ตามรอยการเดินทางก้าวที่ศูนย์ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

ผมทำบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ก่อนหนังเรื่อง Mary Is Happy, Mary Is Happy โดยนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เข้าฉายไม่กี่สัปดาห์

คนที่เป็นคอหนังนอกกระแสคงรู้จักนวพลอยู่แล้ว เขาคือผู้กำกับไทยรุ่นใหม่ที่โตจากวงการหนังสั้น ฝึกฝนฝีมือจากการเขียนบทที่ค่ายหนัง GTH สร้างชื่อจากการทำซีรีส์ บันทึกกรรม ตอน มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนเกลียดเมธาวี ลองทำหนังกิมมิคเยอะเรื่อง 36 ซึ่งไปสร้างชื่อด้วยการคว้ารางวัล New Currents Award ที่เทศกาลหนังนานาชาติปูซานครั้งที่ 17 ถือเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้

คนที่เป็นแฟนนวพลคงรู้อีกว่า Mary Is Happy, Mary Is Happy เกิดจากความคิดอยากเอาทวิตเตอร์มาทำเป็นหนัง นวพลนำ 410 ทวีตของ @marylony ซึ่งเป็น follower ที่เขาไม่เคยรู้จักทำเป็นหนังความยาว 2 ชั่วโมง 7 นาที ก่อนหนังเข้าฉาย เขายังทำโปรเจกต์ชื่อ MARY, RETWEETED ชวนคนทางบ้านตีความทวีตของแมรี่เป็นงานอะไรก็ได้ ทั้งภาพถ่าย ภาพวาด หนังสั้น ช่วยทั้งสร้างกระแสและสร้างความอินให้ผู้ชมก่อนเข้าไปดูหนังในโรงยิ่งขึ้น

เห็นงานเจ๋งๆ หลายชิ้น ผมเลยนึกสนุกอยากแจมด้วย สิ่งที่คุณจะได้อ่านคือการหยิบทวีตของ @marylony มาตีความเป็นบทสัมภาษณ์ใหญ่ 12 หน้า (ทวีตนั้นเป็นชื่อบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ส่วนชื่อตอนในเนื้อเรื่องมาจากทวีตของนวพลเอง) เนื้อหาข้างในไม่ได้เกี่ยวกับแมรี่ แต่เกี่ยวกับชีวิตการเป็นคนทำหนังของนวพล ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน วันที่เขาถูกมองว่าเป็นผู้กำกับหนังอิสระรุ่นใหม่ที่น่าจับตาที่สุดคนหนึ่ง

พอได้คุยกับเขานานๆ ผมพบว่านวพลไม่ใช่แค่นักทำหนังที่ทำงานหนัก แต่เป็นนักทดลองเล่าเรื่องที่ชอบเปิดหูเปิดตา เขาขยันหาเรื่องในความสัมพันธ์ของมนุษย์มาเล่าเป็นหนังด้วยวิธีการที่ประหลาดแต่ชวนค้นหา

ก่อนจะอ่าน อย่าลืมกดฟอลโลว์


6

การตื่น 10 โมง ทำให้รู้สึกเหมือนชีวิตวันนี้มีเพียงแค่ 12 ชั่วโมง

ผมนั่งอยู่ในรถพร้อมกับนวพล

นี่ไม่ใช่รถเขา แต่เป็นรถของผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ ซีดี-พัชรินทร์ สุระวัฒนาพงศ์ ซึ่งทำงานกับเขาตั้งแต่หนังเรื่อง 36 และ Mary Is Happy, Mary Is Happy ซึ่งจะเข้าฉายวันที่ 28 พฤศจิกายนในโรง

ผมได้ดูหนังผ่านจอ iMac 27 นิ้วที่บ้านนวพล ถือว่าโชคดีเพราะช่วงนี้เขายุ่งตั้งแต่เช้าจรดเย็น เพราะต้องเตรียมงานจุกจิกก่อนวันฉายหนัง เมื่อเคลียร์งานที่ออฟฟิศเสร็จ เย็นวันหนึ่งผมก็ขอตามไปดูนวพลที่สตูดิโอ White Light ย่านเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา เขามีนัดตัดต่อตัวอย่างหนัง Mary Is Happy, Mary Is Happy ร่างสุดท้าย หลังจากนั้นก็ขอติดรถเขาไปเช็กโปสเตอร์หนังที่ออกจากโรงพิมพ์สดๆ ร้อนๆ

ในรถที่เรานั่ง นวพลนั่งเบาะหน้า ผมนั่งเบาะหลัง ผมนึกถึงวันที่ผมได้ดูหนังของนวพลครั้งแรก วันนั้นเราได้นั่งเบาะแถวเดียวกัน เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว

เมื่อจอเฟดดำ ภาพเหตุการณ์เมื่อ 5 ปีที่แล้วก็แจ่มชัดขึ้น

ผมนั่งข้างนวพลบนที่นั่งแถวบน ในโรงหนัง SF เซ็นทรัลลาดพร้าว สถานที่ใช้จัดงานมอบรางวัล Fat Film 5 ของคลื่นวิทยุ 104.5 Fat Radio รายการนี้เป็นการประกวดหนังสั้น โดยมีกติกาให้เอาเพลงมาทำเป็นหนัง ถือเป็นหนึ่งในการประกวดที่ฮอตที่สุดในยุคนั้น

Fat Film เป็นสนามที่ใครก็อยากส่งเพราะกติกาน่าสนุก เปิดกว้างต่อผลงานทุกรูปแบบ ปีที่แล้วนวพลส่งงานชื่อ ความรักทำให้คนตาบอด แต่ตกรอบแรก ปีนี้เขาแก้ตัวใหม่ด้วยการส่งหนังเข้าร่วม 1 เรื่อง ชื่อ see หนังเรื่องนี้ยังไม่เคยฉายที่ไหนมาก่อน

เมื่อไฟมืดลง ผมได้ดู see ของนวพลเป็นครั้งแรก หนังสารคดีนี้ว่าด้วยความสัมพันธ์พ่อลูกที่ห่างเหิน วิธีการเล่าของเขาคือตั้งกล้องถ่ายพ่อตัวเองที่กำลังทำข้าวผัดในบ้านความยาว 3 นาที ขณะที่คนดูกำลังจะเบื่อ นวพลก็จบหนังด้วยการขึ้นข้อความว่า “ผมกับพ่อไม่ค่อยได้คุยกัน ผมเลยทำหนังเรื่องนี้เพื่อให้เราได้คุยกันบ้าง”

ผมทั้งอึ้งกับเนื้อหาและสนใจวิธีการที่เขาใช้เล่าเรื่อง มันเป็นวิธีเล่าที่น้อยแต่มากและทำให้คนดูรู้สึกได้ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่คณะกรรมการและคนดูพร้อมใจกันมอบรางวัลขวัญใจมหาชนให้ผู้กำกับหนุ่มที่ตกรอบแรกเมื่อปีที่แล้วไปครอง

นี่ไม่ใช่รางวัลหนังครั้งแรกที่นวพลได้รับ ปี 2005 เขาเคยก้าวเท้าขึ้นไปรับรางวัลชมเชยที่ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา ในการประกวดหนังสั้น Movie Mania ครั้งที่ 5 จัดโดยเจ้าบ้านอย่างคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ ผู้กำกับหนังเรื่อง Wish Us Luck และหนึ่งในทีมเขียนบทซีรีส์ HORMONES วัยว้าวุ่น เป็นอดีตเด็กนิเทศที่นั่งอยู่ในห้องประชุมตอนที่นวพลรับรางวัล เธอเล่าว่านวพลเป็นเด็กคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาจีน แต่ขยันเทคคอร์สเรียนวิชาคณะนิเทศศาสตร์บ่อยจนรู้จักกัน

นวพลชอบดูหนัง อยากทำหนังตั้งแต่ ม.ปลาย เขาเรียนรู้วิธีการเล่าเรื่องผ่านหนังด้วยการฝึกฝนเอง เริ่มจากการขอยืมกล้องวิดีโอมาใช้ ลองเล่าเรื่องเป็นตัวอักษรด้วยการเขียนเรื่องสั้น หาข้อมูลจากหนังสือหนัง Cinemag, Starpics, Entertain, และ Bioscope ซึ่งเขาขยันซื้อแทบทุกเดือน

เราว่าภาษาหนังของเราเกิดขึ้นจากการไปเจอเองเยอะเพราะเราไม่ได้เรียนมา” นวพลเล่า “ข้อดีของการไม่มีคนสอนคือมันก็ได้อะไรที่แปลกกว่า ข้อเสียคือรู้ช้ากว่า การเรียนแบบนี้เหมือนเรากางวิธีการเล่าเรื่อง แอ็กติ้ง และวิธีกำกับ 5 แบบ เราก็จิ้มเลยว่าชอบอันไหน จบ มันไม่ต้องเรียนตามลำดับวิชาในห้องเรียน แต่การเล่าเรื่องแบบอื่นๆ ที่เราไม่ได้เลือกก็ยังไม่ทิ้งไปเลยนะ มันจะยังอยู่กับเราและถูกนำมาใช้ในงาน ถ้าเราชอบมันจริงๆ

การเรียนรู้วิชาทำหนังช่วงแรกของนวพลคือ การดูหนัง ศึกษามันให้ถ่องแท้ ทดลองทำด้วยตัวเอง แต่ปัจจุบันเขาพบว่าเคล็ดลับการเล่าเรื่องให้มีชีวิต คือการออกไปใช้ชีวิต

เขาเริ่มเข้าใจสิ่งนี้มากขึ้น จากการออกเดินทางไปเทศกาลหนังคนเดียวครั้งแรกที่เบอร์ลิน


5

ความกลัวของการออกเดินทาง ไม่ใช่กลัวว่าข้างหน้าจะเจออะไร แต่กลัวว่าเราจะกลับเข้าฝั่งมายืนที่จุดเริ่มต้นไม่ได้อีกแล้ว

ผมกำลังจะหายไปจากเมืองไทย 15 วันเต็มด้วยความตื่นเต้น

เต๋อ นวพล เขียนในบล็อกส่วนตัว visuallyyours.exteen.com เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2550

เด็กอักษรผู้บ้าหนังได้ไปเที่ยวเทศกาลหนังครั้งแรก จากการส่งหนังสารคดีเรื่อง Bangkok Tanks (ตัวหนังเป็นบันทึกบทสนทนาทาง MSN ในวันที่มีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549) ไปที่โครงการ Berlin Talent Campus ซึ่งเป็นงานย่อยของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน

ทาเลนท์ แคมปัส เป็นโครงการรับคนทำหนังอิสระมาพบปะสังสรรค์ สร้างคอนเนกชั่นเพื่อหาลู่ทางทำมาหากินในอนาคต การมาเทศกาลหนังครั้งแรกเต็มไปด้วยความตื่นเต้น ทุกอย่างรอบตัวดูสดใหม่ เขาเขียนบันทึกและถ่ายรูปทุกวันลงในบล็อกส่วนตัว หลังจากนั้นเรื่องทั้งหมดไปเตะตา บก.สำนักพิมพ์ a book ภูมิชาย บุญสินสุข เขาจึงนำเรื่องที่เขียนในบล็อกแปรรูปจนเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต ที่โรงภาพยนตร์ไกลบ้านคุณ

หลังจากเขียนหนังสือเล่มนี้จบ นวพลก็ได้ไปอีกหลายสิบเทศกาล งานล่าสุดที่เขาได้ไปคือเทศกาลหนังนานาชาติเวนิส ซึ่งเป็นตัวจุดประกายให้เกิดหนังเรื่อง Mary Is Happy, Mary Is Happy เขาได้ทำหนังเรื่องนี้จากการชักชวนของจุ๊ก-อาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้กำกับหนังอิสระรุ่นพี่ ให้ลองส่งโปรเจกต์หนังเข้าโครงการ Biennale College Cinema ในเทศกาลหนังนานาชาติเวนิส โครงการนี้เปิดโอกาสให้คนทำหนังรุ่นใหม่เขียนโปรเจกต์ส่งประกวด ผู้ชนะจะได้ทุนมาทำหนังและฉายในเทศกาล

ตลอดการทำ Mary Is Happy, Mary Is Happy ทั้งขั้นตอนการเสนอโปรเจกต์ พัฒนาบท และฉายหนัง นวพลไปเวนิส 3 ครั้งถ้วนในฤดูกาลที่ต่างกัน ครั้งล่าสุดเขายังได้เดินดูงานศิลปะใน Venice Biennale ที่จัดทั้งเมืองพอดี ในสายตานักสนใจคนและเมือง เขาบอกว่าการได้ไปเมืองท่องเที่ยวมากกว่า 1 รอบทำให้ได้มองเมืองนี้ในมุมที่นักท่องเที่ยวมองไม่เห็น

“เมืองเวนิสมันคือฮ่องกงของยุโรป เละเทะหน่อยๆ แต่เราชอบมาก เดินไปตรงไหนก็มีอะไรให้ดูตลอดเวลา รู้เลยว่าเดี๋ยวนี้แก่ขึ้นแล้วชอบดูสถาปัตยกรรม เมืองไหนตึกห่วยๆ เดินแล้วจะหลับ ถ้าตึกสวย เดินไปตรงไหนก็เหมือนเที่ยว”

นวพลบอกว่าจริงๆ เขาไม่ได้สนใจสถาปัตย์ของเมืองในมุมมองแบบสถาปนิก แต่สนใจแบบคนเล่าเรื่องที่เห็นว่าสิ่งรอบตัวล้วนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของมนุษย์

“สถาปัตย์ที่มันไม่เหมือนกัน ความสัมพันธ์คนก็ไม่เหมือนกันแล้ว เอี่ยวมาหน้าบ้านเรากดกริ่งถึงเลย กับเอี่ยวมาหน้าบ้านเรา ต้องกดกริ่งให้เราที่อยู่ห้องชั้น 7 เดินลงมารับ ระหว่างเดินต้องผ่านห้องอีกไม่รู้กี่ห้อง ความสัมพันธ์คนกับโครงสร้างเมืองมันไม่เหมือนกัน คนกรุงเทพฯ ไม่เคยเจออะไรแบบนี้ เราสนุกกับการเห็นการ react ระหว่างคนกับเมืองแบบนี้มากกว่า”

นี่จึงเป็นเหตุผลที่นวพลดูหนังน้อยมากตอนไปเทศกาลหนัง (นวพลชอบดูรอบสามทุ่มซึ่งคนน้อยสุด และจะดูหนังที่อยากดูจริงๆ เท่านั้น) เวลามีปาร์ตี้สำหรับคนในวงการมาแฮงเอาต์สร้างคอนเนกชั่นเขาก็เลี่ยงไม่ไป ขอเอาเวลาไปเปิดหูเปิดตาในเมืองดีกว่า

“ใน Venice Biannale มีงานจากเกาหลีอันนึง ชื่องานอะไรก็ไม่รู้ ก่อนจะเข้าไป มีพนักงานถือป้ายว่างานชิ้นนี้จะมีแสงแรงมาก ก่อนเข้าต้องเซ็นด้วยว่าถ้าเป็นอะไรไปคนทำไม่รับผิดชอบ ก่อนเข้าต้องถอดรองเท้า แล้วจะได้เข้าห้องนึงซึ่งต้องต่อคิว พอเข้าไปในห้อง เป็นห้องมืดๆ ก็อยู่ในนั้นประมาณนาทีนึง แล้วก็ออก จบ สัด นี่อะไร กูไม่เข้าใจหรือล้อเล่นกูเล่นวะ ที่ให้เซ็นเมื่อกี้เป็นส่วนนึงของงานใช่มั้ย

“ต่อให้เราชอบหรือไม่ชอบงาน อย่างน้อยมันก็ได้คิด ซึ่งมันจำเป็นกับการทำงาน มันได้เห็นความเป็นไปได้ว่างานศิลปะทำอะไรได้บ้าง

ถ้าเทียบกับผู้กำกับรุ่นพี่ นวพลอาจไม่ได้มีสายตามองโลกเฉียบคม แต่เขาก็รู้ว่าโลกของภาพยนตร์ไม่ได้อยู่แค่ในโรงหนัง แต่เป็นโลกที่เราอยู่ทุกวัน ขึ้นอยู่กับว่าสายตาของคนทำมองไปที่สิ่งไหน เมื่อเราเปิดตากว้าง สำรวจโลกรอบตัว ก็เหมือนเราเก็บสะสมเรื่องราวและมุมมองไว้เล่าเรื่องของตัวเอง

“วิธีคิดการทำหนังที่มีโครงสร้างใหม่ๆ มักไม่ได้มาจากโลก cinema จริงๆ แต่มันมาจากพี่คนนี้เขาเติบโตในวงการอันนี้ แล้วพอเขามาทำหนังเขาก็เอาวิธีนั้นมาใช้ เอาเข้าจริงในเชิงกำกับ คนกำกับต้องมีภาพในหัวเยอะมากเลยนะ คนทำต้องอาศัยภาพที่อยู่ในความทรงจำ ถ้าเกิดมันไม่เคยเห็นมาก่อนมันจะนึกไม่ออก อีกเรื่องนึงคือประสบการณ์ชีวิต ซึ่งไม่จำเป็นต้องเจอเหตุการณ์ยิ่งใหญ่อะไรขนาดนั้น แค่เดินๆ แล้วเห็นป้าพายเรือในเวนิส บางทีเราก็คิดอะไรได้จากมัน”


4

หนังที่ดีคือหนังที่เราเปิดดูเล่นๆแล้วพบว่าอ้าว สัด แม่งดูไปครึ่งเรื่องละ อืม ไหนๆ ก็ไหนๆ ละ เอาให้จบเลยแล้วกัน

คนรอบตัวนวพลบอกตรงกันว่า เขาเป็นนักเล่าเรื่องที่กวนตีน มีคาแรกเตอร์ และมีเสน่ห์

ผู้กำกับหนุ่มยังเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือสนุกไม่แพ้หนัง เขาเคยร่วมฝึกงานกับ a day ในโครงการ a team junior รุ่น 2 เขารวมหัวกับเพื่อนอีก 15 คนฝึกปรือการทำนิตยสารตลอด 3 เดือน ได้ผลผลิตเป็น a day ฉบับที่ 58 หนึ่งเล่มถ้วน หลังจากนั้นก็เป็นคอลัมนิสต์ตามนิตยสารหลายหัว มีพ็อกเก็ตบุ๊กออกมาไม่น้อย

แม้จะทำได้หลายอย่าง แต่เมื่อทำงานถึงจุดหนึ่งเขาก็พบทางตัน ไม่รู้จะทำอะไรต่อ แทนที่จะทำตัวว่างงาน นวพลเลือกหาหนทางใหม่ๆ ด้วยการสมัครฝึกงานที่ค่ายหนังอย่าง GTH

เขาขอเข้ามาฝึกงานแผนกตัดต่อ เมื่อมาถึงวันแรก เขาทั้งตื่นเต้นและตกใจว่าทำไมห้องตัดต่อค่ายหนังเจ้าของผลงานร้อยล้านแคบกว่าที่คิดมาก

ห้องตัดต่อของค่ายหนังมี 2 ห้อง ห้องหลักคือห้องตัดต่อหนัง อยู่ในบ้านหลังสีขาวซึ่งเป็นออฟฟิศหลักของ GTH อีกห้องเป็นตู้เทรลเลอร์เหมือนที่ติดกับรถพ่วง ห้องนี้มีไว้ตัดสื่อโปรโมตอื่นๆ เช่น ตัวอย่างหนัง โฆษณา ฯลฯ ตู้เทรลเลอร์นี้อยู่ข้างๆ ป้อมยาม ภายในมีเครื่อง iMac 3 เครื่องพร้อมอุปกรณ์ตัดต่อเสร็จสรรพ นี่คือห้องทำงานหลักของเดียว-วิชชพัชร์ โกจิ๋ว 1 ใน 6 ผู้กำกับ แฟนฉัน ที่ไม่ได้เป็นผู้กำกับ แต่เลือกที่จะดูแลในส่วนของการตัดต่อสื่อทั้งหมดของค่ายหนังแห่งนี้

“ตอนที่จะเข้า GTH ที่ไปฝึกงาน เราก็กลัวว่าเดี๋ยวต้องเสียวิญญาณ independent แน่ๆ ทำไงดีวะ แต่ถ้าเอาแต่คิดอย่างนี้เราก็จะแคบต่อไป” นวพลเล่าความรู้สึกก่อนฝึกงาน เมื่อได้ทดลองตัดต่องานจริง วิชชพัชร์ก็เห็นแววการเล่าเรื่องในตัวเด็กฝึกงานคนใหม่ วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ผู้ดูแลบทและโปรเจกต์หนังแทบทุกเรื่องของ GTH จึงขอขึ้นบัญชีย้ายนวพลจากฝ่ายตัดต่อมาฝึกงานฝ่ายเขียนบทแทน

“ตอนนั้นเด็กฝึกงานเขียนบทยังไม่มี เต๋อเป็นคนแรก เราคิดว่างั้นวิธีการฝึกที่ดีที่สุดคือการได้ลงมือทำของจริง” วรรณฤดีเล่า นวพลเลยได้เข้ามาร่วมกับโปรเจกต์เขียนบทหนังเรื่อง รถไฟฟ้า.. มาหานะเธอ ของปิ๊ง-อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม, รัก 7 ปีดี 7 หน หนังรวมผู้กำกับฉลองอายุ 7 ขวบของ GTH และ วัยรุ่นพันล้าน ของย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์

การที่เด็กฝึกงานมือใหม่ได้ทำงานจริงกับมืออาชีพ ทำให้เขาตื่นเต้น แต่การฝึกงานก็ไม่ง่าย นวพลต้องเริ่มทำความรู้จักภาษาหนังแบบนับหนึ่งใหม่ ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเขาลองเขียนบทไปให้วรรณฤดีตรวจ ก็ถูกตีกลับทันที

เราเขียนเรื่องของคนงานพม่ามาทำจมูกที่ประเทศไทย พี่วรรณอ่านแล้วบอกว่าพี่ไม่เชื่อสักนิด ตอนนั้นเราเขียนแบบคนไทยอยู่เมืองกรุงไม่ได้มีประสบการณ์ แต่เข้าใจพี่วรรณเพราะมันเป็นอะไรที่ผิวๆ ก่อนเขียนกูไปดูอะไรมาวะ” เขาหัวเราะ

“ตอนเขียนบท รถไฟฟ้าฯ เหมือนการเรียนหนังสือนะ มันทำให้เรารู้โครงสร้างการเล่าหนัง 90 นาที จังหวะหนัง 90 นาทีไม่เหมือนหนัง 30 นาทียังไง ตอนทำ วัยรุ่นพันล้าน ชัดมากเรื่องไดอะล็อก เราเริ่มรู้ว่าไดอะล็อกหนังเมนสตรีมกับไดอะล็อกหนังอิสระไม่เหมือนกัน หนังเมนสตรีมถูกล็อกด้วยเวลา ซีนนีพูดได้กี่ประโยค เนื้อหาสาระต้องมีครบ แต่หนังอิสระมันไปเรื่อยๆ ได้ มันเลยทำให้เราเข้าใจว่าแอ็กติ้งมันเลยไม่เหมือนกัน เพราะว่าไม่มีเวลาเจื้อยแจ้ว มาถึงต้องพูดเลย เริ่มเข้าใจหลักการมากขึ้น พอได้ทำด้วยตัวเองมากขึ้น เราว่าทุกๆ งานมันได้เรียนรู้เยอะขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เก็บไว้ใช้ทำงานของตัวเองและเอาไว้ใช้วิเคราะห์หนังของคนอื่น”

การได้ฝึกทำบท ไม่เพียงได้เรียนรู้เรื่องการเขียนบท แต่ยังได้เห็นการทำงานของคนทำหนังในภาพรวม และได้เห็นว่าหนังทำงานกับคนดูอย่างไรด้วย

“ผ่านไป 3 – 4 ปี เรารู้สึกคุ้มมาก เพราะเราได้เห็นกลไกของภาพยนตร์จริงๆ ว่ามันจะทำอะไรกับคนดู ถ้าเป็นหนังอินดี้ ผมอยากถ่ายฉากนี้ ไม่รู้เรื่องก็ไม่เป็นไร แต่กับหนังแมสทุกซีนมีความหมาย หนังยาว 120 นาที 90 นาที มันต้องมีไดนามิกขึ้นลงอะไรบ้าง เราว่าการเรียนรู้เรื่องพื้นฐานที่ควรจะรู้และควรจะทำให้แม่นยำเป็นปกติ มันจะช่วยตอนที่เราจะกระโดดออกจากกรอบยังไง

“หลังจากทำงานกับพี่วรรณ พี่เก้ง แล้วดูหนังมันมาก มันจะเห็นโครงสร้างไปหมดเลย ในขณะเดียวกันเราก็จะชื่นชมหนังอินดี้ เห็นว่าเขาหักกฎยังไง เหมือนใช้อุปกรณ์เป็นมากขึ้นแล้วน่ะ เราจะสร้างสรรค์สิ่งนั้นขึ้นไปได้มากขึ้น”


3

ไม่ต้องเดินตามเทคโนโลยีก็ได้ แต่ต้องคิดตามให้ทันเทคโนโลยี

ถ้ามีใครขโมยโทรศัพท์ของย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ (ผู้กำกับ เด็กหอ, HORMONES วัยว้าวุ่น และอดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย) เขาจะสามารถติดต่อผู้กำกับในวงการหนังไทยได้แทบทุกคน

ย้งใช้โทรศัพท์เครื่องนี้ กดหาเบอร์ผู้กำกับรุ่นน้องที่เขาสนใจอยากชวนมาทำงานชิ้นล่าสุดด้วยกัน

ขณะที่ย้ง ทรงยศ กดโทรออก เต๋อ นวพล ก็กดรับสายที่ร้าน S&P สาขาสนามบินสุวรรณภูมิ เขาเพิ่งกลับจากประเทศโรมาเนีย และเพิ่งได้รับข่าวดีว่ามีงานชิ้นใหม่ที่แสนจะท้าทายรอเขาอยู่

โปรเจกต์ที่ว่าคือการทำละครส่งสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ว่าด้วยเรื่องกรรมและการทำดี โดยใช้ชื่อว่า บันทึกกรรม งานแบ่งเป็นซีรีส์สั้น ย้งมีหน้าที่หาผู้กำกับมาทดลองทำงานเหล่านี้ คนแรกที่เขานึกถึงคือนวพล และคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะให้รุ่นน้องคนนี้ได้ลองงานสเกลโปรดักชั่นที่ใหญ่ขึ้น เป็นเหมือนสนามทดลองสำหรับผู้กำกับรุ่นใหม่

เขานัดคุยกับนวพลที่บริษัทโฆษณา หับ โห้ หิ้น ตั้งแต่การเตรียมงาน จนถึงวันแรกที่ออกกอง สิ่งที่ย้งกังวลคือสายตาของผู้กำกับยังเป็นแบบคนทำหนังสั้น ในขณะที่หนังต้องทำให้คนดูละครช่อง 3 ดูทั้งประเทศ

สิ่งที่ย้งทำได้ คือการพยายามทำความเข้าใจว่าเต๋อ นวพลต้องการจะเล่าอะไร นี่จึงเป็นบทเรียนครั้งแรกของนวพลในการทำงานเข้าหาคนดูมากขึ้น

“วันนึงผมเคยพูดกับเต๋อว่า ผมรู้ว่างานเต๋อเป็นแบบไหน และอยากให้เขาได้ลองทำงานหลายสนาม แต่ถ้าจะลงสนามนี้ก็อยากให้เขาลองจูนเข้ามาหาคนดู ในฐานะที่เป็นผู้กำกับเหมือนกัน ผมก็ต้องเข้าใจว่าเอาเต๋อมาเพราะอะไร เต๋อกำลังจะเล่าอะไร และเรากำลังทำงานแบบไหนอยู่” ผู้กำกับเจ้าของซีรีส์สุดฮิตเล่าย้อนหลัง

นวพลได้ทำ บันทึกกรรม 3 ตอน คือ ทางโลก, มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนเกลียดเมธาวี และ ปาณาติปาตา ในบรรดา 3 ตอนนี้ เมธาวี คือตอนที่ได้เรตติ้งต่ำสุด แต่กลับเป็นตอนสร้างชื่อให้เขามากที่สุด

ก่อนทำเมธาวี นวพลได้โจทย์จากผู้กำกับรุ่นพี่ว่า “บันทึกกรรมทำแต่เรื่องคนทำดีได้ดี แต่พี่อยากให้ลองทำหนังที่บอกว่าทำไมบางครั้งทำดีแล้วไม่ได้ดี แล้วตัวละครก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ได้ดีกลับมา”

จากโจทย์ นวพลตีความออกมาเป็นเรื่องของเมธาวี เด็กหญิงตัวอย่างที่กำลังสมัครประธานนักเรียน แต่กลับถูกเกลียดชังจากคนรอบตัวโดยไม่ตั้งใจ นอกจากหนังจะเล่าแบบหนังสั้น ยังมีช็อตถ่ายสัมภาษณ์ตัวละคร มีการสร้างเพจหลอกๆ ชื่อว่า ‘มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนเกลียดเมธาวี’ และโพสต์เรื่องราวประหนึ่งว่าเมธาวีมีตัวตนอยู่จริง โพสต์หลอกๆ ที่นวพลคิดแต่ละวัน ช่วยให้คนอินกับเรื่องในละครมากขึ้น

“เราว่ายุคดิจิทัลมันปลดอำนาจคนชั้นบนทิ้ง ทุกคนมีอุปกรณ์เท่ากัน มันเลยมีอะไรภาพให้เราดูเต็มไปหมด ภาพเด็กตบกันในห้องน้ำเราว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดขึ้นในยุคก่อนหน้านี้ แต่ยุคนี้ทำให้เราได้เห็นมากขึ้น มันเปลี่ยนวิธีทำภาพเคลื่อนไหวไปเลย และมันพอดีกับสิ่งที่เราอยากทำ”

ถ้าคนทำไม่ได้เล่นเฟซบุ๊ก ไม่ได้คุ้นเคยกับภาษาและสำเนียงในโลกโซเชียลมีเดีย จะไม่สามารถคิดสิ่งนี้ได้เลย นวพลไม่ใช่แค่คุ้นเคยกับสิ่งนี้ แต่เขาเป็นคนแรกๆ ที่นำโซเชียลเน็ตเวิร์กมาเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่อง ด้วยความเชื่อว่าเด็กยุคนี้ แค่เห็นดวงไฟสีเขียวในห้องแชตเฟซบุ๊กก็มีผลกับความสัมพันธ์ของคนอย่างคาดไม่ถึง

“แค่โปรแกรมแชตในเฟซบุ๊กบอกว่า คนที่เราคุยด้วย ‘seen’ ข้อความของเราหรือเปล่าแค่นี้ก็มีผลแล้ว จริงๆ ระบบมันออกแบบไว้บอกคนส่งว่าข้อความไปถึงแล้วชัวร์ๆ แต่พอใช้จริงคนกลับมองว่า ฝ่ายตรงข้ามขึ้น seen แล้วไม่ตอบคืออะไร มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์มนุษย์มากๆ

“บางคนเป็นเพื่อนของเพื่อนเราในเฟซบุ๊ก เราเห็นรูปของคนคนนี้ในเฟซบุ๊กเพื่อนเยอะ บางทีมันมาตอบใน wall เพื่อนเราจนเรารู้สึกว่ารู้จักมัน แต่เมื่อไปเจอตัวจริงกลับไม่รู้จักกัน รู้จักแต่เหมือนไม่รู้จัก มันน่าสนใจนะ เรารู้สึกว่าโลกมันหมุนด้วยเทคโนโลยีแบบนี้”

เมธาวีทำให้นวพลเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แน่นอนว่าการสวิงของหนังไม่ได้มีแต่คนชอบ คนที่ไม่ปลื้มละครเรื่องนี้ก็มีไม่น้อย แต่ข้อดีคือผู้กำกับหนุ่มก็ได้ฝึกทักษะที่คนทำหนังทุกคนต้องเรียนรู้ นั่นคือการรับมือกับคำวิจารณ์

“เคยมีนักวิจารณ์ต่างประเทศคนหนึ่งด่าหนังเราลงหนังสือ เป็นคนที่เรารู้จัก พอเจอตัวที่เทศกาลเราก็ปรี่เข้าไปหาและถามเลยว่าเขาคิดยังไง” อ่านแต่ตัวหนังสือฟังดูเหมือนเขาหาเรื่อง แต่ถ้าได้ฟังน้ำเสียงจะรู้ว่าเขาแค่ต้องการรับฟังความคิดเห็นของคนดูจริงๆ

“เราไม่ชอบอาการหลังดูงานที่เราทำหรืออ่านงานที่เราเขียนแล้วพอเจอหน้ากันก็อ้ำๆ อึ้งๆ แล้วบอกว่า ก็ดี แต่จริงๆ คือไม่ชอบ มันน่าอึดอัด (หัวเราะ)” นวพลตอบผมทางเมสเสจเฟซบุ๊ก “เราแค่คิดว่ามันไม่ได้คอขาดบาดตายอะไร ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยเราขอเหตุผลเล็กๆหน่อย เผื่อจะไปปรับปรุงงานข้างหน้าได้”

นวพลขยายเพิ่มว่า การทำหนังเป็นงานศิลปะที่ทำนาน คนทำต้องคิดเรื่องนี้ในหัวอย่างน้อย 1 – 2 ปี (บางเรื่อง 10 ปีก็มี) มันคือการทุ่มเทความเชื่อลงไปในหนัง เมื่อถึงคราวที่มีคนด่าหนัง คนทำก็เหมือนโดนด่าว่าความเชื่อตัวเองผิด ซึ่งเขาเข้าใจภาวะนี้ รู้ว่าเป็นเรื่องยาก แต่เป็นสิ่งที่คนทำอาชีพนี้ต้องยอมรับได้

“มันไม่ใช่สภาพที่ทนได้ง่ายๆ สบายๆ นะ แต่มันไม่ได้แย่ขนาดนั้น คือคนชอบงานเราก็ดีใจ คนไม่ชอบงานเราก็แป้วไปบ้าง แต่จะทำไงได้ ถ้างั้นเราเอาเหตุผลที่เขาไม่ชอบมาทำให้เกิดประโยชน์ดีกว่า ฟังๆๆๆๆๆๆ แล้วก็สต็อกข้อมูลไว้แก้ไขตัวเองรอบหน้า

“ถ้าเราเปิดโหมดรับฟังทุกคำด่า เวลาเราเจอนักวิจารณ์หรือพี่ผู้กำกับ เขาจะพูดความคิดเห็นจริงๆ ของเขาให้เราฟัง เขาจะไม่กั๊ก ไม่กลัวเรานอยด์ ตัวเราเองก็ได้เสียงวิจารณ์จริงๆ พอทุกคนได้พูด มันก็สบายใจ ไม่ต้องไปหาคำสวยๆ มาตอบปลอบใจ คราวนี้ทำงานไหนก็ได้ฟีดแบ็กจริงๆ จากผู้ชมงาน เพราะผู้ชมไม่กลัวจะแสดงความคิดเห็นแล้ว เราว่างานไหนที่ทำออกไปแล้ว ไม่มีฟีดแบ็กอะไรเลย หรือแบบทุกคนพูดว่า ก็ดี แต่ไม่มีอะไรกว่านั้น นี่มันเศร้านะ”

“ทุกวันนี้เวลาเขียนรีวิวถึงงานหนังต่างๆ ก็จะไม่ค่อยกังวลมาก เพราะถ้าถึงคิวงานหนังตัวเอง เราก็เปิดให้ทุกคนซัดได้เต็มที่เหมือนกัน ถ้ามีคนบอกว่าหนังพี่เต๋อระยำจริงๆ แล้วเดินจากไป ก็ได้นะ แต่เราจะเอาไปทำอะไรต่อไม่ได้ น้องครับ ระยำก็ได้ แต่บอกหน่อยว่าทำไม แล้วค่อยเดินจากไปได้ไหม”


2

จงดีใจถ้าเรายังเป็นมนุษย์ที่มีคำถามและมีความสงสัย

นวพลกางสมุดบัญชีธนาคาร นับตัวเลขแล้วได้ประมาณ 8 หมื่นกว่าบาท

หลังผ่านการลองทำงานหลายด้าน ทั้งหนังส่วนตัว สื่อรณรงค์ ละคร บันทึกกรรม และงานเขียนบทกับค่าย GTH นวพลก็กลับมาทำหนังของตัวเองอีกครั้ง โดยกำเงินทุนสร้างไว้ประมาณ 8 หมื่นบาท เป็นจำนวนเพียงพอสำหรับการทดลองทำอะไรใหม่ๆ โดยไม่ทำให้อาชีพคนทำหนังอิสระไร้เงินเดือนเจ็บตัวมากนัก

36 คือชื่อหนังเรื่องนั้น ก่อนหนังฉายจริงไม่ถึงเดือน ผมได้ดู 36 ก่อนฉายจริงที่บ้านเขา จำได้ว่าหลังหนังจบเราคุยกันหลายเรื่อง ประเด็นหนึ่งที่เขาย้ำบ่อยๆ คือความอยากทำหนัง ‘กลางๆ’ หรือ ‘หนังอินดี้แต่แมส’ ที่ไม่ค่อยมีคนทำเท่าไหร่ และสงสัยว่าทำไมถึงไม่ค่อยมีใครทำ

“วงการหนังไม่มีหนังประมาณ Last Life in the Universe ออกมาอีกเลย พี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) ทำหนังเรื่องนั้นมากี่ปีมาแล้ว เราเชื่อว่าหนังประมาณนี้โอเค เราก็เลยก็ลองทำดู แม้ปัจจัยไม่ดีเท่า เราไม่ใช่พี่ต้อม ไม่มีนุ่น ไม่มีอาซาโน่ กูไม่มีอะไรทั้งนั้น”

“เรามีแต่เนื้อเรื่อง เรามีแต่คอนเซปต์ เรามีเรื่องที่จะพูดคือเรื่องนี้ แล้วมันรีเลตคนดูได้ประมาณนึงเท่านั้นเอง”

วรรณฤดีแห่ง GTH เคยบอกผมว่า ในการทำหนัง 1 เรื่องมีองค์ประกอบหลักอยู่ 2 อย่าง คือต้องมี what (เรื่องที่จะเล่า) และ how (วิธีการเล่า) หนังของนวพลในสายตาผู้ดูแลโปรเจกต์หนังแทบทุกเรื่องของค่ายหนังฟีลกู้ด แม้จะทดลองเล่าเรื่องประหลาดโลกแค่ไหน ‘what’ ในหนังของนวพลก็แข็งแรงและทำให้คนดูอินได้เสมอ

ใน 36 นวพลนำเทคนิคการถ่ายรูป 36 รูปในกล้องฟิล์ม มาใช้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ยุคดิจิทัล ยุคที่เราเก็บความจำไว้ใน external hardisk มากกว่าสายตาตัวเอง ด้วยการใช้ช็อตแค่ 36 ช็อตเล่าเรื่องทั้งหมดของหนัง นี่คือโจทย์ของหนังที่เขานำมาคลุมตัวหนัง และพยายามเล่าเรื่องภายใต้กรอบนี้

“จริงๆ ชีวิตเราก็อยู่กับโจทย์มาตลอด เพียงแต่เราไม่รู้สึกว่ามันเป็นโจทย์ มันเป็นคอนเซปต์ที่เราพร้อมจะเล่นกับมันมากกว่า สมมติว่าโจทย์คือทำหนังคนละ 10 วินาที ก็น่าสนุกดีว่าเราจะเล่ายังไง จะเล่าหนังเรื่องนึงด้วย 36 ช็อตจำลองการดูภาพนิ่งในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว มันเป็นโจทย์ที่เราชอบอยู่แล้ว ถ้ามีหนังแนวนี้เกิดขึ้นมาบนโลกก่อนเรื่องนี้ เราก็อยากดู”

หลังฉายหนังในไทยจบ ผมก็ได้รู้ข่าวดีของ 36 ผ่านเพจเฟซบุ๊dของเขาว่า หนังที่เขาลงทุน 8 หมื่นกว่าบาทได้รับ 2 รางวัลหลักของเทศกาลหนังนานาชาติปูซาน 2012 คือ New Currents Award และรางวัล FIPRESCI (รางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์)

นวพลถ่ายรูปพร้อมเขียนสเตตัสอัพเดตชีวิตแต่ละวันในเพจ ภาพนึงที่ผมชอบมาก คือภาพที่เขาขึ้นไปรับรางวัลบนเวที และขออนุญาตคนดูถ่ายรูปจากบนเวที

“วันนึงฮาร์ดดิสก์ที่เก็บรูปนี้ของผมอาจจะพังก็ได้ครับ แต่ผมคิดว่าผมจะจำภาพที่ผมเห็นในวันนี้ได้อย่างแน่นอน” คำที่เขาเขียนไว้ในเพจทำเอาคนอ่านอินตาม หลังจากประกาศผลสื่อไทยในโลกออนไลน์ก็ลงข่าวเขาแทบทุกหัว

คนภายนอกอาจมองเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิต นวพลก็รู้สึก ปัจจุบันเขาวางความยิ่งใหญ่นั้นบนกล่องกล้อง Canon ที่วางอยู่ต่ำเรี่ยพื้น

“อย่างนึงหลังจากวันที่เราได้รับรางวัลนะ เราบอกตัวเองเลยว่า เดี๋ยวเหตุการณ์นี้ก็จะผ่านไป

แล้วมันก็จะเป็นอดีต เกิดเร็ว และจบเร็ว” เขาเล่า

“มันดีแหละ ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น คนดูเมืองไทยก็ดีใจ อาการเหมือนเชียร์มวยอยู่เหมือนกันนะ แต่ก็เท่านั้นแหละฮะ เราก็ดีใจ แต่สุดท้ายเราก็พยายามจูนอารมณ์กลับมาเป็นเหมือนเดิม เพราะไม่อยากเป็นคนที่ ดีใจเกินไปหรือเสียใจเกินไป เวลาเกิดเหตุอะไรขึ้น มันจะไม่ตกใจมาก หรือไม่สะเทือนมาก สติจะยังอยู่ มันเอาไว้สู้กับความเปลี่ยนแปลงของชีวิต

“การทำงานศิลปะมันเป็นเรื่องของการขึ้นๆ ลงๆ อยู่แล้ว ทำหนังเรื่องใหม่ ทุกอย่างก็กลับไปศูนย์ อาจจะห่วยกว่าเดิมหรือดีกว่าเดิมเราก็ไม่รู้ เราพยายามวางรางวัลหรืออะไรก็ตามไว้ไม่สูงมาก จะได้ไม่ต้องไปยึดๆ กับมันมากนัก มันเป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันก็ต้องทำใหม่”


1

เวลาทำงานฮาร์ดๆ มักจะคิดว่า ยังไงมันก็ฮาร์ดน้อยกว่าสมัยสอบไฟนอลนะ

“ช็อตนี้ตรงคำว่า เล็ก Greasy Café เส้นมันหนาไปนิดนึงครับ

“ปรับสีป่าให้อุ่นกว่านี้ได้มั้ยครับ”

“ผมว่าเลื่อนคำว่า น้อย วงพรู ไปตรงใกล้ประตูดีกว่า พี่ว่าดีมั้ย”

ถ้าได้ยินแต่เสียง คนอ่านคงนึกไม่ออกว่าเราทำอะไรอยู่ ผมกำลังดูนวพลตัดหนังตัวอย่างของ Mary Is Happy, Mary Is Happy ทีสตูดิโอ White Light ย่านเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา

วันนั้นผมตามไปดูนวพลตัดตัวอย่างหนัง และไปรับโปสเตอร์หนังที่ออกจากโรงพิมพ์สดๆ ร้อนๆ พอได้มาเห็นเวลาเขาทำงาน ผมพบว่านวพลทำเกินหน้าที่ของผู้กำกับไปมาก นับตั้งแต่ปิดกล้องจบ ตัดต่อเสร็จ เขาก็มาคุมการทำดนตรีประกอบ มิกซ์เสียง ตัดตัวอย่าง ออกแบบโปสเตอร์ เขียนโปรโมตหนังในเฟซบุ๊ก คุยกับโรงฉาย เช็กฟีดแบ็กคนดูที่โรงหนังหลังหนังจบ หรือแม้แต่จัดระบบรับจองดีวีดี

ทั้งหมดนี้ไม่น่าใช้หน้าที่ของผู้กำกับแน่ๆ แต่เขาก็ยืนยันว่าสนุกกับงานแบบนี้มาก “บางครั้งสนุกกว่าทำหนังอีก” เขาเล่ายิ้มๆ

นวพลไม่ได้มองการโปรโมตหนังเป็นเรื่องของการ PR ที่มีหน้าที่แยกจากการกำกับ แต่คิดมันให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ กับหนัง Mary Is Happy, Mary Is Happy เขาคิด side project ชื่อว่า MARY, RETWEETED โดยชวนคนดูทางบ้านหยิบเอาทวิตเตอร์ของ @marylony มาทำเป็นงานอะไรก็ได้ หลังจากที่โพสต์ งานที่ส่งมามีทั้งภาพถ่าย ภาพวาด เพลง การ์ตูน 3 ช่อง หลากหลายรูปแบบจนเขานึกไม่ถึง

“ไม่รู้ยิ่งใหญ่ไปเปล่านะ แต่สำหรับเราคือ มันลากให้ศิลปะมาเข้าใกล้คนได้มากๆ แล้วเราก็ไม่ได้ถือว่างานเรายิ่งใหญ่อะไรมากมาย หนังเรื่อง Mary Is Happy, Mary Is Happy ก็เหมือนอยู่ในโปรเจกท์ MARY, RETWEETED นี่แหละ เพียงแต่ของเรารีทวีตออกมาเป็นหนังใหญ่”

“พอเราทำให้ตัวงานมันยืนอยู่ในระดับเดียวกับทุกคน ทุกคนก็จะไม่เกร็งในการที่จะลองรีทวีตมันออกมาเป็นของตัวเองบ้าง มันไม่ค่อยมีบรรยากาศของความเคร่งเครียดอะไรแบบนี้นะ เหมือนทุกคนอยากลองทำออกมา เพราะคงคิดว่ามันหนุกๆ ดี เราก็พยายามบอกว่าสบายๆ นะครับ ไม่ยากๆ หนุกๆ ซึ่งมันคล้ายกับตอนทำ 36 ที่เราพยายามจะให้คนดูไม่เกร็งกับการมาดูหนังที่เขาอาจจะเรียกว่ามันว่าหนังอินดี้ หนังศิลปะ หนังอาร์ตดูยาก ถ้าเราปลดโล่ ปลดเกราะออก เราว่าคนเขาก็พร้อมจะร่วมสนุกนะ”

ความจริงเขาเผื่อใจไว้เหมือนกันว่าคนจะไม่เก็ตและไม่เล่น ทุกวันนี้ก็หายห่วงเพราะมีคนส่งโปรเจกต์ retweeted ส่งมาวันละประมาณ 10 กว่างาน คนทำขยันโพสต์ลงเพจแทบไม่ทัน ทั้งหมดนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าเขาไม่ใช่แค่ทำหนัง แต่คือการเล่าเรื่องในรูปแบบที่คนยุคนี้อินตาม

นอกจากการโปรโมตหนัง การทำตัวหนังก็ท้าทายไม่แพ้กัน นวพลเล่าว่าการนำ 410 ข้อความมาแตกเป็นหนังแบบไม่ข้ามเป็นเรื่องยากมาก เพราะปกติอาวุธของการเขียนบทคือการลำดับเรื่อง คิดเรื่องออกมาเป็นภาพ ตัดสลับตามอารมณ์ที่อยากให้เป็น แต่กับเรื่องนี้เขาทำอย่างนั้นไม่ได้เลย ต้องคิดเรื่องตามลำดับการทวีตแบบข้ามไม่ได้สักอัน

“คอนเซปต์ยากมาก การเอาทวีตมา 400 อัน แล้วต้องทำทุกอันไม่ข้าม มันเหมือนโดนล็อกโซ่แล้วถีบลงไปในน้ำ แล้วให้ตะกายขึ้นมาเอง มันคือซูเปอร์ของการเทรนน่ะ ต้องใช้ความรู้ในการเขียนบททุกอย่างที่มี เพื่อแก้ล็อกเรื่องแต่ละทีละทวีต เพราะว่าเราไม่ได้อยากทำ Mary Is Happy, Mary Is Happy เป็นหนังทดลอง แต่เราอยากทำให้มันเป็นหนังเล่าเรื่อง (narrative) ถ้าทำได้คนดูจะเข้าใกล้หนังทดลองโดยอัตโนมัติ โดยที่เขารู้สึกว่าเขากำลังดูอะไรสนุกๆ อยู่ มาดูแล้วได้มีประสบการณ์ร่วมไปด้วยกัน”

ขนาดคนทำงานหนังรอบตัวเขายังยอมรับว่า นี่คือโจทย์ที่ยากมาก เมื่อได้ดูหนังผมพบว่านวพลทำให้คนดูรู้สึกตามได้ มันทั้งสนุกและวายป่วง มั่วเละอย่างที่เขาเล่าในตัวอย่างหนัง

ส่วนคนดูคนอื่นจะคิดอย่างไร อยากชวนให้คุณผู้อ่านไปสัมผัสเองจะได้อรรถรสกว่า

เย็นวันนั้น ผม ซีดี และนวพล ขับรถไปดูโปสเตอร์ที่โรงพิมพ์ หลังดูเสร็จนวพลขอเก็บโปสเตอร์ไปแปะหน้าประตูบ้าน “เบื่อโปสเตอร์หน้าบ้านแล้ว อยากเปลี่ยน” เขาว่าอย่างนั้น

“เดี๋ยวข้างบ้านแซวว่าชอบโปรโมตหนังตัวเองหรอก” ซีดีทัก

“ช่างมันเถอะ แถวบ้านไม่มีใครรู้จักหนังเราหรอก”


0

ชอบเวลาชุดความคิดเก่าๆ กำลังจะกลายร่างเป็นชุดความคิดใหม่ๆ
บางทีก็เศร้าขึ้น แต่เรากำลังจะมองอะไรบางอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เหมือนไปดาวใหม่

ไม่กี่วันหลังจากนั้น โปสเตอร์ Mary Is Happy, Mary Is Happy เดินทางจากโรงพิมพ์มาแปะหน้าประตูบ้านนวพลเรียบร้อย

เมื่อเดินเข้ามาจากประตู เราจะเจอห้องทำงานขนาดใหญ่ มีโต๊ะไม้ขนาดใหญ่ บนโต๊ะมี iMac เครื่องเดียวกับที่เขาใช้ตัดต่อหนังยาวเรื่องล่าสุด ด้านหลังคอมพ์นวพลเอาบอร์ดไม้อัดขนาดใหญ่แปะบนผนัง บนบอร์ดเขาหาโปสเตอร์และภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่องที่ทำ ณ ปัจจุบันมาติดไว้

ทุกครั้งที่มาบ้านนวพล ผมชอบสังเกตว่าบนบอร์ดนี้เขากำลังแปะอะไรอยู่ การมาบ้านครั้งล่าสุด โปสเตอร์ Mary Is Happy, Mary Is Happy กินพื้นที่เกือบครึ่ง ที่เหลือเป็นรูปถ่ายและเอกสารจุกจิก ผู้กำกับบอกว่าเขาติดรูปที่เกี่ยวกับหนัง เพราะเวลาคิดอะไรไม่ออก เงยหน้ามองภาพมันพอช่วยได้บ้าง เช่นเดียวกับผมเวลานั่งคุยกับเขา สายตามักจะเหลือบมองภาพในบอร์ดนี้โดยไม่รู้ตัว

เวลาคุยกับนวพล หูผมจะได้ยินคำว่า “ก็ลองดู ไม่เวิร์กก็ไม่เป็นไร” บ่อยมาก นวพลที่ผมรู้จักเป็นคนหนุ่มที่พุ่งเข้าหาโอกาส ชอบลองทำงานรูปแบบใหม่ และทำมันจนสุดแรง แม้บางโจทย์จะยาก และไม่รู้ว่าปลายทางของมันจะเป็นอย่างไร

“การทำ Mary Is Happy, Mary Is Happy เหมือนเราสร้างสัตว์ประหลาดขึ้นมาตัวนึงซึ่งเกิดในยุค twitter era วิธีการสื่อสาร วิธีพูด ถูกบีบอัดด้วยพื้นที่ 140 ตัวอักษร สำหรับเรามันคือจังหวะการเล่าเรื่องแบบใหม่

“เราไม่รู้ว่าคนจะสนุกกับมันแค่ไหน แต่สิ่งที่เราทำเสร็จไปแล้วคือ เราได้ลองทำก้อนนี้เสร็จแล้ว เราเลือกทำเรื่องนี้แบบนี้เพราะว่าไม่ใช่โอกาสบ่อยนักที่จะได้ทำสิ่งนี้ มันทำได้ครั้งเดียวก็ควรทำให้สุดไปเลย อย่าทำแบบยิงเผื่อๆ แล้วรอดูว่าผลจะเป็นยังไง”

“ผู้กำกับเราว่าเป็นเหมือนกันทั่วโลก พอถึงจุดนึงก็ขอลองทำอันใหม่บ้างว่ะ กูไม่ทำแบบที่กูเคยทำบ้าง เพราะกูเบื่อ บางครั้งก็ไปทำอีกแบบนึง มันก็ดีบ้างไม่ดีบ้างก็แล้วแต่เป็นความอยากลอง เราว่าเราทำเรื่องนี้ เราทำ 37 ก็ได้แต่เราไม่ทำ ขอไปทำงานอีกแบบที่เรายังไม่เคยทำดีกว่า เราว่ามันก็คือหลักการทำงานสร้างสรรค์ทุกรูปแบบ ทุกอย่างจะกลับมาที่ศูนย์ คนทำก็ต้องเริ่มใหม่เสมอ”

ในห้องทำงาน ผมเห็นซีดีกองใหญ่ที่เขาซื้อแบบลดราคาจากญี่ปุ่น นวพลบอกว่าเขาชอบฟังเพลงจากซีดี เพราะมันเหมือนดูงานศิลปะ exhibition ที่คนทำเพลงคิดมาแล้วว่าเพลงที่คนกำลังได้ฟังมีควรเริ่มที่เพลงไหน ต่อด้วยเพลงอะไร “ตอนซื้อรู้สึกแก่มาก เพราะคนสมัยนี้คงไม่มีใครซื้อซีดีกันอีกแล้ว”

บนโต๊ะที่เรานั่ง มีอัลบั้ม ZERO ของวงพรูวางอยู่ไม่ไกลหน้าจอคอมพ์ นี่คืออัลบั้มโปรดของเขา ด้วยการลำดับเพลง เขามักจะฟังอัลบั้มนี้ติดกันโดยไม่ข้ามเพลงเสมอ

เมื่อผมกลับมาบ้านตัวเอง เปิดคอมพ์เพื่อเรียบเรียงเรื่องของนวพลทั้งหมด ผมลองเปิดเพลงจากอัลบั้มนี้ในยูทูบและลองอ่านทวนเรื่องของนวพลอีกรอบ

ในขณะเริ่มกลับไปอ่านตอนที่ 6 เสียงเพลงสุดท้ายในอัลบั้มนี้ก็ดังขึ้น แปลกดีที่เนื้อเพลงฟังดูเข้ากับเนื้อหาในบทสัมภาษณ์นวพล ราวกับเป็นเพลงประกอบในหนังเรื่องใหม่ของเขา ที่ยังไม่มีตอน /จบ.

หลับตา แล้วเปิดโสตประสาทที่มีทั้งหมด

เพื่อให้ใจรับรู้ปล่อยวางทุกสิ่ง และทิ้งเรื่องที่เหลืออยู่

ให้ใจเริ่มที่ศูนย์

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 159 พฤศจิกายน 2557)

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR