‘ปล่อยมือจากความคาดหวัง’ บทเรียนที่ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ก้าวผ่านความเศร้าหลังกำกับซีรีส์ SOS skate ซึม ซ่าส์

“มันพังชนิดที่เราไม่เคยคิดว่าชีวิตจะไร้คุณค่าขนาดนี้มาก่อน”

นี่คือประโยคสารภาพตามตรงของ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับหนุ่มของซีรีส์ลำดับที่ 3 ใน Project S The Series เรื่อง SOS skate ซึม ซ่าส์ ที่เขาบอกเราระหว่างบทสนทนาชวนคุยถึงงานโหดหินที่สุดที่เคยทำมา

จากที่ตั้งใจจะชวนพัฒน์คุยเรื่องเส้นทางการทำงานที่เริ่มจากเด็กหนุ่มผู้ไม่ได้จบภาพยนตร์มาโดยตรง แต่เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการลองผิดลองถูกและทำงานจริงในตำแหน่งตากล้องและคนถ่ายเบื้องหลังของซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น กระโจนไปกำกับมิวสิควิดีโอ คลุกคลีอยู่กับเด็กติดเกมในสารคดี Let Me Grow (2016) คำตอบของพัฒน์กลับบอกเล่าความยากมหาโหดของการกำกับซีรีส์ครั้งแรกที่มีความเศร้าเป็นเดิมพันให้เราฟังโดยไม่ได้คาดหวังมาก่อน

เหมือนว่า SOS skate ซึม ซ่าส์ คืองานที่ลอกคราบตัวตนของพัฒน์หมดจดจนเราคิดไม่ออกว่าจะมีผู้กำกับซีรีส์ไทยคนไหนเคยผ่านประสบการณ์แบบเดียวกันมา

ขออภัยหากบทสนทนานี้จะไม่ได้คำตอบบางอย่างเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอย่างที่เราควรถาม แต่ความเศร้าอย่างหนัก ความพยายามสุดเหนื่อย และความสุขที่พัฒน์ได้เจอตลอดหนึ่งปีของการทำงานชิ้นนี้คือสิ่งที่เราอยากบอกจริงๆ

ออนแอร์ EP.1 ไปแล้ว ฟีดแบ็กที่ได้รับเป็นไงบ้าง
ตั้งแต่ตอนตัดสินใจทำไอเดียนี้ เราคิดไว้แหละว่ามันอาจไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างขนาดนั้น แต่เราก็พยายามทำให้ดีที่สุดนะ ระหว่างที่เขียนบท ถ่ายทำ ตัดต่อ ทุกขั้นตอน พี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) และพี่ปิง (เกรียงไกร วชิรธรรมพร) เห็นมาตลอด เขาก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มันแปลกมาก แต่เขาก็ใจกว้างและให้อิสระ มึงอยากทำอะไรทำ เดี๋ยวรอดูฟีดแบ็กพร้อมกันเพราะเขาก็อยากรู้ว่าถ้าอะไรแบบนี้ฉายทีวีไป ผลตอบรับคนดูจะเป็นยังไง

ต้องเล่าย้อนนิดนึงว่าลำดับการเรียงเรื่องของ Project S The Series พี่ย้งและพี่ปิงเรียงตามคาแรกเตอร์ผู้กำกับ เขารู้จักผู้กำกับทั้ง 4 คนประมาณนึงและพอจะคาดเดาทิศทางได้ว่างานแต่ละคนจะออกมาแบบไหน ซึ่งงานเราน่าจะออกมาไม่แมสเท่าไหร่เลยวางไว้เรื่องที่ 3 เพื่อให้เรื่อง Spike และ Side by Side พอมีฐานคนดูก่อน ถ้าเรื่องเราจะไม่ฮิตมากก็ยังโอเคกว่าที่จะเป็นเรื่องแรก

แต่พอออนแอร์ไป กลายเป็นว่าเรตติ้งไม่ได้ต่ำอย่างที่เราคิด และประเด็นโรคซึมเศร้าที่เซนซิทีฟมากๆ ก็ยังไม่พบฟีดแบ็กด้านลบเลย มันน่าแปลกใจเพราะตอนแรกเราคิดว่ายังไงก็ต้องมี กลายเป็นว่าคนดูไม่จัดจ์อย่างที่เราคิดว่าเขาจะจัดจ์ แถมสไตล์ภาพ แสงที่ใช้ในเรื่องที่ดูประหลาดคนดูก็ยังชอบ หลายคนบอกว่าน่าสนใจ แปลกใหม่ เราเลยคิดว่ามันเหนือความคาดหมายและเราก็ดีใจ

เป็นความตั้งใจแต่แรกหรือเปล่าที่จะทำให้มันไม่แมส
เราไม่เคยคิดว่าอยากให้มันไม่แมสเลย เราตั้งใจแต่แรกเลยว่าเราจะทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ไปสู่วงกว้างที่สุด เพราะสำหรับเราการทำหนังที่สื่อสารกับคนดูแม่งยากมากๆ ยากกว่าการทำหนังส่วนตัว แต่ด้วยความที่พี่ย้งและพี่ปิงยังไม่แน่ใจในตัวเรามั้ง เราไม่เคยทำกำกับมาก่อน เรามาจากสายตากล้อง ทำสารคดี มันเลยมีความดำน้ำอยู่ ไม่รู้ว่าพอออกมาจะสื่อสารได้มากขนาดนั้นรึเปล่า

ทำการบ้านยังไงเพื่อจะให้คนดูกลุ่มแมสเข้าใจงานเรา
การไม่เข้าข้างตัวเองมั้ง ไม่มีข้ออ้างให้ตัวเองว่าสิ่งนี้เราชอบ นี่คือรสนิยมของเรา เป็นกลางที่สุด คิดว่าเราเป็นคนดูที่ดูสิ่งนี้ มันทำให้เราเข้าใจได้ไหม เราพร้อมจะเข้าใจมันไหม และเขาอธิบายให้เราฟังด้วยท่าทีที่น่าสนใจไหม ไม่มีว่านี่คือลายเซ็นของเรา ตัดออกให้หมดระหว่างการทำ นี่คือสิ่งที่เราทำการบ้านเยอะที่สุด

แต่เท่าที่รู้มา ชีวิตช่วงที่ทำโปรเจกต์นี้ก็พังไปแป๊บหนึ่งเลยใช่ไหม
จริงๆ ไม่ได้พังแป๊บเดียวนะ มันพังมาเกือบปี พังชนิดที่ชีวิตเราไม่เคยคิดว่าตัวเองไร้คุณค่าขนาดนี้มาก่อน

เรามีความเชื่อทื่อๆ อย่างหนึ่งว่าถ้าเราทำอะไรก็ตามอย่างเต็มที่สุดๆ ใส่ความตั้งใจ ความพยายามลงไปสุดๆ ยังไงก็ทำได้แน่นอน ไม่มีคำว่าทำไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งเราใช้มันกับการทำงานมาตลอด แต่กับการเขียนบทเรื่องนี้ เป็นเพราะเราไม่เคยเขียนบทมาก่อน ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย เหมือนเราอยู่เลเวล 1 แล้วให้ไปทำเลเวล 100 ในเวลาหนึ่งปี มันไม่มีทางทำได้เลยไม่ว่าเราจะพยายามเท่าไหร่ก็ตาม ช่วงแรกๆ เรายังไปกับมัน ทำเข้าไปๆๆ มันต้องได้ แต่พอถึงจุดหนึ่งมันชนตอ มันทำไม่ได้จริงๆ หมายถึงว่าเราเขียนบททุกวัน วันละ 16 ชั่วโมง ตลอดหนึ่งเดือน พอเอาเข้าไปห้องตรวจบทก็ถูกล้างแบบไม่มีชิ้นดี ซึ่งเราเข้าใจหมดเลยนะว่าทำไม แต่ความสามารถเราตอนนั้นมันคิดได้แค่นี้จริงๆ ว่ะ เดือนที่ 2 เริ่มใหม่ก็ถูกล้างหมด แย่กว่าเดิมอีก เดือนที่ 3 เดือนที่ 4 เราอยู่กับสิ่งนี้ประมาณ 8 เดือนจนถึงจุดที่เรารู้สึกว่าเราไม่มีความสามารถทำสิ่งนี้แล้ว ประกอบกับเราทำเรื่องโรคซึมเศร้า เราศึกษา ไปสัมภาษณ์คนเป็นโรคซึมเศร้าจนสมองเรามีแต่คำนี้วนเวียนอยู่ คำนี้มีแรงดึงดูดมหาศาลมาก มันดึงอารมณ์เราเข้าไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ง่ายมากๆ เราเศร้ามากกก (เน้นเสียง)

มันพังมาเรื่อยๆ จนถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนถ่าย พี่ปิงเข้ามาหาเราแล้วบอกว่า ‘มึงชอบบทตัวเองรึเปล่า’ คำนั้นคำเดียว เราแม่งร้องไห้ไม่หยุดเพราะเราไม่ชอบมันเลย ซึ่งไม่ใช่เพราะทีมเขียนบทเลยนะ เรามีทีมเขียนบทที่ดีมากๆ แต่มันเป็นเพราะตัวเราเอง

ผ่านช่วงเวลานั้นมายังไง
เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอย่างหนึ่งที่รีเสิร์ชมาและอยากแชร์ ปัจจัยที่ทำให้เป็นหรือหายจากภาวะซึมเศร้าของคนเรามี 3 อย่าง สารเคมีในสมอง สังคม และทัศนคติต่อตัวเอง ถ้า 2 ใน 3 อย่างดีมากๆ ก็อาจดึงให้ปัจจัยอีกตัวดีขึ้นตามมาได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทัศนคติ ซึ่งทัศนคติตั้งต้นของเราคือเราต้องทำได้ เราต้องการการยอมรับ ซีรีส์เรื่องนี้ต้องออกมาดีมากๆ แต่พอถึงจุดที่มันพังทลายล่มสลายไปหมดแล้ว ความรู้สึกที่ต้องออกไปถ่ายบทที่ตัวเองไม่ชอบ โอ้โห! มันคือความรู้สึกที่แย่ที่สุดในโลกแล้วอ่ะ มันดึงเราเข้าไปสู่ภาวะซึมเศร้า แต่ตอนนั้นเราต้องทำยังไงก็ได้ให้เราไปต่อ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเลือกชีวิตตัวเองให้อยู่ต่อไป เราเลยเลือกจะปล่อยมือจากเป้าหมายสูงสุดนั้น เราเลือกปล่อยความสำเร็จและการได้รับการยอมรับจากคนอื่น

เราถามตัวเองว่าจะทำซีรีส์เรื่องนี้ต่อไปเพื่ออะไรในเมื่อมันจะออกมาไม่ดีแล้ว เราต้องเชื่อด้วยนะว่ามันจะออกมาไม่ดี เพราะถ้าเรายังเชื่อว่ามันจะดีต่อไป เราจะไม่มีทางหลุดจากภาวะนั้นได้เลย เรามาเจอว่าถ้าเราอาจจะไม่ได้ทำซีรีส์ต่ออีกแล้ว อาจจะไม่มีใครจ้างเราอีกแล้ว งั้นเราขอทำสิ่งที่อยากทำทุกอย่างในเรื่องนี้ เราจะลองมั่วทุกอย่างเลย ถ้าภาพยนตร์ทำแบบนี้ได้ อยากลองวิธีนี้กับละครว่ะ แล้วคนดูจะรับสิ่งนี้ได้ไหมวะ ทั้งสี แสง เราใส่หมดเลยกับทุกอย่าง ระหว่างที่ถ่ายเราก็แก้บทไปมั่วซั่วเลย ความสนุกที่ได้ออกไปทำอะไรมั่วๆ ในทุกวันของการถ่ายจนมันถ่ายจบและเราก็ผ่านมันมาได้ เราเลยรู้สึกว่าการปล่อยมือจากความคาดหวังของตัวเองและคนอื่นน่าจะเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำซีรีส์เรื่องนี้ เพราะตั้งแต่เราเริ่มทำงานมา เราพบว่าเราไม่เคยมีความสุขในการทำงานเหมือนที่คนอื่นเขามีกันเลย ความสุขของเราจะอยู่ในโมเมนต์ที่มีคนมาบอกว่า ‘เฮ้ย ชอบนะ’ ‘เฮ้ย เราทำได้ดีนะ’ แต่มันไม่ได้เกิดจากตัวเราที่บอกว่าเราชอบมัน พอผ่านช่วงที่พังมาได้ เราผ่อนคลายกับมันมากขึ้น หายใจออกมากขึ้นในการทำงาน มันเลยทำให้เราทำสิ่งนี้ต่อไปได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

แปลว่าถึงจะยากและไม่ถนัด แต่ก็ยังอยากทำงานกำกับต่อ
เอาตรงๆ คือเราไม่รู้จริงๆ ว่าเราจะไปทางไหนต่อ เราตั้งต้นด้วยการอยากเป็นตากล้อง ทำไปสักพักพี่ย้งก็ชวนไปทำผู้ช่วยฯ หลายอย่างที่เขา input ทำให้เรารู้สึกว่าผู้กำกับก็น่าสนุกดี มันสามารถสร้างอะไรบางอย่างได้ ถึงตอนนี้เราเลยแฮปปี้กับการเป็นผู้กำกับมากกว่านะ หรือเปล่าวะ? (หัวเราะ) ตอบยากมาก เราห่างจากเส้นทางตากล้องมานานมากแล้ว ไปทางนั้นก็เหมือนเริ่มใหม่ เราได้ทำงานกับตากล้องเก่งๆ หลายคนซึ่งดูแล้วเราอาจทำไม่ได้ขนาดนั้นเลยรู้สึกว่าอยู่ในจุดนี้อาจทำได้ดีกว่ามั้ง

สำหรับเรา สิ่งที่ใหม่และยากที่สุดของผู้กำกับคือการกำกับแอคติ้ง ไม่รู้เรื่องเลย เราไม่เคยทำเวิร์กช็อปนักแสดง ห่างไกลจากการทำละครมาก แต่พอเราได้เริ่มทำในเรื่องนี้ เราค้นพบว่าเราทำได้ว่ะ เรากำกับแอคติ้งได้และนักแสดงก็แฮปปี้ที่ได้ทำงานกับเรา สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกดีมากๆ นี่คือพาร์ตใหม่ของชีวิตเลยนะที่เราได้เรียนรู้ พอเราได้ลองอะไรมั่วๆ ก็ทำให้รู้ว่าซีรีส์หรือสื่ออะไรก็ตาม ถ้าเรามีประสบการณ์กับมันมากขึ้น มันเล่นอะไรได้เยอะมากๆ จนเราก็ไม่เคยรู้ว่ามันเล่นได้มากขนาดนี้ มันทำให้เราไปเจอขอบเขตใหม่ๆ ว่ายังไปได้อีก ทุกอย่างคือ Infinite Possibility เราเลยสนุกกับการค้นหาสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่สนุกที่สุดของการเป็นผู้กำกับ

เหมือนทีแรกเราอาจตั้งกรอบว่าซีรีส์ควรต้องเป็นแบบนี้ๆ แต่จริงๆ แล้วไม่มี
ใช่ มันย้อนไปตอบคำถามว่าทำไมเราไม่คิดว่ามันจะเข้าถึงคนได้ เพราะแสงแบบนี้ สกอร์แบบนี้ คาแรกเตอร์แบบนี้ ทุกอย่างมันอยู่ในเรื่องเราหมดเลย แต่พอออกไป คนโอเคกับมัน อาจยังไม่แมสมากในตอนนี้ แต่เหมือนที่ทุกคนคิดว่าคนไทยชอบดูละครผัวเมียตบตีกัน ตอนแรกเราก็คิดอย่างนั้นว่าทัศนคติในการดูละครของคนไทยยังแคบมาก แต่หลังจากปล่อย EP.1 ไป มันมีกลุ่มคนดูที่เฝ้ารอดูสิ่งนี้อยู่ เราเห็นความเป็นไปได้ของฐานคนดูที่เปิดรับมากขึ้นและความเป็นไปได้ในการทำงานที่หลากหลายขึ้นด้วย ต่อจากนี้ข้ออ้างที่ว่าคนดูเขาชอบแบบนี้จะใช้ไม่ได้อีกแล้ว

ย้อนกลับไปที่บอกว่าเข้าวงการนี้มาเพราะอยากเป็นตากล้อง แต่พัฒน์ก็ไม่ได้เรียนด้านภาพยนตร์มาโดยตรง จุดเริ่มที่ทำให้สนใจเรื่องภาพยนตร์มาตอนไหน
เราเป็นคนที่ตั้งแต่มัธยมไม่เคยมีความฝันอยากเป็นอะไรเลย คำว่าความฝันไม่เคยทัชเราและเราก็ไม่รู้สึกว่าขาดด้วยนะ แต่โมเมนต์ที่ทำให้เราชอบหนังคือตอนเรียนอยู่ปี 1 มีเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นของ Japan Foundation ฉายที่สยามพารากอน เราเข้าไปดูเรื่อง The Mourning Forest ของนาโอมิ คาวาเสะ พอเปิดมาฉากแรกแทนที่ซับไตเติ้ลจะขึ้นภาษาอังกฤษมันดันขึ้นเป็นภาษาสเปน ทำให้ตลอดทั้งเรื่องเราดูไม่เข้าใจเลย แต่ก็นั่งดูจนจบ ไม่รู้ไดอะล็อกเลยนะ แต่ดูจบแล้วเราร้องไห้ มันเกิดความรู้สึกบางอย่างที่ทำงานกับเราข้างในที่ไม่เคยเจอมาก่อนและสิ่งนี้มหัศจรรย์มากๆ สำหรับเรา หนังมันมีพลังขนาดนั้นเลยเหรอ เป็นโมเมนต์นั้นเลยที่เราอยากทำหนังที่มีพลังส่งไปถึงคนดูได้บ้าง เป็นจุดแรกที่เรามีความฝัน มีเป้าหมายขึ้นมา แล้วอยู่ดีๆ ชีวิตก็เปลี่ยนบีตส์ไปเฉยเลย เฮ้ย! เรามีความฝันว่ะ แม่งเจ๋งวะ

เราเรียนที่นิเทศจุฬาฯ ที่ทุกคนในคณะแม่งเก่งชิบหาย เพื่อนบางคนทำหนังได้รางวัล เขียนบทเป็นกันแล้ว แต่เราเริ่มจากศูนย์ ซึ่งพอเห็นคนที่มีความฝันเหมือนกันแล้วเขาเก่งกว่า เราก็อยากเก่งอย่างเขา ถีบตัวเองขึ้นไป ซึ่งถ้าเราจะเก่งเท่าเขา เราต้องทำมากกว่าเขา เราเลยต้องเรียนรู้ตลอดเวลา มีอะไรก็ออกไปทำ ออกไปลองถ่าย ตั้งใจทำๆๆๆ จุดที่เราดูหนังเรื่องนี้มั้งที่ทำให้รู้สึกว่าโลกมันกว้าง และเราอยากกระโจนตัวเองไปอยู่ในโลกที่กว้างแบบนั้นบ้าง

การเรียนรู้จากการทำงานโดยที่อาจไม่ได้รู้ทฤษฎีเท่าเพื่อนที่เรียนภาพยนตร์มาโดยตรง สร้างคาแรกเตอร์ให้เราแตกต่างจากคนอื่นยังไง
เราไม่เคยเรียนฟิล์มเลยไม่แน่ใจว่าถ้าเรียนมาโดยตรงวิธีคิดเราจะเป็นยังไงเหมือนกัน แต่ที่พอจะตอบได้ก็คือเราไม่กดดันมั้งว่าหนังที่ดีควรจะเป็นยังไง เราไม่กดดันกับคำว่าภาพยนตร์ เรารู้สึกว่าภาพยนตร์จะเป็นอะไรก็ได้ ลองไปเลย ไม่ได้กดดันกับการอุ้มชูคำว่าภาพยนตร์

มีผลต่อซับเจกต์ที่สนใจด้วยหรือเปล่า ทั้งเด็กติดเกมและคนเป็นโรคซึมเศร้า ทำไมถึงเลือกทำแต่ซับเจกต์ที่เฉพาะเจาะจง ไม่ได้แมส
จริงๆ ไม่รู้ตัวนะ เราเพิ่งไปหา อ.ชาญวิทย์ (รศ. นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล) ที่เคยให้คำปรึกษาเราตอนทำ Let Me Grow และก็ให้คำปรึกษาเรื่องนี้ด้วย อาจารย์ดูแล้วก็บอกขำๆ ว่าทำไมพัฒน์ชอบทำอะไรสุ่มเสี่ยงแบบนี้ มันคือคำว่า Dilemma หรือสิ่งที่ไม่มีถูกมีผิดและเกิดการถกเถียงต่อไปได้ไม่รู้จบ น่าจะเป็นเพราะเรารู้สึกว่าการถกเถียงกันมันสนุกดีมั้ง ไม่มีอะไรขาวดำ เรารู้สึกว่าความยึดมั่นที่เชื่อถือกันอยู่ มันไม่จริงอ่ะ มันสนุกดีที่เราได้ลองสะกิดไหล่คนที่เขาเชิดชูบางอย่างแล้วถามว่าใช่เหรอ แน่ใจนะว่ามันดีจริงๆ คนที่ถูกสะกิดไหล่ก็คงคิดว่าหรือมันอาจไม่ได้ดีขนาดนั้นวะ เราเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ

เพิ่งรู้ตัวว่าเราเป็นแบบนี้ตอนเขียนเรื่องนี้เหมือนกันนะ ทุกครั้งที่เขียนบท พี่ปิงจะถามเราตลอดว่าเห็นภาพอะไร อย่างบอส (นฤเบศ กูโน) จะเห็นภาพชัดเจนว่าอยากให้พี่ยิมทำอย่างนี้ๆ เราไม่มีภาพแบบนั้นเลย เราไม่ใช่คนที่มีพล็อตผุดในหัวว่าอยากทำสิ่งนี้ อยากเล่าเรื่องนี้ตลอดเวลา มันคงเกิดจากระบบวิธีคิดเราเป็นคนแบบนี้มั้ง เราสนุกกับการเห็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แล้วไปสะท้อนให้เห็นมันครบๆ ทุกด้าน แกะมันออกมาว่ามีอะไรบ้าง มาประกอบ มาบิดใหม่ นี่คือสิ่งที่เราถนัดมากกว่าและเป็นธรรมชาติของเรา

แปลว่าในอนาคตก็น่าจะยังสนใจซับเจกต์เหล่านี้อยู่
เราไม่แน่ใจว่าอะไรคือแก่นความสนใจของเรานะ (นิ่งคิดนาน) ใช้เซนส์อย่างเดียวเลยว่ะ อะไรที่สนุกก็ทำ แค่นั้นเลย เพราะแค่ในสายงานผู้กำกับ เราก็ไม่แน่ใจว่าเราจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน เราเลยอยากหาสิ่งที่เราแฮปปี้ที่จะทำมันเพื่อให้เราอยู่ต่อไปได้ คงจะเกาะอะไรที่เข้ามาในชีวิตไปเรื่อยๆ เราไม่ได้อยากเป็นผู้กำกับตั้งแต่เด็กๆ เหมือนคนอื่น ตอนนี้เราแค่รู้สึกว่าสนุกดีและเรามีศักยภาพที่จะทำได้อย่างไม่ขี้เหร่ คนอื่นรู้สึกโอเคกับสิ่งที่เราทำออกไปก็เลยทำมัน ตอน Let Me Grow เรามีความสุขมากเพราะสิ่งที่เราทำมันเกิดประโยชน์ มีคนที่ชีวิตเขาดีขึ้นจากมัน จุดที่เรารู้สึกว่าตัวเรามีประโยชน์คงเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้เราทำสิ่งนี้อยู่มั้ง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!