ลง มือ ทำ ‘บ้านปลา’ นวัตกรรมที่คืนสิ่งดีๆ ให้ท้องทะเลไทย

ถึงแม้มื้อเที่ยงจะเพิ่งผ่านมาไม่กี่ชั่วโมง และร่างกายก็ยังไม่ส่งสัญญาณว่าต้องการพลังงานจากอาหาร แต่หลังจากพล่าปลาจานแรกวางบนโต๊ะ พวกเราแต่ละคนก็ดูเหมือนจะถูกครอบงำด้วยมนต์สะกดของอาหารทะเลสดใหม่ที่ถูกปรุงรสชาติด้วยฝีมือของผู้ที่นำมันขึ้นมาจากท้องทะเล

ลมทะเลยามเย็นโบกโชย เสียงคลื่นสาดกระทบฝั่ง และโต๊ะอาหารเปิดโล่ง 360 องศา นี่ไม่ใช่มื้ออาหารราคาแพงในห้องหรูหรา มันเป็นเพียงมื้อเย็นเรียบง่ายจากฝีมือของชาวประมงพื้นบ้านที่มีท้องทะเลเป็นสถานที่ฟูมฟักดูแลกุ้งหอยปูปลาอันเป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ของพวกเขา

เรื่องราวชีวิตของชาวประมงชายฝั่งทะเลที่เราได้ฟัง เริ่มต้นจากตรงนี้

การกลับคืนของทรัพยากรทางทะเล

สมัคร อ่องละออ หรือพี่ฟลุ๊ค ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กหาดแสงเงิน ตำบลเนินพระ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง บอกกับเราว่า 6-7 ปีที่ผ่านมา หลังจากมีโครงการทำบ้านปลา การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ และกิจกรรมอื่นๆ อย่างธนาคารปู-ธนาคารหมึก รวมถึงการปลูกป่าชายเลน ทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลก็เพิ่มชนิดและจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากที่ต้องออกเรือไปไกลหลายกิโลเมตร ทุกวันนี้ออกจากฝั่งไปไม่เกินหนึ่งกิโลเมตร ชาวประมงพื้นบ้านอย่างเขาก็จับสัตว์น้ำได้เพียงพอสำหรับนำมาขายหารายได้ในแต่ละวัน และเก็บส่วนหนึ่งไว้เป็นอาหารสำหรับสมาชิกในครอบครัว

“ปีนี้ฉลามวาฬมาที่บ้านปลา เขาเข้ามาทุกปี ปีหนึ่งก็มาหลายครั้ง เข้ามากินแพลงก์ตอน เพราะพอเราเริ่มทำบ้านปลา เริ่มมีเขตอนุรักษ์ แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ก็เกิดขึ้นเยอะ ปลาใหญ่อย่างฉลามวาฬก็เข้ามา หรืออย่างปลากุดสลาด ปลานกแก้วเขียว จากที่เคยไม่มี ตอนนี้ก็มีแล้ว” พี่ฟลุ๊คยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของท้องทะเลระยอง

6 ปีที่ผ่านมา ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และจันทบุรี มีบ้านปลาเอสซีจีราว 1,400 หลังทอดวางครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ 35 ตารางกิโลเมตร ภายใต้การดูแลของกลุ่มประมงพื้นบ้าน 34 กลุ่มในสามจังหวัด เพื่อเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์น้ำวัยเจริญพันธุ์และวัยอ่อนดังกล่าว ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ผลสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2560 พบสิ่งมีชีวิตในทะเลบริเวณบ้านปลา 172 ชนิด เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งสุดท้ายในเดือนเมษายนปีเดียวกันที่พบสิ่งมีชีวิตในทะเลบริเวณบ้านปลา 120 ชนิด

ภารกิจที่สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย

พล่าปลายังไม่ทันหมดจากจาน กุ้งย่าง หมึกย่าง ปูม้านึ่ง หอยแมลงภู่นึ่งใบโหระพา พร้อมน้ำจิ้มรสเด็ดก็ทยอยนำมาวางเรียงบนโต๊ะ อาหารทะเลสดใหม่เหล่านี้คือผลิตผลของบ้านปลาจากท่อ PE100 ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนเกรดพิเศษ (High Density Polyethylene Pipe) ของธุรกิจเคมิคอลส์ในเอสซีจี เป็นวัสดุที่โดดเด่นเรื่องความทนทานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปกติจะนำมาใช้เป็นท่อประปาส่งน้ำให้เราใช้ผ่านใต้ทะเล จึงเหมาะกับการนำมาทำเป็นที่อยู่อาศัยของปะการัง เพรียง และสัตว์ทะเลนานาชนิด

ก่อนจะง่วนกับการแกะกุ้งแกะปู ในช่วงเช้าของวันนั้น พวกเราทุกคนได้สัมผัสกับบ้านปลาเอสซีจีด้วยสองมือของตัวเองมาเรียบร้อยแล้ว

เมื่อดูจากวิดีโอสาธิตการสร้างบ้านปลา มันดูไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อน ท่อกลมๆ ถูกตัดตามขนาดที่ระบุไว้ในคู่มือ เจาะรู แล้วขันน็อตยึดชิ้นส่วนทั้งหมดไว้ด้วยกันเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม แค่นี้บ้านปลาหนึ่งหลังก็เสร็จเรียบร้อย แต่เมื่อได้ลงมือทำกันจริงๆ พวกเราก็รู้ทันทีว่าลำพังเพียงแค่สองมือของเรานั้นไม่เพียงพอแน่นอน เพราะในแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องอาศัยทักษะการใช้เครื่องมือช่างของอีกหลายคนคอยช่วยเหลือ โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญของน้าอาชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดระยอง

เป้าหมายในการสร้างบ้านปลา 50 หลังของทริป ‘รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที… จิตอาสาสร้างบ้านปลาเอสซีจี’ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่จังหวัดระยองครั้งนี้ จึงต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันของอาสาสมัครทุกเพศทุกวัยราว 700 คน เพื่อสมทบให้กับการเดินหน้าไปสู่การขยายโครงการบ้านปลาให้ครอบคลุมชายฝั่งตะวันออกภายในปี 2563

งานนี้ยังมีน้องๆ จากโรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดชลบุรี มากกว่า 20 ชีวิตมาร่วมสร้างบ้านปลาด้วย ซึ่งในพิธีเปิดงาน น้องๆ ก็บอกว่าดีใจมากที่จะได้สร้างบ้านปลาด้วยมือของพวกเขาเอง เพราะโอกาสแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายๆ

เราโชคดีที่สร้างบ้านปลาอยู่ใกล้กับน้องๆ จึงได้เห็นบรรยากาศการทำงานแบบไร้สุ้มเสียงพูดคุย ทว่าเอ็ดอึงไปด้วยภาษามือที่น้องๆ ใช้สื่อสารกัน

ภาพของน้องๆ ใช้สองมือหยิบจับเครื่องไม้เครื่องมือสลับกับการติดต่อสื่อสารอาจจะดูติดขัดไม่ราบรื่นสำหรับพวกเรา แต่ในท้ายที่สุด บ้านปลาของน้องๆ ก็สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างจนได้

ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ขอเพียงแค่สองมือ สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ

นวัตกรรมที่รวมพลังชุมชนให้เข้มแข็ง

ระหว่างที่กำลังเอร็ดอร่อยกับอาหารทะเล พี่ฟลุ๊คบอกเราว่านอกจากกุ้งหอยปูปลาที่งอกเงย โครงการบ้านปลาเอสซีจียังทำให้ชุมชนชาวประมงเกิดความร่วมใจกันดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงหลังจากมีบ้านปลาคือสิ่งที่ยืนยันว่าคุณภาพชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลสมาชิกของกลุ่มประมงพื้นบ้านจะช่วยกันดูแลไม่ให้มีการทำประมงในพื้นที่วางบ้านปลาเพื่อให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์น้ำวัยเจริญพันธุ์และสัตว์น้ำวัยอ่อน ขณะเดียวกัน กลุ่มประมงพื้นบ้านแต่ละกลุ่มก็ร่วมมือกันหาพื้นที่วางบ้านปลาให้เหมาะสม รวมทั้งมีกติกาและข้อตกลงร่วมกันในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์

นอกจากนี้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีจากเอสซีจียังผสมผสานไปกับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างลงตัว โดยชาวประมงจะนำทางมะพร้าวและซั้งเชือกมาผูกติดกับบ้านปลาเพื่อขยายพื้นที่ในการหลบภัยของสัตว์น้ำ และในพื้นที่อนุรักษ์ก็มีการวางบ้านปลาร่วมไปกับซั้งเชือกและซั้งกอ ซึ่งเป็นการผสมผสานเครื่องมืออนุรักษ์เพื่อสร้างแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กและที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลนับร้อยชนิด

บ้านปลาเอสซีจีจึงเป็นที่มาของการอนุรักษ์ทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ในฐานะชาวประมงพื้นบ้าน พี่ฟลุ๊คบอกว่าพวกเขาทำการประมงเพื่อหาอาหารและสร้างรายได้โดยมีเรือขนาดเล็กและเครื่องมือประมงแบบง่ายๆ ถึงแม้ปริมาณการจับสัตว์น้ำจากประมงพื้นบ้านจะคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของปริมาณสัตว์น้ำจากการทำประมงทั้งหมด แต่ทรัพยากรที่ลดน้อยลงอย่างมากก็กระตุ้นเตือนให้พี่ฟลุ๊คและชาวประมงพื้นบ้านคนอื่นๆ ต้องทำการประมงอย่างยั่งยืน ไม่ใช้อวนตาถี่ จับสัตว์น้ำแบบเลือกชนิด เลือกฤดูกาล และที่สำคัญคือการเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยให้กว้างขวางออกไปเรื่อยๆ แบบที่กำลังทำอยู่ทุกวันนี้ เพื่อที่พวกเขาจะได้มีแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป

แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่หนึ่งวัน แต่การได้ลงมือสร้างบ้านปลา สนทนากับพี่ฟลุ๊ค และกุ้งหอยปูปลาจากท้องทะเลของเมืองระยอง ก็ทำให้พวกเราสัมผัสได้ถึงสิ่งดีๆ ที่กำลังเกิดขึ้นที่นี่ และมั่นใจได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะแพร่กระจายไปทั่วชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหลักประกันได้ว่าพวกเราจะยังคงมีอาหารทะเลคุณภาพดีให้กินต่อไป

เย็นวันนั้น แม้จะมีกันอยู่สิบกว่าชีวิต แต่กุ้งหอยปูปลาบนโต๊ะก็ยังคงอยู่อย่างเหลือเฟือ จนกระทั่งพวกเราถอดใจยอมแพ้ ไม่อาจเคี้ยวกลืนอะไรลงไปได้อีก ทำได้เพียงนั่งตากลมชมทะเลฟังพี่ฟลุ๊คเล่าเรื่องราวของชาวประมงโดยสายเลือดให้พวกเราฟัง

“น้องๆ อุตส่าห์มาบ้านผม ผมก็ต้องให้กินแต่ของดีๆ”

เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ พวกเราแต่ละคนจึงมี ‘ของดีๆ’ ติดไม้ติดมือมาด้วยอีกคนละถุงใหญ่

facebook | SCG

ภาพ ภาณุทัช โสภณอภิกุล

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ภาณุทัช โสภณอภิกุล

หนุ่มน้อยบ้า IT และกล้อง แต่จบจิตวิทยา ชอบพบปะพูดคุยกับผู้คนแปลกหน้า แต่เขินเวลาอยู่กับคนที่สนิท วิ่งเข้าป่าเข้าดง ทั้งๆ ที่ตัวเองก็แพ้เกสรดอกไม้