“ถ้าโครงสร้างประเทศไม่หนุน ศิลปะก็อยู่ไม่ได้” ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ Artistic Director ของ BIPAM

“ห้องซ้อมร้อนหน่อยนะ อาจต้องนัดคุยที่คาเฟ่ใกล้ๆ” นี่คือข้อความจากฝ่ายประสานงานของ BIPAM (Bangkok International Performing Arts Meeting) หรือการประชุมนานาชาติทางศิลปะการแสดงแห่งกรุงเทพมหานครที่จัดขึ้นมากว่า 5 ปี ศศพินทุ์

แปลกใจ คือความรู้สึกแรกที่นึกขึ้นเมื่ออ่านข้อความนั้น 

สงสัย คือความรู้สึกถัดมาที่ทำให้เรามีคำถามมากมาย เพราะเมื่อแรกติดต่อ เราคิดว่าทีมผู้จัดการประชุมนานาชาติที่ดูยิ่งใหญ่จนศิลปินต่างชาติบินมาร่วมด้วยน่าจะมีห้องซ้อมที่เอื้อต่อนักแสดงมากกว่านี้ 

แต่มวลความใคร่รู้เหล่านี้นี่แหละที่เป็นเหตุผลให้เราต้องพูดคุยกับ ปูเป้–ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ Artistic Director ของ BIPAM 

ไม่ใช่เรื่องห้องซ้อมที่ไม่เอื้อต่องานสร้างสรรค์เพียงเหตุผลเดียวเท่านั้น แต่สาเหตุของมันต่างหากที่เราอยากถามว่าเชื่อมโยงกับการมีอยู่ของ BIPAM หรือเปล่า แล้วเหตุใดศิลปิน performing arts จึงต้องรวมตัวกันโดยนัดหมายเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด แรงบันดาลใจ และสร้างงานร่วมกัน ทั้งที่เธอและทีมงานบอกตรงกันว่าในแง่เงินที่ได้กลับมานั้นไม่คุ้มที่จะลงแรงเลย แต่ BIPAM ก็ควรมีอยู่และเป็นสิ่งที่อาจประเมินค่าไม่ได้ในแง่การกระตุ้นวงการศิลปะการแสดงไทย 

ที่สำคัญที่สุดคือเราอยากสนทนากับศศพินทุ์ว่าอะไรทำให้นิสิตเอกภาษาอังกฤษ อักษรฯ จุฬาฯ อย่างเธอรักการแสดงละครเวทีจนผันตัวสู่การเป็นศิลปิน performing arts แม้การสร้างงานแนวนี้ในไทยจะเต็มไปด้วยอุปสรรค รวมถึงคำถามสำคัญที่ว่าคุณค่าของงานที่เธอเห็นคืออะไร ศศพินธุ์จึงวนเวียนในเส้นทางนี้กว่า 16 ปีแล้ว

ก่อนนั่งรถไปถ่ายรูป ณ ห้องซ้อมที่ร้อนสมคำร่ำลือ เราสนทนากับเธอที่คาเฟ่ใกล้ๆ ท่ามกลางท้องฟ้ามืดครึ้มและฝนตกพรำๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเราในฐานะคนดู และเธอในฐานะผู้สร้างด้วยบรรยากาศสบายๆ 

แม้สิ่งที่จะคุยต่อไปนี้เหินห่างจากคำนั้นไปมาก 

ประวัติการทำงานในเว็บไซต์ BIPAM ระบุว่าคุณเป็นนิสิตเอกภาษาอังกฤษ สาขาวรรณคดีทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท แล้วนักเรียนวรรณคดีอังกฤษคนนั้นเข้าสู่วงการการแสดงได้ยังไง

เราเป็นเด็กกิจกรรมที่ชอบทำทุกอย่าง ทีนี้พอดีตอนอยู่ปี 3 จุฬาฯ จัดงานจุฬาวิชาการประจำปี 2548 ชมรมภาษาอังกฤษกับชมรมศิลปะการละครของคณะอักษรฯ จึงทำละครเวทีภาษาอังกฤษซึ่งเล่าถึงคู่รัก 3 คู่จากตำนานเทพปกรณัมกรีกร่วมกัน เราเลยไปออดิชั่นและได้เล่นละครเรื่องนี้

ตอนที่สมัครไปก็คิดแค่ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มองว่าคือศิลปะอะไรเลยแต่พอถึงกระบวนการการซ้อมที่นักแสดงต้องเวิร์กช็อปก่อนเล่น กลายเป็นว่าเราชอบการแสดงทันที

ทำไม

กระบวนการเวิร์กช็อปในวันนั้นเป็นกระบวนการที่แคร์ความเป็นมนุษย์ของเรามาก มันมีการถามว่าเรารู้สึกยังไง ความรู้สึกนั้นมีผลกับเราแบบไหน เหมือนตัวตนที่เราเป็นถูกให้เวลาและมองเห็นซึ่งเราไม่เคยพบเจอพื้นที่แบบนี้มาก่อน เราจึงหลงรักกระบวนการการแสดงละครไปเลย 

หลังจากการแสดงละครในงานจุฬาวิชาการครั้งนั้นเราก็ไปออดิชั่นเล่นละครเรื่องอื่นเรื่อยๆ เรียกว่าเรียนไปด้วยซ้อมละครไปด้วยจนดึกดื่น พอเรียนจบก็ไม่สมัครงานประจำที่มีเวลาจำกัดและเฉพาะเจาะจงเพราะเราตั้งใจเล่นละครไปตลอดชีวิตทั้งที่พี่ๆ หลายคนในแวดวงนี้ก็บอกว่าเล่นละครอย่างเดียวมันอยู่ไม่ได้หรอก 

แต่คุณก็พิสูจน์ว่าอยู่ได้

เราก็เล่นละครมาเรื่อยๆ นั่นแหละ ใครชวนไปทำอะไรก็ทำหมด ทั้งแบ็กอัพสเตจ แปลซับ แสดงละคร แต่ระหว่างนั้นเรามีคำถามกับตัวเองอยู่ตลอดว่าจะเรียนต่อดีไหมจนสุดท้ายก็ตัดสินใจเรียนต่อวรรณคดีอังกฤษที่อักษรฯ 

ทำไมไม่เรียนต่อด้านการละคร

เราชอบละครก็จริงแต่ก็ชอบวรรณคดีอังกฤษมากเหมือนกัน ตอนเรียนปริญญาตรีที่บอกว่าซ้อมละครจริงจังเราก็เรียนจริงจังเหมือนกันนะ แล้วพอดีเพื่อนที่เรียนปริญญาตรีมาด้วยกันจะต่อสาขานี้มันทำให้เราคิดถึงบรรยากาศการเรียนวรรณคดีอังกฤษมากเลยขอสอบวันที่ 2 ของการสอบซึ่งเขาก็ให้แล้วดันติดก็เลยเรียน (หัวเราะ) แต่พอเข้าไปเรียนจริงถึงรู้ว่ามันเรียนหนักมาก จนเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราเรียนรู้ว่าเราอินละครประเภทไหนกันแน่

ก่อนหน้านั้นเราเคยเล่นละครอักษรฯ 2 เรื่องที่ต้องฝึกใช้ร่างกาย คือเรื่องตาดู หูชิม ซึ่งเป็น Musical Revue ซึ่งต้องฝึกเต้น อีกเรื่องคือ Animal Farm ที่กำกับโดยอาจารย์พันพัสสา ธูปเทียน ซึ่งเราเล่นเป็นแมวเลยต้องฝึกเคลื่อนไหวร่างกายให้เหมือนสัตว์ เราจึงพบว่าเราใช้ร่างกายไม่เก่งเอามากๆ จึงอยากอัพสกิลด้านนี้อยู่ตลอด ประจวบเหมาะกับที่ B-Floor (กลุ่มศิลปะการแสดงสะท้อนสังคมและการเมือง) ประกาศรับสมัครคนเข้าร่วมเวิร์กช็อปในงาน B-Fest ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปี ด้วยความที่ไม่ได้ทำงานประจำเราจึงเข้าร่วมเวิร์กช็อปนั้นทันที

ปรากฏพอเวิร์กช็อปเสร็จพี่ๆ ใน B-Floor ชวนว่าสนใจเป็นนักแสดงไหม เราก็ตกลงทั้งที่พอไปซ้อมจริงๆ มันตรงข้ามกับละครอักษรฯ ที่เรารับรู้มาตลอด มันคือ performing arts แบบ physical theatre ที่ไม่มีสคริปต์ ไม่มีเรื่อง ไม่มีแบ็กกราวนด์ มีแต่เรากับร่างกายที่ต้องทำท่าอะไรไม่รู้ไปเรื่อยๆ ทำไปงงไปจนจะแสดงจริงอยู่แล้วก็ยังงงและไม่กล้าชวนใครมาดู

กระทั่งเราได้เห็นวิดิโอการฝึกซ้อมถึงได้เข้าใจทะลุปรุโปร่งว่ามันคือการสื่อสารอีกแบบหนึ่งซึ่งใช้ภาพและความนามธรรมเล่าเรื่องโดยไม่มีเนื้อเรื่องหรือตัวละครที่มีความสัมพันธ์กัน เราจึงรู้สึกมีส่วนร่วมในการสร้างงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าแสดงตามบทละครที่ทุกอย่างมีตัวละครและคำพูดทั้งหมดให้เราแสดงตาม จนหลงรักการแสดงแบบ physical theatre ซึ่งเป็นแนวย่อยของ performing arts ไปเลย

แล้วจากคนรักงาน physical theatre กลายเป็นคนทำงานด้านการเมืองได้ยังไง

มันคงหล่อหลอมจากการทำงานกับ B-Floor ที่ไม่ว่าสังคมจะสงบสุขหรือวุ่นวาย กลุ่มละครกลุ่มนี้ก็จะตั้งคำถามกับสังคมอยู่เสมอเพราะเชื่อว่างานทุกงานที่สร้างออกมาต้องกระเพื่อมความคิดคนหรือประเด็นบางอย่างในสังคม ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะลงแรงทำไปทำไม 

เราจึงทำงานจากความเชื่อของตัวเองตลอดจนแทบทำงานแบบอื่นไม่เป็น ก่อนทำงานทุกครั้งก็ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่ากำลังส่งอะไรให้คนดู แล้วสิ่งที่คนดูได้รับมันมีประโยชน์ยังไง และทั้งหมดนี้ต้องดำเนินไปด้วยแพสชั่น

อย่างงานกำกับและแสดงเดี่ยวครั้งแรกของเราที่ชื่อ ‘I Didn’t Launch a Thousand Ships’ หรือ ‘งามหน้า’ ก็เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารปี 2557 ที่ช่วงนั้นมีการประกาศค่านิยม 12 ประการและพูดเรื่องความเป็นไทยบ่อยมากจนเรารำคาญว่าความเป็นไทยคืออะไร งานนี้เราจึงเล่นกับเลเยอร์ความงามในระดับสังคมที่โหยหาเปลือกนอกที่ไม่มีการประท้วง ไม่มีการปะทะ แต่ภายใต้ความงามนั้นมันเน่าเฟะมากขนาดไหน และเล่นกับความงามระดับตัวตนที่เราเป็นผู้หญิงที่เกิดมาก็ถูกสอนว่าเราต้องสวยตลอดเวลาโดยที่เราไม่ได้สำรวจด้วยซ้ำว่าอยากสวยจริงหรือเปล่า

จากนั้นประมาณ 2 ปีเราก็กลับมาทำงานเดี่ยวอีกครั้งชื่อว่า ‘โอ้! โอด’ ที่เราเปลือยเกือบหมดแล้วเอาท่ารำไทยแม่บทมายืดออกโดยมีสุรชัย เพชรแสงโรจน์ เอาวัสดุต่างๆ มาปั้นเหมือนเราเป็นรูปปั้นซึ่งก็สื่อสารเรื่องสังคมและการเมืองเหมือนเดิม 

ความเชื่อและแพสชั่นเหล่านี้ถูกตีความออกมายังไง เพราะปัญหาหนึ่งที่ผู้ชมรวมถึงเราประสบจากการชมงาน physical theatre คือดูไม่รู้เรื่อง 

ผู้กำกับจะโยนโจทย์ให้นักแสดง เราต้องตีความโจทย์นั้นและสร้างการเคลื่อนไหวออกมา ถ้ามันเข้ากับโจทย์ผู้กำกับจะคัดเลือกท่านั้นเป็นวัตถุดิบในการแสดง แล้วจึงนำท่าต่างๆ มาร้อยเรียงกันแทนการร้อยเรียงภาษาอย่างบทละครพูด 

ดังนั้น ถ้าดูรู้เรื่องคือมหัศจรรย์มากเพราะมันไม่มีเรื่องให้ดู ไม่มีภาษาให้ฟังแต่มันคือการที่คุณได้รับประสบการณ์ ความรู้สึก ณ การเคลื่อนไหวหรือโมเมนต์นั้นๆ แล้วไปคิดต่อว่ามันชวนคุณคิดถึงความทรงจำหรือประสบการณ์ครั้งไหนโดยไม่ใช้สมองแต่ใช้ประสาทสัมผัส ผู้ชมต้องมาใช้เวลาและสถานที่เดียวกันกับศิลปิน ต้องรับรู้ถึงห้วงเวลาและอุณหภูมิที่เกิดขึ้น ต้องเห็นนักแสดงเป็น อยู่ คือในฐานะมนุษย์ ผ่านการหายใจและเหงื่อที่ไหล นี่คือหน้าที่ของงานประเภทนี้

ในอีกแง่หนึ่งนี่ไม่ถือเป็นข้อเสียหรือ

เป็น มันทำให้คนดูน้อย แต่สำหรับเรา มันกลับย้อนไปที่เรื่องว่าคนไทยไม่มีวัฒนธรรมการชมงานหรือคิดงานแนวนามธรรม ตั้งแต่ตอนเรียนก็ต้องพยายามตีโจทย์ให้ได้ว่าละครเรื่องนี้มีธีมอะไรทั้งที่มันอาจไม่มีธีมก็ได้ เพราะตอนที่นักการละครคิดงานขึ้นมาเราอาจไม่ได้คิดถึงทฤษฎีขนาดนั้นแต่เราคิดถึงเครื่องมือในการสื่อสาร ทฤษฎีเหล่านี้ถูกคิดขึ้นมาโดยนักวิจารณ์และนักการละครเพื่อสร้างเป็นหลักสูตรการศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างงานละครบางอย่างซึ่งเราไม่ได้บอกว่าผิดแต่หลักสูตรเหล่านี้อาจเป็นหลักการสร้างงานตั้งแต่ 40 ปีที่แล้วของศิลปินชั้นครูที่มีคนไปเรียนแล้วมาถ่ายทอดแต่พอเวลาผ่านไป ศิลปินคนนั้นอาจเปลี่ยนวิธีคิดไปแล้วแต่หลักสูตรที่สอนต่อๆ กันอาจยังเป็นอันเดิมอยู่

และอีกสิ่งสำคัญที่คนดูน้อยคือเราว่างานการแสดงไม่ถูกมองเป็นศิลปะแต่เป็นความบันเทิงเพราะอะไรก็ตามที่แสดงอยู่บนเวทีล้วนเป็นความบันเทิงของประเทศนี้ทั้งสิ้น เวลาคนจะดูงานศิลปะสักชิ้นเลยมักเข้าแกลเลอรีมากกว่าฟังดนตรีหรือดูละคร 

เรื่องนี้ทำให้ศิลปินหืดขึ้นคอทุกครั้งเมื่อจะสร้างงานเพราะการที่คนดูน้อยหมายถึงรายได้ของศิลปินก็น้อยเช่นกัน 

อีกอย่างประเด็นนี้มันขึ้นกับการสนับสนุนจากรัฐด้วย เราคิดว่าต่อให้ประชาชนรักศิลปะแทบตายแต่ถ้าโครงสร้างประเทศไม่หนุนศิลปะก็อยู่ไม่ได้ ครูศิลปะจะกลายเป็นแค่ช่างเขียนตัวอักษรบนกระดาน วิชาศิลปะจะจำกัดแค่การวาดรูประบายสีหรือบางทีก็ถูกตัดออก กลับกันในประเทศที่ศิลปะแข็งแรง โครงสร้างการศึกษาจะให้ความสำคัญกับวิชานี้และทำให้เด็กเข้าใจวิถีทางของศิลปะประเภทอื่น การเรียนการสอนจะมีหลักสูตร Arts Manager หรือนักบริหารจัดการศิลปะที่คอยสนับสนุนเรื่องการหาทุน การประชาสัมพันธ์ หรือการหาพื้นที่ฝึกซ้อมการแสดงให้ศิลปิน ศิลปินจึงหมกมุ่นกับการแสดงของตัวเองอย่างเดียวก็ได้ 

อย่างเมื่อก่อนเราไม่ได้ซ้อมละครกันที่นี่แต่มักซ้อมที่สถาบันปรีดีที่เป็นแหล่งฟูมฟักนักการละครทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็ก ภาพที่จำได้คือด้านล่างมีกลุ่มการแสดงหนึ่ง ด้านบนก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่ซ้อมกันจนดึกดื่น แต่พอสถาบันเปลี่ยนกลุ่มบริหาร กฎก็เข้มงวดขึ้น ค่าเช่าสูงขึ้น เวลาการใช้สถานที่เปลี่ยนไปโดยไม่เข้าใจว่านักการละครส่วนใหญ่มีงานประจำกันจึงมีเวลาว่างแค่ช่วงเย็น นักการละครจึงทยอยออกมาเรื่อยๆ จนสถาปันปรีดีร้างในที่สุด 

BIPAM จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

ในแรกเริ่ม BIPAM เกิดขึ้นจากชู้ต–ชวัตถ์วิช เมืองแก้ว (Executive Producer ของ BIPAM) ที่อยากมีแพลตฟอร์มส่วนกลางของคนละครเพื่อให้ภาครัฐมองเห็นศักยภาพของวงการและหันมาให้ความสำคัญกับการสนับสนุนศิลปะการแสดงร่วมสมัยหรือศิลปะการแสดงรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้นเพราะโดยปกติรัฐจะสนับสนุนศิลปินที่ชอบเท่านั้น เช่น ศิลปินในขนบ ศิลปินที่ดังอยู่แล้ว หรือคนที่เขียนโครงการเข้ากับเงื่อนไขของรัฐอย่างกองทุนสื่อ

พอดีช่วงนั้นทีม BIPAM ไปร่วมงาน TPAM ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นเทศกาลจัดประชุมและจัดแสดงที่ศิลปินจากทั่วโลกบินมาร่วมงาน เพราะเขารู้ว่านี่คือแหล่งคอนเนกชั่น แรงบันดาลใจ และความรู้ใหม่ๆ ทุกครั้งที่ศิลปินไทยไปงานนั้นเราก็จะคุยกับศิลปินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะมีภูมิหลังคล้ายกัน หลายครั้งเข้าก็เลยคิดว่าทำไมถึงไม่มีงานแบบนี้ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างที่กรุงเทพฯ บ้าง เพราะถ้ามันประสบความสำเร็จ ศิลปินในภูมิภาคนี้ก็จะถูกเห็นมากยิ่งขึ้น 

พอคิดแบบนั้นชู้ตจึงใช้เวลาแค่ 3-4 เดือนจัดงานขึ้นมาโดยรูปแบบงานคือมีการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นและการจัดแสดงงานเช่นเดียวกับ TPAM ช่วงนั้นก็ทำขึ้นมาแบบงงๆ วุ่นๆ จนปีที่ 2 เขาก็ชวนให้เราและอีกหลายคนเป็น Artistic Director เพราะเขาไม่อยากเป็นเจ้าของมันคนเดียว ซึ่งสุดท้ายเรารับเป็น Artistic Director และมีคนอื่นๆ ที่เป็นบอร์ดของ BIPAM ช่วยคิดงานขึ้นมา

พอเข้ามาทำงานตรงนี้แล้วเป็นยังไงบ้าง

BIPAM เหมือนเด็กที่ค่อยๆ โต จากปีแรกที่ทำอย่างงงๆ เราเริ่มรู้มากขึ้นว่าจะจัดงานยังไง ปีที่สองเราเริ่มจากโจทย์ที่ว่าอยากให้รัฐบาลสนใจเลยดึงคนที่ทำงานประเพณีมาปะทะกับงานร่วมสมัยแต่พอเรียนรู้ว่ารัฐไม่สนใจปีต่อมาก็เริ่มเปลี่ยนโจทย์ไปเรื่อยๆ 

อย่างปี 2019 ที่ประสบความสำเร็จมากคือโจทย์ Eyes Open ที่เรามองว่ามันคือประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่คนภูมิภาคนี้มีร่วมกัน งานที่คนพูดถึงที่สุดคืองานที่ผู้กำกับไทยทำงานร่วมกับศิลปินกัมพูชาที่เต้นแบบร่วมสมัยเพื่อสื่อสารถึงประวัติศาสตร์ที่หล่นหายของประเทศเขาจากสงครามเขมรแดงและสื่อสารเรื่องสังคมปิตาธิปไตยที่ผู้หญิงถูกก่นด่าจากสังคมเพียงเพราะแต่งตัวโชว์เนื้อหนังหรือทำอะไรนอกขนบ

ส่วนธีมปีนี้เราได้แรงบันดาลใจจากงานชิ้นหนึ่งของคนอิสราเอลที่หยิบเอาความพิการของศิลปินมาทำให้กลายเป็นสิ่งที่มีพลังและงดงามมากๆ จนคำว่า ‘ownership’ ลอยออกมาว่าถ้าคุณอยู่ในประเทศไทยที่มองว่าคนพิการไร้ความสามารถ น่าสงสาร คุณจะเป็นอีกแบบหนึ่งแต่ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับความเป็นเจ้าของ คุณก็จะเป็นเจ้าของความพิการนั้นและแปลงเป็นพลังวิเศษที่ทำให้คุณไม่เหมือนคนอื่นซึ่งเราอยากนำงานนี้มาแสดงในไทยมากแต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 เขาจึงไม่ได้มา 

เราจึงเอาคำนั้นมาตีความออกเป็นหลายแง่มุม หนึ่งในนั้นคือเรื่องลิขสิทธิ์ที่เราเห็นว่าถ้าศิลปินเข้าใจเรื่องความเป็นเจ้าของผลงานมันจะทำให้เขามีความเป็นมืออาชีพและสามารถทำงานในระดับนานาชาติ รวมถึงยกระดับแวดวงศิลปะการแสดงของไทยให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ส่วนของเวิร์กช็อป 1 วันจาก 2 วันของเราจึงจัดขึ้นในธีมนี้ โดยได้รับความร่วมมือจาก IP Key South-East Asia ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับทุนจากสหภาพยุโรป (EU) กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และ CEA หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) 

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมทอล์ก ซึ่งมีทั้งการเสวนาแบบมีวิทยากรและการสนทนากลุ่มเล็กในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแสดงหรือธีมปีนั้นๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วมหลากหลายชาติ ทำให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจระหว่างต่างวัฒนธรรม หรือเป็นโอกาสให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ 

ส่วนการแสดง เราให้ศิลปินสื่อสารถึงความเป็นเจ้าของร่างกาย เพศ ประวัติศาสตร์ ช่วงอายุ กระทั่งสถานะความเป็นพลเมือง โดยจับคู่ศิลปินที่ปกติไม่ได้ทำงานร่วมกันหรือศิลปินต่างชาติมาแสดงร่วมกันเพื่อท้าทายเขาและส่งต่อคำว่า ‘ownership’ ถึงคนดูอีกรอบว่าถ้าคุณตระหนักเรื่องความเป็นเจ้าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นอกจากคุณจะไม่โยนความรับผิดชอบให้คนอื่นแล้วคุณจะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

ทำมานานถึง 4 ปีแล้ว คุณเห็นอะไรในวงการนี้บ้าง

เราว่าศิลปินไทยเจ๋งมากแต่วงการนี้กำลังจะอิ่มตัวถ้าไม่มีตัวกระตุ้นอย่างการได้ดูงาน แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ระหว่างคนแวดวงเดียวกันไม่ว่าจะจากประเทศไหน เพราะเวลาที่เราคิดอะไรได้หรือเห็นภาพกว้างของงานแต่ละชิ้นก็เกิดจากการที่ได้ไปปะทะความคิดกับศิลปินประเทศอื่นทั้งนั้น

เราจึงคิดว่ามันต้องมีสิ่งนี้ มันไม่ต้องเป็น BIPAM ก็ได้แต่มันต้องมีกลุ่มที่จะขับเคลื่อนวงการ มันต้องมีคนกระทุ้งกระบะทรายที่มีลูกบอลหลายๆ ลูกอยู่ในนั้นเพื่อให้ลูกบอลมันกระเด้ง กระดอน ไม่อยู่เฉยๆ เราเห็นภาพแบบนั้น

ซึ่งสิ่งที่คุณคาดหวังมันเกิดขึ้นหรือยัง

มันค่อยๆ เกิดขึ้น จากที่เมื่อก่อนเราแทบขอร้องให้ทุกคนมางาน เดี๋ยวนี้ทุกคนสมัครร่วมงานกันเองมากขึ้นแล้วเพราะเห็นว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการมาพูดคุยกัน เขาเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าศิลปินจะอยู่กันเองไม่ได้ เข้าใจมากขึ้นว่าไม่ใช่ว่าสร้างงานแล้วจบ แต่ต้องไปต่อด้วยการหาความรู้ ประสบการณ์ บทสนทนา และแรงบันดาลใจใหม่ๆ แถมอาจได้คอนเนกชั่นจากการเข้าร่วมด้วย

ส่วนคนภายนอกก็รับรู้การมีอยู่ของศิลปะการแสดงและ BIPAM มากขึ้น คนไทยเริ่มมาดูงาน ส่วนคนต่างชาติก็รู้แล้วว่าถ้าจะติดต่อกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ควรเข้ามาหา BIPAM จนเราได้รับเชิญไปต่างประเทศบ่อยมาก

แล้วคุณคาดหวังว่าทิศทาง performing arts ในไทยจะเป็นยังไงต่อไป

เราอยากให้มันเป็นเรื่องปกติในสังคม เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพไหนคุณก็ยังดูละครเพราะรู้ว่ามันมีสิ่งสำคัญบางอย่างกับชีวิต อยากเห็นศิลปะการแสดงไม่ว่าจะรูปแบบไหนอยู่ในหลักสูตรการศึกษา เพราะมันคือกิจกรรมที่ทำให้เด็กเรียนรู้ศิลปะ เรียนรู้การทำงานร่วมกัน เรียนรู้การกระจายงาน เรียนรู้ว่าใครมีตำแหน่งแห่งที่ตรงไหน และกระทั่งเรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตยในการสร้างงาน 

จริงๆ ไม่อยากพูดแล้วเพราะรู้ว่ายังไงเขาก็ไม่สนใจ แต่เรายังอยากเห็นการสนับสนุนจากภาครัฐในเชิงโครงสร้างอยู่ดี ไม่ใช่ว่าเรียกร้องการโยนเงินมาให้เรานะ แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราอยากเห็นนโยบายที่ทำให้ศิลปะเป็นสวัสดิการ เราอยากเห็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียเงินแพงมากถึงจะได้ดู

เพราะเราว่าศิลปะมันไม่มีประโยชน์ถ้าลิมิตแค่คนมีฐานะ มันต้องมีอยู่ได้ทั่วไป

ถ้าให้สรุปตลอดการเป็นศิลปินในแวดวงนี้กว่า 16 ปี คุณคิดว่าคุณค่าของศิลปะการแสดงคืออะไร

เราว่าในความเป็นจริงคนคนหนึ่งสามารถใช้ชีวิตจนตายโดยไม่ต้องดูงานศิลปะสักชิ้นก็ได้ แต่ความเป็นมนุษย์มันไม่ได้มีแค่การแต่งงาน มีครอบครัว หรือทำงานหามรุ่งหามค่ำไง มันมีด้านที่ตัวคุณเชื่อมโยงกับความเป็นเพื่อนร่วมโลก ธรรมชาติ และความเป็นไปของจักรวาล 

ในวันที่ชีวิตคุณแห้งแล้งมากๆ ความรักและศิลปะอาจทำให้คุณเป็นคนที่ลุ่มลึกขึ้น เป็นคนที่เข้าใจความงามของโลกมากขึ้น แล้วถ้าคุณเจอด้านดีของตัวเอง ใจคุณอาจสงบขึ้น หรือโลกอาจจะร้ายกับคุณน้อยลงซึ่งมันฟังดูเป็นเรื่องเพ้อเจ้อเหมือนกันนะ แต่ว่าในห้วงชีวิตที่ดำมืดที่สุดของมนุษย์และในวันที่บ้านเมืองมันแย่มากๆ เรื่องเพ้อเจ้อพวกนี้แหละที่คุณต้องการ เรื่องเพ้อเจ้อจากศิลปะเหล่านี้แหละที่จะเป็นประตูพาคุณทะลุถึงภวังค์ของการรับรู้ความหมายและความงามของชีวิต

เราว่าศิลปะทุกชนิดนำไปสู่สิ่งเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น แต่ศิลปะการแสดงมันอาจนำให้คุณเข้าถึงสิ่งนี้ได้ง่ายหรือเร็วกว่าเพราะในหนึ่งชั่วโมงของศิลปะการแสดง คุณได้เอาใจไปลองเป็นคนอื่น ได้เอาใจไปผ่านความตื่นเต้น เศร้า หรือเครียด ที่เราในฐานะศิลปินกำลังมอบให้คุณผ่านศิลปะซึ่งเราไม่ได้มอบมันผ่านวัตถุหรือสิ่งอื่นใด

แต่เรามอบมันผ่านความเป็นมนุษย์

ขอบคุณสถานที่: B-Floor Theatre

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย