“Be Patient and Trust Your Journey” ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์

การยอมรับเพศทางเลือกในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากถ้าเทียบกับอดีต เราเห็นไอคอนหลายคนที่ออกมาบอกเพศสภาพอย่างตรงไปตรงมา ทุกอย่างมีแนวโน้มที่ดีขึ้นและการเหยียดเรื่องเพศก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่ถ้าลองจินตนาการถึงเมื่อกว่า 20 ปีก่อน การเป็นเพศทางเลือกในสังคมไทยสมัยนั้นกลายเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด การยอมรับและเข้าใจถือว่ามีอยู่น้อยโดยเฉพาะในครอบครัว หลายคนเจอปัญหาจนไม่อาจก้าวผ่าน แต่หลายคนก็ก้าวผ่านมาได้จนประสบความสำเร็จ

คนที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราตอนนี้ เรามักจะเรียกเขาด้วยคำนำหน้าว่าครูเสมอ และ ใช่ เขาบอกเราตั้งแต่นาทีแรกว่าเขารู้ตัวตั้งแต่อยู่ชั้นประถมแล้วว่าเขาเป็นเพศทางเลือก เรากำลังนั่งคุยกับ ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ เจ้าของสถาบันสอนภาษา Angkriz, ดีเจในรายการ พุธทอล์ค พุธโทร ทางช่อง EFM 104.5 และไอคอนของเพศทางเลือกหลายๆ คน บทบาทที่หลากหลายและการยอมรับในสังคมทำให้เขาบอกกับเราว่าทุกวันนี้เขาประสบความสำเร็จแล้ว แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเส้นทางที่ผ่านมาของการเป็นเพศทางเลือกในสังคมไทยนั้นไม่ได้ง่ายดายเลย และประสบการณ์เหล่านั้นเองที่เราอยากได้ยิน

เรากำลังย้อนเวลาไปเมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว ที่โรงเรียนในอำเภอหาดใหญ่ ผ่านความทรงจำของเด็กชายในชุดนักเรียนคนหนึ่งที่เสื้อมีชื่อปักว่า ‘ด.ช. คณาธิป สุนทรรักษ์’

Home is where the story begins.

“เราเป็นลูกชายคนโตในตระกูลคนจีนที่หาดใหญ่ เรารู้ตัวตั้งแต่ประถมปลายแล้วว่าเป็นตุ๊ด เรายอมรับเพศสภาพได้นะ แต่การเป็นตุ๊ด ณ ที่ตรงนั้นมันมีแรงเสียดทานค่อนข้างเยอะ”

“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเป็นเหยื่อของ homophobia (อาการเกลียดพฤติกรรมรักร่วมเพศ) และการ bully สมัยก่อนสองคำนี้ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก มันยังไม่ได้มีการรณรงค์ให้หยุดการกระทำแบบนี้ ดังนั้นสิ่งที่เราโดนมันเลยเกิดขึ้นตลอดเวลา ย้ำว่าตลอดเวลา ที่โรงเรียน คำว่า ‘ตุ๊ดๆๆๆๆ’ คือเสียงที่เราได้ยินประจำ แม้กระทั่งครูก็ล้อเราและบอกว่าเสียชาติเกิด ถ้าเป็นที่บ้าน คุณพ่อจะรับไม่ได้เลย มันเป็นความเชื่อของเขาที่เราเปลี่ยนไม่ได้ อยู่ที่บ้านเราจะกลายเป็นคนละคน”

“ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้รอดมา เราว่าเรารอดมาได้เพราะแม่ แม่ยังไม่ได้ปิดประตูใส่เราทุกบาน เขายังมีแง้มไว้อยู่บ้าง บวกกับตัวเราเองที่ค่อนข้างเข้มแข็ง แต่ถึงจุดหนึ่งปัญหามันก็ไม่ได้หายไปไหน เรารู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ตัวเองออกจากที่นี่ ตอนนั้นแหละที่เราเริ่มตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษ เพราะเราหวังลึกๆ ว่าภาษาอังกฤษจะพาเราไปยังโลกกว้าง เราเริ่มตั้งใจเรียนจนทีนี้ก็ลามไปวิชาอื่น พอตั้งใจเรียนเราก็ค้นพบว่าเฮ้ย จริงๆ เราเรียนหนังสือได้นี่ จากก่อนหน้าที่อยู่ในระดับกลางๆ ค่อนไปทางแย่ เราก็พลิกกลับมามีผลการเรียนอยู่ระดับต้นๆ ของห้อง”

“ถามว่าตอนนั้นการรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้นมันเปลี่ยนชีวิตคนๆ หนึ่งมั้ย มันก็ไม่ขนาดนั้น แต่เราคิดว่าภาษาอังกฤษทำให้เราลืมปัญหา เราสามารถอ่านงานที่เป็นภาษาอังกฤษได้ จำได้เลยว่า ม.4 เราก็เริ่มอ่านหนังสือเมืองนอกแล้ว เริ่มดูอะไรที่เป็นเมืองนอก มันทำให้เราเข้าใจ เริ่มเห็นว่าโลกมันกว้าง จริงๆ โลกมันสวยงาม เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าการเรียนจะเป็นทางออก”

“ทางออกที่จะพาเราออกไปจากที่นี่”

Everything happens for a reason.

“ตอน ม.6 เราค่อนข้างรู้จักตัวเองประมาณหนึ่งว่าเราชอบงานเบื้องหน้า การพูดคือสิ่งที่เราถนัด พอดีกับมีรุ่นพี่กลับมาแนะแนวที่โรงเรียนถึงคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรารู้สึกเลยว่าต้องเข้าที่นี่ให้ได้ การศึกษาจะเป็นเครื่องมือพาเราออกไปจากที่นี่ เราขอแค่ไม่อยู่บ้านเพราะจะได้ไม่ต้องมานั่งเถียงกับพ่ออีก”

“ฟังดูแปลกๆ ที่เราเลือกจะหนีออกมาใช่มั้ย นั่นเพราะเรารู้สึกว่าเราได้พยายามทุกทางแล้ว ทุกทางแล้วจริงๆ นะ สิ่งที่เด็ก ม.ปลายคนหนึ่งจะทำได้ดีที่สุด เราคิดว่าเราทำไม่บกพร่องเลย เราเป็นเด็กเรียนดี กิจกรรมเด่น ไม่เคยเข้าห้องปกครอง ดังนั้นจะคาดหวังอะไรกับเราอีก”

“สุดท้ายขนาดเราสอบติดนิเทศฯ จุฬาฯ เรายังเป็นหลานคนเดียวในตระกูลที่ไม่มีการฉลอง เพราะเขารู้สึกว่ามันคือคณะอะไรก็ไม่รู้ เต้นกินรำกิน เราทั้งปะทะกับพ่อ ลองใช้เหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ แต่สุดท้ายมันไม่เวิร์ก เราปะทะกับเขาจนถึงจุดที่พ่อหยิบปืนขึ้นมาจะฆ่าตัวตาย บ้านจะแตกแล้ว ดังนั้นเชื่อเถอะว่าเราต้องออกมา เราต้องอยู่ไกลกันเพื่อไม่ให้เราเกลียดกัน เพื่อรอวันหนึ่งที่เราคิดว่าทุกอย่างจะโอเค ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าคือวันไหน”

Every con has its pros.

“ถ้าให้มองย้อนกลับไปทุกอย่างมันมีข้อดี-ข้อเสีย เพราะถ้าไม่มีเรื่องร้ายแรงในวันนั้นเราก็คงไม่มีแรงผลักดันเยอะมากจนติดนิเทศฯ จุฬาฯ ทุกอย่างมันเป็นเหตุเป็นผล เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีเบ้าหลอม และ 4 ปีที่นิเทศฯ จุฬาฯ คือเบ้าหลอมที่ดีที่สุดเลยสำหรับคนแบบเรา เราได้สำรวจความคิดตัวเอง ได้พูด ได้แชร์โดยที่ไม่มีใครตัดสินเรา ที่นั่นความแตกต่างจะถูกรับฟัง อะไรที่เราเคยทำที่หาดใหญ่แล้วไม่เป็นที่ยอมรับ แต่กับที่นี่คือทุกคนปรบมือ กรี๊ดเรา เราแฮปปี้มากที่สุดของที่สุดของที่สุด สถานการณ์ที่บ้านก็ดีขึ้นด้วย พอเราห่างมาแล้ว ได้คุยกันน้อยลง พอไม่เห็นหน้ากันความคิดถึงก็เริ่มเกิด มันค่อยๆ ดีขึ้นกับทุกฝ่าย”

“หลังจากจบนิเทศฯ จุฬาฯ จังหวะชีวิตก็ดำเนินไป เราไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ จบมาก็กลับมาเริ่มทำโรงเรียนสอนภาษา Angkriz ช่วง 2-3 ปีหลังโรงเรียนเริ่มมีชื่อเสียง สื่อเริ่มสนใจ เราได้ไปออกรายการมากขึ้น แต่รายการที่เปลี่ยนชีวิตเราคือรายการ วู้ดดี้ เกิดมาคุย ตอนนั้นพี่วู้ดดี้เขาทำรายการเป็นธีมเสียชาติเกิด แล้วปมสุดท้ายที่เขาขมวดไว้คือการถามคนดูกลับว่าคนที่เห็นอยู่นี้เขาเสียชาติเกิดตรงไหน พอรายการนั้นออกไป เราได้คุยโทรศัพท์กับพ่อ ถามเขาว่าดูรายการหรือยัง ซึ่งเขาดู ก่อนวางสายพ่อบอกเราว่า

“ตอนนั้นเราร้องไห้เป็นบ้าไปเลย ทุกอย่างปลดล็อกตัวเอง เรารู้สึกว่านี่แหละคือความสำเร็จของเราแล้ว มันคือจุดที่เราไม่ต้องมาพิสูจน์อะไรอีก เรายืนได้ด้วยขาตัวเอง เราตอบคำถามในใจได้ว่าเราเสียชาติเกิดหรือเปล่า อะไรที่เกิดขึ้นตามมาคือกำไรแล้วล่ะ”

Be patient and trust your journey.

“ถ้าตอนนี้เราย้อนกลับไปช่วงมัธยมได้ หรือเราได้มีโอกาสเจอกับน้องๆ เพศทางเลือกที่กำลังประสบปัญหาคล้ายๆ กัน เราจะกอดเขานะ และพูดคำสั้นๆ เลย”

“เราจะบอกเด็กชายคณาธิปว่าขอบคุณนะที่อดทน ขอบคุณที่ยังเชื่อว่าการเดินทางที่ดี เลือกสิ่งดี รายล้อมด้วยคนดีๆ ใฝ่ดี แล้วปลายทางมันจะดี จะช้าหรือเร็วไม่มีทางรู้ แต่เชื่อมั้ยว่าจักรวาลนี้รู้ จักรวาลนี้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ มันเหมือนเราปลูกพืชด้วยเมล็ดอะไรสักอย่าง ปลูกไปก็ไม่งอกสักที งอกช้ามาก แต่ขอให้เชื่อเถอะ วันหนึ่งมันจะคุ้ม วันหนึ่งเมล็ดนี้จะเติบโตขึ้นไปเป็นต้นไม้ใหญ่”

“โลกทุกวันนี้เราเสพความไว เราเห็นหลายคนที่ประสบความสำเร็จ อย่างน้องหลายคนที่อยากเป็นเหมือนพี่ลูกกอล์ฟ เห็นเราไปเมืองนอก มีแฟนเป็นฝรั่ง ดูมีชีวิตที่ดี แต่เรารู้สึกว่าน้องไม่ได้มามอง journey ว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้เราต้องอดทนมาขนาดไหน หรือคนที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คนเลย ลองศึกษา journey เขาดู แล้วจะรู้เลยว่าที่เขายืนอยู่มันไม่ได้ง่าย ทุกคนอดทนกันมาแล้วทั้งนั้น”

“ฝากถึงเด็กๆ ที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วกันนะ ไม่ว่าจะเป็นเลสเบี้ยน ตุ๊ด เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ผู้ชาย ผู้หญิง ทุกคนมีปัญหาหมด มีด่านที่ต้องผ่านหมด ดังนั้นเรื่องแรกคือเราต้องยอมรับตัวเองให้ได้ก่อน ส่วนการให้สังคมยอมรับมันไม่ได้ทำผ่านการนั่งตะโกน โวยวาย หรืออธิบาย ทั้งหมดมันผ่านการทำตัวเลย เราต้องทำตัวเองให้ดี ใฝ่ดี สุดท้ายศักยภาพของเรามันจะสำคัญกว่าสิ่งใดๆ ไม่จำเป็นต้องมาอธิบายว่ามารักฉันสิ เข้าใจฉันสิ ไม่ต้องเลย เพราะศักยภาพของเราจะอยู่เหนือเพศ เหนือวัย อยู่เหนือทุกอย่าง ถ้าถึงวันนั้นได้ก็จบ เพศไหนก็จบ ขอแค่อดทนเท่านั้นเอง”

ภาพ Ankriz

AUTHOR