“แม่ง โคตรโฟนี่เลย” เสียงจากปลายปากกาคนธรรมดาว่าด้วยสังคมที่บิดเบี้ยวและปลอมเปลือก

“คืนสิทธิประกันตัวเดี๋ยวนี้ ก่อนจะมีใครตาย”

คุณไม่ต้องรักพวกเขาก็ได้ จะชิงชังก็ตามสบาย 

แต่กฎหมายไม่ได้อนุญาตให้คุณฆ่าพวกเขาตายในนามของการไม่ให้ประกัน

ข้างต้นคือบทอภิปรายส่วนหนึ่งของ ไอดา อรุณวงศ์ ในวงเสวนา “โควิดในเรือนจำ กับชีวิตเสี่ยงของผู้ต้องขัง: คืนสิทธิประกันตัวเดี๋ยวนี้ ก่อนจะมีใครตาย” บนทางเท้าหน้าศาลอาญา รัชดาฯ ตั้งแต่ปี 2564 และถูกบันทึกไว้ในหนังสือ “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

บทอภิปรายนี้ทำให้เรานึกถึงข่าวการถอนประกันและอดอาหารเรียกร้องของ ‘ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์’ และ ‘แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์’ ผู้บริสุทธิ์ที่แสดงจุดยืนเรียกร้องให้ศาลปล่อยผู้ต้องขังการเมือง โดยไร้เสียงตอบรับจากผู้มีอำนาจ จนในที่สุดทั้งสองสภาพอิดโรยและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ใช่-ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี แต่เรื่องโฟนี่เดิมๆ ในสังคมไทยยังถูกแช่แข็งไว้ไม่ถูกแก้ไข ถึงแม้ว่าคนรุ่นใหม่อยากให้หลายๆ อย่างในประเทศนี้ดีขึ้นก็ตาม

“แม่ง โคตรโฟนี่เลย” คือหนังสือที่รวมบทความและปาถกฐาว่าด้วยการเมืองและวรรณกรรม ของ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการของของสำนักพิมพ์อ่าน และนายประกันของกองทุนราษฎรประสงค์ของมูลนิธิสิทธิอิสรา อย่างที่รู้กันว่าไอดาอยู่ทั้งในแวดวงวรรณกรรมและกระบวนการยุติธรรม ทำให้เรื่องราวถูกถ่ายทอดออกมาสะเทือนใจและกินใจโดยเฉพาะนักอ่านคนรุ่นใหม่

“แม่ง โคตรโฟนี่เลย” ประโยคที่หลุดออกมาเป็นพักๆ ในหนังสือจนหลายคนอาจจะสงสัยว่าคืออะไรกันแน่ หนังสืออธิบายว่า

*pho·ney /ˈfōnē/

[adj.] ปลอม [n.] คนหลอกลวง

See also: เสแสร้ง, จอมปลอม, ระยำอัปรีย์

เพราะเพียงแค่เห็นหน้าปกและชื่อเรื่องที่จั่วมา สารภาพว่าผู้เขียนดึงดูดเราด้วยภาษาที่จัดจ้านถึงใจ ทำให้เราใช้เวลาอ่านหนังสือขนาดความยาว 279 หน้าแบบรวดเดียวจบ

ไม่ใช่เพียงแค่ภายนอกที่ดูแสบสัน แต่ภายในเนื้อหาก็เข้มข้นไม่แพ้กัน เพราะหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยน้ำเสียงกราดเกรี้ยว โศกเศร้า และสะเทือนใจ แบ่งออกเป็นบทต่างๆ รวมทั้งหมด 12 บท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปิตาธิปไตย ความพยายามของรัฐไทย ระบบอุปถัมภ์ค้ำชู การยึดมั่นถือมั่นในระบบชนชั้น การสะท้อนเสียงผู้หญิงที่มักจะถูกเบียดเบียด ในขณะเดียวกันทุกบทในหนังสือก็อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ของไอดาที่หยัดยืนในอุดมการณ์ทิ้งท้ายประโยคชวนให้เราคิดต่อ 

ยกตัวอย่างความโฟนี่ไทยๆ ด้วยการพูดถึงชั้นเรียนวรรณคดีที่ได้นำนวนิยายคลาสสิกอเมริกันเรื่อง The Catcher in the Rye มาตีความเล่าถึงความย้อนแย้งที่จะต้องมานั่งเรียนนวนิยายที่ว่าด้วยการขบถ ไม่รอมชอมกับระบบและบรรทัดฐานอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยล้มเหลว

ส่วนประเด็นต่อมาเรื่องภาพลักษณ์ จิตร ภูมิศักดิ์ กับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ที่สะท้อนว่าการเกิดใหม่ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ใช่การเกิดแบบเชิดชูให้เป็นวีรบุรุษในตำนาน แต่มันคือการทำให้เกิด จิตร ภูมิศักดิ์ ขึ้นมาเองในตัวของทุกคน      

บทหนึ่งที่เราชอบมากคือไอดาเล่าถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงหนังสือ และการเป็นคนทำหนังสือของปัญญาชนในประเทศที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั่นจึงเป็นจุดยืนของวารสาร ‘อ่าน’ คือการเห็นหัวสามัญชนและให้ความสำคัญกับความสามัญ 

แน่นอนว่าหลังจากปิดหนังสือ เรามีความรู้สึกอัดอั้นเต็มหัวไปหมด

อย่างแรก–สารภาพว่าตอนแรกก็กลัวอ่านไม่เข้าใจ แต่เมื่อเปิดอ่านเราก็พบว่าตัวเองคิดผิด เพราะตัวบริบทไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่เข้าใจยาก แต่เป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญอย่างเราๆ บทพูดก็ใช้ภาษาเรียบง่าย ชัดเจน ตรงประเด็น ถึงแม้ผู้เขียนจะใช้ประสบการณ์และวิธีเขียนที่เน้นการถ่ายทอดความรู้สึกตัวเองในการอธิบาย แต่เราก็สามารถอ่านตัวอักษรของเธอได้อย่างลื่นไหล ไม่ติดขัดใดๆ

อย่างที่สอง–ในขณะที่การตื่นตัวทางการเมืองเบ่งบาน จากหนังสือการเมืองแนววิชาการที่เคยเงียบเหงา กลายเป็นหนังสือขายดีที่พบได้ในมือวัยรุ่นหรือคนทั่วไป แต่ขณะเดียวกันกลับมีข่าวตำรวจบุกเข้าไปยังสำนักพิมพ์ เพื่อยึดหนังสือที่อ้างว่ามีเนื้อหาผิดกฎหมาย ในฐานะนักเขียน ไอดาทำให้เรารู้สึกว่าควรจะใช้อาวุธที่มีอยู่ตรงปลายปากกาต่อสู้กับความโฟนี่ต่างๆ ในสังคมที่เป็นอยู่ 

และอย่างสุดท้าย–เราค้นพบว่าหนังสือเล่มนี้ทำงานกับเรามากๆ เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแค่เป็นหนังสือรวมปาฐกฐา แต่ถือเป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ในหลายแง่ๆ มุม และอยากขับเคลื่อนให้ประเทศไทยไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเราคงไม่อยากอยู่ในประเทศที่ไม่เห็นทางสว่างจนสุดท้ายก็ต้องพูดว่า

“แม่ง โคตรโฟนี่เลย”