เพชร โอสถานุเคราะห์ กับ บทสนทนาว่าด้วยการออกแบบฉากจบแบบไม่ซ้ำให้การศึกษาไทย

“ก้าวออกจากกรอบ ทำลายค่านิยมเดิม
ๆ มุ่งสร้างสรรค์ และพัฒนาให้ทันโลก”

บรีฟสั้นๆ จาก เพชร
โอสถา
นุเคราะห์ ผู้กำกับการศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ถึง a team เมื่อเราถามไถ่เขาถึงไอเดียสนุกๆ
หากเขามีโอกาสออกแบบฉากจบให้กับภาพยนตร์ทริลเลอร์สะเทือนขวัญที่มีชื่อว่า ‘การศึกษาไทย’

สำหรับใครที่ยังไม่รู้เรื่องราวความเป็นมาของภาพยนตร์ บรรทัดต่อจากนี้คือเรื่องย่อ

ท่ามกลางประเทศอันสิ้นหวัง
เด็กรุ่นใหม่ของประเทศนี้ต่างหลงม่านหมอกที่เสกขึ้นจากอิทธิฤทธิ์ของสี่ปีศาจร้าย
ด้วยหวังจะทำร้ายเด็กไทยให้จนหนทางพัฒนาตัวเอง
จนง่อยเปลี้ยเสียขาคิดอะไรไม่ออกซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จบ

ปีศาจตัวแรก ชื่อ ล้าสมัย คนในวงการมักเรียกสั้นๆ
กันว่า ‘ล้า’

ล้า เป็นปีศาจสุดดื้อ
ล้ามักจะยึดมั่นถือมั่นในตำราโบร่ำโบราณ เกลียดกลัวความรู้สมัยใหม่
ทุกวันล้าจะคอยส่งชุดตำราโบราณโบยบินไปหาเด็กทุกคน
พร้อมเวทมนตร์สะกดจิตให้เด็กเชื่อตำรานั้นอย่างหมดหัวใจ ไม่ต้องสงสัย
ไม่ต้องขวนขวาย ยิ่งเชื่อตำราที่ล้าเตรียมไว้ให้เท่าไหร่ ม่านหมอกแห่งความเขลาในเมืองก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

ปีศาจตัวที่สอง ชื่อ ‘เผด็จ’ แต่วงการสื่อมักล้อเลียนกันเป็นชื่อใหม่ว่า ‘เผด็จการ’

เผด็จ เป็นปีศาจขี้สอน จู้จี้ ชอบบงการ
จัดการวางแผนวิธีการเรียนให้เด็กๆ ในเมืองแบบเบ็ดเสร็จ คาถาประจำตัวคือ ห้ามถาม
ห้ามงง ห้ามสงสัย เชื่อเผด็จไว้ดีที่สุด
ยิ่งเผด็จท่องคาถานี้ม่านหมอกแห่งความเขลาในเมืองก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

ปีศาจตัวที่สาม ชื่อเดิม ‘น้อยแต่เปลี่ยนเป็น ‘มินิมอล’ เพื่อความเท่หลังเข้าวงการ

น้อย เป็นปีศาจที่ถือคติว่ายิ่งน้อยยิ่งดี
มันจึงมักเสกคาถาให้เครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนการสอนในเมืองผุพัง ไม่ก็หายไปเลย
เพราะน้อยไม่ชอบของเยอะ น้อยชอบความโล่ง น้อยเชื่อว่าความโล่งจะทำให้เด็กๆ
มีความอดทนอดกลั้น รู้จักรอคอย แล้วทุกครั้งที่เด็กๆ รอคอย ม่านหมอกแห่งความเขลาก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเท่านั้น

และ ปีศาจตัวสุดท้าย ชื่อ ‘เดี่ยว’ หรือจะมีวลีเรียกติดปากกันสนุก ๆ
ว่า “เดี่ยว มาโดดๆ
ไม่แคร์ใคร”

เดี่ยว ชื่อก็บอกในตัวแล้วว่าเป็นปีศาจที่โดดเดี่ยว
และรักสันโดษที่สุดในโลกปีศาจ เดี่ยวมีนิสัยชอบปฏิเสธความช่วยเหลือจากสถาบัน
องค์กรชั้นนำต่างๆ
แถมเกลียดมากเวลาได้ยินคำอาสาจากแดนไกลว่าจะสร้างเครื่องดูดหมอกแห่งความเขลาออกไป
หรือนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มานำเสนอให้รู้จัก “ไม่! เดี่ยวไม่ต้องการ” ดังนั้นคาถาประจำตัวเดี่ยวคือ “อย่ามายุ่ง” และ “ไม่สนใจ” พร้อมส่งเสียงคำรามล้านเดซิเบล
ทำให้ไม่มีนักประดิษฐ์ นักคิด
หรือผู้กล้าจากแดนไกลคนไหนกล้าย่างกรายเข้าใกล้เมืองนี้
ส่งผลให้ม่านหมอกแห่งความเขลากลืนกินเมืองตลอดไป

เพราะความขยันของสี่ตัวเอก ล้า
เผด็จ น้อย และเดี่ยว จึงทำให้ภาพยนตร์ทริลเลอร์สะเทือนขวัญที่มีชื่อว่า ‘การศึกษาไทย’ เหมือนจะเดินเรื่องไปเนือยๆ วนไปซ้ำๆ
ช้ำๆ แบบไร้จุดหมาย แต่ อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ ไม่คิดเช่นนั้น
เพียงแค่รู้จักวิธีการคิดนอกกรอบก็สามารถมองเห็นความสนุกสนานอีกมากมายที่จะไม่หยุดแค่ตอนเดียว
แต่จะมีเอพิโสดมัน ๆ ตามมาอีกหลายตอน อาจารย์เพชรค่อยๆ
เล่าไอเดียทั้งหมดให้เราฟัง

ไอเดียที่ 1 ดีไซน์บริบทให้ออกนอกเส้นเรื่องเดิมหรือเปลี่ยนทางเลือกให้เป็นที่ควรมุ่งไป

ด้วยระบบการศึกษาแบบเดิมๆ
(เส้นเรื่องเดิมของภาพยนตร์) ทำให้เด็กต้องอยู่ในกรอบ แต่นั่นก็ทำให้สถาบันการศึกษาที่ในอดีตอาจจะเคยเป็นแค่ตัวเลือกสำรองสามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
และสามารถหลุดออกไปจากกรอบเดิม ๆ ได้ ในวันที่เราทุกคนมีตัวเลือกเยอะแยะมากมาย
มีความรู้อะไรใหม่ๆ มากมาย เราจะยึดแต่สิ่งเดิมๆ ทำไม

ถ้าภาพยนตร์เรื่อง ‘การศึกษาไทย’ จะมีปีศาจที่ชื่อว่า ‘ล้า’ ก็ต้องสร้างฮีโร่ที่ชื่อว่า
‘ล้ำ’ มาสู้ อาจารย์เพชรบอกว่า “การเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่ครูเตรียมการสอนมาแล้วพูดตามตำราวิชาความรู้ที่ตัวอาจารย์ร่ำเรียนมาก็ล้าสมัยได้ถ้าไม่มีการอัพเดต”
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าความรู้เดิมๆ เหล่านั้นใช้ไม่ได้ แต่ผู้กำกับของเรากำลังบอกว่าการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
ต้องมีอะไรล้ำๆ เข้ามา เพราะโลกเราทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ

“เราต้องดิ้นออกจากกรอบ
ถ้าทางตรงไม่ได้ก็ออกทางอ้อม นั่นคือออกแบบให้มีการสอนนอกห้องเรียน ทุ่มเทให้กับอุปกรณ์ที่ทันสมัย ช่วยให้เอื้อต่อการสร้างงานที่สร้างสรรค์ของผู้เรียน
การมีอาจารย์ที่ช่วยให้นักเรียนคิดนอกกรอบ มีพันธมิตรเป็นสถาบัน
องค์กรวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ

เราพยายามอย่างสุดฤทธิ์ให้การศึกษาไทยทันสมัย และถึงแม้ว่าเราสร้างความ “ล้ำ” แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเราจะสู้กับต่างประเทศได้ไหม
เพราะว่ามีตัวถ่วงที่ไม่ใช่เรา และนี่คือปัญหาแห่งชาติ”

ไอเดียที่ 2 เปลี่ยน ‘เด็ก’ ที่เป็นตัวละครรองให้กลายเป็นตัวเอก

‘เด็ก’ หรือ‘ผู้เรียน’ ต้องเป็นศูนย์กลางของการศึกษาไทย ความหมายง่ายๆ ก็คือ
ให้ความสำคัญกับผู้เรียน ว่าผู้เรียนต้องการอะไร คิดอะไรอย่างไร ผู้สอนไม่ควรที่จะสอนจากมุมมองของตัวเอง
มองว่าเด็กเป็นคนที่มีหน้าที่รับฟังอย่างเดียว นอกจากนี้ผู้กำกับของเรายังชี้ว่าการที่เราจะปรับเรื่องราวหรือรูปแบบการเรียนการสอน ที่มีเด็กเป็นตัวเอกของเรื่องหรือเป็นศูนย์กลางของการศึกษาไทยได้นั้น
ตัวเด็กเองต้องรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร จะรอฟังครูอย่างเดียวไม่ได้
ผู้เรียนต้องขวนขวาย เด็กต้องมีอิสรภาพในการปรึกษากับอาจารย์หรือสถาบันที่ตัวเองเรียน
หรือแม้กระทั่งสามารถออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน
หรือออกแบบระบบการศึกษาได้ด้วยตัวเอง

เพื่อสู้กับปีศาจ ‘เผด็จ’ อาจารย์เพชรจึงสร้างฮีโร่ที่
ชื่อว่า ‘อิสระ’ ขึ้นมาซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะเป็นเด็กๆ ที่อยู่ในระบบการศึกษานั่นเอง
โดยมีผู้ช่วยฮีโร่อีกตัวหนึ่งคือ ‘โค้ช’ ที่คอยให้คำแนะนำแก่เด็ก ๆ เพื่อเอาชนะเผด็จให้ได้ “ผมอยากเห็นเด็กมีโอกาสออกแบบหลักสูตรด้วยตัวเองร่วมกับสถาบัน
เพราะศักยภาพ อุปนิสัย และลักษณะของผู้เรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจึงไม่ควรจะมีหลักสูตรเดียวแล้วบังคับใช้หลักสูตรนั้นกับทุกคนในโลก

ไอเดียที่ 3 ผนึกกำลังฮีโร่ร่วมกับพันธมิตรจากโลกแห่งความจริง

หากเจ้าปีศาจโดดเดี่ยวจะครอบงำภาพยนตร์ที่ชื่อว่า ‘การศึกษาไทย’ โดยโนสนโนแคร์โลกแห่งความเป็นจริงว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว การร่วมมือกับพันธมิตรที่มาจากภาคธุรกิจเจ๋งๆ
จากสถาบันวิชาชีพชั้นนำ หรือแม้กระทั่งชวนคนเก่งที่สุดในแต่ละวงการในแต่ละสาขามาเป็นโค้ชให้กับฮีโร่ของเรา
อาจารย์เพชรมั่นใจว่าวิธีการนี้จะสามารถเอาชนะปีศาจโดดเดี่ยวได้อย่างง่ายดาย

และถึงแม้ว่าตัวระบบทำให้ตัวผู้กำกับอย่างอาจารย์เพชรเองก็ต้องอยู่ในกรอบ
แต่ในฐานะผู้กำกับที่ดีก็ต้องหาทางดิ้นรนออกจากกรอบให้ได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ที่จำเป็นกับโลกอนาคตเข้ามา ต้องทุ่มเทให้กับอุปกรณ์ที่ทันสมัยช่วยให้เอื้อต่อการสร้างงานนอกกรอบของผู้เรียน
ต้องแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรซึ่งเป็นธุรกิจที่เจ๋งที่สุดในวงการ และสอดคล้องกับแต่ละสาขาวิชามาช่วยกันสอน
และผลักดันให้ได้

เพราะการทำให้เด็กได้มีโอกาสหาประสบการณ์จากมืออาชีพตัวจริงในวงการ
และให้โอกาสเด็กได้ทำงานจริงระหว่างเรียน จะมีสถาบันการศึกษาสักกี่แห่งที่มีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันกับภาคเอกชน อย่างเช่นหลักสูตรเกมดีไซน์ที่อาจารย์เพชรไปจับมือกับ
Garena บริษัทผลิตเกมที่เจ๋งที่สุดในเอเชีย
หรือหลักสูตรภาพยนตร์และเอนิเมชั่น อาจารย์เพชรก็ไปจับมือกับ Vancouver Film
School ที่ผลิตคนทำงานในแวดวงฮอลลีวูดและหนังที่ได้รางวัลออสการ์ ทุกปีจะมีทีมงานที่จบจากโรงเรียนนี้
ถ้าระบบการศึกษาไทยมีพันธมิตรมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้มาช่วยดีไซน์
ผลักดันหลักสูตรในแต่ละสาขาวิชา อาจารย์เพชรมั่นใจว่าเราจะมีทางออกดีๆ
ให้กับคนรุ่นใหม่อีกมากมาย ซึ่งสิ่งพวกนี้แหละจะเป็นตัวที่พาเราซิกแซก ออกไปจากปีศาจโดดเดี่ยวได้

ปีศาจโดดเดี่ยวนี่แหละที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง
‘การศึกษาไทย’
วนเวียนอยู่แต่ที่เดิม ยิ่งปีศาจโดดเดี่ยวมีอีโก้แรงกล้าเท่าไหร่ เด็กที่เป็นตัวแสดงในระบบการศึกษาไทยยิ่งไม่พบทางออก
การจะสู้กับปีศาจตัวนี้ได้นั้นจึงต้องผนึกกำลังสร้างพันธมิตรจากมืออาชีพทุกวงการ ดูเหมือนผู้กำกับของเรากำลังจะบอกว่า “ภาพยนตร์ฝรั่งยังมี The Avengers แล้วทำไมเราจะมี The Avengers ในระบบการศึกษาไทยไม่ได้”

ไอเดียที่ 4 ออกแบบและเพิ่มเติมอุปนิสัยใหม่ให้เด็กๆ
ในเมืองฝันสลาย

นอกจากไอเดียที่อาจารย์เพชร
โอสถานุเคราะห์ ได้ออกแบบตอนจบของภาพยนตร์เรื่อง ‘การศึกษาไทย’ มาแล้วนั้น
สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดก็คือ ‘เด็ก’ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้ “ผมไม่ต้องการตีกรอบตัวละครนี้
ผมไม่อยากให้พวกเขากลายเป็นแกะ ที่ออกมาเหมือนๆ กันทุกคน
ผมอยากให้พวกเขามีสีสันต่างๆ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามประสบการณ์ และความสามารถ
เพื่อนำไปสู่ความปรารถนานี้ สิ่งที่ผมสามารถมอบให้กับพวกเขาได้ก็คือ การเติมความคิดสร้างสรรค์และการคิดแบบเจ้าของเข้าไปในตัวละครเหล่านี้”

การศึกษาไทยต้องตอบโจทย์โลกในอนาคต
วันนี้หากตอนจบของการศึกษาไทยคือทำอย่างไรเพื่อให้ได้ปริญญาบัตร ก็ไม่สนุก
ไม่มีอะไรใหม่ๆ ท่องจำกันไปก็จบ อนาคตไปถึงไหนแล้วไม่ต้องพูดถึง
แต่สำหรับผู้กำกับคนนี้ อนาคตและความรู้คือสิ่งสำคัญที่สุด “หากคุณมุ่งไปในอนาคต
คุณต้องคิดว่าคุณเป็นจุดศูนย์กลางก่อน คุณต้องมีกึ๋นพอที่จะกระตือรือร้นผลักดันตัวเอง
คุณต้องขวนขวายความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เรียนเพื่อเอาความรู้ปริญญาคุณจะได้เองแหละ
แต่สิ่งที่คุณจะได้มากกว่าปริญญานั้นเร้าใจกว่าเยอะ”

หลายๆ คนอาจจะคิดว่าไอเดียของผู้กำกับที่ชื่อว่าเพชร
โอสถานุเคราะห์ เจ๋งแล้ว แต่ชายคนนี้ยังนำเสนอสิ่งที่โคตรเจ๋ง
โคตรล้ำขึ้นไปอีกเมื่อเขาบอกว่า “อันที่จริงผมสนับสนุนให้เด็ก ๆ ออกแบบเรื่องราว
และตอนจบของภาพยนตร์เรื่องการศึกษาไทยด้วยตัวของเขาเองนะ”

ไอเดียทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจึงเป็นเพียงการสร้างสภาพแวดล้อม และสร้างทางเลือกของโอกาสที่หลากหลายให้กับ
‘เด็ก’ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญของการศึกษาไทย พวกเขาอาจจะคว้าโอกาสที่ดีกว่าแล้ว
เลิกแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ไปเลยก็ได้ “ผมเคยเห็นเด็กคนหนึ่งได้โอกาสทำงานที่ตัวเองรักในขณะเรียน
แต่ก็ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเอาอย่างไรดี เพราะไม่สามารถทำสองอย่างพร้อมกันได้
ผมก็แนะนำเขาว่าไปทำงานที่รักเลย เรียนเมื่อไหร่ก็ได้

โดยเฉพาะในโลกอนาคตที่การศึกษามันจะเปิดมาก
ถ้าการศึกษาไทยไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองจะกลายเป็นอะไรที่ล้าสมัยเป็นไดโนเสาร์ “ถามว่าไดโนเสาร์จำเป็นต้องอยู่รอดไหม ผมว่าไม่นะ ผมคิดว่าสถาบันการศึกษาที่อยู่รอดคือสถาบันการศึกษาที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์ที่โลกต้องการ ไม่ต้องเรียกว่ามหาวิทยาลัยก็ได้
เป็นสถาบันการศึกษาที่คุณมานั่งคุยกับเพื่อน กินกาแฟ คุยกับอาจารย์ คุยกับมืออาชีพต่างๆ
ได้อัพเดตความรู้ โดยไม่ต้องรับรองด้วยใบปริญญา แต่รับรองด้วยธุรกิจที่คุณจะไปทำงานด้วย
อันนี้ไม่ดีกว่าเหรอ
?”

หลายๆ ไอเดียที่อาจารย์เพชร
โอสถานุเคราะห์เล่าให้เราฟังนั้นเกิดขึ้นแล้วภายใต้การกำกับของเขาเองที่มหาวิยาลัยกรุงเทพ
แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ชายคนนี้ได้มองทะลุ และจินตนาการทะลวงไปถึงอนาคต
ซึ่งสักวันหนึ่งเขาจะทำให้ได้

อันที่จริง
ภาพยนตร์ทริลเลอร์ระทึกขวัญเรื่อง ‘การศึกษาไทย’ นั้นก็ไม่ต่างจากโลกของความจริงที่เราไม่อาจละเลยได้ว่า ‘ตอนจบ หรือ สถานีสุดท้าย ของการศึกษาไทยคือจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่โลกใบใหม่ของเด็กไทย
การออกแบบสถานีสุดท้ายที่ชื่อว่ามหาวิทยาลัย
จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของชาติ
และนั่นก็คือบทบาทด้านหนึ่งของชายคนนี้ อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

AUTHOR