ไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิต : งานศิลปะที่แปลงข้อมูลที่เรารู้ ให้เป็นเรื่องที่เรารู้สึก

สงครามครั้งนี้คร่าชีวิตคนไปกว่า 50,000 ภัยพิบัติพรากชีวิตคนไปหลายพัน, ประชากรกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของประเทศกำลังอดอยาก, โรคระบาดทำให้ประชาชนกว่า 100,000 คนล้มตาย ฯลฯ ไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิต

ตั้งแต่บทเรียนในหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษาจนถึงข่าวในนิวส์ฟีด บ่อยครั้งที่เรื่องราวในโลกถูกส่งมาถึงเราในรูปแบบของ ‘ตัวเลข’ และ ‘สถิติ’ ชุดตัวเลข 0-9 และเส้นกราฟง่ายต่อการสรุปความ สื่อสาร ส่งต่อ และจัดเก็บในฐานข้อมูล แต่ก็อย่างที่ Joseph Stalin กล่าวว่า “หนึ่งความตายคือโศกนาฏกรรม ล้านความตายคือสถิติ” บางครั้งขนาดของข้อมูลที่ใหญ่และจำนวนตัวเลขที่มหาศาลก็ห่างไกลเกินขอบเขตการรับรู้และดูไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตจนทำให้สมองและร่างกายเล็กๆ ของเรายากจะจินตนาการและประมาณความรู้สึกที่จะมีให้กับตัวเลขและสถิติเหล่านี้ได้

ยกตัวอย่างโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว 6,000,000 คนคือตัวเลขจำนวนประมาณการผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น เลข 7 หลักฟังแล้วน่าสนั่นพรั่นพรึงก็จริง แต่ไม่อาจทำให้เรารู้สึกหดหู่ได้เท่าตอนที่กำลังยืนอยู่หน้ากองแว่นสายตาและรองเท้าขนาดมหึมา อดีตของในครอบครองของชาวยิวที่ถูกสังหารซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เอาชวิตซ์-เบียร์เคเนา แม้จำนวนวัตถุเหล่านั้นอาจไม่มากมายถึงล้านชิ้น ทว่าเรารับรู้ได้ว่าแว่นตาทุกอันล้วนเคยอยู่บนใบหน้าใครสักคน รองเท้าทุกคู่เคยมีเจ้าของ กะขนาดด้วยสายตาก็พอจะรู้ว่าเขาเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิต

เมื่อเรามองทะลุตัวเลขเข้าไปเห็นผู้คน รับรู้เรื่องราวนั้นในสเกลของมนุษย์ผู้เชื่อมโยงได้กับตัวเรา เมื่อนั้นเราจึงเริ่มตระหนักถึงความเลวร้ายของสงครามและความเจ็บปวดของผู้คนอย่างที่ตัวเลขและสถิติไม่อาจทำให้เรารู้สึกได้ ไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิต

แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถรับรู้ทุกเรื่องราวบนโลกในสเกลของมนุษย์ได้ทั้งหมด เช่น เรื่องราวเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ห่างไกลจากเรามาก เรื่องราวที่กลายเป็นอดีต หรือเรื่องใหญ่ในสเกลที่เราไม่สามารถหาจุดเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน งานศิลปะหลายชิ้นจึงช่วยทำหน้าที่แปลค่าข้อมูลทางสถิติให้กลายเป็นความรู้สึกและประสบการณ์ที่เรารับรู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น และร่างกาย ในแบบที่ตัวเลขไม่สามารถให้เราได้

ไกลสู่ใกล้ ใหญ่สู่เล็ก

234,000 ตัน คือปริมาณน้ำแข็งในกรีนแลนด์ที่ละลายใน 1 ปีจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และตลอด 27 ปีที่ผ่านมาอัตราความเร็วในการละลายของก้อนน้ำแข็งเหล่านี้มีแต่จะเร็วขึ้น 

ข้อเท็จจริงนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ประสบการณ์ของคนตัวเล็กๆ อย่างเราไม่อาจพาการรับรู้ไปถึงจุดที่ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ ‘แค่ไหน’ เราเคยเห็นน้ำแข็งก้อนใหญ่ในร้านขายส่ง ใหญ่กว่านั้นอาจเป็นก้อนที่เมืองหิมะในดรีมเวิลด์ ทว่าเรานึกไม่ออกว่าน้ำแข็ง 2 แสนกว่าตันมันใหญ่ขนาดไหน และการละลายนั้นรวดเร็วจนน่าวิตกขนาดนั้นเชียวหรือ 

แต่ถ้าเราได้เห็นก้อนน้ำแข็งที่ว่านั้นตรงหน้าเราจะรู้สึกมากขึ้นหรือเปล่า? ศิลปิน Olafur Eliasson สงสัยก่อนจะกลายมาเป็น ‘Ice Watch’ งานศิลปะที่เขายกก้อนน้ำแข็งจากธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์จริงๆ มาตั้งไว้ในพื้นที่สาธารณะในลอนดอน

“มันฟังดูนามธรรมมาก กรีนแลนด์อยู่ไกลจากเรา อยู่นอกขอบเขตที่ร่างกายและสมองของเราจะคิดไปถึง ผมแค่อยากจะเปลี่ยนเรื่องเล่าเกี่ยวกับโลกร้อนด้วยการทำให้มันถูกรับรู้ผ่านสมองและร่างกายของเรา” ศิลปินขยายความ

น้ำแข็ง 30 ก้อนที่แตกออกจากแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่น้ำหนักรวมกันกว่าร้อยตัน ถูกขนจากกรีนแลนด์มาจัดวางไว้หน้าหอศิลป์เทตโมเดิร์นและที่หน้าสำนักงานใหญ่ของสำนักข่าว Bloomberg ผู้คนที่ผ่านไปมาสามารถสังเกตการณ์และเข้ามาใช้ร่างกายสัมผัส ดมกลิ่น ชิมรสชาติ (!?) รวมถึงเฝ้ารอดูการละลายของมันได้ เมื่อผู้คนได้รับรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับก้อนน้ำแข็งเล็กๆ ที่นับเป็นเพียงแค่ 0.05 เปอร์เซ็นต์ของน้ำแข็งทั้งหมดที่กำลังละลาย คนก็เริ่มจินตนาการถึงภาพที่ใหญ่ขึ้นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกของเราน่าเป็นห่วงแค่ไหน 

ระยะเวลาการจัดแสดงขึ้นอยู่กับเวลาที่น้ำแข็งทุกก้อนจะละลายหายไปจนหมด เมื่อนั้นก็เป็นอันปิดนิทรรศการ เช่นเดียวกับธารน้ำแข็ง 2 แสนกว่าตันที่กรีนแลนด์ เมื่อมันละลายจนหมด โลกของเราก็คงถึงคราวปิดฉากเช่นกัน

ไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิต

ผลกระทบที่จะตามมาหลังการละลายของธารน้ำแข็งคือระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้น 70-130 เซนติเมตร สองศิลปินชาวฟินนิช Pekka Niittyvirta และ Timo Aho จึงจับตัวเลขที่น่าสนใจนี้มาสร้างเป็นงานศิลปะ และแม้จะสร้างขึ้นโดยคนละคน จัดแสดงคนละทวีป แต่งานนี้ก็ช่างคล้องจองกับ Ice Watch ของโอลาเฟอร์ราวกับเป็นหนังภาคต่อ

‘Lines’ คือ installation art ที่ทำขึ้นบริเวณชุมชนเลียบชายฝั่งในสกอตแลนด์ เส้นแสงลากผ่านริมน้ำ ลัดเลาะทุ่งหญ้า ตัดเข้ามายังเขตชุมชน ลากยาวผ่านบ้านเรือนของผู้คน ดูเผินๆ อาจเหมือนไฟประดับในเทศกาล ทว่ามันคือเส้นที่บ่งบอกว่าหากอุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงในอัตรานี้ต่อไปเรื่อยๆ นี่คือระดับความสูงของน้ำทะเลที่เราจะได้เห็นใน ค.ศ. 2100 

ลำพังตัวเลขอาจทำให้เห็นภาพไม่ชัด แต่เมื่อมีแสงเส้นนี้พวกเขารู้สึกได้ทันทีว่าชายฝั่งที่เคยเดินเล่นจะหายไป ที่ดินที่ใช้ทำการเกษตรจะถูกน้ำกลืนไปทั้งผืน บ้านครึ่งหลังจะจมใต้น้ำ ชุมชนจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีก และแน่นอนว่าชีวิตของผู้คนที่อยู่ตรงนี้ก็จะหายไปเช่นกัน

ไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิต

“งานศิลปะมีศักยภาพในการถ่ายทอดชุดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไปจนถึงแนวคิดที่ยากและซับซ้อนทั้งหลายด้วยวิธีที่ทรงพลังในแบบที่คำหรือตัวหนังสือไปไม่ถึง หวังว่างานชิ้นนี้จะทำให้ผู้คนนึกภาพ (ปัญหาโลกร้อน) ตามได้และเชื่อมโยงมันเข้ากับชีวิตจริงได้ดีขึ้น” ศิลปินทั้งสองกล่าว

ยกเรื่องไกลตัวมาอยู่ใกล้ตัว ถ่ายทอดประเด็นใหญ่ผ่านอะไรเล็กๆ–นี่เป็นแค่ไม้ตายแรกที่ศิลปะใช้ในการแปรเปลี่ยนตัวเลขและสถิติให้เป็นความรู้สึก กระบวนท่าถัดไปคือการสร้างอิมแพกต์ด้วยการเปลี่ยนจำนวนให้กลายเป็นปริมาณ

เผชิญหน้ากับปริมาณ

เช้าวันหนึ่งในปี 2013 ผู้คนที่มาเดินเล่นริมชายหาดนอร์ม็องดีในฝรั่งเศสต้องตกตะลึงกับภาพที่เห็น เมื่อหาดทรายผืนที่คุ้นเคยเต็มไปด้วยร่องรอยรูปร่างกายมนุษย์เกลื่อนกลาดยาวตลอดหาด แม้จะไม่ถึงกับสยองขวัญเพราะไม่มีเลือดเนื้อ แต่นั่นก็ทำให้คนตื่นตระหนกและตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ 

‘The Fallen 9000’ คืองานศิลปะที่สองศิลปินอังกฤษ Jamie Wardley และ Andy Moss ชวนอาสาสมัครกว่า 60 คน รวมถึงคนในพื้นที่อีกกว่า 500 คน มาขูดขีดผืนทรายสร้างร่องรอยรูปมนุษย์จำนวน 9,000 รูปเพื่อระลึกถึงผู้คนที่เสียชีวิตจากการยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งนอร์ม็องดีในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรียกกันว่า D-Day โดยจำนวนคนเหล่านั้นมีทั้งทหารเยอรมัน ทหารฝ่ายสัมพันธมิตร และพลเรือน 

ไม่ใช่ทุกคนที่จะนึกภาพความตายจำนวนมหาศาลขนาดนั้นออก แต่ทันทีที่ภาพร่างมนุษย์ทั้ง 9,000 ภาพถูกประทับลงจนครบ ทุกคนก็ประจักษ์ด้วยสายตาพร้อมกันว่าปริมาณของมันกินพื้นที่ชายหาดไปหลายร้อยเมตร นี่แหละความโหดร้ายของสงคราม

งานศิลปะชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ตรงนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะถูกชะล้างหายไปด้วยคลื่นทะเล แต่นอกจากการตระหนักถึงความสูญเสียจากสงคราม The Fallen 9000 ยังเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันผ่านกิจกรรมขุดทราย นั่นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่พวกเขาจะคุยกันเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ของตัวเอง บางรอยประทับอาจหมายถึงเป็นคุณปู่ คุณทวด เพื่อนซี้ หรือคนรักของใครสักคน เพราะเบื้องหลังตัวเลข 9,000 คือชีวิตคนที่เคยมีอยู่จริง

ไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิต
Image: Jean Yves Desfoux/Maxppp /Landov

ทุกตัวเลขมีชื่อเรียก ใบหน้า และเรื่องราวให้กล่าวขาน

ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2020 หนังสือพิมพ์ The New York Times พาดหัวว่าประชากรในอเมริกาเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิดไปแล้วถึง 100,000 คน แทนที่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ในวันนั้นจะประกอบด้วยพาดหัวข่าวต่างๆ และภาพถ่ายเหมือนทุกวัน พื้นที่ทั้งหน้ากระดาษกลับอุทิศให้กับรายชื่อผู้เสียชีวิตจำนวน 1,000 คน (นับเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด) พร้อมระบุอายุ เมืองที่อยู่อาศัย และเรื่องราวสั้นๆ ของพวกเขา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หัวนี้มีเพียงตัวหนังสือ 

ไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิต

“Alan Lund, 81, รัฐวอชิงตัน, คอนดักเตอร์ผู้มีหูสุดมหัศจรรย์”

“Lorena Borjas, 59, เมืองนิวยอร์กซิตี้, นักเคลื่อนไหวเพื่อผู้ลี้ภัยทรานส์เจนเดอร์”

“Jean-Claude Henrion, 72, เมืองแอตแลนติส, ขี่ Harley-Davidson เป็นชีวิตจิตใจ”

“Patricia H. Thatcher, 79, เมืองคลิฟตันปาร์ค, ร้องเพลงในโบสถ์มา 42 ปี”

“Jerome Berrian, 64, เมืองชิคาโก, สนุกกับการขับรถทางไกล, ยามค่ำคืน กับอาหารมื้อใหญ่”

แทนที่จะใส่อินโฟกราฟิกรูปคน 100,000 คนเพื่ออุทิศให้ผู้สูญเสีย Simone Landon ผู้ช่วยบรรณาธิการแผนกกราฟิกกลับบอกว่า “วิธีนั้นไม่สามารถบอกเล่าได้ว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นใครและชีวิตของเขาเป็นยังไง นี่ต่างหากคือสิ่งที่มีความหมายสำหรับพวกเราในฐานะประเทศหนึ่ง” เธอจึงรวบรวมข่าวและประกาศผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จากหนังสือพิมพ์เล็กใหญ่ทั่วประเทศ พร้อมต่อท้ายด้วยข้อความที่คัดมาเพื่อบอกเล่าถึงพวกเขา ทั้งหมดนี้เพื่อบอกว่า ‘จำนวนตัวเลข’ ไม่ได้สำคัญเท่ากับ ‘ชีวิตคน’ ที่สูญเสีย ทุกคนต่างมีชื่อ มีที่อยู่ และมีเรื่องราวของตัวเอง

ในขณะที่หน้าหนึ่งของ The New York Times บอกเราว่าภายใต้ตัวเลขคือชีวิต งานศิลปะชิ้นต่อไปนี้บอกเราว่า ‘ภายใต้ตัวเลขคือความทรงจำของใครบางคน’

ไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิต

26 มีนาคม 2019 ผู้คนที่เดินอยู่บนถนนเบื้องล่างรอบอาคาร The London Studios กำลังตื่นตระหนก สายตามองไปยังยอดตึกพบร่างมนุษย์ 72 ร่างยืนอยู่บนดาดฟ้า บนยอดตึกฝั่งตรงข้ามก็มีมนุษย์ 12 คนยืนอยู่บนนั้นด้วยท่าทางเดียวกัน มนุษย์ทั้ง 84 คนกำลังจะทำอะไรกันแน่?

เราต้องเล่าย้อนกลับไปถึงสถิติที่น่าตกใจในอังกฤษที่ว่าทุกสัปดาห์จะมีคนถึง 125 คนตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง และ 75 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนั้น–หรือนับเป็น 84 คน–เป็นผู้ชาย ถือเป็นอัตราที่สูงมากจนผิดสังเกต จากการสำรวจพบว่าสาเหตุเริ่มต้นมาจากการเป็นคนตกงาน ไร้บ้าน ติดสารเสพติด และทุกปัญหานำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต แต่สิ่งตอกย้ำให้ปัญหาสาหัสขึ้นคือสังคมที่สร้างภาพจำว่าเพศชายต้องเข้มแข็ง ห้ามแสดงความอ่อนแอ จึงมีผู้ชายน้อยมากที่สบายใจในการพูดถึงความรู้สึกหรือแม้แต่เผชิญหน้ากับความอ่อนแอของตัวเอง 

ปัญหาสุขภาพจิตในประชากรผู้ชายชาวอังกฤษอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วง ทว่าปัญหานี้กลับไม่เคยถูกนำมาพูดถึงเป็นวาระอย่างจริงจัง องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง CALM (ย่อมาจาก Campaign Against Living Miserably) จึงเกิดขึ้น โดยมีภารกิจคือการสร้างความตระหนักรู้เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของประชากรชาวอังกฤษ และแคมเปญแรกที่องค์กรใช้เปิดตัวกับสังคมคือ ‘Project 84’ ที่เรากำลังพูดถึง

84 คนบนยอดตึกที่สร้างความตกอกตกใจให้ชาวเมืองนั้น แท้จริงเป็นหุ่นที่สร้างสรรค์โดย Mark Jenkins ศิลปินที่เป็นที่รู้จักจากการทำประติมากรรมรูปคนเสมือนจริงจากเทปห่อพัสดุและนำไปติดตั้งไว้ในพื้นที่สาธารณะ หุ่นเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อนำปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมไปแสดงตนในที่แจ้ง และมันก็ทำหน้าที่ได้ดีตามที่ตั้งใจเพราะในวันที่หุ่นเหล่านี้ขึ้นไปยืนตระหง่านบนยอดตึก คนทั่วทุกสารทิศพากันถ่ายรูป วิดีโอ และแชร์ออกไปจนแคมเปญถูกพูดถึงในหน้าหนังสือพิมพ์ รายการข่าวในทีวี ประเด็นการฆ่าตัวตายและปัญหาสุขภาพจิตถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นสังคมในช่วงเวลานั้น แรงกระเพื่อมค่อยๆ แรงขึ้นจนสุดท้ายนายกรัฐมนตรี Theresa May ก็ประกาศก่อตั้งกระทรวงป้องกันการฆ่าตัวตายขึ้นมาเป็นครั้งแรกในอังกฤษ

ความน่าตื่นตกใจก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่กระทบความรู้สึกลึกกว่านั้นคือหุ่นใน Project 84 สร้างขึ้นจากเรื่องราวของคนที่มีตัวตนอยู่จริง โดยมีการทำงานร่วมกับครอบครัวและคนใกล้ชิดของผู้เสียชีวิต ตั้งแต่ขั้นตอนการขึ้นรูปตัวหุ่นจากร่างกายของคนในครอบครัว สวมเครื่องแต่งกายตามชุดที่พวกเขาชอบใส่ ให้คนรอบตัวพวกเขาเขียนความทรงจำลงไปบนตัวหุ่น สัมภาษณ์คนใกล้ชิดถึงความทรงจำที่มีต่อผู้เสียชีวิต และถอดบทสัมภาษณ์เหล่านั้นเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ของโปรเจกต์

เพื่อนของ ‘เจช’ หนึ่งในผู้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเล่าว่าทั้งคู่พบกันที่มหาวิทยาลัย สนิทกันเหมือนพี่น้อง และไม่มีใครคิดว่าเพื่อนจะตัดสินใจจากไป, คุณแม่ของเฮนรี่ วัยรุ่นอายุ 21 ปี เล่าว่าเธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและเขาเป็นลูกชายคนเดียวของเธอ เขาชอบถ่ายรูป เธอไปส่งเขาที่สถานีรถไฟโดยไม่รู้ว่านั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้เจอกัน, ลูกสาวทั้งสามของพอล คุณพ่ออายุ 49 ปี บอกว่าพ่อคือกำลังหลักและเป็นแสงสว่างที่ทำให้ทุกคนมีความสุข แต่ทุกคนไม่เคยรู้เลยว่าพ่อต้องแบกความทุกข์จากบาดแผลทางใจในอดีตที่ไม่เคยบอกใครตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันจนกระทั่งเขาจากไป

สำหรับ Project 84 ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิต 84 คนไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับว่าทุกคนคือคน ทุกคนมีเรื่องราว และทุกคนล้วนเป็นใครบางคนของคนที่อยู่เบื้องหลังเสมอ  

จากตัวเลขและสถิติ งานศิลปะทั้ง 5 ชิ้นทำหน้าที่คล้ายกันคือเปลี่ยนข้อมูลที่เรา ‘รู้’ ให้กลายเป็นเรื่องราวที่เรา ‘รู้สึก’ เพราะหลายครั้งหลายคราว การที่คนเราจะเปลี่ยนทัศนคติ ตื่นตัวทางความคิด ตระหนักถึงความสำคัญ และลงมือทำอะไรบางอย่างไม่ได้อาศัยแค่ข้อมูล แต่อาศัยความรู้สึกร่วมด้วย

“ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่คือชีวิต และเป็นคนในครอบครัวของใครสักคน”

ประโยคนี้พาดอยู่บนภาพโปรไฟล์ของเพื่อนหลายคนในนิวส์ฟีด ในวันที่ตัวเลขและสถิติผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวันทำให้ใครบางคนที่อยู่ในฟองสบู่แห่งความสุขสบายยังคงเฉยชาและมองมันเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือความรู้สึกร่วมในฐานะคนด้วยกัน และในสถานการณ์นี้ เชื่อว่าเราสามารถรู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องแม้แต่อาศัยงานศิลปะใด 

แค่ลืมตาและมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นมนุษย์ก็พอ

อ้างอิง

dezeen.com

dezeen.com

nytimes.com

projecteightyfour.com

sltrib.com

thisiscolossal.com

AUTHOR