Do Today, Die Tomorrow – หนังที่เต๋อ-นวพล ทำไว้เผื่อเขาหายไปในวันพรุ่งนี้

คนวัยไหนกันถึงจะเริ่มครุ่นคิดเรื่อง ‘ความตาย’ จนถึงขั้นหยิบมาทำเป็นผลงานส่วนตัว

สำหรับเรา คำตอบไม่ได้ใกล้เคียงกับอายุ 33 ของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เท่าไหร่ นี่เป็นข้อสงสัยต้นๆ ที่เราอยากชวนหนุ่มนักเล่าเรื่องคนนี้นั่งคุยกันยาวๆ อีกครั้งในวาระที่ Die Tomorrow ภาพยนตร์อิสระที่เต๋อคลุกคลีกับมันเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีกำลังจะเข้าฉายให้เราได้ชมกัน ด้วยพล็อตเรื่องแสนสั้นแต่น่าสนใจที่เล่าเรื่องราวหนึ่งวันก่อนหน้าที่คนเหล่านี้จะตาย วันสุดท้ายของชีวิตพวกเขา

ระหว่างสนทนา เต๋อย้ำกับเราหลายครั้งถึงการใช้ชีวิตช่วงนี้ที่เป็นผลจากการตกตะกอนเรื่องความตายว่าเราควรได้ทำงานในสิ่งที่รักเพื่อให้วันทุกวันผ่านไปอย่างไร้กังวลและสบายใจ และถ้าเกิดความตายมาถึง จะไปเสียใจหรือเสียดายอะไรถ้าเราทำทุกวันให้ดีที่สุดแล้ว

“คิดถึงพรุ่งนี้ พรุ่งนี้เราอาจจะไม่ตื่นก็ได้นะ” ชายหน้านิ่งในกรอบแว่นสี่เหลี่ยมบอกเราหนักแน่น ความเชื่อนี้ส่งผลต่อชีวิตและงานภาพยนตร์ชิ้นล่าสุดของเขาอย่างไร เชิญอ่านบทสนทนาเรื่องความตายกับนวพลในวันนี้กัน

เผื่อว่าวันพรุ่งนี้จะมาไม่ถึง

ตัวอย่างหนังของคุณตัดดีทุกเรื่อง ล่าสุดตัวอย่างมาทางดราม่าชัดเจนมาก อารมณ์ในหนังจะเป็นแบบนั้นเลยไหม เราจะยังได้เห็นมุกตลกแบบเต๋อๆ อยู่รึเปล่า
คงไม่ใช่ดราม่าเครียดๆ อย่างที่คนดูต้องการ แต่ถามว่าตลกไหมก็ไม่ตลก ความยากของหนังคือมันเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เราเขียนให้พิเศษกว่านั้นไม่ได้ แต่จะน้อยกว่านั้นก็ไม่ได้เพราะหนังจะไม่มีอะไรเลย นี่คือที่สุดแห่งความยาก ตอนตัดตัวอย่างเราเลยมองย้อนไปว่าเรารู้สึกยังไงกับหนัง เทรลเลอร์เลยบอกแค่คอนเซปต์เฉยๆ ว่าสตอรี่เป็น fragment สั้นๆ คนดูเทรลเลอร์ก็บอกว่ามันดูไม่มีเนื้อเรื่องเลยครับ ซึ่งก็ถูกแล้ว เราเอาแค่นั้นแหละ สิ่งที่อยู่ในแต่ละอันแต่ละก้อนต้องไปดูเอาเอง

เราพยายามหาคำง่ายๆ อยู่นานมากว่าจะเรียกหนังเรื่องนี้ว่าอะไร เราว่ามันคล้ายๆ concept album ที่เวลาเราฟังเพลงแต่ละเพลงไม่ได้ต่อกัน แต่ฟังจบแล้วจะรู้สึกว่าเชื่อมกัน เราจะบอกว่าเราฟังอัลบั้มไม่ได้ฟังเพลง ใน Die Tomorrow ก็ไม่ได้บอกว่าเราดูหนังสั้น 6 เรื่องหรอก เราไม่อยากเขียนสคริปต์ให้ตัวละครเหล่านี้รู้จักกันหมดหรือทุกตอนเกิดขึ้นในสถานที่เดียวกันเพราะเห็นมาบ่อยแล้ว หนังเลยไม่ได้เชื่อมโยงในเชิงสคริปต์แต่เชื่อมโยงด้วยไอเดียที่ค่อยๆ ไล่ลำดับไป จะเรียกว่าเป็น photo exhibition เป็น photobook หรือหนังสือของเราก็ว่าได้

หนังเลยประกอบไปด้วยแต่ละตอนสั้นๆ ที่ไม่ปะติดปะต่อกัน
ส่วนของฟิกชันจะมี 6 ตอน แต่มีพาร์ตสารคดีหรือ audio recording ปนๆ กันด้วยเลยไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี สารคดีก็ไม่ใช่ จะเวิร์กหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่นี่คือโอกาสดีที่จะได้ทำเพราะเราทำหนังอิสระอยู่ ไม่ต้องกังวลอะไร ก็ลองดู สิ่งที่เราคิดว่าคนดูอาจจะงง ตอนฉายจริงคนอาจจะไม่งงก็ได้ คนดูอาจไปไกลกว่าที่เราคิดก็ได้ นี่คือโอกาสดีที่จะได้ลอง มันอาจไม่ใช่หนังที่ไปวงกว้างมาก แต่เราก็อยากรู้เหมือนกันว่าแบบนี้จะขยายขอบเขตไปได้ขนาดไหน คนรับได้เยอะขนาดไหน

มองว่า Die Tomorrow น่าจะไปหากลุ่มคนดูใหม่ๆ มากกว่า
เราว่ากลุ่มคนดูเดิมค่อนข้างทัชไปแล้ว แต่ก็แล้วแต่เรื่องด้วยนะ บางทีคนจะรู้สึกว่าเราทำอะไรคนก็ดู แต่ถามเรา เราจะบอกว่าไม่จริง เพราะถ้าจริงต้องมีคนดู The Master เยอะเท่าแมรี่ (Mary is Happy, Mary is Happy.) สิวะในเมื่อเราทำอะไรก็มีคนดู มันอยู่ที่คอนเทนต์ไหนจะทัชหรือรีเลตกับคนดูขนาดไหน อยู่ที่คอนเทนต์ที่เราใช้กับที่เราทำแค่นั้นมากกว่า ไม่เกี่ยวหรอกว่าเราทำ

ตอนนี้ปล่อยเทรลเลอร์ปุ๊บ มันไปถึงกลุ่มที่เขาติดตามเราและคนที่ดูหนังประเภทนี้หมดแล้ว ก็กำลังดูว่าจะดันไปอีกได้ไหม อย่างเมื่อคืนก็ลองซื้อโพสต์ครั้งแรก จ่ายเงินไป 200 บาท โคตรงกเลย เพราะในวงเราไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ เหลือแค่ว่าเขาอยากดูหรือไม่อยากดู แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขายังมองไม่เห็นก็ดันไปสักหน่อย แต่ไม่ใช่การจ่าย 50,000 บาทเพื่อให้ world wide มันไม่ได้ผลอยู่แล้ว เราแค่พามันไปในที่ที่น่าจะมีคนดูอยู่แค่นั้นเอง ตอนนี้เราต้องการให้ไปถึงกลุ่มคนดูลำดับสองเพราะเราไม่รู้ว่าเขาคือใคร การทำฟรีแลนซ์ฯ (ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ) ทำให้รู้ว่ามันมีกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็น movie lover ขนาดนั้น เขาดูภาพยนตร์ as a story ที่น่าสนใจสำหรับเขาเท่านั้นเอง บางทีเรื่องนี้อาจจะพูดกับเขาก็ได้ ก็ลองดู ไม่ได้คิดมากอะไรเท่าไหร่ ไม่ได้เครียดว่าจะเจ๊งไม่เจ๊ง กลับมาเรื่องเดิมว่านี่คือหนังอินดี้ เราก็อยากให้มันอิสระที่สุด feel free ในการฉายและทำ เป็นโอกาสดีที่มันเกิดขึ้นได้ทั้งหมด เลยรู้สึกว่าจริงๆ กูก็โคตรโชคดีเหมือนกันนะที่ได้ทำอะไรแบบนี้ อย่างนักแสดงเราก็ไม่ได้ดีลอะไรไว้เลย ถ้าเขาว่างก็มา ไม่ว่างก็ไม่เป็นไร เราให้เขามาแสดงสั้นๆ เพราะเงินไม่ได้เยอะมาก รบกวนเขาด้วย แต่อยากให้มาสนุกกัน

การเลือกนักแสดงส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยทำงานด้วยมาก่อน เป็นความตั้งใจที่อยากจะทดลองอะไรบางอย่างหรือเปล่า
ตั้งใจด้วย Die tomorrow อาจจะเป็นเรื่องสุดท้ายของเราก็ได้ เราคุยกันเสร็จแล้วเดินออกไปอาจโดนรถชนตายเลยก็ได้ ใครจะไปรู้วะ ถ้าคอนเซปต์เป็นแบบนี้มันก็ควรจะมีนักแสดงที่เราเคยทำงานด้วย ทีมงานที่เราคุ้นเคย จะบอกว่าเหมือนทำหนังสืองานศพก็เป็นไปได้ แต่น่าจะดีนะที่เราได้ทำก่อนด้วยตัวเอง เหมือนเวลาไปงานศพแล้วจะเห็นทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคนนั้น เราเลยพยายามเลือกนักแสดงเก่าก่อน ข้อไม่ดีคืออาจจะชวนมาไม่ได้ทุกคนเพราะบทหนังไม่ได้เหมาะกับทุกคน ก็เสียดายนิดหน่อย ส่วนบางบทที่ไม่เหมาะกับนักแสดงเก่าคนไหนเลยก็เลือกคนใหม่เข้ามา เช่น พลอย (รัตนรัตน์ เอื้อทวีกุล) หรือพาย (กัญญภัค วุธรา)

ส่วนที่ทดลองคือทุกคนได้มาเล่นอะไรที่เราคิดว่าก็ใหม่กับเขานะ วิธีการถ่ายทำคือทุกคนโดนถ่ายลองเทคหมด แต่จะโดนในแบบที่ไม่เหมือนกัน อย่างตอนที่มีจูนจูน เมโกะ ต้นหลิว ออกแบบ ตอนแรกนึกว่าจะง่ายที่สุดแม่งกลับเป็นตอนที่ยากที่สุดเพราะทั้ง 4 คนต้องไปพร้อมกัน เวลาเรากำกับก็ต้องฟังให้ทันน่ะ พวกมึงห้ามรอกันเพราะเพื่อนคุยกันใครหยุดรอ ไม่มีหรอก

ก่อนมาลงเอยที่พล็อตว่าหนึ่งวันก่อนคนเหล่านี้จะตาย มีพล็อตอื่นๆ ผุดขึ้นมาก่อนไหม
ไม่มีเลย มีแค่อันนี้เลยเพราะรู้สึกสนใจที่สุด เบื้องต้นคือเราไปงานศพบ่อยขึ้นพอๆ กับงานแต่งงาน เลยรู้สึกว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับเรามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ชอบอ่านเรื่องหนึ่งวันก่อนหน้านั้น เช่นจอห์น เลนนอนก่อนโดนเดวิด แชปแมนยิง วันนั้นเขาทำอะไร มันกลายเป็นวันสำคัญที่สุดในชีวิตเหมือนกันนะ ซึ่งมึงไม่มีทางรู้ว่ามันคือวันนี้อ่ะ เรื่องพวกนี้น่าสนใจ ตอนทำสคริปต์เลยต้องเขียนให้เป็นเดลี่ไลฟ์ที่ไม่มากไปน้อยไป ร่างแรกๆ ฟู่ฟ่ามาก มาดูอีกทีก็รื้อใหม่หมดแทบจะเกือบทุกตอนเพื่อให้มันธรรมดา ซึ่งก็มาพร้อมกับว่า เชี่ย ธรรมดาขนาดนี้ คนดูจะไหวไหม แต่ก็ทำเถอะ

สนใจเรื่องความตายจนชอบอ่านเรื่องราวเหล่านี้ตั้งแต่ตอนไหน
ชอบอ่านเจอเองมั้ง วันครบรอบวันตายก็จะมีบทความว่าเกิดอะไรขึ้น และเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ เช่น อยู่ดีๆ แม่ชอบเดินมาบอกว่าเอกสารทั้งหมดของบ้านอยู่ที่นี่ อย่าลืมนะ ทำไมชอบพูดจังวะ เขาก็นอยด์ๆ น่ะ คนแก่ เขาคงไม่พูดกับเราแบบนี้ถ้าเราอายุสัก 15 หรือ 20 แต่นี่ต่างคนต่างแก่ขึ้น ก็เป็นบรรยากาศที่เข้ามาโดยไม่รู้ตัว มันใกล้ตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยอัตโนมัติ

พอคิดกับมันก็รู้สึกว่าความตายน่าสนใจ มันกำหนดความหมายของชีวิต คือสิ่งที่บอกว่าชีวิตของคุณมีจำกัดนะ คุณต้องบริหารให้ได้ ทำยังไงให้ตัวเองอยู่รอด ทัศนคติที่คุณมีต่อความตายจะเป็นทัศนคติเดียวกับที่คุณมีต่อชีวิต แล้วแต่ว่าคุณจะคิดยังไง ใช้ชีวิตยังไง แต่ละคนก็มีเงื่อนไขหลายแบบ มีบริบทที่ต่างกัน เพราะถ้าเกิดคนเราไม่ตายขึ้นมา ทุกอย่างแม่งจะเปลี่ยนหมดเลย เราไม่ตาย งั้นเราไม่ต้องทำงานก็ได้นี่หว่า ไม่กินข้าวก็ได้เพราไม่กินก็ไม่ตาย แต่ทุกวันนี้ที่ต้องทำงานทำอะไรกันเพราะทุกคนไม่อยากตาย คนหนึ่งต้องผลักอีกคนตกเรือไปเพื่อจะอยู่ คนเราดิ้นรนเพื่อที่จะรอด เรารู้สึกว่าในทางหนึ่งความตายมันคือชีวิตแหละ มันทำให้เราทบทวนวิธีใช้ชีวิตด้วยว่าเราจะเลือกแบบไหน

ถ้าความตายคือการบอกว่าชีวิตที่เราใช้มามีวันหมดลงเพื่อที่ทุกคนจะได้ทำทุกวันให้ดีที่สุด แต่ถ้าบางคนที่เขาอาจจะยังอยู่ในจุดที่ทำชีวิตให้ดีไม่ได้แล้วเกิดตายขึ้นมา อย่างนี้ความตายยังแฟร์กับเขาหรือเปล่า
เราดันคิดเป็นวันๆ ถามว่าชีวิตเราตอนนี้รวยเท่าใครไหม ไม่หรอก คนที่รวยกว่าเราอาจจะบอกว่านวพลช่างมีชีวิตที่น่าสงสารเหลือเกิน ปีหนึ่งต้องมาทำหนังเลี้ยงชีพ ทำโฆษณา แต่เราอยู่ตรงนี้เราก็โอเค เรายังมีปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ยังมีเรื่องที่ทำไม่สำเร็จ แต่อยู่ที่ว่าวันนี้เรานอนหลับหรือเปล่า ทุกวันนี้เอาแค่นี้เลยอ่ะ คิดถึงพรุ่งนี้ พรุ่งนี้เราอาจจะไม่ตื่นก็ได้นะ แม่งอะไรก็ได้เลยอ่ะ เพียงแค่เราก็ไม่สามารถคิดเผื่อไปเลยว่าพรุ่งนี้เราคงไม่ตื่น วันนี้เราทำเหี้ยอะไรก็ได้ ก็ไม่ใช่ เราเลยทำได้แค่บาลานซ์สิ่งที่ต้องทำวันนี้ว่าขอให้ได้ทำงานที่โอเคกับจิตใจ ไม่ได้หมายถึงงานที่ไม่เหนื่อยนะ ไอ้ที่ทำอยู่พวกนี้เหนื่อยล้วน ลำบากล้วน แต่เป็นงานที่เราสนุกมากกว่า การที่เราจะทำงานแบบนั้น เราอาจต้องยอมอยู่บ้านเล็กหน่อย ใช้รถเล็กหน่อย เพื่อที่เราจะไม่ต้องทำงานๆๆ และรักษางานที่เหมาะกับเราไว้ เพราะชีวิตเราครึ่งหนึ่งคือการทำงาน ถ้าทำแล้วได้เรียนรู้อะไรจากมัน ได้เดินทางทั้งในแง่จิตใจและทางกายภาพ ได้เจอนั่นเจอนี่ เราว่าเกิดมาชีวิตนึงก็แค่นี้แหละ จะเอาอะไรวะ ต่อให้คุณไปถึงจุด Top of the World มันก็มีท็อปของท็อป ถ้าคุณอยากไปอีกมันก็จะไปอีกเรื่อยๆ มันไม่จบหรอก คนที่เที่ยวทั่วโลกก็คงอยากไปดาวอังคารละมั้ง อยู่ที่ว่าวันนี้พึงพอใจไหม วันนี้ทำแล้วโอเคไหม

เราเข้าใจว่าชีวิตทุกคนลำบากไม่เท่ากัน บางคนอาจยังไม่มีรถแล้วมีหนี้ด้วย ก็ทำให้ดีที่สุดแค่นั้นเอง เราก็คงมีปัญหาบางอย่างของเรา คุณก็มีปัญหาของคุณ เราก็เคลียร์กันไป แต่ในวันที่ลำบากที่สุด เราก็อวยพรให้ตอนนอนหลับบนเตียงขอให้สบายๆ เท่านั้นเอง คุณอาจจะเหนื่อย แต่เราก็หวังว่าในทุกคืน คุณกลับไปที่บ้านแล้วเจอลูกขยันเรียน คุณหายเหนื่อยแล้วตื่นมาทำงานใหม่ เราว่าก็แค่นั้นแหละ

อย่างเราเองก็เคยมีชีวิตบางช่วงที่รู้สึกว่า เออ ตายได้แล้วว่ะ เพราะได้ทำบางอย่างที่คุ้มกับชีวิตแล้ว แต่พอไม่ตาย ใช้ชีวิตต่อมาก็จะเจออีกเป้าหมายหนึ่งที่ถ้าเกิดตายขึ้นมาตอนนี้จะเสียใจมากเต๋อคิดยังไงกับเรื่องแบบนี้
เราไม่ได้คิดไกลขนาดนั้นมั้ง เรามีหนังอีกหลายเรื่องที่อยากทำมาก อยากทำงานกับนักแสดงคนนู้นคนนี้ นักแสดงต่างประเทศ แต่เราไม่ได้สนใจเท่าตอนนี้ วันหนึ่งเราอาจได้ทำงานกับฮอลลีวูดก็ได้ แต่เราเสือกตายก่อนว่ะ แต่มึงจะเอาอะไรล่ะ มึงได้ไปเจอไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ ได้คุยกับเขา แต่สุดท้ายมึงเสือกตายก่อนจะได้ทำงานกับเขา วันที่มึงได้คุยกับเขาก็เป็นวันที่โอเคแล้วนะ จบเปล่าวะ มึงก็ได้ขนาดนี้แล้ว

อย่างที่บอกไปว่าอยู่ที่พื้นที่ที่เราอยู่ งานที่ทำตอนนี้โอเคไหม เราไปทำอะไรให้ใครไม่สบายใจรึเปล่านะ เราไปขอโทษเขาหรือยังนะ การทำหนังช่วงหลังๆ เราเลยคิดว่าดีที่สุดของเราคือทำให้ดี แล้วในวันนั้นไม่มีใครเป็นอะไร เราได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง เราทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็แค่นั้นเอง เพราะเราไม่รู้ว่า หนึ่ง เราจะทำเสร็จหรือเปล่า สอง ไม่รู้ว่าทำออกมาแล้วคนจะชอบไหม แต่เราทำดีที่สุดแล้วในความสามารถที่เรามีตอนนั้น เลยไม่ได้กำหนดเป้าหมายเพราะถ้ากำหนดเมื่อไหร่แล้วไปไม่ถึงจะเฟล เป้าหมายเราอยู่แค่ตรงนี้เอง โฟกัสที่ตรงนี้มากกว่า เดี๋ยวนี้คิดแบบนี้มากกว่ามั้ง จะไปบวชแล้วเนี่ย ฟังดูเป็นพระเหลือเกิน

อีกสักสิบปีข้างหน้า ทัศนคติเรื่องความตายจะยังเป็นแบบนี้อยู่ไหม
เดาไม่ถูกเลยว่ะ แต่เราว่าเข้าล็อกนี้แล้วออกยาก หมายถึงเราคิดว่ามันก็มีแค่นี้แหละ ยกเว้นจะเริ่มคิดว่าชีวิตหลังความตายคืออะไรซึ่งเราไม่สนใจเท่าไหร่ อาจจะมีก็ได้ เราอาจยังคิดไม่ออก กลายเป็นว่าสิ่งที่สนใจตอนนี้ย้อนกลับไปหาประวัติศาสตร์ของทุกๆ อย่างมากกว่า ที่มา ต้นกำเนิด สนใจเรื่องข้างหน้าเท่าๆ กับข้างหลัง แต่กับเรื่องความตาย เราสนใจที่ผ่านมามากกว่าว่าโลกหน้าคืออะไร แต่ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตไหม ไม่รู้ วันหนึ่งเราเกิดจะมีครอบครัวขึ้นมา เราอาจจะไม่คิดแบบนี้แล้วก็ได้ เชี่ย กูตายไม่ได้แล้ว มันก็มีสิทธิ์เปลี่ยน

การทำความเข้าใจเรื่องความตายในวัย 30 ต้นๆ ถือว่าเร็วไปไหม คิดแล้วส่งผลต่อรูปแบบชีวิตยังไงบ้าง
เราว่าแค่นิ่งขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ambition ลดลง เราแค่ทำทุกวันนี้ให้โอเค เรื่องบางเรื่องไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยเมื่อเทียบกับความตาย หลายครั้งก็ชอบคิดว่าจะทะเลาะอะไรกันวะ เดี๋ยวก็ตายห่ากันหมดแล้ว (นิ่งคิดนาน) สำหรับเราไม่ได้เร็วไปหรือช้าไป คนอื่นในวัยนี้ก็น่าจะรู้สึกพอๆ กัน อยู่ที่ว่าใครมีทัศนคติกับมันยังไง บางคนก็ไม่ได้อยากตาย เขาก็กลัว เราก็เข้าใจ บางคนอยากเอาชนะความตาย บางคนอาจรู้สึกเรื่องนี้เร็วกว่าเราตั้งนานแล้ว อาจจะเรียนรู้ตั้งแต่ 20 เพราะเขาเสียคุณแม่ไป เรายังไม่ได้เสียใครไปขนาดนั้น ก็ใช้เวลาเรียนรู้มากหน่อย ซึ่งพอคิดอย่างนี้ก็ เอ๊ะ กูกลัวหรือกูไม่กลัววะ ก็พยายามทำให้ดีที่สุด พ่อแม่ก็แก่ลงทุกวัน

ถ้าเกิดการสูญเสียขึ้นมาในอนาคตคิดว่าจะรับมือกับมันได้ไหม
ไม่แน่ใจ ถามว่าเสียใจไหมก็คงจะเสียใจแหละ หรือเปล่าวะ ตอบไม่ได้ว่ะ อยู่ที่ว่าก่อนหน้านั้นคืออะไร แต่มันมีผลต่อความคิดนะ พอเราเริ่มตระหนักเรื่องความตาย จะชอบคิดว่า เอ๊ะ วันนี้เราเจอแม่หรือยัง เราทำงานอยู่บ้านแหละแต่หน้าจอมันก็ตัดสิ่งแวดล้อมในบ้านออกไปเลย บางทีแม่เราคุยไปเรื่อยแต่เราไม่ได้ฟัง แต่ก่อนไม่คิดอะไรก็นอน แต่หลังๆ เราอยากให้ทุกวันมันจบดี อย่างน้อยก็ได้คุยกันนิดๆ หน่อยๆ อะไรแบบนี้มั้งที่ดูเป็นรูปธรรมขึ้นกว่าแต่ก่อน ยุคก่อนฟรีแลนซ์ฯ มันเดือดมาก ไม่สนใจอะไรเลย แต่ทำหนังจบหนึ่งเรื่องตัวเราก็เปลี่ยนไป รับงานน้อยลง คิดถึงชีวิตขึ้น ทำเรื่องนี้จบก็จะเปลี่ยนไปอีกเฟสหนึ่ง

พอเราคิดแบบนี้บ่อยๆ ก็พบว่าชีวิตเราไม่มีอะไรเลย just a แค่นี้แหละ เราไม่ใช่มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ เราก็คือมนุษย์คนหนึ่งและเราก็จะจบไป วันหนึ่งคนก็ลืมน่ะ ถ้าโชคดีหน่อยคนก็จะจำไปรุ่นสู่รุ่น แต่ต่อให้เป็นผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปี 1950 ก็ไม่ได้ถูกจำทุกคน แต่เราจะเอาอะไรกับมันล่ะ มึงจะอยู่ต่อเหรอ มึงก็ไม่อยู่ต่ออยู่แล้ว

ถ้าเต๋อตาย คิดว่าการตายของเต๋อจะกระทบกับคนรอบตัวมากขนาดไหน
เราไม่รู้จะคิดยังไงเพราะเราไม่รู้ว่าคนอื่นรู้สึกอะไรกับเราเท่าไหร่ พ่อ แม่ น้องชาย คนใกล้ตัวมากๆ อาจจะรู้ แต่ใครจะไปคาดหวังว่าเพื่อนคนนั้นจะร้องไห้ไหม ไม่รู้ และไม่ได้คาดหวังอะไร เราแค่คิดว่าไม่อยากให้เราจากไปแล้วเกิดความทุกข์กับใคร ถ้าเกิดความคิดถึงกันคงเกิดอยู่แล้วแหละ ขนาดนักร้องที่เราไม่เคยเจอหน้า ฟังเพลงเขาเรายังคิดถึงเลย คนใกล้ตัวจะขนาดไหน แต่แค่คิดถึงเรารู้สึกว่ามันเป็น good side นะ คิดว่าถ้าไอ้นี่มาด้วยคงสนุกนะ แต่ไม่ได้เศร้าไง อยากให้เป็นอย่างนั้นมากกว่า เชี่ย ทำไมอยู่ดีๆ พูดเรื่องนี้แล้วเศร้าวะ สำหรับเราบางคนไม่ถึงขั้นต้องตายก็ไม่ได้เจอกันจริงๆ แล้วนะ

Die Tomorrow เป็นหนังที่บันทึกทัศนคติเกี่ยวกับความตายของเต๋อในวัยนี้ได้รึเปล่า
คิดว่าน่าจะใช่ แต่อาจได้จากการเรียนรู้จากคนที่เราเจอในชีวิตช่วงปี 2555 – 2559 ที่เรารู้สึกเยอะที่สุด มีคนตั้งข้อสังเกตว่าความตายโผล่มาในทุกงานของเราเลย ไม่รู้ว่านี่เราหมกมุ่นรึเปล่า เราไม่รู้ว่าอะไรทำให้เราสนใจสิ่งนี้ด้วยนะ รู้ตัวอีกทีเราก็มีสิ่งนี้หมดแล้ว อยู่ในจิตใต้สำนึกมาก

ตอนตัดต่อเราชอบคิดว่าเราเล่าครบทุกมุมของความตายหรือยัง แต่หลังๆ ไม่รู้ว่าครบหรือเปล่า แต่ไม่เป็นไร เราไม่มีอะไรคาใจที่ยังไม่ได้แสดงออกไปก็พอแล้ว นี่คือไอเดียที่เราสนใจเกี่ยวกับความตาย ไม่รู้มันเด็กไปสำหรับพี่ๆ หรือเปล่านะ แต่ก็คือ personal thought ของเรา ไม่ใช่หนังเพื่อมวลมนุษยชาติว่าเราจะคุยเรื่องนี้และสำรวจไปด้วยกัน มันคืองานอีกชิ้นหนึ่งที่เราเปิดกว้างให้คนมาดูมากกว่า

ถ้ามีคนดูที่ดูแล้วเกิดวิจารณ์โต้เถียงสิ่งที่เต๋อนำเสนอมาก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้
มันส่วนตัวมากอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาก็เป็นความคิดของคุณ มันเป็นอะไรก็ได้อยู่แล้ว ความตายเป็น fact แต่ใครจะคิดยังไงก็แล้วแต่ ไม่งั้นเราต้องคิดแทนทุกคนหมดว่าทำยังไงเขาจะไม่โกรธ เขาอาจจะไม่ชอบก็ได้ อาจจะเด็กไป เครียดไป งงไป ก็คือ thought ของเขา นี่คือ thought ของเรา

สมมติถ้าเต๋อตายวันพรุ่งนี้ อยากให้วันสำคัญอย่างวันนี้เป็นวันแบบไหน
ก็เป็นวันที่ไม่กังวลใจอะไร เหมือนตอนนี้ที่เรารู้สึกดีที่ได้นั่งคุยสัมภาษณ์ตั้งแต่เช้ามาต่อไปถึงเย็น เป็นวันที่ไม่มีปัญหาอะไร หนังก็เสร็จแล้ว ถามว่าเสียใจไหมที่ถ้าตายพรุ่งนี้แล้วจะอยู่ไม่ถึงวันฉาย ก็ไม่ เพราะเราได้ทำเสร็จแล้ว ที่เหลือก็คงมีคนพามันไปฉายได้

อยากให้เป็นวันยังไงก็เป็นวันแบบนี้แหละ วันธรรมดาๆ ที่โอเค ไม่กังวลอะไรมากมาย ซึ่งไม่รู้ว่าคิดแบบนี้ดีหรือไม่ดีนะ ดูเป็นคนที่แพสชันน้อยลงเรื่อยๆ แต่เราคิดว่าแพสชันเรายังมีอยู่ ปีหน้ายังอยากทำอะไรอยู่อีก แค่ไม่รู้ว่าจะไปถึงหรือเปล่า ถ้าถึงกูก็ทำน่ะ ยังคิดว่าอยากทำอะไร ถ่ายโฆษณาตัวนี้น่าจะสนุกดีนะ ไม่ใช่ว่าพรุ่งนี้ตายแล้วไม่ต้องทำดีกว่า เพียงแต่ว่าถ้าเขาออกมาเรียกก็ไป

นี่เป็นช่วงเวลาที่พูดเรื่องความตายได้ฮาร์ดคอร์ที่สุดแล้วนะ ถ้าอยู่บ้าน คนจีนเขาไม่พูดเรื่องนี้เด็ดขาด ตอนแรกๆ เราก็คิดเหมือนกันว่าพูดได้หรือเปล่าวะ แต่ถ้าทำหนังเรื่องนี้แล้วเรารอดชีวิตไปก็เปลี่ยนการรับรู้ได้เลยนะว่าความตายเป็นแค่ system หนึ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องอัปมงคล เด็กๆ เราจะถูกปลูกฝังว่าห้ามพูด แต่ความตายน่าจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ อาจจะเศร้า แต่ไม่ใช่ว่าไม่พูดแล้วไม่ตาย ไม่พูดก็ตายอยู่ดี

แล้วถ้าตอนนี้หนังยังไม่เสร็จล่ะ
อยู่ที่ว่าอยู่ขั้นไหน เราไม่ได้มายด์ ถ้าไม่เสร็จก็ฉายแบบไม่เสร็จแหละ เราคิดตลอดเลยนะว่าวันออกกองวันสุดท้าย เลิกกอง เสร็จแล้วโว้ย ก็ตายได้แล้วนะ มีฟุตเทจแล้ว อาร์ม-ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต (คนตัดต่อ) ก็ไปตัดละกัน หวังว่ามึงจะทำได้ดี อ้าว ไม่ตายจ้า ทำต่อไป เย่ ตัดเสร็จแล้วยังไม่ได้ทำโพสต์โปรดักชัน แต่โครงเสร็จแล้ว ล็อกคัตแล้ว ก็หวังว่าจะทำซาวนด์กันได้ดีที่สุด ก็ไม่ตายอยู่ดี คราวนี้หนังเสร็จแล้วชัวร์ๆ เหลือแค่เอาไฟล์ไปฉาย อาจจะแค่ไม่ได้ดูด้วยกันกับทุกคน ก็ไม่เป็นไร ก็ถือว่าเสร็จแล้ว เราสนุกในแต่ละขั้นตอนไปแล้วไง ถ้าแค่นั้นมันก็จบ นอกจากนั้นมันเหนือการควบคุมแล้วอ่ะ หนังอาจจะถูกเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ ไม่ได้ฉาย เพราะทุกคนเสียใจเกินไปก็ได้ (หัวเราะ) นั่นก็ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว เราจะทำอะไรได้ จะไปเข้าฝันว่ามึงเอาไปฉายเถอะ ก็อาจจะทำได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย