happening and friends : การเดินทางครั้งใหม่ของ happening ที่จะชวนเพื่อนพ้องศิลปินไทยออกไปให้โลกเห็น

ไม่เพียงเป็นออฟฟิศบ้านใกล้เรือนเคียงเท่านั้น แต่ a day กับนิตยสาร happening ที่นำโดยบรรณาธิการบริหาร วิภว์ บูรพาเดชะ เราผูกพันกันมานาน แอบติดตามข่าวคราวความเป็นไปของนิตยสารศิลปะบันเทิงเชิงสร้างสรรค์ที่มีจุดยืนชัดเจนนี้ตั้งแต่ลุกขึ้นมาเป็นนิตยสารหัวแรกๆ ที่ประกาศทำฉบับ 3 เดือนด้วยเนื้อหาคอนเซปต์จัดและหนักแน่นในแต่ละเล่ม รวมไปถึงร้าน happening shop ก็เป็นร้านที่เราแวะเข้าดูสินค้าน่ารักๆ เป็นประจำทุกครั้งที่ไปหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

พอได้ข่าวว่า happening จะเดินทางมาถึงฉบับที่ 111 พร้อมคอนเซปต์ ‘Go-inter’ เล่าเรื่องของศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์ว่าทำยังไงให้ผลงานเจ๋งๆ ของไทยเราไปถึงสายตาชาวต่างชาติได้ทั่วโลก นี่คือเรื่องที่เราสนใจลำดับแรก และตื่นเต้นมากขึ้นเมื่อรู้ว่า happening กำลังจะเปิดตัวเว็บไซต์ happeningandfriends.com ที่เสิร์ฟทั้งเนื้อหารื่นรมย์ใจและเป็นร้านค้าออนไลน์ให้เราเลือกซื้อสินค้าดีไซน์เท่ๆ ที่วางขายในร้าน happening shop ได้แบบส่งถึงหน้าบ้าน และความตื่นเต้นสุดท้ายที่เราว่าบ้ามากคือ เว็บไซต์นี้พร้อมให้อ่านได้ถึง 4 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น (ลองกดคลิกเข้าไปดูแล้วพบว่าเนื้อหาทุกหน้าถูกแปลเป็น 4 ภาษาจริงๆ ไม่เว้นแม้แต่ประวัติของคนเขียนคอลัมน์นั้นๆ)

เพื่อนซี้ happening มองเห็นอะไรและกำลังจะทำอะไร นี่คือความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เราอยากให้ทุกคนรู้ไปพร้อมกับเรา

ทำไมวางคอนเซปต์ของ happeningandfriends.com ว่าให้มีทั้งคอนเทนต์ให้อ่านและร้านค้าออนไลน์ด้วย
ต้องไล่มาอย่างนี้ครับ เราเริ่มทำนิตยสารกันเมื่อ 10 ปีก่อนและก็ค้นพบว่ามันไม่ง่ายซะทีเดียวในการทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ เพราะเราเป็นสื่อที่พูดเรื่องศิลปะ ภาพยนตร์ เพลง ไม่ใช่สื่อแมสสุดๆ เราเลยต้องทำงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์ เสวนา เวิร์กช็อป จนเราก็มีคอนเนกชั่นกับค่ายหนัง ค่ายเพลง แบรนด์ดีไซน์เล็กๆ ที่มาออกอีเวนต์ร่วมกัน เรารู้สึกว่าคงจะดีถ้ามีร้านที่รวมคนเหล่านี้ไว้ด้วยกัน ขายนิตยสารเราเองด้วย และขายสินค้าที่พูดถึงในสื่อเราด้วย ก็เริ่มทำร้าน happening shop ตอนเข้าปีที่ 6 และเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมาก็เปิดสาขาสองที่ช่างชุ่ย

การทำร้านให้ประสบการณ์กับเราหลายอย่าง เราได้เห็นหน้าตาคนที่ชอบงานแบบนี้ และอีกส่วนคือเราได้เจอคนที่เรานึกไม่ถึงว่าจะสื่อสารกับเขา คือคนต่างชาติ ในร้าน happening shop ก็มีลูกค้าทุกชาติทั้งจีน ญี่ปุ่น ยุโรป บางเดือนเยอะกว่าคนไทยอีก

ช่วงหลังๆ เรามีโอกาสได้ไปต่างประเทศเยอะขึ้น ทำหนังสือกับประเทศญี่ปุ่นบ้าง ก็พบว่ากระแสศิลปะที่นั่นถือเป็นงานแมสนะ อย่างที่ญี่ปุ่น แบรนด์ทุกแบรนด์เริ่มเอาศิลปะกลับเข้าหาตัวเอง แบรนด์ไหนมีตึกของตัวเองก็จะมีแกลเลอรีอยู่ข้างล่าง พอถึงจุดหนึ่งที่ธุรกิจพัฒนาไปเรื่อยๆ มันจะไปถึงจุดนี้แหละ คือความรู้สึกที่เป็นแก่นมากขึ้น และสิ่งที่สื่อสารได้ก็คือศิลปะ สอดคล้องกับที่ happening shop ก็มีห้างติดต่อมาเยอะว่าให้ไปเปิดสาขาที่นั่นที่นี่ไหม แต่เราก็ไม่ได้ไปเพราะอาจไม่เหมาะสมด้วยพื้นที่หรือราคา ทั้งหมดทั้งมวลทำให้เราพบว่ามีกลุ่มคนที่น่าจะสนใจเรื่องศิลปะในเมืองไทยมากกว่าแค่เมืองไทยแล้วล่ะ ชอบมีลูกค้าญี่ปุ่นเดินมาถามว่ามีอัลบั้มเพลงไทยอะไรน่าสนใจบ้าง เราเลยคิดว่านี่เป็นโจทย์ท้าทายที่เราจะเอาศิลปินไทยไปให้คนต่างชาติรู้จักด้วย

เลยเป็นอีกเหตุผลว่าต้องทำเว็บไซต์ให้ครบ 4 ภาษาทั้งไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น
เราค้นพบว่าโลกออนไลน์สำคัญมากขึ้นแต่เราค่อนข้างช้า ก็เล็งๆ กันว่าจะทำยังไงดี ถ้าเราปรับเล่มเป็นราย 3 เดือนแล้ว แปลว่าเรามาทางช้าแล้วล่ะ ไม่อยากไปแข่งกับคนอื่น ด้วยทีมเราเล็กและประเด็นที่ทำ อย่างแผ่นไวนิล กล้องฟิล์ม ทำไมชีวิตมันสโลว์อย่างนี้ อนาล็อกเหลือเกิน ถ้าทำเว็บไซต์ก็อยากทำคอนเทนต์ที่ไม่รีบมาก อยู่ได้นานๆ หน่อย หลักๆ ยังสื่อสารเรื่องศิลปะ บันเทิง การออกแบบเหมือนเดิม แต่ไปสื่อสารกับกลุ่มคนที่กว้างขึ้น เราเลยคิดว่าต้องทำภาษาต่างประเทศด้วย ตอนแรกก็เอาแค่อังกฤษก่อนไหม แต่คิดว่ามันยังไม่กว้างขวางพอ เพราะเราเห็นว่าเดี๋ยวนี้คนจีนก็มีบทบาทเยอะทั้งในเชิงสังคมและการท่องเที่ยว ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่ตรงกับเรา และคนญี่ปุ่นถ้ามาร้านเราจะอยู่นาน เลือกทั้งร้านเลย ก็น่าสนใจดี เลยรู้สึกว่าต้องมี 4 ภาษาแล้วล่ะ

พอคิดจะทำเลยเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก แปลว่าเราต้องมีคนที่แปลภาษาอื่นๆ ด้วย เลยเตรียมเว็บไซต์กันอยู่ประมาณปีกว่า คิดระบบให้มัน แค่ส่วนร้านค้าออนไลน์ก็ยากแล้วเพราะเราต้องรองรับหลายๆ แบรนด์ ต้องพร้อมที่จะเปิดรับแบรนด์ใหม่เสมอ รวมถึงเนื้อหาทั้งหมดจะถูกส่งไปแปล เพราะฉะนั้นเว็บไซต์เราจะช้ามาก (หัวเราะ) คงไม่ใช่เนื้อหาที่เขียนปุ๊บแล้วอัพขึ้นได้เลย อย่างเร็วก็ 2-3 วัน เลยไม่สามารถทำคอนเทนต์ด่วนๆ ได้ ดูหนังคืนนี้รีวิวเลยไม่ได้ แต่ต้องเป็นอะไรที่อ่านได้ระยะยาวกว่านั้น

คิดว่าการทำ 4 ภาษาเป็นการตัดสินใจที่คุ้มใช่ไหม
ใช่ มันน่าจะทำให้เว็บไซต์เราไม่เหมือนใคร เรามองคนอ่านเป็นหลักว่าถ้ามีภาษาที่เขาเข้าใจก็น่าจะทำให้เขาเข้าถึงเรื่องของเมืองไทยได้ง่ายขึ้น เวลาเอางานคนไทยไปโชว์จะได้ไม่น้อยหน้าใคร อย่างเราทำฉบับ Go Inter ก็พบว่ามีเรื่องให้หยิบจับเยอะมากเลยแต่เราหยิบมาได้แค่ไม่กี่คนเท่าที่หน้ากระดาษจะมีให้เท่านั้นเอง คนไทยทยอยไปสร้างชื่อเสียงกันอยู่แล้วและไม่เหมือนยุคก่อนด้วย แค่คุณวาดรูปสวยๆ ลงอินสตาแกรมก็จะมีแบรนด์ระดับโลกมาติดต่อคุณไปวาดรูปได้นะ มันยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่เลย แต่เรื่องพวกนี้สื่อก็ยังตามพูดถึงได้ไม่หมด

กระแสศิลปะในต่างประเทศที่ไปเห็นมาเฟื่องฟูขนาดไหน
พอดีไปญี่ปุ่นบ่อย เราจะเห็นว่าศิลปะอยู่ในชีวิตเขาเยอะมาก อย่างแกลเลอรีในโตเกียวจะเยอะมาก เดินไปไหนก็เจอทั้งระดับประเทศและเอกชน ไม่ว่าจะเล็กใหญ่แค่ไหนจะมีคนดู มีคนเดินเข้าไปเสมอ เราเดินผ่านแกลเลอรีเล็กๆ หลงเข้าไปเป็นวันเปิดนิทรรศการพอดี ก็เปิดอย่างง่ายๆ ไม่มีตัดริบบิ้นอะไร แค่ศิลปินมาดูๆ แล้วก็กลับ คนที่รู้ข่าวก็เดินเข้ามาดู ไม่ต้องจัดปาร์ตี้อะไรกันเลย หรืออย่างวันธรรมดาก็มีคนเดินเข้าตลอด แม้ว่าจะจัดงานเป็นเดือนๆ แล้ว มันมีพลวัตที่ดีมาก

อีกที่ที่ได้ไปเห็นคือมาเลเซีย อาร์ตซีนในเมืองไทยโดยเฉพาะสายร่วมสมัยจะตื่นเต้นกว่าประเทศเพื่อนบ้านเยอะ อาจแพ้แค่สิงคโปร์ที่เขาทำมาก่อนเรา แต่มาเลเซียถึงเขามีน้อยแต่ก็กำลังเกิด น่าตื่นเต้นดี มีร้าน Selected Shop คล้ายๆ happening shop ของคนรุ่นใหม่ที่เราเห็นว่าเขาตั้งใจมากและมีความสุขกับมันด้วย ก็จะเห็นการค่อยๆ เกิดของสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน

ทำไมมองว่าตลาดของกลุ่มคนที่สนใจงานดีไซน์สวยๆ ถึงเป็นคนต่างชาติมากกว่าในไทย
กลุ่มคนที่สนใจงานศิลปะร่วมสมัย งานดีไซน์ สร้าง identity ให้ตัวเองผ่านการเลือกซื้อข้าวของที่ไม่ซ้ำใครมีอยู่ทุกประเทศอยู่แล้ว บางประเทศอาจจะมีเยอะหน่อย พอเราโฟกัสว่าทำขายในเมืองไทยก็จะมีอยู่ก้อนหนึ่ง แต่ถ้าเราเปิดช่องทางให้คนกลุ่มนี้จากทุกประเทศเข้ามาสู่ก้อนนี้ได้ก็จะแมสมาก พี่มองแบบนี้ เพราะในระหว่างการเดินทาง การทำร้าน เราจะเจอคนประเภทนี้เยอะมาก บางคนก็บอกว่ายูน่าจะไปเปิดร้านที่มาเลเซียนะ ซึ่งไม่รู้เขาพูดจริงหรือพูดเล่นนะ แต่เขาคงมองว่ามันเป็นไปได้

ตอนเริ่มทำ happening shop มองภาพไหมว่าจะเกิดเป็นกระแสและขายดีขนาดนี้
มองเหมือนกัน แต่อาจไม่เห็นภาพชัดเพราะตอนนั้นเราไม่ได้คิดว่าจะเป็นกระแสเท่านี้ ช่วงนั้นมีคนทำแบรนด์อยู่แล้วและเป็นแบรนด์ที่จริงจังด้วย แต่ผ่านมาเข้าปีที่ 3-4 พบว่ามีคนที่กระโจนเข้ามาเยอะขึ้น เพราะเราขายของได้ง่ายขึ้นในโลกออนไลน์ พอมีคนทำเยอะขึ้นก็ยิ่งส่งผลให้มีคนทำเยอะขึ้นไปอีกเพราะเห็นเพื่อนทำแล้วขายได้ แต่ก็จะมีคนทำแบรนด์ที่ไม่จริงจังเยอะเหมือนกัน ทำแล้วก็เลิกไป หรือบางทีจริงจังแค่ช่วงเดียว ก็เป็นจุดที่เขาจะตัดสินใจว่าจะเติบโตแค่ไหน จะตั้งเป็นบริษัทดีไหม ถ้ามีออร์เดอร์จากต่างประเทศสั่งมา 3,000 ชิ้น จะทำยังไงให้ทัน ก็มีขั้นตอนที่ต้องเรียนรู้ เราก็ให้คำปรึกษากับน้องๆ เอาง่ายๆ จากแค่เดิมทำโปสต์การ์ดขายเองในเฟซบุ๊กแล้วอยากมาฝากขายที่ร้านเราก็ต้องเรียนรู้ระบบการฝากขายว่าเป็นยังไง ต้องทำเอกสาร ทำใบเสร็จยังไง จริงจัง เราจะช่วยดูเรื่องพวกนี้ไปด้วยจนบางแบรนด์ก็เติบโตกลายเป็นแบรนด์จริงจังที่ส่งสินค้าไปต่างประเทศเลยก็มี

อีกประเด็นที่เราทำช้อปออนไลน์คือมักจะมีคนมาฝากสินค้าให้ขายเยอะมาก ซึ่งเรารู้สึกดีนะที่มีคนสนใจ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เราเคยเลือกว่าชิ้นไหนชอบ ชิ้นไหนดี มาถึงจุดที่ของชิ้นนี้ดีนะ ชอบนะ แต่เลือกไม่ได้เพราะไม่มีที่วางแล้ว (หัวเราะ) เราจะกลับไปหาเขาตอนที่มีเว็บไซต์นี่แหละว่าสนใจมาคุยกันใหม่ได้ ภาพที่เรามองไว้ข้างหน้าคือจะพยายามให้ลูกค้าซื้อได้ทั้งหน้าร้อนและออนไลน์ มันคงจะดีนะถ้ามีคนญี่ปุ่นมาซื้อของที่ร้านเรา แล้วพอเขากลับประเทศไปแล้วอยากได้ของแบบนี้ก็ซื้อออนไลน์ได้

ตอนนี้มีเว็บขายสินค้าออนไลน์เยอะมาก ทำยังไงให้ happeningandfriends.com เป็นมากกว่าเว็บขายสินค้าออนไลน์ทั่วไป
ไอเดียหลักคือเราแค่อยากบอกว่าศิลปะสำคัญ ไม่ใช่ว่าถ้าไม่มีคุณต้องตายแน่นอน แต่เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญทั้งในแง่ปัจเจก สังคม รวมไปถึงการบริหารบ้านเมือง พอไอเดียหลักอยู่ตรงนี้ เรื่องที่เราสื่อสารไม่ว่าจะสินค้าที่ขาย การเลือกว่าจะสัมภาษณ์ใครก็จะมีที่มาจากก้อนนี้ เราไม่ได้เน้นขายของให้ระเบิดเถิดเทิงไปเลย แต่อยากให้สินค้าที่ดี น้องที่ทำแบรนด์ดีๆ ได้มีพื้นที่ปล่อยของ ถ้าขายดีก็ดีนะ แต่เราเลือกมาเพราะไม่ได้คิดว่าของเขาขายได้ เราคิดอย่างนี้กับการทำคอนเทนต์เหมือนกัน คนนี้น่าสนใจ น่าสัมภาษณ์ อยากให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักคนนี้นะ

ถ้าอย่างนั้นในแง่เนื้อหาจะแตกต่างจากเว็บคอนเทนต์ที่มีอยู่มหาศาลตอนนี้ยังไง
เราค่อนข้างชัดอยู่แล้วว่าเราพูดประมาณนี้แหละ เราไม่ได้พูดการเมืองเท่าไหร่หรือเชิงธุรกิจมาก คนพูดถึง happening ก็จะเห็นภาพประมาณนี้ ไม่หลุดไปไกลกว่านี้มากและเราก็เป็นมาสิบปีแล้ว ยิ่งพอวางโจทย์ว่าเป็น 4 ภาษาด้วยก็ต้องนึกเผื่อไปถึงคนต่างชาติว่าเรื่องนี้อ่านแล้วเขาน่าจะได้อะไร

เราสังเกตแหละว่าคนทำคอนเทนต์ในโลกของสื่อมันเป็นทะเลมากและเริ่มจะแข่งกันทั้งสื่อใหม่และสื่อเก่า แต่เราไม่ใช่เว็บคอนเทนต์จ๋า แต่เป็นช้อปออนไลน์ที่มีภาพชิ้นงานสวยๆ งานศิลปะด้วย ไม่ใช่แค่ขายของเพียวๆ เราก็จะมีรายได้ 2 ทางและน่าจะ stable มากขึ้น ดีกว่าเรามุ่งทำเนื้อหาแข่งกับคนอื่นอย่างเดียว ซึ่งเราก็แข่งแหละ แต่แข่งด้วยความช้า อาจเป็นจุดอ่อนก็ได้นะ หรือการที่เรามี 4 ภาษาจะเป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็งก็ไม่รู้เหมือนกันนะ มันดูเหมือนจะดีเพราะมีคนอ่านทั่วโลก แต่คนซื้อโฆษณาเขาอาจไม่ได้ต้องการขายทั่วโลกไง ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน

แปลว่าทางรอดของธุรกิจสื่อที่เดิมอาจมาจากนิตยสารคือจำเป็นต้องทำได้มากกว่าแค่นิตยสารแล้วในตอนนี้
ถ้าเป็นประสบการณ์ของทีม happening เองก็ตอบว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ละอย่างที่เราทำ พอทำมาเป็น 10 ปีแล้วก็จะชัดประมาณหนึ่ง ไม่ว่าจะอีเวนต์ เวิร์กช็อป หรือสื่อสิ่งพิมพ์ก็ด้วย ปีแรกๆ ก็ยังมีที่เขามองเราไม่ชัดมาก อยากได้ฟรีก๊อบปี้สำหรับไฮโซนะ เด็กมัธยมนะ ซึ่งไม่ตรงกับเรามากแต่ก็ทำเพื่อให้อยู่รอด พอถึงจุดนี้ลูกค้าที่ทำงานกับเราจะรู้แล้วว่าสไตล์ของ happening เป็นแบบไหน เลยไม่ได้ฝืนใจอะไรและรู้สึกดีมากที่ได้ทำด้วย อย่างตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า ก็มาจ้างให้เราทำปกอัลบั้มให้

ศิลปะของ happening ไม่เหมือนกับศิลปะของคนอื่นยังไง
เราแค่อยากสื่อสารว่าศิลปะเป็นเรื่องสำคัญในแง่ที่ว่ามันอยู่ในชีวิตเรา เป็นเรื่องใกล้ตัว เราจะไม่พูดแค่ศิลปะที่อยู่ในมิวเซียมหรือแกลเลอรี แต่รวมไปถึงภาพยนตร์ ดนตรี ช่วงหลังก็เริ่มพูดถึงงานแฮนด์เมด งานเซรามิก การถ่ายรูป ถ้าเราคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องที่อยู่กับเราได้อย่างใกล้ชิด การเลือกกระเป๋าสักใบให้โดนใจก็แปลว่าคุณได้สัมผัสกับศิลปะแล้ว เรามองศิลปะแค่นี้เอง happening ไม่ใช่หนังสือศิลปะฮาร์ดคอร์อย่างเดียว บางเล่มก็โทนสาวๆ บางเล่มก็เป็นผู้ชายแก่ๆ เรื่องเล็กเรื่องใหญ่ก็พยายามพูดหมด ทั้งในและนอกแกลเลอรี ในห้องรับแขก

คอนเทนต์เหล่านี้มีมากพอใช่ไหม
มีมากเลย จริงๆ เราทำอะไรไม่ทันเยอะเหมือนกันนะ บางเรื่องอยากพูดก็ไม่ได้พูดเพราะหลุดกระแสไปแล้วหรือมีคนทำไปแล้ว พอเราคิดว่าศิลปะอยู่รอบตัวเรามันเลยเยอะไปหมด

เดินทางไปร่วมงานเทศกาลดนตรีและศิลปะสุดคึกคักของ happening และงานเปิดตัวเว็บไซต์ happeningandfriends.com ได้ในวันที่ 2 – 3 ธันวาคมนี้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร งานนี้มีบูธออกร้านของแบรนด์ดีไซน์น่ารักๆ ที่ไปสร้างชื่อเสียงที่ต่างประเทศมาแล้วและคอนเสิร์ตจากศิลปินต่างๆ ให้ชมกันฟรีๆ เจอกับเราด้วยแน่นอน 🙂

Facebook | happening mag, happening shop, happeningandfriends

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วรรษมน ไตรยศักดา

ช่างภาพอิสระ นักเล่าเรื่องด้วยภาพผู้เสพติดลาเต้ (ไม่หวาน) หลงรักการเดินทางไม่แพ้กับที่หลงใหลการเสพวัฒนธรรมนอกกระแส