นักสืบสายน้ำ : แรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ในวงการสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มต้นจากแมลงน้ำตัวเล็กๆ

“มีอะไรอยู่ในสายน้ำ”

คำตอบที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คงหนีไม่พ้น น้ำ ปลา ก้อนหิน แต่คงมีไม่กี่คนที่จะนึกถึง ‘แมลงน้ำ’

‘มีแมลงน้ำแล้วไง’ อาจเป็นคำถามที่หลายคนผุดขึ้นในใจ เพราะในสายตาคนทั่วไป แมลงน้ำก็เป็นแค่สัตว์เล็กๆ ไร้ความสำคัญ ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา

แต่มุมมองทั้งหมดอาจต้องเปลี่ยนไป หากได้พูดคุยกับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ดร.อ้อย ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เธอคือผู้พลิกบทบาทแมลงน้ำตัวน้อยที่ถูกมองข้าม ให้กลายเป็นตัวเอกที่เหล่านักสืบพากันตามหา เป็นตัวละครลับที่เก็บงำซ่อนข้อมูลแสนสำคัญเอาไว้ โดยปฏิบัติการผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า ‘นักสืบสายน้ำ’

เล่าย่อๆ ว่า ‘นักสืบสายน้ำ’ คือกิจกรรมที่พาเด็กๆ ไปลุยลำธาร ทำตัวเป็นนักสืบ ก้มหน้าพลิกดูใต้ก้อนหิน มองหาแมลงตัวจิ๋วที่ซ่อนตัวในพื้นที่ต่างๆ ของลำน้ำ รวมทั้งเก็บข้อมูลทางกายภาพต่างๆ เพื่อมาประเมินว่าสายน้ำของเรามีสุขภาพดีแค่ไหน

ความน่าสนใจคือ กิจกรรมนี้ไม่ได้จบลงแค่ข้อมูลบนหน้ากระดาษ แต่ยังสร้างแรงกระเพื่อมไปไกล เปลี่ยนชีวิตเด็กเกเรบางคนให้กลายเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์ หยุดยั้งโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบางพื้นที่ และที่สำคัญคือ ทำให้ผู้คนได้มองเห็นสายน้ำด้วยสายตาที่ต่างจากเดิม

จากอังกฤษสู่เมืองไทย – ความแตกต่างของวัฒนธรรมการเรียนรู้

“ที่อังกฤษ ความรู้ไม่ได้ล็อกอยู่ในสถาบัน งานวิจัยไม่ได้อยู่แค่บนหิ้ง” ดร.อ้อย เล่าย้อนให้เราฟังถึงสิ่งที่เธอเห็นสมัยเรียนอยู่ที่อังกฤษ

“เราได้เห็นวัฒนธรรม biomonitoring คือการใช้ตัวชี้วัดทางชีวภาพมาประเมินคุณภาพหรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้อมูลก็ไม่ได้มาจากแค่นักวิทยาศาสตร์ แต่มาจากคนทั่วไปแบบเราๆ ที่ช่วยกันเก็บรวบรวมข้อมูลแล้วส่งไป”

เธอยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า มีครั้งหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ร่วมมือกับสื่อ ชักชวนให้คนรายงานการพบแมงมุมชนิดหนึ่ง โดยบอกว่าถ้าใครเจอแมงมุมชนิดนี้ที่ไหน ให้รายงานสถานที่มา ซึ่งต่อมาตำแหน่งที่พบเหล่านี้ได้ถูกพล็อตลงในแผนที่ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีต

ผลปรากฏว่า เราได้เห็นรูปแบบการกระจายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ในขณะที่ข้อมูลในอดีต แมงมุมนี้ไม่เคยขึ้นไปถึงสกอตแลนด์ แต่ข้อมูลล่าสุดเห็นชัดว่ากระจายไปถึงแล้ว นี่กลายเป็นหนึ่งในหลักฐานยืนยันเรื่องภาวะโลกร้อน และถูกบรรจุอยู่ในรายงานเรื่องโลกร้อนฉบับแรกของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change)

ไม่ใช่แค่แมงมุมเท่านั้น ยังมีข้อมูลของนก ปลวก และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากมายที่ได้จากกระบวนการเดียวกันนี้ เธอเล่าว่าในรายงานของ IPCC ฉบับแรก ข้อมูลราวครึ่งหนึ่งมาจากกระบวนการที่คนทั่วไปช่วยกันรายงานเข้ามา

“ที่นั่นทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ มันเจ๋งมากเวลาที่เรารู้สึกว่าเราค้นพบอะไรที่มีความหมาย ทำให้เราสังเกตและตระหนักรู้”

แต่เมื่อกลับมาเมืองไทย ดร.สาวก็ได้พบความจริงที่ว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้ของไทยยังแตกต่างจากอังกฤษอยู่ไกลลิบ องค์ความรู้ทางธรรมชาติวิทยายังอยู่แสนห่างจากผู้คน เธอจึงเริ่มต้นคิดว่าจะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบนั้นเกิดขึ้นที่เมืองไทยบ้าง เธอจึงหาข้อมูลว่า อะไรจะเป็นตัวบ่งชี้ให้คนอ่านสิ่งแวดล้อมได้ง่ายที่สุด และเข้าถึงคนได้มากที่สุด

หลังจากหาตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศ เธอก็ได้คำตอบว่าสิ่งนั้นคือ ‘แมลงน้ำ’

ให้แมลงน้ำเป็นครู เราเป็นแค่ผู้เปิดประตูให้เขาเดินเข้าไป

“แม่น้ำคือคำตอบที่เข้าถึงคนได้มากที่สุด เพราะเด็กๆ ชอบน้ำ คนเข้าถึงน้ำได้ง่าย ทุกแห่งมีน้ำ แต่ไม่ใช่ทุกแห่งที่มีป่า” ดร.อ้อย เล่าเหตุผลที่เลือกกิจกรรมเกี่ยวกับแหล่งน้ำ ทั้งที่หากดูจากความถนัดแล้ว เธอเชี่ยวชาญเรื่องป่ามากกว่า

แต่ความยากไม่ใช่ปัญหา เธอเริ่มต้นด้วยการติดต่อไปทางองค์กร Field Studies Council แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นกลุ่มนักชีววิทยาที่ทำกิจกรรมการเรียนรู้ให้สังคม นำแนวคิดมาประยุกต์ โดยใช้งานวิจัยที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นฐาน

แล้วข้อมูลวิชาการที่กองเป็นตั้ง ก็ถูกแปลงโฉมกลายเป็นแผ่นพับลายแทงจำแนกสัตว์เล็กน้ำจืดอันแสนสนุก

วิธีใช้ลายแทงก็แสนง่าย เริ่มจากเมื่อเจอสัตว์ปริศนา ก็ให้ไปดูในแผ่นพับที่จุดเริ่มต้น อ่านไปตามลูกศร เจอคำถามแรก “อาศัยอยู่ในเปลือกหอยใช่หรือไม่” ถ้าใช่-ก็ได้คำตอบว่าเป็น ‘หอย’ แต่ถ้าไม่ใช่-ตามไปอีกเส้น เจอคำถามที่สอง “อาศัยอยู่ในปลอกใช่หรือไม่” ถ้าใช่ ก็ได้คำตอบเป็น ‘ตัวอ่อนแมลงหนอนปลอกน้ำอาศัยอยู่ในปลอก’ ถ้าไม่ใช่- ก็เจอคำถามถัดไป “มีขาใช่หรือไม่”… เช่นนี้เรื่อยไป จนกระทั่งได้คำตอบว่าเจ้าสัตว์ปริศนาชื่อว่าอะไร ซึ่งชนิดของสัตว์ที่พบก็จะทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำได้ เพราะบางชนิดอยู่ได้ในที่ที่น้ำสะอาดมากๆ เท่านั้น ขณะที่บางชนิดจะเจอในน้ำสกปรก

เมื่อกิจกรรมจากแผ่นพับให้ผลที่น่าพอใจ ต่อมาโครงการจึงได้รับทุนก้อนใหญ่จากเดนมาร์ก เกิดเป็นโครงการ ‘นักสืบสายน้ำ’ เต็มรูปแบบ มีหนังสือคู่มือดำเนินกิจกรรม มีการฝึกอบรมให้โรงเรียน 50 แห่ง จนกระทั่งได้ผู้นำที่พร้อมนำความรู้ออกไปปฏิบัติการจริง

“เราพบว่ากิจกรรมนี้เวิร์กมาก เราจะสอนให้เด็กใช้ ‘ตาวิเศษ’ ซึ่งก็คือแว่นขยาย หลายๆ ครั้งเราได้เห็นใบหน้าของเด็กเปลี่ยนไป จากตอนเริ่มต้นที่ทำหน้าเฉยๆ แต่พอเขาส่องดูแล้วเงยหน้าขึ้นมา เราเห็นตาเขาเปลี่ยนเลย ตาเป็นประกาย เป็นโมเมนต์ที่ว้าว นี่คือสิ่งที่ทำให้เราหายเหนื่อย”

การสำรวจลำน้ำของเหล่านักสืบ ไม่ได้จบลงเพียงแค่การบันทึกชื่อของสัตว์และตำแหน่งที่พบเท่านั้น แต่เด็กๆ ยังต้องบันทึกข้อมูลทางกายภาพของสายน้ำ เช่น ความหลากหลายของพืชริมตลิ่ง ความคดเคี้ยวของสายน้ำ ความขุ่น-ใส วาดแผนที่สายน้ำ รวมถึงวัดปริมาณน้ำ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดก็จะประกอบกันนำไปสู่การประเมิน ‘สุขภาพของสายน้ำ’ ได้

“กิจกรรมแค่สองชั่วโมงมันเปลี่ยนความคิดคนได้เลย คนส่วนใหญ่จะมองว่าแม่น้ำเป็นแค่ทางน้ำไหล แต่พอลงไป เขาจะเห็นว่ามันเป็นบ้านของสัตว์ต่างๆ มากมาย ยิ่งได้ทำแผนที่ว่าเจอตัวอะไรตรงไหน เขาจะเห็นเลยว่าสายน้ำที่มีชีวิตต้องเป็นอย่างนี้ เขาจะเห็นว่าแก่งเป็นปอดฟอกอากาศยังไง ตรงวังน้ำเป็นท้องเก็บอาหารยังไง ตัวโน้นตัวนี้อยู่ในทราย…หรือต่อให้ไม่ได้คิดแยกแยะมากมาย อย่างน้อยก็เกิดความรู้สึกว่าแม่น้ำมีชีวิต มันเป็นบ้านของสัตว์ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”

เธอเล่าย้อนไปถึงกิจกรรมครั้งหนึ่ง ซึ่งหลังจากเด็กๆ สำรวจสายน้ำเสร็จแล้ว ระหว่างกำลังนั่งฟังสรุปผล ก็มีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งมาจะลุยข้ามลำธาร เด็กๆ ก็วิ่งกรูกันเข้าไปห้าม บอกว่ากลัวรถทับสัตว์ตาย

“สงสารคนขับรถเหมือนกัน” เธอเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ

แม้จะการกระทำนั้นจะเป็นไปด้วยความไร้เดียงสา แต่นั่นก็แสดงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวใจของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี

หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลงให้เติบโต

ทุกครั้งที่เด็กๆ ได้ลงไปลุยลำธาร สบตาแมลงน้ำ พลิกดูใต้ก้อนหิน ฝึกสังเกต เก็บข้อมูล สิ่งที่ได้จึงไม่ใช่แค่ความรู้ในหัวสมองแบบที่ได้ในห้องสี่เหลี่ยม แต่ยังได้ความรัก ความรู้สึกว่าสัตว์ต่างๆ เป็นเพื่อน พร้อมความเข้าใจในความเชื่อมโยงของชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศไปพร้อมกัน

“เราพูดกันเยอะว่าไม่อยากให้เด็กหัวโต แต่หัวใจฟีบ มีความรู้มากมาย แต่ไม่มีความรัก แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อยากจะเน้นว่า มีหัวใจเยอะไปแต่ไม่มีสมองก็ไม่ดีเหมือนกัน” ดร.อ้อยขยายความต่อว่า ปัจจุบันมีกระแสกิจกรรมด้านอนุรักษ์มากมายเต็มไปหมด แต่บางครั้งแม้จะมีเจตนาดี แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจ ก็ส่งผลเสียหายเช่นกัน ยกตัวอย่าง การสร้างฝายในที่ที่ไม่ควรสร้าง เช่น ในป่าอุดมสมบูรณ์ที่มีน้ำไหลตลอดปีอยู่แล้ว สิ่งที่ได้คือผลกระทบต่อระบบนิเวศมหาศาล

“กิจกรรมที่เราทำจึงเน้นทั้ง head heart และ hand (ความรู้ ความตระหนัก การลงมือทำ) หลายครั้งก็ทำให้เขาได้ย้อนกลับมาตรวจสอบตัวเอง เช่น เมื่อประเมินคุณภาพน้ำก่อนไหลเข้าหมู่บ้าน กับน้ำที่ไหลออกจากหมู่บ้าน ก็จะเห็นชัดว่าคุณภาพน้ำแย่ลง เขาก็จะรู้ว่าเป็นผลมาจากตัวเอง”

ในหลายๆ ครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่เพียงแค่ความตระหนัก แต่ยังสร้างแรงกระเพื่อมจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่ได้ เช่น เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีโครงการจะดาดปูนริมตลิ่ง ซึ่งเหล่าแก๊งนักสืบก็เป็นกังวลว่าระบบนิเวศจะเสียหาย

และอย่างเนียนๆ – พวกเขาจัดกิจกรรมสำรวจลำน้ำ เชิญผู้ใหญ่บ้านมาร่วมงาน ซึ่งเมื่อผู้ใหญ่ได้มาดูเด็กๆ ทำกิจกรรม ได้ฟังเด็กๆ อธิบายถึงสิ่งมีชีวิตที่พบในสายน้ำ ก็เกิดความตื่นเต้นในความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่พบ จึงเกิดความภูมิใจ แล้วเด็กๆ ก็ได้โอกาสเล่าถึงผลกระทบจากตลิ่งปูนให้ผู้ใหญ่ฟังจนสามารถโน้มน้าวใจผู้ใหญ่บ้านให้ล้มพับโครงการตลิ่งปูนสองฝั่งน้ำ แล้วนำงบประมาณที่ได้มาใช้อนุรักษ์สายน้ำแทน

หรือในอีกหลายๆ ครั้ง กิจกรรมนักสืบสายน้ำก็ได้เปลี่ยนชีวิตคน

“อย่างที่เชียงดาว มีเด็กหญิงชาวเขาสามคนลงมาเรียน ซึ่งพอเด็กชาวเขาลงมาอยู่ในเมือง ก็ไม่มีความมั่นใจ รู้สึกแปลกแยก สถานะทางสังคมไม่เท่าเทียม แต่สามคนนี้เก่งมาก พอได้ทำนักสืบสายน้ำ เขาก็สร้างโปรเจกต์เอง เก็บตัวอย่างเป็นร้อยเพื่อเปรียบเทียบฝายโบราณที่เป็นฝายธรรมชาติเลียนแบบแก่งแม่น้ำกับฝายคอนกรีตแข็ง ซึ่งก็พบว่าความหลากหลายทางชีวภาพเทียบกันไม่ติด แล้วก็เอาข้อมูลไปนำเสนอในตำบล”

แม้ในครั้งนั้น กลุ่มเด็กๆ จะไม่สามารถหยุดยั้งโครงการที่จะสร้างผลกระทบต่อแม่น้ำได้ แต่สิ่งที่พวกเขาได้คือการยอมรับ ผู้ใหญ่ก็ทึ่งในความสามารถ ทำให้เขารู้จักคุณค่าในตัวเอง ได้ความมั่นใจกลับมา

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่สุราษฎร์ธานี มีเด็กคนหนึ่งที่เคยเป็นเด็กเกเร ถูกไล่ออกจากโรงเรียน แต่ได้ค้นพบแนวทางชีวิตใหม่จากนักสืบสายน้ำ จนกลายเป็นผู้นำกิจกรรมด้านการเรียนรู้ของชุมชน เป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์ ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ตนเองเท่านั้น แต่ยังขยายผลไปถึงจังหวัดเลย ทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ

วันเวลาผ่านไป ภารกิจนักสืบสายน้ำไม่ได้สิ้นสุดที่จบหลักสูตรการอบรม แต่องค์ความรู้นักสืบได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ขยายผลสู่ผู้นำชุมชนต่างๆ และทางมูลนิธิโลกสีเขียวก็ให้ให้กำเนิดกิจกรรม ‘นักสืบสายลม’ และ ‘นักสืบชายหาด’ ตามออกมา… แม้กระทั่งผ่านไป 20 ปี กิจกรรมเหล่านี้ก็ยังถูกใช้ อดีตนักสืบรุ่นเยาว์หลายต่อหลายคน ก็เติบโตไปเป็นพลังด้านการอนุรักษ์

จากข้อมูลรางวัลลูกโลกสีเขียวของ ปตท. ซึ่งทางทีมงานให้รางวัลต้องเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อเก็บข้อมูล พวกเขาก็พบว่าคนที่ทำงานด้านอนุรักษ์จำนวนมากมีจุดเริ่มต้นมาจากกิจกรรมนักสืบสายน้ำ

“ตอนไปเดินค้านเขื่อนแม่วงก์กับอาจารย์ศศินก็มีคนมาทัก บอกว่าเป็นนักสืบสายน้ำรุ่น 1 ซึ่งเราก็จำไม่ได้เพราะตอนนั้นเขายังเด็กมาก พอได้คุยกันก็รู้ว่าตอนนี้เขาทำงานอยู่กรมควบคุมมลพิษ” เธอเล่ายิ้มๆ ถึงความประทับใจ

หากเปรียบการทำงานอนุรักษ์เป็นการปลูกต้นไม้ วันนี้ เมล็ดที่เธอหว่านลงดินเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ก็คงเติบโตผลิใบเป็นต้นไม้ใหญ่แล้ว

เฝ้ามองอนาคตอย่างมีหวัง

“สิ่งที่หวังคือเราอยากสร้างสังคมการเรียนรู้ สังคมที่ทุกคนมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูล กิจกรรมที่เราทำไม่ใช่แค่ชี้ชวนให้ดูสัตว์น้อยน่ารัก แต่เราอยากให้คนรู้สึกว่าข้อมูลนี้เอาไปใช้ได้จริง เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจบนฐานข้อมูล นักสืบสายน้ำคือเครื่องมือที่ช่วยให้เราอ่านและเข้าถึงสิ่งแวดล้อมได้ เห็นตัวสัตว์ก็เหมือนอ่าน ABC แต่รู้ชีวิตมันก็เหมือนรู้ไวยากรณ์ ทำให้อ่านออกและมีความหมาย ก็เลยมีพลังที่จะเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองคน แล้วนำไปสู่แอคชันต่อๆ ไป”

บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมเราต้องเรียนรู้การใช้แมลงน้ำเป็นตัวชี้วัด ทั้งๆ ที่ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่ใช้วัดค่าต่างๆ ได้มากมาย ทั้งค่า DO ค่า BOD หรือค่าอื่นๆ ตามแต่จะต้องการ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียวได้ไขข้อข้องใจด้วยคำตอบที่เรานึกไม่ถึงว่า

“สมัยที่ทำนักสืบสายน้ำใหม่ๆ เราชอบคุยกันว่า ปลาที่เชียงใหม่ชอบตายวันเสาร์”

เธออธิบายต่อถึงเหตุผลว่า เป็นเพราะโรงงานมักปล่อยน้ำเสียกันวันนั้น เมื่อหน่วยงานรัฐมาตรวจในวันจันทร์ก็จะไม่เจอ เพราะน้ำใหม่มาพัดมลพิษไปหมดแล้ว ซึ่งเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นหลายที่ เช่น กรณีโรงงานที่ขอนแก่นซึ่งเป็นข่าวดังเมื่อหลายสิบปีก่อน ชาวบ้านโวยวายเรื่องน้ำเสีย แต่เมื่อหน่วยงานรัฐมาตรวจกลับไม่เจอ ชาวบ้านก็โมโห นึกว่านักวิทยาศาสตร์เข้าข้างนายทุน

“การตรวจสอบทางเคมีกับทางชีวภาพจะเติมเต็มซึ่งกันและกัน การตรวจสอบทางเคมีวัดได้เป็นตัวเลขชัดๆ อยากได้ค่าสารตัวไหน วัดไหนหมด แต่ข้อจำกัดคือแพง และวัดได้เฉพาะช่วงเวลานั้น น้ำใหม่มาก็ตรวจไม่เจอแล้ว แต่ถ้าใช้วิธีชีวภาพ ดูสัตว์เล็กน้ำจืด พวกนี้ว่ายหนีไม่ได้ ผลกระทบอยู่ต่อไปหลายเดือน ต่อให้น้ำใหม่มาพัดมลพิษไป ผลกระทบต่อสัตว์ก็ยังอยู่”

วิธีทางชีวภาพนี้เองที่ ผศ. ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ได้นำมาประยุกต์ใช้ในกรณีโรงงานที่ขอนแก่น โดยใช้เทคนิคที่ตั้งอยู่บนหลักการเดียวกับนักสืบสายน้ำ แต่ใช้อุปกรณ์ที่ซับซ้อนกว่าในการเก็บตะกอนใต้น้ำในส่วนน้ำลึก แล้วมาดูปริมาณหนอนแดง ซึ่งปริมาณหนอนชนิดนี้จะบอกได้ถึงปริมาณมลพิษในแหล่งน้ำ ยิ่งเจอหนอนนี้เยอะก็แปลว่าคุณภาพน้ำยิ่งแย่ และข้อมูลทางชีวภาพที่ได้มานี่เอง ที่ทำให้เอาผิดโรงงานในชั้นศาลได้

หรืออย่างบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ลมพัดผ่านพอดี ทำให้มลพิษที่โรงงานปล่อยออกมากระจายออกไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าใช้กระบวนการ ‘นักสืบสายลม’ ดูปริมาณไลเคนในพื้นที่ จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

“ที่มาบตาพุดน่าตกใจมาก เป็นเหมือนหลุมดำเลย คือในขณะที่พื้นที่รอบๆ มีไลเคนอยู่บ้าง แต่พื้นที่ตรงนั้นไลเคนหายไปเลย ตรงเปลือกต้นไม้ก็มีเป็นคราบเหมือนหยดน้ำมัน ทำงานแล้วเวียนหัว” เธอเล่าให้ถึงวันที่เธอและทีมงานได้ลงพื้นที่ไปสำรวจกัน

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ยืนยันว่า สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศ คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราอ่านสิ่งแวดล้อมได้ บางประเทศในยุโรปถึงกับมีตัวชี้วัดสุขภาพของสิ่งแวดล้อมคือ ‘ความเป็นปกติสุขของสัตว์และพืชในระบบนิเวศ’

มาถึงวันนี้ ดร.อ้อย กำลังปรับปรุงคู่มือนักสืบสายน้ำฉบับใหม่ เพิ่มเติมเนื้อหา อัปเดตข้อมูล ปรับวิธีการดำเนินกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมี รศ. ดร.นฤมล แสงประดับ และ ผศ. ดร. ยรรยงค์ อินทร์ม่วง เป็นที่ปรึกษาเช่นเคย

แม้ตัวกิจกรรมนักสืบสายน้ำจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่เธอก็เล่าว่าเมื่อถอยหลังกลับมามองภาพรวมของประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นยังคงห่างไกลจากวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบที่เธอหวัง ความรู้ทางธรรมชาติวิทยายังห่างไกลจากคำว่ากระแสหลัก การตัดสินใจต่างๆ ยังยึดติดกับวาทกรรมและตัวบุคคลมากกว่าฐานข้อมูลจริง การสร้างฝายผิดที่และโครงการพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมยังลิสต์ได้ยาวเป็นหางว่าว แม้เธอจะยอมรับว่าท้อบ้าง แต่ก็ต้องไม่หยุด

“ถ้าถอยออกมาดูประวัติศาสตร์ในโลก ง่ายสุดคือการเลิกค้าทาส แค่เลิกค้านะ ยังไม่ได้เลิกทาส ยังใช้เวลา 100 ปี เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับผลกระโยชน์ของคนมหาศาล เกี่ยวกับโครงสร้างสังคม ทัศนคติของคน มันจึงยากมากและแรงเสียดทานสูง ย้อนมามองสิ่งที่เราทำว่ายังไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่ใช่ 10 ปี 20 ปี ยังไม่ใช่เวลาที่ยาวนานนะ”

“สิ่งสำคัญก็เหมือนที่เราเขียนไว้ในส่วนแอคชันของคู่มือนักสืบสายน้ำว่า… ทำในส่วนที่เราทำได้”

ภาพ วรรษมน ไตรยศักดา และ โครงการนักสืบสายน้ำ

AUTHOR