ถ้าติดตามดู เราจะเห็นว่าในขบวนวิ่งของ ตูน อาทิวราห์ ประกอบด้วยผู้คนมากมาย ไม่ใช่แค่เพราะนักวิ่งคนนอกที่อาสาลงไปใช้แรงใจแรงเท้าในการระดมทุน แต่ยังรวมถึงคนพื้นที่ที่ออกมาต้อนรับและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’
แม้โครงการจะจบลงไป แต่เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นได้สัมผัสประสบการณ์ตรงหน้า พลังในการก้าววิ่งก็แปรเปลี่ยนเป็นพลังงานรูปแบบใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ในชีวิต นี่คือเสียงของคนธรรมดาที่อาสาลงไปวิ่งด้วยใจ และตัวแทนคนพื้นที่จากภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ ที่จะบอกเล่าว่า พลังที่โครงการนี้ก่อให้เกิดขึ้นในใจพวกเขา มันคืออะไรกันแน่
เพราะการก้าวไม่ได้มีความหมายแค่เชิงกายภาพทางร่างกาย แต่หมายถึงการก้าวไปข้างหน้าของจิตใจด้วย
พิจาริน เลิศสาโรจน์ – นักวิ่งทีม Run Actually
“เราไปร่วมขบวนวิ่งจากจังหวัดตากเข้าลำปางกับทีมวิ่งชื่อ Run Actually ซึ่งมีพี่ 2 คนที่เริ่มมากับพี่ตูนตั้งแต่พี่ตูนหัดวิ่ง เขาอยากให้เราไปช่วยวิ่งในขบวนด้วย เลยเข้าไปในฐานะนักวิ่งที่อยากไปอยู่ใกล้ๆ ไปดูว่าบรรยากาศเป็นยังไงบ้าง แล้วก็พบว่ามันต่างจากเวลาดูไลฟ์มาก
“พอไปอยู่หน้างาน เราได้เห็นจากข้างหลังพี่ตูน เห็นว่าคนคนนี้กำลังก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่เขาทำมาตลอดทางเป็นพันกิโลเมตร เขายังไม่เคยทำผิดกับสิ่งที่ตั้งใจแม้แต่นิดเดียว เช่นว่า ตั้งใจจะไนซ์กับทุกคนที่เข้ามาหา เขาก็ยังเป็นอย่างนั้น เราชอบที่เขาวางแผนดีมาก ในเมื่อปฏิเสธคนออกไปไม่ได้ ทุกคนอยากเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องดีๆ เขาเลยวางแผนให้เซ็ตเช้าเป็นเซ็ตที่วิ่งเร็วที่สุดและยาวที่สุด เพราะยังไม่ค่อยมีคนออกมาหา
“เราพยายามวิ่งเร็วเพราะอยากเห็นว่าพี่ตูนเป็นยังไง ได้เห็นความตั้งใจของเขาในทุกอย่าง ถ้ามีเด็กหรือคนแก่ จะไม่มีสเตชั่นไหนเลยที่ไม่แวะ เขาเห็นความสำคัญของเด็กและคนแก่ที่ออกมาหามาก ในขบวนรถพี่ตูนจะเตรียมของเล่นนิดหน่อย เช่น ลูกบอล ไว้ให้เด็กๆ พอเราเห็นความใส่ใจเหล่านี้ มันฉุกให้เรารู้สึกอะไรบางอย่างเหมือนกันกับความโคตรจริงของเขา ขนาดทำงานเหนื่อยยากขนาดนี้ ถ้าเป็นคนธรรมดาคงโอ๊ย เหนื่อย ร้อน แค่กูวิ่งก็ดีแล้ว แต่เขาตั้งใจกับทุกอย่างแม้กระทั่งการเซอร์วิสคน จดหมายทุกแผ่น กระดาษทุกอย่างที่มาถึงมือเขา เราเห็นเขาอ่าน ทำไมถึงใส่ใจได้ขนาดนี้
“นอกจากนี้เราก็ประทับใจสต๊าฟ ทีมงาน และพวกการ์ด ซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึงเขา เช่น มีพี่ที่ดูแลเครื่องดื่มและเกลือแร่ของพี่ตูน เขาจะขี่มอเตอร์ไซค์อยู่ใกล้ๆ คอยไปจอดรอและวิ่งเอาเครื่องดื่มมาให้พี่ตูน ซึ่งหมอกำหนดว่าต้องกินทุกกี่นาที เขาก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ มีจุดย่อยๆ อย่างนี้เยอะมาก เรามองว่าขบวนก้าวฉายภาพการทำงานเป็นทีมได้ค่อนข้างดี เมื่อทุกคนประสานกัน รู้หน้าที่ตัวเอง ทำให้ภาพใหญ่ของงานออกมาดี พี่ตูนก็วิ่งไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องกังวลกับสิ่งเหล่านี้
“เราเป็นนักวิ่ง เวลาไปวิ่งต่างประเทศจะมีวัฒนธรรมที่คนออกมาเชียร์ 2 ข้างทางเยอะมาก การมาวิ่งกับพี่ตูนทำให้เราได้เห็นสิ่งเหล่านั้นตลอดทาง มีคนเชียร์ว่าสู้ๆ นะคะทีมก้าว ขอจับมือหน่อยค่ะ ขอบคุณมากนะคะที่ออกมาทำแบบนี้ เอาจริงคือเราน้ำตาจะไหล เราไม่รู้จักกัน การวิ่งที่ดูเล็กน้อยและธรรมดาสำหรับเรา มันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนอื่นขนาดนี้เลยเหรอ มันทำให้เรารู้สึกว่า ใครๆ ก็ทำอะไรดีๆ ในรูปแบบของตัวเองได้โดยไม่ต้องทำอะไรยาก วิ่งเฉยๆ ยังสร้างอะไรดีๆ ให้คนอื่นได้เลย เราอยากเอาไอเดียแบบนี้ของพี่ตูนไปขยายต่อ ทำอะไรที่เราคิดว่าทำได้ดี ทำแล้วถนัด ไม่ต้องยาก ยิ่งใหญ่ แต่ทำแล้วมีประโยชน์กับคนอื่น”
นารีรัตน์ เย็นสุข – ชาวอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
“เราอยู่อำเภอแม่สอดจังหวัดตาก ตั้งแต่พี่ตูนเริ่มทำโครงการก็คอยบริจาคเงินผ่านการส่งข้อความโทรศัพท์ ถ้ามันไม่เหลือบ่ากว่าแรงเราก็ทำได้ ระหว่างนั้นก็นับวันรอว่าถ้าผ่านจังหวัดตากเมื่อไหร่จะพาแฟนไปดูพี่ตูน พอดีช่วงที่เขาผ่านเราก็ไม่ว่างจะรอ แต่เขาอยู่จังหวัดตากแล้ว มีเวลาพักวัน 2 วัน เลยชวนแฟนกับน้องชายอีกคนขับรถขึ้นไปทางเหนือที่อำเภอสามเงา ห่างจากแม่สอดราว 150 กิโลเมตร เราอยากไปเป็นกำลังใจให้เขาระหว่างทาง ให้เขารู้ว่ามีคนร่วมสนับสนุนเขายังไง
“เราไปรอที่จุดพักเช็กพอยต์ ถือพวงมาลัยที่ตั้งใจทำมา ตอนกลางคืนก็คิดว่าจะทำเป็นรูปอะไรดีให้พี่ตูนจับง่ายๆ ไม่อยากให้เขาต้องเอาไปใส่คอหรือมาเสียเวลากับเรา ระหว่างนั้นก็มีหน่วยงานค่อนข้างใหญ่ที่มารอ แต่เรามาตามลำพังของเรา อาจจะทำให้พี่ตูนเสียเวลาตรงนั้นได้ เลยตัดสินใจขับรถไปรอล่วงหน้าที่หน้าหมู่บ้านหนึ่ง มีโอกาสยื่นพวงมาลัยให้เขา บอกว่าพี่ตูนรับหน่อย เขาก็เอื้อมมือมารับไป
“แม้เราจะเป็นแค่คนตัวเล็กๆ ที่เขาไม่เห็น แต่เราก็อยากให้ตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการวิ่งของเขา ไปให้ถึงมือเขา เก็บความรู้สึกไว้ว่าครั้งหนึ่งที่เขาวิ่งจากเบตงมาแม่สาย เราได้ออกไปต้อนรับเขา ต่อให้เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ออกมาวิ่งเราก็ควรต้องสนับสนุน เพราะเขาใช้แรงทั้งหมดที่เขามีและความตั้งใจของเขา ซึ่งน้อยคนจะทำได้ ใครก็ตามที่อาสาตัวเอง ออกมาวิ่งรณรงค์ให้อย่างน้อยคนหันมาวิ่งออกกำลังเพื่อลดภาระโรงพยาบาล ถ้าเขาออกมาทำเพื่อส่วนรวม ยังไงเราก็สนับสนุน
“พลังที่ได้จากพี่ตูนคือเรื่องความตั้งใจซึ่งเราอาจจะมีน้อย เวลาขึ้นต้นทำอะไร บางครั้งอาจจะเกิดความล้มเหลวได้กลางทาง ไม่ไหวแล้ว ไม่ทำแล้ว ถ้าเราเก็บอะไรมาคิดได้ก็คือ ถ้าตั้งใจทำอะไรแล้ว มันต้องสำเร็จ ต้องไปถึงเป้าหมายให้ได้ แค่ทำสิ่งที่เราตั้งใจทำ ทำให้มันสำเร็จตามขั้นตอนก็พอ”
กีรติ ยานะวิมุติ – ชาวอำเภอเมือง จังหวัดยะลา
“หลังรู้ข่าวโครงการนี้ ไม่ใช่แค่ครอบครัวผม แต่คนในพื้นที่ก็ตั้งตารอว่าปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ พอวันเริ่มทุกคนก็ตื่นเต้นมาก คนในเขตพื้นที่สีแดงไม่ค่อยยอมรับอะไรง่ายๆ แล้วพอคนคนหนึ่งที่ชื่อตูนซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่มาถึงตรงนี้ คนก็ตื่นเต้น พี่ตูนเคยกล่าวไว้ว่าจากพื้นที่สีแดง มันกลายเป็นพื้นที่สีชมพูที่เขาได้มอง และความหมายของมันคือรอยยิ้มของคนในพื้นที่
“ผมคิดว่าใจของเขาทำให้มันเกิดขึ้น ใจของเขาทำให้ใจคนในพื้นที่สีแดงเป็นร้อยเป็นพันรวมกันจนใหญ่มาก คนในพื้นที่ยอมรับในความคิดของเขา ยอมรับในโครงการนี้ พี่ตูนไม่ได้แค่ช่วยคนในพื้นที่หรือประเทศ แต่พี่ตูนสร้างความสุข ทำให้คนที่มองอะไรไม่มีจุดหมายมองเห็นจุดหมายปลายทางได้ จากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดหมายปลายทาง มันคือความยากลำบากของเขา แต่ถ้าคนในพื้นที่จะทำอะไรสักอย่าง ความยากลำบากมันคงจะน้อยกว่าที่พี่ตูนทำ ทำไมเราถึงทำไม่ได้ จุดนี้มากกว่าที่เรามองว่าพี่ตูนทำให้คนเปลี่ยนความคิด
“เรารู้ว่าพี่ตูนจะผ่านมาหน้าบ้านแต่ไม่รู้วันไหน แฟนเตรียมเงิน 20 บาทไว้ให้ลูกเอาให้พี่ตูน ลูกสาวผมถามแม่เขาว่า ทำไมต้องให้พี่ตูน พี่ตูนเป็นใคร ทำไมต้องให้ 20 บาท แม่ก็อธิบายว่าพี่ตูนจะไปช่วยเหลือคนยากจน คนที่ไม่มีเงินในการรักษาพยาบาล แล้วเราจะได้บุญ ในศาสนาอิสลามการให้ทานคือบุญอันยิ่งใหญ่ เมื่อลูกสาวฟังอย่างนี้ก็บอกว่า เอาเงินแม่กลับไป นูฮามีเงิน นูฮาจะไปเอากระปุกออมสินมาให้พี่ตูนหมดเลย แฟนเล่าให้ฟัง ผมก็น้ำตาคลอเบ้า
“เหตุผลที่พี่ตูนไปถึงจุดหมายได้คือเขามีความคิด ในความคิดของเรา เราก็ต้องคิดว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่เราต้องไปให้ถึง เหมือนเราอยู่เป็นกบในกะลา แต่จริงๆ แล้วยังมีโลกกว้างข้างนอกอีก ฉะนั้นทุกอย่างที่เราคิด เราต้องคิดไปให้ถึงจุดหมายและทำให้ได้ บางครั้งผมอาจจะมองว่าแค่นี้พอแล้ว สุดแล้ว แต่จริงๆ มันยังมีอะไรอีกที่เรายังไปไม่สุด ผมได้แรงบันดาลใจจากตรงนี้เยอะมาก ตอนนี้พูดถึงพี่ตูนแล้วคนในพื้นที่ก็ยังมีความสุขครับ ผ่านไปอีกกี่ปี ยังไงเราก็ไม่มีวันลืม ไม่รู้จะมีอีกเมื่อไหร่ แต่ลูกสาวผมได้บอกแล้วว่า หนูจะเก็บเงินเพื่อรอพี่ตูนมาอีก (หัวเราะ)”
ศยามล ดีอ้น – ชาวอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
“วันนั้นกลับจากมหาวิทยาลัย รู้ข่าวว่าพี่ตูนจะวิ่งผ่านที่จังหวัดชัยนาทเลยรีบไปดักรอ เห็นคนเต็ม 2 ข้างถนนซึ่งไม่เคยมีคนมายืนรออะไรขนาดนี้ เราก็ไปยืนรอด้วย หนึ่งคืออยากเจอ สองคืออยากร่วมทำบุญกับพี่ตูน เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนคนเดียวจะวิ่งเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ
“วันนั้นไปกับแฟน แต่ก็มีเพื่อนๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านซึ่งอยู่ไกลจากเส้นทางที่พี่ตูนวิ่งพากันออกมา ช่วยกันรวบรวมเงินมาบริจาค พวกเทศบาลที่อยู่ตรงนั้นก็มาดักรอเพื่อนำเงินมาบริจาคด้วย ภาพเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นจากความศรัทธาของพี่ตูน เราก็ได้แรงบันดาลใจในการร่วมช่วยเหลือสังคมโดยไม่เห็นแก่ตัวเองเหมือนกัน
“คนต่างจังหวัดส่วนมากจะได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลรัฐบาลอย่างเดียว ทีมแพทย์ก็อาจยังไม่เชี่ยวชาญเท่าในกรุงเทพฯ ทั้งงบประมาณอาจจะไปไม่ถึง คนไข้ส่วนมากก็ถูกส่งตัวเพราะหมออาจไม่เพียงพอ พี่ตูนก็มีส่วนช่วยตรงนี้ พวกหมอและพยาบาลน่าจะมีกำลังใจมากขึ้นเมื่อได้เห็นการวิ่งของพี่ตูน”
อภิสิทธิ์ วิเชียรเครือ – นักกีฬาระดับประเทศ ตัวแทนจังหวัดลำปาง
“ผมเป็นนักกีฬาในพื้นที่ที่เป็นตัวแทนออกมาวิ่งในขบวนวิ่งของก้าวคนละก้าว ผมเป็นคนออกกำลังกายอยู่แล้ว พอรุ่นพี่ในทีมงานชวนก็เลยมา ผมอยากบริจาคเป็นต้นทุนให้คนไทยออกมาก้าวกัน
“ผมเริ่มวิ่งจากจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งใจวิ่งจนถึงสุดแม่สาย เพราะอยากมีประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่วิ่งกับพี่ตูน เรื่องประทับใจคือประชาชนน่ารักมาก เขาออกมาส่งกำลังใจให้พี่ตูน ช่วงที่อยู่ภาคเหนืออากาศเย็นก็วิ่งสนุก ในการวิ่งของพี่ตูน ผมเคยคิดว่าจริงๆ แล้วมันอาจเป็นไปไม่ได้ แต่สุดท้ายมันก็เป็นไปได้เพราะกำลังใจที่ส่งมา ผมชอบบรรยากาศที่ประชาชนทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน มาให้กำลังใจ ทำให้พี่ตูนมีแรงบันดาลใจจะไปถึงแม่สาย เหนือสุดของประเทศ
“ตามระยะทางที่วิ่งมา ผมได้เจอเพื่อน เจอมิตรภาพ ได้ช่วยเหลือกัน เป็นประสบการณ์การวิ่งที่ดี เป้าหมายที่จริงอาจยังไม่สำคัญ มันอยู่ระหว่างทางที่เรามีมิตรภาพที่ดี ปกติผมวิ่งไม่ไหวเลยครับ แต่พอเห็นคนมากมายส่งกำลังใจให้ ผมจึงอยากวิ่งให้ไกล วิ่งให้สุด ตอนออกวิ่งไกล ถ้าเราไม่มีกำลังใจ มันจะไม่มีแรงไปวิ่งต่อ แต่โครงการครั้งนี้มีกำลังใจตลอดทาง มันทำให้เรามีร่างกายที่เต็มไปด้วยพลัง”
ณัฐสุภา โชคเฉลิมวงศ์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
“เราเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่โรงพยาบาลสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นคนสุพรรณโดยกำเนิด ช่วงที่พี่ตูนวิ่งผ่านสุพรรณคนส่วนใหญ่ก็จะตั้งหน้าตั้งตารอรับ คนในโรงพยาบาลก็เหมือนกัน มีไลน์กลุ่มส่งหากันตั้งแต่ก่อนหน้าแล้วว่ากำหนดการพี่ตูนเป็นยังไง ถ้าเป็นพักเที่ยงพยาบาลก็จะอยากออกไปให้กำลังใจ แต่ถ้าต้องทำงานก็จะบอกว่าฝากเงินไปหน่อยนะ ให้กำลังใจพี่ตูนด้วย
“พอดีวันนั้นไม่ได้ประจำห้องฉุกเฉิน มีช่วงพักและโชคดีที่พี่ตูนมาช่วงพักพอดี ตอนแรกก็แค่จะออกไปอัดวิดิโอเซลฟี่ตามที่เขาบอกเฉยๆ แต่พอถึงเวลาจริง จุดที่ไปยืนมีหมอและพยาบาลอยู่ด้วย ตอนพี่ตูนวิ่งผ่าน พอเห็นว่าเป็นหมอพยาบาลปุ๊บ เขาหยุดวิ่งเลย หันมาไหว้กลุ่มพยาบาลกับหมอแล้วบอกว่า ‘ขอบคุณนะครับ สู้ๆ นะครับ เหนื่อยหน่อยนะแต่เป็นกำลังใจให้’ แล้วก็ทำมือรูปหัวใจ เขาเป็นคนที่มีพลังบวกมาก ตัวเองเหนื่อยแล้วยังให้กำลังใจคนอื่น เลยประทับใจมาก
“เราติดตามเขาตั้งแต่ไปวิ่งที่บางสะพาน พอมีโครงการรอบนี้ เราก็ดีใจมากๆ ที่มีคนเห็นความสำคัญของวงการแพทย์ ทุกวันนี้คนในวงการจะรู้ดีว่าทุกอย่างมันไม่เพียงพอเลย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร เครื่องมือ หรือเงินที่จะเอามาใช้ เราอยู่ด้วยความจำกัด โรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ก็อาจจะไม่ใช่โรงพยาบาลที่โครงการช่วยโดยตรง แต่ก็มีโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัด ถ้ามีอะไรเราก็ส่งผู้ป่วยไปที่นั่นได้ ดีใจมากที่ทุกคนเห็นความสำคัญในการช่วยหมอ พยาบาล ซึ่งที่จริงแล้วมันคือการช่วยคนไข้ที่ฝากชีวิตไว้กับโรงพยาบาล
“ถามว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดได้มั้ย มันคงไม่ได้ช่วยทั้งหมด เพราะปัญหาในระบบสาธารณสุขเป็นปัญหาเรื้อรัง คนในระบบจะรู้ดีว่ามันยากจะแก้ ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่คนหนึ่งจะมาช่วยแก้กันได้ง่ายๆ สิ่งที่พี่ตูนทำอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นทางโดยตรง แต่อย่างน้อยเราได้ลงมือทำ เงินส่วนนี้เอามาช่วยได้เยอะเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือ ส่วนความเป็นอยู่ของหมอ พยาบาล ทุกวันนี้ก็เหนื่อย แต่ทุกคนพร้อมจะอยู่ตรงนี้ ทำงานตรงนี้ เพราะเลือกมาตรงนี้แล้ว ถ้าได้อุปกรณ์มา มันก็ช่วยได้ระดับหนึ่งเลย
“ตั้งแต่ทำงานมามีช่วงที่เหนื่อย ท้อ เข้าใจว่าคนทำงานตรงนี้มีความคิดแบบนี้หลายช่วง เพราะงานมันค่อนข้างหนัก มันอยู่กับชีวิตคน แต่เราได้เฝ้ามองผู้ชายคนนี้มาตั้งแต่เริ่มวิ่งจนถึงจุดหมาย เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนไม่ท้อ เป็นคนมีพลังในตัวเอง วันที่ได้เจอเขาพูดให้กำลังใจ เราก็ได้รับพลังบวกจากเขา เคยรู้สึกไม่เอาแล้ว อยากจะลาออกไปนอกระบบ ไปทำงานที่ทำให้มีชีวิตดีกว่านี้ ก็มีกำลังใจมากขึ้น อย่างน้อยก็มีคนที่เห็นความสำคัญ ชื่นชมบุคลากรในวงการสาธารณสุขแล้วเขาก็ทำอะไรเพื่อพวกเรา พี่ตูนเองต้องเป็นคนให้กำลังใจตัวเองได้ดีมากๆ ถ้าไม่ให้กำลังใจตัวเอง เขาไม่สามารถวิ่งมาได้ขนาดนี้
“เราอยู่จุดนี้แล้วก็ต้องให้กำลังใจตัวเอง ให้ทำงานได้อย่างมีความสุข ถ้าไม่ได้อยู่ตรงนี้อาจไม่รู้สึกอะไร แต่เราอยู่ตรงนี้ เรารู้สึก เราได้กำลังใจเยอะมากๆ”