รัฐเลี้ยงผี – Aswang สารคดีตีแผ่ความชั่วร้ายของรัฐบาลฟิลิปปินส์

   ก่อนได้พิสูจน์คุณภาพหนังผ่านสายตาตัวเองในโรงภาพยนตร์ ผมคุ้นชื่อและติดตามความคืบหน้าของ Aswang อยู่แล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี ทั้งได้ยินจากมิตรสหายแอ็กทิวิสต์ผู้ใกล้ชิดฟิลิปปินส์ว่า กำลังมีผู้กำกับหญิงทำหนังเรื่องสงครามยาเสพติด เมื่อเป็นหนังสารคดีที่คนทำถือกล้องลงพื้นที่ไปเสี่ยง จับประเด็นร้อนปัจจุบันที่โลกกำลังจับตา (และสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของฟิลิปปินส์ในสายตาโลก เรื่องความโหดร้ายป่าเถื่อนในสนามการเมือง) ก็ไม่แปลกที่จะเห็นชื่อ Aswang ในข่าวหนังอิสระหรือสารคดีโลกแทบไม่เว้นแต่ละเดือน เพราะได้รับทั้งความสนใจและเงินทุนสนับสนุนจากทั่วทุกสารทิศ

  อย่างที่เกริ่นไปเมื่อสักครู่ เป้าหมายหลักในหนังสารคดีขนาดยาวเรื่องแรกของ Alyx Ayn Arumpac คือนโยบายสงครามยาเสพติดของประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ที่ทำให้เกิดการล่าสังหารหรือ ‘ฆ่าตัดตอน’ ชาวฟิลิปปินส์โดยเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้วรวมกว่าสองหมื่นคน ในช่วงสองปีแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง (Aswang ถ่ายทำเสร็จในช่วงเวลาดังกล่าว โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 ศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮกแถลงว่า ได้เริ่มการสอบสวนขั้นต้นเกี่ยวกับกรณีสังหารที่พัวพันกับนโยบายสงครามยาเสพติดว่าเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่)

  เช่นเดียวกับสื่อที่ตั้งคำถามกับรัฐบาลฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง (และกลายเป็นศัตรูทางการเมืองของดูเตอร์เต) หนังมองว่า เป้าหมายของนโยบายนี้คือคนยากจนที่อาศัยอยู่ในสลัมหรือชุมชนแออัด คนที่ตายรายวันบนท้องถนนหรือถูกจับยัดคุกคือผู้ใช้ยาเสพติด คนจนที่ไม่มีทางเลือกในชีวิตนอกจากต้องเข้าสู่วงจรค้ายาระดับล่าง หรือใครก็ได้ (ต่อให้ ‘คลีน’) ที่บังเอิญมีชีวิตหรือพื้นเพทางสังคมอยู่ในอาณาเขตที่รัฐบาลต้องการกวาดล้าง เป้าหมายปลายกระบอกปืนของตำรวจฟิลิปปินส์ไม่เคยและไม่มีวันใช่พวกพ่อค้ายาที่มีชีวิตสุขสบายร่ำรวย หรือผู้มีอิทธิพลที่แท้จริงเบื้องหลังธุรกิจยาเสพติด

Aswang

  Aswang พาคนดูเข้าไปยืนอยู่ใกล้ชิดชีวิตและได้สัมผัสความรู้สึกของคนฟิลิปปินส์ที่ต้องแบกรับผลกระทบจากนโยบายสงครามยาเสพติดผ่านสองเส้นเรื่องหลัก ภาพของความรุนแรง แสงแฟลชกล้องสื่อ เลือดนอง และศพบนท้องถนนในย่านคนจน ผ่านชายผู้เป็นเจ้าของบริการจัดการศพ (funeral service) ที่ตัวเขากับทีมต้องออกรถเพื่อรับร่างไร้ชีวิตจากข้างถนนรอบๆ กรุงมะนิลาแทบทุกวัน และนับวันยิ่งต้องออกรถถี่ขึ้น เพราะจำนวนศพที่มากขึ้นตามอำนาจกับอาวุธที่อยู่ในมือตำรวจ ส่วนภาพของความสิ้นหวังกับผลกระทบระยะยาวในชุมชนคนชั้นล่างเล่าผ่านชีวิตของ Jomari เด็กชายวัยสิบขวบที่ต้องใช้ชีวิตลำพังหลังพ่อแม่ติดคุกด้วยข้อหาค้ายา

  โจมารีที่ชีวิตขาดผู้ใหญ่ดูแลอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนหนังเริ่มเรื่อง ยิ่งต้องโดดเดี่ยวเมื่อเพื่อนรุ่นพี่ที่คอยช่วยเหลือเขาคนหนึ่งคือ Kian Loyd delos Santos กลายเป็นเหยื่อคนสำคัญของการฆ่าตัดตอน (มีพยานแวดล้อมและกล้องวงจรปิดถ่ายติดภาพตำรวจลากร่างเขาซึ่งไม่มีทางสู้ ขัดกับแถลงหลังเกิดเหตุที่บอกว่าตำรวจยิงเพื่อป้องกันตัว เกิดกระแสประท้วงครั้งใหญ่ทั้งออนไลน์ บนท้องถนน และในสภา งานศพของซานโทสมีผู้เข้าร่วมหลักพันเพื่อแสดงออกว่าต่อต้านการใช้อำนาจของตำรวจ) การกวาดล้างคนยากจนเข้าคุกหรือคร่าชีวิต ‘พวกขี้ยา’ทำให้ชีวิตที่ไม่เห็นอนาคตอยู่แล้วยิ่งไร้ทางออก เพราะถึงมีพ่อแม่ก็ใช่ว่าชีวิตของเด็กอย่างเขาจะพ้นวงจรความยากจนได้ ยิ่งนึกภาพตามได้ไม่ยากว่า ตอนนี้มีเด็กอีกกี่ร้อยกี่พันที่ต้องเผชิญสภาวะไร้ทางออกแบบเดียวกัน

  เราได้เห็นเด็กๆ ในสลัมเล่นตำรวจจับผู้ร้ายกันข้างน้ำเน่า สิ่งที่สะท้อนออกมาก็มีเพียงความรุนแรงที่ตำรวจทำต่อพ่อแม่หรือคนที่พวกเขารู้จักในละแวกบ้าน พวกเขาถูกทำให้ไม่เห็นอนาคตอะไรไปมากกว่านั้น แต่ก็เห็นมากพอว่า ความรุนแรงและความตายนั่นเองที่แวดล้อมชีวิตตัวเองอยู่จนกลายเป็นสภาวะปกติ (โจมารีพูดกับกล้องครั้งหนึ่งถึงน้ำเน่าที่เพิ่งไปเล่นกับเพื่อนมา บอกว่าเห็นน้ำไหลนิ่งแบบนี้ แต่เรารู้ว่าข้างใต้นั้นมีอะไรอยู่ สองวันหลังซานโทสถูกยิงตาย มีผู้พบศพเด็กชายวัยรุ่นอีกสองคนถูกโยนทิ้งน้ำ หนึ่งในนั้นตายเพราะถูกแทงกว่าสามสิบแผล ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้สังคมฟิลิปปินส์ในนาทีนั้นตั้งคำถามว่า ตำรวจลุแก่อำนาจมากพอที่จะฆ่าคนด้วยความโหดเหี้ยมได้ แค่แปะป้ายว่าคนตายเป็นพวกค้ายา)

  ปกติเหมือนภาพความตายที่หนังบันทึกไว้เมื่อติดตามรถตู้ของบริการจัดการศพ ทั้งร่างไร้ชีวิตที่กองอยู่ข้างถนน ไซเรนรถตำรวจ รถพยาบาล ที่กะพริบตามนัดกลางดึก ภาพศพในโลง คนแถวที่เกิดเหตุที่หยิบไม้กวาดทางมะพร้าวมากวาดเลือดสดๆ ลงท่อระบายน้ำ และเสียงคร่ำครวญของคนที่สมาชิกในครอบครัวเพิ่งเป็นเหยื่อฆ่าตัดตอนเมื่อไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงก่อน–คนที่บอกว่าตัวเองเลือกดูเตอร์เตมากับมือ แต่กลายเป็นว่ามาฆ่าคนในบ้านเราอย่างเลือดเย็น

Aswang

  เดือนมกราคม ปี 2019 สำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ได้เผยแพร่เอกสารแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการตรวจค้นหรือจับกุมผู้ต้องสงสัย แต่สุดท้ายคำว่า Tokhang ซึ่งเป็นชื่อภารกิจปฏิบัติการก็ถูกสังคมโยงเข้ากับการฆ่าตัดตอนที่เกิดขึ้นก่อน (และยังคงเกิดขึ้น) อย่างกว้างขวางก่อนประกาศ เพราะเอาเข้าจริงแล้วใครจะเชื่อว่ามีตำรวจคนไหนยังเคารพสิทธิมนุษยชนอยู่ โดยเฉพาะเมื่อดูเตอร์เตพูดด้อยค่าความเป็นมนุษย์ของคนจนผู้ใช้ยาเสพติดในที่สาธารณะอยู่เสมอ (ถึงขั้นเคยพูดว่า ยินดีจะเป็นฮิตเลอร์ที่กวาดล้างพวกขี้ยาได้สักสามล้านคน เท่ากับตอนนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว)

  ฉากสำคัญที่ Aswang แสดงให้เห็นแบบซึ่งหน้าว่าตำรวจฟิลิปปินส์ฉวยโอกาสจากอำนาจได้หนักหนาสาหัสแค่ไหน เกิดขึ้นเมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับแจ้งว่า สถานีตำรวจแห่งหนึ่งจับคนไปขังไว้ในห้องลับ ไม่ใช่ห้องขังของโรงพัก ในขณะที่ญาติพี่น้องหลายสิบครอบครัวเข้าแจ้งความว่ามีคนหาย เมื่อหนึ่งในกรรมการสิทธิฯ พร้อมกล้องของสื่อมวลชนลงพื้นที่พิสูจน์ก็พบว่าเป็นเรื่องจริง ตำรวจใช้ตู้เอกสารบังประตูห้องลับแคบๆ นอกตึกหลักของโรงพัก ข้างในนั้นคือคนจนกว่า 20-30 ชีวิตที่โดน ‘ลักพาตัว’ มาเรียกค่าไถ่ (ถ้าครอบครัวไม่จ่ายเงิน พวกเขาก็จะตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด) ขังไว้ในห้องที่สภาพแย่ยิ่งกว่าคุก ไม่ต้องถามหาสิทธิตามกระบวนการทางกฎหมายให้เสียเวลา

  เลวร้ายกว่านั้น ทั้งที่มีกรรมการสิทธิฯ กับนักข่าวอยู่ถึงที่ ตำรวจหน้าห้องลับเรียกค่าไถ่ไม่ใช่แค่ไม่สำนึก แต่ยังจับเอาคนในนั้นทั้งหมดมาลงบันทึกประจำวัน ทำเอกสารตามขั้นตอน เท่ากับว่าตอนนี้เหยื่อลักพาตัวได้เข้าสู่กระบวนการในฐานะผู้ต้องหาคดียาเสพติด และตำรวจ ‘ทำตามขั้นตอนกฎหมาย’ แล้ว เอาผิดอะไรไม่ได้

   นอกเหนือจากความท้าทายของการพาตัวเองลงไปในความขัดแย้งของคนทำหนัง (อย่างเดียวกับที่สารคดีซึ่งกระโจนลงสู่สมรภูมิรบหรือพื้นที่อาชญากรรมมักได้รับการยกย่องสรรเสริญ) และการถ่ายภาพที่หมดจดแต่เย็นชา จนคนดูรับรู้ได้ถึงความรุนแรง ความตาย และความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึก (หนังใช้ภาพมุมสูงเพียงไม่กี่ครั้ง สะท้อนชัดถึงภูมิทัศน์ที่ต่างกันสุดขั้วระหว่างย่านคนมีอันจะกินของกรุงมะนิลา กับพื้นที่รอบนอกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดหลังประชากรล้นเมืองหลวง) สิ่งที่ Aswang ขับเน้นได้เข้มข้นและโดดเด่นเป็นพิเศษคือ บรรยากาศของความกลัวที่ปกคลุมอยู่ทั่ว เมื่อหนังเลือกเปรียบเทียบสถานการณ์ที่อำนาจรัฐออกใบอนุญาตฆ่าคนจนล้มตายเป็นผักปลา เชื่อมกลับไปถึงประวัติศาสตร์การเมืองและความเชื่อเหนือธรรมชาติที่ใกล้ใจคนฟิลิปปินส์อย่างลึกซึ้งอย่าง ‘aswang’ ที่สำคัญถึงขั้นเป็นชื่อเรื่อง

  aswang คือคำที่ชาวฟิลิปปินส์ใช้เรียกปิศาจหรือผีในตำนานพื้นบ้านที่กลายร่างเป็นสัตว์หรืออมนุษย์ได้หลากหลายรูปแบบ (หากอธิบายให้ใกล้เคียงลักษณะที่คนนอกวัฒนธรรมคุ้นเคย aswang เป็นได้ทั้งสัตว์ ปิศาจ ผีกระสือ ผีดูดเลือด แม่มด ผีปอบ) สืบย้อนตำนานความเชื่อความกลัวไปได้ถึงสมัยศตวรรษที่ 16 ผ่านบันทึกของสเปนในสมัยที่ยังเป็นเจ้าอาณานิคม Aswang ใช้บทบรรยายเสียงสถาปนาความเชื่อเรื่องสัตว์จำแลงที่ออกไล่ล่ามนุษย์ เมื่อกล้องเริ่มถอยออกจากตัวละครหลักที่หนังกำลังติดตามหรือเข้าสู่ช่วงผ่านเวลา กลืนความจริงตรงหน้ากับความเชื่อเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อความมืดมิดบนท้องถนนภายใต้นโยบายสงครามยาเสพติดได้เผยให้เห็นเรือนร่างนอนคว่ำหน้าบนพื้นถนน ความตายที่ล่องไหลในแม่น้ำและทะเล เหมือนในวันที่ปิศาจในตำนานเก่าแก่ยังคงออกอาละวาดสร้างความกลัวไปทั่ว

  “เมื่อใดพวกเขาเอ่ยว่ามี aswang อยู่ใกล้ ความหมายที่แท้คือ จงหวาดกลัว” ทว่าคำถามสำคัญคือ คนฟิลิปปินส์จำต้องกลัวปิศาจตนนี้เพราะอิทธิฤทธิ์และความชั่วร้ายโดยเนื้อแท้ หรืออำนาจเหนือหัวที่ฉวยใช้ความเชื่อเหนือธรรมชาติเป็นอาวุธเพื่อกำราบกดขี่?

  คล้ายความเชื่อมโยงระหว่างผีปอบกับความรุนแรงทางการเมืองในบริบทไทย aswang เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การเมืองฟิลิปปินส์ตลอดมานับตั้งแต่สมัยอาณานิคม สเปนใช้ตำนานเรื่องเล่าผสมปนกับศาสนาคริสต์เพื่อเปลี่ยนความเชื่อพวกคนเถื่อนใต้ปกครอง สหรัฐอเมริกาใช้ความเชื่อเรื่อง aswang บ่อนเซาะทำลายขบวนการสังคมนิยมในสมัยสงครามเย็น รัฐบาลเผด็จการกฎอัยการศึกของ Ferdinand Marcos ก็อาศัยความกลัวนี้เป็นเครื่องมือกดข่มการเคลื่อนไหวต่อต้าน ศพในสมัยนั้นอาจถูกกรีดแผลเจาะรอยฟันให้ดูเหมือนคนตายเป็นเหยื่อ aswang โหมกระพือความกลัวในชุมชนหรือพื้นที่เสี่ยงทางการเมือง รอยแผลรอยกัดบางครั้งก็พัฒนาเป็นการแปะป้ายศพว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือศัตรูทางการเมือง

  ชัดเจนว่าสำหรับ Aswang แล้ว สัตว์จำแลงที่กำลังออกไล่ล่าฆ่าคนบนท้องถนนตอนนี้คือปีศาจที่สวมรอยในคราบมนุษย์ ทำตัวเป็นมือตีนให้อำนาจรัฐที่ต้องการสร้างความกลัว (และจากประวัติศาสตร์ก็เป็นเช่นนี้เสมอมา) รอยผีกัดกลายเป็นรอยมีด รอยกระสุน ป้ายคอมมิวนิสต์เปลี่ยนเป็นตราบาปว่าไอ้ขี้ยาขยะสังคม

  สามปีกว่าหลังหนังจบ ห้าปีเศษหลังนโยบายสงครามยาเสพติด บางแหล่งข้อมูลประเมินว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัดตอนแล้วไม่ต่ำกว่าสี่หมื่นคน (ในขณะที่ตัวเลขของทางการอยู่ที่ราวหกพัน) เหลือเวลาไม่ถึงปีก่อนฟิลิปปินส์จะเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งไม่มีดูเตอร์เตลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีตามที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า แต่ก็มีทายาทเผด็จการพันธมิตรคนสำคัญที่หลายฝ่ายมองว่าเตรียมตัวเป็นผู้สืบทอดอำนาจ Bongbong Marcos เตรียมท้าชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศ (หลังแพ้เลือกตั้งรองประธานาธิบดีเมื่อสมัยที่แล้ว) สิ่งที่ประชาชนผู้อยู่ฝั่งการเมืองเดียวกับ Aswang เฝ้าจับตาต่อเนื่อง ย่อมหนีไม่พ้นการตัดสินใจของเพื่อนร่วมชาติในเดือนพฤษภาคม ปี 2022

Aswang

  ไม่รู้ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างประกายความหวังเล็กๆ ที่จุดวาบขึ้นในความมืดมิดหฤโหดของหนัง อย่างน้อยยังเห็นประชาชนออกมาประท้วงบนท้องถนน หรือการที่ Aswang สร้างประวัติศาสตร์เป็นสารคดีเรื่องแรกที่ชนะทั้งหนังและผู้กำกับยอดเยี่ยมรางวัล Gawad Urian ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ระดับประเทศ เข้าชิงเคียงบ่าเคียงไหล่หนังสองเรื่องที่เปิดหน้าชนประเด็นสงครามยาเสพติดอย่าง Watch List (Ben Rekhi, 2019) กับ A Thousand Cuts (Ramona S. Diaz, 2020) สารคดีชีวิต Maria Ressa ในวันที่เธอกลายเป็นศัตรูทางการเมืองของรัฐบาล ก่อนได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ

  หรืออาจเป็นเช่นที่เราต่างตระหนักดีถึงคุณค่าของชีวิตมนุษย์ในประชาคมอาเซียนต้องสาป การประท้วงครั้งใหญ่ท้ายเรื่องอาจเป็นแค่ส่วนน้อยที่คนทำหนังกับมิตรสหายฝั่งเดียวกันอยากเห็นให้พอชโลมใจ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังยินดีมอบใบอนุญาตฆ่าเพราะเห็นว่าพวกขี้ยาเป็นภัยคุกคามขั้นร้ายแรง เหมือนเมื่อครั้งที่กระแสถาโถมโจมตีรัฐบาลทักษิณ ทุกประเด็นไม่ว่าจริงหรือเท็จล้วนมีผล แต่ประเด็นที่แทบไม่สะเทือนคือชีวิตคนที่ตายเพราะนโยบายสงครามยาเสพติดสมัยนั้น

  เพราะไม่ว่าจะด้วยกลัวตาย หรือกลัวภัยจากคนที่เราอยากให้ตาย ความกลัวที่อำนาจตะล่อมสร้างและกล่อมเกลาให้เราเชื่อฝังหัวนั่นเอง จะผลักให้ผู้คนยอมศิโรราบเป็นพวกเดียวกับปีศาจ หรือกระทั่งกลายร่างเป็น aswang เสียเอง

AUTHOR