Die Tomorrow – ความกล้าของ เต๋อ นวพล

ปีนี้
นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ อายุ 30 ต้นๆ

ในแง่การทำงาน
นี่เป็นวัยที่น่าอิจฉา มันเป็นช่วงวัยที่เป็นรอยต่อระหว่างหนุ่มสาวและผู้ใหญ่
พลังยังมี ความห้าวน้อยลง แทนที่ด้วยความเข้าใจโลกมากขึ้น
ในขณะเดียวกันก็ยังมีความกล้าในการทำอะไรใหม่ๆ แบบที่คนวัยนี้ควรจะเป็น

Die
Tomorrow
เป็นหนังยาวอิสระเรื่องที่
3
ของนวพล
หนัง 2
เรื่องที่ผ่านมา
(36
และ
Mary
is happy, Mary is happy
) ใช้ข้อดีของการเป็นหนังอิสระเต็มที่
นั่นคือสามารถออกแบบการเล่าเรื่องของหนังให้แตกต่างจากหนังปกติ วางคอนเซปต์หลักแล้วมุ่งหน้าเล่าแบบที่คิดไว้อย่างไม่วอกแวก

เหตุผลทั้งหมดนี้ทำให้เรา
‘เตรียมใจ’ ไว้ล่วงหน้าว่า
Die
Tomorrow
จะเป็นหนังที่เล่าเรื่องความตายด้วยวิธีเล่าที่ไม่ปกตินัก
ซึ่งก็จริงดังคาด

ด้วยแนวคิดที่ว่า
วันก่อนสิ้นชีวิตก็คือวันธรรมดาวันหนึ่ง บวกกับทัพนักแสดง (ใช้คำว่า
‘ทัพ’ ได้เต็มปาก
เพราะเยอะทั้งจำนวน พลังงาน ฝีมือ และสัดส่วนที่พอดีมาก) ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังดราม่าที่ขับเน้นด้วยพลังของนักแสดงได้เลย
แต่สิ่งที่นวพลทำคือ การทดลองวิธีเล่าเรื่อง
แยกการเล่าเรื่องของตัวละครออกเป็นตอนๆ จากกันเด็ดขาด ไม่มีนักแสดงคนไหนที่เชื่อมเส้นเรื่องเข้าหากันอย่างที่เรามักได้เห็นเวลาดูหนังที่พูดคอนเซปต์ประมาณนี้

ถ้าตามอ่านบทสัมภาษณ์ผู้กำกับ และได้อ่านหนังสือ archive A.+ B. ซึ่งเล่าที่มาและแรงบันดาลใจของ
Die Tomorrow จะรู้ว่าวิธีเล่าเรื่องในหนังใช้วิธีการทำหนังแบบ essay
film และอัลบั้มเพลงแบบ
Progressive
(โดยเฉพาะอัลบั้ม
Zero
ของวง
Pru)
มาผสมผสาน

การทดลองทำอะไรใหม่ๆ
มักจะมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ กับเรื่อง Die Tomorrow ก็เช่นเดียวกัน
หนังไม่ได้ทำงานกับคนทุกคน เชื่อว่าคนทำก็รู้ ผลตอบรับมีทั้งสองแบบ
ในความรู้สึกแรกหลังออกจากโรง เราชอบเรื่องแรกของสี่สาวคืนก่อนรับปริญญา
แต่หลังจากผ่านไปหลายวัน พบว่าเราจำหนังเรื่องนี้เป็นก้อนเดียว
ทุกอย่างหลอมรวมเป็นเนื้อเดียว (แม้หลายคนจะจำการแสดงมหัศจรรย์ของ
เต้ย จรินทร์พร มากเป็นพิเศษ
แต่เราคิดว่าทีมนักแสดงชุดนี้แข็งแกร่งจนไม่มีใครกินใคร) นวพลไม่ได้อยากเล่าเรื่องความตายโดยใช้แค่บทและนักแสดง
แต่ยังอยากเล่าด้วยการสัมภาษณ์ การใช้ข้อมูลสถิติ
และการแบ่งเนื้อหาเป็นช่วงเพื่อจับประเด็นนี้

จะว่าไปวิธีเล่าของ Die
Tomorrow
ที่แบ่งเป็นห้วงสั้นๆ
ก็คล้ายเวลาที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่คนใกล้ตัวเสียชีวิต เหตุการณ์มักจะยาวนาน
ไม่ได้จบเพียงวูบเดียว เช่น ถ้าญาติผู้ใหญ่ของคุณเสียที่โรงพยาบาล
ลูกหลานต้องมารวมตัวกันพร้อมหน้าเพื่อเตรียมงานศพ แจ้งคนที่เกี่ยวข้อง
จัดการกับธุระที่ผู้ตายทิ้งไว้
เจอญาติที่เคยอยู่ไกลหวนกลับมาพบเพราะความตายครั้งนี้ เหตุการณ์เหล่านี้มักเป็นเรื่องสั้นๆ
ที่ประดังประเดเข้ามา ระหว่างทางเราจึงได้พบความรู้สึกที่หลากหลาย บางวันร้องไห้
บางวันยิ้ม บางวันหัวเราะ ไม่ได้เป็นก้อนความรู้สึกแบบเดียวกัน
เมื่อความตายมาเยือน มันไม่ได้มีแต่ความเศร้า
แต่นำพาความรู้สึกหลากหลายให้เราได้รับรู้ กว่าที่เราจะรู้สึก สถานการณ์ก็กลับสู่สภาวะปกติแล้ว

Die
Tomorrow
ยังใช้ศักยภาพของโรงหนังเต็มที่
โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนภาพและการผสมเสียง
ไม่ใช่ว่าเราจะได้ยินเสียงคุณภาพดีที่ผสมอย่างซับซ้อน แต่สิ่งที่เด่นคือ
เสียงของความเงียบ มีบทบาทหลายช่วงจนราวกับเป็นตัวละครหนึ่ง เราว่าคุ้มที่จะพยายามดูในโรง
แม้ช่วงนี้จะหารอบที่คนดูโล่งๆ ยากหน่อย (แต่ไม่ควรคาดหวังนะ
หนังไม่ได้ทำงานกับทุกคน เตือนเป็นครั้งที่ 2)

จุดเด่นของนวพลที่ไม่เคยเปลี่ยน
ตั้งแต่ยุคที่เขาเพิ่งเป็นที่รู้จักจากเรื่อง See จนถึงยุค
ฟรีแลนซ์ฯ คือวิสัยทัศน์ พร้อมกล้าลองกระโจนในบ่อแห่งความไม่รู้
มันเป็นธรรมชาติของคนทำงานวัยนี้
นั่นทำให้เราตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นโปสเตอร์หนังของนวพล
ดูวิธีการโปรโมตหนังผ่านโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงได้ดูหนังฉาย เพราะมันคาดเดาไม่ได้
แม้ผลลัพธ์จะไม่แน่นอน แต่นี่คือเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่เราจดจำเต๋อ นวพล ได้จนถึงวันนี้

AUTHOR