TPAM : เที่ยวเทศกาลการแสดงระดับโลกที่โยโกฮามา

ก่อนเก็บกระเป๋าไปญี่ปุ่นตามคำเชิญของเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ
เรารู้แค่ว่าโยโกฮามาเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ และเป็นเมืองอุตสาหกรรม ภาพในหัวของเราจึงเป็นสีทึมเทาเคร่งขรึม
แต่เมื่อเดินทางถึงที่หมาย โยโกฮามากลับต้อนรับเราด้วยวิวสวย ลมแรง
และเทศกาลการแสดงยิ่งใหญ่ที่เป็นจุดหมายของนักการละครทั่วโลก

Performing
Arts Meeting in Yokohama ที่มีชื่อเล่นว่า TPAM เป็นเทศกาลศิลปะการแสดงที่จัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 1995 โดยเริ่มจัดที่โตเกียว และย้ายมาจัดที่โยโกฮามาตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 10 วันแสนสนุก
มีละครหลายรูปแบบ การแสดงเต้น และคอนเสิร์ตให้เราตามไปชมแบบเต็มอิ่ม
สิ่งที่น่าดึงดูดใจของงานนี้คือรายชื่อศิลปินที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชาวญี่ปุ่น
แต่เป็นศิลปินนานาชาติมากกว่าครึ่ง เมืองท่านี้จึงกลายร่างเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมการแสดงเจ๋งๆ
ทั่วเอเชียมาไว้ที่เดียว เราเลยได้เดินกระทบไหล่นักดนตรีชาวบรูไน
หัวหน้าคณะบัลเลต์เอสโตเนีย ผู้กำกับโอเปร่าจากเม็กซิโก โปรดิวเซอร์ คิวเรเตอร์ และศิลปิน จากหลายทวีปที่บินมางานนี้โดยเฉพาะ

ความพิเศษของปีนี้คือมีการแสดงร่วมสมัยจากศิลปินไทยถึง
2 งาน ที่ถูกคัดเลือกเข้าโปรแกรม TPAM Direction
หรือการแสดงหลักของเทศกาล ห้วงฝันเหนือจริงใน Fever Room ห้องแห่งความป่วยไข้ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนังจอเงินที่เปิดมิติใหม่ในโรงละครเป็นครั้งแรก
ทำให้เราและผู้ชมอีกนับพันตื่นตะลึง ก่อนจะไปบันเทิงเริงใจกับ Samut Thai:
Unfinished Histories งานวัดจำลองสุดแสบที่คิวเรเตอร์ชาวสิงคโปร์ Tang
Fu Kuen รวมเอาวิดีโออาร์ต, ดนตรี, Installation Art และการแสดงจากศิลปินหลายชีวิต เช่น
การตั้งคำถามกับการจ่ายเงินซื้อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของ พิเชษฐ์ กลั่นชื่น และการเล่าชีวิตผ่านลิเกของ ประดิษฐ์
ประสาททอง สองศิลปินศิลปาธรจากเมืองไทย

พิพิธภัณฑ์ศิลปะโยโกฮามายามค่ำคืนกลายเป็นฉากชีวิตใน
Taipei
Notes ฝีมือผู้กำกับ Oriza Hirata ที่กำลังจะทำละคร
Bangkok Notes ที่เมืองไทยในปีนี้
เราเข้าโรงละครอีกหลายครั้งเพื่อไปดูการเต้นทรงพลังจากสาวๆ อินโดนีเซียจาก
EkosDance Company ใน Balabala ลีลาพลิ้วไหวของแฝดสาวชาวญี่ปุ่นใน Zero One ของ Yasuko
Yokoshi และไปนั่งอ่านเอนไซโคลพีเดียฉบับเฉพาะกิจตลอด 1 ชั่วโมงเต็มในงาน
Performance Encyclopedia ของ Public Recordings

หลังจากนั้นเราเปลี่ยนไปชม TPAM
Fringe หรือการแสดงจากศิลปินอื่นๆ ที่สมัครเข้าร่วมเทศกาล เช่น เบรกแดนซ์จากนักเต้นฝรั่งเศส
มิวสิคัลจากมาเก๊า คอนเสิร์ตออร์เคสตร้าเกาหลี
ละครคลาสสิกของนอร์เวย์ที่เล่นโดยชาวนิปปอน และงานที่เราชอบที่สุดคือ Move
to meet – a blind date experiment ละครหนึ่งต่อหนึ่งของนักเต้นฮ่องกง Michele Chung ซึ่งเล่นในคาเฟ่เล็กๆ
เธอจูงเราเคลื่อนไหวไปรอบห้องโดยที่เราทั้งคู่ผูกผ้าปิดตา
หลังจากนั้นก็นั่งจิบชาร้อนและกินข้าวแกงกะหรี่ด้วยกันอย่างอบอุ่น

นอกจากการแสดงมากมายที่พร้อมใจจัดในโยโกฮามาและโตเกียว
เทศกาลนี้ยังมีโปรแกรม TPAM Exchange ที่เปิดโอกาสให้นักการละคร
ผู้เกี่ยวข้องสาขาต่างๆ รวมถึงผู้สนใจ
ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และเชื่อมสัมพันธ์กัน
หรือใครดูการแสดงชิ้นไหนแล้วมีข้อสงสัย อยากไปฟังเบื้องหลังจากศิลปินก็ทำได้ เช่น
งานเสวนาเรื่อง Fever Room ผู้ชมชาวญี่ปุ่นที่ติดใจก็มาพูดคุยกับผู้กำกับกันเต็มห้อง
ถ้าช่วงกลางวันยังแลกนามบัตรกันอย่างเหนียมอาย TPAM ยังกันพื้นที่ลึกลับในบาร์ใต้ดิน
Amazon Club ไว้เป็นวงเสวนาให้ศิลปินทั่วโลกเข้าไปสนทนาแบบผ่อนคลายทุกค่ำคืน
โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และศิลปินเอง ต่างรอคอยที่จะได้ส่งออกผลงานเด็ดในมือ
และชักชวนงานดีๆ มาลงพื้นที่ของตนเอง

โอกาสที่เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ มอบให้เราในฐานะสื่อและคนทำงานสร้างสรรค์
สร้างแรงบันดาลใจเข้มข้นจากการแสดงนานาและการพูดคุยกับผู้คนหลากวงการ
เทศกาลศิลปะมอบพลังสร้างสรรค์ ความมีชีวิตชีวา
และความเชื่อมั่น ในความมหัศจรรย์ของการแสดง
มนตร์เสน่ห์ของโรงละครทำให้เราตกหลุมรักครั้งแล้วครั้งเล่า จนอยากชวนให้ไปพิสูจน์ความสนุกของเทศกาลนี้ด้วยตัวเองในปีหน้า

TPAM (Performing Arts Meeting in Yokohama)

date : เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ติดตามกำหนดการปีหน้าได้ที่ www.tpam.or.jp
how to get there : นั่งเครื่องบินจากไทยไปลงสนามบินนาริตะ โตเกียว แล้วนั่งรถบัสหรือรถไฟไปโยโกฮามา โรงละครและพื้นที่จัดงานมีหลายแห่ง สามารถเดินทางไปแต่ละจุดด้วยการคมนาคมสาธารณะและเดินเท้า เช่น KAAT Kanagawa Arts Theatre, Yokohama Museum of Art, BankART Studio NYK, YCC Yokohama Creativecity Center, ZOU-NO-HANA Terrace และ Amazon Club

map

ขอบคุณ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ

ภาพ Hideto Maezawa, Fever Room, ภัทรียา พัวพงศกร

ใครอยากส่งเรื่องที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

AUTHOR