ขนมเยลลีรูปหมีตัวน้อยหลากสีที่เด็กๆ หลายคนชอบซื้อมากินตอนพัก บางคนชอบกินสีเหลืองรสเลมอน บางคนก็รอกินสีแดงรสราสป์เบอร์รี หรือสีส้มมาจากรสส้ม
เรากำลังพูดถึงขนมเยลลีรูปหมีจากเยอรมันแบรนด์ ‘Haribo’ ซึ่งเด็กทานแล้วยิ้ม ผู้ใหญ่ทานแล้วหยุดไม่ได้
ขนมหวานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความละเอียดถี่ถ้วน คิดคำนวณสูตร ส่วนผสมและวิธีทำอย่างตั้งใจ แล้วปล่อยให้เวลาข้ามวันคืนเป็นเคล็ดลับในการเซ็ตตัว
ซึ่งก่อนจะมาเป็นขนมชนิดนี้ มันแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการทำสิ่งใหม่ๆ ใส่ใจในรายละเอียด แล้วพัฒนาจนกว่าสิ่งที่มุ่งหวังจะออกมาดั่งใจฝัน
ประวัติศาสตร์หมีเยลลีขนาดย่อ
ศาสตร์การทำขนมหวานจำพวกน้ำตาล มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยที่อารยธรรมตะวันออกกลางมีความรุ่งเรือง การถนอมผลไม้และรากไม้ให้เก็บรักษาได้เป็นเวลานานด้วยน้ำตาล เป็นความถนัดของผู้คนในแถบเปอร์เซียและตุรกี
ในระยะแรกใช้ความหวานของน้ำผึ้งในการถนอมอาหาร โดยมีจุดประสงค์ที่จะนำไปใช้เป็นยารักษาโรค ก่อนจะพัฒนามาใช้น้ำตาลในการยืดอายุของขนมในภายหลัง
ขนมที่เรียกว่า ‘Turkish Delight (ขนมเตอร์กิช ดีไลต์)’ เป็นขนมประจำชาติตุรกี มีน้ำตาลทรายและเจลาตินเป็นส่วนผสมหลัก แล้วเติมถั่วต่างๆ อย่างพิสตาชิโอหรือว่าวอลนัตลงไป จะได้มีสัมผัสกรุบๆ เคี้ยวอร่อย ด้านนอกเคลือบบางๆ ด้วยน้ำตาลไอซิงหรือผง cream of tartar เพื่อไม่ให้ขนมที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ติดกัน
นักประวัติศาสตร์ขนมหวานบางคนมองว่าขนมเตอร์กิช ดีไลต์ เป็นต้นกำเนิดของการทำเยลลีในยุโรป จากการจารึกทางประวัติศาสตร์ เส้นทางการถ่ายทอดอารยธรรม และความคล้ายคลึงของส่วนผสม แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถฟันธงในเรื่องนี้ได้
แต่ถ้ามองจากรูปร่างหน้าตาของขนมแล้ว ชายหนุ่มชาวเยอรมันที่มีชื่อว่า ‘Hans Riegel Sr. (ฮันส์ รีเกิล ซีเนียร์)’ เป็นผู้ที่ทำเยลลีรูปหมีขึ้นมาเป็นคนแรกในปี 1920 ที่เมือง Bonn ของเยอรมัน
เขาทำเยลลีชิ้นเล็กๆ ขึ้นมาในห้องครัวด้านในร้านขนมที่เขาเป็นเจ้าของ
เขาตั้งชื่อแบรนด์ขนมเยลลีของเขาว่า ‘Haribo (ฮาริโบ)’
รสสัมผัสของเยลลีที่ทำขึ้นมา มีความหวานหนึบกำลังดี
หลังจากวางขายได้ไม่เท่าไร ก็กลายเป็นขนมเลื่องชื่อประจำร้านภายในเวลาสั้นๆ
ปัจจุบันเยลลีฮาริโบเป็นของทานเล่นติดกระเป๋าเวลาที่เด็กๆ ไปโรงเรียน หลายคนมีติดบ้านไว้เผื่ออยากทานของหวาน แล้วยังเป็นของฝากที่วางขายในทุกๆ เมืองทั่วเยอรมัน จนเรียกได้ว่าเป็นขนมประจำประเทศอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว
ทำไมจึงเป็นรูป ‘หมี’?
‘หมีเต้นรำ’ เป็นไฮไลต์สำคัญในการแสดงตามท้องถนนของชาวยิปซีที่อาศัยอยู่ในยุโรปสมัยก่อน
ช่วงเวลานั้น โลกยังไม่มีโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือว่าโทรศัพท์มือถือ หนึ่งใน ‘ความบันเทิง’ ที่มีอยู่เพียงไม่กี่อย่าง คือการชมละครสัตว์และการแสดงเต้นรำ แม้ว่าจะได้ความนิยมลดน้อยลงไปมากในระยะหลัง แต่วัฒนธรรมการแสดงการเดินทางไปแสดงยังเมืองต่างๆ ของคณะละครสัตว์ ยังมีหลงเหลือให้เห็นในยุโรปแม้ในปัจจุบัน
เวลาที่คณะละครเดินทางมายังเมือง เด็กๆ จะตื่นเต้นสนุกสนาน พอได้ดูการแสดงหมีเต้นรำ บรรยากาศก็ยิ่งครึกครื้นมากขึ้นไปใหญ่
แล้วหมีเต้นรำ หรือที่เรียกว่า ‘Tanzenbaren’ ในภาษาเยอรมัน ก็เป็นขวัญใจของเด็กๆ จนเป็นแรงบันดาลใจในการทำรูปร่างหน้าตาของเยลลีให้เหมือนกับเจ้าหมีน้อย
รสชาติและการสร้างสรรค์
ฮาริโบไม่เคยหยุดคิดค้นสูตรเยลลีใหม่ๆ เพื่อเอาใจแฟนคลับฟันน้ำนมและฟันแท้ทั่วโลก
จากเยลลีรูปหมีที่เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ ตอนนี้มีเยลลีชนิดต่างๆ ประมาณ 1,000 ชนิดวางขายในทุกประเทศ
ช่วงฤดูร้อน เยลลีรสชาติและรูปทรงแตงโม เป็นสินค้าขายดี
ในวันวาเลนไทน์ ทางแบรนด์แนะนำไอเดียในการให้เยลลีฮาริโบเป็นของขวัญ
สำหรับคนช่างฝัน ฮาริโบผลิตเยลลีรูปก้อนเมฆรสเบอร์รีให้เคี้ยวเล่น
พอถึงเทศกาลฮาโลวีน ก็วางขายเยลลีรูปค้างคาวแวมไพร์สำหรับธรรมเนียม ‘Trick or Treat’ ของเด็กๆ
ไม่นับรวมสูตรขนมอีกมากมายที่ตกแต่งด้วยเยลลีหลากสีของฮาริโบ
หากมองในด้านการพัฒนาแบรนด์แล้ว คงต้องยกนิ้วให้กับฮาริโบในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การไม่หยุดยั้งที่จะก้าวไปข้างหน้า และการปรับตัวให้เข้ากับโลกแต่ละยุคสมัย
เวลาที่ซื้อเยลลีของฮาริโบ เราจึงไม่ได้ซื้อเพียงแค่ขนมหวาน แต่ยังเป็นการซื้อประสบการณ์ที่แบรนด์ฮาริโบสอดแทรกไว้ในเยลลีแต่ละชนิด ซึ่งทั้งหมดทำให้เรายิ้มได้โดยไม่รู้ตัว
ความชาญฉลาดในการขยายตลาด
ทายาทผู้รับช่วงธุรกิจของฮาริโบ เลือกที่จะคงเอกลักษณ์ในการเป็นแบรนด์ขนมหวานประเภทเยลลี และขนมที่ใช้เจลาตินเป็นส่วนผสม เช่น มาร์ชแมลโลว์ โดยไม่ขยายธุรกิจไปผลิตขนมประเภทอื่นๆ
เมื่อพูดถึงฮาริโบ จะต้องนึกถึงเยลลีเท่านั้น
ฮาริโบสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ ด้วยการผลิตสินค้าและข้าวของเครื่องใช้สำหรับเด็กภายใต้แบรนด์ฮาริโบ เพื่อเจาะตลาดคุณแม่และเด็กซึ่งเป็นลูกค้าหลักของแบรนด์
ทั้งตุ๊กตาหมี Golden Bear ซึ่งเป็นมาสคอตของแบรนด์ ของเล่นต่างๆ กระเป๋าสะพาย กล่องดินสอ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนหนังสือ โดยสอดแทรกดีไซน์และความน่าเอ็นดูแบบฮาริโบเอาไว้
สินค้าเหล่านี้มักวางขายเป็นชุด ลูกค้าจะได้ซื้อครั้งเดียว ได้ครบทุกอย่าง แล้วยังเพิ่มรายได้ให้กับแบรนด์ไปพร้อมๆ กัน
อีกหนึ่งกลยุทธในเชิงแบรนด์ดิงของฮาริโบ คือ การออกแบบรสชาติและหน้าตาของเยลลีให้เข้ากับวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ เพื่อเอาใจแฟนคลับในแต่ละประเทศ หลายครั้งเป็นสินค้าลิมิเต็ดประจำเมืองหรือร้านฮาริโบสาขาใหญ่ๆ จะได้เป็นของฝากประจำเมืองหรือท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน
ฮาริโบยังมักตกแต่งร้านให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในประเทศนั้นๆ และดีไซน์คอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียให้สอดคล้องกัน
อย่างในเกาหลีใต้ ฮาริโบสร้างประติมากรรมรูปหมีขนาดใหญ่ให้เด็กๆ วัยรุ่น และครอบครัวมาถ่ายรูป สาเหตุน่าจะเพื่อตอบรับความชื่นชอบในการถ่ายภาพของชาวเกาหลีใต้ในปัจจุบัน
นอกไปจากนี้ ฮาริโบยังขยายการรับรู้ของแบรนด์ไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อยู่ตลอด
ก่อนหน้านี้คอลแลบ กับ Vans แบรนด์เสื้อผ้าและรองเท้าสเกตช์บอร์ด เพื่อมัดใจสายสตรีตด้วยความ old school แบบ Vans ที่ผสมผสานกับความน่ารักของฮาริโบได้อย่างลงตัว ส่งผลให้คอลเลกชันดังกล่าวประสบความสำเร็จด้านการตลาดอย่างล้นหลาม
แล้วทั้งหมดก็คือ ที่มาและสาเหตุซึ่งทำให้ฮาริโบอยู่ในใจผู้คนทุกยุคทุกสมัย
ที่มารูปภาพ: IG: haribousa