คุยกับปากกาของ นำชัย ชีววิวรรธน์ นักเขียนสาย pop science นักแปลหนังสือ Yuval Noah Harari และนักวิทยาศาสตร์จอมเล่าเรื่อง

อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก และ อยากชวนเธอไปอำผี คือหนังสือที่อยู่ในซีรีส์หนังสือ pop science ซึ่งสร้างชื่อให้ นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิทยาศาสตร์ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลายเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนที่หยิบเอาเรื่องยากอย่างวิทยาศาสตร์มาย่อยให้อ่านง่ายและสนุก

นอกจากนี้เขายังเป็นนักแปลหนังสือเล่มดังมากมายของ Yuval Noah Harari ที่หลายคนน่าจะมีติดบ้าน ยกตัวอย่าง เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 และ โฮโมดีอุส: ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้ เป็นต้น

อ่านแค่นี้ก็รู้แล้วว่านำชัยต้องเป็นคนที่งานรัดตัวขนาดไหน แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังเขียนและออกหนังสือเล่มใหม่อย่างสม่ำเสมอ หนึ่งในนั้นคือ เธอ ฉัน สวรรค์ นรก ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในซีรีส์ที่เรากล่าวไปข้างต้น โดยมาพร้อมกับวิทยาศาสตร์ที่อธิบายเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกแบบที่ใครๆ ก็อ่านได้

เพราะอยากรู้ว่าอะไรคือเบื้องหลังในการสื่อสารเรื่องวิทย์ให้ออกมาน่าอ่านและเอนจอยขนาดนี้ เราจึงชวนปากกาของนำชัยมาสนทนาพาทีถึงเจ้าของของเขาที่มักไม่อยู่นิ่ง ต้องเดินทางไปเสวนาที่นั่นที่นี่อยู่ตลอดเวลา

เล่าประวัติของตัวเองให้ฟังหน่อยสิคุณปากกา

เราเป็นปากกา Pentel ด้ามสีดำขอบเงิน เราเจอนักวิทยาศาสตร์นักเขียนแบบทูอินวันคนนี้ครั้งแรกตอนที่เขาไปเป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัยบูรพา แล้วทางเจ้าบ้านฝากฝังเราให้มาอยู่ด้วยกับเขาพร้อมกับสมุดบันทึกและของอื่นๆ นับแต่นั้นมาเขาก็มีเราไว้ใกล้ตัวเสมอ โดยมักจะใช้จดความคิดที่แวบเข้ามาในหัว คำถามหรือคำกล่าวที่น่าสนใจ และพล็อตนิยายที่เขาหวังว่าจะเขียนสักวันในอนาคตอันใกล้ รวมไปถึงเรื่องสัพเพเหระอื่นๆ

อ้อ! แต่เขาไม่ได้ใช้เราเขียนบทความหรอกนะ เขาพิมพ์ได้เร็วทีเดียวแหละ ผลงานทั้งหลายเลยเกิดขึ้นบนโน้ตบุ๊กของเขา

ทำไมนักวิทยาศาสตร์อย่างเขาถึงมาเขียนหนังสือได้

เคยได้ยินเขาคุยกับเพื่อนฝูงว่าตอนแรกก็เป็นเรื่องของการแปลบทความหาเงินใช้ เขาเริ่มแปลงานส่งไปลงนิตยสารสมัยนั้นหาเงินตั้งแต่เรียนปริญญาโท อันที่จริงถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเขาเคยแปลขำขันสั้นๆ แล้วดัดแปลงเป็นบริบทแบบไทยๆ ส่งนิตยสารจำพวกขำขันหาเงินใช้เหมือนกันนะ

แต่จะว่าไปก็เคยได้ยินเขาเล่าว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็น ‘ความเต็มอิ่ม’ จากการอ่านด้วย เขาเชื่อว่าคนที่อ่านมากพอ น่าจะอยากเขียนแสดงความรู้และความคิดอ่านของตัวเอง อันนี้ไม่รู้จริงแค่ไหน แต่เห็นเขามั่นอกมั่นใจว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นแน่

วันก่อนเห็นเขาคุย Live กับใครสักคนว่ามีงานเขียน งานแปล ทั้งแบบคนเดียวและร่วมกับคนอื่นรวมแล้ว 41 เล่ม ก็ไม่น้อยนะสำหรับอายุขนาดนี้

สนิทกันมานาน คุณคิดว่าเขามีการเติบโตด้านการเขียนยังไงบ้าง

ผลงานส่วนใหญ่ของเขาเป็นงานแปลนะ ยิ่งหลังจากหนังสือ ‘เซเปียนส์’ วางขาย ก็มีคนติดต่อมาอยากให้เขาแปลเพิ่มอีก วันก่อนเห็นเขาท่าทางเหนื่อยๆ อยู่เหมือนกัน เพราะช่วงนี้แปลควบทีละ 2 เล่ม แต่ก็ดูยังตื่นเต้นที่จะได้ทำงานแปลดีๆ เยอะๆ นะ ดูเหมือนจะพิมพ์งานกับสำนักพิมพ์ต่างๆ มา 10 แห่งแล้ว เยอะเอาเรื่องทีเดียว

ที่จริงเขาไม่ได้แปลหนังสืออย่างเดียว แต่เขียนคอลัมน์อยู่ด้วยนะ ตั้ง 3 บทความต่อเดือนแน่ะ ลงในนิตยสาร สารคดี เพจ The101.World และเพจ The Potential เป็นบทความด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ดูแล้วก็น่าเป็นห่วงเรื่องสุขภาพเหมือนกัน ว่าอาจจะพักผ่อนไม่พอเอาง่ายๆ

เรื่องที่น่าสนใจคือ ดูเหมือนเขาจะไม่หยุดแค่นี้ ไม่กี่ปีก่อนตอนที่สำนักพิมพ์มติชนยังจัดประกวดเรื่องสั้นอยู่ สองปีสุดท้ายที่จัด เขาส่งเรื่องสั้นแนวไซ-ไฟไปแข่งด้วย ปีก่อนสุดท้ายได้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย แถมปีสุดท้ายก่อนเลิกจัดประกวด เขาได้รางวัลรองชนะเลิศด้วยจากเรื่อง ‘นิพพานจักร’

เห็นว่ามีความสนใจอยากจะลองเขียนไซ-ไฟแบบเรื่องยาวดูบ้าง แต่ก็ไม่เห็นลงมือสักที จดพล็อตอยู่นั่นแหละ จะได้เขียนเมื่อไหร่ก็ไม่รู้

หลายคนรู้จักนำชัยเพราะเป็นคนแปล เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ เราเลยอยากขอให้คุณช่วยเล่าความรู้สึกที่ได้ช่วยแปลหนังสือเล่มนั้นหน่อย

โอ้ย ช่วงนั้นงานเร่งมากเลย เพราะกรอบเวลามันงวดผ่านมามากแล้วกับการหาคนแปลที่เหมาะ เขาใช้เวลาว่างเล็กๆ น้อยๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะระหว่างวันที่มีนิดหน่อย หลังจากจบงานประจำในแต่ละวันและที่ทำได้ยาวๆ ในช่วงวันหยุด ถ้าจำไม่ผิดเขาแทบไม่ได้ไปไหนไกลๆ เลย กว่าจะเสร็จทุกขั้นตอนจนเข้าโรงพิมพ์ก็ใช้เวลาไป 8 เดือนแน่ะ แต่ไม่รู้ว่าคนอ่านใช้เวลามากกว่าหรือน้อยกว่าคนแปลนะ

ระหว่างเขียนและแปล นำชัยชอบทำอะไรมากกว่ากัน

ดูเหมือนเขาจะชอบทั้งสองงานพอๆ กัน เขาว่าเขียนหนังสือก็ได้แสดงตัวตนและความคิดอ่านเต็มที่ ใช้ภาษาและลีลาที่ร่วมสมัยเหมาะกับคนอ่านที่เป็นคนไทย แต่แปลหนังสือก็ได้เรียนรู้เนื้อหาและวิธีการเขียนจากคนอื่น โดยเฉพาะแบบที่เป็นสากลคนทั่วโลกทำกัน

แต่ที่สำคัญเห็นเขาบอกว่า งานแบบไหนก็ดี เพราะได้เงินมาซื้ออาหารแมว

คุณรู้มั้ยว่าทำไมนำชัยถึงชอบวิทยาศาสตร์

ดูเหมือนจะอยู่ในขั้น ‘คลั่งไคล้ใหลหลง’ ก็ว่าได้ ที่บ้านมีหนังสือสะสมที่เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ซะเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น non-fiction สมัยใหม่ ประวัตินักวิทยาศาสตร์ หนังสือคลาสสิกด้านวิทยาศาสตร์ แต่ก็เห็นอ่านพวกวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สืบสวนสอบสวน กำลังภายใน ตลกขำขันเบาสมอง อะไรพวกนี้ด้วย

เขาเชื่อว่าถ้าคนไทยใช้ชีวิตความเป็นอยู่บนหลักเหตุผล สังคมไทยจะดีขึ้นอีกมาก ปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องจะหายไปอีกเยอะ อีกทั้งความรู้ความเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์ก็สำคัญกับการใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ ทำให้เราปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว 

แล้วอะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเขียนหนังสือ ซีรีส์ pop science ขึ้นมา

เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่างานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์นี่สนุกมาก แต่จะหวังให้คนทั่วไปอ่านเปเปอร์หาความสนุก คงยากเกินไป ด้วยความที่ร่ำเรียนมาทางด้านนี้ เขาก็เลยคิดว่าน่าจะทำตัวเป็นสะพานเชื่อมโลกงานวิจัยให้ไปถึงคนทั่วไปได้ แต่สำคัญที่สุดคือ เขาอยากให้คนไทยรู้ว่างานวิจัยน่าสนใจ สนุก และมีประโยชน์กับชีวิตเรา ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

ในหนังสือของเขามีการหยิบเอาวิทยาศาสตร์มาย่อยง่าย แถมจับกับอารมณ์ความรู้สึก สิ่งใกล้ตัว ไปจนถึงความเชื่อ แถมบางเรื่องก็สร้างความแปลกใจให้ผู้อ่านมาก แรงจูงใจการเล่าแบบนี้มาจากไหน

สงสัยว่าสมัยเด็กๆ เขาเองจะได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่าน ถ้าเห็นจำนวนหนังสือเป็นพันๆ เล่มที่บ้านเขา คุณก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก เขาเชื่อว่าการอ่านเป็นวิธีหาความสุขที่ง่ายที่สุดและลงทุนไม่มากเกินไปนัก ก็เลยอยากมีแรงจูงใจที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดกับคนอื่นด้วย

แต่ละปีตัวเขาเองตั้งเป้าต้องอ่านหนังสือให้ได้มากกว่า 50 เล่ม บางเล่มอาจจะบาง บางเล่มอาจจะหนาหรือหนามากก็ได้ แค่ได้อ่านหนังสือที่หลากหลายรวมๆ กันเท่าๆ กับจำนวนสัปดาห์ใน 1 ปี ก็น่าจะทำให้เปิดกะโหลก ได้ความคิด ความเข้าใจใหม่ๆ แล้ว

ในหนังสือเล่มล่าสุด เธอ ฉัน สวรรค์ นรก ก็ว่าด้วยอารมณ์ต่างๆ โดยพูดถึงทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ ทำไมเจ้าของคุณถึงเลือกเขียนประเด็นนี้

ช่วงวัยรุ่นนี่เป็นวัยอ่านหนังสือมากและหลากหลาย วันหนึ่งๆ ก็วุ่นอยู่กับอารมณ์และความคิดต่างๆ ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ถ้าพวกเขารู้และเข้าใจว่าทำไมตัวเองและคนรอบตัวทำเรื่องต่างๆ แบบนั้น และรู้จักดูแลจิตใจตัวเองและคนรอบข้างให้ดี ก็น่าจะสร้างสวรรค์รอบๆ ตัวได้ แต่ถ้าทำไม่เป็นหรือทำตรงกันข้าม นรกก็อยู่แค่เอื้อม แค่คนอ่านสักคนรู้และเข้าใจชีวิตผ่านมุมมองวิทยาศาสตร์มากขึ้น เขาก็ดีใจมากๆ แล้ว

เวลาที่นำชัยเกิดความรู้สึกใดๆ ขึ้นมา คุณคิดว่าเขาได้สำรวจตัวเองถึงสาเหตุเบื้องหลังของมันไหม

เห็นนำชัยเขียนโพสต์ลงเฟซบุ๊กเรื่องความรู้สึก และพยายามสำรวจตรวจสอบความรู้สึกกับความคิดอ่านตัวเองอยู่บ่อยๆ แทบจะเป็นคติของเขาอยู่แล้วว่าคนเราต้องหมั่นตรวจสอบตัวเองบ่อยๆ ว่ากำลังเดินอยู่บนเส้นทางชีวิตที่ถูกต้องอยู่หรือไม่ หันเหออกจากเป้าหมายชีวิตที่ตัวเองอยากได้อยากเป็นหรือเปล่า

เขาอ่านหนังสือธรรมะอยู่เรื่อยๆ ด้วยนะ ดูเหมือนจะสนใจเอาความรู้ทางศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิตด้วย รวมไปถึงหาความเชื่อมโยง ความเหมือน และความแตกต่างกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ อันที่จริงความรู้ที่เป็นสัจธรรมมันคงไม่ได้แยกว่าต้องเรียนวิทย์ หรือเรียนศิลป์ หรือต้องบวช ถึงจะรับรู้ได้หรอกเนอะ  

อย่างในช่วงท้ายๆ ของเล่ม ก็มีการพูดถึงวิทยาศาสตร์และพฤติกรรมของผู้มีอำนาจ รวมถึงปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างโรคระบาด ฝุ่น รัฐบาล เป็นต้น นั่นแปลว่าวิทยาศาสตร์ก็เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยใช่ไหม

โอ้ยคุณ การเมืองมันเกี่ยวกับทุกเรื่องแหละ วิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน จะแยกวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีออกจากชีวิตได้ยังไง ถ้าไม่หลอกตัวเองมากจนเกินไป  

แล้วที่คนบอกกันว่าสังคมไทยไม่สนใจวิทยาศาสตร์นี่มันจริงมาก-น้อยแค่ไหน

เคยเห็นเขาอธิบายไว้ว่าแนวโน้มคนสนใจวิทยาศาสตร์น้อยลงเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะเรื่องมันดูเหมือนจะเข้าใจยาก แถมไม่ใช่อาชีพที่ทำเงินอะไรมากมายนัก แม้ว่าในบางประเทศค่าตัวของนักวิทยาศาสตร์นี่ดีมากๆ เลยนะ แต่ไม่ใช่ในสังคมไทยหรอก เรื่องนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับค่านิยมด้วย คนไทยรู้จักแต่คนที่อยู่ปลายทางของการคิดค้นและใช้ประโยชน์ เป็นคนนำเอาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปใช้งาน ไม่ว่าจะแพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกร ตำรวจพวกนิติเวชหรือนิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

แต่ครูหรือครูแนะแนวส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก ไม่เข้าใจดีนัก และไม่แนะนำอาชีพนักวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนของตัวเองด้วยซ้ำไป เพราะเชื่อว่าจะไม่ทำเงินให้มากนัก รวมถึงไม่ได้รับการเชิดหน้าชูตา คนทั่วไปก็ยังเชื่อหมอดู เรื่องดวง อย่างจริงๆ จังๆ แถมบางทีอ้างว่าเป็นเรื่องสถิติ ซึ่งเหลวไหลทั้งเพ เพราะไม่เคยมีข้อมูลดิบให้เราตรวจสอบดูได้เลย

คุณเคยคุยกับนำชัยไหมว่าหนังสือประเภท pop science นี่สำคัญยังไงกับทั้งแวดวงนักอ่านและวิทยาศาสตร์

บ่อย เขาบอกอยู่ว่าไม่กี่ปีมานี้มีหนังสือ popular science และหนังสือ sci-fi ออกมามากขึ้นระดับน่าพอใจทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะหากคนจำนวนมากเห็นประโยชน์ของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ก็จะสนับสนุนทั้งเรื่องงานวิจัย และให้บุตรหลานเรียนทางด้านนี้ เพราะเห็นว่าดีและมีประโยชน์

จะเห็นว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้น มันกว้างขวางมากกว่าแค่เกิดตลาดหนังสือหมวดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น แต่ถึงกับเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมให้ไปถูกทิศถูกทาง ซึ่งจะกลับมายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศโดยรวมในที่สุด

หลังจากเขียนและแปลหนังสือจนทำให้คนเปลี่ยนความคิดว่าวิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องสนุกได้ นำชัยรู้สึกยังไงบ้าง

เขาเคยคอมเมนต์ตอบคำถามทำนองนี้ไว้ บอกว่าดีใจ และอันที่จริงแล้วผลกระทบโดยรวมจะยิ่งมากขึ้นและเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เรียกว่าเป็น collective impact ดังนั้น ผลกระทบมันไม่ได้เป็นแบบ 1+1=2 แต่เป็นแบบยกกำลังมากกว่า ในระยะยาวอาจจะเห็นผลกระทบที่แม้แต่บัดนี้เราก็ยังจินตนาการไม่ออกว่าจะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้น อย่าได้ดูถูกปรากฏการณ์น้ำหยดลงหินทีเดียว

เป็นไปได้ในอนาคต คุณอยากเห็นเจ้าของคุณเขียนหนังสือแบบไหนออกมาอีก

ความท้าทายต่อไปคือการแต่งนิยายเป็นเล่ม เพราะตลาดหนังสือนิยายนี่ใหญ่และขายทำยอดได้มากกว่า non-fiction อย่างเทียบกันไม่ได้เลย ที่สำคัญคือมันเป็นความท้าทายในชีวิตนักเขียน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า นักเขียนบางคนเขียนได้บางแบบบางแนวแค่นั้น แต่ก็มีนักเขียนระดับอัจฉริยะบางคนที่เขียนได้สารพัด เรื่องสั้น เรื่องยาว เรื่องโรแมนติก ตลก ผี บู๊ เศร้า สืบสวนสอบสวน หรือแนวอื่นๆ

ถ้าทำได้บ้างก็น่าจะดี หรือถึงทำไม่ได้แต่ได้ลองทำ ก็คงสนุกมากๆ แล้ว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย