การก้าวข้ามความกลัวในทุกครั้ง (แรก) ที่ทำให้ เบลล่า ราณี เติบโตอย่างแข็งแกร่งและสดใส

ความกลัวเป็นอารมณ์สำคัญของสิ่งมีชีวิตที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา แม้ว่าจะเป็นความรู้สึกทางด้านลบ แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดพัฒนาการ วิธีปรับตัว โดยเฉพาะกับมนุษย์ ความกลัวเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีสติและตระหนักถึงสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ ว่าการกระทำของเรานั้นจะสร้างผลกระทบกับตัวเองและคนในสังคมอย่างไร เราจึงเผชิญหน้ากับความกลัวกันมาตั้งแต่จำความได้ โดยเฉพาะอะไรที่เป็นครั้งแรก จะเป็นสิ่งที่เรารู้สึกหวาดหวั่นอยู่เสมอ แต่เมื่อผ่านมาได้แล้วเราก็จะพบว่าตัวเองเติบโตขึ้นอีกขั้น

วันนี้เราจึงชวน เบลล่า-ราณี แคมเปน นักแสดงหญิงมากความสามารถมานั่งคุยถึงหลายเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นครั้งแรกของเธอ ว่าผู้หญิงที่มีรอยยิ้มสะกดคนดูอย่างเธอนั้นจัดการอย่างไรกับความรู้สึกที่ถ้าเลือกได้ก็คงไม่อยากให้เกิดขึ้นในชีวิต และเรียนรู้ความหมายของการก้าวผ่านนั้นในแง่มุมไหน รวมถึงงานใหม่ที่เป็นครั้งแรกของเธอนั่นคือ การพากย์เสียงตัวละครนางสีดาในแอนิเมชันฝีมือคนไทยเรื่อง นักรบมนตรา : ตำนานแปดดวงจันทร์ (Mantra Warrior : The Legend of The Eight Moons) ที่สร้างขึ้นมาโดยใช้แรงบันดาลใจจากมหากาพย์รามเกียรติ์

หกล้มครั้งแรก

ครั้งแรกสำหรับเราที่รู้สึกว่าเป็นการก้าวผ่านความกลัวมาได้ คงเป็นตอนเด็กๆ ที่ตั้งใจจะขี่จักรยานแบบสองล้อ เป็นการที่เราเอาล้อเล็กๆ ที่อยู่ด้านข้างคอยประคองตัวจักรยานออก ซึ่งเราคิดว่าถ้าเราขี่จักรยานแบบสองล้อได้ก็จะทำให้เราดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และเป็นการพิสูจน์ตัวเองด้วยว่าฉันสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว การทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนเป็นความรู้สึกกลัวสำหรับเรามาก และกว่าเราจะขี่จักรยานสองล้อได้เราผ่านการหกล้มมาหลายครั้ง ทั้งเท้าและหัวเข่าเต็มไปด้วยรอยแผล โดยเฉพาะตอนที่หนักที่สุดคือการที่เราล้มแล้วขาไปขูดกับขอบฟุตบาท เราได้รับบาดเจ็บจนเป็นแผลเนื้อเปิดออกมาเลย แต่ก็ได้เรียนรู้ว่าความเจ็บปวดจริงๆ เป็นแบบนี้นี่เอง เพราะก่อนหน้านี้เวลาเราจะล้มก็จะมีคุณพ่อคุณแม่มาคอยประคองไว้ แต่เราก็พยายามจนสามารถขี่จักรยานสองล้อได้ ไม่คิดจะล้มเลิกเพราะคนอื่นเขาขี่กันได้เราก็ต้องขี่ได้ เราคิดว่าการการขี่จักรยานได้สำหรับเราเป็นเรื่องน่าภูมิใจมาก เพราะเราเจ็บขนาดนั้นเรายังไม่ยอมแพ้เลย และนั่นทำให้เรามีเป้าหมายในการทำเรื่องยากๆ เรื่องอื่นๆ ต่อไป

ความกล้าที่จะเดินออกจากเซฟโซนครั้งแรก

เราย้ายโรงเรียนครั้งแรกตอนอยู่ชั้นประถมสาม เราต้องไปเรียนต่อชั้นประถมสี่ที่โรงเรียนแห่งใหม่ เรากลายเป็นเด็กใหม่ที่ไม่รู้จักใครมาก่อนเลย ต่างจากคนอื่นๆ ที่พวกเขาเรียนกันมาด้วยกันตั้งแต่แรก และด้วยความเป็นลูกครึ่งทำให้หน้าตาเราไม่ค่อยเหมือนเด็กคนอื่นๆ ด้วย จึงเป็นครั้งแรกที่เราเจอกับเรื่องคัลเจอร์ช็อกจากการที่ไม่รู้ว่าจะทำตัวเข้ากับเพื่อนใหม่อย่างไร แต่ก็เป็นความกลัวที่เราสร้างขึ้นมาเอง เพราะเพื่อนๆ ก็เป็นฝ่ายที่เข้ามาชวนเราคุยเองด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้เราเรียนรู้วิธีเข้าสังคมใหม่ๆ ทั้งการเล่นกับเพื่อน การเข้าชมรมเพื่อทำกิจกรรมกับคนอื่นๆ นึกถึงเรื่องนี้ก็แปลกเหมือนกันที่เรากลับรู้สึกว่าความกลัวที่จะต้องเจอกับอะไรใหม่ๆ ตอนที่ยังเด็กจะมีน้อยกว่าตอนที่โตขึ้นมากๆ เช่น ตอนเป็นเด็กเราสามารถว่ายน้ำได้เองโดยไม่ต้องหัดเรียนว่ายน้ำเลย แต่พอโตขึ้นมาพอรู้อะไรมากขึ้นแล้วเรามีโอกาสจมน้ำเพราะตอนนั้นตัวเองแขนหักแต่ก็ยังลงไปเล่นน้ำ แขนข้างที่หักก็ใช้งานไม่ได้ทำให้เราถูกคลื่นซัดออกไปไกลขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรากลัวการว่ายน้ำมาตั้งแต่ตอนนั้นเลย และพอมาทำงานเราก็มีฉากที่ต้องถ่ายในน้ำบ่อยมาก เรียกว่าเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของนักแสดงไทยเลยก็ได้ (หัวเราะ) เรามีความกลัวที่ต้องลงไปในน้ำทุกครั้ง แต่เราก็ผ่านความรู้สึกนั้นมาด้วยความขี้รำคาญของตัวเองจนได้ (หัวเราะ) เพราะหลายครั้งที่เราหงุดหงิดตัวเองว่าจะกลัวอะไรขนาดนั้น เราแก้ปัญหานี้ด้วยการไปเรียนดำน้ำตัดสินใจพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งที่กลัวเสียเลย เอาให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยว่าจะเป็นอย่างไร สุดท้ายก็ไม่มีอะไรแต่ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ต้องลงไปถ่ายฉากที่ต้องกระโดดลงไปในน้ำอยู่ดี (หัวเราะ) แต่เราไม่อยากเป็นคนที่ต้องมีเงื่อนไขในการทำงานให้ตัวเองดังนั้นเราต้องเอาชนะสิ่งที่ติดอยู่ในใจเราตลอดหลายปีนั้นให้ได้

การเข้าไปอยู่ในสายตาประชาชนครั้งแรก

วันที่ต้องออกงานและอยู่ในสายตาของคนดูต่อหน้าจำนวนมากเป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกประหม่าแบบสุดๆ มือก็สั่น เสียงก็สั่น ลืมสคริปต์ที่ท่องมา แต่ก็ต้องตั้งสติและเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทำได้ ตอนนั้นคิดแต่ว่าสิ่งนี้ก็เหมือนอุปสรรคหรือความกลัวต่างๆ ที่เคยผ่านมา ในวันนั้นเรายังทำได้เลย วันนี้เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน การจะทำอะไรให้สำเร็จสักอย่างแม้จะไม่ถึงขั้นประความสำเร็จก็ตามเราก็ต้องผ่านเรื่องแบบนี้กันทั้งนั้น ไม่มีความสำเร็จไหนที่จะได้มาง่ายๆ ถ้าได้อะไรมาแบบง่ายๆ ไปเสียทุกอย่างก็จะไม่มีอะไรให้เราได้ภาคภูมิใจ แม้ว่าเราจะแอบคิดบ่อยๆ เหมือนกันว่าไม่เอาแล้ว ทำให้บางครั้งเราก็จะถามตัวเองว่าทำไมต้องเป็นเรา ทำไมเรื่องเหล่านี้ต้องเกิดกับฉัน ไม่เอาแล้ว ฉันจะไม่ทำแล้วบ้าง แต่ก็จะเกิดขึ้นในวันที่ตัวเองรู้สึกเหนื่อยมากๆ อารมณ์ช่วงนั้นเรามีความรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ฉันทำเพื่อใคร เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่เพื่อตัวเองเลย เราต้องเหนื่อยแบบนี้ตลอดก็เกินไปนะ ถ้าเราอยากลงจากยอดเขาของอาชีพนี้ต้องทำอย่างไร แต่เราก็อุตส่าห์ปืนขึ้นไปจนถึงยอดเขาแล้ว ขึ้นไปจนเอาธงไปปักได้แล้ว เราจะดึงธงนั้นออกมาแล้วโยนลงไปข้างล่างก็ไม่ใช่เรื่อง ความคิดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราก้าวข้ามมาได้ จริงๆ แล้วเราแค่เหนื่อยแล้วก็พาลไปใส่สิ่งอื่นๆ ทั้งๆ ที่งานตรงนี้เป็นงานที่เรารัก เป็นงานที่เราชอบ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตรงนี้คือคุณค่าของชีวิตของเรา และทำให้เราเริ่มรู้แล้วว่าความหมายของการมีชีวิตคืออะไร

ได้รู้จักความหมายของชีวิตครั้งแรก

เกิดขึ้นตอนที่เราเริ่มทำงานและหาเงินได้เอง ซึ่งมาจากการที่เราใช้แรง ใช้สมอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเรา ในการสร้างผลงานขึ้นมาแล้วเกิดเป็นรายได้สามารถจ่ายค่าเทอมตอนเรียนมหาวิทยาลัยได้เอง นั่นคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง เมื่อมีคนถามว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร หลังจากที่เราค้นพบคุณค่าของตัวเองและได้คิดทบทวนแล้ว เราเชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อเป็นผู้ให้ เราอยากช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่เราสามารถทำได้ไม่ว่าจะช่วยเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์โลกก็ตาม เรารู้สึกว่าตัวเองมีแรงมีกำลังพอที่จะช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือได้บ้าง หรืออย่างน้อยที่สุดเราก็พอจะสร้างแรงกระตุ้นอะไรก็ตามให้กับบางเรื่องได้ เราอยากตอบแทนสิ่งที่เราได้รับมาจากคนอื่นๆ ที่เขามอบให้เรากลับไปให้เขาด้วย

พบกับการสูญเสียครั้งแรก

เป็นการจากไปของคุณพ่อค่ะ ซึ่งต้องขอบคุณธรรมะเลยที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องของสัจธรรม การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำให้เรายอมรับกับการสูญเสียนี้ได้มากขึ้น แต่ความเศร้านี้ก็ส่งผลกับเราหลังจากนั้นเหมือนกัน เพราะเราเก็บความรู้สึกนั้นไว้มากเกินไป เราไม่พูด เราไม่แสดงอารมณ์ เราไม่แสดงอะไรออกมาเลย เราเหมือนคนที่เก็บกดความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ จนวันหนึ่งความรู้สึกนั้นก็โพล่งออกมาจนเราต้องไปพบแพทย์ ซึ่งถ้าใครที่มีความรู้สึกคล้ายๆ กับเราก็ควรมีที่ปรึกษาหรือไปพบผู้เชี่ยวชาญค่ะ ซึ่งครอบครัวเรามีกันสามคน พ่อ แม่ ลูก พวกเราสนิทกันมาก เมื่อคนหนึ่งหายไปเหลือแค่เรากับแม่ เราก็เป็นเหมือน Barrier สำหรับรองรับอารมณ์ของคุณแม่ ส่วนตัวเราก็เก็บความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ ตอนนั้นเราไม่รู้วิธีปลดปล่อยความทุกข์ของตัวเอง จนเวลาผ่านไป เราคิดไปเองว่าความรู้สึกของตัวเองโอเคดีแล้ว แต่เรากลับรู้สึกว่าตัวเองอยากร้องไห้แต่ร้องไห้ไม่ออก ก็ไปหาหนังเศร้าๆ มาดู พอดูแล้วความรู้สึกของตัวเองกลับยิ่งแย่ รู้สึกหนักหน่วงไปหมด เราอยู่กับความรู้สึกนี้จนตัวเองเริ่มทนไม่ไหวต้องหาวิธีจัดการกับความรู้สึกนี้ของตัวเองให้ได้

เราได้มีโอกาสรู้จักกับเวิร์กช็อปละครบำบัด (Drama Therapy and Psychodrama) ทำให้เราค่อยๆ จัดการความรู้สึกของตัวเองได้ทีละเล็กทีละน้อยจนค่อยๆ เป็นปกติตามลำดับ โดยเวิร์กช็อปนี้เขาจะให้เราเล่นละคร แต่จะเป็นละครที่มาจากชีวิตจริงของเรา เขาจะให้เรานึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตสักสามช่วงเวลา เป็นช่วงที่แวบขึ้นมาครั้งแรกในหัวของเรา อาจจะเป็นตอนที่เรียนชั้นอนุบาล ช่วงอยู่ชั้นประถม หรือช่วงที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นต้น แล้วเขาก็ให้เราแสดง อย่างช่วงที่เป็นเด็ก เราก็จะมีแต่ความสุข ช่วงกลางๆ เริ่มมีความซีเรียสกับการเรียนเพราะจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ชีวิตเริ่มมีความจริงจังมากขึ้น และเข้าสู่ช่วงตอนที่ทำงานที่เจอกับความรู้สึกว่าเราต้องแบกทุกอย่างไว้คนเดียว เขาเหมือนให้เรารื้อฟื้นความทรงจำ แล้วก็เหมือนให้เข้าไปแก้ไขความรู้สึกที่ไม่ควรจะติดอยู่ในใจของเรา เป็นการคุยกับตัวเอง ซึ่งเป็นเวิร์กช็อปที่ดีมากๆ ค่ะ

ความรู้สึกหนักหน่วงที่สุดครั้งแรก

ความเศร้าของแต่ละคนเปรียบเทียบกันไม่ได้ เรื่องที่เรามองว่าเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อาจจะเป็นเรื่องที่หนักมากๆ สำหรับคนอื่นก็ได้ ถ้าเป็นเรื่องหนักๆ ของเราก็ช่วงที่คุณพ่อเสียเพราะโรคมะเร็งในวันที่คุณแม่กำลังแอดมิตเพราะโรคมะเร็ง ตอนนั้นเรารู้สึกเลยว่าโลกจะโหดร้ายกับฉันแบบนี้ไม่ได้นะ ถ้าฉันต้องเสียทั้งสองคนนี้ไปฉันต้องเสียสติแน่ๆ ตอนนั้นเราทำอะไรไม่ถูกเลย แต่เมื่อย้อนกลับไปดูตัวเองวันนั้นก็เป็นการคิดไปก่อน คิดไปเอง กลัวไปก่อน แต่ก็ช่วยไม่ได้หรอกเพราะเราก็เป็นแค่คนธรรมดาที่มีความรู้สึก มีความรัก ดังนั้นธรรมะจึงเข้ามาช่วยเราตรงนี้ได้อย่างมากในเรื่องของการไม่ยึดติด การเข้าใจว่าทุกอย่างต้องเกิดขึ้น ต้องมีความเป็นไป เราก็อย่าไปเทใจจนเกินไปหรือไปต่อต้านกับธรรมชาติ เราไม่มีทางทำได้ ยกเว้นเรื่องการทำงาน เราไม่เคยปล่อยให้มันต้องเป็นไปตามยถากรรม (หัวเราะ) เราจริงจังกับทุกงานมากๆ เราอยากทำงานของเราให้สุดตัว และโชคดีที่งานแต่ละชิ้นของเราไม่ค่อยเหมือนกัน ความน่าสนใจของแต่ละงานจะแตกต่างกัน เราจึงเหมือนได้ทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด แม้ว่าจะเป็นงานละครเหมือนกันแต่ละครแต่ละเรื่องก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

การจับงานพากย์แอนิเมชันครั้งแรก

ตอนแรกจะไม่รับงานนี้นะเพราะเรากังวลว่าตัวเองจะทำไม่ได้ แค่ร้องเพลงเรายังร้องเพี้ยนเลย (หัวเราะ) แล้วงานพากย์แอนิเมชันต้องใช้พลังเยอะมาก แต่ทางทีมงานเขาก็มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยฝึกสอนเรา เพราะเรากลัวว่าตัวเองจะเป็นภาระกับทีมงาน แต่พอได้ลองทำก็พบว่าสนุกมาก เราได้เรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ ได้รู้ว่าคนที่พากย์เสียงต้องใช้พลังงานเยอะมากจริงๆ เหมือนเราไปวิ่งมาราธอนเลย ตอนพากย์เสียงเหงื่อเราออกเยอะมาก ซึ่งเราต้องทำให้เสียงของเราเข้าไปประกอบกับงานด้านภาพให้ได้อารมณ์ ได้อรรถรสของหนัง เราเรียนรู้ว่าการพากย์เสียงนั้นจะมีเสียงที่ได้ยินในหูตัวเอง กับเสียงที่ได้ยินหลังจากพากย์ออกมาซึ่งมีความแตกต่างกัน เราต้องบวกพลังในการพูดของเราอีกหนึ่งขั้น ต้องเล่นใหญ่ขึ้น เพราะจะสร้างความดึงดูดกับคนดูได้มากกว่า และหลังจากที่ได้ดูภาพรวมของแอนิเมชันเรื่องนี้ เราประทับใจงานภาพและเรื่องราวของหนังมาก นี่คือฝีมือของทีมงานคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ และเรื่องราวก็อิงมาจากวรรณคดีที่เราอ่านมาตั้งแต่เด็ก เขานำมหากาพย์รามเกียรติ์มาปรับเป็นแอนิเมชันได้ดีมาก ตัวละครมีคาแรกเตอร์ที่คาดไม่ถึง อย่างตัวละครของเราคือนางสีดา ก็จะเป็นนางสีดาที่น่ารัก สดใส และมีความเป็นตัวของตัวเอง ชอบอะไรก็แสดงออกไปแบบนั้น ส่วนทศกัฐณ์ หล่อมาก (หัวเราะ) เขาตีความใหม่แล้วทำออกมาได้ดีมากเลย ทั้งสนุก ตื่นเต้น และมีฉากแอ็กชันที่ดูแล้วเพลินมากๆ

ตัวอย่าง

รับบทนางสีดา (ตีความใหม่) ครั้งแรก ใน นักรบมนตรา : ตำนานแปดดวงจันทร์

นางสีดาที่เราเคยรู้จัก สำหรับเราคือคนที่มีความมุ่งมั่น ซื่อสัตย์กับความรัก บุคลิกของเธอก็น่าจะเป็นคนที่มีความสุขุม นิ่งๆ เงียบๆ แต่ในแอนิเมชันเรื่องนี้ไม่ใช่คนแบบที่เราคิดเลย เธอจะเป็นนางสีดาอีกเวอร์ชันที่มีความเซ็กซี่ด้วย ไม่มีตรงไหนที่ใกล้เคียงตัวเราเลยด้วยซ้ำ (หัวเราะ) อาจจะมีความเหมือนกันบ้างนิดหน่อยที่เป็นคนร่าเริง สดใส เพราะเราเป็นคนที่จริงจังกับตัวเองประมาณหนึ่ง เราไม่ชอบเอาตัวเองไปอยู่ในบรรยากาศของความเครียด ความสุขในการทำงานของเราจึงมีความสนุกสนานเฮฮาอยู่ในสิ่งที่ทำด้วย อีกอย่างเราเป็นคนที่ทำงานเยอะมาก ดังนั้นถ้าต้องเครียดกับงานด้วยก็จะเหมือนสร้างความเครียดคูณสองเพิ่มเข้าไปอีก แต่ก็ดีที่ตัวเราแม้ว่าจะเป็นคนที่ทำอะไรแล้วต้องไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เช่น ถ้าต้องรับบทที่ยากก็จะเข้าถึงความคิดของตัวละครตัวนั้นให้ได้ แต่ก็ยังสามารถพาตัวเองออกมาจากความรู้สึกของตัวละครนั้นได้ ซึ่งสมัยแรกๆ เราก็เข้าไม่ถึงหรอกว่าการแสดงคืออะไร แต่เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่า ความรู้สึกจากข้างในต่างๆ ที่จะสร้างท่าทางบุคลิกของตัวละครออกมาได้เอง โดยที่เราไม่ต้องไปคิดว่าฉันจะขยับแขนหรือจะเดินไปด้วยอากัปกิริยาแบบไหน ดังนั้นถ้าช่วงไหนที่เรารับบทหนักๆ หน่อย ก็จะรู้ตัวเองว่าเริ่มไม่ไหวเหมือนกัน เพราะถึงเราจะเอาตัวเองออกมาจากบทของตัวละครนั้นได้ แต่ร่างกายกับกับจิตใจของเราได้อยู่กับความรู้สึกนั้นเป็นระยะเวลาหนึ่งเลย เราก็ต้องสลับมารับละครตลกบ้าง ส่วนเหตุผลสำคัญที่มารับงานพากย์ นักรบมนตรา : ตำนานแปดดวงจันทร์คือ การที่เราอยากสนับสนุนคนไทย การที่แอนิเมชันไทยทำออกมาได้ดีขนาดนี้ เราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เรื่องนี้โด่งดังไประดับโลก นี่คือเหตุผลจริงๆ ที่เราตกลงมารับหน้าที่พากย์เป็นนางสีดาในแอนิเมชันเรื่องนี้

เตรียมรับมือกับสิ่งใหม่ๆ ในทุกครั้งแรกที่เจอ

เราก็อายุมากขึ้นแล้ว ตอนนี้สิ่งที่หนักใจก็คงเป็นเรื่องความโสด (หัวเราะลั่น) เพราะอาจจะเป็นเป้าหมายในชีวิตที่เราอยากมีครอบครัวก็ได้ แต่บางคนเขาก็มีความสุขที่อยู่คนเดียว แต่เราก็ไม่ได้คิดมากขนาดนั้นหรอก ถ้าเราไม่เจอคนที่ดี คนที่ใช่ หรือคนที่คลิกกับเรา เราก็อย่าเพิ่งมีใครเลยดีกว่า แต่ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคงของชีวิต เราคิดว่าเราเตรียมความพร้อมเอาไว้ค่อนข้างโอเคแล้ว เราพร้อมเกษียณออกจากวงการแล้วนะ ล้อเล่น! แต่เราก็จัดการตัวเองไว้หลายๆ อย่างแล้ว สิ่งที่ต้องกลัวต่อไปคงไม่ค่อยมีแล้ว นอกจากไปทำอะไรผาดโผนแบบกระโดดบันจี้จัมป์ แม้ว่าจะมีคนพูดไว้ว่า หนึ่งเรื่องในชีวิตที่ควรทำคือการไปกระโดดบันจี้จัมป์แต่เราไม่ไปด้วยนะ (หัวเราะ) ตอนนี้ชีวิตก็มีความสุขดีแล้ว แต่เราคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เจอล้วนดีเสมอ แม้ว่าจะเป็นเรื่องร้ายหรือเรื่องดี เรื่องร้ายก็จะทำให้เราแข็งแกร่งเติบโตมากขึ้นถ้าเราผ่านไปได้ วันหนึ่งที่เรามองย้อนกลับมา เราจะรู้ว่าเรื่องนี้จริงๆ ก็ไม่เท่าไหร่เลย สิ่งที่ได้เจอจะกลั่นกรองให้เราเป็นคนที่แข็งแกร่งกับโลกมากขึ้น ไม่ว่าอะไรจะเข้ามาหาเราอีก ดังนั้นเราจึงไม่เก็บสิ่งที่ไม่ดีสำหรับตัวเองเอาไว้เยอะๆ เราจะหาทางปล่อยมันออกไป จะคงไว้แต่สิ่งดีๆ ความรู้สึกดีๆ แม้กระทั่งเรื่องการมองคนด้วย เราจะไม่พยายามมองคนอื่นในแง่ร้าย เราจะมองเขาในแง่ดีเสมอ เช่น คนคนนี้แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่พูดเสียงดัง โหวกเหวก โวยวาย ไปบ้าง เราก็จะมองว่าเขาเป็นคนที่มีความจริงใจมากๆ เราจะโฟกัสที่ข้อดีของเขา วิธีคิดนี้จะช่วยให้เราสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขมากขึ้น แต่ในทุกความท้าทายก็ต้องบอกว่าเราไม่ได้เป็นคนเข้าไปหา ส่วนใหญ่มันจะมาหาเราเอง แต่ก็พร้อมที่จะปะทะ (หัวเราะ) เพราะการที่ได้ทำอะไรใหม่ๆ ดีกว่าต้องทำแต่สิ่งเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา สุดท้ายเราก็จะติดอยู่ในเซฟโซนของตัวเอง การเจออะไรที่เป็นครั้งแรกก็เป็นวิธีทลายอีโก้ในตัวเราเองได้ด้วย แต่ถ้าอะไรที่ไม่ใช่สำหรับเราจริงๆ แม้จะลองกัดฟันทำแล้วก็ตามแล้วไม่ใช่สิ่งที่เราโอเคจริงๆ การเดินถอยออกมาก็เป็นทางเลือกที่ดีเหมือนกันค่ะ


ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR