โสฬส สุขุม โปรดิวเซอร์ที่ยืนหยัดเพื่อความหลากหลาย

Highlights

  • 20 กรกฎาคม พ.. 2561 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศรายชื่อศิลปินผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2561 สำหรับสาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว ผู้ที่ได้รางวัลประจำปีนี้คือ โสฬส สุขุม
  • โปรดิวเซอร์คือลมใต้ปีกของการทำภาพยนตร์ ยิ่งกับหนังอิสระ โสฬสเป็นผู้อยู่เบื้องหลังหนังอิสระชื่อดังหลายเรื่อง มีโปรเจกต์ที่ต้องดูแลต่อคิวเป็นหางว่าว (ล่าสุดที่เพิ่งเข้าโรงคือ Someone From No Where โดย ปราบดา หยุ่น) การคุยกับเขาทำให้รู้และเข้าใจภาพรวมของวงการหนังอิสระมากขึ้น
  • “เราย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า ควรจะทำหนังที่รู้ชัวร์ๆ ว่าจะมีจำนวนยอดที่ดีไหม แต่มันก็จะเสียความตั้งใจที่เราอยากให้มีความหลากหลายในวงการหนังไป สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้คือ ยืนหยัดอยู่กับความหลากหลายนี้ แต่หาทางว่าจะทำยังไงให้เวิร์ก เราเชื่อว่ามีประโยชน์”

1.

สี่ปีก่อน ผมมีโอกาสสนทนากับ ทองดี–โสฬส สุขุม เป็นครั้งแรก ตอนนั้นผมคุยกับเขาเรื่องบทบาทในฐานะโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์นอกกระแส

Wonderful Town, เจ้านกกระจอกแต่เพียงผู้เดียว คือตัวอย่างผลงาน ณ วันนั้นของทองดี

สี่ปีผ่านไป เรานัดพบกันอีกครั้งในร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่ง ปัจจุบันทองดียังคงเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับภาพยนตร์นอกกระแสอยู่เช่นเดิม เพียงแต่พ่วงมาด้วยผลงานที่มากขึ้นกว่าเก่า ภวังค์รัก, Snap, ดาวคะนอง และ Motel Mist คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการพบปะทั้งสองครั้งของเรา

สี่ปี ระยะเวลาที่สำหรับบางคนอาจไม่ได้รู้สึกว่าเนิ่นนานอะไร แต่กับบางคนกลับรู้สึกว่ายาวนานจนเกินไป ผมเริ่มต้นถามทองดีด้วยคำถามสั้นๆ ง่ายๆ ว่าสี่ปีที่ผ่านมานี้มีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตเขาบ้าง

“ไม่กี่ปีมานี้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้นเรื่อยๆ” ทองดีเริ่มต้นเล่าเสียงนิ่ง

“เราไม่ใช่คนเก่งอะไร แต่พอทำหนังไปสักพัก เราพบว่ามันเริ่มจะคาดเดาได้จริงๆ ว่า ถ้าเราทำหนังประมาณไหน ด้วยผู้กำกับคนไหน เล่าเรื่องในสไตล์ไหน หนังถึงจะได้เงิน” เขารีบอธิบายทันทีว่า ได้เงิน ไม่ได้หมายถึงระดับสิบล้าน ร้อยล้าน แต่คือการทำหนังซึ่งจะตอบโจทย์คนดูที่กว้างขึ้น มีรายได้ที่มากขึ้น คืนทุนได้แน่ๆ และแน่นอนว่า ชีวิตทองดีเองก็จะสะดวกสบายตามไปด้วย

“ปัญหาคือ ถ้าเราตัดสินใจทำหนังแบบนั้น นั่นคือเรากำลังทำหนังอิสระอยู่จริงๆ หรือเปล่า ในความหมายที่ว่า หนังอิสระคือหนังแบบไหนก็ได้ ที่สร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับคนดู เพื่อให้เกิดความหลากหลาย คิดง่ายๆ ว่า อย่างข้าวแกงที่เรากินกันทุกวัน มันก็มีทั้งแบบไม่เผ็ดที่ใครๆ ก็กินได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรมีข้าวแกงใต้แบบเผ็ดๆ ให้ได้เลือกหรือต่อให้เราเห็นว่าอาหารที่ไม่เผ็ดขายดีกว่า แต่ถ้าทุกคนต่างหันไปขายอาหารไม่เผ็ดกันหมด แบบนั้นก็ไม่เวิร์กสำหรับเรา แล้วคนที่ชอบกินเผ็ดมากๆ ล่ะ เขาจะมีทางเลือกไหม”

หากลองทบทวนผลงานภาพยนตร์ที่ผ่านๆ มาภายใต้การโปรดิวซ์ของทองดี คำพูดของเขาที่ว่า ‘หนังอิสระคือหนังแบบไหนก็ได้’ ดูจะจริงอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น แต่เพียงผู้เดียว ที่บอกเล่าเรื่องราวของช่างทำกุญแจที่ชอบงัดแงะเข้าไปในห้องของคนอื่น Motel Mist ที่พูดถึงมนุษย์ต่างดาวในโรงแรมม่านรูด หรือ ดาวคะนอง ซึ่งอุดมไปด้วยวิธีการเล่าเรื่องแสนจะสลับซับซ้อน

แน่นอนว่า ถ้ามองกันในมุมของผู้บริโภคแล้ว ตัวเลือกยิ่งมากย่อมเป็นเรื่องดี ทว่าพอหันกลับมามองในฝั่งของผู้ผลิตภาพยนตร์อิสระที่ยังไม่เป็นที่นิยมในวงกว้าง การจะต้องดำรงชีวิตทุกๆ วันให้ได้ภายใต้บทบาทโปรดิวเซอร์ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไหร่

“พอชีวิตมันยาก เราก็จะเกิดความคิดว่า ทำไมไม่ไปทำหนังที่รู้ว่าได้เงินแน่ๆ ไปให้จบๆ วะ แต่สุดท้ายเราจะมาจบที่ว่า มันจะไม่มีหนังทดลองๆ แบบ Motel Mist หรือ ดาวคะนอง เกิดขึ้นเลยนะ การหันไปทำหนังที่รู้แน่ว่าคนจะสนใจและได้กำไร ย่อมจะดีกว่าต่อตัวเรา เพียงแต่มันไม่ตอบโจทย์กับเส้นทางที่เราเลือกเดินเสมอมา”

“เคยคิดบ้างไหมว่าการที่ต้องทนลำบากอยู่อย่างนี้ไม่ค่อยแฟร์กับตัวเองเท่าไหร่” ผมถามขึ้นอย่างอดสงสัยไม่ได้

“เราว่ามันไม่แฟร์กับครอบครัวเรามากกว่า เพราะสุดท้ายสิ่งที่ตัวเองได้คือความฟิน จริงๆ เราท้อและคิดจะเลิกหลายทีเลยนะ แต่เราใจง่าย ทุกครั้งที่ได้ไปดูหนังก่อนฉายเราจะใจอ่อน แต่พออายุเยอะขึ้น เราว่ามันไม่ใช่แค่ความฟินอย่างเดียวแล้ว เราต้องหาทางออกที่จะเลี้ยงปากท้องให้ได้ด้วย

“ทางออกของเราคือ ไปรับโปรดักชั่นเซอร์วิสที่เมืองนอกบ้าง ไปเป็นโปรดิวเซอร์ร่วม (co-producer) ให้กับหนังต่างประเทศบ้าง หรือบางครั้งที่กองถ่ายต่างชาติเข้ามาถ่ายหนังในไทย ก็มีบ้างที่เขาติดต่อให้เราประสานงานเรื่องสถานที่บ้าง ช่วยหาคนเขียนบทหรือนักแสดงบ้าง แต่ไม่ได้แปลว่ามีอะไรมาเรารับหมดนะ เพราะถ้ามันทุเรศทุรัง หรืออ่านบทแล้วไม่ชอบ เราก็ไม่รับทำ”

ช่วงปีที่ผ่านมา ทองดีได้ไปเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมให้กับ Pop Aye ภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวสิงคโปร์ ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเขาช่วยหาทุนบ้างเล็กน้อย รวมทั้งคอยดูแลในเรื่องการจัดฉายในไทย และ Diamond Island ภาพยนตร์ของผู้กำกับสัญชาติกัมพูชาที่ไปเติบโตในฝรั่งเศส โดยหนังเรื่องนี้ไปถ่ายทำในกัมพูชา ซึ่งทองดีก็เป็นธุระในเรื่องการจัดหาอุปกรณ์สำหรับถ่ายทำที่ต้องขนกันไปจากไทย

“เดี๋ยวนี้ใครๆ เขาก็ร่วมมือกันทั้งนั้น ในเอเชียเองก็ทำแบบนี้กันเยอะ ซึ่งเราว่ามันดีนะ นึกดูว่าพอไปถ่ายหนังที่ประเทศไหน เราก็อยากมีคนในพื้นที่คอยจัดการเรื่องต่างๆ ให้อยู่แล้ว เราไม่รู้จักที่นั่นดีก็ต้องหาทีมช่วยประสานงาน ทั้งกับที่พักหรือกับรัฐ มันง่ายกว่าที่จะหาคนกลางมาคอยช่วย”

ในขณะที่ผมกำลังสัมภาษณ์ทองดีอยู่นี้ อีกเพียงไม่กี่วัน Someone From Nowhere ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของปราบดา หยุ่น ที่ทองดีเป็นโปรดิวเซอร์ก็จะเข้าฉาย ในขณะที่หนังเรื่องหนึ่งใกล้จะออกสู่สายตาสาธารณะ ทองดีก็ยังคงดูแลโปรเจกต์อื่นๆ ไปพร้อมกัน

“เมื่อก่อนเราจะโปรดิวซ์แค่ปีละเรื่อง ซึ่งแม่งโคตรอยู่ไม่ได้เลย หลังๆ มานี้เราเลยต้องทำปีละหลายเรื่อง เพื่อให้หนังมันหมุนเวียนกันไป”

วิธีการทำงานแบบนี้ไม่เพียงจะส่งผลดีต่อเขาคนเดียว แต่ทีมงานฝ่ายอื่นๆ เองก็พลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย ในอุตสาหกรรมหนังอิสระที่ลำพังค่าจ้างไม่ได้สูงนัก ทองดีจึงต้องคอยรักษาสมดุลระหว่างการเลือกถ่ายหนังทุนน้อย แต่มีเรื่องราวตรงจริตทีมงานมากกว่า กับงานทุนหนา ที่ในทางสุนทรียะอาจไม่โดนใจนัก แต่ค่าจ้างดี

“เราจัดการให้ทีมงานได้ทำหนังเรื่องที่เขาอยากทำมากๆ ที่ค่าตัวอาจไม่เยอะนัก โดยเราจะช่วยบีบระยะเวลาถ่ายทำให้สั้นลงหน่อย เพื่อให้บาลานซ์กับค่าตัว โดยในช่วงใกล้ๆ กันเราก็มีหนังโปรเจกต์ใหญ่หน่อย ค่าตัวเยอะหน่อย มีเวลาถ่ายมากหน่อย เพื่อให้เราและทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จริงๆ”

Pob หนังเรื่องใหม่ของเป็นเอก รัตนเรือง ที่หยิบเรื่องราวของผีปอบมาเล่าใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Folklore ซีรีส์ภาพยนตร์สยองขวัญของ HBO Asia กับ Ten Years Thailand โปรเจกต์ภาพยนตร์ขนาดสั้น เรื่อง จาก ผู้กำกับไทย ภายใต้คอนเซปต์จำลองภาพประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า คืออีกสองโครงการใหญ่ที่ทองดีดูแลอยู่ในตอนนี้


2.

สี่ปีก่อน ชื่อของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เริ่มจะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โรงภาพยนตร์ลิโดยังเปิดให้บริการ สตรีมมิงซีรีส์ และภาพยนตร์อย่าง Netflix ยังเป็นเรื่องไกลตัว

ตัดภาพมาปัจจุบัน นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ กลายเป็นชื่อที่ใครๆ ต่างร้องอ๋อ ส่วนโรงภาพยนตร์ลิโดก็ถึงคราวต้องปิดตัวไป และ Netflix ก็ได้กลายเป็นแอพพลิเคชั่นสามัญประจำสมาร์ตโฟน

เมื่อผู้กำกับหนังอิสระมีชื่อเสียงโด่งดัง เมื่อป้อมปราการสำคัญของหนังอินดี้ต้องหยุดกิจการ และเมื่อการนอนดูหนังผ่านโทรศัพท์คือกิจกรรมสามัญประจำบ้าน แล้ววงการหนังอิสระล่ะ ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นี้สักแค่ไหน

“เราว่าในปัจจุบัน วงการหนังอิสระจะมีกลุ่มคนดูที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พอเราไม่มีโรงหนังเป็นของตัวเองชัดเจน หรือโรงหนังทางเลือกจริงๆ ก็มีเจ้าของ มันก็ต้องเข้าใจว่าโรงหนังก็ต้องฉายหนังของเขาเองก่อน

หนังที่เราทำไม่ได้เป็นของเขา แปลว่าถ้ามีหนังของเขาในเวลาเดียวกับหนังของเรา เขาก็ต้องฉายหนังของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งเราก็เคารพเขานะ เพราะถึงเขาจะอยากสนับสนุนเรา แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะให้รอบเรามากกว่า นอกจากว่าหนังของเราทำเงินได้มากกว่าจริงๆ เขาถึงจะให้โอกาส แต่มันก็ต้องวัดจากจำนวนคนดูอยู่ดี

“เช่นเดียวกับที่โรงหนังซีนีเพล็กซ์เขาก็เล็งเห็นว่าหนังแบบเรามันมีประโยชน์ มันเริ่มมีความสำคัญ ถ้ามีเสียงตอบรับมากขึ้นก็ยิ่งเปิดโอกาสให้มีการเข้าไปพูดคุย เข้าไปขาย แต่ทั้งหมดมันอยู่ที่จำนวนยอด หนังจะอยู่หนึ่งสัปดาห์ สองสัปดาห์ สามสัปดาห์ขึ้นอยู่กับจำนวนยอดหมด เห็นได้ชัดเลยจาก Die Tomorrow ที่มีคนดูเยอะมาก แต่วันแรกที่ประกาศรอบฉายกลับมีแค่สองรอบ เรายังคิดในใจเลยว่า ระดับเต๋อ นวพลยังได้สองรอบเองเหรอ ซึ่งนั่นก็เพราะว่าโรงหนังยังรู้สึกไม่ชัวร์ แต่สำหรับเรา เต๋อนี่โคตรชัวร์เลยนะ”

ฟังจากที่ทองดีเล่าผมก็พอจะสรุปได้ว่า ต่อให้ภาพยนตร์อิสระสักเรื่องหนึ่งจะได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์หรือกวาดรางวัลจากเวทีต่างๆ มามากสักแค่ไหน แต่ถ้าฉายแล้วยอดที่ได้ไม่เป็นที่น่าพอใจ โรงหนังก็มีสิทธิ์ถอดหนังออกจากโปรแกรมฉายอยู่ดี

“พอเป็นแบบนี้เราก็จะย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนเดิมว่า เราควรจะทำหนังที่รู้ชัวร์ๆ ว่าจะมีจำนวนยอดที่ดี เพื่อจะได้ต่อรองกับสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่จะเสียความตั้งใจที่เราอยากให้มีความหลากหลายในวงการหนังไป สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้คือ ยืนหยัดอยู่กับความหลากหลายนี้ แต่หาทางว่าจะทำยังไงให้เวิร์กในเรื่องจำนวนยอด โดยที่หวังว่าจะไม่ฉิบหายกันไปก่อน หมายถึงว่าจะไม่มีคนดูเลย แล้วสิ่งที่เราทำกันอยู่ ซึ่งมีอยู่น้อยนิด แต่เราเชื่อว่ามีประโยชน์ มันจะตายไปเลย ไม่มีที่ฉายไปเลย โจทย์ของเราตอนนี้คือต้องหาทางบาลานซ์ให้ได้”

การจะทำให้หนังอิสระแต่ละเรื่องสื่อสารไปให้ถึงคนดูเป็นเรื่องยาก อย่างที่ทองดีบอกกับผมว่าเป็นเรื่องที่เขา ‘โคตรจะไม่เก่ง’ ลำพังในยุคที่ movie on demand กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของโรงภาพยนตร์ การจะดึงคนให้ออกจากบ้านมาดูหนังสักเรื่องก็นับเป็นเรื่องที่ท้าทายแล้ว ยิ่งพอหนังเรื่องนั้นๆ ไม่ได้มีเนื้อเรื่องที่เข้าใจง่าย จะเรียกว่าสนุกก็พูดไม่ได้เต็มปาก แถมบางเรื่องเดินออกจากโรงมายังทิ้งอาการมึนๆ อึนๆ กับคนดูอีก ผมคิดว่าไม่ใช่ทองดีไม่เก่ง เพราะต่อให้เป็นคนอื่นๆ เอง ก็ย่อมจะเห็นพ้องกันว่าโจทย์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราคิดว่าการสื่อสารในตอนนี้ง่ายขึ้นนะ โลกออนไลน์แทบจะเป็นชีวิตจิตใจไปแล้ว ตรงนี้ช่วยให้คนเห็นหนังเราง่ายขึ้น แต่อย่างที่บอกว่ามันเกี่ยวกับเรื่องที่พูดด้วย เพราะประเด็นในหนังอิสระบางเรื่องมันยากที่คนจะสนใจ อย่าง Someone From Nowhere ซึ่งพูดถึงเรื่องพื้นที่ จะตั้งคำถามว่า ไอ้ผืนดินที่เรายืนอยู่เนี่ย ที่เรียกว่าประเทศไทยเนี่ย มันเป็นประเทศไทยจริงๆ เหรอ หรือที่มีคนพูดกันว่า คนนี้เป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนั้น คนนั้นเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนี้ เราพูดกันอย่างกับไม่ใช่เรื่องสำคัญ ทั้งที่จริงๆ มันโคตรสำคัญเลย แต่สำหรับบางคนอาจคิดว่า พวกพี่พูดเหี้ยอะไรกันวะ มันดูไกลตัวมาก จับต้องไม่ได้ เมื่อเราอยากพูดถึงอะไรแบบนี้ เราเลยต้องหาวิธีว่าจะสื่อสารหนังของเราออกไปยังไง”

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สตูดิโอภาพยนตร์บิ๊กเนมหลายแห่งเรียกทองดีเข้าไปคุย ต้นสายปลายเหตุก็ไม่ใช่จากอะไรอื่น แต่เป็นผลมาจากความสำเร็จของ Freelance..ห้ามป่วยห้ามพัก ห้ามรักหมอ ของเต๋อ นวพลที่ทำรายได้ไปกว่า 86 ล้านบาท

“ตอนนั้นเขาเรียกเราเข้าไปคุยว่า อยากลองทำหนังอินดี้ดูบ้าง ซึ่งเราก็ดีใจนะ คิดว่า เอาละเว้ย ถึงวันกูแล้ว เราว่าลึกๆ แล้ว สตูดิโอใหญ่ๆ เองก็รู้กันแหละว่า หนังที่เขาทำมาตลอดน่ะ ที่เขาคิดว่าได้เงินน่ะ คนดูเริ่มเบื่อแล้ว เดี๋ยวนี้หนังใน Netflix หลากหลายกว่าตั้งเยอะ แต่พอคุยๆ ไปสุดท้ายแล้วอินดี้ของเขากับของเรามันต่างกัน สิ่งที่เขาต้องการยังไม่หลากหลายพอสำหรับเรา เราอยากให้เขากล้ากว่านี้ อย่าง Freelance ที่เวิร์กเพราะเขากล้า เรายอมรับจีดีเอชเลยว่ากล้าที่จะลอง กล้าที่จะให้เต๋อกำกับโดยที่ยังคงลายเซ็นไว้อย่างครบถ้วน แต่ซึ่งพอเห็นคนอื่นกล้าแล้วเวิร์ก แต่แทนที่จะแข่งกันกล้า คุณกลับอยากจะทำตามเขา สุดท้ายความหลากหลายก็ไม่เกิด เพราะทุกคนมัวแต่รอว่าใครจะกล้าก่อนกัน

“จริงๆ แล้วไอ้สิ่งที่เรียกว่าหนังนอกระบบสตูดิโอน่ะ แค่เพราะว่ามันไม่ตอบโจทย์ในแง่รายได้ มาร์เก็ตติ้งต่อคนจำนวนมากเท่านั้นเอง เราเลยต้องออกมาทำเอง ซึ่งเราก็หวังว่าสักวันหนังที่เราทำจะตอบโจทย์คนดูมากขึ้น เขาอาจเบื่อหนังเดิมๆ จนรู้สึกว่า เฮ้ยอยากลองดูหนังทดลองว่ะ อยากลองดูหนังที่พูดถึงเรื่องลึกๆ ว่ะ เป้าหมายของเราคือการทำให้หนังอิสระตอบโจทย์คนดูมากขึ้น เผื่อสตูดิโอจะเลือกทำหนังแบบนี้ในสักวัน”


3.

ตุลาคม พ.. 2560 กิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง ที่จัดขึ้นที่ Warehouse 30 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่สั่งระงับกะทันหัน ด้วยเหตุผลว่า ภาพยนตร์มีเนื้อหาไม่เหมาะสม*
*ในวันเดียวกัน มีการจัดฉาย ดาวคะนอง ที่หอภาพยนตร์ศาลายา และมหาวิทยาธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทว่าทั้งสองที่กลับจัดงานได้อย่างเป็นปกติ ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสั่งห้ามฉายแต่อย่างใด

ธันวาคม พ.. 2559 ดาวคะนอง เข้าฉายในโรงหนังทั่วไป ไม่มีใครสั่งห้ามไม่ให้ฉาย ไม่มีใครออกมาพูดว่าภาพยนตร์มีเนื้อหาไม่เหมาะสม

มีนาคม พ.. 2560 ดาวคะนอง คว้ารางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาค้านว่าผลการตัดสินไม่เหมาะสม

“ปัญหาคือเสรีภาพกำลังถูกควบคุม” ทองดีเอ่ยเสียงเรียบหลังจากที่ผมถามถึงผลกระทบ ทั้งต่อตัวเขาเองและวงการภาพยนตร์อิสระหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พ.. 2557

“ถ้าถามเรา ผลกระทบจริงๆ ไม่ได้เกิดจากว่าใครขึ้นมาเป็นผู้นำหลังรัฐประหารครั้งนี้ เพราะเรามองว่าผลกระทบเกิดขึ้นตั้งแต่มีการรัฐประหารในประเทศนี้แล้ว”

นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐประหารเกิดขึ้น 13 ครั้ง เป็นประเทศที่มีรัฐประหารมากเป็นอันดับที่ ของโลก เป็นประเทศที่มีรัฐประหารมากเป็นอันดับที่ ของอาเซียน

“รัฐประหารนำมาซึ่งการควบคุม เราเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมกิจกรรมฉายหนัง เข้ามาสั่งให้ปลดงานแสดงศิลปะในแกลเลอรี ทั้งๆ ที่สำหรับเรา สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการตีความทั้งนั้น ไม่มีอะไรขาวหรือดำ มันแล้วแต่เลยว่าใครจะมองยังไง”

ทองดีเล่าว่า ผู้กำกับที่เขาทำงานด้วยส่วนใหญ่สนใจ ให้ความสำคัญ และต่อสู้ในเรื่องการเมืองมาโดยตลอด

ไม่ว่าจะเป็นอโนชา สุวิชากรพงศ์, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และคงเดช จาตุรันต์รัศมี

จริงอย่างที่ทองดีว่า เพราะงานของพวกเขาในระยะสี่ปีที่ผ่านมาล้วนมีส่วนวิพากษ์รัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็น ดาวคะนอง รักที่ขอนแก่น และ Snap

“อย่าง Snap นี่จริงๆ ผู้กำกับอยากพูดเรื่องหนักเลยนะ”

Snap คือตัวอย่างของหนังอิสระที่วิธีการเล่าไม่ซับซ้อน และคนกลุ่มใหญ่ดูได้ ผ่านเรื่องราวความรักในวัยเรียน และเพลงป๊อปยุค 90s หลายคนที่ไปดูก็รู้สึกสนุกไปกับอะไรเหล่านี้ได้ แต่ภายใต้บรรยากาศเบาๆ หวานๆ nostalgia หน่อยๆ ของหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับกำลังจิกกัด วิพากษ์โครงสร้างใหญ่และระบบการเมืองของประเทศอยู่ ซึ่งเราว่าโคตรฉลาดเลยนะ ไม่ใช่เพราะความโลกสวยหรอกเหรอที่ทำให้บ้านเมืองเรามีปัญหาอยู่ทุกวันนี้”

แม้ว่า Snap จะวิพากษ์การเมืองอย่างแนบเนียน แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า การจะเอ่ยเรื่องการเมืองไทยผ่านภาพยนตร์ในยุครัฐประหารจำเป็นต้องซุกซ่อนอยู่ภายใต้สัญลักษณ์และการตีความเสมอไป รักที่ขอนแก่น คือตัวอย่างของการพูดถึงทหารอย่างตรงไปตรงมา ทว่ามันก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ต่างออกไป

“ในยุคสมัยของการควบคุม ที่ไม่ใช่ผู้กำกับทุกคนจะอยากเซนเซอร์ตัวเอง อะไรๆ ก็ยิ่งยาก เราต้องทำยังไงทุกอย่างถึงจะโอเค เราคิดว่าวิธีที่ง่ายที่สุด ซึ่งก็ยากที่สุด คือทำอย่างที่พี่เจ้ยทำ คือไม่ฉายแม่งเลยประเทศนี้ ซึ่งอะไรก็ตามที่ส่งผลให้พี่เจ้ยต้องตัดสินใจแบบนี้ เราว่าโคตรจะไม่ดีเลย” ทองดีเล่าเสียงเศร้า

“การควบคุมนี่แหละคือปัญหาใหญ่ และมันยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ ยากขึ้นเรื่อยๆ รัฐประหารทำให้มีการควบคุมมากขึ้น แถมยังเป็นการควบคุมที่ไม่มีอะไรตายตัวอีก สมมติว่าแค่ผ่านกองเซนเซอร์ได้ ทุกอย่างก็ควรจบจริงไหม ซึ่งกว่าจะพ้นมาได้ก็ยากแล้ว แต่ตอนนี้เหมือนมีคนกลุ่มอื่นเข้ามาควบคุมอีก อย่าง ดาวคะนอง ที่ผ่านกองเซนเซอร์แล้ว ได้เรต 18+ แล้ว ได้เข้าฉายโรงภาพยนตร์ปกติแล้ว จะเป็นไปได้ยังไงที่อยู่ๆ เจ้าหน้าที่รัฐจะมาสั่งไม่ให้ฉาย นึกออกไหม เพราะมันก็มีระบบของรัฐที่กำหนดว่าหนังควรจะมีระบบเซนเซอร์ มีการจัดเรตติ้ง ซึ่งระบบเรตติ้งก็จะเป็นตัวคัดกลุ่มคนดูเอง มันมีโครงสร้างกำหนดไว้แล้ว แต่นี่คุณยังไม่เชื่อใจกันอีก”
31 สิงหาคม พ.2560 สองเดือนก่อนหน้าที่กิจกรรมฉาย ดาวคะนอง จะถูกเจ้าหน้าที่ทหารสั่งระงับ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติประกาศให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวแทนประเทศไทยชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม แม้ถึงที่สุดจะไม่อาจผ่านเข้าไปถึงรอบ เรื่องสุดท้าย หากความจริงที่ว่า ดาวคะนอง เคยได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศก็ไม่อาจลบเลือนได้อยู่ดี

“เราต้องทำหนังที่สามารถบอกคนส่วนใหญ่ในประเทศได้ตระหนักว่ามีการควบคุมเสรีภาพอยู่จริง ถึงบางคนจะยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่สักวันมันจะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นมา เราเชื่อว่าสักวันหนึ่งถ้าทุกคนรับรู้เรื่องนี้ จนส่งเสียงพร้อมๆ กันเป็นวงกว้าง เขาจะไม่กล้าเข้ามาควบคุมเราอย่างนี้ แต่ที่ตอนนี้พวกเขายังทำได้ก็เพราะเรายังละเลยเรื่องนี้กันอยู่ เราอยากให้ทุกคนตระหนักว่าคนด้วยกันจะมาจำกัดเสรีภาพของกันไม่ได้”


4.

20 กรกฎาคม พ.. 2561 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศรายชื่อศิลปินผู้ได้รับรางวัลประจำ พ.ศ. 2561โดยรางวัลนี้จะมอบให้แก่ศิลปินร่วมสมัย ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณภาพในสาขาต่างๆ รวม สาขา

สำหรับสาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว ผู้ที่ได้รางวัลประจำปีนี้คือ โสฬส สุขุม

“เราภูมิใจ และรู้สึกขอบคุณเขานะที่มอบรางวัลนี้ให้เรา” ทองดียิ้ม

“แต่สิ่งที่เราแฮปปี้จริงๆ คือ การเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ผู้คัดเลือกและคณะกรรมการเขามองเห็นว่า เราสามารถเชิดชูคนในตำแหน่งอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการทำหนังเรื่องหนึ่งๆ ได้ ซึ่งกว่าจะได้ออกมาสักเรื่องต้องใช้คนจำนวนมาก เราว่าจุดนี้แหละสำคัญ”

แต่ก็อย่างที่ผมยังคงจดจำคำตอบของทองดีเมื่อสี่ปีก่อนต่อคำถามของผมที่ว่า ‘ชื่อเสียงสำคัญกับเขาแค่ไหน’ ได้เป็นอย่างดี ในวันนี้เขายังคงยืนยันกับผมเหมือนเดิมว่า ชื่อเสียงไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เขานอนหลับฝันดี มันแค่ช่วยให้เขาทำงานได้ง่ายขึ้น ขอทุนได้ง่ายขึ้นก็เท่านั้น

“ในฐานะคนทำงาน เรามองว่ารางวัลคือเครื่องยืนยันว่าเราเป็นคนทำงานที่มีคุณภาพ และช่วยต่อยอดไปยังงานอื่นๆ ในอนาคตได้”

หากลองย้อนดูผลงานภาพยนตร์เรื่องที่ผ่านๆ มาภายใต้การโปรดิวซ์ของทองดี จะเห็นว่าคุณภาพคือสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเลือนหาย คำยืนยันต่อคุณภาพนี้คือรางวัลจากเวทีต่างๆ มากมาย ซึ่งสำหรับผม ไม่ว่าจะเป็นสี่ปีก่อนหรือในตอนนี้ เขาคือโปรดิวเซอร์มือฉมังที่ยังเชื่อมั่นได้อยู่เสมอ

ทุกวันนี้ทองดีเปิดบริษัทโปรดิวเซอร์เล็กๆ ชื่อ 185 Films ซึ่งเขาตั้งใจจะให้เป็นบริษัทที่มีโปรดิวเซอร์คอยดูแล และผลิตภาพยนตร์หลายๆ แบบ เพื่อให้เกิดความแตกต่าง และสร้างทางเลือกให้วงการภาพยนตร์ไทย

“ตอนนี้บริษัทเรายังมีโปรดิวเซอร์แค่สองคน แต่ในอนาคตเราอยากให้มีโปรดิวเซอร์เพิ่ม เพื่อบริษัทเราจะได้ทำหนังที่หลากหลายขึ้น” น้ำเสียงทองดีกระตือรือร้นขึ้นเมื่อเล่าถึงสิ่งที่เขากำลังหมายมั่นปั้นมืออยู่

“พอความถนัดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หนังแต่ละแบบจึงควรได้รับการดูแลโดยโปรดิวเซอร์ที่เก่งไปคนละทาง เพื่อช่วยพัฒนาหนังเรื่องนั้นๆ ให้สำเร็จได้ สมมติมีคนส่งหนังตลกมาให้เรา บทดีมาก แต่เราทำไม่เป็น เพราะเราไม่ใช่คนตลก มันจะไม่ดีกว่าเหรอถ้าในบริษัทของเรามีโปรดิวเซอร์ที่ถนัดแนวนี้ไปเลย”

แน่นอน หากทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ทองดีหวังก็คงดี เพียงแต่อุปสรรคเดิมๆ ที่ขวางกั้นความฝันนี้คือ ไม่ว่าจะกี่ปี ประเทศนี้ก็ยังมีโปรดิวเซอร์น้อยเสียเหลือเกิน

“บริษัทเราก็รับเด็กฝึกงานอยู่เรื่อยๆ นะ ซึ่งพอเด็กๆ ได้มาทำจริง ได้ลองกระบวนการเป็นโปรดิวเซอร์จริงๆ เขาจะรู้ว่าบางขั้นตอนน่ะไม่สนุกเลย ไอ้เรื่องสวมโค้ต ผูกผ้าพันคอ ไปเดินพรมแดงเมืองนอกน่ะมันง่าย มันดูเท่ ใครๆ ก็อยากทำ แต่ขั้นตอนทำเอกสารทั้งวัน นั่งหาว่าหนังเรื่องไหนจะขอทุนใครดี นั่งกลุ้มใจว่าจะหมุนเงินยังไง ขั้นตอนการพัฒนาจนกว่าจะได้หนังออกมาสักเรื่องน่ะไม่สนุกเลย พอเด็กๆ มาฝึกก็จะมองเห็นจุดนี้ ซึ่งที่สุดเขาก็จะไป

“การเป็นโปรดิวเซอร์มันยาก มันลำบาก เครียด แถมหนังเรื่องหนึ่งยังใช้เวลานานในการทำ บางทีเราก็สงสัยตัวเองนะว่าเป็นมาโซคิสต์หรือเปล่าถึงยังทำงานอยู่ทุกวันนี้ (หัวเราะ)”

…น้ำแข็งในแก้วกาแฟที่เหลือค้างละลายกลายเป็นน้ำสีขุ่น รู้ตัวอีกครั้งเวลาก็ผ่านไปกว่าสองชั่วโมงแล้ว ทองดีขออนุญาตออกไปสูบบุหรี่ข้างนอกร้าน ผมเดินตามเขาไปนั่งยองๆ อยู่ข้างๆ เหม่อมองควันบุหรี่จางๆ ที่แค่พวยพ่นจากปากเพียงพริบตา ก็อันตรธานหายไปกับสายลม

หลังจากที่นั่งจมดิ่งในร้านกาแฟเสียนาน ผมเพิ่งจะตระหนักว่าก้อนเมฆเริ่มจับตัวมืดครึ้ม ฝนคล้ายจะตั้งเค้าอยู่ไกลๆ

สี่ปีก่อนในบ่ายวันที่ผมได้พบกับทองดีครั้งแรก จำได้ว่าเมฆฝนก็ตั้งเค้าเตรียมจะตกหนักเช่นเดียวกับวันนี้

ภาพ ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก