“ช่วยฉุดฉันออกไปจากตรงนี้” อัลบั้มใหม่ที่มืดมนที่สุดของ ‘แจ๊สควีน’ Norah Jones

Highlights

  • Pick Me Up Off the Floor คือสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 7 ของ Norah Jones เจ้าหญิงแห่งวงการเพลงแจ๊สร่วมสมัย แม้ว่าจะสร้างความประทับใจให้กับแฟนเพลงทั้งเก่าและใหม่ได้เสมอ ทว่าครั้งนี้ ‘จริงจัง’ ที่สุดและต่างออกไปจากทั้ง 6 อัลบั้มแรกอย่างมาก
  • นี่เป็นอัลบั้มที่ ‘ดาร์ก’ และ ‘มืดมน’ ที่สุดนับตั้งแต่นอราห์ โจนส์ เริ่มต้นเดินทางในวงการดนตรี ด้วยประสบการณ์ชีวิตทั้งหมดบวกกับปัญหาที่ต้องพบเจอตลอดระยะเวลาการเป็นนักดนตรี กลั่นออกมาเป็น 11 แทร็ก และ 1 โบนัสแทร็ก ที่ไม่มีน้ำเสียงของความสุขแฝงอยู่ในนั้นเลยแม้แต่น้อย
  • วันดีเดย์ของอัลบั้มรวมถึงตารางทัวร์ ทั้งหมดถูกยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เธอต้องเปลี่ยนแผนใหม่ทั้งหมด แต่ในช่วง quarantine นอราห์ โจนส์ ยังคงแสดงสดทั้งเพลงเก่าและเพลงจากอัลบั้มใหม่ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์อยู่เกือบทุกวัน

Pick Me Up Off the Floor สะท้อนให้เห็นความร้าวรานทางจิตใจที่อยู่ในช่วงที่เจ็บปวดของชีวิต แต่ถึงกระนั้นก็ยังยื่นมือช่วยให้คนอื่นหลุดพ้นจากความเจ็บปวดนี้เช่นเดียวกัน” นี่คงเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดเท่าที่ผมจะสามารถให้ได้หลังจากได้ฟังสตูดิโออัลบั้มที่ 7 ของ Norah Jones แจ๊สควีนวัย 41 ปี

ก่อนที่เธอจะเดินทางมาจนถึงอัลบั้มนี้ นอราห์ โจนส์ ที่ชื่อและนามสกุลจริงคือ Geethali Norah Jones Shankar เป็นชาวบรุกลิน-นิวยอร์กโดยกำเนิด แต่เป็นลูกครึ่งอเมริกัน-อินเดียนเบงกาลีโดยเชื้อชาติ เธอผ่านอะไรมาหลายอย่างมากเกินกว่าจะเป็นแค่ศิลปินแจ๊สธรรมดา น่าสนใจว่าอะไรบ้างที่ทำให้ผู้หญิงคนนี้ได้รับสมญานามว่า ‘แจ๊สควีนยุคใหม่’ แบบไร้ข้อกังขา

 

หมุดหมายสำคัญของวงการดนตรีป๊อป-แจ๊สโลก

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2002 ตอนที่เธอออกอัลบั้มชุดแรก Come Away with Me ทายาทของศิลปินระดับปรมาจารย์ชาวอินเดียน-เบงกาลีอย่าง Ravi Shankar คงไม่ได้คาดคิดว่าการทำอัลบั้มเดบิวต์ของเธอนั้นจะเปลี่ยนชีวิตไปอย่างมหาศาลและไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ Come Away with Me เป็นอัลบั้มเพลงป๊อป-แจ๊สอัลบั้มแรกในประวัติศาสตร์อเมริกาที่ทำยอดขายในประเทศไปถึง 10 ล้านก๊อบปี้ และทำยอดขายทั่วโลกมากกว่า 20 ล้านก๊อบปี้

มากไปกว่านั้นในปี 2003 นอราห์ โจนส์ กวาด GRAMMYs ไปคนเดียวถึง 8 รางวัล จากการผลิตผลงานเพียงอัลบั้มเดียว แน่นอนว่ารางวัลที่พูดถึงอยู่นี้รวมรางวัลใหญ่ทั้งศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปี อัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี และบทเพลงยอดเยี่ยมแห่งปี ที่ตกเป็นของ Don’t Know Why อีกแทร็กหนึ่งที่หากได้ยินเสียงอินโทรดังขึ้นก็คงจะร้องอ๋อกันหลายคน

 

 

2 ปีให้หลังเธอกลับมาอย่างรวดเร็วเพื่อแสดงให้เห็นว่าจำนวนรางวัลและความสำเร็จในอัลบั้มแรกนั้นไม่ได้เกิดจาก ‘ความฟลุค’ หรือเกิดจาก ‘การเห่อ’ เพลงแจ๊สที่ฟังง่ายและยังไม่มีในตลาด Feels like Home (2004) ทำให้เราเห็นพัฒนาการของทั้งการทำงานเพลงและเนื้อหาดนตรีที่เธอเริ่มมีบทบาทมากขึ้นกว่าชุดแรก อัลบั้มนี้ได้ฝากซิงเกิลสำคัญที่กลายเป็นเพลงชาติของการฟังเพลงป๊อป-แจ๊สเอาไว้อย่าง Sunrise แทบไม่ต้องสงสัยว่าทำไมจึงขึ้น Billboard Chart อันดับหนึ่งตั้งแต่วันแรกของการปล่อยซิงเกิล

 

 

อัลบั้ม Come Away with Me (2002) และ Feels like Home (2004)

นอกจากนี้ ในบรรดาศิลปินที่ความสามารถมาพร้อมกับคุณงามความดี จะขาดชื่อของนอราห์ โจนส์ หญิงสาวผู้เก่งกล้าคนนี้ไปไม่ได้เลย น้อยคนที่จะรู้ว่าเธอเป็นถึงบอร์ดบริหารขององค์กรการกุศล มูลนิธิ Yéle Haiti ที่ก่อตั้งโดยนักดนตรีชาวเฮติ เพื่อช่วยเหลือด้านทรัพยากรอาหารแก่ผู้ยากไร้ในเฮติและละแวกใกล้เคียง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เธอเริ่มมีชื่อเสียงและอยู่บนจุดสูงสุดของการเป็นนักดนตรีแจ๊สในวัยเพียง 27 ปี ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 3 Not Too Late ถูกปล่อยออกมาในปี 2007

3 ปีก่อนหน้าเธอเดินทางรอบโลก พบเจอผู้คนมากมาย นอกจากการเขียนเพลงเพื่อทำอัลบั้มแล้ว เธอยังใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียนรู้ดนตรีประเภทอื่นๆ จากสถานที่ที่เธอไป เราจึงเห็นว่าในช่วงสตูดิโออัลบั้มที่ 3 และ 4 คือ The Fall (2009) จะมีกลิ่นอายของดนตรีแนวเวิลด์มิวสิกอยู่ไม่น้อย ทั้งเสียงจากเพอร์คัสชั่นและเครื่องสายที่ช่วยขับเน้นเสียงเปียโนของเธอให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นไปอีก

คำชมที่ล้นหลามและคำวิจารณ์ (ในแง่ดี) ยังคงถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน สาเหตุมาจากแนวดนตรีที่แม้จะเป็นป๊อป-แจ๊สฟังง่ายแต่ก็ผสมความหลากหลายเอาไว้ได้ไม่จำเจ บุคลิกภาพของเธอที่เป็นนักดนตรีมืออาชีพ ไม่เคยมีข่าวเสียหายเหมือนกับร็อกสตาร์ในยุคเดียวกัน ความสม่ำเสมอของการออกทัวร์คอนเสิร์ต อาจกล่าวได้ว่านอราห์ โจนส์ น่าจะเป็นศิลปินไม่กี่คนที่ไม่เคยยกเลิกโชว์เลยสักครั้งในช่วงปี 2002-2009

ในแง่นี้จึงยากที่จะปฏิเสธว่าอิทธิพลนอราห์ โจนส์ ในช่วง 4 อัลบั้มแรกนั้นช่วยให้เส้นแบ่งของเพลงแจ๊สและเพลงป๊อปในกระแสเขยิบใกล้เข้าหากันและกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่แสนหอมหวานของอาชีพนักดนตรีเท่านั้น เพราะเช่นเดียวกับนักดนตรีอัจฉริยะหลายคนบนโลกใบนี้ เมื่อคุณเติบโตและตั้งใจทำดนตรีที่เติบโตเท่าทันกับความสามารถและความสนใจของคุณแล้วละก็ การ ‘ฟังยาก’ หรือไม่ก็ ‘ขายยาก’ คงต้องเกิดขึ้นสักอย่าง อยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็ว

 

จากความสูญเสียสู่การทลายกำแพงทางดนตรี

หนึ่งในสิ่งที่โจนส์เล่าว่าเป็นจุดพลิกผันอย่างหนึ่งในชีวิต คือการเสียชีวิตของ Arif Mardin โปรดิวเซอร์คู่บุญของเธอที่ช่วยปลุกปั้น 2 อัลบั้มแรกในชีวิตให้ไปปักหลักเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ดนตรีป๊อป-แจ๊ส มาร์ดินเสียชีวิตในเดือนมิถุนายน 2006 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอเพิ่งทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อสนับสนุนอัลบั้ม Feels Like Home เสร็จ โชคดีที่ข่าวร้ายนี้ไม่เกิดขึ้นก่อนหน้า ไม่อย่างนั้นเราคงได้เห็นการยกเลิกทัวร์รอบโลกของเธออย่างแน่นอน

นอราห์ โจนส์ และมาร์ดิน โปรดิวเซอร์ผู้ล่วงลับ ในงานประจำปีของค่าย EMI

มาร์ดินเปรียบเสมือนเสาหลักของเธอในช่วงชีวิตการเป็นนักดนตรี ความสูญเสียครั้งใหญ่นี้แทบจะทำให้เธอหยุดการทำสตูดิโออัลบั้มที่ 3 เอาไว้ แต่กระนั้นหลายเพลงก็ถูกเขียนขึ้นระหว่างการสูญเสียครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือแทร็กชื่อ Broken ในอัลบั้ม Not Too Late และกลิ่นอายความเศร้าก็ยังคงไม่จางไปไหนในอัลบั้มที่ 4 ที่เธอเล่าว่าความมั่นใจแทบจะหมดไปหลังจากที่มาร์ดินเดินทางไกล

“หลายปีอันบ้าคลั่งและเศร้าโศกผ่านพ้นไป ฉันได้กลับบ้าน คิดถึงสิ่งที่ตัวเองรักและอยากทำจริงๆ นั่นคือดนตรี หลายคนชอบถามฉันซ้ำๆ อยู่ตลอดเวลาว่าทำไมถึงเลือกเล่นดนตรีแจ๊ส นั่นก็เพราะมันสามารถแตกแขนงแยกย่อยได้มากมายน่ะสิ ถึงมาร์ดินจะไม่อยู่ช่วยฉันแล้ว แต่ฉันก็จะทำแจ๊สให้เป็นเพลงแดนซ์ ใส่ความเป็นร็อกเข้าไป อย่างที่ฉันได้ทำในอัลบั้ม Little Broken Hearts (2010) ใส่ความป๊อป เขียนเนื้อหาแบบพังก์ หรือแม้กระทั่งจะทำให้มันคลาสสิกสุดๆ อะไรก็ได้ มันได้ทุกอย่าง และถ้ายังมีชีวิตอยู่ฉันก็จะลองไปเรื่อยๆ นำสิ่งที่พบเจอมาผสมกับดนตรีที่ฉันชอบ” โจนส์เล่าถึงชีวิตที่เกิดขึ้นก่อนที่สตูดิโออัลบั้มที่ 5 จะวางแผง ซึ่งเธอเรียกความมั่นใจกลับมาอย่างเต็มเปี่ยมหลังการจากไปของมาร์ดิน

 

แม้เธอจะยังรักษาความสม่ำเสมอในการออกอัลบั้มเต็มเอาไว้ได้ แต่ในแง่ของคนฟัง ไม่มากก็น้อยแม้จะเป็นศิลปินที่เรารักและชื่นชอบมากแค่ไหนก็ต้องมีเบื่อกันบ้าง และเมื่อ Little Broken Hearts พยายามทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่กลุ่มคนฟังเดิมอาจเห็นว่ามันไม่เข้าท่าเท่าไหร่ กลายเป็นว่าผลตอบรับของอัลบั้มนี้จึงเงียบเหงามากๆ

แต่ในทางกลับกัน ในแง่ของเสียงวิจารณ์จากนิตยสารต่างๆ เธอกลับได้รับคำชื่นชมที่สามารถทลายกำแพงมหึมาที่เธอได้สร้างเอาไว้ มาสู่อัลบั้มแจ๊สร่วมสมัยที่มีแนวดนตรีหลากหลาย อัลบั้ม Little Broken Hearts, Day Breaks (2016) และ Begin Again (2019) แม้จะน่าผิดหวังในแง่ยอดขาย แต่ใครจะสนใจกันเล่า หากแจ๊สควีนผู้นี้สามารถรังสรรค์วัตถุดิบที่อยู่รอบตัว เนรมิตให้กลายเป็นอัลบั้มใหม่ขึ้นมาในความถี่เท่าเดิม และการกลับมาทุกครั้งเราแทบจะตั้งความหวังได้เลยว่าจะได้ฟังซาวนด์ใหม่ๆ กับศิลปินที่มาร่วมแจมหน้าใหม่ๆ หรืออย่างน้อยที่สุดในจังหวะดนตรีใหม่ๆ ที่เปิดบทสนทนาใหม่ๆ กับเราได้อย่างไม่เคอะเขิน และไม่ต้องคอยกังวลว่ามันจะเป็นบทสนทนาเก่าที่จืดชืดเหมือนเดิมหรือเปล่า

มากไปกว่านั้น ด้วยความทะเยอทะยานของเธอที่ต้องการจะหลุดพ้นจากแนวดนตรีเดิมๆ ในแง่หนึ่งก็เพื่อทำให้เพลงของตัวเองไม่จำเจและไม่ย่ำอยู่กับที่ แต่ในอีกแง่หนึ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการได้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ กับนักดนตรีจากหลายแขนง

เธอเคยร่วมงานกับ Foo Fighters โดยที่ Dave Grohl ฟรอนต์แมนของวงและอดีตมือกลองของ Nirvana เป็นผู้เอ่ยปากชวนเพื่อไปร่วมงานในเพลง Virginia Moon ซิงเกิลในอัลบั้มคู่ In Your Honor และแทร็กดังกล่าวมีชื่อเข้าชิง GRAMMYs ในสาขาเพลงป๊อปยอดเยี่ยมแห่งปี ในปี 2006 ด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ ความอัจฉริยะไม่เข้าใครออกใคร เธอยังนำพาตัวเองไปในวงการการแสดงในช่วงปี 2007-2008 จนทำให้เธอได้ร่วมงานกับผู้กำกับที่เป็นศาสดาของใครหลายๆ คน อย่าง Wong Kar-wai ในภาพยนตร์เรื่อง My Blueberry Night ที่เธอได้แสดงร่วมกับดาราดังในฮอลลีวูดหลายคน ทั้ง Jude Law, Natalie Portman และ Rachel Weisz

เหล่านี้ล้วนประกอบสร้างให้เธอเก็บสะสมวัตถุดิบในชีวิต ผลิตมันผ่านบทเพลง และถ่ายทอดเป็นอัลบั้มได้อย่างความสม่ำเสมอ จนทำให้ไม่เคยรู้สึกว่าเธอหายไป และการกลับมาใหม่ในทุกๆ ครั้ง นอราห์ โจนส์ คงเป็นศิลปินเพียงไม่กี่คนที่ทำให้เราแทบไม่ต้องลุ้นเลยว่าอัลบั้มใหม่จะดีหรือไม่ เพราะเธอการันตีมาตรฐานผลงานเอาไว้สูง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมากหากเธอจะทำงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานออกมา และมาตรฐานที่ว่านั้นถูกยืนยันอีกครั้งผ่าน Pick Me Up Off the Floor สตูดิโออัลบั้มล่าสุดที่ผมกำลังจะชี้ชวนให้ตกหลุมรักนอราห์ โจนส์ กันอีกสักครั้ง

 

ความมืดมนที่สุดของชีวิตกับอัลบั้ม Pick Me Up Off the Floor

“ในช่วงสิบกว่าปีที่แล้วสิ่งที่ฉันมักบอกคนอื่นอยู่เสมอคือ ฉันต้องการเป็นนักแต่งเพลงที่ดีขึ้น ที่ผ่านมาฉันมักนำวิธีการแต่งเพลงของคนอื่นมาดัดแปลง แต่สุดท้ายแล้วฉันก็ไม่เคยรู้สึกว่าเพลงเหล่านั้นเป็นของฉันเลย แต่สำหรับเพลงในงานชุดนี้มันตรงไปตรงมา ไม่เชิงว่าเป็นตัวเองมากที่สุด แต่มันซื่อสัตย์กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นมากที่สุด ณ ตอนที่เขียนเพลงในอัลบั้มนี้ และแน่นอนว่ามันเป็นอัลบั้มที่ส่วนตัวที่สุดด้วย” นอราห์ โจนส์ เล่าถึงความหลังและที่มาของวิธีการเขียนเพลงในอัลบั้มนี้ที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากอดีต

ต้องบอกว่ามีกิจกรรมร้อยแปดพันอย่างที่สามารถทำได้ระหว่างนั่งฟังอัลบั้มใหม่ Pick Me Up Off the Floor แต่ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นอะไร ขอเตือนให้คุณตั้งมั่นและตั้งใจกับสิ่งนั้นก่อนกดปุ่มเพลย์อัลบั้มนี้ เพราะหากแค่นึกเอาไว้ในใจว่าจะทำ แล้วเผลอกดเพลย์ไปก่อนแล้วละก็ จิตใจคุณอาจจะเตลิดเปิดเปิงไปถึงไหนๆ และควบคุมสติไม่ได้ ความเชื่อที่ว่าเพลงของนอราห์ โจนส์ เป็นแจ๊สแบบ easy listening เป็นมิตรกับผู้ฟังทุกที่ทุกเวลาอาจใช้ไม่ได้กับอัลบั้มนี้อีกต่อไป

เนื่องจากมนตร์บางอย่างของดนตรีที่มีเสียงเปียโนดิบกร้านหวานช้ำอยู่ลึกๆ จะขับจิตใต้สำนึกและเปิดโอกาสให้คุณได้ปลดปล่อยอารมณ์กับความรู้สึกที่อุตส่าห์เก็บงำมาเนิ่นนาน มันมืดมนและหม่นหมองที่สุดเท่าที่นอราห์ โจนส์ เคยทำเอาไว้ และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อฟังจบ เอาเข้าจริงแล้วหากเราลองเทียบหน้าปกอัลบั้มนี้กับ 6 อัลบั้มที่ผ่านมาของเธอ อัลบั้มนี้ก็ ‘ดาร์ก’ ที่สุดจริงๆ

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่คำเตือนจากการคาดเดา แต่มาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วกับผมเอง ซึ่งแปรสภาพออกมาเป็นรอยฟกช้ำดำเขียวอยู่ในซอกหูนานอยู่หลายวันทีเดียว

“แม้ว่าจะมีความรู้สึกไม่ดีหลายอย่างที่รู้สึกบรรจุอยู่ในอัลบั้มนี้ แน่นอนว่าแฟนๆ อาจจะเซอร์ไพรส์ แต่กระบวนการที่นำเสนอและการพูดถึงความรู้สึกเหล่านี้ผ่านบทเพลงเป็นความซื่อสัตย์อีกอย่างที่ฉันจะให้กับแฟนเพลงได้ โปรดเชื่อว่ามันเป็นการกระทำที่ทำไปเพื่อจรรโลงใจ” โจนส์อธิบายราวกับเธอเองก็ยอมรับกลายๆ ว่านี่เป็นอัลบั้มที่ฟังยากที่สุดเท่าที่เธอเคยทำ

 

 

 I’m Alive เป็นซิงเกิลแรกของอัลบั้ม ครั้งแรกที่เธอได้ร่วมงานกับ Jeff Tweedy ทำให้เพลงนี้มีกลิ่นกายของดนตรีอะคูสติกคันทรีอยู่เยอะมาก และแม้ว่ามิวสิกวิดีโอพยายามทำให้บรรยากาศปาร์ตี้เคล้าไปกับเพลงอย่างที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะกับบรรดาเพลงป๊อป-แจ๊ส แต่นั่นไม่ได้ให้ความหม่นของน้ำเสียงและมู้ดของดนตรีหายไปเลย นอราห์ โจนส์ มาในชุดดำ พร้อมน้ำเสียงที่คุ้นเคย จะเปลี่ยนไปก็แต่ทรงผมที่ดูสมวัยและทำให้การเดี่ยวเปียโนเป็นไปอย่างทะมัดทะแมง

“ใช่ ฉันยังอยู่ ฉันยังมีชีวิตอยู่” เธอย้ำประโยคนี้ในท่อนฮุกอยู่หลายต่อหลายรอบ

“Oh I watch, I think I dance and sometimes I drink. I sing my songs. I’ll hope someone sings along.” ซิงเกิลแรกก็พอจะเดามู้ดแอนด์โทนของอัลบั้มกันได้ลางๆ แล้ว

I’m Alive ถูกปล่อยพร้อมกับมิวสิกวิดีโอในวันที่ 13 มีนาคม ช่วงเริ่มต้นของสถานการณ์โควิด-19 ในอเมริกา ส่งผลให้เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่ซิงเกิลที่ 2 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อในอเมริกาพุ่งสูงมาก แทร็ก How I Weep จึงถูกปล่อยเป็น official audio เท่านั้น

 

 

 How I Weep เป็นซิงเกิลที่ 2 ของอัลบั้ม แต่เป็นแทร็กแรกของอัลบั้มนี้ หากไล่ฟังตั้งแต่ต้นแทร็กนี้เปรียบเสมือนกับคอนดักเตอร์วงดุริยางค์ที่กำหนดจังหวะและโทนทั้งหมดของอัลบั้ม ‘ฉันร้องไห้อย่างบ้าคลั่ง คร่ำครวญเจียนตาย’ น่าจะเป็นคำอธิบายที่เข้าท่าที่สุดสำหรับแทร็กนี้ เสียงของนอราห์ โจนส์ ที่อ่อนหวาน ทว่าบาดลึกเมื่อยามที่ต้องสื่อสารบทเพลงที่เจ็บปวดเช่นนี้

 

“How I weep and I sleep and I march and I dance and I sing and I laugh…
But inside I weep for a loss that’s so deep, that it hardens and turns into stone.”

“ไม่ว่าในยามหลับใหล หรือแม้ในยามร่าเริงกับการเต้นรำ กระทั่งในตอนที่ฉันร้องเพลงและหัวเราะออกมาดังๆ แต่ข้างในนั้น ฉันร้องไห้อย่างบ้าคลั่ง และคร่ำครวญเจียนตาย”

 

หลังจาก How I Weep ผ่านพ้นไป กล้ามเนื้อเริ่มกระตุกไม่หยุด เชื่อว่าหลายคนเคยเป็น ดนตรีและเนื้อร้องของเธอเริ่มเข้าไปแทนที่จิตใต้สำนึกที่ขุ่นมัว เนื่องจากปัญหาชีวิตหลายๆ อย่างที่ทับซ้อนกันอยู่ การงาน ความรัก และการเงิน ในช่วงโควิด-19 ความเครียดสารพัดนี้เริ่มปลิ้นทะลักออกมา และแม้ว่าจะมี Flame Twin แทร็กที่ 2 ของอัลบั้มที่เป็นเหมือนผ้าเช็ดหน้าบางๆ คอยซับน้ำตาจากแทร็กแรก ตามด้วยแทร็กที่ 3 Hurts To Be Alone ที่มาพร้อมกับเมโลดี้เปียโนที่คุ้นเคยเคล้ากับจังหวะกลองที่เพิ่มความเร็ว สองเพลงนี้ช่วยขับเน้นอารมณ์ที่หม่นหมองให้ไม่เศร้าจนเกินไปนัก ก่อนจะเข้าสู่แทร็กที่ 4 Heartbroken, Day After

 

Heartbroken, Day After พาคุณกลับสู่ภวังค์ของความเศร้าอีกครั้งหนึ่ง เสียงคอรัสที่คลอบางๆ อยู่ทั้งเพลงมันทั้งหวานและขมในเวลาเดียวกัน ตามมาด้วย Say No More แทร็กที่ 5 ที่เสียงของโจนส์กังวานใสควบคู่ไปกับเครื่องเป่าหลากประเภท ดูเหมือนฟังแล้วเย็นสบาย ทว่ายังคงแฝงน้ำเสียงของความผิดหวังเอาไว้ ท่อนโซโลเปียโนกลิ่นอายฟิวชั่นแจ๊สในแทร็กนี้ทำเอาต้องวนกลับมาฟังอยู่หลายรอบ ก่อนจะเบรกพักครึ่งอัลบั้มที่แทร็กที่ 6 This Life จังหวะแจ๊สเนิบๆ สไตล์ที่เธอถนัดพร้อมเสียงคอรัสทรงพลัง ทว่าเนื้อหายังคงหนักอึ้ง

 

“Hearts frozen, arms open, hands shaking, bonds breakingThis life as we know it.”

“ดวงใจที่เย็นยะเยือกอ้าแขนรอการกลับมาทั้งที่มือไม้ยังสั่นระรัว สุดท้ายความสัมพันธ์ก็จบลง
ชีวิตมันก็เท่านี้…”

 

ผ่านไปครึ่งอัลบั้ม ไฮไลต์ของอัลบั้มนี้กลับอยู่ที่แทร็กที่ 7 To Live พูดถึงการพยายามปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระและหาสถานที่สักแห่งเพื่ออยู่อย่างสงบและใช้ชีวิตที่ต้องการ เป็นแทร็กเดียวในอัลบั้มที่ใช้วิธีการร้องแบบ gospel (การร้องประสานเสียง ส่วนใหญ่มักร้องเพื่อเฉลิมฉลองในโบสถ์และพิธีกรรมทางศาสนา) ประสานกับเปียโนและเครื่องเป่าบางๆ ที่คลอปนไปตลอดทั้งเพลง ที่สำคัญแทร็กนี้นอราห์ โจนส์ ถูกขอให้เล่นบ่อยมากในช่วง quarantine ที่เธอมักแสดงสดจากที่บ้านผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ของเธอ

 

Were You Watching? แทร็กในลำดับที่ 9 เป็นอีกหนึ่งแทร็กที่น่าเสียดาย เพราะเป็นซิงเกิลที่ 4 ที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงของการแพร่ระบาดจึงไม่ถูกผลิตเป็นมิวสิกวิดีโอ Were You Watching? เป็นเพลงที่มีเทมโปช้าที่สุดในอัลบั้มและเป็นเพลงเดียวที่เครื่องสายเด่นกว่าเปียโน ความช้าของเพลงช่วยให้เห็นรายละเอียดของภาคดนตรีที่ซับซ้อนมากๆ เป็นอีกแทร็กที่ฟังซ้ำได้ไม่เบื่อเลย

Stumble On My Way ในแทร็กที่ 10 เป็นสมูทแจ๊สที่ฟังง่ายแม้จะยังอยู่ในโทนของความเศร้า ในโหมดของความสูญเสีย และเมื่อฟังต่อกับแทร็กที่ 11 Heaven Above ก็จะยิ่งเข้ากันมาก สมูทแจ๊สในจังหวะเดียวกันเพื่อปิดอัลบั้มที่ร้าวรานนี้ ก่อนจะส่งท้ายด้วยโบนัสแทร็กที่เรียบง่ายด้วยเสียงร้องและโซโลเปียโนของเธอ Tryin’ To Keep It Together แม้จะเป็นแทร็กพิเศษ (ไม่มีใน Spotify) แต่ถูกปล่อยเป็นซิงเกิลที่ 3 ในยูทูบ และวิดีโอของเพลงนี้ก็ถ่ายทำในช่วงที่เธอกักตัวอยู่บ้านช่วงต้นเดือนเมษายน

 

 

เมื่อฟังทั้งอัลบั้มตั้งแต่ต้นจนจบ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดอัลบั้มที่ตกผลึกของนักดนตรีแจ๊สมากประสบการณ์ที่แทบจะไม่มีน้ำเสียงของความสุขเลยแม้แต่น้อย กลับทำให้เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้ฟังอัลบั้มที่อัดแน่นความร้าวรานของประสบการณ์ชีวิตเอาไว้เช่นนี้

แน่นอนว่า Pick Me Up Off the Floor คงไม่ได้ขายดีอะไรนักเมื่อเทียบกับอัลบั้มแรกๆ ของเธอที่วางอยู่บนหิ้งเพลงแจ๊สร่วมสมัย เพราะมันฟังไม่ง่ายเลย แต่ในแง่ของศิลปะ มันเป็นผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งในชีวิตของแจ๊สควีนผู้นี้ ซึ่งบันทึกเรื่องราวชีวิตนักดนตรีที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ร้อยเรียงผ่านความคิดสร้างสรรค์ และเต็มไปด้วยท่วงทำนองที่นุ่มนวล ทว่าหดหู่และรุนแรงในบางจังหวะ เชื่อว่าสตูดิโออัลบั้มนี้จะเป็นอีกหนึ่งผลงานของเธอที่จะอยู่เหนือกาลเวลาและจะอยู่ในใจแฟนๆ ของโจนส์ตลอดไป

 

 

อ้างอิง

Boston Herald

Forbes

Independent

New York Post

Rolling Stones

AUTHOR