ชมฟ้าจรดดินและหินสีชมพูใน ‘เพตรา’ นครแห่งศิลาสีกุหลาบที่สาบสูญ

ถ้าถามว่าเราชอบหนังผจญภัยเรื่องไหนมากที่สุด คำตอบนั้นก็คงไม่พ้น Indiana Jones เพราะคุณแม่ใช้ปากกาหมุนเทปวิดีโอ เปิดให้ดูตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวกะเปี๊ยก และเนื่องจากคุณแม่เป็นแฟนเกิร์ลของคุณลุง Harrison Ford ทำให้เราต้องดูภาพยนตร์ชุดนี้วนไปเวียนมาทุกภาค และภาคที่เราชอบมากที่สุดก็คือภาคสาม Indiana Jones and the Last Crusade ซึ่งฉากที่ติดตราตรึงใจจนจุดประกายความฝันให้อยากเป็นนักผจญภัย จนไปปีนตู้หนังสือของคุณตาแล้วหยิบเอาหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และอาณาจักรโบราณมาอ่านทุกๆ ช่วงปิดเทอม ก็คือฉากที่พระเอกเข้าไปตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ในนครสาบสูญนั่นเอง

ตัดภาพมายังปัจจุบัน เราผู้เก็บเอาความฝันที่อยากเป็นนักสำรวจและนักผจญภัยใส่ลิ้นชักไปเรียบร้อยแล้วกำลังนั่งคุยเล่นกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ในครัวท้ายเครื่องบินบนไฟลต์สิงคโปร์บริสเบน อัคเหม็ด เพื่อนร่วมงานจากชั้นธุรกิจเดินเข้ามาพร้อมกับแจกจ่ายขนมนมเนยให้กับทุกๆ คนและมานั่งล้อมวงจิบชาคุยกัน เราจำได้คร่าวๆ จากที่แนะนำตัวกันตอนต้นไฟลต์ว่าพ่อหนุ่มอารบิกตาคมผู้นี้มาจากจอร์แดน เลยหันไปถามเกี่ยวกับการเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศเขาว่าช่วงไหนของปีที่เหมาะมากที่สุด

ช่วงเดือนตุลาฯ นี้นี่แหละที่ดีที่สุดที่จะไปในปีนี้ ไม่งั้นก็โน่น รอจนถึงเมษาฯ ปีหน้าเลย

อัคเหม็ดตอบพร้อมชวนคุยเรื่องอื่นต่อไป เราก็เออออพูดคุยเรื่องอื่นไปตามประสา แต่ความคิดในหัวมีแต่ประโยคที่ว่าไม่งั้นก็โน่น รอจนถึงเมษาฯ ปีหน้าเลยวนเวียนซ้ำไปซ้ำมา

โอ้โหถ้าไม่ไปก่อนลมหนาวจะมาในปีนี้ก็ต้องรอไปจนลมร้อนกลับมาในปีหน้าเลยเหรอ

นี่แหละชีวิตในเมืองทะเลทราย

และเมื่อเราไขประตูเข้าห้องพักโรงแรมที่บริสเบน สิ่งแรกที่ทำคือเปิดดูตารางการทำงานของตัวเอง ในเดือนนี้หลังจากไฟลต์ไปเคปทาวน์เราจะมีวันหยุด 3 วัน ก่อนถึงวันหยุดประจำปี 10 วันที่เราตั้งใจว่าจะกลับบ้านไปเซอร์ไพรส์คุณแม่เนื่องในวันคล้ายวันเกิด โอ้โห หยุดยาวรวดเดียวตั้ง 13 วันแหนะ ไปสานฝันในวัยเด็ก เติมเต็มให้จิตวิญญาณแห่งนักผจญภัยลุกโชนขึ้นอีกครั้ง!

เพตรา นครแห่งศิลาสีกุหลาบที่สาบสูญ

1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ชีวิตนี้ต้องไปเห็นเป็นบุญตา

และแล้วเช้าวันเดินทางก็มาถึง เรายืนกระดกแก้วกาแฟดื่มเพื่อแก้อาการเหนื่อยล้าที่ Dubai International Airport ตั้งแต่ 6 โมงเช้า หลังจากจัดแจงเช็กอินและแลกเงิน พร้อมกับพิมพ์ข้อความติดต่อกับอาล่า ไกด์นำเที่ยวของเรา เพื่อนัดหมายเวลาและสถานที่ที่จะพบกันตอนที่เราไปถึงที่นั่นแล้ว

เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างเครื่องบินระหว่างทางจากดูไบมุ่งสู่จอร์แดนนั้นจะเห็นแต่ทะเลทรายสีน้ำตาลเข้มกว้างไกลไปจรดปลายขอบฟ้า เรางีบหลับเพื่อเอาแรงเล็กน้อย มาสะดุ้งตื่นอีกทีก็ตอนที่ได้ยินประกาศว่าเครื่องบินกำลังลดระดับลงเพื่อลงจอดที่ Queen Alia International Airport ที่ตั้งโดดเดี่ยวอยู่ท่ามกลางทะเลทรายเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตา

สำหรับหนังสือเดินทางประเทศไทยนั้นเราสามารถทำ visa on arrival ได้ ในสนามบินจะมีช่องให้เข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเช็กเอกสารการเดินทางต่างๆ ใบจองที่พัก และตั๋วเดินทางกลับ พร้อมจ่ายค่าวีซ่า 40 ดีนาร์จอร์แดน ซึ่งต้องจ่ายแบบพอดิบพอดีเพราะเขาไม่มีเงินทอน หากไม่ได้แลกเงินมาก่อนจะมีจุดรับแลกเงินอยู่ใกล้ๆ ซึ่งรับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐและยูโรเท่านั้น ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้โหดมาก ถามคำถามเรานิดหน่อยเท่านั้นว่ามาทำอะไร พักที่ไหน มีแผนการท่องเที่ยวยังไงบ้างเท่านั้นเอง

คุณอาล่ามาเจอเราที่สนามบินก่อนให้คุณลุงคนขับรถอีกคนพาเราไปพักที่โรงแรมในตัวเมือง และจะมารับเราไปที่นครเพตราในวันรุ่งขึ้น เพราะเราอยากเข้าไปสัมผัสกรุงอัมมาน เมืองหลวงของจอร์แดน สักเล็กน้อยให้พอหอมปากหอมคอนั่นเอง

ระหว่างทางเราก็คุยกับคุณลุงคนขับรถไปเรื่อยเจื้อยเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นี่ เพราะทุกอย่างช่างแตกต่างจากดูไบเสียเหลือเกิน คุณลุงเล่าคร่าวๆ ให้ฟังว่าจอร์แดนเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็น 1 ใน 3 ประเทศหลักที่ส่งออกพืชผักผลไม้ไปรอบๆ กลุ่มประเทศในดินแดนอาระเบีย ซึ่งสามประเทศนี้ประกอบไปด้วยจอร์แดน ตุรกี และซีเรีย ซึ่งในขณะนี้กำลังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งและการก่อการร้าย ฉะนั้นผลผลิตหลักที่พวกเราเหล่าชาวทะเลทรายบริโภคกันอยู่ในตอนนี้ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากจอร์แดนและตุรกีนี่แหละ อาจมีมาจากเลบานอนบ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย

ในจอร์แดนนั้นไม่ต้องนำเข้าผักผลไม้จากประเทศอื่นๆ เหมือนอย่างในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปลูกเอง กินเอง ผักผลไม้เลยมีราคาถูก อร่อย และมีคุณภาพ ซึ่งน่าจะมีปัจจัยมาจากสภาพอากาศ คุณลุงอธิบายเพิ่มเติมว่าหน้าร้อนของที่นี่ไม่ได้ร้อนรุนแรงอบอ้าวเหมือนอยู่ในเตาอบแบบดูไบ (เหมือนเตาอบนี่เพิ่มเติมขึ้นมาเอง เพราะเหมือนจริงๆ ออกนอกบ้านทีไรรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักเก็ตในหม้ออบลมร้อนทุกที) จึงสามารถเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้ แต่หน้าหนาวก็จะหนาวมากๆ บางทีก็มีหิมะตกด้วย

เรานั่งรถผ่านภูเขาที่สลับซับซ้อนไปมา สังเกตว่าถนนคือส่วนพื้นราบที่ตัดผ่านช่องเขา ส่วนบ้านเรือนต่างๆ ตั้งอยู่บนไหล่เขากันหมด คุณลุงอธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่ากรุงอัมมานนั้นแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งตะวันตกที่จะเป็นโซนที่พักอาศัย และฝั่งตะวันออกที่เป็นที่ตั้งของร้านค้าและโรงแรม เหมือนเป็นย่านธุรกิจต่างๆ ซึ่งที่พักของเราจะอยู่ทางฝั่งนี้ของเมือง

ลืมตึกสูงระฟ้าแบบดาวน์ทาวน์ดูไบไปได้เลยเพราะอาคารที่นี่สูงได้ไม่เกิน 5 ชั้นเท่านั้น เมื่อเข้ามาถึงภายในตัวเมืองแล้วเราสังเกตว่าผู้หญิงที่นี่แต่งตัวเรียบร้อย ใส่เสื้อขายาว แขนยาว กระโปรงยาวถึงข้อเท้า และใส่ผ้าคลุมฮิญาบกันหมด เลยถามคุณลุงว่าแล้วสำหรับเราที่เป็นนักท่องเที่ยวจำเป็นต้องใส่ผ้าคลุมด้วยหรือไม่ (เพราะไม่ได้เอาผ้าพันคอติดมือมาด้วยเลย) คุณลุงบอกว่าไม่เป็นไรเพราะคุณเป็นนักท่องเที่ยวและที่นี่ไม่ได้มีกฎเคร่งว่าทุกคนต้องใส่ผ้าคลุม ถ้าไปเขตท่องเที่ยวนอกเมืองจะใส่อะไรก็ได้ตามสบายเลย

และแล้วเราก็มาถึง Art Hotel โรงแรมขนาดย่อมที่น่ารัก สะอาด ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีตลาดและร้านอาหารอยู่โดยรอบ หลังจากที่เราเอาของเข้าไปเก็บในห้องเรียบร้อยก็ชวนคุณลุงออกไปรับประทานอาหารกลางวันกัน เพราะใจอยากลองอาหารพื้นเมืองของจอร์แดนว่าจะเป็นยังไง แต่ครั้นจะให้เดินดุ่มๆ ลุยเดี่ยวเที่ยวคนเดียวก็ชักจะไม่แน่ใจ อารบิกก็พูดไม่ได้ แถมไม่ได้เปิดโรมมิงมาอีก เลยขอติดสอยห้อยตามคุณลุงไปก็แล้วกัน ซึ่งแกก็ใจดีตกปากรับคำพาเดินตัดร้านขายของเข้าไปที่ Abu Zaghleh Restaurant ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านอาหารมีชื่อของที่นี่

คุณลุงแนะนำเมนูชื่อว่า mansaf ซึ่งเป็นอาหารแขกพื้นเมืองของที่นี่ เป็นข้าวกับซอสโยเกิร์ตและเนื้อแกะ มีผักสดเป็นเครื่องเคียง

พนักงานในร้านก็ใจดีมากๆ เข้ามาทักทายถามไถ่ว่ามาจากประเทศไหน พอบอกไปว่าไทยแลนด์ก็โอ้โห เวรี่กู้ด ได้ยินมานานแล้วล่ะ อยากไปมากๆ เลยนะ และพอตอนจะคิดเงินเขาก็ไม่รับเพราะถือว่าเป็นแขกที่มาเยี่ยมเยือนที่นี่ แถมเอาชามินต์มาเสิร์ฟเพิ่มให้อีกต่างหาก ประทับใจกับความน้ำจิตน้ำใจดีของเขามากๆ เลย

ช่วงเย็นเราออกมาเดินเล่นและหาอะไรเล็กๆ น้อยๆ รองท้องเพราะยังไม่หายอิ่มจากมื้อกลางวัน เลยแวะไปที่ Hashem Restaurant ร้านอาหารอารบิกเก่าแก่ในย่านนี้ที่เปิดให้บริการโดยครอบครัวของชาวเติร์กมาตั้งแต่ปี 1956

กรุงอัมมานยามค่ำคืนก็ครึกครื้นไม่แพ้ช่วงกลางวัน มีร้านอาหารและร้านขนมเรียงรายไปตามทาง แซมด้วยร้านขายของจิปาถะต่างๆ ผู้คนก็เดินเล่นซื้อของกันขวักไขว่คึกคัก เราเดินเล่นนิดหน่อยแล้วก็บ่ายหน้าเดินกลับโรงแรม เพราะพรุ่งนี้เช้าการผจญภัยของเราจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว!

อัมมานในยามเช้านั้นเงียบสงบและแจ่มใส ผู้คนเริ่มเปิดหน้าต่างออกมารับไอแดดอุ่นและสัมผัสลมหนาวที่แวะมาบอกกลายๆ ว่าฤดูหนาวใกล้จะกลับมาเยี่ยมเยือนเมืองทะเลทรายในอีกไม่ช้านี้ 

อาล่ามารับเราตั้งแต่เช้าตรู่เนื่องจากเราต้องนั่งรถออกนอกเมืองไปไกลเลย สำหรับแผนการเดินทางของเราในวันนี้คือไปตะลุยเพตราทั้งวัน พรุ่งนี้ค่อยไปเดดซี และส่งเรากลับไปดูไบในช่วงเย็นเพราะต้องรีบนั่งเครื่องบินต่อเพื่อกลับกรุงเทพฯ น่าเสียดายที่เวลาที่เรามีค่อนข้างจำกัดเลยไม่ได้แวะไปนอนค้างในทะเลทราย Wadi Rum สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Martian

จากอัมมานไปเพตรานั้นใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง เลยต้องจอดรถแวะพักเติมคาเฟอีนเข้าไปสูบฉีดร่างกายกันสักหน่อย ระหว่างทางจากนี้เราต้องนั่งรถเข้าเขตทะเลทราย

หน้าตากาแฟสไตล์จอร์แดนในแก้วกระดาษนี้หอมกลิ่นเครื่องเทศมาก แถมรสเข้มข้นถึงใจ วิธีการดื่มกาแฟที่นี่คือไม่ต้องคน ให้จิบไปเรื่อยๆ รสกาแฟจะเข้มขึ้นตามลำดับ จิบไปจนเจอกากกาแฟที่อยู่ก้นแก้วก็ไม่ต้องดื่มต่อแล้วเพราะมันจะเข้มแรงเกินไป ให้ทิ้งได้ ซึ่งแตกต่างจากกาแฟอารบิกของทางดูไบมากๆ เพราะกาแฟดูไบจะคล้ายชามากกว่า มีความใส เวลาดื่มต้องรินจากเหยือกใส่แก้วเล็กๆ แล้วค่อยๆ จิบ

วัฒนธรรมการดื่มกาแฟในแถบอาหรับเป็นเรื่องสำคัญมาก เวลามีแขกมาเยี่ยมที่บ้านเจ้าของบ้านต้องคอยหมั่นเติมกาแฟในแก้วของแขกอยู่ตลอด เนื่องจากเป็นมารยาทที่ดี แสดงให้เห็นถึงความเคารพและความใส่ใจ การดื่มและการชงกาแฟอารบิกนั้นมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ Turkish และ Saudi (จอร์แดนเป็นแบบแรก ส่วนดูไบเป็นแบบหลัง เรียกว่ากาแฟอารบิกก็ได้) ซึ่งจะดื่มคู่กับอินทผลัมหรือถั่ว และเจ้าของบ้านจะเป็นคนดื่มกาแฟแก้วแรกก่อนเพื่อดูว่ากาแฟที่ชงนั้นดีหรือไม่ จึงจะรินให้แขก โดยเริ่มรินให้กับคนที่อาวุโสที่สุดก่อน แล้วค่อยรินให้กับคนอื่นทวนเข็มนาฬิกาจนครบทุกคน และเวลาที่ถือแก้วกาแฟจะต้องถือด้วยมือขวาเท่านั้น หากนั่งบนพื้นก็ต้องนั่งให้เรียบร้อย ไม่ให้ปลายเท้าโผล่ออกมาจนดูไม่งามด้วย

ระยะเวลา 3 ชั่วโมงบนรถเราก็คุยกับอาล่าบ้าง หลับบ้าง ฟังเพลง เล่นมือถือไปเรื่อยๆ (ในรถมีไว-ไฟให้ใช้ด้วย เก๋มาก) จนเราเข้าไปถึงเขตเมืองเพตรา อาล่าจอดรถและลงไปซื้อแซนด์วิชมาให้พกใส่กระเป๋าเป็นเสบียงตอนเดินเที่ยวในเพตรา และมานั่งบรีฟข้อมูลคร่าวๆ ของนครศิลาสีกุหลาบให้เราฟัง

อาล่าบอกว่าหลังจากที่เราซื้อตั๋วเข้าไปแล้วให้หยิบแผนที่ออฟฟิเชียลจากเจ้าหน้าที่มาและห้ามไปไหนกับใครทั้งสิ้น เพราะเข้าไปด้านในจะเจอคนเสนอให้ขึ้นรถม้า ขี่ม้า เสนอพาขึ้นเขาไปชมวิวด้านบนนู่นนี่ ซึ่ง ห้าม ไป ด้วย เด็ด ขาด! เพราะทุกจุดในเพตรานั้นเราสามารถเดินถึงกันได้ทั้งหมด และเส้นทางที่ขึ้นเขาไปชมวิวจากมุมสูงไม่ใช่เส้นทางหลัก เราอาจโดนดักทำร้ายไถเอาเงินหรือทำมิดีมิร้ายได้ และก็บรีฟให้ฟังสั้นๆ ว่าจุด Treasury ที่โด่งดังนั้นสร้างโดยมีพื้นฐานยังไง เสาแต่ละต้น รูปปั้นแต่ละจุด มีความหมายเกี่ยวกับอะไรบ้าง ก่อนปล่อยให้เราเข้าไปผจญภัยตามลำพัง

และก็จริงตามที่อาล่าว่าไว้ไม่มีผิด เพราะตั้งแต่ทางเดินเข้ามาก็มีแต่คนเรียกให้ไปขี่ม้า นั่งรถม้า ตลอดทางเหมือนเสียงเพรียกจากหลืบเขาที่พร้อมพุ่งเข้าหาเราตลอดเวลาจากตามซอกหินต่างๆ ซึ่งเราก็ปฏิเสธมาตลอดทางอย่างแข็งขันว่า ไม่เอา ไม่ไป ไม่สนใจ เดินเองได้จ้า 

จากคำบอกเล่าของอาล่า ด้านหน้าของ Treasury ถูกสร้างไว้ให้เป็นเหมือนปฏิทิน จำนวนเสาทั้งหมด 12 ต้น เท่ากับเดือนทั้ง 12 เดือน รูปปั้นแทนฤดูกาลทั้งสี่ และจำนวนจุดที่เขาสลักเป็นกลมๆ ที่เรียงเป็นแนวยาวนั้นแทนจำนวนวันตลอดปี

ถัดจากส่วนนี้ก็เป็นนครเพตราด้านในที่ประกอบด้วย Street of Facades ถนนยาวที่เป็นทางสัญจรหลัก, Theatre จุดรวมชาวเมือง และ Royal Tombs ซึ่งเป็นสุสานของชนชั้นสูง

หากเดินมุดเข้าไปด้านในตามซอกหลืบต่างๆ จะเห็นว่าเขาใช้วิธีตัดหินเข้าไปเพื่อทำเป็นห้องต่างๆ แล้วตัดเป็นช่องเล็กๆ เป็นหน้าต่างให้เพื่อแสงลอดเข้ามา

เขยิบเข้ามาอีกนิดจะเจอกับกลุ่มอาคารเก่าแก่ที่ใช้หินก่อเป็นผนัง ไม่ใช่การเจาะหินเข้าไปแล้ว ทางเดินก็มีหินปูเรียบร้อยและมีเสากลมตั้งเรียงราย

เลยจากจุดนี้ไปจะเป็นส่วนของ Monastery ซึ่งเป็นวิหารใหญ่ในนครเพตรา แต่น่าเสียดายที่เราเดินไปไม่ถึงเพราะนัดเวลากับอาล่าไว้เรียบร้อยแล้ว หากเดินต่อไปอาจกลับมาเจอกันไม่ทัน ประกอบกับช่วงนี้เริ่มย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าค่อนข้างเร็ว ไม่อยากจะเสี่ยงเดินดุ่มๆ ท่ามกลางความมืด

ถึงแม้จะไม่ได้ไปเห็นวิหารใหญ่ก็ไม่เป็นไร เพราะระหว่างทางเดินกลับเราก็ได้เห็นบรรยากาศยามเย็นที่เมื่อพระอาทิตย์ทอแสงนุ่มนวลนั้นทำให้ตึกรามรอบตัวกลายเป็นสีชมพูสมชื่อจริงๆ

และนี่คือบันทึกการเดินทางของเราใน ‘เพตรา นครแห่งศิลาสีกุหลาบที่สาบสูญ’ 1ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่

AUTHOR