ลูกชิ้นขยะ แมลงสาบรสมินต์ เครื่องปรินต์ซูชิ เมื่อนักออกแบบจินตนาการเมนูของพรุ่งนี้

food of tomorrow

บ่ายวันหนึ่งขณะกำลังนั่งจิบกาแฟพลางเลื่อนนิวส์ฟีดดูเพลินๆ ผมก็พลันสะดุดตากับข่าวหนึ่งที่ไม่แน่ใจว่าฟังแล้วตื่นเต้น ขำ หรืออยากลุกไปอ้วกมากกว่ากัน

“นมแมลงสาาาาบ แหวะะะะ” 

เพื่อนที่นั่งอยู่ด้วยกันโพล่งขึ้นสุดเสียงทำให้รู้ได้ว่ามันกำลังเลื่อนไปเจอข่าวเดียวกัน ผมรีบดึงแก้วกาแฟที่กำลังจิบอยู่ออก เลื่อนอ่านเนื้อความให้ชัด พลางเบ้ปากเป็นรูปครัวซองต์ “นักวิทยาศาสตร์จาก Institute for Stem Cell Biology and Regenerative Medicine in Bangalore ในอินเดียค้นพบผลึกในลำไส้แมลงสาบเต่าทองแปซิฟิก ซึ่งอุดมไปด้วยกรดอะมิโนและโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายคน แถมรสชาติก็ไม่ได้แย่ไปกว่านมวัว นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้จึงคาดการณ์ไปว่าในอนาคตที่ประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้นและโลกจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านอาหาร การเปิดฟาร์มแมลงสาบเพื่อผลิตน้ำนมแทนนมวัวจึงเป็นอีกทางเลือกที่เป็นไปได้และคุ้มค่าไม่น้อย ‘น้ำนมแมลงสาบ’ จึงอาจกลายเป็นอาหารยอดนิยมของคนทั่วโลกในอนาคต”

‘อาหาร’ คือเรื่องใหญ่ของมนุษยชาติ เราต้องกินเพื่ออยู่รอด อาหารที่ดีทำให้เรามีชีวิตที่ดี แม้ปัจจุบันเราจะอยู่ในยุคที่พรั่งพร้อมด้านอาหารมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกัน ยิ่งเรามีศักยภาพในการถลุงเอาทรัพยากรธรรมชาติมาทำอาหารได้มากเท่าไหร่ บวกกับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเร็วและต้องการอาหารมากขึ้นทุกวัน เราก็ยิ่งเร่งสปีดให้โลกเข้าใกล้ ‘วิกฤตขาดแคลนอาหาร’ (ตามที่องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2050) มากขึ้นทุกที

แม้เราจะไม่อยากให้ถึงวันที่ต้องตื่นมากินซีเรียลใส่นมแมลงสาบ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ในวันใดวันหนึ่ง และไม่ใช่เพียงองค์การสหประชาชาติ นักโภชนาการ นักนวัตกรรม หรือนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องคาดการณ์เพื่อรับมือกับวิกฤตอาหารในวันข้างหน้า แต่ ‘ศิลปิน’ และ ‘นักออกแบบ’ ก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ช่วยกันขบคิดว่าในวันที่ทรัพยากรไม่เพียงพอสำหรับคนทั้งโลกอีกต่อไป เมนูอาหารของเราจะมีหน้าตายังไง ไปจนถึงว่าการออกแบบจะช่วยแก้ปัญหายังไง เมื่อถึงวันที่คนจำเป็นต้องกินสิ่งที่ไม่เคยกิน ไม่อยากกิน หรือแม้กระทั่งสิ่งที่ตัวเองเคยขยะแขยง

แมลงสาบ 5 รส

เมื่อได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับวิกฤตขาดแคลนอาหารและไอเดีย ‘อาหารทดแทน’ ที่องค์การสหประชาชาติเสนออย่างละเอียด ผมก็พบว่าเราดูหมิ่นอาหารจากแมลงไม่ได้จริงๆ แมลงมีสารอาหารไม่ต่างจากเนื้อสัตว์อื่น แต่ที่พิเศษกว่าคือใช้ทรัพยากรสำหรับทำฟาร์มเพาะเลี้ยงน้อยกว่าหลายเท่าตัว พอบอกแบบนี้เชื่อว่าหลายคนเข้าใจได้ แต่อินไซต์หนึ่งที่ศิลปินและนักออกแบบแห่ง MIT Media Lab อย่าง Ai Hasegawa ค้นเจอก็คือ คนเลือกที่จะไม่กินแมลงสาบหรือแมลงชนิดอื่นๆ เพราะทัศนคติที่มีต่อสีและหน้าตาของมัน ก็มันเกลียดไปแล้วอะ จะให้กินลงได้ไง!

POP ROACH คือเมนูที่ไอทำขึ้นเพื่อหาทางรับมือกับปัญหาวิกฤตอาหารในอนาคต เธอสนใจแมลงสาบเพราะมันอึด ถึก ทน และแพร่พันธุ์เร็ว เอาง่ายๆ คือมันรอดจากโลกยุคไดโนเสาร์มาถึงวันนี้ โลกจะแย่กว่านี้อีกหน่อยพวกมันก็คงไม่สะทกสะท้านอะไร และอย่างที่เล่าไปเรื่องสรรพคุณ เอาเข้าจริงแมลงสาบเป็นอาหารที่ใช้ได้เลยทีเดียว ดังนั้นสิ่งที่การออกแบบและนวัตกรรมจะช่วยได้คือทำให้คนมีทัศนคติกับพวกมันดีขึ้น

และด้วยความที่ MIT Media Lab เป็นแหล่งสร้างสรรค์นวัตกรรมล้ำโลกที่ขึ้นชื่อเรื่องการผสานหลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ไอจึงตั้งคำถามว่าถ้าเราใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมแก้ไขยีนส์ของแมลงสาบให้ไม่เป็นสีน้ำตาลเข้มอย่างตอนนี้แต่มีสีสันสดใส มันจะดูน่ารักขึ้นไหม? แล้วถ้าการตัดแต่งพันธุกรรมนี้สามารถทำให้แมลงสาบมีรสชาติอูมามิ มีประโยชน์มากขึ้น และมีกลิ่นหอมเป็นของตัวเองด้วยล่ะ คนจะเปลี่ยนทัศนคติและอยากกินมันมากขึ้นหรือเปล่า

food of tomorrow
food of tomorrow

และนี่คือภาพไอเดียของ POP ROACH หรือแมลงสาบ 5 สีแห่งโลกอนาคตที่ไอออกแบบ แต่ละตัวจะมีกลิ่นที่แตกต่างกันอย่างมินต์ มะลิ หรือกล้วยหอม ส่วนภาพข้างบนคือภาพที่ POP ROACH จัดแสดงในนิทรรศการ Future and the Arts ที่ Mori Art Museum เพื่อจำลองภาพเมื่อวันนั้นมาถึง วันที่แมลงสาบแอบมากินขนมของเราและเราไม่จำเป็นต้องกรี๊ดและไล่ตีมันอีกต่อไป แต่สามารถจับมันกินแกล้มกับขนมไปได้เลย 

เห็นรูปแล้วก็ยอมรับว่ามันดูน่ารักขึ้นจริงๆ แต่ก็สารภาพว่ายังคงต้องขอเวลาทำใจ

สิ่งที่น่าสนใจนอกจากไอเดีย POP ROACH คือแล็บที่ไอเรียนเพื่อพัฒนาโปรเจกต์นี้ที่ MIT ซึ่งมีชื่อว่า ‘design fiction’ แล็บนี้เจ๋งตรงที่ใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือคาดการณ์อนาคต หาความเป็นไปได้ใหม่ๆ และทำโปรโตไทป์บางอย่างขึ้นมาพิสูจน์ไอเดียและทำให้คนอื่นเห็นภาพตาม หลายครั้งศาสตร์ของ design fiction อาจจะมีทางแก้ปัญหาที่ดูเหวอๆ และชวนขมวดคิ้วอยู่บ้าง นั่นก็เพราะมันถูกคิดอยู่บนจุดกึ่งกลางระหว่างความเป็นจริงกับความฝัน และมีส่วนผสมของจินตนาการที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยคิดไปถึง

food of tomorrow

ลูกชิ้นเนื้อเพื่อมวลมนุษย์

ในปี 2014 SPACE10 แล็บวิจัยงานออกแบบและพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ของ IKEA ต้องการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารและเล่าให้มวลมนุษยชาติรับรู้ว่า ในวันข้างหน้าอาหารของเราอาจทำขึ้นจากวัตถุดิบที่เราเคยมองข้าม และสร้างขึ้นโดยเทคโนโลยีที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน

แต่จะบอกกันแบบธรรมดาคนก็คงไม่สนใจแถมไม่เห็นภาพ SPACE10 จึงใช้อาหารอย่าง ‘มีตบอล’ (หรือเรียกแบบไทยๆ ว่าลูกชิ้น) เป็นดั่งแคนวาส วาดภาพของวัตถุดิบที่จะกลายเป็นอาหารของพวกเราในอนาคตออกมาเป็นเมนูอาหารที่ชื่อ ‘Tomorrow’s Meatball’

เหตุที่ต้องเป็นมีตบอลก็เพราะทุกวัฒนธรรมทั่วโลกล้วนมีอาหารเมนูนี้ในแบบฉบับของตัวเอง ตั้งแต่สวีเดน ประเทศต้นกำเนิดของ SPACE10 อิตาลี อเมริกา หรือแม้กระทั่งประเทศในแถบเอเชีย เช่น ลูกชิ้นหมูในก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กที่เรากิน

food of tomorrow

Tomorrow’s Meatball ประกอบด้วยลูกชิ้น 8 ลูก แต่ละลูกถูกออกแบบและทำขึ้นจากวัตถุดิบอาหารแห่งอนาคตที่แตกต่างกัน เช่น

The Wonderful Waste Ball ถ้าฟังแค่ชื่ออาจชวนให้สิ้นหวังว่าวันข้างหน้าเราต้องกินขยะกันแล้วหรือ แต่คำว่า waste ในที่นี้หมายถึงของเหลือจากการประกอบอาหารในจานของเรา เช่น เศษใบกะเพราที่โดนคัดออกก่อนเอาไปผัด ขั้วหรือเปลือกของพืชผักผลไม้ที่เอาไปทำอาหารในเมนูไม่ได้ และเศษเนื้อที่โดนคัดออกจากร้านสเต็ก สถิติจากองค์การสหประชาชาติบอกว่าของเหลือเหล่านี้นับเป็น 1 ใน 3 ของอาหารทั้งหมดในโลก และมันยังกินได้ ดังนั้น สิ่งที่ลูกชิ้นลูกนี้ต้องการจะบอกก็คือ เพียงเราหาวิธีนำสิ่งเหล่านี้มาทำเป็นอาหาร เท่านี้ก็ประหยัดทรัพยากรไปได้เยอะแล้วนะ 

food of tomorrow

มีตบอลลูกต่อมาอย่าง The Artificial Meatball บอกเราว่า ในอนาคตลูกชิ้นเนื้ออาจไม่ได้มีความหมายตรงตัวว่าทำมาจากเนื้อวัว เช่นเดียวกับที่ไส้กรอกหมูอาจไม่ได้ทำมาจากหมู และนักเก็ตไก่ก็อาจไม่ต้องเสียไก่สักตัวในการทำ เพราะเนื้อในอนาคตสามารถเติบโตได้จากห้องแล็บซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการทำฟาร์มปศุสัตว์ที่ก่อมลภาวะให้โลกไปได้มาก

นอกจากนี้ ในเซตมีตบอลมหัศจรรย์พันลึกยังมี The Lean Green Algae Ball หรือลูกชิ้นสาหร่ายที่ไม่ได้อยู่ในหม้อสุกี้ แต่มีขึ้นเพื่อบอกว่าในอนาคตสาหร่ายอาจกลายเป็นวัตถุดิบหลักเพราะเป็นพืชที่โตเร็ว โตได้ทุกที่ที่มีน้ำ แถมมีสารอาหารครบถ้วน, The Urban Farmer’s Ball มีตบอลที่เล่าว่าในอนาคตผักที่เรากินอาจไม่ได้มาจากฟาร์มแสนไกล แต่โตในเมืองที่เราอยู่หรือแม้แต่ในห้องนอนที่บ้านเพื่อลดสิ่งที่เรียกว่า ‘food miles’ หรือระยะทางการขนส่งอาหารเพื่อลดของเสียจากการขนส่ง แถมยังทำให้อาหารที่เรากินสดใหม่ตลอดเวลา หรือจะเป็น The Crispy Bug Ball ที่พูดเป็นเสียงเดียวกับเมนู POP ROACH ว่าแมลงนี่แหละ อาหารแห่งอนาคต

ในขณะที่ Tomorrow’s Meatball ใช้ความคิดสร้างสรรค์วาดให้เราเห็นภาพของอาหารที่มนุษย์ต้องกินในอนาคต โปรเจกต์ต่อไปอย่าง OPEN MEALS ก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์บวกกับนวัตกรรมเพื่อพามนุษย์ไปชิมอาหารเหล่านั้น

ซูชิดิจิทัล

OPEN MEALS คือกลุ่มนักสร้างสรรค์จากครีเอทีฟเอเจนซี Dentsu ประเทศญี่ปุ่นที่รวมตัวกันพัฒนานวัตกรรมเพื่อรับมือ ‘การปฏิวัติอาหารครั้งที่ 5’ 

หลังการปฏิวัติอาหารครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อมนุษยชาติค้นพบไฟในการประกอบอาหาร ครั้งที่ 2 เมื่อเราเริ่มรู้จักการทำการเกษตร ครั้งที่ 3 ตอนที่เราเริ่มคิดค้นการถนอมอาหาร และการปฏิวัติครั้งล่าสุดคือการทำให้กิจกรรมการผลิตอาหารกลายเป็นอุตสาหกรรม ในการปฏิวัติครั้งที่ 5 OPEN MEALS มองว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุค ‘digitization of food’ อาหารจะผสานเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล และแปรสภาพกลายเป็นชุดข้อมูลที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าถึง ครอบครอง และส่งถึงกันผ่านอินเทอร์เน็ตได้! (เราเดาว่าชื่อ OPEN MEALS มาจากคำทางเทคโนโลยีที่คล้ายกันอย่าง open source ซึ่งหมายถึงรูปแบบซอฟต์แวร์ที่นักพัฒนาเปิดเผยและแจกจ่ายโค้ดหรือข้อมูลให้ใครก็ได้สามารถนำไปใช้พัฒนาต่อ)

OPEN MEALS เริ่มต้นโปรเจกต์แรกด้วยการลองเปลี่ยนอาหารให้กลายเป็นชุดข้อมูลหรือ data และลองใช้ข้อมูลชุดนั้นผลิตอาหารจริงๆ ขึ้นมา โดยเมนูแรกที่เป็นดั่งหนูทดลองคือเมนูอาหารญี่ปุ่นที่มีหน้าตาเรียบง่าย มีคุณลักษณะของวัตถุดิบ พื้นผิว สี รูปทรง และรสชาติแตกต่างกัน เหมาะแก่การแปลค่าเป็นชุดข้อมูลอย่าง ‘โอเด้ง’ นั่นเอง 

โปรเจกต์นี้มีชื่อว่า ‘DIGITAL ODEN’ พวกเขานำโอเด้งหัวไชเท้าญี่ปุ่นหั่นแว่นมาผ่านขั้นตอนตรวจจับรสชาติ วัดค่าโอเด้งชิ้นนี้ออกมาเป็นตัวเลขว่ามีความเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม และรสอูมามิอยู่ที่เท่าไหร่ จากนั้นนำโอเด้งไปเข้าเครื่องสแกน 3 มิติเพื่อสร้างไฟล์ 3 มิติของโอเด้งออกมา ก่อนจะนำไปวัดค่าความหนาแน่นและความชื้น และสุดท้ายคือถอดองค์ประกอบของสารอาหารในโอเด้งว่ามีคุณประโยชน์อะไรบ้าง

ลองจินตนาการว่าตอนนี้โอเด้งหัวไชเท้าญี่ปุ่นแสนอร่อยของเราได้กลายสภาพเป็นชุดข้อมูล ก่อนที่ OPEN MEALS จะนำตัวเลขยาวเป็นพรืดใส่เข้าในโปรแกรมและสั่งการเครื่องพิมพ์ 3 มิติให้พิมพ์โอเด้งที่มีเนื้อวัตถุดิบ รสชาติ รูปร่าง สี และพื้นผิวตามชุดข้อมูลที่ได้มาเป๊ะๆ  

และบู้มมมม! ในเวลาเพียงไม่กี่นาที โอเด้งหัวไชเท้าญี่ปุ่นอีกชิ้นที่มีหน้าตาเหมือนชิ้นแรกเป๊ะๆ ก็ตั้งตระหง่านอยู่ตรงนั้น แถมกินได้เหมือนกันด้วย!

food of tomorrow

DIGITAL ODEN ถือเป็นก้าวแรกของ OPEN MEALS ที่ทดลองแปลงอาหารไปสู่ข้อมูลดิจิทัลและนำข้อมูลดิจิทัลแปลงกลับมาเป็นอาหารด้วยระบบการพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งพวกเขามองว่ามันจะกลายเป็นนวัตกรรมหลักของการผลิตอาหารในอนาคต หนึ่ง–เพราะมันช่วยลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยของเสียมหาศาลจากการผลิตอาหารหรือทำฟาร์ม สอง–ในอนาคตจะเต็มไปด้วยวัตถุดิบสังเคราะห์ทดแทนมากมายเต็มไปหมด เนื่องจากทรัพยากรจริงมีไม่เพียงพอ เช่น เนื้อปลาเทียมที่สามารถเติบโตและส่งตรงออกจากห้องแล็บ หรือโปรตีนที่แปรรูปมาจากสาหร่ายและแมลง และสาม–เครื่องพิมพ์ 3 มิติสามารถเข้าไปอยู่ในครัวเรือนได้ การผลิตอาหารในอนาคตจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมใหญ่อีกต่อไป

เมื่อสามารถแปลงโอเด้งเป็นข้อมูลดิจิทัลได้แล้ว OPEN MEALS ก็จับอาหารอื่นๆ ที่มีในโลกมาทำแบบเดียวกัน ตั้งแต่กล้วยไข่ไปจนถึงตับห่านฟัวกราส์ ข้าวผัดไข่ฝีมือแม่ไปยันอาหารระดับมิชลินสตาร์ ข้อมูลทั้งหมดอัพโหลดขึ้นไปบนแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ‘Foodbase’ โปรเจกต์ถัดมาที่ทำหน้าที่เป็นคลังข้อมูลอาหารของคนทั้งโลก

ลองนึกภาพ Spotify ที่บรรจุเพลงจากทั่วโลกให้เรากดฟังจากที่ไหนก็ได้ ไม่ต่างกัน Foodbase ก็บรรจุอาหารทั้งโลกไว้ในรูปแบบรหัสข้อมูล ในวันที่เราเกิดอยากกินข้าวปั้นหน้ากุ้ง สิ่งที่เราต้องทำอาจมีเพียงเชื่อมต่อเครื่องพิมพ์ 3 มิติเข้ากับคอมพิวเตอร์และ ‘ปรินต์’ ข้าวปั้นหน้ากุ้งออกมา แพลตฟอร์ม Foodbase นี้ถูกพัฒนาไปพร้อมๆ กับโปรโตไทป์ของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ Pixel Food Printer ที่ออกแบบมาเพื่อพิมพ์อาหารโดยเฉพาะ เพื่อให้รสชาติและรสสัมผัสที่ใกล้เคียงอาหารจริงที่เรากินกันทุกวันนี้ 

food of tomorrow

และในเทศกาล The South by Southwest หรือ SXSW ที่แบรนด์และเอเจนซีทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่ออัพเดตนวัตกรรมและเทรนด์โลก OPEN MEALS ก็ได้เปิดตัวโปรเจกต์ ‘SUSHI TELEPORTATION’ ที่เป็นเสมือนโชว์เคสของเทคโนโลยีนี้ พวกเขาส่งชุดข้อมูลของเมนูซูชิเจ้าอร่อยจากญี่ปุ่นไปโผล่งานที่อเมริกาด้วยการพิมพ์ออกมาสดๆ ก่อนจะพัฒนาต่อเป็น ‘SUSHI SINGULARITY’ ร้านซูชิแบบโอมากาเสะที่หลอมรวมทุกนวัตกรรมที่ OPEN MEALS พัฒนาเอาไว้มาอยู่ด้วยกัน มันเป็นร้านซูชิที่มีเชฟใหญ่เป็นเครื่องปรินต์ เนื้อปลาบลูฟินทูน่าส่งตรงจากน่านน้ำข้อมูลผ่านสัญญาณไวไฟโดยไม่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้โลก นอกจากนี้ ซูชิแต่ละคำสามารถควบคุมปริมาณสารอาหารให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายและโรคประจำตัวของแต่ละคนได้ สามารถเลือกได้ว่าเราต้องการคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนขนาดไหน สัดส่วนของปลากับข้าวมาก-น้อยเท่าไหร่ ยิ่งกว่าให้เชฟโอมากาเสะมาปั้นให้เสียอีก

ถ้าใช้ความเป็นจริงในวันนี้เป็นมาตรวัด เราอาจยังนึกไม่ออกว่าโปรเจกต์ดีไซน์ฟิกชั่นอย่าง OPEN MEALS จะมีไว้เพื่ออะไร และจะไปอยู่ตรงไหนในโลก ประโยคเหล่านี้คือความเป็นไปได้และความน่าจะเป็นในอนาคตที่พวกเขาเขียนไว้ในเว็บไซต์ของตัวเอง

‘ยกเมนูจากรายการทำอาหารในทีวีมาไว้บนโต๊ะกินข้าวที่บ้าน’ 

‘เปิดร้านอาหารที่ไม่ต้องมีครัว แค่มีเว็บไซต์’ 

‘แบ่งจานที่เราทำเองให้คนในอีกมุมโลกได้ชิม’ 

‘ส่งอาหารไปอวกาศ’ 

‘ทำอาหารที่เข้ากับความต้องการของแต่ละคนสุดๆ’ 

‘สร้างโลกที่ไม่มีใครต้องหิวโหย’

แม้จินตนาการแห่งอนาคตอย่างแมลงสาบสีม่วงรสมะลิ มีตบอลที่ทำจากแมลง หรือซูชิที่ปรินต์เองได้จะทำให้เราตื่นตาตื่นใจกับภูมิทัศน์ใหม่ทางด้านอาหาร และทำให้ชาวโลกอุ่นใจว่าเราคงมีทางออกบางอย่างที่ทำให้ไม่อดตายยามเกิดวิกฤต แต่ถึงยังไงก็ตาม การบริโภคอย่างพอดีและปรับวิถีชีวิตของคนทั้งโลกเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ถูกทำลายมากและเร็วไปกว่านี้ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีอยู่วันยังค่ำ

เพราะถึงวันนั้น แม้อาหารของเราจะเปลี่ยนไปยังไง หน้าตาเมนูของเราจะเป็นแบบไหน

การได้นั่งกินมันท่ามกลางโลกและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์คงทำให้อาหารจานนั้นอร่อยขึ้นบ้าง จริงไหม

อ้างอิง

media.mit.edu

open-meals.com

space10.com

AUTHOR