ย้อนไปเมื่อ 74 ปีที่แล้ว อิงวาร์ คัมพรัด (Inkvar Kamprad) เริ่มก่อตั้ง IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดนด้วยแนวคิดที่ว่า ‘Creating a better everyday life for the many people’ ที่ถือเป็นการปฏิวัติวงการเฟอร์นิเจอร์ทั่วโลก วันนี้ อิเกียล้ำหน้าไปกว่าเดิมด้วยการเริ่มลงมือสร้างสรรค์ ‘โลกอนาคต’ ที่มนุษย์เราจะสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิมได้แล้ว
หลายคนคงเอียนกับเรื่องโลกอนาคต หุ่นยนต์ รถยนต์ไร้คนขับ กันเต็มที แต่มีคนกลุ่มหนึ่งใน Space10 องค์กรที่นิยามตัวเองว่าเป็น ‘A Future Living Lab’ แห่งอิเกีย ในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก กำลังจินตนาการถึงโลกอนาคตที่พวกเขาอยากอาศัยอยู่ แล้วลงมือสร้างมันขึ้นมาจริงๆ Kaave Pour ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ลูกครึ่งเดนมาร์ก-อิหร่าน วัย 28 ปี หนึ่งในสปีกเกอร์งาน Creativities Unfold 2018 ที่ TCDC จัดขึ้นต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คือผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์แห่งอนาคตทั้งหมดใน Space10 ที่ทำให้โลกใบนี้ของเราดูมีความหวังขึ้นมาทันที
ไม่ใช่แค่สร้างโลกใหม่ แต่ต้องเป็นโลกที่ดีกว่าเดิม
“Space10 ไม่ได้แค่ตั้งมาเพื่อให้เราตามทันโลกหรือรู้ว่าโลกเปลี่ยนไปยังไงบ้าง แต่เราเป็น future living-lab ที่พยายามเข้าใจการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อจะได้สร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าเดิมได้ทันเวลา ไม่ใช่แค่สร้างโลกใบใหม่ขึ้นมาแต่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย”
“เมื่อพูดถึงแล็บ ภาพในหัวอาจจะเป็นห้องทดลองลับๆ ในชั้นใต้ดิน คนนอกห้ามเข้า ไม่มีใครรู้ว่ากำลังทำอะไรกัน แต่ Space10 เป็นขั้วตรงข้ามเลย ที่นี่เราเชื่อว่าการสร้างสรรค์อนาคตเป็นความร่วมมือกัน ไม่ใช่การแข่งขัน เราไม่ได้สร้างเทคโนโลยีหรอกครับ แต่เราอาศัยความล้ำของมัน ผสมกับไอเดีย ความสร้างสรรค์ เพื่อเป้าหมายเดียวเลยนั่นคือมนุษย์ ทุกโปรเจกต์ใน Space10 การรับรู้และความรู้สึกของมนุษย์คือหัวใจสำคัญ”
โปรเจกต์เปลี่ยนโลกที่เข้าใจมนุษย์
Space10 เพิ่งก่อตั้งมาได้เพียงสองปีกว่าๆ แต่ภายในระยะเวลาแค่นี้ มันสมองบวกกับความสร้างสรรค์ของทีมงานที่อยากเห็นโลกเราน่าอยู่ขึ้น ทำให้พวกเราได้สัมผัสชีวิตในอนาคตกันหลายครั้ง เพราะโปรเจกต์ที่ Space10 ไม่ได้ทำเอาสนุก แต่มันผุดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่ชักจะวิกฤติเข้าไปทุกที
อย่างโปรเจกต์ Tomorrow’s Meatball ที่ตั้งใจทำให้มีตบอลเป็นอาหารในโลกอนาคต Space10 ทดลองคิดไส้มีตบอลกันหลายแบบมาก ทั้งทำมาจากสาหร่าย เนื้อที่เพาะในห้องแล็บ แมลง หรือแม้กระทั่งเศษอาหารเหลือ ทั้งหมดก็เพราะอีกไม่กี่ปี จำนวนมนุษย์มีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ ในขณะที่ขั้นตอนการเลี้ยงสัตว์ ผลิตอาหาร ก็ใช้ทรัพยากรมหาศาลและทำลายสิ่งแวดล้อมมากเหลือเกิน แต่อย่างที่บอกว่า Space10 ตั้งใจแก้ปัญหาใหญ่ๆ โดยยังใส่ใจความรู้สึกของมนุษย์อยู่เสมอ ทีมเลยเลือกที่จะให้อาหารในอนาคตยังอยู่ในรูปแบบมีตบอล เพราะต่อให้ส่วนผสมจะประหลาดแค่ไหน หน้าตามีตบอลก็ยังไม่แปลกเกินที่เราจะกินได้เท่าไหร่ แถม Space10 กำลังหาทางทำให้เจ้ามีตบอลนี่อร่อยอยู่ นี่มันมีตบอลเปลี่ยนโลกชัดๆ
“โปรเจกต์ Space10 หลากหลายมากจริงๆ ครับ ช่วงนี้ผมสนใจโปรเจกต์ Natural Interfaces เป็นพิเศษ คิดดูแล้ว โลกเราพัฒนากันเร็วมาก มีเทคโนโลยีเจ๋งๆ เพียบ อย่างรถไร้คนขับ แต่ลองคิดดูว่าทั่วโลกมีคนราวๆ 51 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เข้าถึงเทคโนโลยีล้ำๆ พวกนี้ เราตั้งใจให้โปรเจกต์ Natural Interfaces ช่วยให้เทคโนโลยีมีความหมายมากกว่าการเป็นแค่อุปกรณ์หรือแอปพลิเคชั่นแค่นั้น เราอยากทำให้คนรับรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านเทคโนโลยีได้”
“อย่างแอปพลิเคชั่น IKEA Place ที่เราใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR – เทคโนโลยีการผสมผสานโลกเสมือนเข้าไปในโลกจริง) เข้ามาช่วยทำให้จินตนาการกลายเป็นจริง เราเลือกเฟอร์นิเจอร์มาชิ้นหนึ่ง เราจะเห็นฉากเป็นบ้านเราจริงๆ เลื่อนเข้า-ออกได้ตามสบายว่าเราอยากวางเฟอร์นิเจอร์ไว้ตรงไหน ขั้นตอนนี้เราจะเห็นชื่อเฟอร์นิเจอร์ เห็นราคาอยู่นะครับ แต่ถ้าเราเจอตำแหน่งที่เราจะวางแล้ว โมเมนต์ที่เรากดวาง ราคา ชื่อ รายละเอียด จะหายวับไป สิ่งเดียวที่เห็นคือเฟอร์นิเจอร์ถูกวางลงไป พวกเราดีไซน์แม้กระทั่งเสียงตอนที่เฟอร์นิเจอร์แตะพื้น วินาทีนั้นแหละที่เราทำให้เทคโนโลยีมีคุณค่า เพราะแต่ก่อนเราได้แต่คิดว่าถ้าวางเก้าอี้ไว้ตรงนี้จะเป็นยังไง ตอนนี้คุณเห็นมันตรงหน้า คุณ ‘รู้สึก’ ว่ามันอยู่ที่เดียวกับคุณ นี่คือสิ่งที่พวกเราทุกคนใน Space10 พยายามทำให้เกิดขึ้น เพราะเทคโนโลยีสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้เยอะมากจริงๆ”
คนหลากหลายที่เก่งคนละเรื่อง
“2 ปีที่แล้ว Space10 มีทีมงานแค่ 4 คน ส่วนตอนนี้ นับไม่ได้ว่ามีเท่าไหร่แล้ว เราทำงานกับคนเป็นร้อยๆ งานของผมไม่มีอะไรมาก แค่ทำยังไงก็ได้ให้แน่ใจว่าทุกคนที่ทำงานกับ Space10 ยังสนุกกับงานตัวเองอยู่ คนที่ Space10 หลากหลายมาก มีทั้งสตาร์ทอัพ สตูดิโอออกแบบ หรือแม้กระทั่งนักศึกษาก็มี ซึ่งผมว่าความหลากหลายนี้คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เราทำโปรเจกต์เยอะมาก เป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะเก่งไปหมดทุกโปรเจกต์ เราต้องการคนหลากหลายที่เก่งคนละเรื่อง”
“เวลาอยู่ใน Space10 จะได้ยินคำพูดหนึ่งตลอดคือ ถ้าคุณคิดว่าตัวเองเก่งที่สุดในห้อง นั่นหมายความว่าคุณอยู่ผิดที่แล้ว นี่ไม่ใช่ที่ของคุณแน่นอน ผมสังเกตเห็นหลายคนชอบทำคล้ายกับว่าตัวเองเป็นคนเก่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นเรื่องนี้เต็มไปหมด ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ยิ่งรู้ว่าโลกหมุนเร็ว ผมคิดว่าเรายิ่งต้องถ่อมตัวให้มากที่สุด เพื่อจะได้เรียนรู้จากคนที่เขาเก่งจริงๆ ในแต่ละสาขา แต่เราไม่ได้มองว่าทีมงานเรามีแค่คนเก่งๆ นะ เรานับคนทั่วไปด้วย เวลาเราทดลองโปรเจกต์ บางครั้งก็เอาไปตั้งไว้ที่ไหนสักแห่งสัก 1 – 2 สัปดาห์ให้คนทั่วไปมาดู เราจะได้รู้ว่าเขาคิดยังไง รู้สึกยังไงกับสิ่งที่เราทำ เราถือว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของ Space10 ด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะไม่ได้ทำงานในแล็บกับพวกเราก็ตาม”
“Space10 เต็มไปด้วยคนที่จริงจัง คนที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าตอนนี้ ทุกคนแก้ปัญหาที่เครียดมากก็จริง แต่เชื่อมั้ย พวกเราไม่ได้คิดว่างานเราเครียดเลย เราสนุกกับมันด้วยซ้ำ ถ้าเราเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับงานมากๆ ผมว่าความรู้สึกที่ว่างานที่เราทำมันสนุกนี่สำคัญมากเลยนะ ที่ Space10 เราเชื่อว่าคนที่สามารถทำงานยากๆ ได้โดยไม่เครียดจะสร้างสรรค์งานออกมาได้ดีกว่าคนอื่น เอาเป็นว่าคนใน Space10 มีส่วนผสมหลักๆ 3 อย่างแล้วกัน คือแพสชั่น ความจริงจัง และความขี้เล่น ปนๆ กัน”
พื้นที่ที่คนรุ่นใหม่มาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง
“ผมรู้ตัวว่าผมเป็นคนที่เกิดไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่ประเด็นคือผมนึกได้ แล้วพอผ่านไปสักพักก็หายไป ผมไม่ใช่คนที่จะขับเคลื่อนไอเดียให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง ผมมองตัวเองเป็นคนชอบเริ่มดีกว่า ผมอยากสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาให้เป็นที่ที่ทุกคนเข้ามาโยนไอเดีย เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยกันต่อไปได้ถึงแม้จะไม่มีผมอยู่ในวงโคจรแล้วก็ตาม สำหรับ Space10 เอง ผมฝันมากๆ ว่าวันหนึ่งมันจะกลายเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่า เฮ้ย! ฉันเองก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกันนะ ผมอยากให้คนคิดแบบนี้จริงๆ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เริ่มรู้สึกหมดหวังกับโลกทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าที่หลายคนรู้สึกว่าเราไม่ได้มีค่า ไม่ได้เก่งพอที่จะไปแก้ปัญหายากๆ ได้ เป็นเพราะพวกเขาไม่มีแพลตฟอร์ม ไม่มีเครื่องมือสนับสนุนความคิดเขาต่างหาก ผมถึงอยากเป็นคนสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา สุดท้ายแล้ว โลกเราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่ ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่มีวันมาจากคนรุ่นเก่าที่ทำงานมาแล้ว 50 ปี การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากมุมมองที่ต่าง พลังใหม่ๆ จากคนรุ่นเรานี่ล่ะ”
โลกอนาคตที่ผสมผสานระหว่างยูโทเปียและดิสโทเปีย
“การทำงานที่ Space10 จริงๆ แล้วทั้งสนุกและน่าหงุดหงิด เพราะเราต้องทดลอง ผิดพลาด ทดลองใหม่ ผิดพลาดอีกครั้ง เป็นลูปซ้ำๆ แบบนี้ ชีวิตคนเราต้องเลือก ถ้าเราเลือกแก้ปัญหาเล็กๆ คงง่ายกว่านี้มาก แต่ผมไม่เลือก ผมอยากแก้ปัญหายาก เพราะฉะนั้นผมยอมทนกับความหงุดหงิดดีกว่าหันหลังให้ปัญหาพวกนี้ เพราะนั่นจะทำให้ผมหงุดหงิดหนักกว่าเดิม”
“ผมไม่เคยมองว่าโลกอนาคตเราจะสิ้นหวังถึงขั้นกลายเป็นดิสโทเปียไปเลย ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่เชื่อหรอกว่ายูโทเปียจะมีอยู่จริง ผมเชื่อว่าโลกเราคือการผสมผสานของสองสิ่งนี้ ฝั่งดิสโทเปียสำหรับผมคงเป็นความกังวลเรื่องสื่อ กลัวว่าดิจิทัลจะมาทำลายหรือชี้นำสื่อจนผิดเพี้ยนไป แต่เวลาผมเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นตัวเองมากขึ้นในเรื่องต่างๆ ที่พวกเขารับรู้จากสื่อรัฐบาล เลยคิดว่าคงยังพอมีหวังอยู่บ้าง ผมอยากให้คนรุ่นใหม่เริ่มคิดถึงโลกอนาคตที่พวกเขาอยากใช้ชีวิตอยู่ เพราะสุดท้ายแล้ว มันจะเป็นแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับพวกเขาที่เป็นคนคิดและลงมือสร้างขึ้นมา”
“สำหรับตัวผมเอง ผมไม่เคยฝันถึงโลกอนาคตที่มนุษย์เป็นอมตะ ทุกคนอยู่ในตึกกระจก นั่งรถที่ไม่มีคนขับ สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในโลกอนาคตได้แค่ในฐานะส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายแล้ว ผมฝันถึงโลกอนาคตที่มีความอ่อนโยน มนุษย์ยังเห็นอกเห็นใจ และให้คุณค่ากับอะไรบางอย่างที่หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรไม่มีวันเข้าถึงได้ อย่างเช่น มิตรภาพ ความรัก อะไรทำนองนั้น แปลกเหมือนกันที่เวลาพูดถึงโลกอนาคต ทุกคนจะนึกถึงแต่อะไรแบบนี้ ผมว่าเราน่าจะลองคิดถึงโลกอนาคตในแง่มุมที่เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์บ้างก็น่าจะดีเหมือนกัน”
website l space10.io
ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์