เส้นทางขนมหวานที่ ‘ลัท’ รองแชมป์ Masterchef Thailand เลือกเดินจากความรัก

เรารู้จัก ลัท-นลัท จิรวีรกูล พร้อมกับทุกคนเมื่อรายการ MasterChef Thailand Season 2 รอบ 30 คนสุดท้ายออกอากาศ ด้วยความสามารถในการทำขนมอันโดดเด่น การพลิกแพลงรสชาติจากวัตถุดิบที่หลากหลาย รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ที่ใส่ลงไปในการจัดจาน ทำให้ลัทเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่ใครหลายคนปักใจเชียร์ และเป็น 2 คนสุดท้ายของรายการได้ในที่สุด

หลังจากรายการจบไปไม่นาน เราบังเอิญเจอคลิปออดิชั่นที่ลัทส่งเข้ามาสมัครเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขัน เราถึงได้รู้ว่าลัทเรียนจบด้านแอนิเมชั่น และสนใจวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยพื้นฐานทางศิลปะที่มี เราคิดว่านี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเป็นผู้เข้าแข่งขันที่มีความคิดสร้างสรรค์โดดเด่นไม่เป็นรองใคร

แต่จากที่ตั้งใจว่าจะชวนลัทคุยถึงความคิดสร้างสรรค์บนจานอาหาร เรื่องราวที่หญิงสาวจากจังหวัดลำปางคนนี้เล่าให้เราฟังกลับย้อนไปถึงวันที่ตัดสินใจทิ้งงานแอนิเมชั่น และเลือกเดินในเส้นทางขนมหวานที่เธอมีพลังแรงกล้ากว่า

เริ่มสนใจทำขนมตั้งแต่ตอนไหน

พอเรียนจบ เราไปทำงานด้านแอนิเมชั่นอยู่ 1 ปี จริงๆ ตัวงานก็สนุกนะ แต่ด้วยการทำงานที่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์อย่างเดียว เราขยับแต่เมาส์ ข้อมือก็จะขยับแค่นั้น เลยทำให้เราไม่มีเวลาออกกำลังกาย พองานเยอะมากขึ้น ร่างกายก็เริ่มป่วยบ่อยๆ เริ่มรู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตแบบนี้ต่อไป

เรามานั่งคิดว่าตัวเองถนัดอะไรบ้าง หรือชอบอะไร คิดกลับไปในความทรงจำตอนเด็กๆ เราเป็นคนชอบกินขนม คุณแม่ก็ชอบทำขนมแจกเพื่อนๆ และลูกค้าที่บ้าน เราก็จะไปเป็นลูกมือแม่ตลอด คอยวนเวียนป้วนเปี้ยนวุ่นวาย ตอนนั้นอยู่ลำปาง เวลาไปเที่ยวห้างก็จะไปที่เชียงใหม่เพราะที่ลำปางยังไม่มี แม่ก็จะถามว่า “ลัทอยากซื้ออะไรกลับไปกินที่บ้านไหม” เราก็จะไปยืนหน้าตู้เค้กแล้วก็คอยส่องว่าอันนี้คืออะไร “อันนี้น่ากิน สั่งอันนี้ไปกินได้ไหม” เหมือนซื้อขนมมากินแล้วก็เรียนรู้ว่ารสชาติเป็นยังไงตั้งแต่เด็กๆ มันเลยกลายเป็นความชอบ พอเราอยากจะเปลี่ยนสายงานไปทำอย่างอื่นก็อยากลองทำอะไรที่เราชอบดู ถ้าอย่างนั้นเราเปลี่ยนไปทำขนมละกัน ทั้งที่ตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่องการทำขนมเลย

นึกว่าลัทฝึกทำขนมมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

ขนมที่คุณแม่ทำได้มีแค่ไม่กี่อย่าง จะเป็นบราวนี่หรือคุกกี้ แต่พอเราอยากจะเปิดร้านจริงๆ มันจะต้องมีขนมหลากหลาย อีกอย่างที่เรายังไม่รู้ก็คือกระบวนการจัดการของร้านขนมว่าเป็นยังไง เราเลยเริ่มจากการไปเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้าน Coffee Beans by Dao ที่สยาม เป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้อะไรเยอะมากนะ ทุกวันเราจะเจอแขกหลายรูปแบบ ได้เรียนรู้ว่าจะบริการเขายังไงให้เขาประทับใจมากที่สุด หรือการจัดการของหลังร้านบ้าง การสั่งของบ้าง

พอทำไปได้ 3 เดือน คุณพ่อก็อยากให้กลับไปดูแลธุรกิจของครอบครัวที่ลำปาง เรากลับไปทำอยู่ 1 ปี ตอนนั้นรู้สึกว่าก็ทำได้แหละ แต่ชีวิตมันเฉามาก เฉาไปทุกวันเลย เราอยากจะทำตามความฝัน เราขอไปเรียนทำขนมได้ไหม แต่ตอนนั้นคุณพ่อบอกว่าเงินที่จะไปสมัครเรียนเนี่ยมันก็แพงอยู่นะ เอาเงินส่วนนี้ไปเปิดธุรกิจของที่บ้านอีกสาขานึงก็ได้ แต่เราไม่อยากใช้ชีวิตอย่างนี้ไปจนลมหายใจสุดท้ายของเรา ที่บ้านเลยตกลงกันว่าถ้าอย่างนั้นให้เรียนแค่คอร์สเดียวก่อน

พอเรียนจบ เราก็รู้สึกว่าเราอยากจะเรียนต่ออีก (หัวเราะ) อยากจะเรียนรู้ด้านนี้ให้ลึกขึ้น อยากจะเก่งมากกว่านี้ เลยรวบรวมเงินเก็บมาจ่ายค่าเรียนคอร์สที่ 2 เอง แม่สงสารก็เลยถามว่าอยากจะเรียนคอร์ส 3 ไหม แม่จะออกค่าเรียนให้ กว่าจะได้เรียนก็ใช้ความพยายามมาก เลยดีใจที่ทำมันได้ หลังจากนั้นเราก็เลยเริ่มเปิดร้านออนไลน์

จำขนมชนิดแรกที่ฝึกทำได้ไหม

ช็อกโกแลตลาวา ทำอยู่หลายรอบมากกว่าจะสำเร็จ ช็อกโกแลตลาวาเนี่ยมันขึ้นอยู่กับเวลาที่เราอบและอุณหภูมิที่ใช้ ถ้าเกิดอบมากเกินไปข้างในก็จะไม่เป็นลาวา แต่ถ้าอบน้อยเกินไปพอคว่ำออกจากพิมพ์ทีนี้เละเลย ลองผิดลองถูกหลายครั้งกว่าจะทำได้

ตอนที่ทำสำเร็จครั้งแรกรู้สึกยังไง

ดีใจมาก เพราะมันเป็นเค้กชิ้นแรกที่เราเรียนรู้และลงมือทำเองโดยที่ยังไม่ได้เรียนอะไรมาก่อนเลย แล้วก็อร่อยสุด (หัวเราะ) ทำเองแล้วก็กินเองเนอะ

ลัทได้เรียนรู้อะไรจากการลองผิดลองถูกบ้าง

สำหรับเรามันเป็นความพยายามมากกว่า ถึงแม้ว่าแต่ละครั้งเราจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เราได้เรียนรู้ ได้แก้ไขแล้วก็พยายามทำต่อไป มันทำให้เราเปลี่ยนนิสัยนะ ทำให้เราเป็นคนที่พยายามมากขึ้น ไม่ยอมแพ้

ตอนที่เรียนทำขนม โฟกัสแต่เรื่องขนมอย่างเดียวเลยไหม

ใช่ จริงๆ การทำอาหารเราไม่ได้ถนัดเลย ความชอบด้านขนมมันแรงกล้ามาก (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเราไม่มองอย่างอื่นเลย เรามองว่าเราจะทำขนมอย่างเดียว หรืออีกอย่างที่อาจจะเป็นไปได้คือเป็นคนทำขนมปัง

ทั้งที่ไม่ถนัดทำอาหารเลย แต่ลัทสมัครเข้าแข่งขัน Masterchef Thailand ที่ต้องทำอาหารด้วย ตอนนั้นเตรียมตัวยังไงบ้าง

ตอนแรกที่เข้าไป ถ้าเป็นโจทย์อาหารคาวเราจะมึนมาก เวลาได้โจทย์อะไรมาก็คิดไปถึงว่าอะไรที่เราเคยทำ แต่ก็จะเป็นเมนูพื้นๆ เราก็ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปบ้าง บางทีเขากำหนดวัตถุดิบว่ามีเท่านี้ๆ เราก็คิดว่าเมนูเดิมที่เราเห็นมันสามารถเอาวัตถุดิบที่เขาให้มาเพิ่มเติมอะไรลงไปได้อีกบ้าง แล้วก็พยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซื้อหนังสือมาอ่านแล้วลองทำตามดู เรียนจาก YouTube หรือ Pinterest แล้วคอยดูว่าการจัดจาน องค์ประกอบในแต่ละจานที่เชฟทำมามีอะไรเป็นส่วนผสมบ้าง

เมนูที่ลัททำในรายการใส่ไอเดียลงไปเยอะมาก ตอนแข่งขันมีภาพขึ้นมาในหัวเลยไหมว่าฉันจะทำอย่างนี้

เราไม่ได้เก่งมาก เพราะฉะนั้นก็ต้องเตรียมตัวเยอะ ถ้าช่วงที่เรายังไม่ได้ไปแข่งเราก็จะเปิด Pinterest ดู สเกตช์ออกมาว่าถ้าวัตถุดิบมีประมาณนี้ สมมติเป็นเนื้อ เราจะทำยังไงได้บ้าง จัดจานเป็นแบบไหนได้บ้าง ใช้การเตรียมตัวมากกว่า คนอื่นๆ ที่เขาเก่งอยู่แล้ว เขาก็อาจจะคิดได้ในตอนแข่งเลย

ตอนที่ทำชีสเค้กมะเขือยาว คิดอะไรอยู่

โจทย์ของเราเป็นมะเขือ แล้วโจทย์อีกอย่างที่เราต้องทำคือทำขนมซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราถนัด เราก็ดูว่าจะเอามะเขือยาวมาทำอะไรได้บ้าง มะเขือยาวมันขม เราจะทำยังไงให้ไม่ขมได้บ้าง เราก็คิดว่าเอามาต้มกับคาราเมลแล้วกัน ใช้ความหวานช่วยกลบความขมให้มันเหลือความขมนิดๆ ส่วนชีสเค้ก ตอนแรกยังคิดไม่ได้นะ แต่เดินไปดูวัตถุดิบเห็นมีครีมชีสวางอยู่ก็เลยทำเป็นชีสเค้กแล้วกัน แล้วก็เอามะเขือยาวที่ผัดกับคาราเมลมาวางข้างหน้า

การเรียนศิลปะมา หรือความชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ มีผลกับการใส่ไอเดียในอาหารมั้ย

มี ศิลปะเอามาใช้ได้กับทั้งอาหาร ทั้งขนมทุกอย่างเลยสำหรับเรานะ เรารับรู้ได้ทั้งความสวยทางตาแล้วก็ความอร่อยทางปาก มันเป็นสิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่งในการทำอาหาร การที่เราจะสร้างสรรค์ให้อาหารสร้างความประทับใจได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น นอกจากอาหารที่อร่อยแล้ว หน้าตาก็จะต้องดีด้วย

เหมือนเป็นการสร้าง First Impression ให้คนทานด้วย

ใช่ๆ หน้าตาสวย น่ากิน เป็นอย่างแรกเลยที่จะทำให้ลูกค้าเข้ามาหาเราแล้วรสชาติก็ต้องดีด้วย แต่ถ้าหน้าตาสวย รสชาติไม่ดี เขาก็กินแค่ครั้งเดียว

อารมณ์ของคนทำอาหารมีผลต่อรสชาติที่ออกมาไหม

อารมณ์และสติของคนทำมีผลกับรสชาติมาก โดยเฉพาะขนม ถ้าเกิดไม่มีสติ ใส่นู่นผิดนี่ผิดแล้วก็ชั่งตวงวัดพลาด รสชาติที่ออกมาก็จะแตกต่างกันหมดเลย หรือการอบในอุณหภูมิที่แตกต่างกันแค่ 10 องศา ผลที่ได้ก็แตกต่างกันแล้ว เพราะฉะนั้นการทำขนมต้องมีความละเอียดมาก การทำอาหารยังอาจจะใช้การชิมได้ แต่ขนมนี่คือชิมไม่ค่อยได้ ต้องอบให้เสร็จก่อนถึงจะรู้ว่ามันออกมาเป็นยังไง

ในรายการเราเห็นลัทพูดกับตัวเองบ่อยๆ มันเป็นวิธีดึงสมาธิของคุณหรือเปล่า

ตอนนั้นเราไม่รู้ตัวเลยนะ มันพูดออกมาเลยอะ เราเป็นคนที่พูดกับทุกสิ่งอย่างอยู่แล้วเป็นปกติ เราเป็นคนทำการ์ตูนมาก่อนเนอะ ก็จะรู้สึกว่าทุกอย่างมันมีชีวิต คุยกับตุ๊กตา คุยกับนู่นนี่เป็นปกติอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้บ้านะ (หัวเราะ) บางคนอาจจะคิดว่าเราบ้าก็ได้ มีตอนนึงที่จำได้คือเราทอดกุ้งแล้วก็คีบขึ้นมาแล้วพูดว่า “ไหวปะวะ” คือพูดว่ากุ้งมันไหวไหม มันสุกไหมอะไรอย่างนี้ พี่อิงค์ (ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์) ยืนอยู่ข้างๆ แล้วก็พูดว่า “แกน่ะไหวหรือเปล่า” เราก็แบบเออว่ะ ฉันดูเหมือนคนบ้าไหมเนี่ย (หัวเราะ)

มีวิธีตั้งสติยังไงในช่วงที่การแข่งขันกดดันมากๆ

เราใช้วิธีหายใจเข้าลึกๆ แล้วก็ปล่อยออกมาหลายๆ ครั้ง พยายามโฟกัสกับตัวเอง จะเห็นว่าในสตูดิโอเนี่ยมีทีมงานเยอะมาก แต่เราไม่ได้รู้สึกเลย เพราะตอนแข่งเราใช้ความคิดกับตัวเองว่า ฉันจะทำยังไง ต้องทำยังไงต่อไป แล้วก็มีอะไรที่ต้องทำอีก มีอะไรที่เราลืมทำ ทุกอย่างมันอยู่ในหัวเราหมดเลย แทบจะไม่ได้สนใจใครเลย

เวลาทำขนมที่มีสูตรเยอะมากๆ มีวิธีดึงความจำของตัวเองขึ้นมาใช้ยังไง

เราจะมีไบเบิลของตัวเองเล่มหนึ่งที่เขียนสูตรไว้ สูตรแต่ละอย่างจะเขียนเป็นอัตราส่วน เช่น แป้ง 1 น้ำ 1 ไข่ 2 แล้วเราก็จะจำเป็นตัวเลข 1 2 2 1 อะไรอย่างนี้ พอตอนที่เราไปแข่งจริง เราก็ต้องคิดว่าเราทำอะไรได้บ้าง สมมติทำทาร์ต เราก็พยายามนึกไปถึงไบเบิลเล่มนั้น หน้านั้น มีส่วนผสมอะไรบ้าง มีเลขอะไรบ้าง (หัวเราะ)

พกติดตัวไว้ตลอดเลยไหม

ใช่ จะพกติดตัวไว้ตลอดเลย เวลาที่ว่างก็จะเปิดดู จ๋าชอบแซวเราว่า “ท่องอยู่นั่นแหละ จำได้หรือเปล่า” (หัวเราะ) แต่ก็มีบางรอบที่เราเข้าไปแข่งปุ๊บ เราจำไม่ได้อะ เราลืมมันไปเลยนะ คงเป็นเพราะตื่นเต้นแล้วก็กดดันด้วย บางทีก็เลยต้องใช้วิธีมั่วเอาแล้วเราก็ดูเท็กซ์เจอร์ของส่วนผสมว่าได้หรือยัง สมมติว่าแข็งไปหรือแห้งไป เราก็เติมส่วนผสมที่เป็นของเหลวลงไป ถ้าอันไหนที่เหลวไป เราก็เติมแป้งเข้าไป ซึ่งเป็นวิธีที่เราได้เรียนรู้มาจากการทำอาหาร เพราะการทำอาหารจะใช้การกะปริมาณแต่ละครั้งว่าจะใช้เท่าไหร่ ไม่ใช้การตวง

หลังจบรายการ คิดว่าตัวเองพัฒนาทักษะการทำอาหารมากแค่ไหน

มาก บอกได้เลยว่ามาก เราบอกกับทีมงานว่าลัทที่เข้ามารอบ 30 คน กับลัทวันสุดท้ายเนี่ยคนละคนกันเลยนะ ถ้าเกิดมาไล่ดู จะเห็นว่าพัฒนาการของเราเรียกว่าก้าวกระโดดได้เลย จากตอนแรกที่เราย่างเนื้อสเต๊กไม่เป็น ทำได้แค่เอาเนื้อไปจี่บนกระทะ แต่เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วต้องเอาเนื้อมาพักนะ เพื่อให้ความชุ่มชื้นมันยังอยู่ เราไม่เคยรู้ตรงนี้เลย รายการนี้ก็ทำให้เราได้เรียนรู้การทำอาหารเยอะขึ้นมากๆ

ตอนนี้ลัทมีร้านขนมออนไลน์แล้ว มีแผนที่จะเปิดร้านขนมไหม

กำลังวางแผนอยู่เหมือนกันค่ะ ถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะประมาณปีหน้า เราเคยเขียนไว้ในสมุดโน้ตตั้งแต่วันที่ตัดสินใจว่าจะมาทำขนม สิ่งที่เราอยากทำไม่ใช่ร้านที่เรามีความสุขแค่คนเดียว แต่เป็นร้านที่ทุกคนมีความสุข ตั้งแต่พนักงาน ลูกค้าที่เข้ามา หรือแม้แต่ซัพพลายเออร์ของเรา เราคิดว่ามันเป็นการทำงานที่อยากจะให้ทุกคนมีความสุขร่วมกัน

เราเคยทำงานออฟฟิศมาแล้ว เฮ้ย นี่เราทำงานหนัก แต่ทำไมเราได้ค่าตอบแทนแค่นี้ เราเลยคิดว่าการที่เราจะจ้างคนมาทำงานกับเรา เราก็อยากให้เขาได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมด้วยเหมือนกัน หรือแม้แต่ลูกค้าที่เข้ามาในร้านเขาจะต้องมีความสุขแล้วก็สบายใจที่ได้เข้ามาในร้านเรา บรรยากาศในร้านหรือขนมที่เขาได้กิน ก็ต้องมั่นใจว่าเป็นขนมที่อร่อย กินแล้วไม่มีพิษมีภัย สะอาด

ความสุขในการทำขนมของลัทคืออะไร

จริงๆ ไม่ใช่แค่ความสุขในการทำขนมนะ แต่เป็นความสุขของการทำงานทุกอย่าง เราทำขนมออกมา ความสุขของเราคือการที่คนกินแล้วเขารู้สึกว่าเขาได้มากกว่าความอร่อย วันนี้เขาอาจจะมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นในชีวิตเขาทั้งวัน แต่พอเขาได้กินขนม มันทำให้เขาสบายใจขึ้น เราคิดว่านั่นเป็นความสุขที่ดีที่สุดสำหรับเรา ความสุขนั้นจะช่วยให้เขามีพลังต่อสู้ต่อไปได้ การกินขนมคนอาจจะคิดว่า เฮ้ย ไม่เห็นดีเลย มีแต่ทำให้อ้วน แต่สำหรับบางคนที่วันนี้ฉันอกหักมา ฉันกินขนมแล้วรู้สึกดี เราคิดว่ามันช่วยได้มากจริงๆ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

พอมาทำขนมอย่างที่ชอบแล้ว ยังเคยรู้สึกเหนื่อยกับสิ่งนี้บ้างไหม

มีค่ะ ในความคิดเรา ไม่ว่าทำอะไรมันจะมีจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่าฉันเหนื่อย ไม่ไหวแล้ว แต่ถ้ามันเป็นอะไรที่เราชอบจริงๆ ในวันที่เราเหนื่อย เราจะหยุดพักแต่จะกลับมาสู้กับมันอีกรอบ จะไม่ทิ้งมันไปเลย เราเคยเป็นแบบนี้หลายครั้งมากเลยนะ การที่รู้สึกว่าเลือกผิดทางหรือเปล่า หรือว่าเราทำสิ่งนี้แล้วมันดีไหม ถ้าอย่างนั้นพักสัก 2-3 วันก่อน ไปทบทวนตัวเองว่าอยากจะทำต่อไหม ถ้าคำตอบคือ เฮ้ย มันคือสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ เราก็ต้องกลับมาทำแล้วสู้กับมัน

หลายครั้งเลยที่เราทดลองสูตร พูดง่ายๆ คือเหมือนทำทิ้งน่ะ ทิ้งๆๆๆ ทิ้งตลอด เราก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมมันไม่ได้สักที ทำไมเราทำไม่ได้ เราก็จะไปพักก่อนหนึ่งวัน แล้วค่อยกลับมาจมกับมันใหม่ มาดูว่าฉันทำอะไรผิดพลาดไปหรือฉันควรจะแก้ไขตรงไหนบ้าง เอาจริง ๆ ระหว่างนั้นเราก็เคยมีความคิดว่าอยากจะไปทำอย่างอื่น ฉันจะไปทำอย่างนี้ดีไหม แต่พอไปลองทำมันก็ไม่ใช่ตัวเรา ก็กลับมาตายรัง ยังไงการทำขนมก็เป็นสิ่งที่เราทำได้ตลอด สุดท้ายนี่แหละคือสิ่งที่เราชอบที่สุด เราก็จะอยู่กับมัน

ในฐานะคนที่เริ่มต้นทำสิ่งที่ชอบจากศูนย์ ลัทอยากบอกอะไรถึงคนที่มีความคิดอยากเริ่มต้นความฝันอย่างนี้บ้าง

เราอยากให้ลองทำทั้งงานประจำและสิ่งที่ชอบ ทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กันก่อน มันอาจเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยมากๆ แต่มันจะทำให้เรามีความมั่นคงมากขึ้น อย่างเราเองลาออกมาแล้วทำเลย กลายเป็นว่าภาระมันหนักมากเพราะเราไม่มีรายได้ แล้วการเริ่มทำอะไรใหม่หรือเริ่มธุรกิจใหม่ มันยากมากที่เราจะได้ผลตอบแทนในระยะเวลาแค่ 3-5 เดือน

แต่เราคิดว่าการที่เราได้ทำอะไร มันเป็นประสบการณ์และให้ผลดีทั้งหมดเลยนะ อย่างเช่นที่ผ่านมาเราเคยทำงานอะไรมาบ้าง ในตอนนี้เราก็ได้เอามาใช้ทั้งหมด เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้ผ่านมาไม่ว่าดีหรือร้ายมันเป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ตอนนี้ใครทำงานอะไรอยู่ขอให้ตั้งใจแล้วทำให้เต็มที่ ถ้าเรามีโอกาสใหม่เข้ามา เราอาจจะได้ใช้ประสบการณ์ที่เราเคยทำมาทำให้โอกาสใหม่ที่เราได้รับมาดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้

ภาพ เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล และ @na_lat

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด