ในเพลงเศร้าและซีนอกหักของภาพยนตร์บ้านเรา มักบอกว่าวิธีการบำบัดความเศร้าคือการออกไปข้างนอกเพื่อทำอะไรสักอย่าง แต่จากสื่อทั้งหมด เราอาจไม่เห็นว่ามีฉากสแตนด์อัพ คอมเมดี้โผล่มาสักวินาที เพราะการแสดงทอล์กโชว์หนึ่งคนต่อไมโครโฟนหนึ่งตัวของคนไทยยังมีภาพจำเป็นเพียงวาระประจำปี ทำให้เราตื่นเต้นอย่างประหลาดเมื่อรู้ว่าตอนนี้มีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามทำโชว์ของพวกเขาเพื่อสร้างมุมมองว่า ความเศร้าและคอมเมดี้เป็นเรื่องปกติในทุกๆ วัน
การแสดงครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของวัฒน์ พาร์ตไทม์ยูทูบเบอร์จาก TVMunk ฟูลไทม์ครีเอทีฟโฆษณาที่มักของานลูกค้าตัวเองแสดง จนเราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี (แต่ไม่รู้จักชื่อ) และอีกครั้งแรกของ แซม-พลสัน นกน่วม Content Creator จาก Mango Zero รวมถึงเจ้าของรายการ ยูธูป พอดแคสต์กินที่เอาเรื่องผีมาบังหน้า มารับบทเป็นสองคนในหลายสแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยนที่ระทมตั้งแต่เห็นโปสเตอร์งานครั้งแรกว่า ‘ไอ้นี่ใคร…แล้วไหนกู’
เราอยากใช้คำว่า ‘กล้าๆ กลัวๆ’ บ่งบอกถึงเรื่องราวชีวิตของทั้งสอง รวมทั้งใช้แทนกิริยาในการตกปากรับคำของทั้งคู่ไปเลย แต่หลังจากที่เราได้ชมการแสดงของพวกเขาในวันซ้อม เราจะยิ่งกดดันสองคนนี้ด้วยการบอกว่ามันดี และคอมเมเดี้ยนอัจฉริยะสองคนนี้พร้อมสร้างบรรยากาศของคืนที่ไม่ปกติให้กับทุกคนที่มาชม
มาพิสูจน์โชว์ของทั้งคู่ได้ที่งาน Stand Up Tragedy #คืนระทม2018 คืนวันที่ 16 – 18 กุมภาพันธ์นี้ที่ Live Lounge อารีย์ แซมจะมาแสดงทั้งสามคืน ส่วนวัฒน์จะมาคืนที่ 18 กุมภาพันธ์ ถ้าอยากมาเจอทั้งคู่ก็มาวันนี้แล้วกันนะ
มาเล่นงานนี้ได้อย่างไร
วัฒน์: เหมือนมันไม่ได้ชวนจริงจัง เราเลยตอบไปแบบไม่จริงจัง แต่พอโปสเตอร์ออกแล้วมีรูปเรา อ้าว นี่กูต้องเล่นจริงๆ เหรอ คือเรากล้าพูดกล้าแสดงออกแต่พอถึงเวลาที่ต้องคุยกับคนเยอะๆ เราไม่กล้าเลย กลัวมาก แต่โอเค เพราะเราเคยกลัวหลายเรื่อง แล้วบางอย่างมันอาจจะหายได้ด้วยการเผชิญหน้าแม่งเลย ความกลัวมันก็ผลักดันเรา
แซม: ส่วนผมอยู่กับยูตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วที่มันประกาศส่งเดชว่าจะจัดสแตนด์อัพ คอมเมดี้ สถานที่ไม่รู้ วันจัดไม่แน่ใจ แต่จัดแน่นอน ซึ่งสุดท้ายก็จัดจริงๆ เราเลยบอกมันว่าอยากเล่นด้วยทั้งที่ไม่เคยพูดต่อหน้าคนเยอะๆ เลย แต่ตอนซ้อมปรากฏว่าเวิร์กเลยมีกำลังใจมากขึ้น รู้สึกว่าสนุกดี ก็เล่นมาเรื่อยๆ คราวนี้คือการชวนอย่างจริงจังเป็นทางการครั้งแรก
หยิบบางอย่างจากชีวิตประจำวันมาใช้ในการแสดงครั้งนี้ได้มั้ย
แซม: มันเป็นงานคนละแบบเพราะงานที่เราทำอยู่คือการรีวิว งานบล็อกเกอร์ ตอนแรกเคยลองเล่าเรื่องจากจากบทความที่เราเขียน แต่มันทำไม่ได้ คนละศาสตร์ คนละวิธีกัน ก็ล้มเลิกไป แล้วนั่งเขียนบทใหม่ที่จะมาเล่าวันนี้แทน
วัฒน์: เราดูเหมือนได้เปรียบคนอื่นตรงที่ได้เรียนการแสดง ได้รู้ว่า on stage ต้องการอะไรบ้าง เล่นกับคนดูอย่างไรบ้าง แต่พอเอาเข้าจริงมันก็รู้สึกแตกต่าง อาจจะเพราะว่าเราสวมบทบาทเป็นคนอื่นมาตลอด แต่ครั้งนี้เราได้ทำในสิ่งที่เราไม่ค่อยได้ทำ อย่างการเป็นตัวเองต่อหน้าคนอื่น
พอเราสวมบทเป็นตัวเองมีความกังวลมากกว่าเป็นคนอื่นมั้ย
วัฒน์: ใช่ เพราะว่าเวลาเล่นเป็นคนอื่นมันมีบท เราจำบท เราเป็นใครก็ได้ แต่พออันนี้มันกดดันไปเองว่าการเป็นเราจะเวิร์กมั้ย ซึ่งมันควรเวิร์กเพราะเราเป็นเรามาตลอดชีวิต แค่เราไม่เคยเอาเรามาเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชนขนาดนั้น
แล้วความเป็นเราที่เด่นกว่าคนอื่นคืออะไร
วัฒน์: ผมชอบสังเกตประเด็นใกล้ตัวที่ทุกคนก็เจอ เรารู้สึกว่าเราจะเอาความรู้สึกตอนนั้น ณ โมเมนต์นั้นมาแชร์ มันน่าจะทัชคนดูได้ ซึ่งอาจจะทัชในแง่ฮาหรือไม่ฮาอันนี้เราไม่สนใจ แต่เราเชื่อว่าประเด็นที่เราเลือกไว้กับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจะพาคนดูและเราไปด้วยกันได้
แซม: เราไม่ใช่สายเพอร์ฟอร์แมนซ์ไม่ใช่แบบพี่วัฒน์ที่เล่นละครเวที ไม่ใช่แบบครูทอมที่เวลาไม่ฮาก็เอาเสียงใหญ่เข้าข่ม ทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเคยได้ยินพี่จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง บอก คือ เล่าอย่างเรา เล่าแบบตะกุกตะกัก วิธีการ ท่าทางการเล่นแบบตัวเรา มันคือความตลก เราเป็นยังไงบนเวทีก็เป็นอย่างนั้น
มาเล่าเรื่องระทมแล้วจะยิ่งไม่ระทมไปกันใหญ่เหรอ
แซม: มันเป็นเรื่องที่ตอนเจอเราเครียดมากแต่พอกลับไปเล่าอีกทีมันฮา เหมือนไปเขาชนไก่แล้วเจอจ่านรก โหดมาก แต่พอกลับมา เราเล่าเรื่องพวกนี้ได้อย่างสนุก
วัฒน์: น่าจะสนุกนะ คนแม่งชอบดูคนอื่นลำบาก ชอบดูความหายนะของคนอื่น
การทำสื่อสำเร็จรูปกับแสตนอัพ คอมเมดี้ต่างกันมากมั้ย
แซม: งานออนไลน์มันสามารถแก้ไขได้ตลอดเวลา เราอัพงานไปเราจะเห็นยอดไลก์ ยอดแชร์ชัดเจน ถ้าไม่ดีก็เปลี่ยนรูปแบบเนื้อหาแล้วลงใหม่ แต่พอเรามาเล่นบนเวทีสดๆ เราขอแก้ตัวอีกทีนึงไม่ได้ ต้องไปต่อ ก็จำไว้ว่าแบบนี้มันไม่เวิร์ก บางทีบิดแค่นิดเดียวมันก็ฮาแล้ว เรามีเส้นของเราไว้ยึดเดินตามให้ไม่หลง แต่ถ้าเรื่องที่เป็นเส้นตรงมากก็ลองแวะซ้ายขวาดู หรือใครขึ้นเล่นก่อนเราก็ลองเก็บมุกมาต่อยอดได้
วัฒน์: มันแตกต่างกันที่คนที่ไม่ได้อยู่ในบรรยากาศเขาก็ไม่รู้ ต่อให้สุดท้ายมันถูกทำออกไปเป็นคลิป เขาก็จะไม่ได้รับมวลบรรยากาศแบบที่เราได้รับ คือถ้ามันอึนเราก็รู้เลยว่ามันอึน เสน่ห์ของมันอยู่ตรงนี้ เราจะได้รู้สึกพร้อมกันระหว่างผู้เล่นและผู้ชม บางทีเขาอยู่ใกล้มากจนรู้ว่าเราจะพูดอะไรก่อนเราพูดด้วยซ้ำ มันคือการรับ-ส่งกันระหว่างมวลผู้ชมและคนเล่น
สิ่งที่ยากที่สุดคืออะไร
แซม: ทำให้คนดูฮานี่แหละยากที่สุด มันไม่เหมือนกับเรื่องผีที่เขารู้ว่าเขาจะเตรียมกลัวแล้ว เราแต่งเติมบรรยากาศเล่าให้มันน่ากลัวเพิ่มอีกนิดหน่อย แต่งานนี้เขาเสียเงินมา เขาโฟกัสว่าวันนี้เขาจะมาฟังเรื่องตลก ไหนเล่นให้กูดูสักหนึ่งฮาหน่อย เขาไม่ได้พูดแต่สายตาคาดหวังมากว่าอยากตลก
สมมุติถ้าเล่นโชว์แล้วไม่ตลก
แซม: ผมกลัวทุกครั้งที่ขึ้นว่ามันจะฮาหรือเปล่า คือวันนี้อาจจะฮาแต่พรุ่งนี้มันไม่ฮาก็ได้ ความกังวลคือเขาส่งความรู้สึกร่วมกับเราหรือเปล่า อย่างงานครั้งที่แล้วรอบแรกดีมาก แต่พอมารอบสอง ผมเล่าอยู่มีคนเปิดประตูเข้ามาด้านหลัง คนที่ฟังอยู่ก็เสียสมาธิไปเลย โชว์ก็กลายเป็นคนละเรื่องเลย ทั้งที่เป็นมุกเดียวกันแท้ๆ
วัฒน์: พี่อาจจะไม่ค่อยมีปัญหา (ตอบอย่างมั่นใจ) เป้าหมายในการตั้งโจทย์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเกาะธีมไว้ ถึงไม่ฮากูก็ระทม เพราะงั้นเราถือว่าความฮามันเป็นของแถมแล้ว
คอมเมเดี้ยนในยุค 4.0 ใช้มัลติมีเดียประกอบในโชว์เยอะมาก เคยคิดจะลองใช้ดูบ้างมั้ย
วัฒน์: หลักสำคัญ 3 อย่างคือ มีเรา มีเรื่อง แล้วก็มีคนฟัง ถ้าเราสามารถอยู่กับอุปกรณ์แค่อย่างเดียวแล้วพาคนดูไปยังจุดที่เราต้องการได้ แค่นั้นสำหรับเราถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีสื่อมัลติมีเดีย ไม่จำเป็นต้องมีเลเซอร์ยิงแสงเข้าตา ไม่ต้องมีแดนเซอร์ ไม่ต้องมีพริตตี้ ไม่ต้องมีเพลงประกอบ
แซม: แต่มีพริตตี้ก็ดีนะพี่
วัฒน์: ดี (ฮา)
แซม: มันคงยากและไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ แต่บางคนเขาก็ทำได้ อย่าง Bo Burnham คอมเมเดี้ยนอเมริกัน เขาชอบเล่นกับอุปกรณ์ กับดนตรี แสงสีทุกอย่าง มันมีการซ้อมคิวที่เป๊ะมาก ก็เป็นโชว์ที่ตลกดี บางทีเราไม่ได้ขำมุกเขาด้วยซ้ำ แต่เราขำสิ่งที่แสดงออกมาเป็นภาษาท่าทางไป
วัฒน์: หรือว่าพี่หาอุปกรณ์มาช่วยดีวะ เดี๋ยวเอาแฉมาอันนึง ไม่ฮาก็เดินไปตี
เราจะวัดความสำเร็จของการแสดงด้วยอะไรดี
แซม: วัดจากเสียงหัวเราะเสียงปรบมือแน่นอน ถึงมุกมันจะกริบแต่เขายังปรบมือให้ แปลว่าเขาก็ยังชอบอยู่ อย่างคนที่ไม่เคยดูมาก่อน มันได้ประสบการณ์ที่ไม่ใช่แค่เสียงหัวเราะ แต่คือบรรยากาศ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากเราคนเดียว แต่เกิดจากทุกคนที่เขามาดู มันก็ทำให้เขาประทับใจได้
วัฒน์: น่าจะเปรียบเทียบได้คล้ายๆ กับละครเวทีโรงเล็กๆ เวลาเราแนะนำเพื่อน เราก็เลือกให้เพื่อนเราได้ไปเจออะไรที่เฟรนด์ลี่กับเขา หยอดให้เขารู้สึกว่ามาดูแบบนี้แล้วชอบ ดูแล้วจะอยากดูเรื่องอื่นต่อ ถ้าการโชว์ครั้งนี้ของพวกเรามันทำให้คนรู้สึกว่าโอเค เดี๋ยวคราวหน้าจะมาลองดูอีกมันก็ถือว่าประสบความสำเร็จ
อยากให้เกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากการรวมตัวครั้งนี้
วัฒน์: เดี๋ยวนี้มันถึงยุคที่เรามีโซเชียลเน็ตเวิร์กเต็มไปหมดเลย แต่เราโหยหาการคอนเนกต์ระหว่างคน กิจกรรมไหนที่ทำให้เกิดการคอนเนกต์ระหว่างคนจริงๆ มันมีคุณค่า เราว่ามันดีถ้ามีกลุ่มคนที่อาจจะไม่ใช่เราก็ได้ ลุกมาทำกิจกรรมที่ทำให้คนเชื่อมต่อกันเยอะๆ และสแตนด์อัพ คอมเมดี้คือหนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้น เพราะบ้านเรามันไม่ค่อยมีคนอื่น เรามีพี่โน้ต (อุดม แต้พานิช) ช่วงหนึ่งเรามีพี่พิง ลำพระเพลิง มีอาจารย์เชน-จตุพล ชมภูนิช เรารู้สึกว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นคนมีชื่อเสียงมากๆ เป็นคนพูด แสดงในฮอลล์ใหญ่ๆ มีคนดูเต็มฮอลล์ก็ได้
แซม: ยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อนที่คนๆ หนึ่งรวมมวลชนได้มากมาย ยกตัวอย่างรายการ The Shock แค่พี่ป๋องคนเดียวก็สามารถรวมคนที่ชอบเรื่องผีได้กลุ่มใหญ่ แต่ตอนนี้ออนไลน์มันอิสระมาก เรามี ยูธูป เราสามารถรวมกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มนึงขึ้นมาได้ คือเราไม่ได้แข่งกับเขา เราก็มีกลุ่มคนของเรา สิ่งนี้ก็เหมือนกัน เราคงไม่สามารถดึงคนที่รู้จักพี่โน้ตมาให้รู้จักเราได้ภายในชั่วข้ามคืนหรือหนึ่งปี มันเป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถรวมกลุ่มคนที่มีความสนใจตรงกันได้ ยุคนี้เราสามารถสร้างประเทศของเราเองได้ นี่คือประเทศของเราที่เล่าเรื่องตลกให้กลุ่มคนเล็กๆ ได้ฟังด้วยกัน
ภาพ พิพัฒน์พงศ์ ชิตรัตนธรรม