Fritz Kahn ศิลปินในเสื้อกาวน์ผู้ปฏิวัติตำราวิทยาศาสตร์ให้สนุกและเซอร์เรียล

Highlights

  • Fritz Kahn คือคุณหมอและนักเขียนชาวเยอรมันผู้ปฏิวัติตำราวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยตัวอักษรให้อ่านสนุกด้วยการแปลงศัพท์เทคนิคยากๆ และระบบกลไกร่างกายซับซ้อนให้เป็นภาพการ์ตูนอินโฟกราฟิก
  • หนังสือชุดแรกของคาห์นสร้างเสียงฮือฮาให้สังคมเยอรมันอย่างมาก และทำให้เริ่มมีคนทำงานแนวอินโฟกราฟิกมากขึ้น ถึงขนาดที่มีคนยกย่องให้เขาเป็นผู้บุกเบิกอินโฟกราฟิกของโลก
  • คาห์นเสียชีวิตในปี 1968 และชื่อของเขาก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน กระทั่งสำนักพิมพ์ TASCHEN จากเยอรมนีรวบรวมผลงานของเขามาตีพิมพ์​ ผลงานอันล้ำยุคของเขาจึงพอจะกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง

ต้นศตวรรษที่ 20 มนุษย์สามารถส่องกล้องออกไปค้นอวกาศนอกระบบสุริยะ ทว่าจักรวาลภายในร่างกายของเราเองกลับยังเป็นเรื่องเร้นลับ ห่างไกลจากความเข้าใจของคนทั่วไป ไม่มีสักคนที่สามารถตอบได้ว่า ร่างกายทำงานยังไง ตาของเราเห็นภาพได้ยังไง ในรูหูของเรามีอะไร หรือเกิดอะไรขึ้นในท้องหลังอาหารเช้าถูกลำเลียงเข้าปาก มีเพียงแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่จะสามารถแถลงไขกลไกการทำงานของร่างกายออกมาได้ 

น่าเสียดายที่คำตอบนั้นมักเต็มไปด้วยศัพท์แสงทางวิทยาศาสตร์จนไม่อาจสื่อสารให้ผู้คนบนท้องถนนรู้แจ้งเกี่ยวกับร่างกายตัวเอง

 

โรงงานร่างกาย

ในปี 1926 ที่เบอร์ลิน เมืองศูนย์กลางความก้าวหน้าทางสังคมและวัฒนธรรมของเยอรมนีในเวลานั้น ผู้คนกำลังมุงดูโปสเตอร์แผ่นหนึ่ง มันเป็นภาพกราฟิกรูปมนุษย์หันข้างผ่าตรงกลางเผยโครงสร้างภายใน โดยเปรียบร่างกายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยแผนกมากมาย เครื่องยนต์กลไกแต่ละชิ้นถูกแปะด้วยชื่ออวัยวะ และมีคนงานตัวจิ๋วควบคุมให้เครื่องจักรดำเนินไป

โปสเตอร์แผ่นนั้นขนาดเกือบเท่าคนเพื่อให้คนที่มุงดูรู้สึกราวกับกำลังดูภาพเอกซเรย์ใต้ผิวหนังของคนจริงๆ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ตำราวิทยาศาสตร์เล่มหนาหนักอัดแน่นไปด้วยศัพท์ซับซ้อนเข้าใจยากถูกสรุปและเล่าออกมาผ่านภาพกราฟิกเข้าใจง่าย คลายความลี้ลับของกลไกเบื้องหลังชีวิตออกสู่แสงสว่าง

Fritz Kahn

Der Mensch als Industriepalast (1926) © Fritz Kahn

ชายผู้อยู่เบื้องหลังภาพอินโฟกราฟิก Der Mensch als Industriepalast หรือ Man as Industrial Palace มีชื่อว่า Fritz Kahn แพทย์ อาจารย์ และนักเขียนเชิงวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว คาห์นเติบโตมาในครอบครัวแพทย์และนักเขียน สนใจดาราศาสตร์ในวัยเด็กและก้าวเข้าสู่คณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ขณะเรียนอยู่ที่นั่น นักศึกษาแพทย์คนนี้สนใจวรรณกรรมควบคู่ไปด้วยทำให้เมื่อเรียนจบเขาถูกว่าจ้างให้ทำงานเขียนเกี่ยวกับชีววิทยามนุษย์โดยสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในเมืองชตุทท์การ์ทควบคู่ไปกับการทำงานในโรงพยาบาล รวมถึงเป็นแพทย์แนวหน้าในสงครามโลกครั้งที่ 1

fritz kahn

หลังจากทำงานสองด้านไปพร้อมกัน คาห์นก็ค้นพบว่าแพสชั่นของเขาคือการเล่าความรู้ให้คนอื่นฟังมากกว่ารักษาคนไข้พร้อมๆ กับที่ค้นพบว่า ‘ภาพ’ ช่วยเล่าเรื่องได้ เขาอยากทำหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย เล่าเรื่องสนุก และเข้าถึงคนทั่วไปได้ เขาจึงยื่นมือไปขอความช่วยเหลือจากแผนกออกแบบในสำนักพิมพ์ที่ทำงานอยู่ให้ช่วยเนรมิตหนังสือวิทยาศาสตร์ที่เล่าเรื่องด้วยภาพกราฟิก ตัดทอนรายละเอียดเนื้อหาซับซ้อน และใส่เรื่องราวสนุกๆ เข้าไปให้คนอ่านรู้สึกเหมือนได้ผจญภัยมากกว่าอ่านตำราวิชาการ

ความตั้งใจของเขากลายเป็นหนังสือชุดเรื่องเล่าเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ DAS LEBEN DES MENSCHEN หรือ Man Book ที่ปฏิวัติตำราวิทยาศาสตร์ไปตลอดกาล

 

ข้อมูล + ภาพ

ตำราวิทยาศาสตร์ที่คนเยอรมันคุ้นเคยก่อนหน้านั้นมีแต่ตัวหนังสือยาวพรืด หากจะมีภาพประกอบ ก็เป็นภาพประกอบเชิงวิทยาศาสตร์ อย่างรูปวาดส่วนประกอบภายในเซลล์หรือโครงสร้างผิวหนัง มีลูกศรชี้ระบุชื่อของส่วนต่างๆ ด้วยศัพท์เฉพาะทางที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ

เมื่อหนังสือ Man Book ออกมามันจึงเป็นที่ฮือฮา เพราะคาห์นหยิบยืมภาพกราฟิก การ์ตูนคอมิก ภาพคอลลาจ ไปจนถึงจิตรกรรมแนวเซอร์เรียลลิสม์มาใช้ในการย่อยข้อมูลยากๆ ให้เข้าใจง่าย เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘อินโฟกราฟิก’ จนคุณหมอผู้นี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการเล่าเรื่องแบบอินโฟกราฟิก

Fritz Kahn

Detail of ‘Der Mensch als Industriepalast’ (1926) © Fritz Kahn

ในเวลาไล่เลี่ยกัน Otto Neurath นักสังคมศาสตร์ชาวออสเตรียก็กำลังบุกเบิกการใช้ภาพกราฟิกมาเล่าเรื่องตัวเลขทางสังคมเช่นกัน เช่น ชาร์ตจำนวนประชากรหรือจำนวนสถานีรถไฟที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี แต่สิ่งที่เป็น ‘ไวยากรณ์’ หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคาห์นคือการเปรียบเปรยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้ากับสัญลักษณ์ ภาพหรือเรื่องราวที่คนทั่วไปคุ้นเคย

เขาเปรียบร่างกายเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ฟันเหมือนใบมีดไว้สับอาหารให้ละเอียดก่อนลำเลียงไปสู่กระเพาะที่มีคนงานกำลังยืนฉีดน้ำย่อย ปอดคือท่อทองแดงที่มีรอกลำเลียงออกซิเจนเข้ามาจากทางจมูก หัวใจคือลูกสูบ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดดำและแดง ดวงตาเปรียบเสมือนกล้อง ตับคือห้องแล็บลำเลียงสารพิษมาคัดกรอง สมองเต็มไปด้วยห้องควบคุมและโต๊ะประชุม  ฯลฯ 

แต่ละแผนกในโรงงานร่างกายของคาห์นจะมีพนักงานตัวจิ๋วเปรียบเสมือนเซลล์ของเราคอยรันระบบในร่างกายให้ราบรื่น หากสังเกตจะเห็นว่าคนงานแต่ละแผนกใส่เครื่องแบบที่ต่างกันด้วย ในขณะที่แผนกควบคุมหรือสมองพนักงานสวมชุดสูทและเสื้อกาวน์ แผนกตับและกระเพาะอาหารกลับใส่ชุดช่าง

แม้แต่เรื่องที่ต้องอธิบายกันเป็นตัวเลขจำนวนมากๆ เช่น ความยาวของเส้นผม จำนวนเม็ดเลือดในร่างกาย หรือปริมาณอาหารที่เรารับประทานเข้าไปในชีวิต คาห์นก็จัดการแปลงเป็นภาพ (visualize) ด้วยลีลาสนุกๆ ทั้งหมด

Fritz Kahn

1929 © Kosmos Verlag / 1943 © Fritz Kahn / 1926 © Kosmos Verlag

Fritz Kahn

1924, 1927, © Fritz Kahn

ในยุคนั้น คาห์นน่าจะถือว่าเป็นคนอินเทรนด์ไม่น้อยเพราะเขามักจะหยิบเอาสิ่งของหรือเทคโนโลยีใหม่เอี่ยมที่กำลังเป็นที่นิยมมาใช้ในการเปรียบเปรย เช่น ภาพ What goes on in our heads when we see a car and say ‘car’ (1939) เขาอธิบายปรากฏการณ์ของสมองในชั่วขณะที่เรามองเห็นรถจนกระทั่งรับรู้และพูดออกมาว่า ‘รถ’ ผ่านระบบการทำงานของม้วนฟิล์มและกล้องฉายหนังซึ่งเป็นของที่เพิ่งแพร่หลายในยุคนั้น หรือเมื่อจะเล่าว่าแรงดันของหัวใจเรามากขนาดไหน เขาก็เปรียบเทียบว่าหัวใจสามารถดันลิฟต์ไปถึงชั้นห้าได้ภายใน 40 นาที ซึ่งลิฟต์ก็เป็นเทคโนโลยีใหม่ในยุคนั้นเช่นกัน

1939 © Fritz Kahn

© Fritz Kahn

การเล่าเรื่องด้วยอินโฟกราฟิกช่วยชุบชีวิตให้ข้อมูลแห้งๆ ดูเซ็กซี่และเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก หากมองเพียงปราดเดียวเราแทบไม่รู้สึกว่านี่คือหนังสือวิทยาศาสตร์ เด็กๆ อาจหยิบมันอ่านเพราะนึกว่าเป็นหนังสือการ์ตูนด้วยซ้ำ การเล่าความรู้โดยใช้เรื่องราวแทนข้อมูลยาวพรืดยังช่วยทำให้คนอ่านสามารถแทนตัวเองเข้าไปในภาพได้ วิทยาศาสตร์จึงทำให้เรา ‘รู้สึก’ และกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว

พูดได้ว่าหนังสือของคาห์นทำให้วิทยาศาสตร์ ‘ป๊อป’ ขึ้นมากในเยอรมนีลามไปถึงทั่วโลกภายในเวลาไม่นาน  

แต่ไม่นาน สถานการณ์กลับพลิกผัน สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น ฟริตซ์ คาห์น ผู้มีเชื้อสายยิวจำต้องทิ้งอาชีพนักเขียนและแพทย์เพื่อลี้ภัยไปยังปาเลสไตน์ เขาลงหลักปักฐานเปิดสตูดิโอออกแบบกราฟิกเชิงวิทยาศาสตร์และพาณิชย์ที่นั่น ขณะเดียวกันที่เยอรมนี หนังสือทุกเล่มของคาห์นถูกพรรคนาซีจัดอยู่ในรายชื่อหนังสือต้องห้ามและเป็นภัยต่อความมั่นคง นั่นแปลว่าหนังสือของเขาถูกแบนจากห้องสมุดและร้านหนังสือทั่วประเทศ รวมถึงยังถูกเผาทำลาย

ทว่านักเขียนวิทยาศาสตร์ผู้อยู่ข้างนาซี Gerhard Venzmer กลับขโมยไอเดียลอกเนื้อหาหนังสือชุด Man Book ของคาห์นไปทั้งดุ้นโดยสอดไส้บทใหม่เกี่ยวกับเชื้อชาติเข้าไปเพื่อสร้างความเกลียดชังชาวยิวและยิปซีให้รุนแรงขึ้นไปอีก กระทั่งสงครามจบ คาห์นจึงกลับมาฟ้องร้องเพื่อทวงลิขสิทธิ์ทั้งหมดคืนกลับไปเป็นของตัวเอง 

คาห์นเสียชีวิตลงในปี 1968 ปิดฉากโรงงานร่างกายเป็นการถาวร ชื่อของศิลปินผู้บุกเบิกอินโฟกราฟิกและหมอผู้ถางพงให้คนทั่วไปเข้าถึงวิทยาศาสตร์แทบไม่เคยถูกกล่าวถึงที่ไหนอีก กระทั่งสำนักพิมพ์ TASCHEN จากเยอรมนีรวบรวมผลงานของคาห์นมาตีพิมพ์ รวมถึงมีเว็บไซต์รวมผลงาน คนในยุคนี้ถึงพอจะรู้จักเขาขึ้นมาบ้าง

 

โรงงานบันดาลใจ

แม้ผู้ล่วงลับจะไม่เคยถูกยกย่องแต่การปฏิวัติตำราวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจง่ายด้วยอินโฟกราฟิก ในแบบฟริตซ์ คาห์น ก็สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการวิทยาศาสตร์ การเล่าความรู้วิทยาศาสตร์ให้สนุกกลายเป็นเทรนด์ใหม่ ตำราวิทยาศาสตร์เปลี่ยนมาเล่าเรื่องผ่านอินโฟกราฟิกกันอย่างแพร่หลาย และยังสะเทือนไปไกลถึงนอกวงการวิทยาศาสตร์ด้วย

โฆษณายาแก้ปวด Bufferin ในทศวรรษที่ 50s เล่าการทำงานของยาหลังจากเรากินเข้าไปโดยใช้ภาพโรงงานร่างกายรูปแบบเดียวกับโปสเตอร์ Man as Industrial Palace นับเป็นครั้งแรกที่โฆษณายาแถลงสรรพคุณโดยใช้ภาพอินโฟกราฟิก

ในขณะที่ Reason and Emotion ภาพยนตร์แอนิเมชั่นจากดิสนีย์ในปี 1943 คือการ์ตูนเรื่องแรกที่เล่าเรื่องยากๆ อย่างเบื้องหลังการทำงานของสมองที่ถูกควบคุมโดยส่วนเหตุผลและอารมณ์ โดยออกแบบฉากเป็นหอบังคับการภายในหัว และมีตัวละครสองตัวคือ ‘นายเหตุผล’ และ ‘นายอารมณ์’ ผลัดกันควบคุม แน่นอนว่าผู้สร้างได้แรงบันดาลใจมาจากภาพโรงงานร่างกายของคาห์นนั่นเอง (เกร็ดที่น่าสนใจคือแอนิเมชั่นเรื่องนี้เป็นสื่อชวนเชื่อที่ผลิตออกมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อโจมตีฮิตเลอร์ว่าใช้แต่อารมณ์โดยปราศจากเหตุผล)

และไอเดียหอบังคับการความคิดจากการ์ตูนเรื่อง Reason and Emotion ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Inside Out (2015) ภาพยนตร์แอนิเมชั่นของ PIXAR ที่เล่าการผจญภัยสุดมหัศจรรย์ภายในสมองของมนุษย์ เป็นประตูบานแรกให้หลายคนได้เข้าไปรู้จักกลไกของอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองผ่านตัวละครทั้งห้าในศูนย์ควบคุมภายใต้กะโหลกศีรษะของหนูน้อย Riley

Bufferin Advertising (1952)

Reason and Emotion (1943)

Inside Out (2015)

ฟริตซ์ คาห์น​ เป็นพหูสูตตัวจริง คือรอบรู้ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะ เป็นทั้งแพทย์และนักเขียน เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และศิลปินในคนเดียว แต่ในอีกทาง คาห์นก็ไม่ใช่ยอดฝีมือด้านใดเป็นพิเศษ เขาไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นทฤษฎีใหม่ให้โลก ไม่ใช่แพทย์ที่สร้างแนวทางการรักษาใหม่ให้วงการแพทย์ ไม่ใช่ศิลปินที่ถูกบรรจุอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ศิลป์ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนิยามว่าคาห์น ‘เป็น’ อะไรกันแน่

แต่หากจะต้องพูดถึงความเป็นเลิศของเขาจริงๆ มันคงเป็นความสามารถในการเอาความรู้ ความเข้าใจทั้งหมดในชีวิตที่เขามีมาถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นอีกมาก และพูดได้ว่าฟริตซ์ คาห์น คือศิลปินคนแรกที่สร้าง ‘สะพาน’ ให้ทุกคนสามารถข้ามไปหาโลกวิทยาศาสตร์และการแพทย์อย่างง่ายดาย แถมยังสนุกอีกต่างหาก!

อ้างอิง

Fritz Kahn : Infographics Pioneer โดย TASCHEN Bibliotheca Universalis

brainpickings.org

fritz-kahn.com

AUTHOR