วันที่ฉันได้วิ่งไปกับโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’

หลังจากตัดสินใจจะกลับมาลงสนามวิ่งอย่างจริงจังอีกครั้ง โดยใช้สนาม Bangkok Marathon 2017 เป็นสนามในการ Break The Limit ไปสู่ Mini Marathon 10 กิโลเมตรจนสำเร็จแล้ว เราอยากท้าทายร่างกายและจิตใจของตัวเองอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการลองทำความเร็วในการวิ่งให้เร็วขึ้นกว่าระดับความเร็วเดิมของตัวเอง

เตรียมความพร้อม

ระยะเวลาการเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ถือว่าน้อยมาก เพราะมีเวลาอีกแค่ 2 สัปดาห์ก่อนที่จะต้องออกวิ่งจริงไปกับทีม ‘ก้าวคนละก้าว’ โดยคลับวิ่ง NRC BKK ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกนักวิ่งทุกสาย ทุกระดับ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์แห่งปี แต่ก็ถือว่าไม่ได้โหดร้ายสักเท่าไหร่เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้ซ้อมวิ่งมาก่อนหน้านี้แล้ว

ครั้งนี้จุดสำคัญจะเน้นเรื่องความอึดและระยะทางในการวิ่งมากกว่า สำหรับสถานที่ฝึกซ้อมวิ่งก็ยังคงเป็นสวนสาธารณะทั่วไปในกรุงเทพ โดยใช้แอพพลิเคชั่น NRC+ (Nike Running Club) ของ Nike เพื่อวัดระยะทางและจับเวลา เก็บสถิติความเร็วที่ใช้ในการวิ่ง และเหตุผลที่เราไม่เลือกฝึกซ้อมบนลู่วิ่งเพราะคิดว่าการวิ่งบนสายพานของลู่วิ่งที่ทำความเร็วหมุนไปเรื่อยๆ น่าจะกดดันมากเกินไป

ฝึกซ้อมไปพร้อมโค้ช

ในการวิ่งจะมีศัพท์เทคนิคไว้วัดความเร็วที่เรียกว่า pace (เพซ) คำนวณจากเวลาที่ใช้ในการวิ่งต่อ 1 กิโลเมตร ยิ่งมีตัวเลขน้อยก็ยิ่งวิ่งเร็ว เช่นคนที่วิ่งระดับ Pace 5 หรือ 6 ถือว่าวิ่งเร็ว (วิ่งได้ระยะทาง 1 กิโลเมตรภายใน 5-6 นาที) ตัวเราเองเคยวิ่งในระดับเพซ 8 คราวนี้จะลองขยับมาเพซ 7 ดูบ้าง เท่ากับเราจะต้องใช้เวลาในการวิ่ง 1 กิโลเมตรลดลง 1 นาทีให้ได้

ในการวิ่ง เราอาจเลือกใช้วิธีวิ่งช้าหน่อยแต่วิ่งนานเพื่อให้เกิดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แต่ถ้าจะวิ่งเร็ว เราต้องทำรอบการวิ่งให้ได้เร็วขึ้น ต้องผ่านการฝึกให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อคุมจังหวะการหายใจและการเต้นของหัวใจที่จะเปลี่ยนไปให้อยู่ในระดับพอเหมาะ ที่สำคัญคือต้องรักษาความเร็วนั้นไว้ให้ได้

“หากคุณรู้วิธีวิ่งที่ถูกต้อง คุณจะวิ่งได้เร็วขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ” NRC coach จาก NRC BKK เคยบอกไว้ แต่ในตอนนั้นเราให้ความสนใจไปที่การวิ่งในระยะไกล จึงยังคงวิ่งอยู่ที่เซฟโซนในระดับความเร็วเท่าเดิม ครั้งนี้เราจึงกลับมาขอคำแนะนำจากคลับวิ่ง NRC BKK ของไนกี้ในวันพุธตอนเย็นอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับไต่ระดับความเร็วมาอยู่กลุ่มเพซ 7 ซึ่งจะมี NRC coach และเพเซอร์ (Pacer-นักวิ่งที่ช่วยควบคุมเวลาในการวิ่งให้เรา) ให้คำแนะนำอยู่ตลอดเวลา

ช่วงแรกที่เริ่มออกวิ่ง เรายังมีแรงเหลือเฟือแต่พอวิ่งไปถึงระยะหนึ่งก็รู้สึกเหนื่อยจนแทบหมดแรง ถึงแม้จะได้รับกำลังใจจากเพื่อนๆ ที่วิ่งไปด้วยกันก็ตาม เราพยายามฝืนแรงต้านทานที่มีอยู่ออกวิ่งให้ทันสมาชิกในกลุ่ม ใจก็พะวงว่าจะทำเวลาได้ตามที่ตั้งใจไหม โค้ชและเพเซอร์ที่วิ่งมาด้วยกันทราบว่าเราเพิ่งขยับจากกลุ่มเพซ 8 มาเป็นเพซ 7 สังเกตเห็นถึงความพยายามฝืนร่างกายของเรา จึงวิ่งมาขนาบข้างและให้คำแนะนำเรื่องของการก้าวเท้าให้ถูกต้อง

เทคนิคคือต้องลงให้เต็มเท้า การเหวี่ยงแขนเพื่อผ่อนแรงและช่วยส่งตัวเราให้พุ่งไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น รวมถึงให้คำแนะนำเรื่องวิธีการหายใจให้เป็นระบบโดยสูดลมหายใจเข้าทางจมูกให้ลึกและผ่อนลมหายใจออกทางปากให้เป็นจังหวะ จะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไป ถึงแม้เราจะวิ่งมาเป็นคนท้ายๆ ของกลุ่ม แต่ก็ยังสามารถวิ่งเกาะกลุ่มจนจบ เมื่อรู้วิธีการดังกล่าวก็เอามาใช้ในการฝึกซ้อมเองในวันอื่นๆ ได้ด้วย

วันที่ก้าวข้ามไปสู่อีกหนึ่งขั้น

เมื่อถึงวันที่พี่ตูนและทีม ‘ก้าว’ จะวิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯ คือวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ทีม NRC BKK ทั้งโค้ช เพเซอร์ และสมาชิกที่ร่วมกิจกรรมต่างๆ มารอเพื่อสแตนด์บายเตรียมพร้อมก่อนออกวิ่งจริงที่สำนักงานบำรุงทางธนบุรี ตั้งแต่เวลา 16:00 น.

เนื่องจากกำหนดการมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ตลอดเวลา ระหว่างสแตนด์บายรอ ทาง NRC BKK ก็มีกิจกรรมต่างๆ เตรียมไว้ให้ ทั้งการรวมตัวกันอบอุ่นร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมก่อนวิ่งจริง บูทถ่ายภาพที่มีเฟรมพิเศษ Break Through 2191 KM. ที่สามารถเขียนข้อความให้กำลังใจพี่ตูน และทีม ‘ก้าว’ ซึ่งจะมีเฉพาะงานนี้เท่านั้น รวมถึงมีบริการอาหารและน้ำดื่มเอาไว้ให้เหล่านักวิ่งได้เติมพลัง นอกจากนี้ยังเปิดให้สมาชิกมีโอกาสลองรองเท้า Nike Zoom Fly รุ่นล่าสุด ซึ่งเราก็ได้มีโอกาสลองใส่วิ่งมาก่อนหน้านี้เมื่อครั้งไปร่วมกิจกรรม NRC BKK ที่จัดขึ้นทุกๆ วันพุธ จนเกิดความประทับใจ และนำมาใส่ซ้อมในทุกๆ วันให้ชินกับเท้าและรูปแบบการวิ่งของเรา

ในการวิ่งครั้งนี้ เราวิ่งกันที่ระยะทาง 7.8 กิโลเมตร จากสำนักงานบำรุงทางธนบุรีไปจนถึงโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถือว่าไม่ใช่ระยะทางที่ไกลสักเท่าไหร่ จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ลองเร่งทำความเร็วในการวิ่งของเราได้อย่างเต็มที่ และเมื่อใกล้ถึงเวลา 20:00 น. ช่วงเวลาออกวิ่งจริง กลุ่ม NRC BKK ก็เตรียมตั้งแถวขบวนวิ่งตามกลุ่ม ‘ก้าว’ ไปติดๆ โดยต้องรักษาความเร็วเอาไว้ให้ได้และไม่ทิ้งระยะห่างจนแถวของขบวนขาดช่วง

“มากกว่าการใช้ขาสองข้างที่ทำให้เกิดความเร็ว เราต้องใช้ทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณที่แข็งแกร่ง” การวิ่งครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าคำกล่าวนี้เป็นความจริงมาก สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความเหนื่อยล้าจากระยะทาง หรือความเร็วที่ใช้ในการวิ่ง แต่เกิดจากหลากหลายปัจจัย เช่น สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวแม้ในเวลากลางคืน มลภาวะจากท้องถนนในกรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้คนที่มาคอยให้กำลังใจกันอย่างคลาคล่ำขนาบข้างตลอดทางวิ่ง หลายๆ ครั้งที่ขบวนต้องหยุดวิ่ง และต้องกลับมาวิ่งเร่งทำความเร็วเพื่อทดระยะเวลาให้เป็นไปตามที่กำหนด ซึ่งเหนื่อยกว่าการวิ่งไปเรื่อยๆ แบบไม่ต้องหยุดหลายร้อยเท่า

เรายังเจอแบบนี้แค่เพียงระยะทาง 8 กิโลเมตร แต่พี่ตูนและทีม ‘ก้าว’ ต้องเจอแบบนี้มาพันกว่ากิโลเมตรแล้ว นึกเพียงเท่านี้ก็ทำให้เรามีแรงฮึดและวิ่งต่อไปได้จนจบ เหมือนกับที่ Eliud Kipchoge นักวิ่งมาราธอนชาวเคนยาได้เคยพูดไว้ว่า “If you don’t rule your mind, your mind will rule you.”

นอกจากนี้ต้องขอขอบคุณพลังใจจากเสียงเชียร์และเสียงปรบมืออันกึกก้องและดังสนั่นมากที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมาในชีวิต ตลอดเส้นทางการวิ่งเดียวกันกับพี่ตูนในครั้งนี้มีภาพประทับใจต่างๆ หลายภาพให้เราเก็บบันทึกไว้ในความทรงจำ เช่น การตั้งแถวทอดยาวของพี่ๆ พยาบาลที่มารอให้กำลังใจ พี่น้องชาวบ้านริมข้างทางที่ออกมาส่งเสียงเชียร์ “สู้ๆ” “เก่งมากๆ” รวมไปถึงน้องๆ นักเรียน ที่ออกมาตั้งขบวนเพื่อร่วมวิ่งท้ายแถวต่อไปกับขบวนของ NRC BKK อีกด้วย สะท้อนถึงโครงการดีๆ ที่กระตุ้นให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ออกมาร่วมวิ่งเพื่อสุขภาพของตนเอง รวมถึงต้องขอขอบคุณทีมสำคัญอย่าง NRC coach และเพเซอร์ที่คอยกระตุ้น คอยดูแลนักวิ่งมาตลอดระยะทางกว่า 7.8 กิโลเมตร จนถึงปลายทางที่ ร.พ. พระมงกุฎฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยกับการดูแลนักวิ่ง NRC BKK กว่าร้อยชีวิต

“การวิ่งบางครั้งก็ไม่ใช่การวิ่งที่ไกลที่สุด หรือเร็วที่สุดของเรา แต่ทุกการวิ่งคือความสำเร็จ เราควรจะมองให้เป็นแบบนั้น” เป็นปรัชญาของการวิ่งหนึ่งที่เราชื่นชอบมาก ลองลุกขึ้นมาผูกเชือกรองเท้า แล้วออกมาวิ่ง เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีกันเถอะ

#Breakthrough

AUTHOR