กว่าจะเป็น ‘ACTkathon’ โปรเจกต์แฮกกาธอนที่ชวนคนรุ่นใหม่มาดีไซน์เทคโนโลยีต้านโกง

เร็วๆ นี้ ‘การโกง’ ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทยอีกครั้ง

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าคอร์รัปชั่นเป็นต้นตอสำคัญของสภาพสังคมที่อ่อนเปลี้ยจนไม่สามารถขับเคลื่อนไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ทั้งความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบมหาศาล หรือหลายครั้งที่การโกงของรัฐนำมาซึ่งอันตรายถึงชีวิต ไม่ว่าจะผ่านงานก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหรือเงินทอนค่าวัคซีนก็ตามที นอกจากจะต้านการพัฒนา ผลกระทบการโกงยังกระจายไปในอนาคตผ่านระบบหนี้สาธารณะของประเทศอีกด้วย

แต่นอกจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา หรือการที่ประชาชนออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐทำงานอย่างโปร่งใส มีวิธีการอะไรอีกบ้างที่เราในฐานะประชาชนจะช่วยสร้างระบบที่ดีกว่าได้?

ทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ ACTkathon : Anti-Corruption Virtual Hackathon 2021 โครงการแฮกกาธอนที่ชวนคนรุ่นใหม่มาพัฒนาเครื่องมือหรือกระบวนการเพิ่มความโปร่งใสให้การทำงานของภาครัฐด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีภายใต้แนวคิด ‘พลิกเกมโกงให้อยู่หมัด สร้างไอเดียรัฐเปิดเผย’

นอกจากจะริเริ่มโดย ACT ที่เป็นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น งานแฮกกาธอนที่ชวนคนมาร่วมสร้างนวัตกรรมอย่างเร่งด่วนครั้งนี้ยังมีพาร์ตเนอร์เป็นองค์กรรุ่นใหม่อีกหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น HAND Social Enterprise ธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่น, Glow Story ครีเอทีฟเอเจนซีที่มาช่วยสื่อสารและประชาสัมพันธ์โครงการ และ RISE สตาร์ทอัพไทยที่ทำงานด้านการสร้างนวัตกรรมองค์กร ซึ่งมาช่วยออกแบบแพลตฟอร์มในการทำกิจกรรม

ในวันที่สังคมตั้งคำถามกับการคอร์รัปชั่นไปจนถึงวิธีต้านคอร์รัปชั่น เราชวนคนเบื้องหลัง ACTkathon จาก 4 องค์กรอเวนเจอร์สด้านบนมาคุยกันถึงไอเดียต้านคอร์รัปชั่นแบบใหม่ๆ ที่มีคนรุ่นใหม่และเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบกัน

ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้ง HAND Social Enterprise, กิตติเดช ฉันทังกูล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACT), ศักรินทร์ ไกรสิทธิ์ ตัวแทนจาก RISE และนภัส มุทุตานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งครีเอทีฟเอเจนซี Glow Story

01 จุดเริ่มต้นของ ACT ต้านโกง

ก่อนจะรับรู้เบื้องหลังของงาน เราอยากชวนมารู้จักกับ ACT องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ดำเนินงานโดยภาคประชาชนและมีความตั้งใจอยากแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ 

“ACT ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นแบบชี้นิ้วหาคนผิดเพราะนั่นเป็นการไล่ตามปัญหาคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ ACT ตั้งขึ้นเพื่อทำงานด้านการป้องกันคอร์รัปชั่นในเชิงโครงสร้าง” กิตติเดช ฉันทังกูล ผู้อำนวยการของ ACT เล่าถึงที่มาขององค์กร พร้อมให้แง่มุมว่าในหลายประเทศที่มีอัตราคอร์รัปชั่นต่ำเพราะพวกเขามีระบบตรวจสอบที่รวดเร็ว ในขณะที่ประเทศไทยการโกงทำได้ง่ายมากและยากต่อการตรวจสอบ

“หลายๆ ประเทศใช้วิธีเอาคนผิดเข้าคุกหรือประหารชีวิตเพื่อสร้างอิมแพกต์ให้คนในสังคมรับรู้ว่าการคอร์รัปชั่นไม่ดี แต่หลังจากนั้นประเทศเหล่านั้นก็มีการปฏิรูปโครงสร้างที่สำคัญและเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

“สิ่งที่ ACT พยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือโครงสร้างการบริหารจัดการของภาครัฐ และอีกทางคือสร้างภาคเอกชนและภาคประชาชนให้เข้ามาซัพพอร์ตไอเดียและผลักดันเรื่องการโกงอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เรื่องเงียบหายไป สร้างโอกาสในการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐให้โปร่งใสและตรวจสอบได้”

ก่อนหน้านี้ ACT ออกแบบเครื่องมือแก้ไขการโกงหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) คือการมีบุคคลที่สาม (third party) เข้าไปร่วมเป็นหูเป็นตา รับบทผู้สังเกตการณ์ ตรวจสอบข้อมูล และให้ความเห็นในการประชุมพิจารณาจัดทำโครงการรัฐขนาดใหญ่, ACTAi หรือ AI ที่รวบรวมข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ง่ายๆ นอกจากนี้พวกเขายังผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทยด้วย

หลังจากทดลองมาหลายอย่าง ปีนี้เป็นปีแรกที่ ACT จัดโครงการแฮกกาธอนขึ้นในชื่อ ACTkathon

สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อน กล่าวอย่างง่าย แฮกกาธอนในช่วงเริ่มต้นคืองานแข่งขันสำหรับโปรแกรมเมอร์ โดยมีโจทย์ให้แต่ละทีมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาแก้ปัญหาภายในเวลาจำกัด (ส่วนใหญ่ทำกันทั้งวันทั้งคืน) และจะมีเมนเทอร์คอยให้คำปรึกษาในระหว่างโครงการ

สำหรับแฮกกาธอนครั้งนี้ของ ACT แน่นอนว่าต้องเกี่ยวข้องกับการโกง ด้วยแนวคิด ‘พลิกเกมโกงให้อยู่หมัด สร้างไอเดียรัฐเปิดเผย’ โดยดึงให้คนจากหลากหลายแวดวงเข้ามามีส่วนร่วม และมีโจทย์คือการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเพิ่มความโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล

02 คนรุ่นใหม่ ฟันเฟืองสำคัญในการต้านโกง

คำถามสำคัญคือ ทำไมองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องการคอร์รัปชั่นมาแล้วหลายรูปแบบถึงทดลองใช้แฮกกาธอน?

คำตอบคือคำว่าคนรุ่นใหม่และเทคโนโลยี

เมื่อวิวัฒนาการการโกงก้าวล้ำนำหน้า การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นแบบเดิมๆ อย่างการโฟกัสที่ตัวบุคคล ไล่ตามคนโกงมาลงโทษ หรือการเปิดข้อมูลเข้าใจยากจำนวนมหาศาลของรัฐอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ACT จึงเห็นความจำเป็นในการดึงคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างเข้ามาร่วมทีม​ โดยเฉพาะกลุ่มคนจากสายเทคฯ ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูลและเข้าใจโลกออนไลน์อย่างลึกซึ้ง ทำให้สามารถออกแบบระบบและเครื่องมือต้านคอร์รัปชั่นที่ทันโลกได้ ถือเป็นมิติใหม่ของกลยุทธ์ต่อต้านการโกง

และเพราะตั้งใจจะชวนคนสายเทคฯ นี่แหละ ไอเดียการจัดงานแฮกกาธอนจึงตามมา

“คนชอบถามเยอะว่าทำไมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้สักที คำตอบหนึ่งคือวิวัฒนาการมันไม่เท่ากัน เทคนิคการคอร์รัปชั่นมันวิ่งเร็วพอสมควร ในขณะที่การต่อต้านค่อยๆ เดินตามไป ส่วนเราอยากจะวิ่งให้เร็วขึ้นไปดักหน้าเลยอยากชวนประชาชนจำนวนมากให้เข้ามามีส่วนร่วม” ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้ง HAND Social Enterprise องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่นเล่าบ้าง

03 สื่อสารตรงกลุ่ม เจาะคนรุ่นใหม่ไม่เอาคอร์รัปชั่น

เมื่อมีโจทย์ต้านโกงและเป้าหมายคือการชวนคนรุ่นใหม่มาเข้าร่วม ทีมงานก็เริ่มคิดว่าต้องทำยังไงถึงจะสื่อสารออกไปให้ตรงเป้าหมายที่สุด

งานนี้พวกเขาจึงชวน Glow Story ที่เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารมาช่วยคุยกับคนเจเนอเรชั่นใหม่ในภาษาที่เป็นกันเอง เริ่มตั้งแต่การคอลแล็บกับเพจออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ที่อยากขับเคลื่อนสังคมเพื่อถ่ายทอดไอเดียการต้านคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็น Inskru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนสำหรับคุณครูทั่วประเทศ, Mayday กลุ่มคนที่พยายามแก้ปัญหาขนส่งสาธารณะด้วยงานออกแบบ, ELECT บริษัท civic tech สัญชาติไทยที่สนใจประเด็นทางสังคมไปจนถึง ‘พูด’ เพจที่เล่าเรื่องผ่านวิดีโอสไตล์เท่ๆ กวนๆ ย่อยเรื่องคอร์รัปชั่นที่ฟังดูยากให้เข้าใจง่าย

นอกจากนี้พวกเขายังชวนเพจ GroundControl เพจของคนที่สนใจศิลปะและงานออกแบบมาร่วมจัดกิจกรรมสนุกๆ เช่น ไลฟ์ ‘Self-Quarantour EP. VIRชั่ว TOUR’ ซึ่งชวนรุ่นใหญ่อย่างอาจารย์มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ ACT และต่อภัสสร์จาก HAND Social Enterprise มาคุยเรื่องโกงพร้อมกับพาไปดูภาพสถานที่ที่การโกงเกิดขึ้นจริงตั้งแต่ถนนหน้าบ้านไปจนถึงอาคารรัฐสภา

นอกจากจะชวนพูดคุยกันถึงพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ในน้ำเสียงที่เข้าถึงง่าย เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเข้ามาจอยกับการต้านคอร์รัปชั่น เว็บไซต์โครงการยังเลือกดีไซน์ให้โปรเจกต์ต้านโกงกลายเป็นเกมสนุกๆ ไม่เคร่งขรึมเหมือนโปรเจกต์ทั่วไป

ส่วนที่สนุกที่สุดน่าจะเป็นการดีไซน์ครีเอทีฟคอนเซปต์และการสื่อสารในเว็บไซต์ actkathon.actai.co ซึ่งทีม Glow Story ได้แรงบันดาลใจมาจากเกม 8-bit อย่าง PAC-MAN โดยเมื่อเข้าไปในเว็บไซต์เราจะเจอกราฟิกสไตล์เกมเรโทรพร้อมวิดีโออธิบายคอนเซปต์งานแฮกกาธอนที่เล่าผ่านตัวละครซึ่งกำลังตะลุยด่านต่างๆ ไปเรื่อยๆ 

“คอนเซปต์คือเรากำลังบอกว่าการวิ่งไล่จับผู้ร้ายในกระดานนี้มันไม่เวิร์ก เราต้องมาล้มกระดานให้มันเป็นกระดานใหม่ที่ถูกต้อง ตรวจสอบง่าย และสร้างระบบใหม่” นภัส มุทุตานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งครีเอทีฟเอเจนซี Glow Story อธิบาย

04 virtual hackathon ที่อยากสร้างประสบการณ์ลดความชั่วไปด้วยกัน

“คนสมัครมากกว่า 500 คน เกือบร้อยทีม เซอร์ไพรส์มากๆ ไม่คิดเหมือนกันว่าคนจะสมัครเยอะขนาดนี้และเป็นกลุ่มคนที่หลากหลายด้วย”

ศักรินทร์ ไกรสิทธิ์ ตัวแทนจาก RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรที่มาช่วยออกแบบการทำ virtual hackathon พูดถึงผลตอบรับโครงการ

ใครจะเชื่อว่าการต้านโกงที่ดูเป็นหัวข้อเคร่งเครียดจะมีกลุ่มคนที่สนใจหลากหลายตั้งแต่นักศึกษา กลุ่มคนทำงานด้านสตาร์ทอัพสายเทคฯ ไปจนถึงคนรุ่นใหญ่อายุ 70 ปี ที่แม้จะไม่คุ้นเคยกับกระบวนการแฮกกาธอนแต่อยากร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม

หลังจากคัดเลือกไอเดียที่แปลกใหม่ เกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ และคุ้มค่าต่อการลงทุนแก้ปัญหา เราก็ได้ 20 ทีมที่พร้อมจะตะลุย ACTkathon ไปด้วยกัน

ศักรินทร์เล่าว่าก่อนหน้านี้พวกเขาวางแผนจะจัดกิจกรรมนี้แบบออฟไลน์ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมออนไลน์ ซึ่งพวกเขาพยายามคงไว้ทั้งความสนุกและสาระ เช่น การใส่กิมมิกสำหรับกล่องของที่ระลึก การวางโจทย์ให้เกิดความรู้สึกแข่งขัน และคงไว้ซึ่งเซสชั่นขอคำแนะนำจากเมนเทอร์ผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปของเมืองไทยทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์และวิทยาศาสตร์ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ ACT, บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), Data Specialist จากบริษัท บุญมีแล็บ จำกัด และอีกมากมาย

เมื่อผ่านการลงมืออย่างจริงจังพร้อมรับคำปรึกษาจากเมนเทอร์ โครงการก็ได้ 5 ไอเดียล้ำๆ ที่เข้ารอบสุดท้ายอย่าง

  • PICA เรดาร์จับโกง แอพพลิเคชั่นที่ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการภาครัฐ
  • Corruption Analysis กินยกแก๊ง แพลตฟอร์มวิเคราะห์ความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง เครือข่ายธุรกิจ และเครือญาติ เพื่อหาความผิดปกติในการคอร์รัปชั่น
  • ขิงบ้านเรา แพลตฟอร์มที่จะพาไปทำความเข้าใจการใช้งบประมาณของท้องถิ่นให้มากขึ้น
  • Voice of Change แอพพลิเคชั่นที่ผลักดันการส่งเรื่องร้องเรียนโดยไม่ระบุตัวตน
  • Blocklander แพลตฟอร์มที่ใช้ข้อมูลแผนที่และภาพถ่ายดาวเทียมมาวิเคราะห์ตรวจจับการคอร์รัปชั่นด้านสิ่งแวดล้อม

“สิ่งที่ทุกทีมมีเหมือนกันคือวิธีคิด พวกเขาเอาความต้องการของประชาชนมาเป็นหัวใจในการพัฒนาเครื่องมือแล้วค่อยเอาเทคโนโลยีมาเสริมเพื่อให้เครื่องมือเหล่านั้นเข้าถึงคนและถูกนำไปใช้จริงๆ” นภัสเล่าถึงความเจ๋งของไอเดียของผู้เข้าแข่งขัน

“ผมรู้สึกมีความหวัง ได้เห็นไอเดียที่เรามองว่าต่อให้คิดอีกกี่ปีเราก็คิดไม่ออก แต่พอมีคนมาช่วยคิดแล้วมันเจ๋งดี ทำให้รู้สึกว่าปัญหาคอร์รัปชั่นที่ดูเปลี่ยนแปลงไม่ได้มันน่าจะเปลี่ยนได้จริงๆ นะ“ ต่อภัสสร์เสริม

05 ไม่ใช่ก้าวแรกแต่เป็นก้าวต่อไป

“สิ่งที่เรามองหาคือไอเดียที่มีอิมแพกต์ สามารถใช้งานต่อยอดได้จริง และที่สำคัญคือต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มได้ง่ายและสะดวกมากที่สุด” กิตติเดชจาก ACT เล่าถึงเกณฑ์ในการตัดสิน

“ตอนนี้เราอยู่ระหว่างวางแผนวิธีการว่าจะต่อยอดและหาทุนสนับสนุน พัฒนาต่อยอดไอเดียในโครงการให้เป็นรูปธรรมได้ยังไงบ้าง ซึ่งไอเดียของ 5 ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายสามารถเชื่อมโยงกันได้หมด และมีบางส่วนที่สามารถนำมาพัฒนาเสริมกับระบบที่มีอยู่แล้วได้เลย ส่วนในปีถัดๆ ไปเราก็ยังอยากจัดงานแฮกกาธอนในโจทย์อื่นๆ อีก เพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่เราอยากขับเคลื่อน

“ทางข้างหน้าที่เราจะเดินไปคงเน้นเรื่องการทำ open data, open governance และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับเข้มข้นในด้านการกำหนดการตัดสินใจ และกำหนดทิศทางในการบริหารจัดการบ้านเมืองในทางที่ประชาชนต้องการเห็น” ผู้อำนวยการ ACT กล่าวทิ้งท้าย


ใครมีไฟในการต้านโกง ทีมงานอยากชวนร่วมงาน ACT DAY 2021 ภายใต้ธีม ‘คบเด็กสร้างชาติ’ ที่ชวนคนรุ่นใหม่มาสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างชาติกันใหม่ให้ไร้การทุจริตในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติ 6 กันยายนนี้ ภายในงานจะนำเสนอเครื่องมือจาก 3 ทีมผู้ชนะ ACTkathon พร้อมล้อมวงสนทนาหาแนวทางการนำไอเดียจากคนรุ่นใหม่ไปต่อยอดให้เกิดขึ้นจริงไปกับ ACT และตัวแทนจากหลากหลายองค์กรของรัฐ

AUTHOR