howareyoupatani.com เสียงจากคนสามจังหวัดชายแดนใต้ที่อยากให้ทุกคนรับฟัง

ถ้าให้คุณลองนึกภาพตัวเองใช้ชีวิตในพื้นที่ความขัดแย้งและความรุนแรงนาน 17 ปี คุณคิดว่าตอนนี้จะเป็นยังไงบ้าง?

17 ปี คือระยะเวลาที่นานเท่ากับชีวิตของวัยรุ่นคนหนึ่ง ซึ่งเทียบเท่ากับที่คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเติบโตขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ ‘ไม่ปกติ’ แต่พวกเขากลับต้องใช้ชีวิตให้เหมือน ‘ปกติ’ 

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ ภาพที่เห็นในข่าว เรื่องเล่ากระแสหลักที่ออกมาตามสื่อ ทำให้ความรุนแรงและความขัดแย้งกลบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนธรรมดาไปไม่น้อย เรารับรู้แค่ว่าคนในพื้นที่ต้องอยู่กันอย่างยากลำบาก แต่เราไม่รู้รายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง พวกเขาใช้ชีวิตกันยังไง และที่สำคัญ ในความขัดแย้งอันยาวนานนี้ ความรู้สึกของพวกเขาเป็นยังไงบ้าง และอะไรคือความคับข้องใจตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี

เหล่านี้คือสิ่งที่ Peace Resource Collaborative (PRC) หรือศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ พยายามจะนำเสนอให้คนในสังคมได้เห็น PRC เป็นองค์กรที่ทำงานด้านสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยฐานข้อมูลทางวิชาการ พวกเขาเชื่อว่าถ้าหากเรารับรู้ปัญหาร่วมกันอาจจะนำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาในระดับประเทศ​ ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีมานี้ที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวเรื่องการเมือง และปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับความสนใจมากขึ้น PRC จึงอยากให้ทุกคนได้รับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นจากคนในพื้นที่จริงๆ

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ถนัดงานด้านการสื่อสาร Glow Story และ Inside the Sandbox จึงได้เข้ามารับหน้าที่ออกแบบวิธีการเล่าให้เรื่องราวกว่า 17 ปีของคนในสามจังหวัดฯ ส่งต่อมาถึงเพื่อนร่วมประเทศ ผ่านเว็บไซต์ที่ชื่อว่า howareyoupatani.com 

หากคุณลองกดเข้าไปฟังตอนนี้ ฟังก์ชั่นและฟอร์แมตอาจจะคล้ายกับการเล่าเรื่องที่ใครหลายคนอาจเคยสัมผัสมาใน ‘Deadline Always Exists’ และ ‘วิชาชีวิต’ แต่สิ่งที่ต่างออกไปจากนั้นคือ เว็บไซต์นี้ไม่มีอะไรให้คุณตอบ

อันที่จริงคือแทบจะไม่มีอะไรให้คุณทำเลย นอกจากรับฟังเสียงเหล่านั้น

ท่ามกลางความขัดแย้ง ความปลอดภัยของเจ้าของเสียง และอีกหลายกระบวนการทำงานกว่าจะออกมาเป็น ‘เสียง’ ใน howareyoupatani.com นั้นเกิดขึ้นได้ยังไง ลองไปฟังเรื่องเล่าจาก Norbert Ropers ผู้อำนวยการประจำ PRC, ม็อบ–เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ และ เจนนี่–ณัฐวดี คงแสง จาก Glow Story, มินนี่–เมธาวจี สาระคุณ และ เม–ศุภกานต์ ผดุงใจ จาก Inside the Sandbox ผู้ออกแบบเว็บไซต์อินเทอร์แอ็กทีฟอย่าง Deadline Always Exists 

10 ปีกับสถานการณ์แก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ความขัดแย้งในสามจังหวัดฯ มีหลายประเด็นที่ทับซ้อนกันอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องพื้นที่ ประวัติศาสตร์ ศาสนา การกดขี่ ไปจนถึงความรุนแรงที่ก่อตัวมากขึ้นในช่วง 20 ปีหลัง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ PRC เข้ามาทำงานเจรจาเพื่อสร้างพื้นที่ต่อรองให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงแล้วหันมาพูดคุยแก้ปัญหาไปด้วยกัน

“เราเริ่มต้นจากการทำงานเป็นกลุ่มเล็กๆ ด้วยการเชิญตัวแทนจากทุกชุมชนในชายแดนใต้มาคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือมุสลิม แล้วจึงสร้างเครือข่าย Insider Peacebuilders Platform (IPP) ที่ชวนให้คนในแต่ละชุมชนมาพูดคุยเพื่อหาทางทำงานและแก้ปัญหาร่วมกัน” นอร์เบิร์ตเล่าถึงการทำงานของพวกเขาที่จะต้องคุยกับคน ‘ทุกกลุ่ม’ ซึ่งหมายถึงการเข้าไปคุยกับผู้มีอำนาจทั้งทางรัฐไทยและตัวแทนจากคู่ขัดแย้งด้วย โดยการพูดคุยหรือทำงานแต่ละครั้ง PRC จะทำข้อตกลงในการเจรจาหรือทำงานร่วมกันที่ทุกฝ่ายโอเคและยอมรับได้

เราคงนึกภาพไม่ออกว่าการเจรจาจะดำเนินไปได้ยังไง ในเมื่อข่าวความรุนแรงและสถานการณ์ตึงเครียดมีให้เห็นมาหลายครั้ง ผู้อำนวยการแห่ง PRC จึงเล่าประสบการณ์และการสังเกตการณ์ให้ฟังว่า

“ถ้าคุณดูระยะเวลาตลอด 20 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าความรุนแรงเริ่มเบาลงตั้งแต่มีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการของทั้งสองฝ่าย แต่มันก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องพูดคุยกันอยู่ เพราะความกังวลหนึ่งที่ผมมองเห็นคือ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่เคารพอีกฝ่ายเพื่อหยุดความรุนแรงลง 

“แต่พวกเราพยายามที่จะให้คนทุกกลุ่มในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่คู่ขัดแย้งสองฝั่งเท่านั้น แต่รวมถึงคนธรรมดาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และหวังว่าสักวันความเปลี่ยนแปลงจะมาถึง ดังนั้นเราควรให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมกับการหาทางออกด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ความขัดแย้ง แต่รวมถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆ” 

ตลอดการทำงานกว่า 10 ปีของ PRC นั้นไม่ง่ายเลย นอร์เบิร์ตยอมรับว่าหลายครั้งทำให้เขาผิดหวัง แต่เขายังไม่ยอมแพ้ เพราะในฐานะแอ็กทิวิสต์สายสันติภาพ เขายังเชื่อว่าการพูดคุยที่สร้างบรรยากาศให้ทุกคนรู้สึกวิน-วินกันทุกฝ่ายจะนำไปสู่ทางออกได้ และทีม PRC ก็พยายามทำเช่นนั้นมาโดยตลอด

“สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคม และผมพูดได้ว่ามันเป็นความหวัง คือตั้งแต่มีการเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วง 2-3 ปีมานี้ ได้สร้างสถานการณ์ใหม่ให้กับพื้นที่ชายแดนใต้เหมือนกับที่เกิดขึ้นในส่วนกลาง แอ็กทิวิสต์ที่เป็นคนรุ่นใหม่หลายคนเข้าร่วมในการเรียกร้องครั้งนี้ คิดว่าเรามีเพื่อนที่เดินทางไปด้วยกัน มีเพื่อนวัยเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ที่เข้าใจเรา

“สิ่งที่ทำให้เราประทับใจมากๆ คือนักเคลื่อนไหวในส่วนกลางตอนนี้ก็พยายามที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และพูดคุยปัญหาจากนักเคลื่อนไหวภาคใต้ แม้ว่าช่วงนี้จะลงถนนกันน้อยลง แต่ทั้งสองกลุ่มก็ยังมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่”

นอกจากนี้ นอร์เบิร์ตยังสังเกตเห็นว่า นักกิจกรรมรุ่นใหม่ยังเชื่อว่าถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับประเทศให้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยจะทำให้เกิดการแก้ปัญหาในภาคใต้ได้ ซึ่งต่างจากในอดีตที่นักกิจกรรมภาคใต้มักมองว่าพวกเขาควรเป็นอิสระจากกลุ่มอื่นๆ 

“สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และผมคิดว่ามันเป็นพัฒนาการที่ดีที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีมากๆ เพราะจากการทำงานของผมกับทีมที่ผ่านมา พวกเราเห็นตรงกันว่าปัญหาในภาคใต้ไม่สามารถแก้ไขได้จากคนในพื้นที่หรือคู่ขัดแย้งสองฝั่งเพียงอย่างเดียว แต่คนทั้งประเทศต้องเห็นตรงกันว่าปัญหานี้ควรแก้ไขและมาร่วมมือกัน”  

คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ‘เป็นยังไงบ้าง’

จากสิ่งที่นอร์เบิร์ตอธิบายมาทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลที่ทีม PRC อยากนำเรื่องราวชีวิตของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาสื่อสารถึงคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในรายละเอียดหรือข้อมูลบางอย่างที่คนอาจจะรับรู้กันน้อย ซึ่งทีม Glow Story และ Inside the Sandbox ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มาช่วยหยิบมุมมองและวิธีการสื่อสารที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกัน

“ที่ผ่านมา Glow Story ทำงานเกี่ยวกับอินไซต์คนเยอะ พอเป็นประเด็นสามจังหวัดฯ สิ่งแรกที่เรากังวลคือเราจะทำอะไรที่เป็นการคิดแทนคนในพื้นที่หรือเปล่า ดังนั้นก่อนที่จะคิดคอนเซปต์ เราจึงมี 2 ส่วนหลักที่ต้องทำ คือหนึ่ง–พูดคุยกับคนในพื้นที่ และสอง–คุยกับกลุ่มเป้าหมายของเราคือคนรุ่นใหม่ เพื่อทำความเข้าใจว่าเขามีการรับรู้ถึงเรื่องภาคใต้ยังไงบ้าง” เจนนี่เริ่มต้นเล่าถึงการทำงานในช่วงแรก

การรีเสิร์ชเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี สิ่งที่พวกเขาพบคือพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อน และมีหลายประเด็นที่ไม่อาจตัดสินได้ด้วยมุมมองของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นจากประวัติศาสตร์เจ้าของพื้นที่ระหว่างสยาม-มลายูเมื่อหลายร้อยปีก่อน ความขัดแย้งในมุมมองศาสนา ความรุนแรงที่ใช้ทำลายกันเองทั้งสองฝ่าย และปัญหาอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่

“เราถกกันเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติเวลาเราทำงานสื่อสาร สิ่งสำคัญคือเราต้องหาเมสเซจว่าอยากให้คนฟังรู้สึกอะไร แต่สิ่งที่ยากก็คือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีข้อเรียกร้องแค่ข้อเดียว ไม่ได้มีทางออกทางเดียว มันเป็นพื้นที่สีเทาที่ยากจะบอกว่าใครถูกใครผิด” มินนี่พูดถึงช่วงแรกที่พวกเขาคิดคอนเซปต์ ก่อนจะอธิบายที่มาที่ไปซึ่งทำให้พวกเขาตกตะกอนออกมาเป็นเมสเซจที่อยากสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในที่สุด

“เรามองว่าพอถึงจุดหนึ่งที่คุณรู้ข้อมูลบางส่วนมาแล้ว แล้วจะต้องตัดสินใจว่าคุณอยากเข้าข้างใคร หรือเชื่อในเรื่องไหน ไม่เชื่อในเรื่องไหน เราอยากให้คุณเอาความเป็นมนุษย์มาใช้ในการตัดสินใจด้วย 

“เราจึงอยากให้คุณรับรู้ว่าชีวิตของคนตรงนั้นเป็นยังไง เราอยากให้คุณมองมันมากกว่าตัวเลขสถิติ หรือมากกว่าปรากฏการณ์หนึ่ง อยากให้มองลึกลงไปให้เห็นชีวิตของเด็กคนหนึ่ง ที่ตั้งแต่เกิดจนโตมาเขาไม่เคยเข้าใจเลยว่าบ้านที่ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะหน้าตาเป็นยังไง” 

นี่จึงเป็นที่มาของโปรเจกต์ howareyoupatani.com ที่ต้องการพูดถึงชีวิต 17 ปีที่ผ่านมาของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งใช้วิธีการใส่เสียงของคนในพื้นที่มาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด ให้ความรู้สึกเหมือนเราโทรไปหาเพื่อนเก่าเพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ชีวิตเขาเป็นยังไงบ้าง เกิดอะไรขึ้นตลอดเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่พวกเขาต้องเติบโตภายใต้ความขัดแย้งที่ไม่รู้ว่าจะจบลงวันไหน

รับฟังเสียงของความเป็นมนุษย์

หลังจากได้คอนเซปต์เรื่อง ‘เสียง’ ของคนในพื้นที่แล้ว คำถามที่ตามมาคือ จะมีเสียงของใครบ้างที่บรรจุอยู่ในเว็บไซต์ให้คนได้เข้าไปฟัง

“เราพยายามเลือกให้มีคนหลากหลายที่สุด เพราะหลักการทำงานของ PRC คือการสร้างบทสนทนาให้เกิดขึ้น ไม่ใช่การเลือกข้าง เขาไม่ได้ทำงานเพื่อชี้ว่าฝั่งนี้ผิด ฝั่งนั้นถูก แต่พยายามให้ทุกคนมาคุยกัน รับฟังกัน หรือสร้างความเข้าใจผ่านมุมมองที่มันหลากหลาย เพราะสุดท้ายมันไม่ได้มีถูกหรือผิดทั้งหมด” ม็อบอธิบาย

อีกด้านหนึ่ง การเลือกประเด็นหลากหลายก็เพื่อให้คนนอกพื้นที่ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีแค่ประเด็นความรุนแรงหรือศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องซับซ้อนที่ทุกคนต้องรับฟังมากกว่านั้น 

“ตอนรีเสิร์ช กลุ่มเป้าหมายมีภาพจำเรื่องความรุนแรงแล้ว แต่เขาก็ยังมองเป็นเรื่องไกลตัวอยู่ดี ไม่ได้รู้สึกรีเลตกับปัญหา เราเลยจะต้องมีประเด็นที่ทำให้คนรู้สึกใกล้ชิด ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใช้ในชายแดนใต้มา 17 ปีแล้ว เราก็อยากรู้ในแง่ที่ว่าเขาอยู่กันยังไงให้มีความหวังภายใต้การควบคุมแบบนี้ ในขณะที่พวกเราอยู่กับมันมา 5-6 ปี และช่วงหลังๆ ตอนโควิด-19 เรายังแทบจะอยู่กันไม่ได้” เจนนี่เล่าถึงช่วงที่ทีมรีเสิร์ชและนำมาคุยกัน

นอกจากนี้ ในประเด็นความใกล้ชิดที่อยากให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงยังมีเรื่องความคิดของคนในวัยเดียวกัน ซึ่งเป็นการพูดคุยกับเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงมีประเด็นหนักๆ สำหรับคนที่สนใจปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคม เช่น การอุ้มหาย การซ้อมทรมาน และยังมีเรื่องคนที่อาจจะยังไม่มีพื้นที่สื่อให้ได้สื่อสารมากนัก

“อย่างเรื่องเจ้าหน้าที่เองเราก็ได้คุย และตั้งใจว่าจะอยู่ในเว็บไซต์ด้วย เพราะช่วงหลังๆ เจ้าหน้าที่จะเป็นตัวร้ายในการรับรู้ของคนมากขึ้น เราก็อยากรู้ว่ามันมีมุมไหนบ้างที่เรายังไม่รู้ แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ใส่เข้าไป เพราะด้วยเรื่องความปลอดภัยของเขา” นักเล่าเรื่องจาก Glow Story พูดให้เราเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เพราะความปลอดภัยและความยินยอมพร้อมใจให้นำเรื่องราวมาเผยแพร่เป็นประเด็นที่ทีมงานให้ความสำคัญที่สุด เมเล่าว่าทุกขั้นตอนการทำงานจะต้องถามความสมัครใจจากคนเล่าตั้งแต่ครั้งแรกที่คุย ตอนตัดต่อเสียงเสร็จแล้วก็จะต้องส่งไปให้เจ้าของเสียงฟัง

“อย่างกรณีของเจ้าหน้าที่รัฐ ตอนที่เราคุยครั้งแรกเขาโอเค สามารถพูดได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง พอเราเอาเสียงเขามาเลือกเมสเซจนี้แล้วส่งกลับไปให้เขาเช็กอีกที เขาให้คำตอบมาว่า ตอนนี้รู้สึกไม่สบายใจที่จะให้ใช้เสียงในเว็บไซต์ เพราะว่ามันค่อนข้างเสี่ยง สามารถชี้ตัวได้ว่าอยู่หน่วยไหน ถ้าเขาเอาเสียงนี้เผยแพร่ออกไป มันจะมีเทคโนโลยีที่ดึงเสียงกลับมาให้ใกล้กับเสียงเดิมด้วย มันจึงมีสิทธิจะตามตัวได้”

นอกจากความปลอดภัย อีกเรื่องที่ทีมงานต้องทำงานกันอย่างหนักคือ เสียงที่ออกมาจะต้องให้ความรู้สึกเหมือนคนพูดกำลังบอกเล่าความเป็นไปของชีวิตให้เพื่อนหรือคนรู้จักฟัง ซึ่งจะมีน้ำเสียงคนละแบบกับการตอบคำถามอย่างเป็นทางการ ทำให้ทีมงานต้องสร้างสภาพแวดล้อมและวิธีการทำงานให้ตอบโจทย์

“อย่างเมจะชวนคุยเรื่องทั่วไปก่อนเพื่อให้เขาผ่อนคลายและรู้จักชีวิตของเขา จนจุดหนึ่งที่เมรู้สึกว่าโอเคแล้ว เมจะถามเขาว่าถ้าสมมติมีโทรศัพท์สายหนึ่งโทรเข้ามา อาจจะเป็นเมหรือคนนอกพื้นที่ที่เขาไม่ได้อยู่ตรงนี้ หรือเขาไม่ได้มาประสบพบเจอในสิ่งที่พี่เล่าให้ฟัง แล้วถามคุณว่าสบายดีไหม เป็นยังไงบ้าง เขาอยากจะพูดอะไร

“ซึ่งมันจะได้คำตอบก้อนนั้นที่ทุกคนจะตอบว่า สบายดี แต่ว่าถ้าเราฟังเสียง เราจะรู้ว่ามันเป็นความสบายดีที่ไม่ได้สบายจริงๆ เพราะบางคนตอบว่าสบายดีแต่พอเล่าเสร็จก็ร้องไห้ออกมา” เธอพูดถึงเสียงของคนหนึ่งที่เล่าประสบการณ์ในชีวิต ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ 

มากไปกว่าข้อมูล เมและทีมยืนยันว่าพวกเขาต้องใส่ใจไปถึงความรู้สึกของเจ้าของเรื่องด้วย 

ยิ่งบางเคสยังต้องมีวิธีการทำงานที่ดูแลใจของคนเล่า โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่ถูกซ้อมทรมาน และมีสภาวะทางจิตใจหลังเกิดเหตุการณ์กระทบกระเทือนรุนแรง (post-traumatic stress disorder–PTSD) ซึ่งคงไม่สามารถเล่าเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตได้ เจนนี่เป็นคนรับหน้าที่ดูแลเคสนี้จึงเล่าถึงกระบวนการทำงานเหล่านี้ให้เราฟัง

“เล่าก่อนว่าเริ่มแรกเราทุกคนปรึกษากับนักจิตวิทยาว่าเราจะต้องจัดการยังไงเพื่อไม่ให้เรื่องที่คุยกระทบกับความรู้สึกเขา เพราะพอมันเป็นการคุยกันผ่านเสียง ถ้ามันทำให้เขามีอาการแพนิกหรืออะไรก็ตาม เราไม่สามารถเข้าไปชาร์จเขาได้ในตอนนั้น”

“แล้วเราได้รับเคส PTSD มาเยอะ แต่ส่วนหนึ่งก็รู้สึกรีเลตกับตัวเอง เพราะเราก็เป็นจากตอนโดนหมากัด เราเลยต้องออกแบบกระบวนการคือ หนึ่ง–เป็นช่วงที่ชวนเขาคุยเพื่อให้ผ่อนคลาย พาร์ตนี้จะเหมือนกับเม สอง–เราต้องเคลียร์ เพราะเขาอยู่กับความคลุมเครือมาตลอดชีวิต เขาจะมีความระแวงเป็นปกติ เราจึงต้องทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นคนที่จะฟังเขาโดยไม่ตัดสิน ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม สุดท้ายคือเราต้องช่วยทำให้เขาได้ระบาย วางมันทิ้ง เล่าจบก็คือจบ ถ้าเขาร้องไห้ก็ให้เขาร้อง ทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นเซฟโซนได้” 

“พอเขาเล่าจบ เราจะลองให้เขาจินตนาการว่ากำลังโทรหาตัวเราในอดีต ตรงนี้คือส่วนที่เราไม่เอาไปเผยแพร่ แต่อยากให้เขาได้พูดอะไรกับตัวเอง ให้คุยแล้ว empower ตัวเอง มันเลยทำให้เขารู้สึกว่าเขาจะผ่านมันไปได้ ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนที่เข้ามาติดต่อกับเคสนี้ให้โทรมาขอบคุณเราที่ทำให้เขาผ่านความรู้สึกเหล่านี้ไปได้”

ต่อให้คุณไม่รู้จะเลือกข้างไหน จงเลือกข้างความเป็นมนุษย์

ในแง่กระบวนการนำเสนอ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทีมงาน Inside the Sandbox ผู้มีประสบการณ์ในการสร้างเว็บไซต์อินเทอร์แอ็กทีฟอย่าง Deadline Always Exists และวิชาชีวิต ที่อนุญาตให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาในหลายแง่ โดยเฉพาะการตอบคำถาม แต่สำหรับเว็บไซต์ howareyoupatani.com สิ่งเหล่านี้หายออกไปจากหน้าจอที่คุณได้สัมผัสทั้งหมด

“ปกติเราจะพยายามหาลูกเล่น หาซาวนด์ พยายามหาประสบการณ์ให้มัน build up ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายแล้วเรากลับมาที่ไอเดียที่เบสิกที่สุด นั่นคือโทรศัพท์สายหนึ่งที่มนุษย์โทรหากัน” มินนี่เล่าก่อนขยายความต่อ

“จากสิ่งที่เราคุยมา เราได้เห็นความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ถ้าถามว่าเราอยากให้คนฟังเห็นอะไร ก็คงอยากให้เขาได้เห็นความเป็นมนุษย์แบบที่เราเห็น การทำให้คนฟังมันดีที่สุด เพราะ 17 ปีที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ฟังเสียงพวกเขาเลย” 

“เราว่ามันกลับมาที่ call to action สุดท้ายแล้วปัญหามันมีหลายทางออกมาก แล้วคนที่จะต้องอยู่กับมันนั่นแหละที่จะต้องเป็นคนเสนอทางออก ซึ่งแน่นอนว่ามันคือคนในพื้นที่ แต่ทีนี้เสียงที่มันดังมากๆ มันดันไม่ใช่เสียงพวกเขา” เจนนี่ช่วยเสริมก่อนจะพูดต่อว่า

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ PRC ต้องการคือถ้าวันใดวันหนึ่งคนในพื้นที่เกิดเสนอข้อเรียกร้องอะไรขึ้นมา call to action ที่อยากได้จากคนส่วนใหญ่ในประเทศคือ คุณอย่าเพิ่งตัดสินว่าสิ่งที่เขาขอมันถูกหรือผิด คุณฟังเขาก่อน ฟังว่าเพราะอะไรเขาถึงขออย่างนี้ วันหนึ่งเขาอาจเสนอขึ้นมาว่าฉันต้องการเขตการปกครองพิเศษ หรือเสนอมาว่าขอแยกออกจากประเทศไทยเลย หรือต่อให้เขาบอกว่าฉันต้องการเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐไทยอยู่ ไม่ว่าเขาจะขออะไร อย่าเพิ่งตัดสิน ฟังก่อนว่าเพราะอะไร นั่นคือ call to action ของเรา” 

“สุดท้ายแล้ว การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ทุกคนคิดเหมือนกันแล้วมันเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงมันเกิดจากการถกเถียงแล้วเปลี่ยน แล้วถกเถียงใหม่ แล้วเปลี่ยนใหม่ บางทีสิ่งที่เราทำในยุคนี้อาจจะเป็นเรื่องผิดในยุคต่อไปก็ได้ แต่สุดท้ายมันเกิดจากการที่เราถกเถียงแล้ว ไม่ใช่การยึดอำนาจแต่เพียงผู้เดียวแล้วบอกให้มันเปลี่ยนแปลง” มินนี่พูดขึ้น

ดังนั้น 10 เสียงที่คุณจะได้ฟังในเว็บไซต์นี้จึงประกอบไปด้วยหลากหลายเรื่องราวและเหตุผลที่คนในพื้นที่พบเจอ บางเรื่องคุณอาจจะเคยได้ยินไปแล้ว บางเรื่องคุณอาจจะยังไม่เคยรับรู้มาก่อน แต่ท้ายที่สุดพวกเขาเหล่านี้ต้องการบอกกับคุณว่า คนในพื้นที่จริงๆ เจอกับอะไรบ้างตลอด 17 ปีในชีวิตที่ไม่ปกติแต่ต้องทำให้มันเป็นปกติ

AUTHOR