รภัสสรณ์ จิรจุรีย์ชัย
รหัสนักศึกษา 1350179
เอกแอนิเมชั่น สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร
คงเหมือนใครหลายคน เราจดจำ ลัท–รภัสสรณ์ จิรจุรีย์ชัย ได้ดีในบทบาทของเชฟที่โดดเด่นเรื่องการทำขนมในรายการ MasterChef Thailand ซีซั่น 2 ความสามารถและความพยายามในการพัฒนาตัวเองทำให้เธอเข้ารอบสุดท้ายและกลายเป็นเชฟที่หลายคนชื่นชอบได้ไม่ยาก
แต่ท่ามกลางความโดดเด่นเรื่องอาหาร ใครจะรู้ว่าช่วงมหาวิทยาลัยนั้นเธอเรียนจบด้านแอนิเมชั่น จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร และถึงแม้สายการเรียนกับงานปัจจุบันจะแตกต่างกันมาก แต่ลัทก็ได้เอาความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยมาเป็นทักษะสำคัญในการทำให้จานอาหารของเธอพิเศษกว่าใครๆ
การเรียนแบบไหนที่ทำให้เธอตั้งใจศึกษาและเอาความรู้จากสายวิชาที่แตกต่างกันมาทำอาหารได้ ตามลัทไปเปิดสูตรไม่ลับในการเรียนของเธอกัน
“ตอนเด็กๆ เราชอบดูการ์ตูนมาก จะตื่นเช้ามารอดู ช่อง 9 การ์ตูน แล้วก็ Cartoon Network ตลอด รู้สึกว่ามันสนุกดี เลยอยากจะทำพวกแอนิเมชั่นออกมาบ้าง แต่พอโตขึ้นมาช่วงที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยเราเปลี่ยนมาอยากเรียนมัณฑนศิลป์ พวกตกแต่งภายในแทน
“แต่ตอนสอบจริงกลับติดวิศวะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียนไปได้ประมาณปีหนึ่งก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางของเราจริงๆ เลยมาสอบใหม่ ซึ่งครั้งที่ 2 ก็ติด 2 ที่ คือสถาปัตย์ บางมด แล้วก็ไอซีที ศิลปากร เราก็ลองชั่งน้ำหนักสองคณะนี้ แล้วรู้สึกว่าเราน่าจะชอบศิลปะด้านการ์ตูนมากกว่าทำอินทีเรียร์ เลยเลือกเรียนไอซีที เพราะชอบดูการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้วด้วย
“วันแรกที่ไปสอบสัมภาษณ์ ด้วยความที่คณะนี้ต้องไปเรียนที่วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี พ่อเลยขับรถจากลำปางไปส่งที่เพชรบุรี พอจอดรถในมหา’ลัย เข้าไปสัมภาษณ์เสร็จกลับมา พ่อถามว่า ‘ลัทจะอยู่ได้ไหมลูก’ เพราะตอนนั้นมองไปรอบๆ มหา’ลัยไม่มีอะไรเลย ยังไม่มีรั้วกั้นชัดเจน มีวัวเดินกินหญ้าด้วย (หัวเราะ) คือมันใกล้ชิดธรรมชาติมาก เราต้องปั่นจักรยานไปเรียน เราชอบมาก เลยโอเค
“พอมาถึงตอนเรียนยิ่งทำให้รู้สึกว่ามันใช่มากๆ เลย ที่นี่คือบ้านของเราเพราะทุกคนคุยภาษาเดียวกัน ตั้งแต่วันแรกเรานั่งวาดรูปดรอว์อิ้งกัน แล้วก็นั่งคุยกันเรื่องการ์ตูน รู้สึกแฮปปี้มาก
“แต่จริงๆ ยอมรับว่าช่วงแรกของการเรียนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเราเหมือนกันนะเพราะต้องวาดการ์ตูนด้วย เราฝึกวาดแต่ภาพดรอว์อิ้ง ตอนเรียนวิชาดรอว์อิ้งเราเลยสนุกมาก แต่พอต้องมาวาดการ์ตูน ทำในสิ่งที่เราไม่ค่อยถนัด มันเลยเหมือนเราต้องพยายามจากศูนย์เพื่อก้าวกระโดดไปถึงสิบให้เท่าเพื่อนๆ เพราะเราไม่มีลายเส้นเป็นของตัวเองเลย
“ตอนนั้นเราเลยต้องฝึกด้วยตัวเอง เริ่มจากไปยืมหนังสือในห้องสมุดมาวาดตามเรื่อยๆ ก่อน ดูว่าชอบแบบไหนแล้วก็ลองฝึกหัดวาดตาม ตอนนั้นยืมหนังสือมาเยอะมาก ทุกวันที่ไปห้องสมุดจะกลับมาพร้อมหนังสือ 7 เล่ม คือห้องสมุดให้ยืมมากที่สุดเท่าไหร่เรายืมครบโควต้า พอครบกำหนดคืนเราก็ไปยืมมาดูและฝึกวาดใหม่อีก ทำแบบนี้เรื่อยๆ จนเรามีลายเส้นเป็นของตัวเอง และติดอันดับ 1 ใน 3 คนที่ยืมหนังสือมากที่สุดในมหาวิทยาลัย (หัวเราะ) ตอนนั้นมันต้องพยายามหนักมากจนเริ่มถนัดมือ แล้วเราก็วาดการ์ตูนได้ง่ายขึ้น
“มีวิชาหนึ่งที่ทำให้เราอยากอัพตัวเองมากขึ้น ชื่อวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก เป็นวิชาที่สำคัญมากสำหรับการเป็นแอนิเมเตอร์หรือการเรียนแอนิเมชั่น เพราะวิชานี้เป็นพื้นฐานของการทำงานศิลปะในคอมพิวเตอร์ แล้วก็เวลาที่เรียนอาจารย์จะสอนตั้งแต่พื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะ อย่างเช่นจุด เส้น ผิว วงกลม สี่เหลี่ยม รูปทรงต่างๆ แล้วก็เรียนจัดองค์ประกอบ เขาจะสอนว่าสิ่งเหล่านี้มันมีผลกับความรู้สึกของคนที่ดูยังไงบ้าง แล้วเราจะสามารถสร้างสรรค์มันออกมาให้มีอารมณ์แบบไหนได้บ้าง ซึ่งการเรียนแบบนี้เป็นพื้นฐานที่ดีที่เราเอาไปใช้ในการทำงานศิลปะอื่นๆ ต่อได้
“ความยากของวิชานี้คืออาจารย์ (หัวเราะ) เพราะอาจารย์เคี่ยวกรำเราอย่างดีจนสามารถทำงานออกมาได้ตามที่เขาต้องการหรือตามสิ่งที่มันควรจะเป็น ซึ่งเราคิดว่าดีมากเลยนะ เพราะวิชานี้เป็นพื้นฐานที่เราได้เอามาใช้จนถึงตอนทำงานเลย
“จำได้ว่าตอนเรียนวิชานี้ได้เกรดไม่ค่อยดีเท่าไหร่ งานแรกๆ ที่ส่งเราได้เกรดประมาณ D หรือ C มั้ง แล้วเราก็รู้สึกว่าจะต้องผลักดันตัวเองให้พยายามมากขึ้นหน่อย เพราะเป็นวิชาพื้นฐานของทุกอย่างด้วยเลยพยายามจนบางงานที่ส่งไปก็เริ่มได้ A มา
“ถึงแม้จะยากแต่ตอนนั้นไม่มีคำว่าไม่ไหว ไม่มีคำว่าไม่เอาแล้ว เพราะก่อนหน้านี้เราเรียนวิศวะไปแล้ว พอเปลี่ยนมาเรียนไอซีที ครั้งนี้มันคือครั้งที่ 2 เราคิดว่าเราไม่สามารถเลือกครั้งที่ 3 ได้อีก ฉะนั้นเราต้องสู้ให้ถึงที่สุด แล้วอีกอย่างมันคือสิ่งที่เราชอบด้วย ต่อให้ยากแต่เราก็สนุกกับมัน เราเลยสู้กับมันมากๆ
“แต่ถ้าให้เลือกวิชาที่ชอบ เราชอบวิชา animate เป็นการเรียนทำ animate model ขยับตัวละคร โดยจะทำในโปรแกรมชื่อ Maya คือโปรแกรมนี้เอาไว้ทำภาพสามมิติทุกรูปแบบเลย ตอนที่เราเรียนจะขึ้นโมเดลตัวคนก่อน เสร็จแล้วจะใส่กระดูกเข้าไปให้โมเดลนี้ ซึ่งเราจะเรียกว่าใส่ joint เข้าไป ถ้าอยากให้ตัวคนขยับเราจะขยับที่ joint แล้วก็ต้องทำให้มันขยับไปตามเฟรม เช่น เฟรมที่ 1 เราคีย์ลงไปว่าให้แขนอยู่ข้างตัว แล้วเฟรมที่ 50 เราคีย์ว่าจะให้ยกแขนขึ้นมาตรงหน้า ทีนี้ระหว่างเฟรมที่ 1 กับ 50 เราก็ต้องคีย์ให้มันค่อยๆ ขยับตัวตามจังหวะเพื่อให้โมเดลยกแขนขึ้นมาในเฟรมที่ 50 ได้สมูท
“แล้วก็ได้เรียนเรื่องเบสิกด้วยนะ คือการ animate ให้คนเดิน เรียกว่า walk loop ซึ่งการเรียนแบบนี้ทำให้เราต้องพยายามดูแอ็กติ้งของคนด้วย เพราะท่าเดินของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน เช่น บางคนอาจจะยกไหล่หน่อยๆ หรือแกว่งแขนเยอะๆ บางคนอาจจะเอียงหัวไปมา มันเป็นความสนุกของการจับแอ็กติ้งหรือคาแร็กเตอร์ของแต่ละคน แล้วเราก็เอามาใส่ในการขยับเคลื่อนไหว
“เราเลยชอบวิชานี้มากเพราะมันฝึกให้เราเป็นคนช่างสังเกตมากขึ้น เวลาที่คุยกับใครเราก็จะสังเกตว่าเขามีท่าทางยังไงหรือว่าสีหน้าเขาเป็นยังไง มันเลยเป็นความสนุกสำหรับเรา แล้วทักษะการสังเกตแบบนี้มันทำให้เราได้ใช้เวลาที่ต้องเข้าสังคม มันทำให้เราสังเกตอารมณ์ของแต่ละคนได้ค่อนข้างรวดเร็ว ว่าตอนนี้เขารู้สึกยังไง หรือว่าเราควรจะพูดคุยกับเขายังไง ด้วยการดูภาษากายของเขา ทุกวันนี้ที่ทำอาหารเราก็จะได้เจอคนทาน แล้วก็ได้สังเกตเวลาเขาทานอาหาร ว่าเขามีความรู้สึกยังไง แล้วเราก็สามารถเอาตรงนั้นมาดีไซน์ได้ว่าเวลาเราทำจานอาหารออกมาแล้วอยากให้เขารู้สึกยังไงกับจานของเรา
“นอกจากวิชาหลักๆ ที่เราชอบแล้ว เรามีวิชาเลือกที่ชอบเหมือนกันชื่อวิชา lighting เป็นวิชาจัดแสงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิชานี้เป็นการเรียนจัดแสงให้โมเดลหรือฉากมีมิติมากขึ้นและสามารถสื่ออารมณ์ของเรื่องนั้นๆ ผ่านแสงได้ เช่น ในฉากหรือซีนเดียวกันถ้าเราจัดแสงแตกต่างกันจะได้อารมณ์ที่แตกต่างกันทั้งหมด
“เราได้เรียนวิชานี้ตอนปี 4 เราชอบมาก เพราะว่าแสงมันคือมู้ดแอนด์โทน มันคืออารมณ์ มันคือความรู้สึกของคนดู เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นสิ่งที่เราหลงใหลมาก แล้วเราชอบวิชานี้มากจนพอเรียนจบมหา’ลัยเราก็ไปทำงานฝ่าย lighter คือไม่ทำงานฝ่ายอื่นเลย บอกเขาว่าขอสมัครทำ lighting ค่ะ (หัวเราะ)
“แต่เชื่อไหมว่าวิชานี้เราเรียนได้เกรด D นะ เพราะตอนเรียนเราส่งงานช้างานหนึ่ง แล้วอาจารย์ประจำวิชาก็มาบอกว่า ‘คุณทำผิด เพราะฉะนั้นผมรู้ว่างานคุณดี แต่ผมให้เกรด D คุณนะเพราะว่าคุณส่งเลต’ เรื่องเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อาจารย์พยายามปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบให้กับพวกเรามากๆ ทุกครั้งที่อาจารย์สั่งงานเราต้องส่งตรงเวลา เพราะเมื่อเราทำงานจริงแล้วทุกงานมีเดดไลน์ เพราะฉะนั้นถ้าเราส่งงานให้กับลูกค้าไม่ตรงเวลามันจะส่งผลเสียหายเยอะมาก
“เหตุการณ์นั้นทำให้เราจำมาจนถึงทุกวันนี้ว่าไม่ว่างานเราจะดีขนาดไหน แต่ถ้าเราส่งเลททุกอย่างที่ทำมาเสียไปหมดเลย ความรับผิดชอบและการตรงต่อเวลาเลยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สิ่งที่อาจารย์สอนตอนนั้นยังอยู่กับเราจนถึงทุกวันนี้ แล้วเราก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ มายืนในจุดนี้ได้
“แต่ถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะไม่ได้ทำงานด้านแอนิเมชั่นโดยตรง ความชอบของเรามาอยู่กับอาหารและการเป็นเชฟ แต่สิ่งที่เราได้เรียนมาเราเอามาใช้หมดเลยนะ เพราะเรามองว่าทั้งสองอย่างเป็นศิลปะเหมือนกัน และศิลปะอยู่ในทุกแขนงของการทำงาน อยู่ในทุกอณูของชีวิตอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจบไปแล้ว เราจะไปทำงานด้านไหน เราคิดว่าในพื้นฐานการเรียนศิลปะ สามารถเอาความรู้ในตรงนั้นไปใช้ในทุกๆ ส่วนได้
“อย่างความรู้จากวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก พวกเรื่องการจัดองค์ประกอบ เส้น จุด เราก็เอามาจัดองค์ประกอบในจาน แม้กระทั่งเรื่องเส้นหรือจุดเราก็เอามาใช้ในการจัดจานหมดเลย เราจะคิดว่าการวางเป็นเส้นแบบนี้เพื่อให้ได้อารมณ์แบบไหนหรือว่าวางเป็นจุดเพื่อสื่อสารอะไร แล้วจานอาหารของเราจะไม่ใช่แค่อาหารเพื่อกิน แต่จะเป็นจานอาหารที่สามารถเสพได้ มันคืองานศิลปะบนจานอาหาร
“เวลาที่ทำอาหารเราก็ได้ใช้ความเป็นศิลปินในตัวค่อนข้างสูงเลย เพราะทำให้เราแตกต่างจากเชฟคนอื่น พอเราเรียนสายศิลปะมาใช่ไหม เราจะมีความแตกต่างในเรื่องการมองที่ลึกกว่า การมีเซนส์ต่อการนำเสนอ แม้ว่าเราจะไม่ได้เน้นเรื่องเทคนิค แต่อาหารของเราเน้นเรื่องความรู้สึกและจิตวิญญาณด้วย ซึ่งเรามองว่านั่นคือสิ่งสำคัญ เพราะอาหารไม่ใช่แค่กินเพื่อดำรงอยู่ แต่คือสิ่งที่จรรโลงใจได้ด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่เราจะไม่ได้ทำงานในสิ่งที่เราเรียนมา เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เราก็ยังจะเต็มที่ที่จะเรียนรู้สิ่งนั้นในทุกๆ ช่วงเวลา”