ก้าวกับเพื่อน : เบลล์-ชายชาญ ชายผู้ออกก้าวไปกับ ตูน บอดี้สแลม เพราะมิตรภาพ 20 ปี

ชายที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราตอนนี้ออกตัวว่าเขาน่าจะเป็นคนที่กล้าจิกกัด ตูน บอดี้สแลม มากที่สุด

หากคุณติดตามโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ อย่างใกล้ชิด เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะไม่รู้จัก ‘เบลล่า สายดาร์ก’ หรือ เบลล์–ชายชาญ ใบมงคล ครีเอทีฟของโครงการก้าวคนละก้าวและนักพากย์ไลฟ์การวิ่งสำนวนแสบสันต์ ผู้กัดได้ทุกคนตั้งแต่ประชาชนที่มารอข้างทางยันพี่ตูนที่วิ่งอยู่หัวขบวน

หรือหากไม่เคยดูไลฟ์ คุณก็น่าจะเคยผ่านตาสเตตัสเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าด้วยเรื่องราวระหว่างทางทั้งแสบๆ คันๆ ทั้งซึ้งน้ำตาซึม จนคนแชร์บันทึกของเขาเป็นพันๆ ครั้ง และทำให้ยอดผู้ติดตามหลักร้อยของเขาพุ่งเป็นหลักหมื่นได้ภายในระยะเวลา 55 วันของการวิ่งเท่านั้นเอง

หรือต่อให้คุณไม่เคยได้ยินชื่อเขามาก่อน คุณก็ต้องรู้จักโครงการก้าวคนละก้าว ซึ่งชายที่นั่งอยู่ข้างหน้าเรานี่เองที่เป็นคนวางแผนการพีอาร์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ต่อให้ไม่ได้ติดตาม เราก็รู้จักโปรเจกต์ก้าวคนละก้าวของพี่ตูนกันถ้วนหน้า

เร็วๆ นี้ เบลล์ยังหยิบความทรงจำจากก้าวคนละก้าวมาเขียนเป็นหนังสือเล่มหนาเกือบ 400 หน้าชื่อว่า คนละก้าว ที่เพิ่งวางขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมาอีกด้วย

ท้ายเล่ม เบลล์เขียนไว้ในประวัติของตัวเองว่า ‘ถ้านั่งไทม์แมชชีนไปเกือบๆ 20 ปี จะได้เห็นเบลล์กับตูนร่วมงานกันมาตั้งแต่ค่ายมิวสิค บั๊กส์ เรียกว่ารู้จักกันตั้งแต่ยังไม่มีคำว่าบอดี้สแลม วันที่ตูนยังเป็นตูนเฉยๆ และเบลล์ก็ยังเป็นเบลล์เฉยๆ’

มิตรภาพเกือบ 20 ปี คือคำตอบว่าทำไมชายคนนี้ถึงกล้าจิกกัด ตูน บอดี้สแลม ฮีโร่ของโครงการก้าวคนละก้าว ในขณะเดียวกัน มิตรภาพยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนไม่ค่อยออกกำลังกายอย่างเบลล์ลางานเป็นเวลาสองเดือนครึ่ง ทิ้งทริปไปเที่ยวไต้หวัน และออกมาก้าวไปกับพี่ตูนตั้งแต่จังหวัดใต้สุดสู่จุดสูงสุดของประเทศ

“มันจะมีคนประเภทที่ทำงานเป็นโปรเฟสชันนอล กับคนที่เป็นเพื่อน ตูนเขาก็เลือกคนที่เป็นเพื่อนกันเพราะก้าวคนละก้าวเป็นโปรเจกต์การกุศลที่ไม่มีใครได้เงิน เขาก็ต้องหาคนที่แฮปปี้ที่จะทำงานร่วมกันมาทำงาน มันก็เลยเริ่มจากเพื่อน” เบลล์ว่าไว้อย่างนั้น

นอกจากเขา ทีมงานที่เหลือยังเป็นเพื่อนของตูนคนอื่นๆ (รวมไปถึงเพื่อนของเพื่อนของตูน) ด้วย เพราะอย่างนี้ สำหรับเบลล์ โครงการก้าวคนละก้าวจึงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เป็นความฝันของตูน อาทิวราห์ แต่ยังหมายถึง ‘เพื่อน’ ที่ออกมาร่วมก้าวไปด้วยกัน และทำให้ฝันของเพื่อนคนหนึ่งเป็นจริง

 

ก่อนออกก้าว

นอกจากเบลล์แล้ว อีกหนึ่งหัวเรือใหญ่ของโครงการก้าวคนละก้าวก็ยังเป็นเพื่อนที่เต็มใจมาช่วยเพื่อนเช่นกัน

“ตอนที่เราทำโปรเจกต์กรุงเทพ-บางสะพานกัน ตูนโทรมาหาผมบอกว่าช่วยมาทำโปรเจกต์นี้ให้หน่อย ปัญหาหลักๆ เลยคือผมเป็นคนที่มีปัญหาเรื่อง sense of direction มากๆ พูดง่ายๆ ภาษาไทยคือขับรถหลงอะ คิดในใจว่า 400 กิโลฯ นี้เราพาพี่ตูนไปหลงแน่นอน ก็เลยบอกตูนว่าขออนุญาตเอาเพื่อนมาทำงานด้วยคนหนึ่ง”

เพื่อนคนนั้นก็คือ โอ๊ต-ธีรทัต สังขทัต ณ อยุธยา เจ้าของบริษัท Red Cap Organizer ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการโครงการ ด้วยประสบการณ์เรื่องอีเวนต์และขบวนแห่ รู้จักเส้นทางแทบทั่วประเทศ รู้จักตำรวจแทบทุก สน. และเคยประสานงานกับจังหวัดต่างๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน บวกกับการที่ตูนรู้จักและไว้ใจโอ๊ตอยู่แล้ว การทำงานของเพื่อนจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นั้น

“พอตูนบอกพี่โอ๊ตว่าจะไปเบตงถึงแม่สายช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว พี่โอ๊ตก็เอาความตั้งใจของตูนไปขยายต่อด้วยการสำรวจเส้นทาง ตอนที่วิ่งจริงๆ วันหนึ่งเราจะต้องแวะประมาณ 4-5 จุด เราจะวิ่ง 55 วัน ก็เท่ากับเกือบๆ 300 จุดทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นทีมของพี่โอ๊ตก็ต้องนั่งรถจากเบตงถึงแม่สายหลายรอบก่อนพี่ตูนจะไปวิ่งจริง เฉพาะที่เบตงพี่โอ๊ตไป 4 ครั้งก่อนตูนจะลงไป”

ไม่เพียงแค่ผู้บริหารโครงการที่เป็นเพื่อนเท่านั้น แต่บุคคลสำคัญอย่างคุณหมอที่จะดูแลตูนตลอดเส้นทางก็เป็น หมอเมย์-พญ.สมิตดา สังขะโพธิ์ เพื่อนที่ถูกชวนมาร่วมชะตากรรม ร่วมกับคุณหมอคนอื่นๆ ที่แม้ตอนต้นจะใกล้ชิดกับตูนบ้าง มีความสัมพันธ์ห่างๆ บ้าง แต่เมื่อวิ่งจบ ทุกคนก็กลายเป็นเพื่อนกันไปแล้วทั้งสิ้น

ทีมบริหารพร้อม คุณหมอพร้อม ก็มาถึงเรื่องของการพีอาร์ ซึ่งเบลล์ทำหน้าปวดหัวก่อนบอกว่ามันมีรายละเอียดมากกว่าที่ใครๆ จะคิดไว้เยอะ

 

ก้าวต่อมา

เราอาจเพิ่งมาได้ยินชื่อของเบลล์อยู่บ่อยๆ จากโครงการก้าวคนละก้าวเส้นทางเบตง-แม่สายก็จริง แต่ในเบื้องหลัง เบลล์คือหัวหน้าทีมครีเอทีฟจากช่อง ONE31 ที่ทำหน้าที่คุมสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์โครงการก้าวคนละก้าวตั้งแต่ครั้งแรกที่บางสะพาน จนถึงครั้งเบตง – แม่สาย นั่นแปลว่าคลิปโปรโมตทุกชิ้น ข้อความโปรโมตบนเฟซบุ๊กเพจก้าวคนละก้าว ไปจนถึงการตอบกลับดราม่าทุกดราม่าเกี่ยวกับโครงการอยู่ในมือของเบลล์ทั้งหมด

หรือแม้กระทั่งการจัดระเบียบกล้องให้ไม่เบียดบังกันก็ยังเป็นหน้าที่ของเขาทั้งสิ้น

“เราทำทุกอย่างให้ง่ายที่สุด เราก็นับว่าระยะเวลาจากวันที่เริ่มโปรโมตไปจนถึงวันวิ่งมันอีกกี่วัน แล้วอาทิตย์หนึ่งเราควรจะมีรายการโทรทัศน์สักกี่รายการ สมมตินะว่าเป็นรายการเทปสักรายการหนึ่ง สดสักรายการหนึ่งมั้ย”

“ส่วนการโปรโมตออนไลน์ โชคดีที่เราได้เฟซบุ๊กมาช่วยบูสต์ให้ฟรีในช่วงแรก เราก็ต้องคุยว่างานทั้งหมดจะมีกี่ชิ้น งานแต่ละงานจะโพสต์วันไหน ผมก็กลับมาคิดง่ายๆ เหมือนเดิมว่าเราวิ่ง 4 วันหยุด 1 วัน นั่นหมายความว่ามีวันหยุดประมาณ 12 ครั้ง ก็ต้องมี 12 คลิป เป็นตัวสรุป 4 วันที่ผ่านมา แล้วก็มีไลฟ์พิเศษหนึ่งตัวช่วงเย็นเพราะวันหยุดถ้าไม่มีไลฟ์เดี๋ยวคนดูเหงา วันสุดท้ายที่ปิดโครงการต้องมีชิ้นงานอีกชิ้นงานเพื่อขอบคุณทุกคน และบอกว่าโครงการยังไม่จบนะ ยังบริจาคต่อได้”

“พอเราได้ตัวเลข 13 คลิปออกมาออกมาก็มาคุยกับทีมงานว่าไหวมั้ยวะ เพราะนี่หมายความว่าทุก 4 วันน้องต้องทำคลิปให้เรา 1 คลิป ทีมนี้เป็นทีมที่รักกัน ทำงานด้วยกันมานาน ซาด๊าส คนตัดต่อคลิปที่ตอนนี้เป็นโปรโมเตอร์อยู่ที่จีนี่ เรคคอร์ดเขาบอกว่าทำได้ เราก็โอเค งั้นอยู่ที่กองนี้แกจะทำอะไรก็ได้ จะอยู่ตรงไหนก็ได้ แต่ทุก 4 วันต้องมีคลิปมาให้ดู” เบลล์เล่าไปหัวเราะไปทั้งๆ ที่ความปวดหัวก็ยังไม่จบไม่สิ้น

“พอมีเรื่องคลิป มันก็จะมีเรื่องการจัดระเบียบทีมกล้องบนถนนอีก มีทั้งทีมกล้องของซาด๊าสที่ทำคลิป ทีมกล้องของ Thai Livestream ที่ถ่ายทอดสดตลอดช่วงเวลาที่พี่ตูนวิ่ง ทีมกล้องของช่องวัน พูดง่ายๆ คือมีทีมกล้องอย่างน้อย 3 ทีมอยู่บนท้องถนน ทีมละประมาณ 3-4 ตัว แล้วทุกคนก็สำคัญหมด เพราะฉะนั้นก็ต้องนัดกัน”

“ซึ่งกล้องของช่องวันเขามาถ่ายรายการ exclusive ก้าวคนละก้าว daily ที่รายการนี้ exclusive เพราะว่าตูนไปขอหัวหน้าเราให้เรามาทำโครงการก้าว เขาก็เลยยื่นข้อเสนอว่าถ้าพี่เบลล์มาทำงานกับผม เขายินดีให้ทีมกล้องของช่องวันมาถ่ายรายการ exclusive เราก็คือเป็นตัวขัดดอก” เขาเล่ายิ้มๆ ถึงโมเมนต์น่ารักๆ ที่ตูน บอดี้สแลมนักร้องคนดังเดินเข้าไปขออนุญาตเจ้านายของเบลล์เพื่อพาเพื่อนมาทำงานด้วยกัน มานึกดู หากเพื่อนอยากให้เรามาร่วมทางขนาดนี้ เป็นใครจะไม่ใจอ่อนบ้าง

ความใจอ่อนของเบลล์ยังลามไปถึงการแคนเซิลทริปไต้หวันที่แพลนไว้แล้วเพราะผูกพันกับก้าวไปแล้วเต็มๆ แม้นั่นจะหมายถึงการต้องจัดการปัญหาเฉพาะหน้ามากมายก็ตาม

 

ก้าวไม่ออก

เป็นเรื่องตลกร้าย ที่เรื่องขลุกขลักของโครงการก้าวคนละก้าว เริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่ได้ก้าวออกจากจุดสตาร์ทเลยสักก้าวด้วยซ้ำ

ย้อนไปก่อนหน้าวันออกวิ่ง เขาบันทึกไว้ในหนังสือคนละก้าวว่า นักข่าวที่กำลังจะมาทำข่าวของตูนต่างพากันกระหน่ำโทรมานัดแนะกำหนดการกับเขาจนสายแทบไหม้ แม้มือถือจะร้อนจี๋ แต่นั่นก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าโครงการของพวกเขาก็กำลังฮอตฉ่า และโอกาสที่จะได้เงินบริจาคจากประชาชนก็มากขึ้นตามไปด้วย

ทว่าเมื่อถึงบ่ายวันนั้น เครื่องบินลำที่จองไว้ให้นักข่าวเดินทางมาหาดใหญ่กลับขัดข้องกระทันหัน แม้สายการบินจะรับผิดชอบด้วยการเปลี่ยนไฟลต์ให้ แต่สุดท้ายบรรดานักข่าวก็มาไม่ได้อยู่ดี

“ช่วงวันเริ่มต้นโครงการ เราเชิญนักข่าวไปเบตงแล้วเกิดได้รับแจ้งจากสนามบินว่าเครื่องบินที่เราจองเอาไว้มีปัญหาจะต้องเปลี่ยนไฟลต์ แต่เพราะที่ที่เราไปคือเบตง การที่จะเปลี่ยนเป็นไฟลต์ที่มาถึงตอนเย็นให้ ตำรวจ ทหารเขาไม่แนะนำ เพราะจากสนามบินหาดใหญ่ กว่าจะนั่งรถไปถึงอำเภอเบตง จังหวัดยะลาก็ต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ซึ่งทางมันมืด ไม่มีใครกล้ารับรองความปลอดภัย นั่นเท่ากับว่าวันนั้นนักข่าวมาไม่ได้ เขาก็พยายามใช้นักข่าวท้องถิ่น (stringer) มาแทน เจ้าไหนที่มาล่วงหน้าวันสองวันก็โชคดีได้ข่าวไป ส่วนที่เหลือก็ต้องพึ่งโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นหลัก”

เรื่องสะดุดยังไม่หมดเพราะความที่ต้องวิ่งผ่านพื้นที่สีแดง บางจุดสัญญาณมือถือก็ขาดๆ หายๆ เพราะรถตัดสัญญาณ การไลฟ์ของทีมก็เลยดับๆ ติดๆ ส่วนทีมงานจะโทรหากันทีก็ลำบากลำบน

แต่เอาจริงๆ ปัญหาใหญ่กว่านั้นสำหรับเบลล์คือการที่ก้าวคนละก้าว ‘ป๊อป’ เกินไป

“สิ่งที่เราไม่ได้คิดคือโครงการมันจะป๊อปปูลาร์ขนาดนี้ เราเริ่มวิ่งกันที่เบตง เราก็คิดว่าเขาอยู่กันเงียบๆ สงบๆ เป็นพื้นที่สีแดงด้วย คงไม่มีอะไรรื่นเริงขนาดนั้น ปรากฏว่าคนออกมาทั้งอำเภอเลย ไม่มีการแบ่งศาสนา เป็นสิ่งที่พี่ตูนบอกว่าดีมาก แต่สิ่งที่เราต้องรับก็คือกิจกรรมในแต่ละเซ็ตวิ่งมันยาวนานเกินกว่าที่เรากำหนดไว้ เดิมเราคิดว่าเซ็ตหนึ่งประมาณ 2 ชั่วโมง นี่บางเซ็ต 5 ชั่วโมงยังวิ่งไม่ถึงเส้นชัย” เขาส่ายหน้า ถอนหายใจ และแอบกัดว่าเพื่อนรักของเขานั่นแหละที่ทำให้การวิ่งยืดยาวเกินไปมาก เพราะตูนไม่เคยปฏิเสธใครสักคน เงินบริจาค กีตาร์ทุกตัว ผลไม้ทุกผล ตุ๊กตาเป็ดทุกตัว และสารพัดของที่ยื่นมาก็ถึงมือตูนหมด

และก็อย่างที่เรารู้ว่าการวิ่งๆ หยุดๆ เดี๋ยวก้ม เดี๋ยวนั่งของตูน กลายเป็นอาการเจ็บปวดที่เราต่างก็เห็นกันผ่านหน้าจอ แต่ที่เราอาจไม่เห็นคือนอกจากตูนแล้ว หลังจากวิ่งไปได้สักพัก เพื่อนๆ ร่วมขบวนก็ทยอยป่วยไปตามๆ กัน

“พอเราวิ่งกันไประยะทางหนึ่งก็ป่วยกันทั้งขบวนเลย คนเป็นฉี่หนูก็มีเพราะว่าฝนตก แดดออก พายุลง น้ำท่วมเราก็ต้องวิ่ง เพราะเราต้องทำระยะให้ได้ในแต่ละวัน ทีมงานที่ต้องสแตนด์บายเพื่อเซ็ตอัพก็ต้องย่ำน้ำน่ะสิ ทีนี้มันมีฉี่หนูอยู่ในจุดที่มีน้ำขัง ก็เป็นแผลที่ขากัน ติดเชื้อ ป่วยเข้าโรงพยาบาล”

“พี่โด๋ว (ดีเจโด๋ว-มรกต โกมลบุตร) ที่เป็นผู้บรรยายไลฟ์ก็ป่วยเพราะว่านั่งผิดท่าอยู่ท้ายรถไลฟ์ (ทำท่าคุดคู้) จนเกิดเป็นแผลที่ก้น หมอก็แจ้งมาว่าพี่โด๋วต้องพักยาวอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าหนึ่งอาทิตย์แน่นอน พี่เบลล์มีใครพากย์แทนมั้ย เราก็โทรหานักพากย์ทุกคนในประเทศไทยที่เรารู้จักและมีคอนเนคชั่นอยู่ ปรากฏว่าเขาไม่ว่างกันเลย คนที่ว่างพี่ตูนก็ไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นหวยก็เลยมาออกที่เรา”


ก้าวไปข้างหน้า

จากที่เป็นคนเบื้องหลังมาตลอด เมื่อไม่มีใครพากย์ไลฟ์แทนโด๋วได้ถูกใจตูน ไมค์จึงตกมาถึงมือของเบลล์ ผู้มีเอกลักษณ์คือน้ำเสียงทุ้ม นุ่ม บาดใจ แต่สิ่งที่พูดกลับแสบๆ คันๆ จนคนดูถึงกับตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ‘เบลล่า สายดาร์ก’

“คือเราเสียงหล่ออย่างเดียวแต่การพูดอะไรของเรามันชาวบ้านเลย อย่างเอากีตาร์มาอีกตัวแล้วเหรอเนี่ย เก็บไว้บ้านมั้ย นี่พี่เขาหลังจะยอกแล้ว มีกีตาร์ไฟฟ้าด้วยเหรอเนี่ย เอ้า คุณยายฮะคุณยาย ถ้าไม่เป็นการรบกวนคุณยายลุกขึ้นนิดหนึ่งนะฮะ คนเขาก็พิมพ์มาว่าคนพากย์คนนี้เป็นใคร ดาร์กมากๆ เขาก็เลยเรียกว่าเบลล่าสายดาร์ก”

“แล้วสมมติว่าคนพิมพ์ SMS เกรียนๆ นิสัยไม่ดีมา อย่างเช่น พี่ตูนวิ่งมากๆ และนั่งยองๆ อย่างนี้เขาจะเป็นไส้เลื่อนมั้ย จริงๆ ถ้าเป็นคนมีมารยาททั่วไปเขาจะไม่อ่าน เขาจะข้าม เราก็อ่านแล้วบอกว่า อ่า ตอบตรงนี้เลยว่าเป็นไส้ของพี่ตูนเขา (หัวเราะ) แย่มาก ไม่ควรทำงานอย่างนี้ แต่ดันต้องถือไมค์อย่างนี้อยู่สองอาทิตย์ ระหว่างนั้นเราก็ได้สัมภาษณ์ดารา นักร้อง เต็มไปหมดเลย มันเลยกลายเป็นว่าคนรู้จักเราเยอะไปด้วย หลายคนเขียนแซวเราว่าเราอยากดังมาก ซึ่งไอ้บ้า เราเป็นคนแบบนี้มาตั้งนานแล้ว แต่เราแค่ไม่ได้ออกมาหน้ากล้องแค่นั้นเอง (หัวเราะ)”

เราลองจินตนาการถึงคนดูที่เหวอเพราะการพากย์แบบดุเด็ดเผ็ดมันของเขาแล้วก็อดหัวเราะลั่นไม่ได้ ก่อนเบลล์จะออกปากบอกว่าไม่ต้องกลัว เพราะวิญญาณเบลล่า สายดาร์กได้จากร่างเขาไปแล้ว เพราะคำพูดจากนักแสดงตัวร้ายคนหนึ่งที่มาร่วมขบวน

“ช่วงนั้นเราปลดปล่อยตัวตนของเรามาก จนมาเปลี่ยนทัศนคติตอนที่ได้เจออาทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ ที่มาวิ่งด้วย อานงเขาบอกว่าทำไมเบลล์ถึงพูดแรงขนาดนี้ เราก็บอกอาว่าเราเป็นห่วงเพื่อน อาก็บอกว่าเราคิดไปเอง เราก็ เฮ้ย ผมไม่ได้คิดไปเอง เห็นมั้ยว่ามันเจ็บ อานงเขาเลยบอกว่าผมก็รู้ว่าตูนเจ็บแต่คุณดูสิเขายิ้มมั้ย เราก็หันไปมอง เออว่ะ ตูนยังมีรอยยิ้มอยู่เลย อานงก็เลยบอกว่าเห็นมั้ย เขาเจ็บ แต่เขาไม่ได้เป็นทุกข์ เขามีความสุข คุณไปห่วงอะไรเขา แล้วคุณดูคุณยาย คุณป้า ดูเด็กๆ ที่อยู่ข้างหลัง สีหน้าเขาเป็นยังไง เราก็มาคิดว่าเออว่ะ ทุกคนมีความสุขหมดเลย พี่ตูนมีความสุข ประชาชนมีความสุข ทำไมคนพากย์แม่งไม่มีความสุขวะ แปลว่าแม่งคิดไปเองว่าจะเกิดนั่นนี่ พอเข้าใจปุ๊บ เราก็เข้าใจว่าก้าวคนละก้าวมันเป็นเรื่องของความสุขนี่หว่า เป็นความสุขของคนที่ออกมาให้ เราก็เลยซอฟต์ลง”

 

ก้าวต่อไป

“ระหว่างที่เราอยู่กับตูน เราก็เขียนเรื่องราวเป็นสเตตัสลงในเฟซบุ๊กก็มีคนฟอลโลว์เราเยอะนะ ตอนแรกผมมีเพื่อนอยู่หลักร้อยคน ตอนจบโปรเจกต์ผมได้มาสี่หมื่นกว่าคน ซึ่งเป็นสี่หมื่นกว่าคนที่แอคทีฟมากแล้วเขาก็ตามอ่านสิ่งที่เราเขียน แล้วก็เชียร์กันว่าทำหนังสือมั้ยเพราะว่าเขาชอบสิ่งที่เราเขียน” เบลล์เล่าถึงที่มาของหนังสือ คนละก้าว ที่เขาลงมือเขียนถึงโครงการของเพื่อนด้วยตัวเอง

“ผมว่าก้าวคนละก้าวเป็นโปรเจกต์ที่คนให้ความสนใจและรักมัน ผมก็คุยกับตูนว่าผมขอเอาเรื่องราวที่ผมจดจำเอามาเขียนเล่าเป็นหนังสือได้มั้ย ตูนก็บอกว่าได้แต่ว่าขอให้เล่าในมุมมองของพี่นะ ผมว่ามุมมองของพี่น่ารักดี ผมว่าน่าจะสนุก พี่จะจิกจะกัดผมตามนิสัยของพี่ก็ได้ ซึ่งผมก็ใส่ไปเยอะอยู่ (หัวเราะ) นี่น่าจะเป็นหนังสือเล่มแรกที่มีการกัดพี่ตูนอยู่เป็นระยะตลอดทาง แล้วก็กัดทุกคนที่ขวางหน้า”

ว่ากันตามตรง เพียงแค่เปิดอ่านบทแรกที่เบลล์แนะนำตัวละครในทีมก้าวคนละก้าว เราก็พบว่าทีมงานกว่าครึ่งโดนเบลล์กัดขำๆ ไปเรียบร้อยแล้ว แต่เอาเข้าจริง เขาแอบบอกว่าเรื่องที่เคยขำๆ ก็กลายเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นจนตัวโก่ง เมื่อถึงเวลาส่งต้นฉบับให้เพื่อนสนิทผู้เป็นเจ้าของโครงการ

“พอเขียนเสร็จปุ๊บ เราก็ส่งให้พี่เอ๋ นิ้วกลม อ่านอยู่วันสองวันก็บอกว่าโอเค เราก็พรินต์ต้นฉบับแล้วส่งไปให้ตูนอ่าน ตูนรับเอกสารไปช่วงบ่ายโมง เราคิดว่าตูนน่าจะใช้เวลาสามถึงสี่วันหรืออาทิตย์หนึ่งในการอ่าน ปรากฏว่าคืนนั้นห้าทุ่มตูนไลน์มาบอกว่าอ่านเสร็จแล้ว”

“เราถามว่าติดอะไรมั้ย แกก็ส่งสติกเกอร์หน้ายิ้มๆ มาให้ ความรู้สึกตอนนั้นคือกดดันสุดๆ แล้วพี่ตูนก็ส่งต้นฉบับที่ถ่ายมือถือมาให้แล้วมีปากกาวงเป็นสิบหน้าเลย เราคิดในใจว่าแย่แล้ว มันติดอะไรเยอะขนาดนี้วะ สงสัยจะไม่ได้ตีพิมพ์แน่ๆ พอเราขยายมาอ่าน ตูนตรวจอักษรมาให้ เราก็บอกว่า อ้าว แล้วเนื้อเรื่องล่ะ ไม่ติดเลยเหรอ เขาพิมพ์ตอบมาสั้นๆ ว่าดีมากนะครับพี่ เรารู้สึกว่าตูนเป็นคนมีมาตรฐานสูง ถ้าเขาบอกว่าดีมากครับพี่ แปลว่ามันโอเคพอที่จะส่งให้คนทั้งประเทศอ่านได้ เราก็เอาต้นฉบับทำเป็นเล่มนี้ออกมาเลย”

“ส่วนใหญ่คนที่ได้ไปจะอ่านจบภายในคืนเดียวแล้วก็เขียนกลับมาว่า อ่านไป ร้องไห้ไป บางท่อนก็หัวเราะก๊ากออกมา มีคนได้รับพลังจากเล่มนี้กันเยอะ เราเลยรู้สึกว่านี่น่าจะเป็นหนังสือที่น่ารักเล่มหนึ่งที่คนอ่านแล้วคิดถึงวันเวลาที่สวยงามที่เคยเกิดขึ้นระหว่างกิจกรรมก้าวคนละก้าว ได้รับพลังในการที่จะดูแลตัวเองและมีก้าวของตัวเองต่อไป”

ก่อนจะจากกัน เราถามเบลล์เป็นเรื่องสุดท้ายว่าเขาอยากให้คนอ่านได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้

“เราเขียนมันด้วยความคิดถึง ตูนถามว่าหนังสือเล่มนี้มันคือหนังสืออะไร เราก็บอกว่ามันคงเหมือนสมุดเฟรนด์ชิปมั้ง เราไม่ได้คิดว่ามันจะต้องบันทึกประวัติศาสตร์ไม่งั้นเราจะต้องเขียนให้ดูยิ่งใหญ่มาก เราต้องพูดว่า ตูนทุ่มเทพละกำลังกายแรงใจมากเพียงไหน (ทำเสียงเข้ม) แต่เราเขียนในมุมมองของคนที่นั่งดูแล้วเห็นตูนวิ่งอยู่ เล่าแบบเล็กๆ ของเรา เพียงแต่เรื่องมันใหญ่แค่นั้น”

เล็ก เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อนที่สร้างสิ่งยิ่งใหญ่ได้นั่นเอง

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์, ชายชาญ ใบมงคล, Vin Buddy, Ahakorn

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย