ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : เล่าเรื่องสังคมและโลกผ่านการทำ subtitle

ถ้าคุณดูหนังเรื่อง I Am Not Your Negro, City of Ghost, Face Places และ The Florida Project น่าจะเคยเห็นชื่อ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ในเครดิตท้ายเรื่อง

เขาคือคนแปลคำบรรยายไทย (subtitle) ให้หนังทั้ง 4 เรื่องของกลุ่มฉายหนังสารคดี Documentary Club เจ้าของโครงการอย่าง ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ชวนศิโรตม์ข้ามสายมาช่วยทำซับไตเติ้ลให้หนัง เพราะรู้ว่าหนังหลายเรื่องที่นำเข้ามามีประเด็นทางสังคมหนักๆ แฝงอยู่เยอะ ความเชี่ยวชาญของศิโรตม์น่าจะเป็นสะพานเชื่อมคนดูให้สัมผัสความทรงพลังของหนังได้ดียิ่งขึ้น

ศิโรตม์เป็น ‘นัก’ เชี่ยวชาญหลายด้าน เราจะได้เห็นศิโรตม์บ่อยๆ ในงานพิธีกรข่าวช่อง Voice TV เขาศึกษาด้านปรัชญาการเมือง เป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ที่ชอบพูดถึงประเด็นทางสังคมอย่างเข้าถึงและเข้าใจ

เขาไม่ได้มองว่าการทำซับไตเติลให้หนังเป็นงานง่าย ศิโรตม์มักได้แปลหนังที่พูดถึงสังคม เขาจึงใช้ความเชี่ยวชาญนี้พาคนดูให้เข้าใจหนังผ่านการใช้คำที่ถูกต้อง ภาษาของเขาไม่ได้เด่นเรื่องสละสลวย แต่ทำให้เราได้รู้บริบทของเรื่องชัดขึ้น

แม้ถ้อยคำจะไม่ใช่พระเอกหลักในโลกภาพยนตร์ แต่เชื่อเถอะว่าถ้าคุณดูหนังที่ศิโรตม์แปลแล้วรู้สึกสะอึกกับถ้อยคำบางประโยค นั่นแหละคือฝีมือเขา

หนังเรื่องแรกที่คุณแปลให้ Documentary Club คือเรื่องอะไร

I Am Not Your Negro ธิดาให้ผมมาช่วยเพราะมันเป็นงานที่อิงจากงานเขียนของ James Baldwin ซึ่งผมอ่าน เขาเป็นนักเขียนที่มีลักษณะเฉพาะตัวสูง ถ้าไม่เข้าใจภูมิหลังของเขา ในบริบทของการเมืองเรื่องคนดำ วัฒนธรรม หรือการต่อสู้ทางวัฒนธรรมของคนผิวสีกลุ่มต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา มีโอกาสที่คนดูจะงงได้ ในแง่พื้นฐานการเป็นนักเขียน เจมส์มีความเป็น intellectual สูงมาก ผมคิดว่าในเมืองไทยคนจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ สมมติพูดเรื่องคนดำในสหรัฐอเมริกา คนจะนึกถึง Malcolm X หรือ Martin Luther King Jr. โดยภาพรวมเราไม่เข้าใจความซับซ้อนของเรื่องนี้ ในสหรัฐอเมริกามันไปไกลมาก ตอนที่ผมไปเรียนมีคอร์สที่เรียกว่า Black Study เกิดขึ้นแล้ว เป็นการศึกษาเรื่องการเมืองและวัฒนธรรมของคนผิวดำว่าแต่ละกลุ่มเขามี agenda อะไร การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมเป็นอย่างไร ผมเลยบอกว่าเดี๋ยวลองช่วยดูให้ จะทำให้คนดูเห็นภาพเคลียร์มากขึ้น

เวลาดูหนัง บางทีเราจะรู้สึกว่าคนที่แปลไม่เข้าใจบริบทของเรื่องทั้งหมด เขาแปลในฐานะนักแปล คือผมเรียนด้าน cultural studies มา ผมคิดว่าคนทำหนังจำนวนมากไม่ได้ทำในแง่เป็นงานคราฟต์อย่างเดียว แต่พวกเขาเป็นปัญญาชนด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจฐานความคิดของเขาก็จะทำให้การแปลออกมาดีขึ้น เป็นประโยชน์กับคนดูในประเทศไทยมากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่โชว์ภาษาหรือโชว์ทักษะของคนแปลอย่างเดียว ซึ่งบางทีมัน mislead คนดูได้

คุณเคยมีประสบการณ์แปลมาก่อนหน้านี้มั้ย

เคยครับ ผมเคยแปลหนังสือของ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบลเรื่อง Identity and Violence อีกเล่มคือ Nonkilling Global Political Science คนเขียนคือ Glenn D. Paige เป็นหนังสือที่แปลแล้ว 40 – 50 ภาษาทั่วโลก พูดถึงการสร้างการเมืองที่ไม่ฆ่ากัน เขาทำได้ยังไง

I Am Not Your Negro มีพลังในสังคมอเมริกันมากแค่ไหน

ถ้าในฐานะงานเขียนมีไม่มาก เพราะมันเขียนไม่เสร็จ ไม่ถูกตีพิมพ์ออกมา เพราะฉะนั้นตัวงานไม่ได้มีพลังในการดีเบตเรื่องคนดำในสังคมอเมริกันโดยตรง แต่ผมคิดว่ายุคนี้งานถูกรื้อฟื้นขึ้นมา เพราะหนึ่ง ในบริบทของการเมืองสหรัฐฯ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ การเหยียดผิว เหยียดศาสนา การเหยียดคนรักเพศเดียวกัน กลายเป็นประเด็นของสังคม

ข้อสอง ผมคิดว่าบรรยากาศทางการเมืองและภูมิปัญญาในสหรัฐอเมริกาต้องการคนที่เป็นไอคอนของการต่อสู้ทางวัฒนธรรมใหม่ๆ เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นไอคอนของคนยุค 60 – 70 เทียบกับเมืองไทยก็อาจจะเป็นคนอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แต่ถามว่าเขาเชื่อมต่อกับคนปัจจุบันได้มั้ย ก็อาจจะเริ่มไกลตัว มัลคอล์ม เอ็กซ์ ก็ถูกมองว่าเป็นคน radical มากเกินไป เป็นอิสลามและ marxist สุดโต่ง ไม่มีเสน่ห์สำหรับคนปัจจุบัน ผมคิดว่าการไปรื้อฟื้นงานของ เจมส์ บาลด์วิน น่าสนใจ 10 – 20 ปีที่ผ่านมาเราเห็นการเติบโตของปัญญาชนคนผิวดำในสหรัฐอเมริกามากข้ึน คนเหล่านี้มีส่วนในการฟื้นฟูงานของเจมส์ บาลด์วิน ขึ้นมา ในฐานะปัญญาชนคนดำหรือนักเขียนที่มีความสำคัญในการพูดถึงวัฒนธรรมคนดำ มันมีมิติมากกว่าการต่อสู้ทางการเมือง

เท่าที่ดูหนังที่คุณแปลทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเด่นเรื่องการใช้คำ ทราบมาว่าคุณเองก็ละเอียดกับการแปลมาก

ภูมิหลังผมไม่ใช่คนสายหนัง ไม่ใช่คนทำงานแปลเป็นอาชีพ เพราะฉะนั้นวิธีมองจะไม่เหมือนกัน หนึ่งคือผมเชื่อว่าคนทำหนังเป็นปัญญาชน แล้วหนังที่ผมช่วยธิดาทำก็เป็นปัญญาชนมากแทบทุกเรื่อง เวลาทำหนังแบบนี้ มันไม่ใช่แค่แปลภาษาแต่ต้องเข้าใจบริบทของเขา เข้าใจคนที่เขา associate ด้วย เขาเถียงกับอะไร พยายามจะพูดอะไรตรงๆ และพยายามจะพูดอะไรอ้อมๆ

คนรักหนังจะมอง Agnès Varda (ผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศส) ว่าเป็นคนทำหนังอบอุ่น หนังของเธอ Faces Places เป็นเรื่องของคนต่างวัยที่ดูแล้วรู้สึกอบอุ่น แต่จริงๆ วาด้าเป็นคนฝรั่งเศส ซึ่งอาชีพผู้กำกับเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของปัญญาชนในยุค 60 – 80 มาตลอด เพราะฉะนั้นเวลานึกถึงงานของวาด้า ผมจะคิดว่ามันเป็นการเคลื่อนไหวของคนฝรั่งเศสอย่างไร เช่น คนจะพูดว่าวาด้าเป็นหนึ่งในพวก French New Wave กลุ่มเดียวกับ Jean-Luc Godard และ Francois Truffaut แต่จริงๆ ในระดับของความเป็นนิวเวฟ วาด้าคือคนที่ถูกมองว่าเป็นพวกฝ่ายซ้าย ในแง่การเมืองของคนทำหนัง หนังจะให้ความสำคัญกับ subject ซึ่งพูดเรื่องประชาชนมากเป็นพิเศษ เป็นประชาชนที่เป็นคนธรรมดามากๆ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจภูมิหลังของคนแต่ละคนก่อนว่าเขามีความเป็นมาอย่างไร ไม่งั้นจะจับสิ่งที่เขาพูดผ่านงานไม่ได้ทั้งหมด ถ้าคนดูเห็นแค่ว่าวาด้าเป็นคนทำหนังฟีลกู้ดระหว่างคุณยายกับหลานก็ไม่ผิด แต่ถ้าเราเป็นคนทำ ถ่ายทอดออกมา ก็ต้องเข้าใจภาพรวมให้มากกว่านี้ ไม่งั้นมันจะเหมือนตบหน้าคนทำหนัง

ตอนทำ City of Ghosts มันก็เป็นหนังของคนทำข่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานผมอยู่แล้ว ก็จะเข้าใจว่าความตึงเครียดระหว่างการทำข่าวเป็นอย่างไร เช่น คุณต้องไว ในขณะเดียวกันต้องแม่นประเด็นด้วยและต้องสื่อสารกับคนดูให้ได้ เพราะฉะนั้นผมจะรู้ว่าบริบทแบบนี้ บรรยากาศแบบนี้ของคนที่ทำเรื่องนี้เป็นยังไง การใช้คำมันก็จะออกมาค่อนข้างตรงมากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมนี้

ในงานภาพยนตร์ ภาพและเสียงคือพระเอก คุณคิดว่าคำบรรยายมีพลังในภาพยนตร์แค่ไหน เราสามารถใส่ทัศนคติของตัวเองหรือความเข้าใจใน subject นั้นผ่านคำได้จริงหรือ

ได้ครับ ในแง่หนึ่งการแปลคือการครอบงำคนดูหรือคนอ่านอยู่แล้ว เพียงแต่มันเป็นการครอบงำที่แนบเนียนจนคนไม่รู้ตัว เวลาดูงานอะไรที่ต้องผ่านการแปล จริงๆ ทุกคนต้องระวังหมด อย่าเชื่อคนแปล เพราะการแปลคือการ ‘บิด’ ในทุกกรณีอยู่แล้ว มันขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของคนทำว่าจะไม่ให้การ ‘บิด’ เป็นการ ‘บิดเบือน’ ได้อย่างไร การบิดคำจำเป็น เพราะภาษาไทย อังกฤษ หรือฝรั่งเศส แต่ละคำมีความหมายไม่เหมือนกัน ต่อให้เป็นคำที่แปลตรงตัวหมด แต่ sense และ notion ของคำที่แฝงอยู่ก็ไม่เหมือนกัน การบิดเกิดขึ้นแน่นอน แต่ผมคิดว่าการบิดแบบที่ยอมรับได้ คือการไม่ไปไกลเกินกว่าสิ่งที่ text พยายามเสนอ แต่ถ้ามันไปไกลกว่ามันคือการโกหกคนดู

หนังเรื่องไหนคุณใช้เวลาค่อนข้างนานในการแปล

The Florida Project มันเป็นเรื่องของคนชั้นล่าง ก็มีคำด่าเยอะ ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะคำด่าคือการสะท้อนอารมณ์ของคน แล้วการสะท้อนผิดจะทำให้เข้าใจประเด็นผิด เช่น ถ้าใช้ภาษาที่หยาบเกินไปคนก็จะมองว่าคนชั้นล่างเป็นคนหยาบมาก แต่ว่าถ้าใช้ภาษาที่เบาเกิน คนก็จะไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวละครพยายามจะพูด ผมคิดว่าในการใช้ภาษาก็ต้องระวังเพราะว่ามันมีโอกาสผลิตซ้ำ perception บางอย่างให้คนโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน

The Florida Project เป็นเรื่องของแม่กับลูก คนเป็นแม่ตอนหลังขายตัวและขายยาด้วย ถ้าใช้ภาษาผิดแบบก็จะไปตอกย้ำความรู้สึกคนไทยว่า คนชั้นล่างคือไอ้พวกติดยา แม่วัยใส เด็กใจแตก เป็นพวกสวะสังคมซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่ประเด็นของหนัง เวลาแปลต้องเข้าใจภาพรวมก่อนด้วย ผมว่าการเช็กความหมายอย่างรอบคอบมีความจำเป็น ในหนังมีคำบางคำที่ผมเข้าใจไม่เคลียร์ ก็อีเมลไปคุยกับผู้กำกับเลย อันนี้ไม่ได้เล่าให้ธิดาฟัง แต่ผมไม่ได้เป็นคนทำเรื่องนี้ในเมืองไทยนะ เราไม่รู้ว่าจะมีปัญหาอะไรกับอุตสาหกรรมเขาหรือเปล่า ผมก็ทำเป็นคนธรรมดาไป คุยกันปกติ

ผมคิดว่าคนที่ทำงานแปลเป็นอาชีพคงไม่น่าทำกันเพราะมันเป็นภาระที่มากเกินไป แต่ผมไม่ได้ทำงานแปลเป็นอาชีพ เราเรียนปรัชญาการเมืองมา ถูกฝึกมาว่าการแปลต้องเคารพความหมายของต้นฉบับให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นมันคือเลนที่ผมทำงาน ซึ่งคนอื่นคงไม่ทำกัน มันวุ่นวาย

The Florida Project เป็นหนังที่พูดถึงหลายประเด็นในสังคมอเมริกัน คุณเองก็สนใจประเด็นเหล่านี้ คิดอย่างไรกับหนังบ้าง

ถ้าพูดถึงในฐานะคนที่เรียนเรื่อง cultural studies มา เรื่องที่น่าสนใจคือ หนึ่ง มันพูดถึงคนชั้นล่าง สอง มันพูดถึงเรื่องพื้นที่เยอะ

ตัวละครอยู่ในหอพักของคนจน แต่แน่นอนว่าคำว่า ‘คนจน’ ในสหรัฐอเมริกาไม่จนเท่าคนในเมืองไทย สำหรับบ้านเราคนจนคือต้องอยู่ในห้องแถวไม้ เดือนละ 2,000 บาท แต่ในสหรัฐอเมริกาไม่ถึงขั้นนั้น คุณก็อยู่โมเตล มีทั้งแบบเช่ารายวันหรือรายสัปดาห์ หนังพูดถึงคนกลุ่มนี้ที่ไม่มีความมั่นคงทางอาชีพอะไรเลย ไม่มีงาน แล้วหนังในแง่ cultural studies มันเล่นกับพื้นที่เยอะ มีพื้นที่ของคนชั้นล่างอย่างชัดเจนคือในโมเตล พื้นที่ของคนปกติซึ่งก็คือดิสนีย์แลนด์ โรงแรม และรีสอร์ตต่างๆ ซึ่งถูกพูดถึงตลอดเวลาในหนัง

ความขัดแย้งในหนังมักจะเกิดเมื่อตัวละครข้ามพื้นที่ เช่น แม่ข้ามพื้นที่ไปขายเครื่องสำอางในรีสอร์ตคนรวย แม่พาลูกไปมั่วกินบุฟเฟต์อาหารเช้าในโรงแรม แม่หลอกขายตั๋วเข้าดิสนีย์แลนด์ให้คนที่ขายเซ็กซ์ด้วย หนังมันมีมิติ รู้เลยว่าคนทำคิดเยอะ ไม่ใช่แค่เรื่องของแม่ใจแตกที่พยายามเลี้ยงลูกอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกันหนังเล่าเรื่องความขัดแย้งทางสังคมในสหรัฐอเมริกาที่รุนแรงมาก พื้นที่ถูกใช้เพื่อเล่าเรื่องการแบ่งแยกระหว่างคน แล้วในสังคมไหนก็ตามที่มีพื้นที่แบ่งแยกระหว่างคน แปลว่าสังคมนั้นมีปัญหาการแบ่งแยกที่รุนแรงแล้ว

ผมคิดว่านัยของหนังเรื่องนี้แรง ตั้งคำถามว่าสหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ไปไกลกว่ายุคที่ห้ามคนดำเข้าเขตคนขาวมากแค่ไหน ยุคนั้นการข้ามพื้นที่ผิดกฎหมาย ยุคนี้ไม่มีกฎหมาย แต่ในแง่พื้นที่ วิถีชีวิต มันคือสองโลกที่ข้ามไปหากันไม่ได้ ตัวละครเด็กในเรื่องอยากจะออกไปจากความตึงเครียดนี้ ไม่อยากอยู่ในกติกานี้อีกต่อไป มันคือการสะท้อนความรู้สึกอยากจะระเบิดการแบ่งแยกให้มันจบไป ซึ่งมีอยู่เสมอในสหรัฐอเมริกา

ตัวหนังสนุก มีเลเยอร์ให้ดูเยอะ ดูเรื่องการแสดงก็ได้ ดูเรื่องความเป็นแม่ก็ได้ หรือดูอีกเลเยอร์หนึ่งด้านสังคมก็ได้ เช่น เรื่องของคนที่ไม่มีโอกาส แม่ที่พยายามหางานทำ หางานร้านกาแฟก็ไม่มีใครรับ ขายของก็ห้ามขาย จบลงด้วยการขายตัว เรื่องพวกนี้สะท้อนว่าคุณมีปัญหากับสวัสดิการสังคม ถ้าคุณเป็นสังคมที่มีสวัสดิการที่ดี มีระบบดูแลแม่ที่ท้องไม่พร้อมหรือดูแลลูกที่ยังเล็กอยู่ ปัญหาแบบนี้ก็จะไม่เกิด หรือแม้กระทั่งสะท้อนว่าระบบการทำให้คนที่ว่างงานมีงานทำมีปัญหา ในสหรัฐอเมริกาจะมีกฎหมายว่าหากอยากได้ความช่วยเหลือจากรัฐในกรณีเป็นคุณแม่ มีลูก คุณต้องทำงานอย่างต่ำสัปดาห์ละ 30 ชั่วโมง ไม่งั้นรัฐจะไม่ช่วยคุณ ในหนังเรื่องนี้แม่ไม่สามารถหางานทำครบ 30 ชั่วโมงได้ ก็เลยไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ถ้าไม่เข้าใจกฎหมายนี้ก็จะไม่เข้าใจประเด็นนี้ในหนังไปเลย ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้ทำให้หนังน่าสนใจ

ทำงานมา 4 เรื่อง คุณคิดยังไงกับคนทำอาชีพแปลคำบรรยายหนังบ้าง

งานแปลสำคัญ แต่คนไม่ค่อยคิดว่าสำคัญ คิดว่างานแปลเป็นเรื่องทักษะเฉยๆ ซึ่งไม่ใช่

งานแปลคือการสร้างความเข้าใจของเราต่อเรื่องต่างๆ ที่เราเข้าถึงด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันเป็นงานที่สำคัญและเป็นงานที่ควรถูกทำออกมาอย่างประณีตมากๆ

10 ปีก่อนคำว่าหนังสารคดีเป็นเหมือนยาขมของวงการหนังไทย ทำไมตอนนี้คนรุ่นใหม่ถึงหันมาดูสารคดีเนื้อหาหนักๆ ได้มากขึ้น

ผมไม่อยากใช้คำว่าคนฉลาดขึ้นเพราะมันดูเหมือนว่าคนเมื่อก่อนโง่ แต่ผมคิดว่าคนมี awareness กับโลกรอบตัว เมื่อก่อน awareness จะเป็นเรื่องการเมือง แต่ผมคิดว่า 10 – 20 ปีมานี้คนไทยรับรู้เรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม คนรักเพศเดียวกัน ศาสนา ซึ่งเป็นประเด็นสาธารณะมากขึ้น แต่เดิมเราเป็นสังคมที่ไม่เปิดกว้าง พอไม่เปิดกว้างเราก็ไม่สามารถเห็นว่า awareness ของคนมีเรื่องอะไรได้อีกตั้งเยอะ พอมีโซเชียลมีเดียยิ่งทำให้คนที่มี awareness สามารถเชื่อมต่อกันได้

ตอนที่ผมเรียนจบปริญญาตรี การแสดงออกว่ารักเพศเดียวกันเป็นเรื่องอันตราย ตอนนั้นมีกลุ่มที่ชื่อว่า ‘อัญจารี’ เป็นกลุ่มของคนเพศทางเลือก เขาทำเหมือนจดหมายข่าวส่ง แต่ไม่สามารถให้คนอื่นรู้ได้ว่ามีสิ่งนี้อยู่บนโลก ยุคนั้นมีบาร์สำหรับหญิงรักหญิงก็ต้องหลบซ่อนเพราะจะถูกมองว่าผิดศีลธรรม ตอนนี้เรามีโซเชียลมีเดีย ทำให้เราได้รู้ว่าไม่ได้เป็นปัจเจกชนอยู่คนเดียว มีคนที่คิดเหมือนเราอีกเยอะ มันมี awareness และ connectivity ขึ้นมาผ่านทางโซเชียลมีเดีย

สิ่งที่ธิดาทำก็สำคัญ มันเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าหนังสารคดีมีมูลค่าทางการตลาด Documentary Club ไม่ใช่คนทำหนังการกุศล เขาทำธุรกิจ จะเรียกว่าเป็น SME หรือธุรกิจศิลปวัฒนธรรมก็แล้วแต่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นธุรกิจก็ต้องมีลูกค้า การที่เขาพยายามจนสามารถอยู่ได้ พิสูจน์ว่าสังคมมี awareness และ connectivity แบบนี้มากจนเรื่องพวกนี้ไปถึงผู้บริโภคซึ่งมีมูลค่าทางการตลาดได้จริงๆ

ติดตามภาพยนตร์เรื่องใหม่ๆ ของ Documentary Club ได้ที่ http://documentaryclubthailand.com

หรือที่ Facebook | Documentary Club

ภาพ ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

AUTHOR