นกำลังหลักของร้านพูดกับเราตั้งแต่ก่อนคำถามแรกจะเกิดขึ้น

ระยะเวลากว่า 5 ปีที่ ดร.สุภาภรณ์และทีมงาน ลงแรงกายแรงใจทุ่มเท เริ่มจากการเป็นโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์เมื่อปี 2012 ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และเมื่อทุนโครงการจบลงก็สร้างร้านเป็นจริงเป็นจัง

ดร.สุภาภรณ์เล่าว่า ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นเพราะเธออยากทำงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน นอกเหนือจากงานวิชาการที่ทำมาหลายปี

“เราเรียนจบปริญญาเอกด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่งมา แล้วก็ทำงานกับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน สิ่งที่เราเห็นคือพวกเขาเป็นคนที่มีวิถีทำประมงอย่างอนุรักษ์ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลทรัพยากรชายฝั่งให้คนไทยทั้งประเทศ ช่วยกันปกป้องไม่ให้เรือใหญ่เข้ามาทำลายทรัพยากรชายฝั่ง เราเลยอยากช่วยให้พวกเขามีตัวตนในสังคม

“เวลาเราลงพื้นที่ก็จะได้กินอาหารทะเลที่สดและดี แล้วเราก็ตั้งคำถามว่าทำไมอาหารทะเลดีๆ มันหายากมากในกรุงเทพฯ ปลาดีๆ หายไปไหน หรือว่าถูกจัดการยังไงมันถึงไม่เคยมีคุณภาพที่ดี”

จุดเริ่มต้นของทุกอย่างคือคำถามนี้

เริ่มจากการค้นพบว่าเส้นทางอาหารทะเลบ้านเรามันผิดปกติ

ดร.สุภาภรณ์ บอกกับเราว่าร้านปลาออร์แกนิกตั้งอยู่เพื่อตอบโจทย์ปัญหา 3 ข้อ

ข้อแรก การใช้สารเคมีในเส้นทางอาหารทะเล

อาหารทะเลส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนมือหลายทอดกว่าจะถึงมือผู้บริโภคในกรุงเทพฯ เพื่อการรักษาสภาพสดจำเป็นต้องใช้สารเคมีฟอร์มาลีน เช่น ปลาทูจะสดไม่เกิน 3 วันเท่านั้นหลังถูกจับโดยชาวประมง แต่การที่ปลาทูมาอยู่ในตลาดเยอะๆ ผ่านการประมูลแล้วประมูลอีกข้ามวันข้ามคืน มีโอกาสที่จะใช้สารเคมีสูง

ข้อสอง คนผลิตไม่ได้ส่วนแบ่งที่ดี ผู้บริโภคได้สินค้าที่ด้อยคุณภาพ

ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีกำลังต่อรอง ต้องขายอาหารทะเลให้พ่อค้าคนกลางในราคาถูก ในขณะที่ราคาอาหารทะเลปลายทางในกรุงเทพฯ นั้นค่อนข้างแพงเนื่องจากต้นทุนของข้อแรก

“ในปี 2012 เราพบว่าชาวบ้านจับปลาทูขายได้กิโลกรัมละ 14 บาท สูงสุด 20 บาท แต่ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว ตอนเราทำปริญญาเอก ชาวบ้านก็ขายได้ 14 บาทเหมือนกัน ซึ่งราคานี้ถูกควบคุมโดยผู้รับซื้อรายใหญ่ที่กำหนดราคาปลาทูทั่วประเทศ ถ้าวันไหนทั่วประเทศมีปลาทูมาก ชาวบ้านก็จะได้ราคาน้อย แต่ในขณะที่ราคาปลาทูในตลาดขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท” ดร.สุภาภรณ์เล่าให้ฟังถึงตัวอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่ ดร.สุภาภรณ์และทีมงานทำอยู่คือการลดทอนขั้นตอนต่างๆ ลง เพื่อให้ชาวบ้านได้กำไรหรือส่วนแบ่งมากขึ้น

และข้อสาม เพื่อสร้างพื้นที่ให้ชาวประมงพื้นบ้านมีตัวตนในสังคม โดยการนำอาหารทะเลดีๆ ของชาวบ้านมาสื่อสารให้คนกรุงเทพฯ รับทราบ

ดร.สุภาภรณ์พบว่าพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านมักถูกละเลย โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิ์ในเรื่องการทำมาหากิน การประมงที่ทำลายล้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล ซึ่งล้วนส่งผลต่อการทำประมงพื้นบ้านของพวกเขา

ทั้งหมดนี้เองเป็นจุดแรกเริ่มของ Pla Organic

ธุรกิจอยู่ได้ต้องมีโมเดลที่ยั่งยืน

ออร์เดอร์ยาวเหยียดในกระดาษบอกเราว่าคนกรุงเทพฯ ที่ต้องการปลาดีๆ มีมากขนาดว่าจับมาเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย ร้านอาหารภัตตาคาร โรงแรม 5 ดาว ไปจนถึงร้านมิชลินสตาร์ คือลูกค้าขาประจำที่สั่งอาหารทะเลจากที่นี่

ปัจจุบันร้าน Pla Organic ทำงานกับพี่น้องชาวประมง 7 พื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี สงขลา พัทลุง ปัตตานี พังงา กระบี่ และสตูล รวมตัวกันใช้ชื่อว่าเครือข่ายรักษ์ปลา-รักทะเล

ทางร้านจะประสานกับ 7 พื้นที่ว่าช่วงนี้มีสินค้าอะไรบ้าง แล้วเอาข้อมูลประกาศลงไปในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ทุกวันจันทร์-พุธร้านจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าพรีออร์เดอร์อาหารทะเลที่จะเดินทางมาถึงในวันศุกร์เช้าโดยรถทัวร์

โมเดลธุรกิจไม่มีอะไรซับซ้อน แค่ยึดจุดประสงค์ให้ชาวบ้านมีกำไรมากขึ้น

อธิบายได้ง่ายๆ ว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายจะถูกแบ่งให้ชาวประมงเจ้าของปลาและกองกลางชุมชน สมทบเป็นกองทุนสวัสดิการ กองทุนฟื้นฟู ผลตอบแทนปันผลให้กับสมาชิกกลุ่ม เป็นเงินไว้พัฒนาชุมชนและการศึกษาของเด็กๆ ในภายภาคหน้าต่อไป

ตอนนี้ร้าน Pla Organic วิสาหกิจเพื่อสังคม ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทโดยมีเจ้าของ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวประมงจาก 7 พื้นที่ และดำเนินการร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน

“ร้านเราเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อชุมชนโดยมีหลักการอยู่ 4 ข้อ ข้อแรกก็คือชาวบ้านจะต้องเป็นเจ้าของโดยส่วนใหญ่ ข้อสองคือเราต้องการสื่อสารวิถีชาวบ้านและการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืน ข้อสามคือเน้นขายอาหารทะเลที่ปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค และข้อสุดท้ายคือใช้ระบบที่เป็นธรรมแก่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

“เราต้องการให้มันเกิดเส้นทางอาหารที่เกื้อกูล ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากเราก็ต้องรู้สึกว่าเขารับระบบนี้ได้เหมือนกัน”

ไม่ใช่แค่เม็ดเงิน แต่ความเกื้อกูลกันของทุกฝ่ายคืออีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เราควรเชื่อมั่น

ขับเคลื่อนด้วยกำลังใจจากชาวบ้านริมทะเลสู่ทีมงานในเมืองใหญ่

ภาพภายในร้านที่เราเห็นคือทีมงานเกือบสิบชีวิตกำลังขะมักเขม้นแพ็กอาหารทะเลส่งลูกค้าตามออร์เดอร์ในเช้าวันศุกร์

ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่เคยท้อกับสิ่งที่ต้องทำ แต่ ดร.สุภาภรณ์บอกกับเราว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้เธอและทีมงานสู้ต่อได้คือกำลังใจจากชาวประมง และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของพวกเขาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

“4-5 ปีที่ผ่านมาเราทำงานกันหนักมาก แต่พวกเราก็ยังเลือกที่จะทำอย่างนี้ เวลาเราเหนื่อยหรือท้อพอได้ลงพื้นที่ไปเจอชาวบ้านที่เราทำงานด้วยเราก็จะรู้สึกเหมือนได้อัดฉีดกำลังใจ

“เรื่องราวในพื้นที่มันทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราพยายามขยับมันสร้างผลได้จริงๆ ยกตัวอย่างที่ปัตตานี ชาวบ้านมีโอกาสน้อยมากเพราะว่าความขัดแย้งในพื้นที่ ผู้หญิงบางคนที่สามีเสียชีวิต ต้องทำงานนั่งฉีดปลากะตัก มีรายได้ต่อวันแค่ 10 กว่าบาท แต่ว่าพอเขามาทำงานกับเรา แล่ปลาหรือทำปลาเค็มส่งมาขาย กลายเป็นว่าชาวบ้านผู้หญิงเขาได้วันละ 300-400 บาท

“เราทำงานกับชาวบ้าน 5 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นตลอดว่าชาวบ้านกระตือรือร้นที่จะทำงานร่วมกับเรา เวลานัดประชุมกันพวกเขาไม่เคยมาสายเลย นั่งรอเราด้วยซ้ำ เพราะว่าโครงการเราไปตอบโจทย์พวกเขา ทั้งในแง่เศรษฐกิจ ปากท้อง สังคม และการอนุรักษ์ ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด” ฟังจากที่เล่า ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเธอปลื้มใจขนาดไหน

จากโครงการดีๆ ที่ต้องการแก้ปัญหาของชาวประมงพื้นบ้าน สู่ร้านขายปลาบรรยากาศอบอุ่นในวันนี้

คำว่า ประสบความสำเร็จ น่าจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุด

หากใครสนใจอยากพรีออร์เดอร์อาหารทะเลดีๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย