สวัสดีค่ะนักเรียน วันนี้เราจะพาทุกคนไปทัศนศึกษาในโลกต้นไม้จิ๋วที่สวนเบญจกิตติกัน!
อยากให้คุณจินตนาการว่าตัวเองกำลังอยู่ในสวนสาธารณะที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มือซ้ายกำลังกำแว่นขยายไว้ส่องต้นพืชนานาเล็กจิ๋ว ข้างๆ มีดอกไม้หลากสีสันที่เย้ายวนเหล่าแมลงตัวน้อยที่บินมาดูดเกสร ส่วนอีกมือหนึ่งเตรียมสวมหมวกให้พร้อมแล้วเดินตามครูมล-สิรามล ตันศิริจากเพจ Monature นักสื่อสารธรรมชาติที่อยากชวนทุกคนมาสัมผัสโลกสีเขียวให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ผ่านทริปภาพและตัวอักษรนี้
หากให้สอนเรื่องต้นไม้ ดอกไม้ แมลงหรือธรรมชาติต่างๆ รอบตัวแก่นักเรียน สิ่งเหล่านี้ถ้าอยู่ในตำราเรียนไทย คงจะอธิบายด้วยหลักการและทฤษฎีต่างๆ ด้วยศัพท์เฉพาะทางวิทยาศาสตร์แปลกตา เชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนอาจจะเผลอเอามือปิดปากหาวทีละสองสามครั้ง
ในทางกลับกันถ้าเราพาเด็กออกไปเรียนรู้และสัมผัสธรรมชาติของจริงละ ได้เห็นว่าใบไม้ต่างๆ มีลักษณะอย่างไร บางใบก็เรียว บางใบก็อ้วน บางใบโดนตัวก็หุบ บางดอกไม้ก็กินได้ หรือรูเล็กๆ ในดินเหล่านั้นมีแมลงตัวเล็กๆ ที่กำลังแอบพรวนดินอยู่ คุณคงรู้สึกอยากรู้อยากเห็นไม่ใช่น้อย แถมยังอยากทำความรู้จักสิ่งเหล่านั้นมากกว่าเคย
เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการได้สัมผัสด้วยตัวเอง ความตั้งใจตั้งต้นของสิรามลนี้เกิดขึ้นเมื่อตอนที่เธอเคยเป็นคุณครูสอนวิทยาศาสตร์ในจังหวัดกาญจนบุรี รอบข้างโรงเรียนมีต้นไม้น้อยใหญ่และธรรมชาติที่โอบล้อมอุดมสมบูรณ์ สำหรับคนที่หลงรักธรรมชาติอย่างเธอที่ได้เห็นบรรยากาศรอบข้างดังกล่าว แทบจะกรี๊ดทันทีเมื่อได้เห็นในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อใจแบบนี้
แต่ตัดภาพไปที่เด็กนักเรียนทำหน้างงว่า ครูมลจะตื่นเต้นอะไรหนักหนา?
ในตอนนั้นเธอคิดว่า มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะทำให้เด็กๆ ได้ซึมซับของดีจากธรรมชาติรอบตัวที่พวกเขาอาศัยอยู่ ด้วยการลองดีไซน์คอร์สสอนวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน
“เราอยากให้วิทยาศาสตร์มัน sexy สำหรับเด็ก มันควรจะต้องสอนอย่างอื่นมากกว่าในตำรารึเปล่า เราก็ชวนเด็กเข้าไปป่าชุมชนที่อยู่ข้างๆ โรงเรียน เรามีมิชชันเล็กๆ ชวนเขาสำรวจ ชวนเขาตามหาต้นไม้ต่างๆ และเราเห็นว่า เด็กมีแววตาที่เป็นประกายมากๆ เช่น ตอนที่เจอแมงมุมที่กำลังกางใยแล้วมันเป็นรูปตัวเอ็กซ์ซึ่งมารู้ชื่อชื่อทีหลังคือแมงมุมนุ่งซิ่น”
“เเล้วเด็กๆ ก็ชวนเราไปเป่าแมลงช้าง คือแมลงที่ชอบขุดดินเพื่อที่จะรอดักจับเหยื่อ ซึ่งเราไม่เคยรู้จักมันมาก่อนก็ถูกเรียกไปเลยจ้ะ แจกหลอดให้เราอันหนึ่งแล้วก็ปล่อยให้แมลงขึ้นมา ฉันก็แบบอะไรวะเนี่ย ตอนนั้นเราก็เหมือนเป็นเด็กมาก สนุกมากๆ ที่ได้ลองเล่นไปกับเขา”
“ในระหว่างเรียนเราเห็นแววตาของน้องๆ ที่เราไม่เคยได้เห็นในห้องเรียน แววตาของความอยากรู้อยากเห็นขนาดนี้ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าเด็กทุกคนเขามีเลนส์ของความสนใจใคร่รู้หรือความว้าวของโลกใบนี้มากเลย แต่มันไม่ได้ถูกใช้ออกมาในระบบการศึกษา เราเสียดายเลนส์นั้นมากๆ เลย เราเลยคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่าง ช่วยเปิดประตูให้เขา เพราะเรารู้สึกว่าเด็กทุกคนมีของอยู่ในตัว มีความน่าสนใจอะไรบางอย่าง แต่มันขาดคนออกแบบการเรียนรู้ที่จะพาพวกเขาไปเจอสิ่งนั้น”
วิชา ทฤษฎีศึกษาธรรมชาติ
ระหว่างมลทำงานเป็นคุณครูในต่างจังหวัด เธอได้เรียนรู้และเข้าใจประเด็นการศึกษาต่างๆ ที่ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงเรื่องธรรมชาติให้เข้าถึงคนได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นมุมเด็กที่มีความสนใจแต่ขาดระบบการเรียนรู้ที่ทำให้พวกเขาสนใจ ขณะเดียวกันคุณครูก็อยากหาวิธีสอนให้นักเรียนสนใจ แต่ไม่มีเครื่องมือและเวลาในการสอนพวกเขา นั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็นนักสื่อสารธรรมชาติ สื่อกลางให้คนอยากเรียนรู้ธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เลยตั้งออกมาเป็นเพจในเฟสบุ๊กว่า ‘Monature’ รวมชื่อของเธอ (Mon) และ ธรรมชาติ (Nature) เข้าไว้ด้วยกัน
“เรามีจุดมุ่งหมายจะทำเพจเป็นพื้นที่ชวนคนมาแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ แล้วก็ตอนนั้นเราไปเรียนโทต่อคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มันคือการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ แล้วก็ไปเจอว่า เราสามารถเอาสิ่งที่เราชอบ อย่างเรื่องธรรมชาติมารวมกับเรื่องการเรียนรู้แบบนี้ได้นี่หว่า”
“เราก็เลยดีไซน์ออกมาเป็นเวิร์กช็อปของตัวเอง จริงๆ มันก็เหมือนออกแบบการสอนในห้องเรียน แค่ในห้องเรียนกลุ่มเป้าหมายคือเด็กในแต่ละห้อง แต่ว่ากลุ่มเป้าหมายของเรากว้างขึ้น เขาจะเป็นใครก็ได้ที่สนใจ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่หรือวัยเกษียณ แต่ว่าจุดประสงค์ของการเรียนรู้ยังเหมือนเดิม”
ถ้าถามว่าสิ่งสำคัญในการเรียนรู้คืออะไร สำหรับมลคือการสร้างประสบการณ์ให้กับพวกเขาได้ลงมือทำเองมากกว่าการสอนให้ท่องจำและนึกภาพตาม “เราว่าการพูดๆ ไปเถอะในห้องเรียน เด็กมันจะไม่ซื้อ แต่ว่าเราดีไซน์คอร์สอะไรบางอย่าง เพื่อชวนให้เขามีประสบการณ์ตรงกับสิ่งนั้นได้ และลองให้ธรรมชาติเป็นคนบอกเขาเองว่า เขาจะได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งๆ นั้นบ้าง”
“เรารู้สึกว่าประสบการณ์ตรงสำคัญมากๆ นั้นคือการลงมือทำจริง ซึ่งคนเรามีความสนใจหรือมีความถนัดที่แตกต่างกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาจะมีวิธีมองธรรมชาติหรือมองต้นไม้ในแต่มุมมองแตกต่างกัน เราเคยไปเดินป่า เป็นสายชอบมองอะไรเล็กๆ ก็จะไปเจอพวกมอส ไลเคน เฟิร์นแล้วมันเป็นหน้าฝนอะเธอ มันมีหยดน้ำเกาะๆ น่าสนใจ”
“ตัดภาพที่เพื่อนฉันเป็นศิลปินยืนมองอะไรนะ แต่ในขณะเดียวกันมันไปเห็นรูปทรงของต้นเฟิร์นที่ม้วนงอ อันนี้มันเป็นสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยมเลย เขามองมันเป็นศิลปะ รูปร่าง เส้นสาย เราเลยรู้สึกว่า นี่ไง เลนส์ความสนใจของเขาคือเรื่องศิลปะ มันก็เป็นประตูบานหนึ่งของเขา สำหรับเราชอบดูอะไรเล็กๆ มันก็จะเป็นประตูเล็กๆ บานหนึ่งในเรื่องธรรมชาติของเราเช่นเดียวกัน”
ดังนั้นการสอนของมลจึงอยากเน้นให้ทุกคนได้มีโอกาสลองสัมผัสของจริง ทั้งการมองเห็น การเอามือไปจับ เอาหูไปแนบกับธรรมชาติหรือการทำศิลปะวาดรูปธรรมชาติใกล้ตัวเราให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
“เราชอบบันทึกธรรมชาติ มันไม่มีพิธีรีตองต้องวาดรูปสวย มันแค่ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับเขา เราแค่รู้สึกว่าความสัมพันธ์ของเรากับธรรมชาติจะพัฒนาได้ มันก็เหมือนกับแฟนเนี่ยแหละ ก็คือถ้าเธอไม่ได้ไปหาเขาเลยนะ คิดว่าความสัมพันธ์มันจะพัฒนาไหม ก็ไม่ ดังนั้นการไปใช้เวลากับมัน โฟกัสกับเขาจริงๆ มันก็เป็นการฝึกสังเกตด้วยนะ แล้วเราก็จะสงสัยว่า พืชพวกนี้มันมีประโยชน์อย่างไร”
วิชา สำรวจสวนวิทยา
คลาสเลกเชอร์ของมลจบแล้ว หลังเธอพูดจบก็พาเราไปเดินดูต้นไม้ของจริงในสวนเบญจกิติใจกลางกรุงเทพฯ พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่ของเหล่าพืชเล็กใหญ่ และแมลงตัวจิ๋วนานาพันธุ์ เรียกว่าเป็นระบบนิเวศทางธรรมชาติที่หนึ่ง ที่ทำให้คนได้ซึมซับเรื่องสิ่งแวดล้อมเห็นภาพชัดเจน
“นี่ไง ต้นหมอน้อยน่ารักไหม?” มลชี้ไปที่ต้นไม้ลักษณะคล้ายพุ่มหญ้า ตรงก้านแตกกิ่งออกเป็นดอกพู่เล็กๆ สีม่วงมากมาย มันเป็นพืชล้มลุกที่กระจายอยู่ตามสวน
“มันดูเหมือนพืชล้มลุกธรรมดา แต่จริงๆ มันเป็นสมุนไพรชั้นยอดเลยนะ มันมีคุณสมบัติทำให้อยากลดบุหรี่ เพราะเอาไปต้มแล้วรสชาติคล้ายชาและมันมีรสฝาดลิ้น”
กระเถิบไปต้นไม้ข้างๆ จะเจอกับดอกสุดฮิตที่หลายคนน่าจะชื่นชอบ นั่นคือ ‘ดอกเดซี่’ เกสรตรงกลางสีเหลืองล้อมรอบด้วยกลีบสีขาวเล็กๆ รู้หรือไม่ว่า ชื่อเต็มดอกจริงๆ ของมันคือ ‘Taiwanese daisy’ หรือจะเรียกว่า ‘ปืนนกไส้’ ก็ได้ มันเป็นวัชพืชไม้เลื้อยที่ขึ้นเก่งมากๆ แถมยังทนทานต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย
ระหว่างชมดอกเดซี่ อยู่ดีๆ มลก็โพล่งขึ้นมาว่า อยากลองกินเมล็ดเป๊าะแป๊ะไหม เราและทีมงานรีบส่ายหน้าหนีด้วยความไม่แน่ใจ เธอเห็นท่าทีของนักเรียนในทริปดูกังวลหนัก เธอจึงค่อยๆ เล่าเนื้อหาของดอกไม้นี้ทีละนิด ความเป็นจริงแล้วมันมาจากต้นต้อยติ่ง ดอกสีม่วงที่มักขึ้นอยู่ตามริมทางถนนทุกหนแห่ง เมล็ดของมันเป็นของเล่นสมัยเด็กๆ ที่คนชอบเอามาใส่น้ำแล้วเมล็ดจะแตกตัวเป็นเสียงเป๊าะแป๊ะดีดตัวออกมา
ยังไม่ทันพูดจบเธอก็หยิบเมล็ดเป๊าะแป๊ะใส่เข้าปากไม่นานนัก เราและทีมงานลุ้นไปกับเธอประมาณ 3 วินาที เจ้าเมล็ดดังกล่าวก็แตกตัวออกมา “มันแตกจริงๆ ด้วย” มลพูดด้วยความตื่นเต้น ขณะเดียวกันเราและทีมงานก็ลุ้นไปกับเธอ น้องที่มาด้วยก็เริ่มสนใจหยิบเมล็ดนี้จะเข้าปากเงียบๆ เหมือนกัน
สักพักเธอหยิบกล่องเล็กๆ ออกมา ภายในนั้นมีเมล็ดพันธุ์พืชจิ๋ว ดอกไม้และแมลงหน้าตาน่าสนใจมากมาย พร้อมหยิบมาเล่าให้ฟังทีละชิ้น เริ่มด้วยดอกไม้เล็กๆ ชื่อว่า ‘ดอกทะโล้’
“เราภูมิใจนำเสนอต้นทะโล้มาก มันเป็นจิตวิญญาณของปกาเกอะญอเลยนะ ชาวปกาเกอะญอเขาเชื่อว่า เวลาเด็กๆ เกิดมา เขาจะเอารกใส่ในกระบอกไม้ไผ่มาแขวนไว้ใต้ต้นทะโล้ และยังเชื่ออีกว่า อยากให้จิตวิญญาณของเด็กโตไปกับต้นไม้ ปลูกฝังให้พวกเขาอนุรักษ์ต้นไม้และดูแลรักษาผืนป่านี้ด้วย”
ถัดมาเป็นแมลงที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของดิน นั่นคือ จักจั่น “ตัวนี้เท่ห์มาก ตอนที่ลอกคราบ มันเป็นตัวอ่อนสีเขียวที่ค่อยๆ หลุดออกมาเหมือนตัวอะไรสักอย่างที่กำลังแปลงร่าง มันคือการลอกคราบที่จะเติบโตเป็นสิ่งใหม่ที่เข้มแข็งขึ้น ตอนที่ดูวิดีโอมันแบบได้วะ มันเหมือนไอ้มดเอ็กซ์เลยอะ ตามันใหญ่มาก”
“ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของเขาจะอยู่ในดิน จนมันเป็นตัวออกมาแล้ว ผสมพันธุ์แล้ว ก็จะไปไข่ไว้ในดินแล้วตายในที่สุด ประโยชน์ของเขาชอบพรวนดิน พอเราเห็นช่วงชีวิตของจักจั่น มันทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตการเปลี่ยนผ่านตามกาลเวลา มันไม่น่ากลัวเลย พอมาเห็นจักจั่นแล้ว ดูรู้สึกแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมอีก”
ขณะกำลังเพลิดเพลินกับจักจั่น มลยื่นแผ่นสีเขียวเล็กๆ แล้วให้ทายว่ามันคืออะไร เธอใบ้ว่า เป็นพืชชอบเกาะติดต้นไม้และเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศได้อีกด้วย เราและทีมงานนั่งนึกหน้าจริงจัง เธอจึงรีบเฉลยว่า ‘ไลเคน’ พลางบอกไม่ต้องเครียดๆ (หัวเราะ)
“ไลเคน เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่รวมกันระหว่างราและสาหร่าย พวกมันอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ความน่ารักของมันเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่สามารถตรวจสอบคุณภาพของอากาศได้ คือไลเคนขึ้น หมายความว่าพื้นที่ตรงนั้นบริสุทธิ์แล้วก็สะอาดมากพอ แต่อันนี้เป็นไลเคนแบบเป็นแผ่นใบ ซึ่งไลเคนมันมีหลายแบบที่เกาะติดกับต้นไม้ บ้างก็เป็นคราบสีเหลือง สีเขียว หรือสีส้ม หรือจะเป็นแบบที่เป็นแผ่น เป็นเส้นสาย
“แต่ละเเบบก็จะทนต่อมลพิษแตกต่างกัน แบบเป็นใบจะทนมลพิษได้กลางๆ แต่ถ้าแบบเส้นสายจะทนได้มากที่สุด อย่างในกรุงเทพฯ ไม่น่าจะเจอแบบเส้นสาย เพราะอากาศไม่ค่อยโอเค มองเผินๆ เขาเหมือนต้นไม้จิ๋วๆ ผลิตพวกออกซิเจนให้เราเหมือนกัน โดยไลเค็นจะเจอบ่อยๆ ในป่า เวลาเจอมันทีไรใจเราก็จะพองโตทุกที”
วิชา เพาะต้นกล้าจิตใจ
สำหรับมลการสอนเรื่องธรรมชาติกับคนอื่น เปรียบเสมือนการแอบเพาะต้นกล้าในใจของผู้เรียนเล็กๆ ที่อยากให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับธรรมชาติมากกว่าในตำราหนังสือ บางคนอาจจะอยากเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ บางคนอยากจะเป็นดอกไม้หรือแมลงตัวเล็กๆ แต่สำหรับเธอหากให้นิยามตัวเองเป็นต้นไม้ 1 ต้นจะเป็นพืชชนิดไหน
“เราเคยคิดว่าตัวเองเป็นต้นเล็กๆ ที่ไม่ต้องให้ใครมาเกาะพึ่งพิง เราก็เป็นประโยชน์ต่อตัวเองได้ในช่วงชีวิต แต่ตอนนี้คิดว่าเป็นไมยราบ เพราะมันเป็นพืชล้มลุกเลื้อยไปมา ถ้ามีอะไรมาเกาะเขาก็จะรีบหุบ พอเขาพร้อมมันก็จะกางออก”
“เรารู้สึกว่าตอนนี้เสตจของเรามันหุบก่อน แต่ถ้าพร้อมเดี๋ยวเรากางออกเอง แล้วก็เขามีหนามเพื่อป้องกันตัวเองและสวยมาก เพราะเขามีดอกที่น่ารัก แล้วเขาก็มีฝักที่เก๋ โครงร่างมันน่ารักมาก ความหมาย คือ พอมันโดนอะไรสักอย่างหนึ่ง มันไม่ผิดที่เราจะหุบตัวเพื่อป้องกันตัวเอง พอเราพร้อมก็ค่อยๆ กางใบออกมาเหมือนเดิมก็ได้ มันยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ”
หลังจากทัศนศึกษาเรื่องต้นไม้กับมลจนหนำใจ เราชวนคุยเล่นกับเธอต่อว่า ในบทบาทการเป็นคนถ่ายทอดเรื่องธรรมชาติให้คนอื่น เขาคาดหวังกับคนที่เรียนอย่างไรบ้าง เธอตอบอย่างมั่นใจว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรเลยในตอนเรียน แต่การเรียนรู้หลังจากนั้นมากกว่าที่อยากให้เขาสนใจเรื่องธรรมชาติไม่น้อยก็มาก
“ในมุมการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วม ส่วนใหญ่คนจะตอบว่าอยากมาใช้เวลาช้าๆ กับตัวเอง ได้พักผ่อนกับธรรมชาติ แต่เรารู้สึกว่าการเรียนรู้หลังจากนั้นมากกว่าที่น่าสนใจ เช่น การที่เขาหยุดอยู่กับเรา เขามีมุมมองการบันทึกธรรมชาติเปลี่ยนไปไหม เขามีทัศนคติต่อธรรมชาติอย่างไร รู้สึกเคารพหรือเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมากขึ้นไหม
“สิ่งที่เราทำเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของอะไรสักอย่าง แต่หลังจากที่เกิดขึ้น เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับทุกคน แต่แอบลึกๆ อยากให้เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ไปทำอะไรต่อยอดเรื่องธรรมชาติที่เขาสนใจ บางคนอาจจะพอใจแค่นี้ บางคนอาจจะอยากไปต่อให้สุด อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง ก็สุดแล้วแต่เขาเลย”