Today, we eat and we listen ตามติด ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’ ไปกินแหลกที่บางลำพู

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ เราตื่นแต่เช้าเพื่อไปเข้าร่วมทริปกินย่านบางลำพูอย่าง ‘อิ่มท้อง พร้อมคุย ครั้งที่ 2’ ซึ่งมี ธเนศ วงศ์ยานนาวา นักวิชาการสายสังคมศาสตร์ เจ้าของฉายาเจ้าพ่อโพสต์โมเดิร์นร่วมทริปไปด้วย เราออกเดินทางจากที่พักแถวธนบุรีไปยังย่านสามเสน เป็นเวลาเก้าโมงสิบห้านาทีพอดีที่มาถึงจุดนัดพบ ณ ‘ร้านก๋วยจั๊บอาม่า’ ร้านเด็ดเจ้าเก่าประจำย่านประวัติศาสตร์แห่งนี้ เพียงหยุดมองหน้าร้านไม่กี่นาที ควันหอมฉุยจากหม้อต้มน้ำซุปเดือดปุดของเฮียเจ้าของร้านก็ลอยมาเตะจมูกเราจนน้ำลายสอ เราชะงักเหมือนต้องมนตร์ ก่อนเดินเข้าร้านไปพบกับธเนศที่สวมเสื้อยืดสีขาวสกรีนลายสนูปี้ และเพื่อนร่วมทริปคนอื่นๆ ที่นั่งรออยู่ในร้านพร้อมชามกวยจั๊บสีข้น

คุณอาจสงสัยว่าทำไมเราถึงให้ความสนใจทริปนี้ ก็จะมีเหตุผลอะไรดีไปกว่าการเดินพูดคุยและแวะกินข้าวสามมื้อกับธเนศ ในฐานะที่เขาอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อครั้งยังหนุ่ม เพราะได้บรรจุเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มิหนำซ้ำปัจจุบัน เขายังเป็นลูกเขยของพ่อตาและแม่ยายที่มีรกรากอยู่เขตบางลำพูอีกต่างหาก

แล้วจะมีอะไรสนุกกว่าการฟังเรื่องราวจากปากของคนคุ้นเคยในพื้นที่ซึ่งเคยอาศัยอยู่ตรงนี้มานานนับสิบๆ ปี ธเนศเคยเดินผ่านแถวนี้มาเป็นพันๆ หน ประกอบกับเขาเป็นนักล่าอาหารจานเด็ดตัวยง เพราะฉะนั้น คำแนะนำเรื่องสถานที่ดื่มกิน เราเชื่อใจเขาแบบไม่มีข้อกังขาเลย

วันนี้ ธเนศจะพาเราไปเยือนร้านอาหารทีเด็ดในย่านบางลำพูถึง 3 ร้าน และตบท้ายร้านกาแฟมากเรื่องราวเป็นร้านที่ 4 เราจึงยอมสละวันอาทิตย์แห่งการพักผ่อนแสนสั้นสำหรับชีวิตมนุษย์ออฟฟิศ เพื่อมากินข้าวเคล้าเรื่องราวเชิงสังคมวัฒนธรรมกับเขาให้อิ่มท้องและอิ่มใจ

ทริปนี้เราจะจำไม่ลืมเลยว่าเคยกินข้าวอร่อยๆ และนั่งฟังธเนศเล่าเรื่องน่ารู้ตลอดวัน


9.15 น.

มื้อเช้า ลิ้มรสดั้งเดิมที่ ‘ร้านก๋วยจั๊บอาม่า’

ทุกคนมีถ้วยกวยจั๊บเส้นใหญ่ประจำตัวกันคนละชาม ส่วนถ้วยของเราใส่เครื่องทุกอย่างที่ร้านจัดให้ เพื่อจะได้ลองกินให้ครบครันตามแบบฉบับออริจินัลของอาม่า โดยนั่งละเลียดเส้น เครื่องใน และซดน้ำซุปช้าๆ ให้รู้สึกอินกับการกินกวยจั๊บน้ำข้นที่ต้มกับเส้นแป้งสีขาวหนึบหนับ จนน้ำแป้งจากเส้นไหลผสมรวมกับน้ำซุปเครื่องพะโล้สูตรเด็ดสีน้ำตาล ให้รสชาติมันๆ เค็มๆ และนัวกำลังพอดี เรากินไปเรื่อยๆ จนเล็มจานเกลี้ยงไม่เหลือแม้แต่น้ำซุปสักหยด นอกจากรสชาติที่กลมกล่อม เรายังชอบใจบรรยากาศสลัวๆ ดูเก่าขรึม และความเคลื่อนไหวยามสายที่ขะมักเขม้นของเฮียเจ้าของร้าน ขณะกำลังหั่นเครื่องกวยจั๊บไม่หยุดมือ

แต่เดิม เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ร้านก๋วยจั๊บอาม่าตั้งอยู่ที่ซอยรามบุตรี ปรุงด้วยรสมือของอาม่าผู้เป็นไอคอนของร้านยุคโบราณ สมัยก่อนเส้นกวยจั๊บจะใส่ไว้ในถังไม้และหม้อดินเพื่ออุ่นให้ร้อนตลอดเวลา จนทำให้น้ำแป้งจากเส้นซึมออกมาจนน้ำซุปข้นขลั่ก แม้ตอนนี้อาม่าจะไม่อยู่แล้ว แต่สูตรกวยจั๊บรสเด็ดยังสืบทอดมายังลูกหลานรุ่นถัดมา ถ้าใครอยากตามไปโดน ร้านนี้ตั้งเด่นอยู่บริเวณริมถนนสามเสน

เราได้เกร็ดความรู้สั้นๆ จากการกินครั้งนี้ว่ากวยจั๊บเป็นอาหารดั้งเดิมของชนชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งกวยจั๊บน้ำข้นที่เราเห็นตรงหน้า ปรุงน้ำซุปด้วยเครื่องพะโล้ เติมเครื่องใน ไข่ต้ม เต้าหู้ เนื้อหมู เลือดหมู และอื่นๆ เมนูนี้เป็นที่นิยมมากในประเทศจีน ภายหลังจึงแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ไม่เว้นแม้แต่บ้านเราเองก็ด้วย

ขอบอกว่าร้านนี้เด็ดจนไม่ควรพลาด เพราะธเนศย้ำเลยว่าเขาชอบกินกวยจั๊บน้ำข้นแบบนี้ซึ่งหากินยากมากๆ แล้ว


12.00 น.

มื้อเที่ยง ฝากท้องที่ ‘ครัวนพรัตน์’

หลังจากเยือนสถานที่ต่างๆ เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของบางลำพูจนสาแก่ใจแล้ว สารภาพตามตรงว่าสมาชิกส่วนใหญ่ยังไม่ทันย่อยก๋วยจั๊บอาม่าเมื่อตอนเก้าโมงเช้าดี ธเนศก็พาพวกเราเดินมาลิ้มรสอาหารไทยร้านดังที่ครัวนพรัตน์ แถวถนนพระอาทิตย์ ครัวนพรัตน์เป็นร้านอาหารไทยกึ่งแกลเลอรี่อายุเก่าแก่กว่า 30 ปี แม้จะมีการรีโนเวตใหม่จนดูสดใสสบายตา แต่ภายในร้านที่อบอุ่นยังคงอบอวลไปด้วยมวลบรรยากาศแห่งอดีต ก่อนหน้าจะเปิดกิจการจนถึงปัจจุบันนี้ ร้านเคยปิดทำการไปนานถึง 5 ปี แม้ห่างหายไปนานมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ลูกค้าของร้านลดน้อยลงไปเลย

เมื่อสมาชิกร่วมทริปทุกคนทยอยนั่งลงบนโต๊ะยาวกลางร้านจนครบแล้ว อาหารเรียกน้ำย่อยถูกลำเลียงมาเสิร์ฟเรื่อยๆ เราขอแนะนำเมนูเด็ดห้ามพลาดอย่างยำมะเขือยาวกลิ่นหอมฉุย รสชาติแสนอร่อยที่เกิดจากการคลุกเคล้าเครื่องปรุงอันจัดจ้าน ปรุงรสด้วยน้ำมะนาวเปรี้ยวจี๊ดยั่วน้ำลาย โรยหน้าด้วยพริกซอยสดรสแซ่บ พร้อมกระเทียมดองสีขาวใสรสเด็ด และกุ้งแห้งตัวเล็กสีส้มพอดีคำ เมื่อตักเคี้ยวในปากแล้วให้รสชาติลงตัวจนต้องขยิบตาให้พนักงานร้านเพื่อชื่นชมไปหนึ่งที จานต่อมาที่เราอยากแนะนำคือแกงเขียวหวานเนื้อ ที่สัมผัสของเนื้อให้ความนุ่มละมุนลิ้น พร้อมปรุงด้วยน้ำกะทิเข้มข้น รสหวานปะแล่ม เค็มนิดๆ กำลังลงตัว เมื่อกินคู่โรตีแป้งหนานุ่มก็ช่วยตัดเลี่ยนได้อย่างน่าประทับใจ

นอกจากอาหารรสเป็นมิตรต่อจิตใจและลิ้น จิตรกรรมฝาผนังพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 รายล้อมด้วยองค์ประกอบของมวลดอกไม้สไตล์บาโรกยังช่วยเสริมบรรยากาศละมุน และชวนให้จับจ้องเพลิดเพลิน ปิดท้ายมื้อกลางวันด้วยพุดดิ้งโบราณชิ้นเล็กรสหวานที่ทำจากไข่ นุ่มจนไม่ต้องเคี้ยวก็กลืนลงท้องได้ทันที

นอกจากมื้อนี้จะอร่อยและอิ่มจนหนังตาหย่อน สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราประทับใจมากคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลของเพื่อนร่วมทริปที่เรียนและทำงานกันหลายสาขา ทั้งรัฐศาสตร์ โบราณคดี สื่อสารมวลชน สถาปัตยกรรม และอื่นๆ


16.00 น.

มื้อเย็น กินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นรสเด็ดที่ ‘จิระเย็นตาโฟ’

หลังจากเดินท่องประวัติศาสตร์ในย่านบางลำพูจนขาลาก เรามาปิดท้ายมื้อเย็นด้วยอาหารคาวอร่อยๆ ด้วยเมนูเส้นที่ร้านจิระเย็นตาโฟ ร้านขนาดเล็กๆ หน้าตาดูธรรมดา แต่พิเศษเพราะเป็นร้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังมายาวนาน เรากล้ารับรองเรื่องรสชาติ คุณภาพแน่น ราคาสบายกระเป่า ซึ่งโดยปกติแล้ว ร้านนี้จะมีคนจ่อคิวกันแน่นขนัด แต่โชคดีตอนที่เราเข้าไปสั่งมีโต๊ะว่างเลยได้กินทันที สูตรเด็ดเย็นตาโฟที่เราทุกคนกินกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเป็นตำรับอาหารของคนจีนแคะที่สืบทอดตำรับมาเป็นพันปี หลังจากนั้นก็ถูกดัดแปลงสูตรออกมาอย่างหลากหลาย

จุดเด่นของร้านจิระเย็นตาโฟคือลูกชิ้นรสเด็ดสูตรโฮมเมดเรียบง่าย อาทิ ฮือก้วย ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นกุ้ง และลูกชิ้นสาหร่าย แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เพราะเดี๋ยวเสียชื่อเย็นตาโฟคือน้ำซุปเต้าหู้ยี้สีชมพูรสหวาน เราเลือกเติมน้ำส้มสายชูให้มีรสเปรี้ยวนิดๆ แค่นี้การกินเย็นตาโฟมื้อนี้ก็แสนจะเพอร์เฟกต์มากแล้วจริงๆ


17.00 น.

คุยโขมงที่ ‘เฮี้ยะไถ่กี่’ ร้านกาแฟของคอการเมืองรุ่นเก๋า

ปิดท้ายทริปด้วยร้านกาแฟไฮไลต์ระดับตำนานอายุ 60 กว่าปี ปัจจุบันร้านนี้ดำเนินกิจการยาวนานเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว จุดเด่นของร้านกาแฟเก่าแก่เจ้านี้คือการคงบรรยากาศยุคก่อนเก่าไว้ได้เป็นอย่างดี ร่ำลือกันมานานว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่รวมตัวยอดฮิตของบรรดาอากงอาม่า และคุณลุงคุณป้าที่มาพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมือง แถมถ้าเกิดว่าคุยโขมงโฉงเฉงจนคอแห้งขึ้นมา ก็สามารถยกแก้วน้ำชาและกาแฟขึ้นมาจิบให้หาย แล้วเมาท์กันต่อได้ทันที

ทั้งนี้ธเนศเล่าให้เราฟังว่าสมัยก่อนช่วงใกล้เลือกตั้งทีไร ถ้าพรรคการเมืองอยากเช็กเรตติ้งของตัวเองว่าอยู่ในสถานการณ์แบบไหน หัวคะแนนหรือคนในพรรคจะต้องมาแอบนั่งฟังและสังเกตฟีดแบ็กจากการแสดงความคิดเห็นของผู้คนที่หลากหลายภายในร้าน เพื่อเก็บข้อมูลสำคัญเหล่านี้กลับไปใช้งานหาเสียง แต่ที่เล่ามาทั้งหมดนั้น วันที่เราไปถึงร้านดันปิด เลยไปหย่อนใจที่ร้านแพท คาเฟ่ โบราณ ซึ่งสามารถนั่งทอดอารมณ์คุยกันเล่นเพลินๆ ในสไตล์กึ่งคลาสสิกและโมเดิร์น แถมทำให้เราเห็นภาพของคนในทริปที่คุยกันอย่างออกรส จนทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่าสภากาแฟได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น


เมาท์เรื่องกินกับธเนศ

นอกจากจะกินข้าวอร่อยๆ ออกรสออกชาติ อิ่มพุงกางหนังตาหย่อน เราก็ขอทำตัวเป็นคนมีสาระ โดยการนั่งคุยกับธเนศเรื่องการกินอยู่ของคนในสังคมเมือง เพื่อให้เป็นน้ำจิ้มชูความอร่อยระหว่างมื้ออาหารให้มากขึ้น


การกินของคนในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง?
“คนเจนเนอเรชันคุณเติบโตมากับมาม่า ซึ่งเป็นอาหารที่ dictate รสชาติของพวกคุณมากๆ คุณนึกออกไหมว่าผมไม่มีวันไปกินมาม่า ไม่ใช่ว่าผมต่อต้าน แต่ของกินประเภทนี้ไม่เคยอยู่ในหัวผม มาม่ามันกำลังบงการชีวิตคุณ คนที่อยู่หอและคนเร่งรีบจำเป็นต้องกิน นี่คือความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหารที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกคุณ”


การกินมาม่าเป็นเรื่องของฐานะหรือเปล่า?
“การกินมาม่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจนหรือไม่จน มันอาจจะเป็นอาหารของคนที่อยู่หอเพราะเป็นอาหารกินที่ง่าย เหมือนวิ่งเข้าเซเว่นแล้วกดน้ำร้อนกินได้ทันที สิ่งนี้มันเข้ามาเปลี่ยนตัวคุณ เช่น อาหารกล่องในเซเว่น ถ้าคุณกินบ่อยๆ อาจจะเริ่มกินตั้งแต่สมัยอยู่มหา’ลัย กินจนคุณโตจนทำงานตอนอายุ 20 ปี อาหารกล่องพวกนี้ จะกำหนดรสชาติชีวิตของคุณ ว่าจะต้องคุ้นเคยกับรสชาติแบบไหน มันเป็นเรื่องธรรมดามาก”


แต่การคุ้นเคยกับการกินอาหารแบบนี้มันไม่ดีต่อสุขภาพไม่ใช่เหรอ?
“ทำไมคุณถึงบอกว่ากินอาหารแบบนี้มันจะดีหรือไม่ดีต่อสุขภาพ ตอนนี้มีศัพท์ว่า Pharmacogenetics (เภสัชพันธุศาสตร์) อาหารอย่างเดียวกันส่งผลต่อร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน มันต้องลงลึกถึงระดับยีนส์ แล้วจะรู้เลยว่าสารเคมีตัวนี้คุณจะรีแอคกับมันยังไง เพราะฉะนั้นสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธ์ุรีแอคต่ออาหารไม่เหมือนกัน เรื่องการกินไม่หมูอย่างนั้น สำหรับผมมันซับซ้อน เพราะเป็นสิ่งที่ผมต้องพยายามบอกว่ามันไม่ใช่แค่สองบวกสองเป็นสี่”


สำหรับคุณ อาหารที่มีประโยชน์คืออะไร?
“ผมก็ไม่รู้ ผมกินของผมไปเรื่อยๆ พยายามกินให้หลากหลาย อย่างตอนนี้เรากินเนื้อไม่ได้ เพราะกินแล้วเริ่มไม่ย่อย มันจะอึดอัด อายุเยอะแล้วเลยต้องกินผักให้มากขึ้น”


ทำไมต้องไปกินที่บางลำพู

บางลำพูเป็นศูนย์กลางการค้า เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องเก่าแก่ ร้านรวงสินค้า และห้างร้านโบราณ เป็นหนึ่งในย่านดัง ซึ่งส่วนมากคนรุ่นเรามักนึกถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สถานเริงรมย์เลื่องชื่อ นั่งจิบเบียร์ในบาร์ดีๆ และหาของกินอร่อยๆ ให้เพลิดเพลินกับเพื่อน แต่อีกด้านของบางลำพูคือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ร้อยเรียงกันมานาน ถ้าคุณพอมีเวลาว่าง เราขอแนะนำให้ลองหาโอกาสมาเดินท่องเที่ยวตามถนนบวรนิเวศ ถนนสามเสน และถนนจักรพงษ์ ซึ่งยังคงมีกลุ่มดนตรีไทยอายุร้อยปี ทั้งร้อง แสดง และเล่นดนตรี สำรวจร่องรอยย่านพักอาศัยของเจ้านายในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมไปถึงความเจริญทางการค้าที่สั่งสมมานาน ทำให้มีมรดกความรุ่งเรืองจากอดีตอย่างตลาดบางลำพูหรือตลาดยอดซึ่งอุดมไปด้วยของอร่อยๆ ร้อยแปดอย่างที่ต้องลองออกตามมาดูให้เห็นด้วยตาตัวเอง

AUTHOR