ภาพยนตร์ของ ‘เป็นเอก’ ยุคสาม : ผัวเมีย ผืนป่า มือปืน

หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยถึงเนื้อหาของภาพยนตร์

หลังผ่านการทดลองแนวหนังต่างๆ ในยุคแรก (ฝัน บ้า คาราโอเกะ, เรื่องตลก 69, มนต์รักทรานซิสเตอร์) และการทำหนังระดับนานาชาติในยุคที่สองจากเรื่อง Last Life in the Universe และ Invisible Waves เป็นเอก รัตนเรือง ก็เข้ายุคที่สามของอาชีพผู้กำกับภาพยนตร์ด้วยหนังที่สเกลเล็กลงและกลับมาใช้นักแสดงและทีมงานชาวไทยเป็นหลัก

ผลงานยุคสามของเป็นเอกเริ่มต้นด้วย พลอย (2007) หนังที่เขากลับมาเขียนบทด้วยตัวเองและให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้งว่าเป็นผลงานที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ หนังเล่าถึงวิทย์และแดง สามีภรรยาที่เดินทางมาร่วมงานศพที่ประเทศไทย ระหว่างเข้าพักที่โรงแรม วิทย์ได้เจอกับเด็กสาวชื่อพลอยและชวนเธอมาที่ห้อง ทำให้แดงไม่พอใจอย่างมาก

ฟังดูเป็นเรื่องราวหนังผัวเมียละเหี่ยใจทั่วไป แต่ต้องทดเอาไว้ว่าบ้านเราไม่ค่อยมีหนังที่พูดถึงชีวิตคู่แบบจริงจังนัก โดยมากจะเป็นหนังโรแมนติกวัยรุ่นเสียมากกว่า เป็นเอกสร้างภูมิหลังของตัวละครได้อย่างน่าสนใจ วิทย์และแดงต่างเคยแต่งงานมาก่อนและมีลูกติด วิทย์อาจจะกำลังนอกใจภรรยา ส่วนแดงมีอาการติดเหล้า สรุปได้ง่ายๆ ว่าห่างไกลจากสถานะคู่รักในอุดมคติ

ดูเหมือนเป็นเอกจะต้องการทำหนังที่ใกล้เคียงกับชีวิตสามัญธรรมดามากขึ้น แม้ พลอย จะเป็นหนังที่ทะเยอทะยานน้อยลง แต่ลายเซ็นของเขายังอยู่ครบ อย่างแรกคือความโดดเด่นของนักแสดงหญิง นอกจากจะกลับมาร่วมงานกับ หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส นี่ยังเป็นหนังแจ้งเกิด สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข ที่สวมบทพลอย เด็กสาวมึนๆ งงๆ ได้อย่างมีเสน่ห์และเป็นธรรมชาติ ตามคำของเป็นเอกว่าเธอเกิดมาเพื่อเล่นบทนี้

อย่างที่สองคือความผสมปนเปของความจริงกับความฝันที่เคยเด่นชัดใน Last Life in the Universe, พลอย มีฉากทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง จนเราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าอะไรคือเรื่องจริง อะไรคือจินตนาการ หากแต่ฉากเซ็กซ์ทั้งหลายของบาร์เทนเดอร์และแม่บ้านสาวที่หนังบอกใบ้ว่าเป็นความฝันของพลอยกลับดูเป็นส่วนที่ไม่จำเป็นต่อหนังนัก แม้ความร้อนแรงของมันจะมีหน้าที่เปรียบเปรยกับความสัมพันธ์แห้งแล้งของวิทย์กับแดงก็ตาม

เรื่องของความไม่แน่ใจในความจริงยังกินความมาถึงฉากพิสดารช่วงท้ายที่แดงไปเจอกับแฟนคลับโรคจิต (สถานการณ์เพี้ยนๆ เป็นหนึ่งในลายเซ็นของเป็นเอกเช่นกัน) เพื่อนของผู้เขียนเคยตั้งคำถามว่าทำไมนางเอกถูกข่มขืนแต่ไม่ไปแจ้งตำรวจ คำตอบอาจมีสองแบบ หนึ่ง-มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือสอง-มันไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับหนึ่งของแดง สิ่งที่เธอต้องการคือการเยียวยาความสัมพันธ์กับคนรัก

เช่นนั้นแล้วในฉากจบของ พลอย เราจึงเห็นทั้งคู่แนบอิงในรถอย่างหวานชื่น วิทย์เคยพูดเอาไว้ว่าความสัมพันธ์คือสิ่งที่มีวันหมดอายุ หากแต่ไม่มีฉลากระบุวันเวลาชัดเจน วิทย์กับแดงยังคงไม่รู้เช่นเดิมว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็ ‘ต่ออายุ’ ความรักของตัวเองไปได้ ส่วนในฝั่งคนดูก็ได้แต่ภาวนาในใจให้ฉากจบของหนังไม่ใช่สิ่งที่ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งคิดไปเอง

เป็นเอกยังคงสำรวจความสัมพันธ์แบบคู่ชีวิตต่อเนื่องในเรื่อง นางไม้ (2009) แต่คราวนี้ยกระดับความลึกลับเหนือจริงให้กลายเป็นหนังผีเต็มรูปแบบตามคำของเขาว่าอยากจะลองทำหนังผีสักเรื่องหนึ่ง แต่ว่านี่คือหนังของเป็นเอก มันจึงไม่มีผีผู้หญิงผมยาวชุดขาวหรือเสียงเอฟเฟกต์ตุ้งแช่แต่อย่างใด

เนื้อเรื่องของหนังว่าด้วย นพ-ช่างภาพหนุ่ม และเมย์-สาวออฟฟิศ คู่สามีภรรยาที่อยู่ในช่วงจืดจาง ทั้งคู่ไปตั้งแคมป์ในป่าด้วยกัน ทว่าฝ่ายชายหายตัวไปอย่างลึกลับ ซึ่งกว่าหนังจะดำเนินเรื่องถึงจุดนี้ก็ปาเข้าไปกลางเรื่อง สิ่งที่ผู้ชมได้เจอในช่วงสิบนาทีแรกของหนังกลับเป็นภาพลองเทคของกล้องที่เลื้อยเลาะตามป่าผ่านต้นไม้นานาพรรณ

นางไม้ อาจถือเป็นหนังของเป็นเอกที่แข็งแรงที่สุดในเรื่องงานภาพ หนังแทบจะถ่ายคนและป่าเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกัน หลายฉากมีการเคลื่อนกล้องที่น่าอัศจรรย์ แม้ว่านี่จะไม่ใช่หนังน่ากลัว แต่มันมีบรรยากาศหลอกหลอนบางอย่างปกคลุมอยู่ โดยเฉพาะการจับภาพต้นไม้หน้าตาประหลาดไม่น่าไว้ใจ

ทางด้านลายเซ็นต่างๆ ของเป็นเอกก็ยังอยู่ครบถ้วน หลังจากสายป่าน คราวนี้เป็นเอกทำให้ผู้ชมได้รับรู้ว่า กิ๊บซี่-วนิดา เติมธนาภรณ์ ไม่ใช่แค่นักร้องสาวเซ็กซี่ แต่เธอเล่นหนังได้และเล่นได้ดี ส่วนเรื่องความคลุมเครือของความจริงและความฝันแน่นอนว่ายังคงอยู่ เช่นว่าการที่นพกลับมาอาจเป็นสิ่งที่นางเอกคิดไปเอง หรือบ้างก็ว่านพกลับมาจริง แต่ในสถานะของวิญญาณ

อย่างไรก็ดี การไขว่คว้าหาความจริงอาจไม่ใช่สาระสำคัญที่สุด แก่นแท้ของ นางไม้ ยังคงเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เหมือนจะยั่วล้อกับเรื่อง พลอย ความเหมือนคือการมีผู้หญิงเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง ทั้งสองคนต่างหวาดหวั่นว่าจะสูญเสียคนรักไปจากสิ่งที่ไม่แน่ใจว่าคืออะไร ทั้งเด็กสาวไร้ที่มาอย่างพลอย และนางไม้ที่ไม่อาจคาดเดาจุดประสงค์

ความแตกต่างคือแดงสงสัยว่าวิทย์นอกใจ ส่วนเมย์เป็นชู้กับเจ้านายอย่างชัดเจน บางทีความไม่ซื่อสัตย์นี่เองที่เป็นสาเหตุให้เมย์ต้องสูญเสียนพไป ความสัมพันธ์แบบคู่รักชนชั้นกลางคงแปดเปื้อนเกินไปจนนพกระโจนเข้าหาธรรมชาติ ซึ่งหนังก็เน้นย้ำประเด็นมนุษย์-ธรรมชาติอย่างชัดเจนในฉากท้ายเรื่อง ทว่าบทสนทนาของนพกลับแข็งกระด้างจนเหมือนการเทศนาสั่งสอน กลายเป็นจุดบอดของหนังที่น่าเสียดาย

ถึงกระนั้นฉากจบของ นางไม้ ก็ยังล้อไปกับเรื่อง พลอย เช่นกัน ต่างเป็นภาพชายหญิงนั่งรถไปด้วยกัน แดงกับวิทย์กับกำลังมุ่งหน้าไปสู่แสงสว่างครั้งใหม่ ส่วนเมย์กับชายชู้ของเธอเหมือนถูกขังในความว่างเปล่า

จบวาระกับหนังผัวๆ เมียๆ สองเรื่องติดกัน ในที่สุดเป็นเอกกลับไปทำหนังทริลเลอร์อีกครั้งใน ฝนตกขึ้นฟ้า (2011) ซึ่งเป็นแนวหนังที่เขาทำมาอย่างต่อเนื่องใน ฝัน บ้า คาราโอเกะ, เรื่องตลก 69 และ Invisible Waves เพียงแต่ทั้งสามเรื่องเป็นหนังทริลเลอร์ที่ไม่เป็นไปตามขนบหรือบ้างก็ว่าเซอร์ ส่วน ฝนตกขึ้นฟ้า เป็นทริลเลอร์ที่ค่อนข้างเป็นไปตามสูตร แต่เป็นเอกก็ทำมันได้ดี

สิ่งที่น่าสนใจเป็นลำดับต้นๆ ของ ฝนตกขึ้นฟ้า คงเป็นโครงสร้างของหนังที่เล่าสองเส้นเรื่องสลับไปมา เส้นแรกคือเหตุการณ์ปัจจุบันของตุล มือปืนหนุ่มที่ถูกยิงจนมองทุกอย่างกลับหัว ส่วนอีกเส้นเรื่องเป็นอดีตของตุลผู้เคยเป็นตำรวจเถรตรงมาก่อน ดังนั้นแม้จะไม่ได้มีเรื่องของความจริงความฝัน เป็นเอกก็ยังยียวนคนดูด้วยการยักย้ายอดีต ปัจจุบัน

แต่ดูเหมือนเมจิก ‘ผู้หญิงของเป็นเอก’ จะไม่ทำงานในหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ คริส หอวัง ในบทของริน น้องสาวมาเฟียไม่เปล่งประกายเท่ากับตัวละครหญิงในหนังเป็นเอกเรื่องก่อนๆ เธอดูตั้งใจกับบทของเธอ แต่เหมือนจะเป็นความซีเรียสผิดที่ผิดทาง

คราวนี้กลับเป็นนักแสดงชายอย่าง ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม ผู้รับบทตุลที่โดดเด่นกว่า ราวกับการไถ่บาปจาก นางไม้ ที่ตัวละครของเขาต้องพูดอะไรไม่เข้าท่าบ่อยครั้ง (โดยเฉพาะประโยค “เมกเลิฟกันเถอะ”) ใน ฝนตกขึ้นฟ้า เป็นเอกใช้เสียงวอยซ์โอเวอร์ของตุลบรรยายไปตลอดเรื่อง แต่ตัวละครนี้ทำให้เราไหลลื่นไปกับหนังและรู้สึกเชื่อว่าเขาเป็นชายหนุ่มที่เคยเชื่อมั่นในความดีงาม

ส่วนเรื่องการมองภาพกลับหัวอันเป็นไอเดียจากต้นฉบับ (หนังดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของวินทร์ เลียววาริณ) กลับไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ในแง่กายภาพนัก เพราะตุลก็ยังยิงปืนแม่นเหมือนเดิม แต่เป็นเรื่องอุปมาและสัญลักษณ์ของความดีความชั่ว เช่นว่าตำรวจดีต้องกลายมาเป็นมือปืน หรือเรื่องของฝ่ายดี-ฝ่ายร้ายพลิกผันไปมาไม่รู้จบ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการวิพากษ์สังคมใน ฝนตกขึ้นฟ้า จะไม่ได้มีแนวคิดใหม่อะไรนัก วาทกรรมประเภทนักการเมืองเลว ตำรวจฉ้อฉลยังถูกเล่าซ้ำ (ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือความจริงส่วนหนึ่ง) และหากมองว่านี่คือหนังที่ผลิตขึ้นในสังคมไทย เป็นเอกก็อาจจะทำได้ดีที่สุดในข้อจำกัดที่เผชิญ ต้องไม่ลืมว่า พลอย ฉบับฉายในไทยมีการตัดฉากเซ็กซ์ส่วนหนึ่งออก ส่วนคำสัมภาษณ์ในสารคดี ประชาธิป’ไทย ก็ถูกดูดเสียง

ผู้เขียนค่อนข้างชอบที่ ฝนตกขึ้นฟ้า เลือกให้ตุลถูกยิงตาย โดยที่ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นคนยิง อาจจะเป็นริน อาจเป็นฝีมือของพวกนักการเมือง หรืออาจเป็นคำสั่งขององค์กรลับที่ตุลเคยทำงาน แต่ท้ายสุดแล้วความตายของตุลจะเป็นปริศนาที่ไม่มีคำตอบต่อไป เหมือนกับหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศนี้

ตุลเคยพูดไว้อย่างน่าจดจำว่าการที่มองทุกสิ่งอย่างกลับหัวทำให้เขาได้ใส่ใจรายละเอียดต่างๆ มากขึ้น แต่หากคนเราถูกทำให้ตาบอด ไม่ว่าจะมองกลับมุมกลับด้านอย่างไร ก็คงมองไม่เห็นอยู่ดี

ติดตามอ่านบทวิเคราะห์ภาพยนตร์ของ เป็นเอก รัตนเรือง ยุคที่หนึ่งและสอง ได้ที่นี่เร็วๆ นี้

AUTHOR