‘ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง’ มักเป็นประโยคปิดท้ายประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงเวลาที่ทะเลอันดามันได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ราวเดือนมิถุนายนถึงกันยายนของทุกปี เป็นเหตุให้เกิดฝนตกชุกหนาแน่น และทะเลมีคลื่นสูงกว่า 2 – 3 เมตร
หลายคนเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่า ‘หน้ามรสุม’
หน้ามรสุม ความสูงของคลื่นทะเล หรือกระทั่งประกาศเตือน ‘เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง’ ล้วนเป็นคำคุ้นหูผู้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำเหล่านี้ฟังแล้วยังห่างไกลชีวิตประจำวันของคนทั่วไป
หากใกล้กับชายฝั่งทะเลอันดามัน อย่างน้อยมีคนกลุ่มหนึ่งที่ติดตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพราะมันหมายถึงรายได้เลี้ยงปากท้อง การวางแผนชีวิต และความเป็นความตาย
พวกเขาคือกลุ่มชาวประมงชายฝั่งหรือชาวประมงพื้นบ้าน
1
ห่างจากย่านใจกลางเมืองตรังประมาณ 50 กิโลเมตร ไปทางตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านปากลุ่มน้ำตรัง ขนาดประมาณ 320 หลังคาเรือน ชาวชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ที่นี่มีชื่อน่ารักน่าเอ็นดู แต่ฟังดูแข็งแกร่งในทีว่า ‘บ้านมดตะนอย’
“ชาวบ้านมดตะนอยทำประมงร้อยเปอร์เซ็นต์” เป็นคำยืนยันจาก บังชา-ปรีชา ชายทุย ผู้นำชุมชนวัย 40 ปี
ก่อนฟ้าสว่าง 2 – 3 ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาที่ชาวประมงบ้านมดตะนอย เริ่มสตาร์ทเครื่องยนต์เรือประมงขนาดเล็ก เพื่อมุ่งหน้าออกหาปลาในรัศมีไม่เกิน 20 กิโลเมตรจากแผ่นดินใหญ่ หากไม่ใช้อวนตาใหญ่ เครื่องมือจับสัตว์น้ำอื่นๆ ก็ล้วนมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดในชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น และยังมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น ไม่ทำลายปะการังหรือกองหินธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก และไม่ทำให้ประชากรสัตว์น้ำลดลงจนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพของท้องทะเล
“เมื่อก่อนยาเบื่อก็มี ระเบิดปลาก็มี อวนชักก็มี แต่ทุกวันนี้หายหมด ไม่มีเลย ผมยืนยันร้อยเปอร์เซนต์” บังชาพูดถึงวิธีจับสัตว์น้ำ ก่อนชาวประมงมดตะนอยค้นพบภายหลังว่า นั่นไม่ใช่วิธีการทำประมงพื้นบ้านที่ยั่งยืน
ความร่วมมือร่วมใจในการทำประมงพื้นบ้านอย่างถูกกฎหมายยังควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ผืนป่าโกงกางขนาดใหญ่ การปลูกหญ้าทะเล การจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วม การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการจัดตั้งธนาคารปู ทั้งหมดล้วนเป็นรูปธรรมที่สะท้อนให้เห็นความตื่นตัวในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้านมดตะนอย
ทว่าตราบใดที่ผลกระทบจากหน้ามรสุมยังเป็นปัจจัยเหนือการควบคุมโดยมนุษย์ ชาวประมงผู้รักษ์ความยั่งยืนจำต้องยอมรับความจริงข้อสำคัญว่า พวกเขาไม่สามารถสร้างรายได้จากมหานทีได้อย่างต่อเนื่องตลอดฤดูมรสุม นอกจากนี้ ปัญหาความผันผวนของสภาพอากาศ ทั้งอากาศที่ร้อนขึ้น และฝนที่ตกมากขึ้น ยังส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด ชาวประมงต้องเผชิญปัญหาที่ซ้อนปัญหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
กระทั่งเมื่อ ‘บ้านมดตะนอย’ ได้รู้จัก ‘บ้านปลา’
2
การสร้างที่อยู่อาศัยให้สัตว์น้ำโดยฝีมือมนุษย์ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชาวบ้านมดตะนอย ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยทดลองนำทางมะพร้าว ถ่วงลงในแหล่งน้ำและชายฝั่งทะเล ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเกือบเป็นไปตามความคาดหวัง ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้ในปริมาณที่น่าพอใจ แต่ขณะเดียวกันก็พบปัญหาวัสดุที่ใช้ไม่คงทนถาวร และง่ายต่อการถูกกระแสน้ำพัดพา
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวประมงบ้านมดตะนอยในฐานะ ‘คนปลายน้ำ’ นำไปสู่การพัฒนาบ้านปลา จากความร่วมมือระหว่างชุมชน SCG เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตลอดจนมูลนิธิอันดามัน และกลุ่มพิทักษ์ดุหยง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าสานต่อโครงการ ‘รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที’
นวัตกรรมปูนทนน้ำทะเลเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำบ้านปลาครั้งนี้ เนื่องจากทนการกัดกร่อนจากสารคลอไรด์และซัลเฟตได้ดี ทำให้บ้านปลามีอายุการใช้งานที่ยาวนานในน้ำทะเล งานวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังยืนยันด้วยว่าวัสดุไม่มีสารปนเปื้อนกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แต่หัวใจสำคัญที่สุดกลับไม่ใช่ความทันสมัยของวัสดุ หากคือกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะการออกแบบลักษณะของบ้านปลาที่สอดรับกับความต้องการของชาวประมง ผู้รู้จักทรัพยากรในท้องถิ่นของตนดีที่สุด โดยเอสซีจีเชื่อว่าการพูดคุยสื่อสารจะช่วยสร้างความเข้าใจและลดอุปสรรคในการทำงานได้
“การดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนเราเน้นเรื่องการสื่อสารพูดคุย สร้างความเข้าใจ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะทำงานร่วมกัน อีกทั้งชุมชนที่ดำเนินการมีความตั้งใจจริง และเห็นประโยชน์จากการทำบ้านปลาด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงไม่มีอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งเอสซีจีก็มีความตั้งใจที่จะร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนเช่นนี้ต่อไป จนชุมชนสามารถดำเนินงานได้ด้วยตนเอง” ชนะ ภูมี Vice President – Cement and Construction Solution Business เอสซีจี ซิเมนต์ – ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างกล่าว
3
อากาศที่แจ่มใสของวันที่ 23 มีนาคม 2561 เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันวางบ้านปลาตามที่ตั้งใจไว้
คลองลัดเจ้าไหมสีเขียวมรกต แวดล้อมด้วยป่าโกงกางสภาพสมบูรณ์ มองเห็นเขาหินปูนสูงชันสลับซับซ้อน ภาพที่มองเห็นในระยะกวาดสายตาก็เพียงพอจะยืนยันความหลากหลายของระบบนิเวศชายฝั่งทะเล สมกับได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ สายน้ำที่เชื่อมต่อชีวิตบ้านมดตะนอยกับมหานทีอันสมบูรณ์ถูกกำหนดให้วางบ้านปลาตามความต้องการของชุมชน เอสซีจี และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง
บ้านปลาจากปูนทนน้ำทะเลจำนวน 80 อัน ถูกบรรทุกโดยคาราวานเรือประมงขนาดเล็กกว่า 50 ลำ ไปยังคลองลัดเจ้าไหมที่มีลักษณะเป็นน้ำกร่อย นอกจากชาวชุมชน ภาครัฐ และชาวเอสซีจี คนที่ตื่นเต้นกับกิจกรรมวางบ้านปลาที่สุดเห็นจะเป็นเยาวชนกลุ่มคนรักษ์น้ำ ที่ต้องการสานต่อแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
หลังปล่อยบ้านปลาลงคลองลัดไหมด้วยมือตัวเอง มูนา หลงเอ ในผ้าคลุมฮิญาบ นักศึกษาชั้นปี 3 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หวังว่าบ้านปลาจะมีประโยชน์กับชาวประมงโดยตรง เพราะทำให้มีอาหารอย่างสมบูรณ์ตลอดทั้งปี แม้ในฤดูมรสุม “ถึงไม่มีรายได้ อย่างน้อยก็ไม่มีรายจ่ายเพิ่ม”
ชนะวางแผนขยายผลบ้านปลาในปี 2561 ไว้จำนวน 400 อัน แบ่งเป็น เอสซีจีร่วมกับเครือข่าย 200 อัน และชุมชนดำเนินการเอง 200 อัน ส่วนการติดตามและประเมินผล เอสซีจีจะร่วมมือกับสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ที่เราดำเนินการ ทั้งก่อนดำเนินการ และติดตามผลการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ
บ้านปลาที่ปลายลุ่มน้ำตรัง จากความร่วมแรงร่วมใจระหว่างชุมชนที่เข้มแข็ง ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม จะกลายเป็นแหล่งอนุบาลและที่หลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน ช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรชายฝั่งทะเล และมีส่วนสำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตชุมชนบ้านมดตะนอย เนื่องจากทำให้พวกเขาไม่ต้องเสี่ยงชีวิตออกหาปลาที่ทะเลใหญ่ในฤดูมรสุม และส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
“ชาวประมง ถ้าไม่ยึดถือการอนุรักษ์ เราจะลำบาก” บังชาย้ำกับเยาวชนคนรักษ์น้ำระหว่างทัศนศึกษาชุมชน
ตลอดความยาวชายฝั่งทะเลตรัง 119 กิโลเมตร มีชุมชนที่สร้างรายได้หลักจากการทำประมงพื้นบ้านกว่า 44 ชุมชน ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านมดตะนอย ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที’ จะถูกถ่ายทอดจากชุมชนสู่ชุมชน กลายเป็นพลังในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนสัตว์ทะเลประจำถิ่นที่หายากอย่างยั่งยืน ทั้งพะยูน โลมา และเต่าทะเล ซึ่งล้วนเป็นตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพทั้งสิ้น
ถ้าเป็นจริงเช่นนั้น…
ประกาศเตือนจากกรมอุตุฯ ‘เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง’ ก็จะไม่ใช่คำที่น่ากลัวของชาวประมงพื้นบ้านอีกต่อไป
facebook | SCG