นฤเบศ กูโน : กระโดดหวดความท้าทายในสนามการกำกับซีรี่ส์ครั้งแรก ‘Side by Side’

หนึ่งล้านวิวภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังปล่อยเทรเลอร์ซีรีส์ ‘Side by Side พี่น้องลูกขนไก่’ ซีรีส์กีฬาลำดับที่ 2 ของ Project S The Series โดยนาดาวบางกอก น่าจะพอยืนยันได้ถึงกระแสที่ค่ายนี้ไม่เคยทำให้ผิดหวัง เพราะเวลาแค่ 3 นาทีสั้นๆ ก็ทำให้ใครหลายคนน้ำตาซึม และเฝ้ารอบทบาทการแสดงครั้งใหม่ของ ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร และสกาย-วงศ์รวี นทีธร แล้ว

แต่นอกจากความน่ารักของสกายในบท ‘โด่ง’ และบทบาท ‘ยิม’ ที่ต่อต้องฉีกหน้าตาเท่ระเบิดมารับบทเด็กออทิสติกเป็นครั้งแรก Side by Side ยังถือเป็นผลงานการกำกับซีรีส์เต็มตัวครั้งแรกของผู้กำกับอายุน้อยที่สุดของนาดาวบางกอก บอส-นฤเบศ กูโน

เหตุผลที่เราสนใจบอสไม่ใช่เรื่องอายุ แต่คือความสามารถและโอกาสที่บอสได้รับตั้งแต่การเป็นทีมเขียนบทและผู้กำกับร่วม (Co-Director) ของซีรีส์สุดเข้มข้น Hormones Season 3 ไล่มาถึง อยู่ที่เรา และ I HATE YOU I LOVE YOU ซึ่งทุกเรื่องก็ค่อยๆ ฉายทางให้หนุ่มวัย 25 คนนี้เห็นเป้าหมายของตัวเองชัดเจนมากขึ้น

ในวันที่ผลการลงแข่งเป็นผู้กำกับตัวจริงครั้งแรกของบอสปรากฏสู่สายตาคนดู น่าจะเหมาะสมดีที่เราอยากชวนทุกคนเริ่มจดจำเขาในฐานะผู้กำกับซีรีส์ที่น่าจับตามองทุกสนามแข่งต่อจากนี้

บอสชอบดูหนังและละครตั้งแต่เมื่อไหร่
“สมัยเด็กๆ ที่บ้านเป็นร้านเช่าวิดีโอ ตื่นมาก็มีหนังให้ดูแล้วทั้งหนังจีนกำลังภายใน หนังฮ่องกง เราเลยซึมซับการเสพเนื้อหาหลายๆ แบบ ทุกวันจะมีคอนเทนต์ใหม่ๆ แปลกๆ มาให้ดูเสมอ พอยุคที่วิดีโอเริ่มหายไปก็นั่งดูละครกับแม่ ละครอยู่ในชีวิตมาตลอด พอขึ้นม.ปลายก็เริ่มดูหนังรักมากขึ้น เราชอบหนังแนวความรู้สึก โตขึ้นมาก็ชัดเจนมากว่าชอบหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคน”

เป็นคนดูอยู่ดีๆความรู้สึกอยากลองทำหนัง อยากเรียนละครมันเริ่มจากตรงไหน
“ตอนประถมเราจะชอบดูพวก ไซอิ๋ว สังข์ทอง และจะมีเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ชอบเหมือนกัน พอดีวิชาภาษาไทยมีให้นำเสนอหน้าห้อง เลยคุยกันว่าเล่นละครกันไหม เพราะมีเพื่อนที่ชอบเล่นตลก ส่วนเราก็ชอบคิดเรื่อง ปรากฎว่าทุกคนดูแล้วชอบและตลก ตอนนั้นเลยเป็นภาพประทับใจและจุดประกายว่าหรือเราก็ทำสิ่งนี้ได้วะ มาชัดเอาตอนเลือกแผนการเรียน ม.ปลาย เพราะ ม.ต้น เราเป็นเด็กโครงการพิเศษด้านวาดภาพที่ทุกคนบอกว่าต้องเข้าคณะเกี่ยวกับการวาดภาพมาตลอด แต่สุดท้ายก็ยอมทิ้งการวาดภาพ เพราะตอนนั้นเราอยากลองทำละคร อยากเป็นผู้กำกับมากกว่า และเราเรียนหนังสือไม่เก่ง งั้นเราทำสิ่งนี้ให้เก่งแทนก็ได้วะ อาศัยการดูหนัง ดูละครสะสมมาเรื่อยๆ”

ตอนเรียนอยู่นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ทำไมเลือกเรียนสาขาสื่อสารการแสดงที่เรียนเกี่ยวกับละครเวที
“ตอนม.ปลาย เรายังไม่รู้จักละครเวทีด้วยซ้ำ คิดแค่ว่าถ้าได้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์หรือละครก็คงจะดีนะ แต่กลายเป็นว่าเข้ามหาวิทยาลัยกลับได้ทำละครเวทีอย่างเดียวเลย ความจริงเราเข้าไปเรียนสาขาภาพยนตร์ก่อน แต่เรียนได้สัปดาห์เดียวแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ เลยมานั่งทบทวนว่าเราอยากเป็นผู้กำกับ ถ้าเรียนอย่างอื่นมันสามารถไปถึงเป้าหมายนี้ได้ไหม เลยคิดว่าหรือลองไปเรียนการแสดงดูเพราะมันก็สำคัญเหมือนกัน และตอนนั้นตัวเราถนัดเรื่องการแสดงมากกว่า แต่ก็ลังเลกับตัวเองด้วยว่าเรายังไม่รู้เรื่องการถ่ายทำ เรื่องกล้องเลยนะ จะสู้เรียนไปดีไหม สุดท้ายก็ตีกลับตัวเองว่ามันไม่มีความสุข เราไม่ได้อยากรู้ในตอนนั้น งั้นเอาความสุข ณ ตอนนั้นก่อนดีกว่า

“สุดท้ายสิ่งที่เรียนเลยเน้นละครเวทีและการกำกับคนมาตลอดโดยที่เราไม่รู้เทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์อะไรเลย แต่เราฝึกการเขียนบทมาตั้งแต่ปี 1 ปี 2 ตอนแรกไม่เคยนึกถึงอาชีพนี้ เรานึกว่าผู้กำกับแค่เลือกบทจากนิยายที่มีอยู่ แต่พอเข้าคณะแล้วถึงรู้ว่ามันมีละครที่มีพล็อตแบบนี้ด้วย เลยลองทำละครเวทีตลกๆ บ้าๆ บ๊องๆ ไป พอเข้าภาคก็ยิ่งค้นพบว่าเราชอบเขียนบทมาก การเรียนทุกๆ วันเลยมีความสุขมาก”

เขียนบทกับกำกับละครเวทีอยู่ดีๆ งานแรกที่ทำหลังเรียนจบก็ข้ามกลับไปเขียนบทซีรีส์ Hormones ตอนนั้นปรับจูนตัวเองยังไง
“มาครั้งแรกแล้วไม่รู้เรื่องเลยว่าพี่เขาพูดอะไรกัน แต่พี่ปิง (เกรียงไกร วชิรธรรมพร) บอกว่าเขียนบทซีรีส์ก็เริ่มจากตัวละครนี่แหละ ไม่ได้ต่างอะไรกัน ถ้าหัวใจเริ่มจากนั้น เราก็พอมีพื้นฐานเรื่องคนกับตัวละครเลยถูๆ ไถๆ ไปด้วยได้ มันเป็นการเรียนรู้ในห้องเขียนบทร่วมกับคนอื่นๆ เลย ซึ่งตอนเขียนก็ยังไม่ได้รู้เทคนิคถ่ายทำอะไรเลยนะ เราใช้เซนส์ของเรามั่วๆ ว่าถ้าตัวละครคิดแบบนี้คงเกิดเป็นซีนแบบนี้ ลองเอาบทของซีซั่นหนึ่งกับสองมาดูว่าตัดฉากยังไง ครูพักลักจำเยอะมาก เพราะบางทีการนั่งทำงานก็ไม่มีใครมานั่งอธิบายให้เราฟังตลอดเวลา ตอนนั้นต้องขวนขวายเยอะมาก

“เขียนบทเสร็จได้พักไม่ถึงเดือน พี่ปิงก็ชวนให้มาเป็นผู้กำกับร่วมด้วย เราก็ตื่นเต้นแต่ตอนนั้นรู้สึกว่ายังเด็กอยู่ ไปทำอะไรก็คงได้เรียนรู้ ก็เลยลองทำ ซึ่งตอนนั้นมีพี่เสือ (พิชย จรัสบุญประชา) กำกับร่วมอีกคน พี่เสือเก่งเรื่องเทคนิคก็จะช่วยดูกล้อง ส่วนบอสช่วยดูเรื่องแอ็กติ้งนักแสดง ช่วงนั้นทุกๆ วันของการออกกองกลัวมากว่าจะต้องเจออะไร และเราจะแก้ปัญหานั้นยังไง แต่ก็ต้องทำตัวมั่นหน้าไว้ก่อนว่าทำได้แหละ มั่นใจๆ”

ดึงให้ตัวเองรู้สึกมั่นใจได้ยังไง
“เวลาบอสเครียดหรือกลัว จะกลับไปทำการบ้านหรืออ่านบททวนหนักมาก ซึ่งบางทีก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่มันช่วยให้เราเห็นว่าบทมีพลัง เราจำทุกบรรทัด ทุกรายละเอียดที่เขียนไว้ได้หมด ตรงไหนสำคัญ ถ้าเราดูมอนิเตอร์ก็ต้องดูว่านักแสดงเล่นสิ่งนี้ไหม และเราจะจำไว้ว่าถ้าไม่เห็นสิ่งนี้จากนักแสดงคือไม่ผ่าน พอเราละเอียดกับบทมากขึ้นก่อนไปออกกอง ทำให้เวลาออกกองที่เราอาจคิดอะไรไม่ออกตอนนั้น เราจะกลับไปนึกว่าตอนทำการบ้านเราอยากเห็นอะไร ก็มั่นใจมากขึ้น ช่วงแรกเรายังเกร็งๆ กับนักแสดงเหมือนกันเพราะเขามีประสบการณ์มาแล้วและเราไม่รู้จักใครเลย ตอนไม่ได้ออกกองเลยพยายามสนิทกับนักแสดงมากขึ้น พยายามเป็นเพื่อนเพราะอายุก็ไม่ได้ห่างกันมาก”

การเป็นผู้กำกับที่อายุใกล้เคียงกับนักแสดงถือเป็นข้อดีมั้ย
“ถ้ามองแค่มุมบอสเอง เราก็สนุกกับการทำงานด้วยนะ เหมือนไปกองถ่ายก็ไปเจอเพื่อน และถ้ายิ่งสนิท ทุกอย่างก็เปิดง่าย เวลาเขาแสดงอะไรไม่ได้ เขาก็พร้อมจะแชร์กับเรา และเวลาที่เรามีปัญหาอะไรเราก็พร้อมจะแชร์กับเขา”

จบ Hormones แล้วยังได้ไปทำงานกับพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) อีกสองเรื่อง ได้อะไรกลับมาพัฒนาตัวเองบ้าง
“เวลาทำงานกับพี่ย้งเขาจะปล่อยให้เราทำไปเลย ถ้าอันไหนไม่โอเค เขาก็ด่า ทุกอย่างรวดเร็วเข้าใจง่าย (หัวเราะ) ตอนทำ อยู่ที่เรา เราได้ใช้ประสบการณ์จาก Hormones เหมือนกันว่าอะไรก็ตามที่เราเคยกลัวตอนออกกองมันน้อยลง เพราะเรารู้แล้วว่าจะเจออะไรบ้าง ปัญหามีอยู่ประมาณนี้แหละ สิ่งนี้แก้ได้ สิ่งนี้แก้ไม่ได้ มันคิดล่วงหน้าได้ ตอนทำ Hormones เหมือนเราเป็นเด็กเฟรชชี่ อยู่ที่เรา ก็เป็นพี่ปี 2 ที่ยังไม่เก่งอะไรแต่ไปหาประสบการณ์เอา พอมาเรื่อง I HATE YOU I LOVE YOU เหมือนเราเป็นพี่ปี 4 ที่สนุกกับการทำงานมาก เราเจอปัญหามาหลายแบบและพร้อมจะแก้มันแล้ว เรารู้โครงสร้างบทแล้วว่าทำยังไงคนดูถึงจะชอบ กำกับนักแสดงยังไงถึงจะพอดี”

ความตื่นเต้นก็น้อยลงแถมยังรับมือกับการทำงานได้แล้ว บอสยังสนุกกับการไปออกกองยังไง
“บอสเป็นคนที่ตัวเองต้องรู้สิ่งๆ นั้นประมาณหนึ่งแล้วถึงจะทำได้ดี ไม่ชอบทำสิ่งที่เราไม่ได้รู้จริงๆ แล้วก็ไปทำหรือไปบอกคนอื่น เรามีประสบการณ์มาแล้ว เราจะรู้ว่ามีบางอย่างที่ใช่และบางอย่างที่ไม่ใช่ เราพอจะกล้าเสี่ยงกับมันมากขึ้น ทุกอย่างเลยสนุกไปหมดเลย และทีมงานทุกคนก็บ้ากันมาก พี่ย้ง พี่ปิง และพี่วรรณ (วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์) ทุกคนใส่เต็มตั้งแต่เขียนบทแล้ว ทำให้เรากลัวน้อยลงในการไปเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ”

แล้วก็ได้มาเป็นผู้กำกับเต็มตัวเรื่องแรกใน Project S The Series ครั้งนี้
“ก็กลับมากลัวเหมือนเดิม (หัวเราะ) โปรเจกต์นี้เกิดจากพี่ย้งตั้งใจจะปั้นผู้กำกับซีรีส์กลุ่มใหม่ของนาดาวฯ อยู่แล้ว พอเรามีประสบการณ์เป็นทีมเขียนบทกับผู้กำกับร่วม พี่ย้งเลยชวนมาทำ อย่าง Hormones เป็นเนื้อหาที่รุนแรง อื้อฉาว แต่ก็ตีแผ่เรื่องจริงของสังคม เลยคิดว่างั้นลองไม่ทำเรื่องแรงๆ ดีไหม แต่ทำเรื่องที่สร้างสรรค์สังคมและมีพลังต่อคนดูเหมือนกัน เลยเกิดไอเดียว่าอยากทำซีรีส์กีฬา เพราะนึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นอย่าง กัปตันซึบาสะ เรื่องไม่เห็นแรงเลยแต่ทำไมถึงดังและครองใจคนถึงทุกวันนี้”

พอพี่ย้งชวนแล้วรับปากว่าจะทำเลยไหม
“ตอนแรกตื่นเต้นมาก บีบมาก (หัวเราะ) มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำมานานแหละแต่เราก็ไม่คิดว่าจะได้ทำเลย เรายังสนุกกับการเป็นผู้กำกับร่วมอยู่ สนุกกับการที่เราพูดอะไรก็ได้ ไม่มีอะไรผิด เราก็แค่บอกว่าทำนี่สิๆ ไม่ต้องรับผิดชอบ ถ้ามันผิดก็ยังมีคนมาตัดสินใจอีกทีหนึ่ง แต่พอพี่ย้งมาชวน มันเหมือนชีวิตพุ่งข้างหน้า และถ้าเราไม่คว้าไว้ตอนนี้ัก็คงไม่มีโอกาสแล้วนะ ซึ่งเราก็ทำไม่เป็นด้วยนะ ที่มั่นหน้าๆ ก็ใช่ว่าจะรอด แต่เอาวะ ทำก่อน มันเป็นเรื่องของโอกาสด้วยแหละ”

เท่าที่ดูกระแสตอบรับก็ค่อนข้างดีนะ บอสหยิบเรื่องความสัมพันธ์และครอบครัวมาเล่า ส่วนตัวสนใจเรื่องพวกนี้อยู่แล้วรึเปล่า
“ไอเดียเรื่องครอบครัวมันมาจากโจทย์แรกที่ผู้กำกับต้องเลือกว่าจะทำกีฬาอะไร เรานึกถึงเด็กๆ ก็แบบ อ้าว เราไม่เคยเล่นกีฬาเลย เล่นแต่หมากเก็บ (หัวเราะ) ก็นั่งคิดหนักมาก คิดไปคิดมา เด็กๆ เราเคยเล่นแบดมินตันกับแม่กับพี่สาวหน้าบ้านนะ เลยคิดง่ายๆ
ว่าเรื่องราวมันน่าจะเกิดที่บ้าน และช่วงนั้น เราชอบดูซีรีส์ครอบครัวพอดี อินเรื่องความสัมพันธ์แม่ลูก พี่น้อง ทุกอย่างเลยดูลงตัวว่าเราน่าจะทำซีรีส์ครอบครัว

“บอสเป็นคนที่คิดว่าถ้าทำซีรีส์เรื่องหนึ่งก็ต้องมีคนดู ถ้าไม่มีคนดูก็ไม่รู้จะเหนื่อยไปทำไม มันเลยต้องแรง สนุกหรือมีอะไรใหม่มากๆ ไอเดียแรกคือหาบทอะไรก็ได้ให้ต่อและสกายเล่นแล้วพีก เราเห็นต่อเล่นเป็นพระเอกหล่อๆ ทุกเรื่อง เลยคิดว่าถ้าเราอยากจะชอบเขาในลุคที่ต่อไม่ได้หล่อ เราอยากเห็นในบทบาทไหน จนวันหนึ่งนั่งคุยกับต่อแล้วพบว่าต่อเป็นคนที่มีมุมน่ารักเยอะมาก หน้าตาแบ๊วๆ เหมือนผู้หญิง เลยคิดไอเดียนึงว่าหรือให้ต่อเล่นเป็นเด็กดีนะ พัฒนามาตั้งแต่เด็กสมาธิสั้น เด็กไบโพลาร์ พยายามหาอะไรก็ได้ที่ใช้การแสดงของต่อได้จนมาจบที่เด็กออทิสติก ซึ่งเรารีเสิร์ชว่ามีเด็กออทิสติกแบบ High-function ที่เขาจะวิ่งซน พูดไม่หยุดและแสดงออกเหมือนเด็กเลย เอาวะ ถ้าต่อเล่นบทนี้ได้น่าจะพีกมาก แต่เราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มที่คนจะอินกับออทิสติก เลยกลับไปคิดคาแรกเตอร์ของสกายว่าควรเป็นคาแรกเตอร์ที่ทุกครอบครัวต้องอิน เลยตั้งให้เป็นเด็กขี้อิจฉาที่ถูกลำเอียงจากที่บ้านดีไหม เราเชื่อว่าพี่น้องทุกบ้านน่าจะมีโมเมนต์นี้เล็กๆ แหละ และพอสกายเล่นน่าจะใหม่ดี ลองให้ดูโผงผาง รุนแรงขึ้นมาหน่อย พอจับเด็กขี้อิจฉากับเด็กออทิสติกเข้าด้วยกันมันเลยมีเคมีและเกิดคอนฟลิกซ์พอดี”

เตรียมตัวยังไงบ้างในการข้ามจากผู้กำกับร่วมมาเป็นผู้กำกับเต็มตัว
“ก่อนหน้านี้เรารู้แต่เรื่องการแสดง คิดช็อตยังไงวะ คิดไม่เป็น ช่วงเขียนบทเราใส่เต็มมากทั้งซีนดราม่า ซีนกีฬา แต่พอบทเสร็จแล้วก็มานั่งคิดว่าเราจะทำออกมาเป็นภาพได้ยังไง ซีรีส์มีซีนเยอะมาก 200 กว่าซีน เลยต้องอาศัยดูซีรีส์เยอะๆ ว่าคิดช็อตยังไง ตัดซีนยังไง
อันไหนไม่รู้จริงๆ ก็ถามพี่ย้งหรือพี่ปิง ยิ่งซีนกีฬายากมาก ต้องดูจากโฆษณาแบดมินตันว่าซีนไหนเป็นลูกหยอด ซีนไหนเป็นลูกตบ บอกตัวเองว่าต้องดูทุกคืนนะเพราะเราไม่ได้เก่ง แต่ดูแค่ไหนก็ไม่เท่าเราลงไปทำจริงๆ

“วันแรกที่ไปบล็อกช็อตก็แบลงค์เหมือนกัน เพราะเราไม่มีใครให้ปรึกษาแล้ว ต้องคิดเองและตัดสินใจเอง ทุกคนมาถามว่าอันนี้บอสจะเอายังไง จะเล่ายังไง เครียดมาก เราคิดไม่ทันจริงๆ วันนั้นกลับบ้านไปร้องไห้เลย เพราะเราทำมันไม่ได้ แต่มันก็ทำให้เรายิ่งต้องทำการบ้านหนักขึ้นกว่าเดิมอีก พยายามทำชู้ตติ้งว่ากล้องตั้งตรงไหน มีช็อตอะไรบ้าง ลิสต์ออกมาให้ละเอียดที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพื่อที่วันถ่ายเราจะไม่มีคำถามกับมันอีกแล้ว บางทีก็ไม่เป๊ะหรอกเพราะซีนมันเยอะมาก แต่พอถ่ายไป 3 – 4 คิว เราจะเริ่มจับได้ว่าซีนดราม่าต้องมีช็อตประมาณไหน ซีนกีฬาต้องถ่ายรับสองฝั่งนะ”

คุมกองถ่ายยังไงในฐานะที่เราก็เพิ่งเป็นผู้กำกับเรื่องแรกและต้องทำงานกับทีมงานที่อาจโตกว่าหรือมีประสบการณ์มากกว่า
“ยากเหมือนกัน ตอนเราเป็นผู้กำกับร่วมคือเราไปเรียนรู้ ไม่ว่าจะเสนอไอเดียอะไร เขาจะหยิบหรือไม่หยิบก็ไม่เป็นไร แต่พอเราเป็นผู้กำกับ ทุกอย่างเราต้องคิดและเลือกมาหมดแล้ว ซึ่งการเลือกนี่ยากที่สุดเลยสำหรับบอสเพราะเราก็ยังลังเลว่าสิ่งที่เลือกจะถูกไหม
บวกกับเราเป็นเด็กและทีมงานทุกคนก็มีประสบการณ์เยอะมาก ช่วงแรกก็เครียดเหมือนกันว่าเราจะทำงานกับทุกคนได้ไหม แต่บอสเชื่อกับตัวเองมาตลอดว่าจะทำอะไร ตัวเองต้องมั่นใจ ต้องเชื่อว่าเราจะทำอะไรและเชื่อในสิ่งที่จะทำด้วย อย่าไขว้เขว ถ้าซีนนี้เราจะเล่าอย่างนี้ก็ต้องยึดมั่นไว้ นักแสดงต้องเล่นแบบไหนก็ต้องเป็นแบบที่เราคิด บางทีก็มีหลายคนแนะนำว่าช็อตแบบนี้ ลองถ่ายแบบนี้ไหมๆ เรารับฟังและเอามาปรับแก้ตลอดนะ แต่ก็มีจุดยืนของเราว่าอยากได้แบบนี้ด้วย ทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองไม่เขว ความรู้สึกเลยเบาลงว่าจากที่เราจะไปสั่งเขา กลายเป็นว่าเราไปพูดสิ่งที่เราเชื่อแทน”

วางเป้าหมายของการทำซีรีส์เรื่องนี้ไปถึงจุดไหน
“เราอยากให้มีคนรับรู้และเห็นคอนเทนต์ของเราหลายๆ กลุ่มมากขึ้น ปกติเราทำคอนเทนต์ถึงแค่กลุ่มวัยรุ่น เรื่องนี้ก็อยากให้ไปถึงกลุ่มพ่อแม่ คนทำงาน เด็ก ขยับขยายไปไกลเท่าที่มันจะไปได้ และเนื้อหาหลักของเรื่องนี้เกี่ยวกับครอบครัวและพี่น้อง ถ้าคนดูอินในประเด็นนี้ บอสก็ถือว่าพอใจแล้ว

“ยิ่งเรื่องนี้พอบอสได้ไปคลุกคลีกับเด็กออทิสติกที่มูลนิธิออทิสติกไทยบ่อยๆ ก็เห็นว่ามีเด็กหลายแบบมาก ทั้งที่พ่อแม่มาฝากไว้ช่วงกลางวันแล้วเย็นมารับกลับบ้าน หรือมาฝากไว้ที่นี่เลย ซึ่งบางทีเรารู้สึกสงสารเขาโดยที่เขาก็ไม่รู้ตัวนะ เขาอาจมีความสุขในโลกของเขาก็ได้ การที่เด็กๆ มาอยู่รวมกันก็มีทั้งแบบที่นิ่งมากๆ หรือเด็กที่อัจฉริยะมากๆ พอไปเห็นก็ได้รู้ว่าเด็กพวกนี้เขาใสซื่อมาก เราเลยยิ่งมีพลัง อยากทำให้เรื่องเด็กออทิสติกเป็นที่รับรู้มากขึ้น ให้เด็กทุกคนมีโอกาสมากขึ้นเพราะเขาก็เป็นคนในสังคมเหมือนเรา ต่อเองก็อยากเล่น อยากสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจ”

จากคนเขียนบท ผู้ช่วยผู้กำกับ บอสกระโดดมาเป็นผู้กำกับเต็มตัวภายในเวลาแค่ 2 ปี เคยคิดไหมว่าโอกาสตรงนี้มาเร็วเกินไป
“พอเราตั้งความฝันไว้ชัดเจนตั้งแต่ม.ปลายว่าอยากเป็นผู้กำกับ การที่เรามาอยู่ตรงจุดที่เป็นความฝันเราจริงๆ แล้ว มันก็เป็นความสุขนะ แต่ในช่วงเวลาที่เราทำเรื่องนี้ ในหัวก็ยังคิดตลอดว่าเรามาเร็วเกินไปหรือเปล่าวะ ด้วยความพร้อมหรือประสบการณ์ที่ยังไม่เยอะ
จริงๆ เราเป็นผู้กำกับร่วมไปก่อน แล้วค่อยๆ เก็บเกี่ยวไปก็ได้นะ แต่ท้ายที่สุดวันนี้ที่เทรเลอร์ปล่อยมาแล้ว ทุกคนได้เห็นหน้าตาของมันและก็ชื่นชอบมัน เลยทำให้เรารู้สึกดีใจจังที่วันนั้นเราตอบรับโอกาสและเราสู้ต่อ ดีใจที่เราน่าจะทำให้คนดูชื่นชอบผลงานเราได้ ไม่ได้คิดว่าตัวเองมาช้าหรือมาเร็วเลย ดีแล้วที่เราได้ทำตอนนี้”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย